xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกของเมืองไทย! รวมบรรณาธิการนิยายระดับท็อป : Editor’s Talk on Stage

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการจัดงานครั้งแรก Editor’s Talk on Stage กลับมาอีกครั้งด้วยกิจกรรมสนทนาหาความรู้กับสุดยอดบรรณาธิการนิยายแถวหน้าของเมืองไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับจากคนบนถนนน้ำหมึกเพื่อ มุ่งยกระดับวงการหนังสือนิยายของไทยให้รุ่งเรือง

เสาร์ที่ 1 เมษายนนี้ ที่ห้อง Meeting room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเหล่าบรรณาธิการนิยายชื่อดัง ทั้งรุ่นอาวุโสไปจนถึงบรรณาธิการรุ่นใหม่ เพื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ นำทีมปาฐกโดย “ชมัยภร แสงกระจ่าง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พร้อมบรรณาธิการที่มีผลงานและประสบการณ์อีกหลายท่าน

ทั้ง “นรีภพ สวัสดิรักษ์” บรรณาธิการบริหารนิตยสารสกุลไทย, “ปาริฉัตร ศาลิคุปต์” นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ลูกอ (กิ่งฉัตร-งุ่น), “ประดับเกียรติ” บรรณาธิการสำนักพิมพ์บางรัก (สุขวิไลธารา การบูร), “ปรมัตถกร ปรเมธีกุล” บรรณาธิการอิสระ, “ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์” ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และบรรณาธิการสำนักพิมพ์แจ่มใส, “อรรถ บุนนาค” ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ JLIT, "ดวงกมล บุญรอด" บรรณาธิการอิสระ, "ศิริเพ็ญ อารีนุกูล" บรรณาธิกาสำนักพิมพ์นาบู และ "อตินุช อสีปัญญา" บรรณาธิการนิยาย เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม

วิทยา ร่ำรวย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ซึ่งรับบทบาทประธานชมรมบรรณาธิการไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้งานนี้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เล่าถึงความเป็นมาของกิจกรรมดังกล่าว

“จริงๆ งาน Editor’s Talk on Stage เราจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ครั้งแรกนั้นเรารวมบรรณาธิการอาชีพสายต่างๆ มารวมกัน 10 คนมาพูด ซึ่งจะคล้ายกับงาน Ted talk คือบรรณาธิการหรือคนที่ขึ้นพูดบนเวที จะมีเวลาพูดคนละประมาณ 10-15 นาที พูดประเด็นอะไรก็ได้ แล้วแต่เขาเลย ในส่วนของผู้จัดจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นของแต่ละคน

“คราวที่แล้วที่จัดขึ้นมาเรียกว่าประสบผลสำเร็จเกินคาดมาก เกินคาดตรงที่ว่า คือผู้เข้ามาฟังทั้งหมดไม่มีใครลุกออกจากที่นั่งเลยตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงห้าโมงเย็น ไม่มีใครออกไปไหนเลยนอกจากออกไปเข้าห้องน้ำนิดหน่อย คือปกติถ้าการพูดยาวๆ ขนาดนี้ สิ่งที่เราจะเห็นก็คือช่วงแรกๆ คนนั่งฟังเต็มหมด แต่ช่วงท้ายๆ คนจะเริ่มออกไปบ้าง แต่งานนี้ไม่ใช่ คือทุกคนอยู่เพื่อฟัง บก.คนต่อไปพูด อยากรู้ว่าบก.เขาจะพูดอะไร และทุกคนพูดเรื่องไม่ซ้ำกัน ตรงนี้เลยทำให้เราคิดว่าในรูปแบบงานอย่างนี้น่าสนใจมาก จึงต่อยอดมาเป็นครั้งที่สอง

ประธานชมรมบรรณาธิการไทยยังกล่าวต่ออีกว่า งานEditor’s Talk on Stage ครั้งที่ 2 จะแตกต่างจากครั้งแรกตรงที่เรารวมบรรณาธิการหนังสือนิยายที่มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ประจักษ์ ที่นักอ่านนิยายจะคุ้นชื่อกันดี

