xs
xsm
sm
md
lg

นสพ.ของจอมพลสฤษดิ์ ไม่ยอม “ตามก้นอเมริกัน” ตามเจ้าของ ทีมงานจนถึงเด็กรับใช้ “ยกสต๊าฟ” บก.เลยได้ข้อหาคอมมิวนิสต์!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สารเสรีในวันสุดท้ายของกอง บก.เก่า (ซ้าย) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขวา)
“ยกสต๊าฟ” และ“ตกงาน” เป็นคำที่บรรดานกน้อยในไร่ส้มยุคก่อนรู้ซึ้งกันดี โดยเฉพาะในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เรืองอำนาจ มีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์กันเป็นว่าเล่น นอกเหนือจากการยุบสภาแบบไม่มีวันเปิดตลอดชีวิตของ “จอมพลผ้าขะม้าแดง” ผู้นี้

ถ้าใครทำงานหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นแล้วยังไม่เคย “ยกสต๊าฟ” หรือ “ตกงาน” ก็แสดงว่าเป็นมือใหม่ เลือดหนังสือพิมพ์ยังไม่เข้มข้น หรือประสบการณ์ในงานหนังสือพิมพ์ยังไม่มากพอ

นักหนังสือพิมพ์ยุคก่อนถือศักดิ์ศรีกันมาก เหมือนในเนื้อร้องของเพลง “นกน้อยในไร่ส้ม” ที่ว่า “พวกเราสูงศักดิ์ สูงหนักสูงหนา ร่อนเร่เคหาไม่มี...”

ถือศักดิ์ศรีโดยไม่ได้ห่วงปากท้อง จึงไส้แห้งจนเป็นเอกลักษณ์

เมื่อมีเรื่องผิดใจกับนายทุน หรือถูกก้าวก่ายความเป็นอิสระในการทำงาน ก็มักจะ “ยกสต๊าฟ” ออกไปด้วยกันทั้งหมด

การยกทีมออกนี้ บางทีก็ไม่ได้มีการเขียนใบร่ำใบลาให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่ใช้วิธีบอกกล่าวแล้วก็พากันเดินกลับบ้านไปเฉยๆ โดยถือเป็นสปิริตตามเพลงฮิตของหลวงวิจิตรวาทการที่ว่า “มาด้วยกันไปด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย...”

บรรดานายทุนหนังสือพิมพ์จึงรังเกียจที่จะออกหนังสือพิมพ์โดยใช้สต๊าฟ แบบมากันเป็นทีม แต่ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงวิธีนี้ได้ เพราะการเลือกดึงเอาแต่ละคนมาจากแต่ละกลุ่มจัดขึ้นเป็นทีมใหม่ คนถือศักดิ์ศรีจะไม่มีใครยอมมา หรือถ้าจัดได้ก็มักเจ๊งทุกทีเพราะเข้าขากันไม่ได้ ส่วนใหญ่จึงจำใจยอมเลือกตัวบรรณาธิการหัวหน้าทีมที่เชื่อถือฝีมือ แล้วให้จัดสต๊าฟของตัวเอง

บรรณาธิการหรือหัวหน้าทีมเด่นๆ ในยุคนั้นก็มี อาทิเช่น อิศรา อมันตกุล, ทนง ศรัทธาทิพย์, สมบูรณ์ วิริยศิริ, สนิท เอกชัย, สมัย เรืองไกร, สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช, เฉลา เลขะรุจิ, สนอง มณีศรี, โดม แดนไทย ฯลฯ เป็นต้น
สมัย เรืองไกร และ ทนง ศรัทธาทิพย์
อีกทั้งหนังสือพิมพ์ยุคนั้นความมั่นคงมีอยู่น้อย ส่วนใหญ่ออกได้ไม่เท่าไรถ้าไม่ติดลมก็หมดทุน ต้องหยุดกิจการไป หรือถ้าเขียนเอาใจคนอ่าน แม้จะขายดีแต่ก็มักจะถูกกองเอกสารหนังสือพิมพ์ของสันติบาลมีหนังสือมา “ขอแสดงความนับถือ” สร้างความหงุดหงิดให้เป็นประจำ หนักเข้าก็ถูกสั่งปิดไปเลย เดินเตะฝุ่นกันอีก ดีไม่ดีบรรณาธิการหรือนักเขียนคอลัมน์เด็ดๆ อาจมีคุกแถมให้ด้วย

