“อาจารย์วรภัทร” หลายท่านคงได้ทราบบทบาทและผลงานของท่านมาบ้างแล้ว สมัยที่ยังทำงานเต็มเวลา ท่านคือผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย ขณะที่อีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการเป็นซีอีโอของบริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด บริษัทจัดอันดับที่น่าเชื่อถือของเมืองไทย
และในตอนนี้ แม้อาจารย์จะเกษียณจากการทำงานไปแล้วนานถึง 7 ปี แต่ก็ยังมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบอยู่หลายตำแหน่ง ทั้งประธานกรรมการ และกรรมการบริหารของบริษัทหลายๆ แห่ง ซึ่งก็ดูสอดคล้องต้องกันอย่างกลมกลืนงดงามกับงานเขียนเล่มใหม่ของอาจารย์ ที่มีชื่อว่า “เป็นการเดินทาง มิใช่ปลายทาง : คิดใหม่ ใกล้เกษียณ” ...
• พอพูดคำว่า “เกษียณ” ขึ้นมา อาจารย์รู้สึกนึกคิดอย่างไรบ้างครับ
เมื่อเราได้ยินคำว่าเกษียณ โดยส่วนตัวผมในเบื้องต้น ความรู้สึกมันก็คือ “แก๊...แก่" นะครับ คำว่าเกษียณนี่ฟังดูแก่ และแต่เดิม ก็ไม่อยากให้หนังสือเล่มนี้มีคำนี้อยู่ที่หน้าปก เพราะมันเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่เรามีกันมานานว่าการเกษียณคือการเดินไปสู่จุดที่เราแทบไม่ค่อยมีอะไรทำ เป็นจุดจบ คุณค่าจะหายไป
แต่หลังจากที่ได้นั่งคิดอยู่เป็นเวลานานว่า เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ควรจะบรรจุเรื่องราวอะไรบ้าง และจะสร้างหนังสือเล่มนี้ให้เกิดแรงบันดาลใจได้อย่างไรบ้าง ในที่สุดก็ยอมรับว่าประเทศไทยเรานี้ ขณะนี้มีคนที่อยู่ในวัยกำลังจะก้าวสู่วัยเกษียณและถึงวัยเกษียณแล้วจำนวนมาก และจะมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราคุยกันในวงการเพื่อนฝูงว่าเราอย่าปฏิเสธคำว่าเกษียณเลย มันไม่ได้แปลว่าแก่ มันแปลว่าช่วงหนึ่งของเวลาที่เราเดินทางไปถึงจุดนั้น หลังจากวันนั้น มันจะเป็นการเดินทางต่อไป มันไม่ใช่ปลายทาง
ฉะนั้นคำว่าเกษียณคือความจริงของชีวิตแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้นเองว่า จุดนี้เป็นจุดที่เราจะวางมือจากการทำงานประจำเต็มเวลาแล้ว แต่เราจะต้องเดินทางอีกไกลมาก 20 30 ปี ลองคิดดูสิครับ ถ้าเราอายุถึง 90 มันหมายถึงอีก 30 ปีของชีวิตที่เราจะต้องเดินทางไป ประเด็นคือแล้วจะเดินทางต่อไปอย่างไร ให้เกิดความสุข ความอิ่มเอิบใจ
• เพราะอะไร บนหน้าปกของหนังสือเล่มนี้ ถึงเลือกที่จะใช้คำว่า “คิดใหม่ ใกล้เกษียณ” คือเรามีอะไรที่จะต้องคิดใหม่อีกครับ เพราะชีวิตนับจากนี้ก็น่าจะสบาย ไม่ต้องมีอะไรให้คิดมากอีกแล้ว
เพราะว่าดั้งเดิมนี่เราคงคุ้นเคย ผมเองก็คุ้นเคย หลายสิบปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินว่า ข้าราชการพอวางมือจากการเกษียณ วันที่ 30 กันยายน รุ่งขึ้นวันที่ 1 ตุลาคม ชีวิตว่างเปล่า อำนาจบารมีหายไป และมักจะมีความรู้สึกว่ามันเวิ้งว้าง ว่างเปล่า เฉา ว้าเหว่ และมันก็กระทบไปถึงสุขภาพด้วย ทำให้เสื่อมโทรมลงไปอย่างรวดเร็ว อันนี้มีจริง
ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ เราถึงพาดหัวว่า “คิดใหม่ ใกล้เกษียณ” หมายความว่า ระหว่างที่เราเดินทางไปก่อนจะถึงวันเกษียณ เราควรจะต้องคิดใหม่ว่า พอถึงเกษียณ มันไม่ได้แปลว่าวันที่เราจะเริ่มเฉา เริ่มเหงา เริ่มเสื่อมโทรม และคิดใหม่ว่า ถ้าถึงวันนั้นแล้ว เราจะเดินต่อไปอย่างไรให้มีคุณภาพ ให้ชีวิตมีคุณค่า และเกิดขึ้นได้เกิดขึ้นจริง นั่นคือที่มาขอคำว่า คิดใหม่ ใกล้เกษียณครับ
" วันเกษียณ ไม่ได้แปลว่า
เป็นวันที่เราจะเริ่มเฉา
เริ่มเหงา เริ่มเสื่อมโทรม "
• ขออนุญาตแง้มๆ บทที่ 1 สักหน่อยนะครับ อาจารย์ตั้งชื่อบทว่า “วันที่ว่างเปล่า” ฟังๆ ดู โหดร้ายมากเลยนะครับ
“วันที่ว่างเปล่า” มันก็ไปโยงกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ผมเล่าไปเมื่อสักครู่นี้ว่า หลายคนบอกว่าตื่นขึ้นมาไม่รู้จะทำอะไร แรกๆ อาจจะรู้สึกดีว่าได้พักผ่อน เพราะเหน็ดเหนื่อยมานานมากแล้ว เบื่อนายเหลือเกิน นายดุ นายว่า เบื่อลูกน้องเหลือเกินอะไรประมาณนี้นะครับ ลูกน้องก็ไม่ได้ดั่งใจ วันหนึ่งๆ ก็ประชุมทั้งวัน ไปนู่น ไปนี่ ชีวิตมันแน่นไปหมด ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ตื่นสายๆ แล้วก็มีความสุขกับชีวิต ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงนะครับในวันแรกๆ อาทิตย์แรกๆ หรือแม้กระทั่งเดือนแรกๆ
แต่พอมันผ่านไป 2 เดือน 3 เดือน 4 เดือน ก็จะเริ่มมีคำถามว่า เช้านี้ตื่นมาแล้วจะไปไหน แล้วมันรู้สึกว่าชีวิตไม่มีคุณค่าแล้วครับ เพราะว่าเพื่อนฝูงก็หายไป ลูกน้องก็หายหน้าหายตาไป คิดถึงเขา จะไปหาเขาได้ยังไง เขาก็มีงานการของเขาทำ แล้วเราก็ตื่นขึ้นมาพร้อมกับถามตัวเองว่าวันนี้เราจะไปไหน จะทำอะไร เดินไปวนไปเวียนมา ไปศูนย์การค้าก็แล้ว ไปหาอะไรทำก็แล้ว มันก็ยังรู้สึกว่าชีวิตมันยังไม่ได้มีคุณค่าอย่างที่อยากจะมี ความรู้สึกก็คือมันกลายเป็นวันที่ว่างเปล่า เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากจะโปรยบทที่ 1 ด้วยคำคำนี้ เพื่อให้เห็นว่าหลายคน เกิดความรู้สึกว่ามันเป็นวันที่ว่างเปล่า แต่หลังจากบทที่ 1 ไปแล้ว เราจะเดินเรื่องต่อไปอีก 18 - 19 บท ที่จะบอกว่า หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว วันเหล่านั้นจะไม่ใช่วันที่ว่างเปล่าอีกต่อไปครับ
• จริงๆ แล้ว ถ้าเรามองตลาดหนังสือยุคปัจจุบัน มีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเกษียณ หรือเตรียมเกษียณอยู่มากมาย อยากถามอาจารย์ว่าหนังสือเล่มนี้แตกต่างจากหนังสือเหล่านั้นอย่างไรครับ
