xs
xsm
sm
md
lg

“หลาดใต้โหนด” พัทลุง...ตลาดนัดไม่ธรรมดา เดินฟิน กินเพลิน ถูก ดี ไม่มี(สาร)พิษ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
หลาดใต้โหนด ตลาดสีเขียววัฒนธรรมชุมชนเพื่อสุขภาพ
ผมไม่ใช่คนชอบเดินห้างสรรพสินค้า แต่ก็ไม่ปฏิเสธการเดินห้างฯ เพราะมีสินค้าบางอย่างที่ผมต้องไปซื้อในห้างฯ หรือบางครั้งเวลาเดินทาง ยามปวดทุกข์เบา-หนัก ข้าศึกโจมตี หากมีห้างฯอยู่แถวนั้น ผมมักจะเลือกเข้าไปปลดทุกข์ในห้างฯมากกว่าในปั๊ม เพราะห้องน้ำห้างฯสะอาด แอร์เย็นฉ่ำ

เช่นเดียวกัน ผมก็ไม่ใช่คนชอบเดินตลาด แต่ก็ไม่ปฏิเสธการเดินตลาด และก็มีหลายๆตลาดที่ไปเดินแล้วชอบ รวมถึงมีบางตลาดที่ชอบมากเป็นพิเศษ ดังเช่น “หลาดใต้โหนด” จ.พัทลุง ที่ถือเป็นหนึ่งในตลาดนัดที่ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

บ้านนักเขียน
หลาดใต้โหนด ตั้งอยู่ใต้ต้นโหนดและต้นไม้น้อย-ใหญ่อันร่มรื่นบริเวณท้องนาเก่าแห่งบ้านนักเขียน
หลาดใต้โหนด หรือ “หลาดนัดใต้โหนด” ตั้งอยู่ที่บ้านจันนา ต.ดอนทราย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นตลาดนัดใต้ต้นตาลโตนด หรือ“ต้นโหนด” ในภาษาท้องถิ่นภาคใต้

หลาดใต้โหนดตั้งอยู่ใต้ดงต้นโหนดและต้นไม้ร่มรื่นในบริเวณ“บ้านนักเขียน” ซึ่ง“กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2539 (จากหนังสือรวมเรื่องสั้น“แผ่นดินอื่น”) เกิดและเติบโตที่นี่ ก่อนจะอำลาจากโลกไปใน ปี พ.ศ. 2549 กลายเป็นหนึ่งในตำนานนักเขียนไทยกับฉายา “นักเขียนหนุ่มตลอดกาล”
รูปปั้น กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ หน้าบ้านนักเขียน
หลังกนกพงศ์จากไป พี่น้องครอบครัวสงสมพันธุ์ นำโดย “เจน สงสมพันธุ์”(อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย) และ“นิยุติ สงสมพันธุ์” ร่วมด้วยญาติสนิทมิตรสหาย ได้ปรับเปลี่ยนบ้านที่กนกพงศ์เคยอยู่อาศัยให้เป็น “บ้านนักเขียน” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะและเป็นสถานที่อบรมบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านการเขียนให้แก่เยาวชน รวมถึงเป็นสถานที่จัดงานรำลึกการจากไปของกนกพงศ์ในทุกๆปี
ร้านกาแฟ บ้านนักเขียน
ขณะที่ในวันธรรมดาก็เปิดเป็นร้านกาแฟ-เครื่องดื่มในบรรยากาศแบบบ้านๆ ที่โดดเด่นไปด้วยบรรยากาศอันร่มรื่นและเสียงเพลงไทยย้อนยุค โดยมีนิยุติเป็นผู้ดูแล ซึ่งที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งแห่งภาคใต้ที่เหล่าศิลปิน นักเขียน กวี นักดนตรี และผู้สร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มักจะมาพบปะ สังสรรค์ แลกเปลี่ยนทัศนะกันอยู่บ่อยครั้ง

หลาดใต้โหนด
นิยุติ สงสมพันธุ์
ที่บ้านนักเขียนยังมีท้องนาผืนเก่าที่ปกคลุมไปด้วยต้นโหนด(ตาลโตนด) ซึ่งนิยุติเล็งเห็นว่า น่าจะนำที่ว่างตรงนั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

