ยูเนสโกประกาศล่าสุด คนไทยอ่านหนังสือปีละ 4 บรรทัด! จริงเท็จเพียงใด อาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะจากการสัญจรไปในชนบทของ “พิภพ ธงไชย” ได้พบว่า เด็กประถมบางคนอ่านหนังสือปีละเป็นร้อยเล่ม! เป็นความจริงที่ส่งพลังให้เสาหลักแห่งมูลนิธิเด็ก เดินหน้าโครงการ “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” อย่างมุ่งมั่น
เป็นความสำเร็จที่เหนือความคาดหมาย สำหรับโครงการ “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” ซึ่งมี “พิภพ ธงไชย” หรือหัวเรือใหญ่แห่งมูลนิธิเด็ก ที่ใครต่อใครเรียกขานด้วยความเคารพว่า “อาจารย์พิภพ” เป็นกำลังสำคัญ และความพิเศษของโครงการนี้ไม่ใช่แค่เพียงลำเลียงหนังสือส่งให้กับเด็กๆ แล้วจบเลย หากแต่ยังมีการติดตามผล พร้อมกับชักชวนเยาวชนผู้ได้รับหนังสือเข้าร่วมกิจกรรม เข้าค่าย อันเป็นการปลูกฝังให้รักมั่นทั้งเรื่องการอ่านและการเขียน
ฝันอันยิ่งใหญ่ของอาจารย์พิภพ เดินทางมาถึงจุดที่ตอนนี้ สามารถสร้างตู้หนังสือในบ้านเด็กไปแล้วกว่าหนึ่งพันตู้ และพบหนูน้อยนักอ่านตัวจริงเสียงจริงอีกเกือบพันชีวิต พวกเขาเหล่านี้คือเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตงอกงามไปบนเส้นทางแห่งความรักในอักษร และจากความสำเร็จของโครงการในเฟสแรก ณ ตอนนี้ ถึงเวลาวาระแห่งการขยับระดับสองที่อาจารย์พิภพกล่าวว่า “ต้องขอความร่วมมือจากทุกๆ ท่าน”
• ในเบื้องต้น อยากให้อาจารย์บอกเล่าถึงแนวคิดที่มาของโครงการนี้ครับ
ช่วงนี้เป็นเดือนแห่งการทำบุญของคนไทย คือเป็นช่วงเข้าพรรษา คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญมากที่สุดในโลกเหมือนกัน คือชอบบริจาค ให้โรงพยาบาลบ้าง วัดบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการบริจาคเรื่องอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค หรือสร้างอาคารโรงพยาบาล อาคารโรงเรียน เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว สมัยผมเป็นนักศึกษา ยุคนั้นนิสิตนักศึกษาก็ชอบมากที่จะออกไปชนบท วันนี้อยากจะมาพูดว่า เรามีการทำบุญแบบใหม่ คือทำบุญทางปัญญา ส่งเสริมสติปัญญา แล้วการส่งเสริมสติปัญญาที่ดีที่สุดก็คือการอ่านหนังสือ หรือไม่ก็ฟังครูบาอาจารย์ ฟังบัณฑิต ผู้รู้ ได้พูดคุยเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านๆ มา ประเทศไทยถูกโจมตีมากในเรื่องอ่านหนังสือน้อย ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่คนจีนก็ยังอ่านหนังสือมาก และนอกจากอ่านหนังสือมาก เขายังเขียนหนังสือมากอีกด้วย สังเกตได้ว่าเรายังไม่มีนักเขียนของเราได้รางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรมเลย เราอาจจะมีวรรณกรรมอาเซียน มีรางวัลซีไรต์ที่มอบให้นักเขียนเป็นประจำทุกปี แต่ในระดับโลกเรายังไม่มี เพียงเพราะเราอ่านน้อย แล้วมีผลต่อระบบการศึกษา ทำให้ระบบการศึกษาอ่อนแอ ถ้าเทียบกับในโลก สาเหตุก็มาจากขาดการอ่านหนังสือ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วงการการพิมพ์หนังสือ 40 กว่าปีที่ผ่านมา เราเคยสตาร์ทกัน 1,000 เล่ม พิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม 3,000 เล่ม ก็อยู่อย่างนั้นมาจนถึงวันนี้ แต่หนังสือบางเล่มขายดี ก็อาจจะมีการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างเล่มนี้ผมตกใจมาก หนังสือของอาจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หยิบหนังสือ “101 ปลาทะเลไทย” ขึ้นมา) ขายดีมาก วันนั้นผมไปที่บูทสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ในงานหนังสือระดับชาติ อาจารย์เขาไปแจกลายเซ็น เซ็นไม่ทันเลย ขายดีมาก นี่ก็แสดงว่ายังมีคนที่อยากอ่านหนังสืออยู่ ทีนี้ พอรู้อย่างนี้ปุ๊บ ผมก็เลยเริ่มทำโครงการตู้หนังสือในบ้านเด็ก สำหรับเด็กยากจนในชนบท
คนเขาก็ถามว่าทำไมผมถึงต้องนำตู้หนังสือไปไว้ในบ้านเด็ก ทำไมไม่บริจาคหนังสือผ่านห้องสมุดโรงเรียน คำตอบก็คือ เราเคยเรียนหนังสือและไม่ค่อยได้เข้าไปอ่านในห้องสมุดหรอก จริงไหมครับ เราแบกหนังสือทุกวัน ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือตำราเรียน แล้วพ่อแม่เราก็มีทัศนคติว่าหนังสือแบบนี้มันไม่ใช่แบบเรียน ไปอ่านทำไม แล้วจะไปสอบอะไรได้ อันนี้ก็เป็นทัศนคติของคนไทย และสอง ทัศนคติของคนไทยก็คือ เราไม่มีตู้หนังสือในบ้าน ไปดูไปเยี่ยมบ้านเพื่อนๆ เจอตู้หนังสือบ้างไหม ไม่ค่อยจะมี และความจริงคือเราไม่มีตู้หนังสือ แต่เรามีตู้เสื้อผ้า ตู้กับข้าว เรามีตู้โชว์ของ โชว์โน่นนี่ โชว์แก้ว โชว์ประกาศนียบัตร เยอะแยะมากมาย แต่เราไม่มีตู้หนังสือ ผมก็จึงคิดว่าเราต้องสร้างวัฒนธรรมให้มีตู้หนังสือเด็กในบ้าน และเราก็ไปหาเด็กยากจนในชนบทที่รักการอ่าน