หนังสือเล่มนี้จะไม่มีเรื่องของการเตรียมตัวด้านการเงินเลยนะครับ ไม่ได้พูดถึงการไปลงทุน ไม่ได้พูดถึงว่าจะต้องดูแลความเสี่ยงอย่างไร เพราะเรามองว่าบทความหรือหนังสือประเภทนั้นมีเยอะอยู่แล้วครับ มีคำแนะนำหลากหลายว่าจะลงทุนอย่างไร จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอย่างไร แต่หนังสือเล่มนี้จะมุ่งเน้นไปเฉพาะเรื่อง ที่ไม่ใช่เรื่องการเงิน นั่นคือเรื่องของการใช้เวลา การบริหารจิตใจ ร่างกาย ว่าในวัยเกษียณอีกหลาย 10 ปีข้างหน้าที่เราจะเดินต่อไปอย่างไรให้ร่างกายเราแข็งแรง ให้จิตใจเรามีความรู้สึกอิ่มเอิบและให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณภาพ ตรงนี้คือจุดที่เน้นของหนังสือเล่มนี้ครับ
• เหมือนให้แรงบันดาลใจ ทำนองนั้นใช่ไหมครับ
ใช่เลยครับ แรงบันดาลใจคือเป้าหมายหลักเลยครับ เป็นเป้าหมายที่ต้องการเน้นให้คนที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ รู้จักเตรียมตัว รู้จักเตรียมใจ แล้วสร้างแรงบันดาลใจ ไม่หดหู่ว่า ถึงวันนั้นแล้วจะเอาอะไรมาทำ ขณะเดียวกันคนที่เพิ่งเกษียณหมาดๆ สิ้นเดือนกันยายนนี้ก็จะมีคนอีกเป็นหมื่นเป็นแสนคนที่จะหมดภารกิจจากงานประจำ วันที่ 1 ตุลาคม สำหรับข้าราชการก็จะกลายเป็นคนเกษียณ ภารกิจหายไปเกือบทั้งหมดหรือทั้งหมด ส่วนคนที่ทำงานบริษัทเอกชนก็เช่นกันนะครับ ครบอายุ 60 ปีเมื่อไหร่ ก็ต้องเกษียณเช่นกัน ก็จะมีอาการคล้ายๆ กันได้
เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเน้นการสร้างแรงบันดาลใจว่าอย่ากลัวมัน อย่ากลัววันนั้น ถึงเราจะต้องวางมือจากการทำงานแล้ว แต่ก็ยังมีอะไรอีกหลากหลายในชีวิตที่เราไม่มีโอกาสได้ทำขณะที่เราทำงานเต็มเวลา กอบโกยโอกาสนี้สิครับ เดินไปทำในสิ่งต่างๆ อีกมากมายในชีวิต แล้วเราจะรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่มีคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่ว่าเหงา เฉา ว้าเหว่ ไม่จริงหรอกครับ
• คืออยากให้คนวัยนี้ใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตชีวา
ใช่ครับ แล้วช่วงนี้มีข่าวบ่อย มีมาในไลน์บ้าง อะไรบ้าง เราจะเห็นคนอายุสูงวัยไปเรียนหนังสือหนังหา ก็เป็นการสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมของสังคมไทยในวันนี้ว่ามีคนสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ทำอย่างไรจะให้เป็นวัยที่มีคุณภาพ นั่นแหละครับคือหนังสือเล่มนี้ แล้วจริงๆ ตอนที่ผมได้รับการติดต่อจากทางสำนักพิมพ์ว่าให้เขียน ผมก็นั่งคิดอยู่เหมือนกันว่าควรจะเขียนเรื่องอะไรบ้าง แน่นอนว่าเป้าหมายหลักคือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกท่านที่เป็นผู้อ่าน และอยู่ในวัยกำลังจะเกษียณหรือเกษียณแล้ว
ผมก็มองย้อนกลับมาที่ตัวผมเอง ... ผมเองเกษียณมาแล้ว 7 ปี ถามว่าหลังจากเกษียณ ชีวิตผมมีคุณภาพไหม ผมก็อยากจะบอกว่าผมมีความสุขเกือบจะทุกวันในชีวิตแหละครับ มีสุขภาพที่ดีพอสมควร มีที่ให้ไปสอนหนังสือหนังหา มีที่ไปบรรยาย มีเวทีต่างๆ ไปนั่งทำงานในที่ต่างๆ บริษัทต่างๆ มีชีวิตที่ไม่เคยเจอกับวันที่ว่างเปล่า มีแต่วิ่งไปวิ่งมาทั้งวันเพื่อทำสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อผมเกษียณจากงานแล้ว 7 ปีผ่านไป ผมก็มีชีวิตที่คิดว่าดี มีคุณภาพ และมากพอสมควร