คนหนังสือพิมพ์ยุคนั้นจึงต้องตกงานกันเป็นกิจวัตร จนมีคำพูดเล่นกันว่า หลักประกันที่ดีของคนทำหนังสือพิมพ์ก็คือ ต้องหาเมียขายข้าวแกงไว้ จะได้ไม่อดตายตอนตกงาน

การ “ยกสต๊าฟ” ครั้งรุนแรงและองอาจที่สุด เห็นจะเป็นการยกสต๊าฟของกองบรรณาธิการ“สารเสรี” เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๑ เพราะนายทุนของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติที่กำลังไปผ่าตัดม้ามอยู่ที่อเมริกา ให้ลูกน้องเป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพไว้

“สารเสรี” เป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่ขายดีที่สุดฉบับหนึ่งในขณะนั้น ทั้งๆเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นหนังสือพิมพ์ของขุนพลคู่บัลลังก์จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ระบุชื่อเจ้าของในหนังสือพิมพ์ว่า บริษัท ธนะการพิมพ์ จำกัด ซึ่งชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นบริษัทของใคร มีพลเอกเนตร เขมะโยธิน อาจารย์ของจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้อำนวยการ

แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์ของบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล แต่กองบรรณาธิการ “สารเสรี” ก็มีอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เคยถูกก้าวก่ายควบคุมนโยบายจากจอมพลสฤษดิ์หรือพลเอกเนตรเลย มักจะเสนอข่าวและบทความโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จอมอัศวินเจ้าของฉายา “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” เว้นไม่แตะต้องก็แต่จอมพลสฤษดิ์เท่านั้น
พล.อ.เนตร เขมะโยธิน
ครั้งหนึ่ง พล.ต.อ.เผ่าส่งคนมาขอนัดพบ ทนง ศรัทธาทิพย์ บก.สารเสรี ในที่ลับแห่งหนึ่ง ซึ่งแวดล้อมไปด้วยบรรดาอัศวินเพื่อให้บรรยากาศน่าเกรงขาม จอมอัศวินเสนอขอความร่วมมือสมานฉันท์พร้อมผลประโยชน์ก้อนโต แต่ บก.สารเสรี ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

ทนง ศรัทธาทิพย์กลับมาถึงโรงพิมพ์ในคืนนั้นด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และบอกพรรคพวกร่วมทีมงานที่รอคอยกันด้วยความกระวนกระวายว่า

“ก็ดูเขาออกจะโมโหอยู่มาก ช่างมันเถอะ เรามาทำงานของเราต่อไปดีกว่า อย่าไปคิดถึงมันเลย...”

“สารเสรี” คัดค้านนโยบายตามก้นอเมริกาของจอมพล ป. คัดค้านการร่วมสนธิสัญญาซีโต้ และสนับสนุนการเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนแดง จึงถูกเพ่งเล็งว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายเช่นเดียวกับ “บางกอกเดลิเมล์”ที่ขายดีคู่กัน

ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพล ป.หนีไปเขมรทางจังหวัดตราด พล.ต.อ.เผ่าถูกคุมตัวและเนรเทศไปสวิตเซอร์แลนด์ มีการเซนเซอร์ นสพ.ทุกฉบับรวมทั้งสารเสรี แต่จอมพลสฤษดิ์ก็เป็นนายทุนที่มีมารยาทดี

ค่ำวันนั้นมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในกองบรรณาธิการสารเสรี ผมเป็นคนไปรับ เสียงทางสายจะขอพูดกับ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน ผู้อำนวยการ ผมก็ตอบไปว่าท่านไม่อยู่ เสียงทางสายเงียบไปครู่หนึ่งก็มีเสียงใหม่มาพูดแทน ซึ่งผมจำได้ดีว่าเป็นเสียงของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ออกอากาศอยู่ตลอดวันนั้นนั่นเอง

