xs
xsm
sm
md
lg

“วีรพร นิติประภา” เจ้าของฉายาซีไรต์แนวบ็อบ ที่ใครๆ ก็เข้าถึงง่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2558 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้นวนิยายเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของนักเขียนสาว วีรพร นิติประภา ได้รับรางวัลซีไรต์ ของประเทศไทยไปครอง บรรยากาศภายในห้องประกาศผลนั้นเต็มไปด้วยเสียงตบมือดีใจและเห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะกรรมการ ไม่นานชื่อของ วีรพร นิติประภา ก็ถูกพูดถึงกันอย่างหนาหู

ผ่านไปเพียงไม่กี่วันซีไรต์ป้ายแดงคนนี้ก็เนื้อหอม วิ่งโร่ออกงานแจกลายเซ็นต์ พบปะแฟนคลับนักอ่าน พร้อมโชว์ตัวให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ แทบทุกวันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วเส้นทางการเป็นนักเขียนของ วีรพร นิติประภา นั้น ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นไม่กี่ปีผ่านที่ผ่านมา แต่เธอเริ่มเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่อายุได้ 22 ปี






“แม้จะเรียนจบทางด้านเลขา แต่ด้วยความที่เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือโดยเฉพาะนักเขียนที่มีภาษาสละสวย มีการเล่นคำ จะชื่นชอบเป็นพิเศษ กระทั่งอายุ 22 ปี จึงเริ่มลงมือเขียนเรื่องสั้น ลงตีพิมพ์ในนิตยสารที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นคือ นิตยสารหนุ่มสาว ตีพิมพ์ประมาณ 2-3 ปี จึงเลิกเขียนไป ด้วยมีหลายสิ่งที่ต้องทำในขณะนั้นจนไม่มีเวลามากพอที่จะทุ่มเทให้กับเรื่องสั้น และนี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาอยู่ในวงการนักเขียนตั้งแต่ตอนนั้นเลย”

วีรพรจำต้องวางปากกาไปชั่วคราวเพื่อไปทำหน้าที่ภรรยาและแม่ จนลูกชายเติบโตจึงเริ่มมีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มหันกลับมาจับปากกาจรดน้ำหมึกอีกครั้งด้วยการเขียนผลงาน ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ซึ่งเรื่องนี้เธอใช้เวลากว่า 3 ปี กว่าผลงานเล่มนี้จะสำเร็จออกมาให้นักอ่านได้เคลิบเคลิ้มไปกับตัวละครของเธอเลยทีเดียว

“จริงๆ งานเขียนเล่มนี้เขียนเสร็จตั้งแต่ปีแรกที่ตั้งโครงเรื่องไว้แล้ว ทว่ามาเสียเวลาตรงรีไรต์ ตัดเพิ่มเรื่อยๆ บางช่วงก็โล๊ะแล้วเขียนใหม่ ปรับแก้ไปแก้มาจนกว่าจะอ่านแล้วพอใจ อ่านแล้วไม่ติดขัด ทำไปทำมากระบวนการตรงนี้กลับกินเวลาล่วงเลยไปถึง2 ปี”





แต่ด้วยความเป็นคนทำงานแบบฟรีสไตล์ ไม่ชอบทำงานอะไรที่ล็อคไว้ เพราะไม่ถนัดกับการต้องมีโครงที่ชัดเจน ทำให้วิธีการทำงานของซีไรต์หญิงคนนี้แตกต่างจากนักเขียนท่านอื่นๆ เพราะจะทำเพียงเซ็ทโครงเคร่าๆ ไว้ว่าเรื่องที่จะเขียนนี้ตัวละครเกิดความขัดแย้งกัน โดยจะเขียนผ่านนิยายรัก ที่มีคอนเซ็ปต์คือ มายาคติ จากนั้นจึงเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จนเสร็จ แล้วกลับมาดูอีกทีว่าสิ่งที่เขียนไปนั้นใช่สิ่งที่ได้วางโครงไปหรือไม่

ดังนั้นในช่วงเวลาตี 5 ถึงเที่ยงของทุกวัน จะเป็นช่วงเวลาที่ซีไรต์ป้ายแดงคนนี้ มอบให้กับโลกจินตนาการที่เธอใช้ในการเขียนนวนิยาย

