xs
xsm
sm
md
lg

แจ็ค หม่า สอนอะไรคนรุ่นใหม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

แฟ้มภาพเอพี
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


“วันนี้น่ะยากลำบาก พรุ่งนี้จะยากกว่าวันนี้อีก ... แต่มะรืนนี้จะเป็นวันที่งดงาม ทว่า คนส่วนใหญ่กลับจบชีวิตไปตั้งแต่ตอนเย็นของวันพรุ่งนี้แล้ว ถ้าคุณอยากจะเห็นรุ่งอรุณของวันมะรืน คุณต้องทำงานหนัก” --- แจ็ค หม่า (马云)

11 ปีที่แล้ว ผมเคยเขียนถึงเรื่อง หม่า หยุน หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามแจ็ค หม่า นักธุรกิจและมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง กลุ่มอาลีบาบา เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนตุลาคม 2548

11 ปีที่แล้ว แจ็ค หม่า ยังถือเป็นดาวรุ่งในวงการด็อท คอมของจีน หลังได้รับเงินลงทุนจากยาฮู (Yahoo Inc.) เว็บไซต์ชื่อดังสัญชาติมะกันที่ทุ่มเงินกว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับอาลีบาบา โดยเงินจำนวนดังกล่าวถือเป็นมูลค่าการลงทุนสูงสุดของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนในเวลานั้น [1]

9 ปีถัดมา ในปี 2557 แจ็ค หม่า ก็ทำเงิน 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้งอกเงยอีกเกือบร้อยเท่า หลังนำอาลีบาบาเข้าจดทะเบียนในตลาดตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ทำให้มูลค่าบริษัทอาลีบาบาทะลุแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จนเจ้าตัวกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของจีน และกลายเป็นบุคคลที่ทั่วโลกอยากรู้จัก ส่วน Yahoo กลับกลายเป็นบริษัทด็อทคอมที่กำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบาก

แจ็ค หม่า กลายเป็นชื่อคุ้นหูของคนไทยจำนวนมาก มีคนเขียน คนแปลหนังสือชีวประวัติ และข้อคิดทางธุรกิจของเจ้าตัวออกมานับสิบเล่ม ทั้งยังเป็นมหาเศรษฐีแห่งโลกไอทีที่ดูจับต้องได้สำหรับคนไทย เพราะเป็นคนเอเชีย ไม่ได้มีพื้นเพครอบครัวร่ำรวย ไม่ได้เรียนเก่งระดับอัจฉริยะ ไม่ได้ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโด่งดังระดับโลก ซ้ำในชีวิตจริงก็ยังเคยล้มลุกคลุกคลานมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งทางด้านการศึกษา การทำงานและการทำธุรกิจ

“สิ่งแรกที่ผมอยากจะบอก (กับคนไทย) ก็คือ อย่าเชื่อหนังสือที่เขียนถึงผม มีหนังสือประมาณ 50 เล่มที่เขียนถึงเรา (อาลีบาบา) ผมอายที่จะอ่านหนังสือพวกนั้น เพราะผมรู้ดีว่าหลายเรื่องที่ระบุในหนังสือเป็นเรื่องไม่จริง ... ผมคิดว่าผมเป็นคนธรรมดามาก ผมสอบตกหลายครั้ง ผมลองสมัครงานมากกว่า 30 งานแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ และผมก็เคยชินกับการถูกปฏิเสธโดยผู้อื่น” แจ็ค หม่า กล่าวบนเวทีเสวนา “A Conversation with Jack Ma on Entrepreneurship and Inclusive Globalization” ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงต่างประเทศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 หลังเสร็จสิ้นการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) หรือเอซีดี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคมที่กรุงเทพมหานคร
ภาพเอพี
ผมชินกับความผิดหวัง แม้จะมีคนบอกว่าผมประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่มากมาย ทั้ง Alibaba, Ant Financial (蚂蚁金服), Ali Cloud Computing ฯลฯ แต่พวกเขาไม่เคยเห็นว่าในความสำเร็จ 5 ประการ เราทำผิดพลาดไปแล้วมากกว่า 5,000 เรื่อง มีเรื่องความผิดพลาดโง่ๆ เรื่องที่ทำให้ต้องแผนต้องสะดุด แต่ผู้คนไม่ค่อยสนใจเรื่องความผิดพลาด

ตั้งคำถามอยู่เสมอ

“เราเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ 18 คน ทำงานในอพาร์ตเมนต์ของผม จนถึงปัจจุบันเรามีพนักงานรวมมากกว่า 43,000 คน เมื่อคนถามผมว่ามีคำแนะนำอะไรให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไหม? สิ่งที่ผมแนะนำข้อแรกก็คือ ใช้สมองของคุณในการขบคิดอยู่เสมอ บางครั้งขณะที่ทุกคนบอกว่า ‘ใช่’ ให้คุณหยุดคิดสัก 1 นาที ว่าทำไมมันถึง ‘ใช่’ มันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็น ‘ไม่ใช่’ หรือเปล่า? หรือ บางครั้งในเรื่องที่ไม่มีใครเห็นด้วยเลย ให้คุณหยุดคิดสัก 1 นาที ว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ถูกต้องบ้างไหม? ดังนั้นจงใช้สมองในการคิดด้วยตัวเอง อย่าไปตามกระแส หลังจากผ่านการคิดทบทวน 2-3 นาทีแล้ว ถ้าเห็นว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่พูดเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็ดำเนินการตามนั้น”