นิยุติ เปิดเผยว่า เห็นชาวบ้านแถบนี้นิยมปลูกพืชผักสวนครัว และมีการแลกเปลี่ยนผลผลิตกันมานานแล้ว ควรที่จะจัดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำพืชผักผลผลิตที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีมาแลกเปลี่ยน ซื้อขาย เป็นตลาดนัดชุมชนในบรรยากาศแบบบ้านๆ กับบรรยากาศซื้อขายสินค้าฉันมิตร
หลาดใต้โหนด ตลาดนัดสีเขียวอันร่มรื่นน่าเดิน(มาก)
แนวคิดเรื่องตลาดนัดชุมชนของยุติได้รับการตอบรับด้วยดี พร้อมทั้งมี“ประไพ ทองเชิญ” ผู้ประสานงานเครือข่ายกินดีมีสุข มาร่วมด้วยช่วยกันอีกแรง โดยมีโมเดลความสำเร็จของ “ตลาดน้ำวิถีพุทธบ้านคลองแดน” อ.ระโนด จ.สงขลา ที่วันนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาเป็นแนวทาง
สินค้าจากชุมชน ปลอดสารเคมี กับวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
หลังจากนั้นหลาดใต้โหนดก็ก่อกำเนิดขึ้น ด้วยแนวคิด “ตลาดสีเขียววัฒนธรรมชุมชนเพื่อสุขภาพ” พร้อมกับมีสโลแกนของตลาดว่า “ของกิน ของใช้ งานศิลป์ บ้านบ้าน” โดยได้นำผลผลิตท้องถิ่น ผลผลิตตามฤดูกาลที่สอดคล้องกับวิถีป่า นา เล นิเวศชุมชนอันโดดเด่นของพัทลุง มาเป็นตัวชูโรง ร่วมด้วยการพยายามรื้อฟื้น อาหาร ขนม ของกินหายากในชุมชนที่กำลังจะสูญหายให้คืนกลับมา
หลาดใต้โหนดมีสารพัดของกินหลากหลายใให้อร่อยกันมากมาย
หลาดใต้โหนด มีนโยบายสาธารณะ ได้แก่

1.คัดสรรฟื้นฟูภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้าน เพื่อดูแลสุขภาพ กาย และใจ ของผู้ผลิต ผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลด หวาน มัน เค็ม และสารปรุงแต่งที่เกินจำเป็น

2.รักษาและฟื้นฟูภูมินิเวศ ป่า นา เล แหล่งผลิตอาหารของชุมชนให้ยั่งยืน ถึง ลูก หลาน เหลน...

3.ส่งเสริมและสืบสานวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเศรษฐกิจพอเพียง และสวัสดิการชุมชน
มุมนั่งกินอาหารใต้ต้นไม้อันร่มรื่น
นอกจากนี้หลาดใต้โหนดยังมีกฎกติกาในการคัดสรรสินค้า อาหาร การแต่งกาย ของพ่อค้า แม่ค้า มีการประชุมหารือร่วมกัน ที่สำคัญคือสินค้าที่นี่ต้องปลอดสารพิษ ไม่ใช้โฟม และลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด

พี่ประไพบอกกับผมว่า “เมื่อไม่ใช้โฟมและลดถุงพลาสติก หลาดใต้โหนดสามารถลดการทิ้งขยะลงได้กว่าครึ่ง”

ตลาดสีเขียว เที่ยวเพลิน
พืชผักปลอดสารเคมี เก็บสดๆจากชุมชน
แรกที่ผมมาถึงหลาดใต้โหนด ความรู้สึกแรกที่เจอก็คือ ตลาดแห่งนี้ช่างไม่ธรรมดาเอาเสียเลย แค่ที่ตั้งบรรยากาศของตลาดที่ก็ถือว่าเด็ดแล้ว เพราะตั้งอยู่ใต้ต้นไม้เขียวขจีที่มีดงต้นโหนดล้อมรอบอีกชั้น