บังเอิญช่วงนั้น ผมได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า “โจรขโมยหนังสือ” (The Book Thief) เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงชาวเยอรมัน สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เด็กคนนี้แกอ่านหนังสือไม่ออก แล้วบังเอิญพ่อแม่ได้ช่วยเหลือผู้ชายคนหนึ่งซึ่งหลบหนีจากภัยสงคราม พามาซ่อนตัวอยู่ห้องใต้ดิน แต่คนคนนี้รักการอ่านมาก และแกก็สอนให้เด็กผู้หญิงอ่านหนังสือ ตั้งแต่นั้น เด็กคนนั้นเจอหนังสือที่ไหน ก็ไปหยิบอ่าน และแกมีหนังสือประจำตัวอยู่เล่มหนึ่ง และแล้ววันหนึ่ง ฮิตเลอร์ก็สั่งว่าให้ทุกคนที่มีหนังสือ เอาหนังสือมาที่จัตุรัสสาธารณะ เผาหนังสือ เด็กนั้นก็ถูกบังคับไปด้วย แต่แกก็แกล้งโยนหนังสืออยู่ริมๆ กองไฟ พอทุกคนไปหมดแล้วก็แอบไปหยิบหนังสือที่โยนไว้ริมกองไฟ มีควันไฟ ไหม้นิดหน่อย เอามาปัดๆ แล้วนำกลับบ้าน
ผมประทับใจหนังเรื่องนี้มาก แล้วผมก็นำมากล่าวถึงรายการ “สะพานสายรุ้ง” ทางช่องนิวส์ วัน นอกจากนั้น เวลาผมได้เจอผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างเช่นคุณสนธิ ลิ้มทองกุล คนหนึ่งล่ะ แกอ่านหนังสือไม่หยุดเลย ไปไหนก็ถือหนังสืออ่าน วันหนึ่ง ผมก็ถือหนังสือไปแข่งกับแก แกก็ถามว่าเราอ่านหนังสืออะไร หันมามองดู แกรู้จักหนังสือที่ผมอ่านด้วย ผมแปลกใจมาก แล้วหนังสือที่ผมอ่านก็หายากนะ แต่แกรู้ หรืออย่างคุณหมอประเวศ วะสี ก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก แล้วคนพวกนี้ก็เรียนเก่ง คนที่เก่งของโลกเป็นคนที่รักการอ่านทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น วันนี้เราก็เลยพบว่าเราต้องให้เด็กไทยที่รักการอ่าน ได้มีหนังสืออ่าน ผมเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อติดต่อกับครูตามโรงเรียนต่างๆ ตอนนี้ไปได้ 26 จังหวัด 119 ตำบล 62 อำเภอ 182 โรงเรียน และมีเด็ก 889 คนได้รับตู้หนังสือพร้อมทั้งหนังสือไปอีกคนละ 50 เล่ม โดยเราให้ครูในโรงเรียนเป็นคนคัด
• ถือว่าประสบความสำเร็จมากเลยนะครับ
มาก...เพราะเราเจอนักอ่านจริงๆ บางคนผมตกใจ ผมไปบรรยายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน เด็กๆ มานั่งฟัง เราก็แกล้งถามว่า ในหนึ่งปี ใครอ่านหนังสือ 10 เล่ม มีคนยกมือ ใครอ่าน 50 เล่ม มีคนยกมือ ใครอ่าน 100 เล่ม ก็มีคนยกมือ และเป็นแค่เด็กประถมคนหนึ่ง แต่อ่านหนังสือ 100 เล่มในหนึ่งปี อ่านไปได้อย่างไร ผมก็ตกใจ แสดงว่ามีเด็กรักการอ่านจริงๆ แต่เราอาจจะยังหาไม่เจอเท่านั้นเอง และผมเชื่อโดยสนิทใจว่าเด็กที่อ่านหนังสือจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราหนังสือมันสอนอะไรหลายอย่าง
กระทั่งวันหนึ่ง ผมไปเจอคุณวิทยา ร่ำรวย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ก็ถามว่าเราร่วมมือกันไหม เพราะเราเคยไปออกบูทด้วยกันที่งานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ 2-3 ครั้ง ผมมีกล่องหนังสือไปตั้งที่บูทของสำนักพิมพ์ และใครที่อยากบริจาคก็ซื้อหนังสือสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์แล้วหย่อนลงในตู้ ปรากฏว่ามีคนบริจาคเป็นร้อยๆ เล่มเลย หลังจบงานหนังสือ คุณวิทยาก็นำหนังสือมาให้ผม แล้วผมก็ไปส่งต่อให้เด็ก
ทีนี้ รอบแรกนั้น ผมส่งหนังสือที่เราคัดเอง เป็นหนังสือของสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ปรากฏเด็กชอบมาก แล้วมีเด็กบางคนบอกกับแม่แอ๊ว (รัชนี ธงไชย) ครูใหญ่ของโรงเรียน ว่าหนังสือที่ให้มา อ่านหมดแล้ว ทำไงล่ะทีนี้ เราก็เลยคิดโครงการเติมหนังสือรอบสอง นี่ทำไปให้แล้วหลายอำเภอ หลายตำบล รอบสอง แต่ก็คิดว่า เอ๊ะ เขาก็คงไม่คิดอยากจะอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์เราสำนักเดียว เราก็บอกว่า เอาสิ อย่างนั้นเอาอย่างนี้ เติมหนังสือรอบสอง เราจะให้เธอบอกมาว่าอยากอ่านหนังสืออะไร เราก็จะร่วมมือกับสำนักพิมพ์ ที่พิมพ์หนังสือดีๆ บอกว่าเอารายชื่อหนังสือมา เราจะส่งไปให้เด็ก