“คุณเนตรไม่อยู่เหรอ” ผู้พูดคนใหม่ถามย้ำอีก
“ไม่อยู่ครับ” ผมก็ตอบไปอย่างเดิม
“บอกให้โทรมาหาหน่อยนะ จะอธิบายให้ฟังว่าจำเป็นต้องเซนเซอร์หนังสือพิมพ์ของเราด้วย ไม่ให้เขาว่าได้”
ผมตอบไปว่า ครับ ครับ ก็มีเสียงวางสาย

รุ่งเช้า สารเสรีหน้า ๑ ก็ขาวเป็นคอลัมน์ๆ เช่นเดียวกับฉบับอื่น อันเป็นผลจากถูกเซนเซอร์

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พลโทถนอม กิตติขจรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะจอมพลสฤษดิ์สุขภาพไม่ดีจึงชักใยอยู่เบื้องหลัง แต่สารเสรีก็ยังคงยึดนโยบายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ลดละในการตีแผ่ในปัญหาคอรัปชั่น ความเน่าเฟะเหลวแหลกของนักการเมือง เหมือนเมื่อครั้งต่อสู้กับ“ยุคทมิฬ”ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์จะยึดอำนาจ ทำเอาจอมพลสฤษดิ์เริ่มขุ่นเคือง จึงมีหนังสือร่อนไปจากบ้านสี่เสาอย่างเป็นหลักเป็นฐานว่า

๒๗๔ สี่เสาเทเวศร์ พระนคร
๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๐

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สารเสรี

เนื่องจากปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ของท่านได้ลงข่าวการเมืองเกี่ยวกับคณะทหาร พรรคสหภูมิ ตลอดจนเกี่ยวกับตัวข้าพเจ้าคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงอยู่เนืองๆ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ตัวข้าพเจ้าและวิธีดำเนินงานทางการเมืองของข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก

ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าวขึ้นอีก ข้าพเจ้าจึงขอแจ้งให้ท่านทราบว่า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ถ้าหากท่านจะลงข่าวเกี่ยวกับคณะทหารก็ดี พรรคสหภูมิก็ดี หรือพรรคการเมืองอื่นใดอันข้าพเจ้าจะได้จัดตั้งขึ้นใหม่ก็ดี รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับข้าพเจ้าด้วยแล้ว ก็ให้ท่านส่งเจ้าหน้าที่มาติดต่อสอบถามให้ได้ความจริงเสียก่อนทุกครั้ง

สำหรับการติดต่อกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะเปิดโอกาสให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์ของท่านมารับข่าวได้ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ทุกวัน ระหว่างเวลา ๘.๐๐ ถึง ๙.๐๐ น. ทั้งนี้โดยให้ท่านมีหนังสือกำหนดชื่อบุคคลที่จะมาเป็นผู้ติดต่อดังกล่าวมาให้เป็นการแน่นอน

ทั้งนี้ ขอให้ถือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และถ้าหากปรากฏมีการลงข่าวคลาดเคลื่อนอีก ข้าพเจ้าจะถือเป็นการบกพร่องในหน้าที่ของท่าน

ขอแสดงความนับถือ
จอมพล ส.ธนะรัชต์


แม้จะลงทุนทำถึงเพียงนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นผลสมใจดังนายทุนต้องการ สารเสรียังคงยึดมั่นในนโยบายเช่นเดิมต่อไป ซึ่งทนง ศรัทธาทิพย์ได้บันทึกถึงการทำงานช่วงนี้ไว้ว่า

“...นโยบายที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นของกองบรรณาธิการ ล้วนแต่ทำความอึดอัดใจขึ้นทั้งสองฝ่าย เมื่อผู้ใหญ่ในบริษัทเห็นว่าเราไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เขาปรารถนาได้ ก็มีข่าวที่ไม่เป็นมงคลเกิดขึ้นเนืองๆ อย่างไรก็ตาม เราได้ใช้ความสามารถและอดกลั้นต่อการบีบบังคับมาพอสมควร ทั้งนี้ก็ด้วยที่ตระหนักว่า เราได้สร้างงานของเรามาด้วยความยากลำบากมานาน จะทอดทิ้งไปเสียง่ายๆ ก็เป็นที่น่าเสียดาย ขณะนี้มีข่าวแพร่ไปทั่วไปว่า บริษัทจะยุบ “สารเสรี” เสีย เพราะไม่มีประโยชน์...”