“ในงานครั้งนี้ความแตกต่างจะอยู่ที่เรารวมบรรณาธิการหนังสือนิยายเข้ามาครับ ทำไมเราถึงเลือกบรรณาธิการหนังสือนิยาย ก็เพราะว่าปัจจุบันในตลาดหนังสือทั้งหมด หนังสือนิยายมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด นั่นคือเรื่องที่หนึ่ง

“เรื่องที่สองก็คือ การเปลี่ยนรูปแบบการอ่านจากกระดาษหนังสือไปสู่การอ่านบนโลกอินเทอร์เน็ตหรือดิจิตอลบุ้คก็ตาม ปรากฏว่าหนังสือประเภทนิยายมีส่วนแบ่ง คือพูดง่ายๆ ว่ามีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปอ่านบนดิจิตอลที่มากที่สุดเหมือนกัน คือเดี๋ยวนี้คนที่อ่านนิยายกลายเป็นว่าไปอ่านบนอินเทอร์เน็ตไม่ได้อ่านในหนังสือกระดาษเหมือนแต่ก่อน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งที่เห็นชัดที่สุดเลยก็คือว่าเกิดนักเขียนนิยายหน้าใหม่ๆ บนโลกออนไลน์มากขึ้น และ ปรากฏว่านักเขียนนิยายบนโลกออนไลน์ทำรายได้ดีกว่านักเขียนที่พิมพ์หนังสือกระดาษซะอีก บางทีเขียนหนังสือบนโลกออนไลน์เรื่องๆ หนึ่งคือเขาพูดกันเลยว่า สมมติเขียนเรื่องนี้ออกรถได้หนึ่งคัน อะไรอย่างนี้เลยนะครับ คือเท่ากับว่าคนโหลดอ่านนิยายมีจำนวนมากขึ้น เพราะฉะนั้นการย้ายแพลตฟอร์มนี้กลายเป็นผลดีต่อคนเขียน และต่อวงการหนังสือนิยาย

“ถามว่ามันมีข้อดี และมันมีผลเสียไหม แน่นอนในโลกนี้ไม่มีอะไรดีอย่างเดียวและไม่มีผลเสีย มันอาจจะไม่ใช่ผลเสียซะทีเดียวแต่มันอาจจะเป็นผลที่จะต้องมีการปรับปรุง มองในแง่เราก็คือปรับปรุงแก้ไข อย่างเช่น เราดูนักเขียนนิยายสมัยก่อน เขาจะระมัดระวังเพราะเขาจะเหมือนกับว่ามีความเป็นบรรณาธิการอยู่ในตัวเอง เพราะนักเขียนนิยายสมัยก่อนจะเขียนเองแล้วก็กลั่นกรองเอง จะมีความเป็นบรรณาธิการในตัวเอง หรืออย่างมากที่สุดเขาก็จะให้คนข้างๆ ช่วยอ่านให้ เป็นคนอ่านคนแรกอะไรทำนองนั้นครับ และเขาก็ห่วงสังคมแหละ เขาเขียนให้เด็กอ่านเขาก็รู้ว่าควรจะต้องทำยังไง คือเขาจะค่อนข้างห่วงผลกระทบที่คนอ่านจะได้รับ ถ้าเป็นเยาวชน