• ขอเรียนถามอาจารย์ครับว่า คนทางบ้านสามารถเข้าร่วมโครงการ สร้างบุญสร้างกุศลด้วยการบริจาคหนังสือได้ด้วยวิธีการไหนอย่างไรบ้างครับ
ตามที่เราหารือกันกับทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ก็คือผู้บริจาคสามารถแสดงความจำนงบริจาคได้ 2 แบบ ... แบบแรก แจ้งความประสงค์บริจาควงเงินขั้นต่ำ 500 บาทเข้ามาที่ทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ แล้วทางสำนักพิมพ์จะจัดส่งรายการหนังสือไปให้เด็กเลือกตามวงเงินนั้น และอีกวิธีหนึ่งก็คือ ทุกท่านสามารถเลือกซื้อหนังสือตามรายการที่สำนักพิมพ์ระบุ แล้วจากนั้น เราก็จะนำไปให้เด็กในแต่ละที่เลือกว่าเด็กอยากได้หนังสือเล่มไหนอย่างไร ถัดจากนั้น เมื่อได้รับหนังสือเรียบร้อยแล้ว เด็กๆ ก็ทำจดหมายขอบคุณมา ทางคุณวิทยา หรือทางมูลนิธิเด็ก ก็จะส่งคำขอบคุณนั้นต่อไปให้แก่ผู้บริจาค
อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่จะบริจาคแบบไม่ระบุหนังสือ แต่บอกว่าให้เด็กๆ เลือกหนังสือของหนังสือพิมพ์บ้านพระอาทิตย์เอง ทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ก็จะส่งรายชื่อหนังสือมาให้ผม ผมก็จะส่งไปให้เด็กๆ เด็กก็จะเลือกมา วิธีการนี้เรียกว่า “ทู เวย์ส” (Two ways) คือพบกันสองทาง ไม่ใช่ให้เด็กรับหนังสือเราฝ่ายเดียว แต่เราให้เด็กได้เลือกด้วย ขณะเดียวกัน จะบริจาคมา 100-200 หรือ 300 บาทก็ได้ครับ เราเพียงแต่ตั้งเข็มไว้ที่ 500 บาท เพราะมันง่ายดี ไม่ต้องทอน (ยิ้ม)
• คือสุดท้าย จะบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ใช่ไหมครับ
ใช่ครับ เท่าไหร่ก็ได้ คือทำบุญนี้นะ เท่าไหร่ก็ได้ เราไม่มีมาตรการว่าเงินเยอะแล้วถึงจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นเจ็ด ไม่ใช่ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือการทำบุญโดยหนังสือ มันได้ปัญญาด้วย เด็กเหล่านี้ที่ได้รับหนังสือและอ่านหนังสือก็จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มาช่วยบ้านช่วยเมือง ใช่ไหม เราก็จะได้หลุดพ้นจากการโจมตีที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 4 บรรทัด ลองวาดฝันดูนะครับ ถ้าเราร่วมกันสร้างเด็กนักอ่านได้สักหนึ่งหมื่นคน อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ได้เกือบๆ หนึ่งพันคนแล้ว
• คำถามต่อมาก็คืออย่างนี้ครับอาจารย์ หลังจากเราส่งหนังสือให้เด็กรักการอ่านแล้ว เรามีการสานต่ออย่างไรบ้างครับ
หลังจากที่เราเลือกเด็กที่เป็นคนอ่านหนังสือจริงๆ แล้ว เราก็ไปทำค่าย สมมติว่า อำเภอนี้มีเด็กประมาณ 100 คน เพราะอำเภอหนึ่งเราได้ประมาณ 100 คน 100 ตู้ พอผ่านไป 2-3 เดือน เราก็เชิญเด็กพวกนี้มาเข้าค่าย เราเชิญนักเขียน นักดนตรี และใครต่อใคร มาร่วมกิจกรรม พร้อมกับให้เด็กตอบคำถามว่าอ่านหนังสือแล้วได้อะไร หรืออ่านแล้วไปทำอะไรต่อ เพราะเราไม่ต้องการให้เด็กอ่านหนังสืออย่างเดียวนะ เราต้องการให้เด็กเป็นบรรณารักษ์ ส่งหนังสือไปให้เพื่อนๆ อ่าน
ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งชื่อน้องหมิว เป็นลูกชาวสวนปลูกผลไม้อยู่ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ร่วมโครงการเรามาหลายเดือนแล้ว แกชอบอ่านมาก แกก็เอาหนังสือออกไปจากตู้หนังสือ ครอบครัวแกไปขายผลไม้ในตลาด แกก็หยิบหนังสือจากตู้ใส่ตะกร้าไปด้วย แล้วนำไปวางที่ร้านขายผลไม้ เด็กๆ คนไหนอยากจะมายืมอ่าน ก็มายืม นี่คือการสร้างนิสัยที่เขาเรียกว่าแชร์ความรู้ เด็กคนนี้ก็จะมีการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ แล้วก็จะเกิดการคุยกัน คุยกันเรื่องหนังสือ เหมือนสมัยที่เราเป็นนักศึกษา เราได้อ่านหนังสืออะไรดีๆ เราก็มาคุยกันกับเพื่อนว่าหนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร สิ่งนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการอ่านหนังสือ จากเด็กที่อ่านหนังสือ ซึ่งเราเลือกจากเด็กที่รักการอ่านจริงๆ จำนวน 889 คน 889 ตู้ 26 จังหวัด 62 อำเภอ เรายังไม่ผิดหวังที่เราเลือกเด็กเหล่านั้น
แล้วทีนี้ ถามว่าผมมีแผนการจะเล่นกับเด็กเหล่านี้อย่างไร คือกว่าเด็กเหล่านี้จะเรียนจบชั้นมัธยม 6 เราจะตามไปเรื่อยๆ เติมหนังสือไปเรื่อยๆ แล้วจะมีผู้ร่วมบริจาคมา ร่วมมือกับสำนักพิมพ์ มอบหนังสือดีๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าพวกเขาจะจบ ม.6 เราลองคิดดูนะครับ เด็กอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ จนถึง ม.6 โดยไม่ใช่การอ่านแค่ตำราเรียน อะไรจะเกิดขึ้น มันจะเกิดคนที่มีความคิดเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าเราทำต่อไปได้เรื่อยๆ
