xs
xsm
sm
md
lg

“เสนอหน้า” งานที่รักของนักอ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอหนังสือและมิตรรักนักอ่าน เตรียมความพร้อมที่จะพบกับบรรดาหนังสือหลากเล่ม หลายหมวดหมู่ กันได้แล้ว ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 ภายใต้ธีม “เสนอหน้า” ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 24 ต.ค.นี้

โดยภายในงาน นอกจากจะมีมหกรรมหนังสือที่พร้อมให้นักอ่านทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ ทุกเพศทุกวัย ได้เลือกสรรกันแล้ว ภายในงานก็ยังมีกิจกรรมมากมายที่ให้ผู้ร่วมงานได้เพลิดเพลินมากมาย รวมไปถึงไม้เด็ดของงาน คือ มีการเสวนา “Editor Talk” ที่รวบรวมบรรณาธิการบุคคล ผู้เป็นกัปตันทีมแห่งแต่ละสำนัก มาถ่ายทอดถึงประสบการณ์ในแวดวงหนังสือให้กับผู้สนใจ, นิทรรศการ ‘เสนอหน้า’ ที่อธิบายในภาพรวมของ กว่าจะมาเป็นหนังสือสักเล่มนั้น ต้องผ่านขั้นตอนอะไรยังไงบ้าง รวมถึง การจัดแสดงงานของ 100 Annual Book and Cover Design โดยเป็นการรวมการออกแบบปกหนังสือ 100 ปก ประจำปี 2559 ซึ่งถือว่าเป็นการจัดอย่างเป็นทางการครั้งแรกอีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นความกระจ่างของภาพรวมในงานมากขึ้น ทางผู้จัดงาน จึงได้เชิญ 4 วิทยากร ได้แก่ จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT), สุชาดา สหัสกุล อุปนายกฝ่ายในประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, สุลักษณ์ วิศวปัทมวรรณ และ ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มาพูดถึง การ ‘เสนอหน้า’ ของทั้งตัวงานให้ผู้ร่วมงานแถลงข่าวได้ทำความเข้าใจของธีมงานครั้งนี้

จรัญ หอมเทียนทอง : ก่อนอื่นต้องขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่าน และพันธมิตรทุกท่านที่มาในวันนี้นะครับ งานนี้ก็เป็นงานประจำปีของสมาคมฯ ด้วยมุ่งหวังที่จะช่วยทำให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจสำคัญ และการจัดงานบนท่ามกลางภาวะความไม่แน่ไม่นอนของสื่อ นักเขียน เลยเสนอรูปแบบของงานเป็นคำว่า ‘เสนอหน้า’ ซึ่งคำนี้ไม่ได้เป็นความหมายในแง่ลบนะครับ แต่เรามาเสนอให้เห็นว่า จากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้าของหนังสือ ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่จุดแรกสุดที่ดึงดูดคนได้ก่อนอย่างอื่น ก็คือหน้าแรกหรือหน้าปก อันเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการชุดที่ชื่อว่า “เสนอหน้า” ซึ่งเป็นงานหลักของเราปีนี้ เพราะเรามองเห็นว่า เบื้องหลังของหนังสือแต่ละเล่ม มีหลายอาชีพอยู่ในนั้น ทั้งนักเขียน บรรณาธิการ นักแปล พิสูจน์อักษร คนวาดภาพประกอบ และอื่นๆ นิทรรศการก็จะช่วยเติมความรู้ในส่วนนี้

ไฮไลต์อีกส่วนหนึ่งก็คือจะมีการเสวนาเรื่อง “จากหน้าปกถึงเนื้อใน อะไรคือลิขสิทธิ์” และที่ไม่ควรพลาดเลยก็คืองานเสวนา “ครั้งหนึ่งของบรรณาธิการ” ชื่อว่า Editor Talk ซึ่งจะมีบรรณาธิการระดับเทพของเมืองไทยมาร่วมเสวนา เช่น คุณมกุฏ อรฤดี (ศิลปินแห่งชาติ และบรรณาธิการผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) และอีกหลายท่าน ซึ่งถือว่าน้อยครั้งนะครับที่คุณมกุฏจะยอมมาขึ้นเวที ก็มีหลายเวทีในงาน และตลอด 12 วันนั้น งานเสวนาจะเป็นการเสวนาพูดคุยเรื่องหนังสือทั้งหมด