จอมพลสฤษดิ์คงจะขุ่นเคืองกับการทำงานของสารเสรีมาก ทำปฏิวัติเปลี่ยนรัฐบาลยังได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนนโยบายสารเสรีได้ จึงเขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเอง บอกถึงอารมณ์ขุ่นมัวอย่างตรงไปตรงมาว่า

ทนง ที่รัก

สำหรับเรื่องหนังสือพิมพ์สารเสรี มีคนว่ามาก ว่าซ้ายมาก ให้เพลาลงอย่างที่ชี้แจงไปแล้ว รัฐบาลนี้ผมตั้งและสนับสนุน แต่หนังสือพิมพ์ของผมด่า และจะคว่ำรัฐบาล ผมจึงสงสัย เฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างประเทศ ผมจึงเสียคนหมด ฉะนั้น จึงขอให้พิจารณาแก้ไข เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนโยบายต่างประเทศ ถ้าเป็นอย่างนี้คงไปไม่รอด ผมจะเสียคน ขอให้คุณพิจารณาแก้ไขด้วย เอาไว้กลับมาจึงคุยกันสักทีพร้อมๆ กัน จะมาวันไหนบอกผมด้วย
รัก
ส. ธนะรัชต์


จอมพลสฤษดิ์ป่วยหนัก ต้องบินไปผ่าตัดม้ามที่โรงพยาบาลวอเตอร์รีด สหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้เข้าพบบุคคลสำคัญของอเมริกาหลายคน รวมทั้งประธานาธิบดีไอเซนฮาว, นายนีล แมคเอนรอย รัฐมนตรีกลาโหม, นายฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศ เจรจาขอความช่วยเหลือด้านการทหาร พัฒนาเศรษฐกิจ และต่อต้านคอมมิวนิสต์ นัยว่าไปเที่ยวนี้จอมพลสฤษดิ์ได้ดอลลาร์ติดมือกลับมาหลายสิบล้านดอลลาร์ ซึ่งหลังจากตัดม้ามออกไปข้างหนึ่งแล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้โทรเลขมาถึงพลเอกเนตร เขมะโยธินให้จัดการกับหนังสือพิมพ์สารเสรี อย่างหนึ่งอย่างใดใน ๓ ทางเลือก คือ

๑. ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการเสนอข่าวและบทความ เพราะทางฝ่ายอเมริกันต่อว่าอย่างมากในเรื่องต่อต้านอเมริกันและโปรคอมมิวนิสต์ หรือ
๒. ให้เปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในกองบรรณาธิการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายตามข้อ ๑ หรือ
๓. ให้หยุดออก คือ เลิกกิจการไปเลย

พลเอกเนตรได้นำข้อความในโทรเลขนี้มาเปิดประชุมกองบรรณาธิการทั้งหมดในเช้าวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๑ และกล่าวนำว่า
“ผมคุมทหารทั้งกองทัพมาแล้ว ไม่เคยมีความหนักใจเลย แต่ยอมรับว่าผมคุมพวกคุณไม่กี่คนนี้ไม่ได้”
จึงได้นำคำสั่งของ “เจ้านาย” นี้มาปรึกษาหารือในการหาทางออก

บก.ทนง ศรัทธาทิพย์ หัวหน้าทีม จึงเสนอขึ้นว่า

“ผมขอเสนอทางออกให้ผู้อำนวยการเองครับ สำหรับข้อหนึ่งนั้นผมทำไม่ได้แน่ วันหนึ่งพูดอย่าง มาอีกวันจะให้ผมพูดไปอีกอย่าง ผมไม่รู้ว่าจะอยู่สู้หน้าคนอ่านและคนในวงการหนังสือพิมพ์เขาได้ยังไง เพื่อให้หนังสือพิมพ์สารเสรียืนอยู่ต่อไป ผมขอเสนอให้ผู้อำนวยการเลือกข้อสอง คือผมขอลาออก และขอร้องให้พวกเราในกองบรรณาธิการทุกคนอย่าลาออกตามผม เพราะนี่เป็นเรื่องเฉพาะตัวผมเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการทำงานของพวกคุณ”

แต่พวก “เลือดสุพรรณฯ” ไม่ยอม ทั้งกองบรรณาธิการต่างประสานเสียงรับกับบรรณาธิการ เขียนใบลาออกตามทันที

การยกสต๊าฟของ“สารเสรี”ครั้งนี้ เป็นการยกสต๊าฟที่พร้อมเพรียงที่สุดในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทย คือเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจตั้งแต่บรรณาธิการ นักข่าวและช่างภาพ ซึ่งประกอบด้วย ทวี เกตะวันดี, เจน จำรัสศิลป์, สนอง มณีศรี, ศรีพนม สิงห์ทอง, สมาน คำพิมาน, สำราญ เทศสวัสดิ์, สุธน ธีรพงษ์, อัมพรชัย โหลทอง, กิตติ รสลิ้ม, บุญส่ง พ่วงพิพัฒน์, ฉัตร บุณยศิริชัย, ละมัย กลิ่นหอม, พินิจ นันทวิจารณ์, โรม บุนนาค, กำธร เตียวตระกูล, สนิท หงส์เจริญ ฯลฯ แม้แต่ สิน เผ่าพันธุ์เลิด ทนายความประจำกองบรรณาธิการ นรา พฤตินันท์ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา และ ล้อม สุทธิสาร เด็กรับใช้ในกองบรรณาธิการ ก็ขอลาออกด้วย ไม่เหลือแม้แต่คนเดียวในที่ประชุม เปิดโอกาสให้ “เจ้านาย” หาสต๊าฟใหม่มาเปลี่ยนเข็ม“สารเสรี” เป็น“ตามก้นอเมริกา” ได้เต็มที่

คงเหลือแต่ อำนวย สุขเจริญ หัวหน้ากองบรรณาธิการเพียงคนเดียวที่ยังไม่ทราบเรื่อง เพราะขณะนั้นได้รับเชิญไปเยือนสหภาพโซเวียตพร้อมกับคณะนักหนังสือพิมพ์ไทย และเมื่อกลับมาภายหลัง ก็ได้รับการขอร้องจากพรรคพวกในกองบรรณาธิการเก่า และกองบรรณาธิการใหม่ให้อยู่ต่อไป

ในเนื้อที่บทนำของ“สารเสรี” ฉบับวันที่ ๒๐ พฤษภาคม บก.ทนง ศรัทธาทิพย์ ได้เขียนในหัวเรื่อง “กองบรรณาธิการ สารเสรี ขออำลา” ไว้ตอนหนึ่งว่า

“มาบัดนี้ แม้ว่าข้าพเจ้าและมิตรสหายร่วมทางสายเดียวกันนี้ จะตระหนักดีว่า ภารกิจที่เผชิญหน้านักหนังสือพิมพ์ที่เคารพในวิชาชีพของตนยังอยู่อีกมากมายหลายด้านก็ตาม แต่สิ่งที่ขัดขวางก็เกิดขึ้นตามมาหลายประการจนสุดวิสัยที่เราจะปฏิบัติต่อได้อีก มันเป็นอุปสรรคที่โดยมารยาทแล้ว เราเห็นว่าไม่ควรที่จะเปิดเผยไว้ในที่นี้ อุปสรรคอันนี้ทำให้ข้าพเจ้าและกองบรรณาธิการ“สารเสรี” ชุดนี้จำเป็นต้องอำลามิตรผู้อ่านไปก่อน”