ประการที่สอง ผมจะจัดการประกวดงานเขียน คือนักเขียนส่วนมากจะมาจากการเป็นนักอ่านมาก่อน ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือ คุณจะเขียนได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ผมอยากได้นักเขียน อย่างที่ผมเกริ่นนำไปแล้วว่าเราไม่มีนักเขียนที่ได้รางวัลโนเบลเลย เราก็จะจัดประกวด อาจจะร่วมมือกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ร่วมมือกับทีวีช่องนิวส์ วัน จัดเวทีประกวดการเขียนหนังสือ มูลนิธิเด็กเราทำมาแล้ว และหลายๆ คนได้รับรางวัล เราก็นำมาจัดพิมพ์เป็นไดอารีบ้าง หนังสือนิทานเด็กบ้าง ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดนักเขียนขึ้นมา พ่อแม่ก็ดีใจ
• เท่าที่ฟังอาจารย์เล่ามา เป็นแบบนี้ไหมครับว่าโครงการนี้ไม่ใช่แค่ส่งๆ หนังสือให้เด็กแล้วก็จบเลย
ใช่... เรามีลูกตาม ลูกเล่น และถ้าถามอีกว่าเด็กได้อะไร อันแรกคือ เด็กได้ความเป็นบรรณารักษ์ แลกเปลี่ยน แล้วได้คุยกับเพื่อนฝูงในตำบล เพราะผมจะใช้วิธีแบบนี้ คือตำบลหนึ่ง ผมจะเลือกเด็ก 10 คน แล้วเด็ก 10 คนนี้ก็จะมาแลกเปลี่ยนหนังสือกัน แล้วนำไปแชร์ให้กับเพื่อนที่โรงเรียนอ่านด้วย ทำแบบนี้เด็กๆ ก็จะได้มีนิสัยของความเป็นบรรณารักษ์
ฉะนั้น วันนี้เราก็ร่วมมือกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ขอบริจาค เป็นบุญเรื่องปัญญาในโอกาสเข้าพรรษา แล้วเด็กก็จะมีความรู้ ก็ต้องขอโทษทีว่าต้องขอรณรงค์บริจาค เพราะการพิมพ์หนังสือมันต้องลงทุนสูงจริงๆ ไหนจะค่าลิขสิทธิ์ ค่าพิมพ์ แล้วหนังสือบ้านเราก็แพงแสนแพง เพราะรัฐบาลบ้านเรานี่ไม่ให้ลดภาษีรายได้ส่วนบุคคลเวลาเกี่ยวกับหนังสือ แต่ตอนเวลานำเที่ยวหรือไปทานอาหารตามร้าน ให้ลดเชียว ผมก็จะเรียกร้องนายกรัฐมนตรี บอกว่าใครไปซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือ ได้ใบเสร็จมา นำใบเสร็จนั้นไปหักภาษีรายได้ประจำปีส่วนบุคคลสักหน่อยได้ไหม พ่อแม่จะได้สนับสนุน ไปซื้อกันใหญ่ สำนักพิมพ์ก็อยู่ได้ นักเขียนก็อยู่ได้ เด็กก็ได้อ่านหนังสือ คนไทยผู้ใหญ่ก็ได้อ่านหนังสือ แทนที่จะกินแต่อาหาร เพราะเรากินจุกันมาก เดี๋ยวนี้ก็อ้วนจะเต็มบ้านเต็มเมือง
• โครงการนี้ เท่ากับว่า ได้สร้างคนด้วยกัน สร้างชาติด้วยกัน
ผมเชื่อว่า นี่คือการปฏิรูปการศึกษา ถ้าคนอ่านหนังสือ อาจจะไม่ต้องเรียนในห้องเรียนก็ได้นะ เพราะถ้าเรียนในห้องเรียนแล้วเอาแต่ท่องจำแบบเรียน ก็ไม่มีประโยชน์ ก็เป็นที่รู้กันแล้วว่าเรามีแต่คนที่...ขอโทษที...เรามีแต่คนที่ไม่มีปัญญามากกว่าคนมีปัญญา คนที่มีปัญญาก็จะอ่านหนังสือ อ่านหนังสือจะเกิดปัญญา แล้วสำนักพิมพ์ก็จะมีกำลังใจในการที่จะพิมพ์หนังสือดีๆ ที่ประเทืองปัญญาออกมา
เราก็ขอบริจาคเพียงแค่คนละ 500 บาท หรือเท่าไหร่ก็ได้ตามกำลัง สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ร่วมกับมูลนิธิเด็กในโครงการ “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” ส่งหนังสือไปให้ที่เด็กรักการอ่าน แล้วเด็กก็จะไปแจกหนังสือให้เพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ ได้อ่าน ถือว่าได้บุญอานิสงส์เยอะ นี่คือการทำบุญแบบใหม่ เราก็มาพูดในช่วงเข้าพรรษา ทำบุญกับวัดก็ทำไปเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา แต่การบำรุงปัญญาให้กับเด็กๆ ควรจะเป็นมิติใหม่ที่อยากให้เรามาร่วมกันทำ ถ้าประสงค์บริจาคให้โรงพยาบาลก็บริจาคไป เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ปัญญาของคนไทยจะเพิ่มพูนขึ้น ไม่ใช่จากการเรียนจบปริญญาตรีเท่านั้น แต่มาจากการอ่านหนังสือด้วย
ผมเชื่อว่าทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับผม กับโครงการของมูลนิธิเด็ก ที่มาร่วมกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ เราจะส่งเสริมให้เด็กไทยหรือคนไทยได้อ่านหนังสือ ถือเป็นการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการศึกษา เพราะต่อให้ปฏิรูปการศึกษาด้วยการสร้างโรงเรียนดีๆ ยังไงก็แล้วแต่ ถ้าเด็กไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่มีความหมาย เรียนจบไปแล้วก็ไม่อ่านหนังสือ ปัญญาก็ไม่เกิด จะว่าไป การอ่านหนังสือ ต้องอ่านตลอดชีวิตครับ