ส่วนความคาดหวังของเราต่องานนี้นั้น เราหวังว่าจะมีคนมาในงานหนังสือของเราประมาณ 2 ล้านคน ครั้งนี้ก็คิดว่าเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องถามว่าทำไมต้องเช่นเดียวกัน ปีนี้สมาคมเดินสายไปต่างจังหวัด ไปอุดรฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ทุกแห่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก ในท่ามกลางความหมองหม่นนั้น เรามีความหวังครับ และงานหนังสือ คนทำหนังสือจะโชคดีอย่าง คือคนอ่านหนังสือ 1 เล่ม เขาจะอ่านหนังสือตลอดไป ความจริงอาหารบางอย่างเขาอาจจะเลือกกินได้ตอนที่ไม่สบาย แต่ว่าหนังสือ 1 เล่ม จะอยู่กับเขาตลอดไป ฉะนั้น คนอ่านหนังสือจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่า ประเทศเราต้องรอเวลาว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเรานั้นจะจุดพลุให้เราอีกที และที่ผ่านมา เราก็พยายามจะให้รัฐจุดพลุให้เรา หลังจากที่เวียดนามกำลังจุด หรือว่าจีนและเกาหลีทำนั้น ผมยังเชื่อว่างานหนังสือยังมีเสน่ห์ของมัน

สุชาดา สหัสกุล : แม้ว่าในขณะนี้ สถานการณ์ของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารจะมีการทยอยปิดตัวลง เราก็อยากจะ “เสนอหน้า” อยู่ว่าการทำหนังสือของเรายังคงอยู่ อันนี้คือความเห็นส่วนตัวนะ (หัวเราะเบาๆ) ทีนี้ มาที่ประเด็นว่า นิทรรศการจะเชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพอย่างไร เรื่องของเรื่องก็คือว่า เดิมที เมื่อปีก่อน สมาคมผู้จัดพิมพ์ได้จัดทำเรื่องของโครงการมาตรฐานวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ ซึ่งประกอบไปด้วยอาชีพนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ พิสูจน์อักษร ออกแบบภาพประกอบ นักออกแบบกราฟฟิกและสิ่งพิมพ์ ทั้งหมด 6 อาชีพนี้ เสร็จสิ้นไปแล้วในปี 2558

พอทำมาตรฐานเสร็จ ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เขาก็อยากจะให้มีศูนย์รับรองในการเปิดทดสอบ ในขณะนั้น จริงๆ ก็มีสมาคมวิชาชีพและนักแปล และสมาคมนักเขียน แต่ทั้งหมดก็อยากจะให้สมาคมผู้จัดพิมพ์เป็นตัวแทนในการจัดตั้งองค์กรรับรองไปก่อน ทีนี้เราก็เริ่มทบต้นในเรื่องการทำองค์กรรับรอง ก็นำไปสู่การทำ Open House ทั้ง 6 อาชีพเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และแต่ละห้องแต่ละอาชีพก็มีคนที่สนใจแน่นล้นห้อง จนกระทั่งนำมาสู่การทดสอบ และเราก็ทดสอบ 4 อาชีพ ก็คือ อาชีพ นักเขียน นักแปล บ.ก. และนักวาดภาพประกอบ แล้วก็คิดว่าในปีหน้าจะมีการทดสอบตามโครงการ

คือจริงๆ ต้องบอกว่า งานของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คือ หนึ่ง ส่งเสริมการขาย สอง ส่งเสริมการอ่าน สาม พัฒนาวงการวิชาชีพ เพราะฉะนั้น ใน 6 วิชาชีพนี้ การทำมาตรฐาน ถือว่าเป็นหนึ่งในการทำพัฒนา ไม่ใช่แค่ว่ามาสอบกันอย่างเดียว เชื่อว่า ในอนาคต สมาคม ชมรม วิชาชีพต่างๆ ก็จะเปิดเรื่องการจัดอบรม หรืออาจร่วมมือกับสมาคมผู้จัดพิมพ์จัดอบรมในวิชาชีพนั้นๆ ข่าวแว่วมาว่า “ชมรมบรรณาธิการ” ขยับอยู่แล้วเรื่องการจัดการอบรม ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าเราจะมีกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพ

ทีนี้ มา “เสนอหน้า” อย่างไร ในระหว่างที่เราทำงานตรงนี้ ก็ต้องให้เครดิต อ.ชนิศา ชงัดเวช ท่านดำรงตำแหน่งเป็นประธานชมรมนักออกแบบวาดภาพประกอบ ก็เสนอมาที่สมาคมว่า อยากจะทำเรื่อง “เสนอหน้า” ขอพื้นที่เล็กๆ อยากจะให้ทำเรื่องเสนอหน้า เปิดเผยเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตหนังสือ เราก็เลยคิดว่าน่าจะทำให้ยิ่งใหญ่ไปเลยนะ ก็เลยมาจัดเป็นนิทรรศการหลักใหญ่ของงาน อันนี้คือที่มา และในฐานะที่เราก็เป็นคนทำหนังสือนะคะ เราก็อยากจะให้คนอ่านได้รับรู้และสัมผัสว่า กว่าจะเป็นหนังสือ 1 เล่ม มันผ่านการเจียรระไน ผ่านการทำงานหนัก จากทั้ง 6 อาชีพนี้ ทำงานกันหนักมาก กว่าจะเป็นหนังสือ 1 เล่ม เพราะฉะนั้น หนังสือ 1 เล่มที่ลงสู่ตลาดนะคะ อ่านเถอะค่ะ เพราะว่าทำงานเหมือนนักเจียระไนเพชรเลย

ความคาดหวังของการแสดง หนึ่ง ก็จะได้รู้ที่มาที่ไปของการทำหนังสือ 1 เล่ม สอง ให้แรงบันดาลใจว่าใครอยากจะเป็นนักเขียน ลองมาดูนิทรรศการนี้ อยากเป็นนักแปล ก็มาดูนิทรรศการนี้ และที่สำคัญที่สุด ตรงนี้ก็เหมือนศูนย์กลางซึ่งเราจะมีบอร์ดให้เป็นตัวเชื่อมโยงการพบกันระหว่างอาชีพ อาชีพไหนอยากจะมาเสนอหน้ากัน เอาข้อมูลตัวเองมาแปะ ฉะนั้น ใครอยากจะได้อาชีพต่างๆ ก็สามารถจะไปตรงนั้น ไปถ่ายรูป ไปติดต่อทีหลังได้ ตรงนั้นก็จะเป็นแหล่งพบปะของคนอาชีพนั้นๆ ทั้งตัวอาชีพและสำนักพิมพ์ เป็นแหล่งเสนอหน้าของสายอาชีพ

สุลักษณ์ วิศวปัทมวรรณ : สำหรับส่วนของงาน 100 Annual Book and Cover Design นั้น เกิดขึ้นจากหนังสือ อย่างที่ทราบกันว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะสามารถดึงผู้อ่านออกมาก็คือ “ปก” ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ตัวมันเองโดดเด่น ทีนี้เราก็มองเห็นว่าในตัวปก มันมีคนที่ทำงานอยู่กลุ่มหนึ่งคือนักออกแบบ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีใครเห็นหรือรู้จัก ด้วยความร่วมมือของ THAIGA หรือสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย ก็ลองคิดว่าเราน่าจะมาคัดเลือกปกหนังสือกัน ซึ่งเป็นการคัดเลือกครั้งแรกที่เคยมีในประเทศไทย เพราะเราอยากจะให้มีปกดีๆ ปกสวยๆ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะหาจากใครได้ที่ไหน ก็เลยโปรเจกต์นี้ขึ้นมา โดยที่เราก็จะเชิญบุคคลเหล่านั้นมา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกก็ตาม และในปีแรกนี้เราเปิดหมด ไม่ได้สังกัดเฉพาะในปี แต่ว่าปีหน้าอาจจะมีการจำกัดแบบปีต่อปี

ปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้ามา 418 ชิ้น กรรมการที่เราเชิญมาร่วมคัดเลือก ก็เป็นกรรมการทรงคุณวุฒิ และเป็นที่ยอมรับในวงการ มีตั้งแต่กราฟฟิก นักออกแบบ บรรณาธิการ ตัวแทนสื่อมวลชน และตัวแทนนักวิชาการ เราได้ทำการคัดเลือกประมาณ 2 วัน มีการคัดเลือกในรอบแรกก่อน พอมารอบที่ 2 ก็มานั่งตกตะกอนและถกเถียงกัน ซึ่งข้อมูลทั้งหลาย เราจะมีการไปจัดนิทรรศการ และในเว็บไซต์ก็จะมีแนวคิดของทุกเล่ม ที่ผู้สมัครส่งผลงาน เขียนเข้ามา ซึ่งตรงนั้นก็เป็นความตั้งใจหนึ่งที่จะให้โครงการนี้ เหมือนคลังข้อมูล

ทีนี้ในตัวงานเองก็จะแบ่งเป็นปกคัดเลือกทั้งหมด 80 ปก และรูปเล่มอีก 20 รวมเป็น 100 ซึ่งตอนแรกจะเป็นอย่างนั้น แต่ปีนี้กรรมการค่อนข้างเข้มข้น เราเลยคัดเลือกออกมาได้ 99 เพราะว่าอีก 1 เราหาไม่ได้จริงๆ ซึ่งผลงานที่เหลือก็ค่อนข้างมีคุณภาพนะคะ แต่ว่าโดยเกณฑ์ที่ได้ จากปกก็จะได้ 80 ตัว รูปเล่มอีก 19 ส่วนที่เก่าสุดที่ส่งมา ก็ไม่เกิน 5 ปีนี่แหละค่ะ เพราะว่าปีแรก เราอยากส่งเยอะๆ มันจะได้มีความหลากหลายหน่อย เพื่อที่จะเป็นตัวตั้งต้น แล้วอีกอย่าง ในทางนักออกแบบ ก็คืออยากที่จะสนับสนุน แล้วก็ผลักดันตรงนี้ให้ก้าวเทียบเท่ากับสากล ซึ่งจากผลงานที่เราดู เราคิดว่ามีความเป็นไปได้ และการที่จะเอาไปโชว์ในงานต่างประเทศนั้น ผลงานของไทยก็ไม่น้อยหน้าใคร ที่ 100abcd.com ค่ะ

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ : ส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวกับร้านหนังสือนั้น ถามว่าทำไมถึงทำงานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องนี้ขึ้นมา คือเนื่องจากช่วงนี้เราจะได้ยินข่าวมากมายว่า ธุรกิจหนังสือร่วงบ้างล่ะ หรือนิตยสารไม่รอดบ้างล่ะ ทางสมาคมฯ ก็ไม่นิ่งนอนใจ พยายามจะหาทาง ซึ่งสิ่งที่เรานึกถึงคือครอบครัวของเรา นั่นคือร้านหนังสือ ว่าเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง แล้วโจทย์นี้มันค่อนข้างกว้างมาก ซึ่งถ้าเกิดเราลงไปทำงานวิจัยเชิงปริมาณเลย เราจะใช้เงินมหาศาล ดังนั้น เราก็เลยทำวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อที่จะหาสมมุติฐานที่น่าสนใจก่อน ก่อนที่จะไปขยายผลศึกษาในงานครั้งนี้ต่อไป

จากการทำงานวิจัย เมื่อ 16-18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เราได้แบ่งบุคคลเป็น 2 กลุ่ม คือ คนที่เข้าร้านหนังสือ กับคนที่ไม่ค่อยชอบเข้าร้านหนังสือ โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้ เป็นฐานคนอ่านหนังสือเหมือนกัน ดังนั้น เราก็จะมาศึกษาวิธีการว่า ขั้นตอนในการเลือกซื้อหนังสือของเขา มีความแตกต่างกันมากมั้ย เช่นว่า งานหนังสือมีผลต่อการเข้าร้านหนังสือหรือเปล่า ผลคือ ไม่มีผลแน่นอน เพราะทุกคนยังคงเข้าร้านตามปกติ และไปงานหนังสือด้วย