เมื่อมาเดินที่ตลาดแห่งนี้มันจึงให้ความรูสึกเหมือนว่าเรากำลังเดินอยู่ในตลาดในสวนหรือเดินอยู่ในสวนที่มีตลาดก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ นับเป็นตลาดสีเขียวที่ดูสบายตา เดินสบายใจ ส่วนพ่อค้า แม่ค้า นั้นก็แต่งตัวกันแบบบ้านๆ และเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม
พบรอยยิ้ม มิตรไมตรีจากแม่ค้า-พ่อค้าได้ทั่วไปที่หลาดใต้โหนด
ขณะที่สินค้าของขายของที่นี่นั้นบอกเลยว่า ไม่ธรรมดามาก โดยเฉพาะอาหาร ขนม ของกินนี่ ผมกดไลค์รัวๆให้เลย เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งมาเคยกินอาหารและขนมบางอย่างที่ตลาดแห่งนี้เป็นที่แรก แถมราคายังถูกอีกต่างหาก

นอกจากนี้ภาชนะที่ใส่ก็เน้นวัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ใบตอง ใบไม้ ไม้ไผ่ กะลา โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมในการคิดค้นภาชนะ เรียกว่า ของกินบางอย่างกินแล้วยังเก็บภาชนะกลับไปเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย
ภาชนะใส่อาหารแสนเก๋ วัสดุจากธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ก็ยังคงมีสินค้าบางชนิดที่จำเป็นต้องใส่ในถุงพลาสติก ซึ่งพ่อค้า แม่ค้าที่นี่ก็จะลดการใช้ให้มากที่สุด ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวสามารถนำถุงผ้า หรือถุงส่วนตัวไปใส่สินค้าเอง ก็จะยิ่งช่วยลดการพึ่งพาการใช้ถุงพลาสติกได้อีกทางหนึ่ง
ขนมปำ
สำหรับของกินเด่นๆที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ก็พวกของกินที่ทำจากข้าวสังข์หยด ข้าวเล็บนก (2 ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเลื่องชื่อของพัทลุง) อาทิ หมี่หุนตำนาน ข้าวยำ ขนมจีนแป้งข้าวสังข์หยด “ขนมปำ”(ขนมปำขึ้น) อาหารพื้นบ้านของกินหายากทำจากแป้งผสมน้ำตาลโตนดนึงในถ้วยตะไล(หน้าตาคล้ายขนมถ้วยฟู) “ขนมม้า”ดูคล้ายขนมรังผึ้ง ทำจากแป้งข้าวสังข์หยดข้าวเล็บนก(2 ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเลื่องชื่อของพัทลุง)ผสมมะพร้าว น้ำตาลโตนด เป็นแป้งสดๆนึ่งออกมาได้หอมหวนชวนกิน ผมลองกินแล้วหวานกำลังดี อร่อยกลมกล่อม และไม่ดีด!!!
ขนมม้า
นอกจากนี้ก็ยังมีพืชผักผลไม้พื้นบ้านตามฤดูกาล ปลอดสารเคมี อาหารพื้นบ้าน ขนมต่างๆ น้ำดื่มสมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากกระจูด ผ้าทอพื้นบ้าน ของใช้พื้นบ้านทำมือต่างๆ อีกหลากหลาย
ยิ้มเริงร่าของคุณป้าขายขนมม้า
โดยในส่วนของอาหารการกินนั้น ที่นี่จะใช้วัตถุดิบหลักจากในท้องถิ่น ปลอดสารเคมี ไม่ใส่ผงชูรส และเน้นการปรุงรสสดๆทำกันสดๆ ซึ่งหากใครที่จะมาเดินที่ตลาดแห่งนี้ ผมขอแนะนำว่าไม่ควรกินข้าวมาก่อน หรือท้องอิ่ม(เกินควร)มาก่อน แต่ควรเหลือพื้นที่ในกระเพาะให้มากที่สุด เพื่อมาจัดเต็มกับสารพัดของกินอร่อยๆที่หากินไม่ได้ง่ายๆ แต่มีให้กินมากมายที่นี่