เรื่อง : ทีมข่าวสัมภาษณ์
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์ และ สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์
เป็นความสำเร็จที่เหนือความคาดหมาย สำหรับโครงการ “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” ซึ่งมี “พิภพ ธงไชย” หรือหัวเรือใหญ่แห่งมูลนิธิเด็ก ที่ใครต่อใครเรียกขานด้วยความเคารพว่า “อาจารย์พิภพ” เป็นกำลังสำคัญ และความพิเศษของโครงการนี้ไม่ใช่แค่เพียงลำเลียงหนังสือส่งให้กับเด็กๆ แล้วจบเลย หากแต่ยังมีการติดตามผล พร้อมกับชักชวนเยาวชนผู้ได้รับหนังสือเข้าร่วมกิจกรรม เข้าค่าย อันเป็นการปลูกฝังให้รักมั่นทั้งเรื่องการอ่านและการเขียน
ฝันอันยิ่งใหญ่ของอาจารย์พิภพ เดินทางมาถึงจุดที่ตอนนี้ สามารถสร้างตู้หนังสือในบ้านเด็กไปแล้วกว่าหนึ่งพันตู้ และพบหนูน้อยนักอ่านตัวจริงเสียงจริงอีกเกือบพันชีวิต พวกเขาเหล่านี้คือเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตงอกงามไปบนเส้นทางแห่งความรักในอักษร และจากความสำเร็จของโครงการในเฟสแรก ณ ตอนนี้ ถึงเวลาวาระแห่งการขยับระดับสองที่อาจารย์พิภพกล่าวว่า “ต้องขอความร่วมมือจากทุกๆ ท่าน”
• ในเบื้องต้น อยากให้อาจารย์บอกเล่าถึงแนวคิดที่มาของโครงการนี้ครับ
ช่วงนี้เป็นเดือนแห่งการทำบุญของคนไทย คือเป็นช่วงเข้าพรรษา คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญมากที่สุดในโลกเหมือนกัน คือชอบบริจาค ให้โรงพยาบาลบ้าง วัดบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการบริจาคเรื่องอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค หรือสร้างอาคารโรงพยาบาล อาคารโรงเรียน เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว สมัยผมเป็นนักศึกษา ยุคนั้นนิสิตนักศึกษาก็ชอบมากที่จะออกไปชนบท วันนี้อยากจะมาพูดว่า เรามีการทำบุญแบบใหม่ คือทำบุญทางปัญญา ส่งเสริมสติปัญญา แล้วการส่งเสริมสติปัญญาที่ดีที่สุดก็คือการอ่านหนังสือ หรือไม่ก็ฟังครูบาอาจารย์ ฟังบัณฑิต ผู้รู้ ได้พูดคุยเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านๆ มา ประเทศไทยถูกโจมตีมากในเรื่องอ่านหนังสือน้อย ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่คนจีนก็ยังอ่านหนังสือมาก และนอกจากอ่านหนังสือมาก เขายังเขียนหนังสือมากอีกด้วย สังเกตได้ว่าเรายังไม่มีนักเขียนของเราได้รางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรมเลย เราอาจจะมีวรรณกรรมอาเซียน มีรางวัลซีไรต์ที่มอบให้นักเขียนเป็นประจำทุกปี แต่ในระดับโลกเรายังไม่มี เพียงเพราะเราอ่านน้อย แล้วมีผลต่อระบบการศึกษา ทำให้ระบบการศึกษาอ่อนแอ ถ้าเทียบกับในโลก สาเหตุก็มาจากขาดการอ่านหนังสือ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วงการการพิมพ์หนังสือ 40 กว่าปีที่ผ่านมา เราเคยสตาร์ทกัน 1,000 เล่ม พิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม 3,000 เล่ม ก็อยู่อย่างนั้นมาจนถึงวันนี้ แต่หนังสือบางเล่มขายดี ก็อาจจะมีการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างเล่มนี้ผมตกใจมาก หนังสือของอาจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หยิบหนังสือ “101 ปลาทะเลไทย” ขึ้นมา) ขายดีมาก วันนั้นผมไปที่บูทสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ในงานหนังสือระดับชาติ อาจารย์เขาไปแจกลายเซ็น เซ็นไม่ทันเลย ขายดีมาก นี่ก็แสดงว่ายังมีคนที่อยากอ่านหนังสืออยู่ ทีนี้ พอรู้อย่างนี้ปุ๊บ ผมก็เลยเริ่มทำโครงการตู้หนังสือในบ้านเด็ก สำหรับเด็กยากจนในชนบท
คนเขาก็ถามว่าทำไมผมถึงต้องนำตู้หนังสือไปไว้ในบ้านเด็ก ทำไมไม่บริจาคหนังสือผ่านห้องสมุดโรงเรียน คำตอบก็คือ เราเคยเรียนหนังสือและไม่ค่อยได้เข้าไปอ่านในห้องสมุดหรอก จริงไหมครับ เราแบกหนังสือทุกวัน ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือตำราเรียน แล้วพ่อแม่เราก็มีทัศนคติว่าหนังสือแบบนี้มันไม่ใช่แบบเรียน ไปอ่านทำไม แล้วจะไปสอบอะไรได้ อันนี้ก็เป็นทัศนคติของคนไทย และสอง ทัศนคติของคนไทยก็คือ เราไม่มีตู้หนังสือในบ้าน ไปดูไปเยี่ยมบ้านเพื่อนๆ เจอตู้หนังสือบ้างไหม ไม่ค่อยจะมี และความจริงคือเราไม่มีตู้หนังสือ แต่เรามีตู้เสื้อผ้า ตู้กับข้าว เรามีตู้โชว์ของ โชว์โน่นนี่ โชว์แก้ว โชว์ประกาศนียบัตร เยอะแยะมากมาย แต่เราไม่มีตู้หนังสือ ผมก็จึงคิดว่าเราต้องสร้างวัฒนธรรมให้มีตู้หนังสือเด็กในบ้าน และเราก็ไปหาเด็กยากจนในชนบทที่รักการอ่าน