ความน่าสนใจของ 2 ประเภทนี้คือ ในงานหนังสือ กับร้านหนังสือ เขาไปซื้อหนังสือที่ไม่เหมือนกัน เขามีบอกตัวเลขที่ชัดเจนเลยว่า ถ้าสมมุติว่ามีงานหนังสือขึ้น เขารอได้ไม่เกิน 2-4 สัปดาห์ สมมุติว่าคุณออกหนังสือมาก่อนงาน 2 สัปดาห์ ความอยากซื้อของเขาไม่สามารถหยุดได้ คือซื้อเลย และไม่มีผลที่เขาจะไม่เข้าร้านหนังสืออย่างที่เราเข้าใจกัน แล้วก็ประเภทของหนังสือนั้น ก็ไม่เหมือนกันค่ะ ประเภทที่มาซื้อในงานนั้น จะเป็นหนังสือที่เขาเคยอยากได้ แต่อยากได้ไม่มาก และอยากมาขอลายเซ็น แถมเป็นประเภทที่ไม่ได้อ่านประจำ เช่น ปกติเราอ่านนิยาย หน้าร้านหนังสือเราซื้อกันเต็มที่ ซื้อเหมือนเดิม เราไม่รอ แต่พอมางาน เราอยากซื้อหมวดอื่นๆ ที่ไม่ค่อยได้อ่าน เรามาซื้อการ์ตูน เรามาซื้อหมวดพัฒนาความรู้ หนังสือธุรกิจ หนังสือธรรมะ ดังนั้นเราจะแยกกันอย่างชัดเจน

คือทุกคน ไม่ว่าคนที่จะเข้าร้านหรือไม่เข้าก็ตามที ทุกคนยังยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เขายังอ่านหนังสือเท่าเดิม ไม่ได้น้อยลง เพียงแต่ว่าบางทีเขาอาจจะมีเวลาน้อยลง เขาอาจจะมีเวลาเข้าโซเชียลบ้าง หรือว่าทำอย่างอื่นบ้าง แต่ว่ายังอ่านเท่าเดิม เพราะฉะนั้น เรายังมีความหวัง ส่วนช่องทางการซื้อ ในส่วนของอีบุ๊ค คนที่เข้าร้านหนังสือ ยังไม่ชอบในการที่จะอ่านอีบุ๊ค

งานวิจัยครั้งนี้ เรามีเป้าหมายที่อยากจะดึงคนให้เข้าร้านหนังสือให้มาก ซึ่งทุกคนบอกเหมือนกันหมดเลยว่า อยากจะติดต่อร้านหนังสือ ว่าอย่าปล่อยให้เราเคว้ง หรือถ้ามีหนังสือใหม่ก็บอกเราเถอะ เราพร้อมที่จะคุย แต่คุณไม่พร้อมที่จะคุยกับเราเลย ปล่อยให้เราไปหาเอง แบบช่วยถามเราหน่อย เช่นว่า ถ้าชอบวรรณกรรม ช่วยส่งรายชื่อหนังสือเหล่านั้นมาในแต่ละสัปดาห์ อาจจะมีสักเล่มที่เราอยากได้ หรือหน้าร้าน พนักงานช่วยคุยกับเราหน่อย เราชอบคุย เราอยากคุยเรื่องหนังสือ หรือถ้ามีชุมชนที่จะคุย เราพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเขาไป

นี่คือคำตอบของนักอ่านทุกคน อยากจะให้ร้านหนังสือช่วยทำระบบ CRN ทำฐานข้อมูล แล้วก็ติดต่อเขากลับไป เคยมีลูกค้าคนหนึ่ง เขาเคยซื้อหนังสือที่ร้านหนึ่ง แต่คนละสาขา พอไปซื้ออีกครั้ง พนักงานบอกเขาว่า คุณเคยซื้อหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว เขาเก็บข้อมูลของลูกค้า ดังนั้นลูกค้าคนนี้เลยกลับมาถามเราว่า ในเมื่อเก็บข้อมูลเยอะขนาดนี้ ทำไมไม่เสนอข้อมูลกลับมาล่ะ เขารออยู่ หรือลูกค้าบอกว่า อยากให้เพิ่มที่นั่งในร้านหนังสือ เพิ่มได้มั้ย มีกิจกรรมให้พบปะกันระหว่างการนำเสนอเล่มต่างๆ ได้มั้ย ประมาณนั้นค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น