“แต่ในปัจจุบัน ความที่การแข่งขันมันสูง เมื่อการแข่งขันสูงบางครั้งจึงเกิดความเข้าใจผิดว่าหนังสือนิยายใส่ฉากโป๊ๆ ไปน่าจะขายได้ เขาก็จะไปแข่งกัน คนนี้เขียนใส่ฉากไประดับนี้ มีคนฮือฮาขายได้เยอะ อีกคนก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นผมต้องเขียนให้หนักขึ้นมันก็เลยกลายว่าเป็นการไปแข่งกันในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะแข่ง แล้วปรากฏว่าปัจจุบันไม่ว่าหนังสือจากสำนักพิมพ์กระดาษหรือบนโลกออนไลน์ก็ดี ระบบการคัดกรองผมว่าอาจจะยังไม่ดีพอ หรืออาจจะเป็นเพราะการแข่งขันทางการตลาด ก็เข้าใจผิดว่าอยากจะขายหนังสือเยอะๆ บางครั้งก็บอกว่าสำนักพิมพ์จะผลิตหนังสือนี้ให้นะแต่ว่าคุณจะต้องมีฉากแบบนี้ ฉากอีโรติกโป้เปลือยกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไปเลย เพราะฉะนั้นนักเขียนก็โดนล็อกว่าคุณจะต้องใส่เข้าไปนะ

“แล้วเราจะรู้ไหมว่าหนังสือเล่มหนึ่งมีฉากอีโรติคมากมายแค่ไหน กี่ฉาก คนรู้คือใคร ถ้าคุณจะรู้ได้คุณก็ต้องอ่านหนังสือใช่ไหมแต่มันไม่มีทางเพราะวางไว้บนร้านคุณไม่มีทางรู้ได้เลยเพราะมันต้องอ่านก่อนซึ่งคนที่จะอ่านก่อนแล้วรู้ก็คือบรรณาธิการหนังสือนิยาย เพราะบรรณาธิการจะเป็นคนอ่านหนังสือทั้งเล่ม เขาจะรู้เลยว่าหนังสือนิยายเรื่องนี้มีเรื่องราวหรือฉากที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ เพราะฉะนั้น บทบาทของบรรณาธิการเลยน่าสนใจ

“อีกทั้งบางทีเดี๋ยวนี้จะมีนิยายขโมยพล็อตเรื่องกัน พล็อตคนนู้น พล็อตคนนี้เอามาเปลี่ยนชื่อคน เปลี่ยนฉากนิดหน่อย ก็สามารถเขียนเป็นนิยายขายได้อีกเล่มแล้ว แล้วเดี๋ยวนี้เขาใช้นามปากกา ถ้านามปากกานี้เสียก็คนเดิมนั่นแหละแต่เปลี่ยนไปใช้นามปากกาใหม่มันเลยกลายเป็นเรื่องของการที่ละเมิดลิขสิทธิ์อะไรต่างๆ จะรู้ได้ไหม คือคนถูกละเมิดรู้แน่ คนที่อ่านหนังสือทั้งเล่มก็รู้แน่ ซึ่งเรื่องเล่านี้ถ้ามีบรรณาธิการหนังสือนิยายที่มีจรรยาบรรณต่างๆ เรื่องพวกนี้ก็จะถูกคัดกรองและจะไม่เกิดขึ้น

“เรื่องต่อมาก็คือปัจจุบันด้วยความที่แข่งขันสูงมันกลับกันนะ สมัยก่อนนักเขียนมีความเป็นบก.ในตัวเองแต่ว่าปัจจุบันนักเขียนเองจะต้องการให้มี บก.นิยายเข้ามาช่วย อย่างนักเขียนนิยายเขาจะมี บก.ส่วนตัวเขาเลยนะครับ แล้วเขาก็พร้อมที่จะจ้าง พร้อมจะจ่ายสตางค์ให้กับ บก.เพื่อให้มาช่วยอ่านต้นฉบับ อ่านงานของเขา มาช่วยแก้ไขพล็อต มาช่วยดูว่าฉากนี้เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอะไรต่างๆ คืออย่างน้อยที่สุดเขายินดีที่จะจ้าง ยิ่งบก.บางคนที่เขาได้พิสูจน์แล้วว่าถ้าเขาเป็น บก.เล่มไหนให้เนี่ย หนังสือจะขายได้ คนพวกนี้จะมีค่าตัว ในวงการเขาก็จะรู้กัน และกลายเป็นว่า บก.นิยายอิสระเดี๋ยวนี้มีรายได้สูงมาก ทำงานไม่ทัน เพราะคนอยากให้มาเป็น บก.เยอะ ตอนนี้มันกลับด้านกัน อันนี้ผมมองว่าก็น่าสนใจ อย่างบางคนเป็นบก.นิยายประจำสำนักพิมพ์อาจจะได้เงินเดือนไม่กี่หมื่น เขาลาออกพอเขาไปเป็นบก.อิสระเขาได้มากกว่า อย่างเดือนนึงเขาอาจทำแค่สองเล่มแต่หนึ่งเล่มเขาคิดค่าบก. สามหมื่น สี่หมื่น สองเล่มก็ได้แปดหมื่นบาทแล้ว แทนที่จะไปนั่งกินเงินเดือน2-3หมื่น จะเห็นว่าความต่างของเหตุการณ์ว่ามันเปลี่ยนไป