บังเอิญช่วงนั้น ผมได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า “โจรขโมยหนังสือ” (The Book Thief) เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงชาวเยอรมัน สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เด็กคนนี้แกอ่านหนังสือไม่ออก แล้วบังเอิญพ่อแม่ได้ช่วยเหลือผู้ชายคนหนึ่งซึ่งหลบหนีจากภัยสงคราม พามาซ่อนตัวอยู่ห้องใต้ดิน แต่คนคนนี้รักการอ่านมาก และแกก็สอนให้เด็กผู้หญิงอ่านหนังสือ ตั้งแต่นั้น เด็กคนนั้นเจอหนังสือที่ไหน ก็ไปหยิบอ่าน และแกมีหนังสือประจำตัวอยู่เล่มหนึ่ง และแล้ววันหนึ่ง ฮิตเลอร์ก็สั่งว่าให้ทุกคนที่มีหนังสือ เอาหนังสือมาที่จัตุรัสสาธารณะ เผาหนังสือ เด็กนั้นก็ถูกบังคับไปด้วย แต่แกก็แกล้งโยนหนังสืออยู่ริมๆ กองไฟ พอทุกคนไปหมดแล้วก็แอบไปหยิบหนังสือที่โยนไว้ริมกองไฟ มีควันไฟ ไหม้นิดหน่อย เอามาปัดๆ แล้วนำกลับบ้าน
ผมประทับใจหนังเรื่องนี้มาก แล้วผมก็นำมากล่าวถึงรายการ “สะพานสายรุ้ง” ทางช่องนิวส์ วัน นอกจากนั้น เวลาผมได้เจอผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างเช่นคุณสนธิ ลิ้มทองกุล คนหนึ่งล่ะ แกอ่านหนังสือไม่หยุดเลย ไปไหนก็ถือหนังสืออ่าน วันหนึ่ง ผมก็ถือหนังสือไปแข่งกับแก แกก็ถามว่าเราอ่านหนังสืออะไร หันมามองดู แกรู้จักหนังสือที่ผมอ่านด้วย ผมแปลกใจมาก แล้วหนังสือที่ผมอ่านก็หายากนะ แต่แกรู้ หรืออย่างคุณหมอประเวศ วะสี ก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก แล้วคนพวกนี้ก็เรียนเก่ง คนที่เก่งของโลกเป็นคนที่รักการอ่านทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น วันนี้เราก็เลยพบว่าเราต้องให้เด็กไทยที่รักการอ่าน ได้มีหนังสืออ่าน ผมเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อติดต่อกับครูตามโรงเรียนต่างๆ ตอนนี้ไปได้ 26 จังหวัด 119 ตำบล 62 อำเภอ 182 โรงเรียน และมีเด็ก 889 คนได้รับตู้หนังสือพร้อมทั้งหนังสือไปอีกคนละ 50 เล่ม โดยเราให้ครูในโรงเรียนเป็นคนคัด
• ถือว่าประสบความสำเร็จมากเลยนะครับ
มาก...เพราะเราเจอนักอ่านจริงๆ บางคนผมตกใจ ผมไปบรรยายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน เด็กๆ มานั่งฟัง เราก็แกล้งถามว่า ในหนึ่งปี ใครอ่านหนังสือ 10 เล่ม มีคนยกมือ ใครอ่าน 50 เล่ม มีคนยกมือ ใครอ่าน 100 เล่ม ก็มีคนยกมือ และเป็นแค่เด็กประถมคนหนึ่ง แต่อ่านหนังสือ 100 เล่มในหนึ่งปี อ่านไปได้อย่างไร ผมก็ตกใจ แสดงว่ามีเด็กรักการอ่านจริงๆ แต่เราอาจจะยังหาไม่เจอเท่านั้นเอง และผมเชื่อโดยสนิทใจว่าเด็กที่อ่านหนังสือจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราหนังสือมันสอนอะไรหลายอย่าง
กระทั่งวันหนึ่ง ผมไปเจอคุณวิทยา ร่ำรวย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ก็ถามว่าเราร่วมมือกันไหม เพราะเราเคยไปออกบูทด้วยกันที่งานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ 2-3 ครั้ง ผมมีกล่องหนังสือไปตั้งที่บูทของสำนักพิมพ์ และใครที่อยากบริจาคก็ซื้อหนังสือสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์แล้วหย่อนลงในตู้ ปรากฏว่ามีคนบริจาคเป็นร้อยๆ เล่มเลย หลังจบงานหนังสือ คุณวิทยาก็นำหนังสือมาให้ผม แล้วผมก็ไปส่งต่อให้เด็ก
ทีนี้ รอบแรกนั้น ผมส่งหนังสือที่เราคัดเอง เป็นหนังสือของสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ปรากฏเด็กชอบมาก แล้วมีเด็กบางคนบอกกับแม่แอ๊ว (รัชนี ธงไชย) ครูใหญ่ของโรงเรียน ว่าหนังสือที่ให้มา อ่านหมดแล้ว ทำไงล่ะทีนี้ เราก็เลยคิดโครงการเติมหนังสือรอบสอง นี่ทำไปให้แล้วหลายอำเภอ หลายตำบล รอบสอง แต่ก็คิดว่า เอ๊ะ เขาก็คงไม่คิดอยากจะอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์เราสำนักเดียว เราก็บอกว่า เอาสิ อย่างนั้นเอาอย่างนี้ เติมหนังสือรอบสอง เราจะให้เธอบอกมาว่าอยากอ่านหนังสืออะไร เราก็จะร่วมมือกับสำนักพิมพ์ ที่พิมพ์หนังสือดีๆ บอกว่าเอารายชื่อหนังสือมา เราจะส่งไปให้เด็ก
• ขอเรียนถามอาจารย์ครับว่า คนทางบ้านสามารถเข้าร่วมโครงการ สร้างบุญสร้างกุศลด้วยการบริจาคหนังสือได้ด้วยวิธีการไหนอย่างไรบ้างครับ