คิดเชิงบวก มองโลกในแง่ดี

“ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมไม่ชอบบิล เกตส์ (ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์) เลย เพราะผมคิดว่าบิล เกตส์แย่งงานเราไปหมด โอกาสดีๆ ทั้งหมด ถูกไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม แย่งไปหมด แต่คนอย่าง บิล เกตส์, แจ็ค หม่า, มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก, สตีฟ จ็อบส์ ไม่ใช่ต้นแบบของคุณ เราควรเรียนรู้จากคนที่ใช้ชีวิตเปิดร้านอาหารเล็กๆ แต่ธุรกิจไปได้ดี คนเหล่านี้ต่างหากที่เราควรเรียนรู้จากพวกเขา ... เมื่อคุณยังเล็ก ควรมีใจที่ใหญ่ เมื่อคุณใหญ่โต ควรใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

“ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม อีกสิบปีข้างหน้าจะมีคนร่ำรวยมากกว่าทุกวันนี้ อีกสิบปีข้างหน้าจะมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากกว่าทุกวันนี้ ถ้าคุณไม่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ไม่พร้อมรับความเจ็บปวด ความล้มเหลวตั้งแต่วันนี้ คุณก็จะไม่มีทางที่จะมีอนาคตที่สดใส”

หาหุ้นส่วน

“จับมือกับคนอื่น ไม่มีอะไรที่เราจะทำได้เองทั้งหมด คุณต้องหาหุ้นส่วนที่ดี และหุ้นส่วนที่ดีก็ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกันและกัน ส่วนที่เหลือก็คือ ต้องใช้เวลา ... อย่ายอมแพ้ ผมมีโอกาสนับหมื่นครั้งที่จะล้มเลิกความตั้งใจ แต่ทุกครั้งผมจะบอกว่าขออีกครั้ง ขอเวลาอีกสามวัน อีกแค่สามวัน ผมอาจจะรอด เวทมนตร์มักจะมีฤทธิ์ในช่วงสามวันข้างหน้า ถ้าคุณยอมแพ้ สิ่งที่ง่ายที่สุดในโลกนี้ก็คือการยอมแพ้ แต่การกลับมาทำใหม่นั้นเป็นเรื่องยาก ถ้าเราตัดสินใจจะเป็นผู้ประกอบการ ต้องถามตัวเองก่อนว่า วันแรกที่คุณตกหลุมรักรู้สึกอย่างไร? วันแรกที่คนตกหลุมรักมักจะเป็นรักที่สวยงาม แต่ผู้คนจำนวนมากเป็นเวลาผ่านไป ก็มักจะลืมวันแรกที่ตกหลุมรัก”

บนเวทีเสวนาที่กระทรวงต่างประเทศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม หม่ายังพูดและตอบคำถามอีกหลายเรื่องดังคลิปวิดีโอที่เผยแพร่จากเฟซบุ๊ก Saranrom Radio ด้านล่างนี้ ตั้งแต่วิธีการที่สตาร์ทอัพจะระดมทุน การหาแหล่งการเงินทุน ความรับผิดชอบต่อคำสัญญา บทบาทของรัฐ/ธนาคาร ต่อการสร้างระบบการเงินที่เอื้อต่อเอสเอ็มอี ฯลฯ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “ปรัชญาชีวิต” ที่ แจ็ค หม่า กล่าวบนเวทีในวันนั้น และผมคิดว่าน่าสนใจและน่าชื่นชมอย่างยิ่งคือ ทัศนะของเขาที่มีต่อเงิน และความร่ำรวย โดยตอนหนึ่งเขาว่าอย่างนี้ครับ

“เมื่อคุณมีเงิน 1 ล้าน หรือ 2 ล้านดอลลาร์ คุณคือคนที่มีความสุขที่สุดในโลก แต่เมื่อคุณมีเงิน 100 ล้าน 200 ล้าน หรือ 10 ล้าน หรือ 20 ล้านดอลลาร์ คุณจะเริ่มมีปัญหาแล้ว คุณจะคิดถึงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของค่าเงิน กังวลว่าจะเอาเงินไปฝากไว้ในธนาคาร หรือจะนำเงินไปซื้อหุ้น นำไปลงทุนที่ไหนดี ปัญหาเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าคุณมีเงินพันล้านดอลลาร์ ให้จำไว้ว่า เงินนั้นไม่ใช่ของคุณ แต่มันคือความเชื่อถือที่สังคมมอบให้กับคุณ เพราะสังคมเชื่อว่าคุณจะสามารถใช้เงินเหล่านั้นได้อย่างชาญฉลาด และดีกว่าคนส่วนใหญ่ มันคือความรับผิดชอบ

“คุณจะนอนบนเตียงได้ครั้งละกี่หลัง ก็แค่หนึ่งหลัง วันนึงคุณจะกินข้าวได้กี่มื้อ ก็แค่สามมื้อ จะสวมเสื้อได้ครั้งละกี่ชุด คนอย่างผมไม่จำเป็นต้องใส่ชุดดีมาก เพราะไม่ว่าจะชุดดีผมก็ยังดูน่าเกลียดอย่างนี้ ชุดไม่ดีก็ยังดูเหมือนเดิม ดังนั้นก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ดังนั้น เงินคือความรับผิดชอบ เงินคือความเชื่อถือที่ผู้คนมีต่อคุณ เงินคือคำอวยพรให้คุณใช้เงินไปในทางที่ถูกต้องมากที่สุด”

เสวนา “A Conversation with Jack Ma on Entrepreneurship and Inclusive Globalization” จัดขึ้นที่กระทรวงต่างประเทศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 การสนทนาเริ่มขึ้นตั้งแต่นาทีที่ 38 เป็นต้นไป


ข้อมูลอ้างอิง :
[1] Baidu & Alibaba.com ; http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=40204
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2548
กำลังโหลดความคิดเห็น