“สิ่งสุดท้ายคือช่องทาง จะมีบางท่านมาพูดด้วยซ้ำ เขียนนิยายแล้วต่อยอดไปทำละคร ซึ่งตอนนี้ทุกคนเขียนนิยายหวังว่าเขาจะซื้อไปทำละคร แล้วเดี๋ยวนี้มีเพิ่มเติมอีกก็คือว่าสำนักพิมพ์ในประเทศจีนมากว้านซื้อหนังสือนิยายในบ้านเรา มันก็จะมีช่องทางในการติดต่อ อย่างน้อยที่สุดคนที่มาฟังเขาก็จะอ๋อว่าช่องทางมันไปอย่างนั้น อย่างนี้นะ จะไปละครต้องไปช่องทางนี้ ไปขายลิขสิทธิ์ให้กับประเทศอื่นๆ ต้องไปช่องทางนั้นนะ

“เขาจะมีช่องทางในการมอง เขาอาจจะเกิดแง่คิดอะไรขึ้นมาอีกก็ได้ ต่อไปโลกของการเขียนนิยายมันจะเปลี่ยน เราสามารถเขียนนิยายและโหลดให้คนอ่านได้จนคนอ่านติด เราค่อยๆ เขียนเป็นตอนๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องเขียนทั้งเล่มด้วยซ้ำไป สมัยก่อน เราต้องเขียนทั้งเล่มนะ แล้วก็ต้องไปรอสำนักพิมพ์พิมพ์เป็นเล่ม แล้วก็ต้องไปเสี่ยงดวงอีกว่าจะขายได้ หรือไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แล้ว เพราะคุณสามารถเขียนเป็นตอนๆ ให้คนโหลดไปอ่านได้ แรกๆ เราอาจจะไม่เก็บเงินเขา แต่พอคนติดแล้วค่อยเก็บ เงินเขา

“เพราะฉะนั้น ทางชมรมก็เลยมองว่าเราควรจะจัดงานครั้งนี้ขึ้นมาโดยรวมบก.นิยายทั้งหมดเพื่อเชิญมาพูดคุยอะไรต่างๆ แต่จะเหมือนเดิมคือว่าเราจะไม่ได้กำหนดหัวข้อซึ่งเขาอยากจะพูดคุยอะไรเราก็จะให้เขาพูดไปเลยครับ”

ท้ายนี้ ทางประธานชมรมบรรณาธิการไทยคาดหวังไว้ว่าสิ่งที่ผู้เข้าร่วมฟังจะได้รับนั่นก็คือประสบการณ์ตรงจากบรรณาธิการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับวงการวิชาชีพ และพัฒนาต่อยอดในช่องทางการทำงานสืบไป

“กลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้แน่นอนว่ากลุ่มที่หนึ่งคือคนที่เป็นบรรณาธิการทุกคนควรจะเข้าฟัง กลุ่มที่สองคือคนที่สนใจเกี่ยวกับหนังสือนิยาย เช่น คนที่เริ่มอยากจะเขียนนิยาย ก็ควรมาฟังว่า บก.นิยายทั้งหมดเขาคิดอะไร เขาคิดกันยังไงถ้าเขาจะเลือกเรื่องประเภทไหน นิยายประเภทไหนถึงขายได้ ขายไม่ได้ทำแบบไหน ซึ่งตอนนี้เราเปิดโอกาสว่าไม่ต้องเป็นสมาชิกชมรมก็สามารถเข้ามาฟังได้

“หรือคนที่เป็นนักเขียนนิยายมือเก่งๆ แล้วก็น่ามาฟังดูว่า ปัจจุบันรูปแบบของนิยายต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมันเป็นยังไง คือมันเป็นการแชร์ความรู้ประสบการณ์หลายๆ ด้านเพราะมันจะมีคนหลายกลุ่ม มีทั้งนักเขียนนิยายรุ่นเก่า แล้วก็มีบรรณาธิการทั้งคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ก็มี ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องนิยายแต่ว่ามันจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งวันนั้นจะเป็นการเอาโลกของนิยายมาอยู่ที่นั่นเลยครับ

“เราหวังว่าเขาจะได้ประสบการณ์จากบรรณาธิการหลายๆ ท่าน ซึ่งคนทำงานจะเข้าใจ คนทำงานตรงนี้จะได้ประโยชน์แน่นอน ถ้าสมมุติเราทำงานบรรณาธิการเราได้ฟังบรรณาธิการคนนั้นพูดอย่างนี้ คนนี้พูดอย่างนั้นโดยพื้นฐานอาชีพเราได้แน่นอน ซึ่งเราไปพูดกับคนในวงการอื่นเขาอาจจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่เราพูดกับคนอาชีพเดียวกันทุกคนฟังรู้เรื่องแน่นอน

“อีกอย่างสิ่งที่ได้ก็คือทุกคนจะตระหนักร่วมกันว่าเราต้องการทำบ้านของเราให้สวย คนทำหนังสือก็อยากให้วงการหนังสือสวยงาม ตรงนี้ทุกคนก็จะมีความคิดเห็นต่างๆ ที่จะปรับปรุงแก้ไข ทั้งเรื่อง ฉากอีโรติค เรื่อง ละเมิดลิขสิทธิ์ เรื่องการสร้างพล็อต ทำยังไงถึงจะขายได้

“ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าทุกคน ไม่ว่าใครก็ตาม ก็อยากจะให้บ้านตัวเอง หรือวงการตัวเองดีขึ้น ผมเชื่อว่าคนทำงานทุกคนไม่ว่านักเขียนก็ดี หรือบรรณาธิการก็ดี ทุกคนอยากให้บ้านตัวเองสวยอยากให้บ้านตัวเองดี เพราะฉะนั้น เราบอกว่ามาช่วยกันทำ ช่วยกันปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่รกออกไป ผมคิดว่าทุกคนจะมาร่วมกัน ไม่มีใครหรอกที่จะขึ้นมาบนเวทีแล้วจะบอกว่าทำอะไรที่มันไม่ดี ทำที่มันแย่ๆ สิคุณจะได้สตางค์ ผมว่าไม่มีนะเพราะทุกคนหวังว่าเราควรจะต้อง หนึ่งคือสตางค์ก็ได้ สองก็คือว่าสังคมโดยรวมดีขึ้น ผมคิดว่ามันจะต้องไปด้วยกันได้”








 
กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2560 เวลา 13.00 - 17.00 น. (ลงทะเบียน 12.30 น.) ณ ห้อง Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้ที่สนใจร่วมฟังสามารถสำรองที่นั่งหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.facebook.com/editorsthai และอีเมล์ชมรมฯ thailandeditors@gmail.com ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

เรื่อง : ทีมข่าวสัมภาษณ์
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย

กำลังโหลดความคิดเห็น