ตามที่เราหารือกันกับทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ก็คือผู้บริจาคสามารถแสดงความจำนงบริจาคได้ 2 แบบ ... แบบแรก แจ้งความประสงค์บริจาควงเงินขั้นต่ำ 500 บาทเข้ามาที่ทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ แล้วทางสำนักพิมพ์จะจัดส่งรายการหนังสือไปให้เด็กเลือกตามวงเงินนั้น และอีกวิธีหนึ่งก็คือ ทุกท่านสามารถเลือกซื้อหนังสือตามรายการที่สำนักพิมพ์ระบุ แล้วจากนั้น เราก็จะนำไปให้เด็กในแต่ละที่เลือกว่าเด็กอยากได้หนังสือเล่มไหนอย่างไร ถัดจากนั้น เมื่อได้รับหนังสือเรียบร้อยแล้ว เด็กๆ ก็ทำจดหมายขอบคุณมา ทางคุณวิทยา หรือทางมูลนิธิเด็ก ก็จะส่งคำขอบคุณนั้นต่อไปให้แก่ผู้บริจาค
อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่จะบริจาคแบบไม่ระบุหนังสือ แต่บอกว่าให้เด็กๆ เลือกหนังสือของหนังสือพิมพ์บ้านพระอาทิตย์เอง ทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ก็จะส่งรายชื่อหนังสือมาให้ผม ผมก็จะส่งไปให้เด็กๆ เด็กก็จะเลือกมา วิธีการนี้เรียกว่า “ทู เวย์ส” (Two ways) คือพบกันสองทาง ไม่ใช่ให้เด็กรับหนังสือเราฝ่ายเดียว แต่เราให้เด็กได้เลือกด้วย ขณะเดียวกัน จะบริจาคมา 100-200 หรือ 300 บาทก็ได้ครับ เราเพียงแต่ตั้งเข็มไว้ที่ 500 บาท เพราะมันง่ายดี ไม่ต้องทอน (ยิ้ม)
• คือสุดท้าย จะบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ใช่ไหมครับ
ใช่ครับ เท่าไหร่ก็ได้ คือทำบุญนี้นะ เท่าไหร่ก็ได้ เราไม่มีมาตรการว่าเงินเยอะแล้วถึงจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นเจ็ด ไม่ใช่ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือการทำบุญโดยหนังสือ มันได้ปัญญาด้วย เด็กเหล่านี้ที่ได้รับหนังสือและอ่านหนังสือก็จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มาช่วยบ้านช่วยเมือง ใช่ไหม เราก็จะได้หลุดพ้นจากการโจมตีที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 4 บรรทัด ลองวาดฝันดูนะครับ ถ้าเราร่วมกันสร้างเด็กนักอ่านได้สักหนึ่งหมื่นคน อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ได้เกือบๆ หนึ่งพันคนแล้ว
• คำถามต่อมาก็คืออย่างนี้ครับอาจารย์ หลังจากเราส่งหนังสือให้เด็กรักการอ่านแล้ว เรามีการสานต่ออย่างไรบ้างครับ
หลังจากที่เราเลือกเด็กที่เป็นคนอ่านหนังสือจริงๆ แล้ว เราก็ไปทำค่าย สมมติว่า อำเภอนี้มีเด็กประมาณ 100 คน เพราะอำเภอหนึ่งเราได้ประมาณ 100 คน 100 ตู้ พอผ่านไป 2-3 เดือน เราก็เชิญเด็กพวกนี้มาเข้าค่าย เราเชิญนักเขียน นักดนตรี และใครต่อใคร มาร่วมกิจกรรม พร้อมกับให้เด็กตอบคำถามว่าอ่านหนังสือแล้วได้อะไร หรืออ่านแล้วไปทำอะไรต่อ เพราะเราไม่ต้องการให้เด็กอ่านหนังสืออย่างเดียวนะ เราต้องการให้เด็กเป็นบรรณารักษ์ ส่งหนังสือไปให้เพื่อนๆ อ่าน
ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งชื่อน้องหมิว เป็นลูกชาวสวนปลูกผลไม้อยู่ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ร่วมโครงการเรามาหลายเดือนแล้ว แกชอบอ่านมาก แกก็เอาหนังสือออกไปจากตู้หนังสือ ครอบครัวแกไปขายผลไม้ในตลาด แกก็หยิบหนังสือจากตู้ใส่ตะกร้าไปด้วย แล้วนำไปวางที่ร้านขายผลไม้ เด็กๆ คนไหนอยากจะมายืมอ่าน ก็มายืม นี่คือการสร้างนิสัยที่เขาเรียกว่าแชร์ความรู้ เด็กคนนี้ก็จะมีการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ แล้วก็จะเกิดการคุยกัน คุยกันเรื่องหนังสือ เหมือนสมัยที่เราเป็นนักศึกษา เราได้อ่านหนังสืออะไรดีๆ เราก็มาคุยกันกับเพื่อนว่าหนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร สิ่งนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการอ่านหนังสือ จากเด็กที่อ่านหนังสือ ซึ่งเราเลือกจากเด็กที่รักการอ่านจริงๆ จำนวน 889 คน 889 ตู้ 26 จังหวัด 62 อำเภอ เรายังไม่ผิดหวังที่เราเลือกเด็กเหล่านั้น
แล้วทีนี้ ถามว่าผมมีแผนการจะเล่นกับเด็กเหล่านี้อย่างไร คือกว่าเด็กเหล่านี้จะเรียนจบชั้นมัธยม 6 เราจะตามไปเรื่อยๆ เติมหนังสือไปเรื่อยๆ แล้วจะมีผู้ร่วมบริจาคมา ร่วมมือกับสำนักพิมพ์ มอบหนังสือดีๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าพวกเขาจะจบ ม.6 เราลองคิดดูนะครับ เด็กอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ จนถึง ม.6 โดยไม่ใช่การอ่านแค่ตำราเรียน อะไรจะเกิดขึ้น มันจะเกิดคนที่มีความคิดเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าเราทำต่อไปได้เรื่อยๆ