จนกระทั่งสำนักพิมพ์มาติดต่อบอกให้เขียน ผมก็บอกว่าผมไม่อยากเอาชีวิตของผมเองไปเป็นบรรทัดฐาน เพราะชีวิตของแต่ละคน ก็ต่างไม่เหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าการจะมีชีวิตที่มีคุณภาพ ต้องทำแบบผมเท่านั้น ท่านอื่นๆ มีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันไปได้ ผมก็เลยต้องนั่งคิดว่าหนังสือเล่มนี้ องค์ประกอบจะประกอบด้วยอะไรบ้าง
อย่างแรกก็คือว่า ผมพยายามจะหาตัวอย่างหลากหลายของคนที่เกษียณแล้ว และมีชีวิตที่มีคุณค่าและคุณภาพ ซึ่งรวบรวมมาจากทั่วโลก รวมทั้งคนไทย มีเรื่องราวของคุณย่าอายุ 80 ปี ซึ่งไปนั่งทำงานที่ซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley) นะครับ ซิลิคอน แวลลีย์ นี่อายุเฉลี่ยของคนทำงานที่นั่น อยู่ที่ราวๆ 30 นะครับ โดยเฉลี่ย มากกว่านั้นถือว่าแก่มากแล้ว แต่มีคนอายุ 80 ไปทำงานที่ซิลิคอน แวลลีย์ได้ และมีคุณค่าด้วย เป็นคนออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับซิลิคอน แวลลีย์ได้ด้วย ทำได้ยังไงครับ เรื่องราวเหล่านี้จะอยู่ในหนังสือเล่มนี้
มีเรื่องราวของคนไทยคุณลุงอายุเยอะๆ 70 ปีนะครับ บอกว่าฉันไม่สนหรอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะฉันใช้ 30 บาทไม่ต้องให้ฉันเป็นโรค ไปออกกำลังกายแล้วไม่ต้องพึ่งพา 30 บาทรักษาทุกโรค อย่างนี้ก็มี เรื่องราวของคุณย่าคุณทวดชาวญี่ปุ่น อายุ 100 ปี ว่ายน้ำเป็นชั่วโมงๆ จากการไปว่ายน้ำเพื่อรักษาโรค กลายเป็นว่ายน้ำเพื่อแข่งขัน และชนะได้รับรางวัลมากมายจากทั่วโลก นี่คือเรื่องราวที่ผมคิดว่ามันนำมาเล่าสู่กันฟังได้ บวกกับบางส่วนที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตผมเอามาเล่าเสริมด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าจะสามารถเติมเต็มพลังชีวิตและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดกับผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ครับ
• เท่าที่ฟังอาจารย์มา คล้ายกับว่าก็ไม่ได้มีเฉพาะคนระดับเดียว แต่เน้นความหลากหลายของผู้คน คืออาจารย์ก็มีชีวิตที่ดีในแบบของอาจารย์ สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป อาจารย์ก็มีการยกตัวอย่างใช่ไหมครับ
ตัวอย่างแบบนี้ก็มีครับ เพราะผมไม่อยากจะเล่าเฉพาะตัวอย่างของคนระดับที่เป็นนายพลหรือผู้บริหารระดับสูง พอวันรุ่งขึ้นหมดอำนาจแล้วจะทำอย่างไร หรือท่านนางเอกหนัง วันหนึ่งท่านไม่ใช่นางเอกแล้วทำยังไง เรื่องราวเหล่านี้ก็เอามาเล่านะครับ เพื่อเป็นตัวอย่างสะท้อนความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นหลังจากความโดดเด่นในชีวิตมันผ่านไป แต่ผมก็มีตัวอย่างสำหรับคนธรรมดาๆ อีกหลากหลาย คนที่เป็นคนทำมาค้าขายธรรมดาๆ ถึงวันหนึ่ง เมื่อวางมือแล้ว คนที่อยู่ในชุมชนที่อาจจะแออัด แต่ว่าอายุ 60, 65 หรือ 70 ปีแล้ว ทำอย่างไรครับ ลูกหลานบอกว่าให้คุณแม่คุณย่าวางมือเถอะ เดี๋ยวลูกหลานทำมาหากินแทน แล้วคุณย่าคุณแม่วางมือ แล้วจะให้ท่านไปทำอะไรล่ะครับ