หลาดใต้โหนด ตลาดมาแรง
ผลิตภัณฑ์จากกระจูด
หลาดใต้โหนด เป็นตลาดนัดที่เปิดขายเฉพาะในวันอาทิตย์ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็น โดยเปิดตัวให้คนทั่วไปรับรู้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 58
ไอศกรีมโบราณห่อใบตอง
มาวันนี้เป็นเวลาร่วมปีครึ่งแล้วที่ตลาดนัดสีเขียวแห่งนี้เปิดขายและประสบผลสำเร็จด้วยดี ดูได้จากคนที่มาเที่ยว ซึ่งนอกจากคนพัทลุงแล้วก็ยังมีคนในจังหวัดอื่นๆมาอีกเป็นจำนวนมาก(ดูได้จากรถที่มาจอด) โดยเฉพาะคนใต้ที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง หลาดใต้โหนดถือเป็นแหล่งชอปปิ้ง ท่องเที่ยว พักผ่อนในวันหยุดที่ได้รับความนิยมไม่น้อย
ศิลปะการแสดงโนราจากเยาวชนที่หลาดใต้โหนด
นอกจากสินค้าอาหารที่วางขายเหมือนตลาดทั่วไปแล้ว หลาดใต้โหนดยังมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม มีห้องสมุด มุมพักผ่อน มุมถ่ายรูปที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มุมนั่งกินอาหารท่ามกลางแมกไม้อันร่มรื่น มี“มัคคุเทศก์น้อย”จิตอาสาพลเมืองเด็ก มาคอยให้ข้อมูลนำเที่ยวสำหรับผู้มาเป็นหมู่คณะ
ไกด์เยาวชน ให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยว
ส่วนใครที่เป็นนักอ่านที่บ้านนักเขียน(ร้านกาแฟ)ก็มีหนังสือของนักเขียนจำนวนหนึ่งจำหน่าย โดยเฉพาะหนังสือของ“กนกพงศ์ สงสมพันธุ์”นั้น มีให้เลือกซื้อเลือกหากันเยอะอยู่พอสมควร

ครับ และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของหลาดใต้โหนด ตลาดสีเขียวที่เที่ยวเพลิน ช้อปเพลิน กินเพลิน สินค้าอาหารราคาไม่แพง บรรยากาศดี มีรอยยิ้มน้ำมิตรไมตรี ที่ใครและใครหลายๆคนเมื่อมาเดินแล้วต่างชื่นชอบ ประทับใจ และต้องหาโอกาสกลับไปเยือนอีกสักครั้งหรือหลายๆครั้ง

หลงรักหลาดใต้โหนด
ข้าวเหนียวในหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ผมไม่ใช่คนชอบเดินห้างสรรพสินค้า แต่ก็ไม่ปฏิเสธการเดินห้างฯ

เช่นเดียวกัน ผมก็ไม่ใช่คนชอบเดินตลาด แต่ก็ไม่ปฏิเสธการเดินตลาด และก็มีบางตลาดที่ไปเดินแล้วชอบมาก ดังเช่น “หลาดใต้โหนด” จ.พัทลุง ที่เมื่อผมได้ไปมีโอกาสไปสัมผัสมา นอกจากจะชื่นชอบตลาดแห่งนี้มากเป็นพิเศษแล้ว

ผมยังรู้สึก“หลงรัก”หลาดใต้โหนด เข้าอย่างเต็มเปา
นักท่องเที่ยวคึกคักที่หลาดใต้โหนด
**************************************************
หลาดใต้โหนด(หลาดนัดใต้โหนด) ตั้งอยู่บริเวณบ้านนักเขียนใต้ดงต้นโหนดและต้นไม้ร่มรื่น ที่บ้านจันนา ต.ดอนทราย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เปิดตลาดนัดทุกวันอาทิตย์ เวลาประมาณ 08.00-15.00 น. ผู้สนใจสอบถามข้อมูลหลาดใต้โหนดเพิ่มเติมได้ที่ 085-065-4480

นอกจากนี้ปีนี้จังหวัดพัทลุง ยังได้รับการคัดเลือกจาก “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”(ททท.) ให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาดPlus”(เมืองต้องห้ามพลาดพลัส) กับเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับจังหวัดนครศรีธรรมราช “เมืองต้องห้าม...พลาด” ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทาง ในจังหวัดพัทลุงได้ที่ ททท.สำนักงานหาดใหญ่ (ดูแลพื้นที่ สงขลา, พัทลุง) โทร.0 7423 1055, 0 7423 8518, 0 7424 3747
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น