ประการที่สอง ผมจะจัดการประกวดงานเขียน คือนักเขียนส่วนมากจะมาจากการเป็นนักอ่านมาก่อน ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือ คุณจะเขียนได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ผมอยากได้นักเขียน อย่างที่ผมเกริ่นนำไปแล้วว่าเราไม่มีนักเขียนที่ได้รางวัลโนเบลเลย เราก็จะจัดประกวด อาจจะร่วมมือกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ร่วมมือกับทีวีช่องนิวส์ วัน จัดเวทีประกวดการเขียนหนังสือ มูลนิธิเด็กเราทำมาแล้ว และหลายๆ คนได้รับรางวัล เราก็นำมาจัดพิมพ์เป็นไดอารีบ้าง หนังสือนิทานเด็กบ้าง ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดนักเขียนขึ้นมา พ่อแม่ก็ดีใจ
• เท่าที่ฟังอาจารย์เล่ามา เป็นแบบนี้ไหมครับว่าโครงการนี้ไม่ใช่แค่ส่งๆ หนังสือให้เด็กแล้วก็จบเลย
ใช่... เรามีลูกตาม ลูกเล่น และถ้าถามอีกว่าเด็กได้อะไร อันแรกคือ เด็กได้ความเป็นบรรณารักษ์ แลกเปลี่ยน แล้วได้คุยกับเพื่อนฝูงในตำบล เพราะผมจะใช้วิธีแบบนี้ คือตำบลหนึ่ง ผมจะเลือกเด็ก 10 คน แล้วเด็ก 10 คนนี้ก็จะมาแลกเปลี่ยนหนังสือกัน แล้วนำไปแชร์ให้กับเพื่อนที่โรงเรียนอ่านด้วย ทำแบบนี้เด็กๆ ก็จะได้มีนิสัยของความเป็นบรรณารักษ์
ฉะนั้น วันนี้เราก็ร่วมมือกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ขอบริจาค เป็นบุญเรื่องปัญญาในโอกาสเข้าพรรษา แล้วเด็กก็จะมีความรู้ ก็ต้องขอโทษทีว่าต้องขอรณรงค์บริจาค เพราะการพิมพ์หนังสือมันต้องลงทุนสูงจริงๆ ไหนจะค่าลิขสิทธิ์ ค่าพิมพ์ แล้วหนังสือบ้านเราก็แพงแสนแพง เพราะรัฐบาลบ้านเรานี่ไม่ให้ลดภาษีรายได้ส่วนบุคคลเวลาเกี่ยวกับหนังสือ แต่ตอนเวลานำเที่ยวหรือไปทานอาหารตามร้าน ให้ลดเชียว ผมก็จะเรียกร้องนายกรัฐมนตรี บอกว่าใครไปซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือ ได้ใบเสร็จมา นำใบเสร็จนั้นไปหักภาษีรายได้ประจำปีส่วนบุคคลสักหน่อยได้ไหม พ่อแม่จะได้สนับสนุน ไปซื้อกันใหญ่ สำนักพิมพ์ก็อยู่ได้ นักเขียนก็อยู่ได้ เด็กก็ได้อ่านหนังสือ คนไทยผู้ใหญ่ก็ได้อ่านหนังสือ แทนที่จะกินแต่อาหาร เพราะเรากินจุกันมาก เดี๋ยวนี้ก็อ้วนจะเต็มบ้านเต็มเมือง
• โครงการนี้ เท่ากับว่า ได้สร้างคนด้วยกัน สร้างชาติด้วยกัน
ผมเชื่อว่า นี่คือการปฏิรูปการศึกษา ถ้าคนอ่านหนังสือ อาจจะไม่ต้องเรียนในห้องเรียนก็ได้นะ เพราะถ้าเรียนในห้องเรียนแล้วเอาแต่ท่องจำแบบเรียน ก็ไม่มีประโยชน์ ก็เป็นที่รู้กันแล้วว่าเรามีแต่คนที่...ขอโทษที...เรามีแต่คนที่ไม่มีปัญญามากกว่าคนมีปัญญา คนที่มีปัญญาก็จะอ่านหนังสือ อ่านหนังสือจะเกิดปัญญา แล้วสำนักพิมพ์ก็จะมีกำลังใจในการที่จะพิมพ์หนังสือดีๆ ที่ประเทืองปัญญาออกมา
เราก็ขอบริจาคเพียงแค่คนละ 500 บาท หรือเท่าไหร่ก็ได้ตามกำลัง สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ร่วมกับมูลนิธิเด็กในโครงการ “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” ส่งหนังสือไปให้ที่เด็กรักการอ่าน แล้วเด็กก็จะไปแจกหนังสือให้เพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ ได้อ่าน ถือว่าได้บุญอานิสงส์เยอะ นี่คือการทำบุญแบบใหม่ เราก็มาพูดในช่วงเข้าพรรษา ทำบุญกับวัดก็ทำไปเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา แต่การบำรุงปัญญาให้กับเด็กๆ ควรจะเป็นมิติใหม่ที่อยากให้เรามาร่วมกันทำ ถ้าประสงค์บริจาคให้โรงพยาบาลก็บริจาคไป เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ปัญญาของคนไทยจะเพิ่มพูนขึ้น ไม่ใช่จากการเรียนจบปริญญาตรีเท่านั้น แต่มาจากการอ่านหนังสือด้วย
ผมเชื่อว่าทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับผม กับโครงการของมูลนิธิเด็ก ที่มาร่วมกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ เราจะส่งเสริมให้เด็กไทยหรือคนไทยได้อ่านหนังสือ ถือเป็นการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการศึกษา เพราะต่อให้ปฏิรูปการศึกษาด้วยการสร้างโรงเรียนดีๆ ยังไงก็แล้วแต่ ถ้าเด็กไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่มีความหมาย เรียนจบไปแล้วก็ไม่อ่านหนังสือ ปัญญาก็ไม่เกิด จะว่าไป การอ่านหนังสือ ต้องอ่านตลอดชีวิตครับ
เรื่อง : ทีมข่าวสัมภาษณ์
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์ และ สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์