“สารเสรี” ฉบับต่อมาในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงให้คนอ่านเห็นตั้งแต่หน้าหนึ่ง โดยพิมพ์ชื่อด้วยสีม่วงแทนสีดำอย่างเคย สารคดีเรื่องยาวสะดุดหยุดลง และชื่อบรรณาธิการเปลี่ยนจาก ทนง ศรัทธาทิพย์ เป็น สุรจิตต์ จันทรสาขา น้องชายต่างบิดาของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับนายสงวน จันทรสาขา รัฐมนตรีในขณะนั้น
สารเสรีในวันแรกของกองบก.ใหม่
ในบทนำ“สารเสรี” ฉบับแรกของทีมงานใหม่ สมัย เรืองไกร บก.“ไท รายวัน” หนังสือพิมพ์ของบริษัท ธนะการพิมพ์ จำกัดอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเข้ามาคุม“สารเสรี” ด้วย ได้เขียนอาลัยการจากไปของทีมงานเก่าตอนหนึ่งว่า

“...เสียดายและเสียใจในการจากไปของบรรณาธิการ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นผู้ที่มีอุดมคติอย่างยิ่งในวงการหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่ง”

เมื่อนำสต๊าฟออกจากสารเสรีไม่นานนัก ทนง ศรัทธาทิพย์ก็นำพวกพ้องกลุ่มหนึ่งออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในชื่อ “เอกราช” ยึดมั่นในอุดมการณ์เดิม

ส่วนสารเสรีเมื่อเปลี่ยนสต๊าฟ เปลี่ยนนโยบายไปแล้ว ก็อยู่ในโอวาทเรียบร้อย แต่พรรคการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ที่มีพลโทถนอม กิตติขจรคุมบังเหียนอยู่ ไม่อาจจับลูกพรรคเข้าแถวได้ ตีรวนกันจนชุลมุนวุ่นวาย จอมพลสฤษดิ์จึงบินกลับมาอย่างเงียบๆ และยึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง กวาดล้างนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม จับกุมนักหนังสือพิมพ์ครั้งใหญ่และปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยปิดแบบล่ามโซ่แท่นพิมพ์ด้วย ซึ่ง “เอกราช”ที่เพิ่งออกมาได้ ๒ ฉบับก็ไม่พ้นจากการกวาดล้างครั้งนี้

คืนวันที่ ๒๐ กันยายน ทนง ศรัทธาทิพย์กับเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่ง ยืนมองตำรวจเอาโซ่มาล่ามแท่นตั้งแต่หัวค่ำ และนั่งกินเหล้ารออย่างไม่ตื่นเต้น จนเลยหกทุ่มไปแล้ว ตำรวจล่ามโซ่เสร็จจึงแยกย้ายกันกลับ บก.ทนงได้บอกกับทวี เกตะวันดีตอนจะแยกจากกันว่า

“ตอนเช้าถ้าไม่มีใครไปหาผม เราคงได้พบกันอีก อย่าเพิ่งพูดกันว่าลาก่อนเลย...”

แต่ในเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไม่พลาด มีตำรวจไปหาอดีต บก.สารเสรีตามคาด เชิญไปสอบสวนที่สันติบาลในข้อหา “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

มีการนินทากันว่า การกวาดล้างครั้งนี้เพื่อเป็นการเอาใจนายทุนเงินกู้ก้อนใหญ่

หลังจากถูก “ขังฟรี”อยู่ ๑๑ เดือน ทนง ศรัทธาทิพย์ก็ได้รับการปลดปล่อยในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๒
พล.ต.อ.ประเสริฐ (กลาง)  พาทนง (ซ้าย) เข้าพบจอมพลสฤษดิ์ (ขวา)
ในวันแรกที่สู่อิสรภาพ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิระวงศ์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้นำอดีต บก.สารเสรีเข้าพบกับจอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรีและรักษาการอธิบดีกรมตำรวจ ในฐานะคนที่เคยคุ้นเคยกันมา หลังจากเปิดใจต่อกันแล้ว จอมพลผู้เรืองอำนาจก็ถามอดีตบรรณาธิการที่เพิ่งออกมาจากคุกว่า

“ลื้ออยากได้อะไร?”

ทนง ศรัทธาทิพย์ตอบโดยไม่ต้องคิดว่า ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น

การพบกันครั้งนี้เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายของคนทั้ง ๒ จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงอสัญกรรมในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ ส่วนทนง ศรัทธาทิพย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖

นี่ก็เป็นเหตุการณ์สำคัญช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น