“อายุที่มากขึ้นทุกวันๆ ทำให้ไม่เหมาะกับการอดหลับอดนอน ช่วงเวลาตี 5 ถึงเที่ยงจึงหมดไปกับการลงมือเขียนนิยายตามจินตนาการที่โลดเล่นอยู่ในหัว จากนั้นก็พักทำอย่างอื่น พอช่วงบ่ายหากยังเขียนไหวก็จะกลับมานั่งเขียนงานต่อจนกว่าจะหมดพลัง หากเขียนต่อไม่ไหว จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นด้วยการทำสวน ปลูกต้นไม้ หยอกล้อกับแมวแสนรักเพื่อเป็นการพักผ่อนไป รุ่งเช้าวันต่อมาก็จะทำเหมือนเดิมทุกวัน”





นักเขียนหลายคนเวลาเขียนงานมักจะมีมุมโปรดของตัวเอง เช่นเดียวกับเจ้าของผลงาน ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต เวลาเธอนั่งเขียนงานมุมโปรดของเธอจะอยู่ที่โต๊ะกินข้าว หากเมื่อยล้าก็ละสายตาจากหน้าคอมพิวเตอร์มองออกไปที่สวนเล็กๆ ของบ้านลอดผ่านช่องหน้าต่าง 2 บานที่อยู่ตรงหน้าเธอออกไป ทำให้การเขียนงานของเธอไม่มีภาวะเขียนๆ แล้วคิดไม่ออก ไปต่อไม่ได้ เพราะเป็นคนเขียนงานได้เรื่อยๆ อาจเพราะถูกเทรนด์มาจากงานโฆษณา ทำให้เธอไม่มีคำว่า “คิดงานไม่ออก”

แม้ประสบความสำเร็จกับ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ตั้งแต่ผลงานเริ่มตีพิมพ์จนได้รับรางวัล มีแฟนๆ นักอ่านอายุตั้งแต่ 12 -89 ปี ด้วยเพราะเป็นนวนิยายที่อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผสมผสานกับลีลาภาษาสวย น่าอ่าน อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนอยู่ที่ว่าแต่ละคนที่อ่านจะตีความกันอย่างไร จึงไม่แปลกใจว่าทำไมแฟนนักอ่านถึงได้หลากหลายช่วงอายุขนาดนี้




เมื่อถามถึงงานเขียนที่อยากทำในอนาคต วีรพร บอกว่า “อยากเขียนทุกอย่าง แต่บทกวีอาจจะยากหน่อย เพราะว่าบทกวีคือคุณต้องเกิดมาเพื่อสิ่งนั้น คุณจะต้องเกิดมาเป็นกวี ถึงแม้จะมีคนคิดว่าพี่จะใช้ภาษาเหมือนกวี แต่พี่ไม่มีวิธีคิดเหมือนบทกวี มีแค่เพียงการใช้ภาษาแค่นั้น ก็ยังไม่แน่ใจ
แต่ในอนาคตอยากมีเรื่องสั้นอีกสักเล่ม แล้วก็อยากจะลองเขียนบทกวี แต่ไม่รู้ว่ามันจะออกมายังไง และยังจะเขียนงานไปเรื่อยๆ จนกว่าไม่มีเรื่องเขียน เพราะคิดว่าเราอยากทำอะไรก็ได้ขออย่างเดียว คือ stay creative ตราบใดที่งานเราออกมาแล้วมันยังครีเอทีฟอยู่ ก็จะทำต่อไป แต่หากไม่มีพลอตเรื่องอะไรก็คิดว่าอย่าทำเลย อย่าเขียนเลย เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทนดีกว่า เพราะจริงๆ สำหรับเราหนังสือเป็นแค่อาวุธหนึ่งแค่นั้นเอง”




ก่อนจากกันในวันนี้เจ้าของซีไรต์คนล่าสุดได้พูดถึงผลงานชิ้นใหม่ของตนเองว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาเป็นแนวไหน ยังไม่อยากตีกรอบให้ตัวเอง เพราะบางทีเขียนๆ อยู่อาจจะเปลี่ยนตรงกลางทางก็เป็นได้ แต่อยากให้เป็นนวนิยายแนวย้อนยุค

สุดท้ายเจ้าของรางวัลซีไรต์คนปัจจุบันยังได้ฝากข้อคิดไปถึงนักเขียนรุ่นใหม่ว่าอยากเห็นน้อง ๆ เขียนงานที่สร้างสรรค์ความแปลกแหวกจากแนวเดิม ๆ ที่เน้นแต่เรื่องความรักหวานแหววที่กำลังนิยมอยู่ในปัจจุบัน

 
 
เรื่องโดย : นับดาว รัตนสูรย์
ภาพโดย : วรวิทย์ พานิชนันท์



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น