คุณแม่คุณย่าเหล่านี้ที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ก็มีโรงเรียนที่เขาไปเรียนหนังสือ อย่างที่เราเห็นในข่าวตอนนี้มีมากขึ้น ไปเรียนหนังสือ ไปเรียนภาษาจีน ไปเรียนภาษาอังกฤษ ไปเรียนอะไรต่างๆ มีโรงเรียนหลากหลายที่สอนวิชาชีพหรือทำให้คนมามีสังคมร่วมกัน กับคนสังคมที่ใกล้เคียงกัน เกิดความรู้สึกอบอุ่น ในที่สุดเดินทางไปด้วยกัน ไปทอดผ้าป่าทอดกฐิน ทำให้ชีวิตมีสังคม ชีวิตไม่เหงา ไม่ว่างเปล่า มีทุกรูปแบบของชีวิตในหนังสือเล่มนี้ครับ
• แล้วสำหรับคนหนุ่มสาวขึ้นมาหน่อยล่ะครับ คือถ้าได้เห็นคำว่าเกษียณแล้วอาจจะรู้สึกว่ามันใช่หนังสือที่เหมาะกับเราหรือเราจะอ่านได้หรือเปล่า
ก็นี่แหละครับ เดิมทีผมก็ไม่อยากใช้คำว่าเกษียณ เพราะจะทำให้คนตกใจ และคนที่ไม่เกษียณ ก็คงไม่อยากอ่าน ทั้งที่จริงๆ เราก็อยากจะบอกคนหนุ่มคนสาวผ่านเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ด้วยเหมือนกัน ทีนี้คนหนุ่มคนสาวคืออายุเท่าไหร่ ผมคิดว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ถ้าอายุสักประมาณ 50 กว่าๆ ไปแล้วเนี่ย น่าจะเริ่มอ่านและก็รู้สึกว่าใกล้ตัว เพราะว่า 53, 54, 55 มันก็อีกไม่กี่ปีแล้วที่จะไปถึงวันที่ต้องวางมือจากงานประจำ ก็อาจจะอ่านด้วยความสนใจ ใฝ่รู้ และอาจจะซึมซับเรื่องราวได้มาก
แต่ถ้าอายุ 40 หรือ 45 ต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้ เป็นคนที่ยังต้องทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัว วันหนึ่งๆ มีภารกิจเยอะมาก ยังต้องดูแลครอบครัว ยังต้องดูแลลูกน้อง คนกลุ่มนี้ เวลาที่จะหามาอ่านคงมีน้อยและจำกัด แต่ถ้ามีเวลาอ่านไว้ ผมว่าก็คงจะได้ประโยชน์นะครับ อีกสิบกว่าปีข้างหน้า ชีวิตจะเป็นยังไง แล้ววันนี้เราจะเตรียมตัวได้อย่างไรบ้าง พอพูดถึงตรงนี้นะครับ มีอยู่บทหนึ่ง ทำให้ผมหันกลับมาถามตัวเองว่า แล้วตัวผมเองวันนี้ อายุ 67 ผมเตรียมเกษียณตั้งแต่เมื่อไหร่ ปรากฏว่าผมคิดย้อนหลังแล้วพบว่าผมเตรียมเกษียณตั้งแต่ผมอายุ 30 โดยที่ผมไม่รู้ตัวหรอกครับ
" ถึงเราจะต้องวางมือจากการทำงานแล้ว
แต่ก็ยังมีอะไรอีกหลากหลายในชีวิต
ที่เราไม่มีโอกาสได้ทำขณะที่เราทำงานเต็มเวลา
กอบโกยโอกาสนี้สิครับ "
ในวันนั้น วันที่ผมอายุครบ 30 วันนั้นเป็นวันที่ผมบอกกับตัวเองว่าผมอายุครึ่งคนแล้ว เพราะอย่าลืมนะครับ ในสังคมไทย 60 เขาก็เกษียณแล้ว เพราะฉะนั้น วันที่ผมอายุครบ 30 ปี วันเกิดวันนั้น ผมบอกตัวผมเองว่า ผมผ่านมาแล้วครึ่งชีวิต และผมก็บอกตัวผมเองว่าอีกครึ่งชีวิต ผมจะก้าวเดินอย่างไรในการเดินต่อไป เพื่อที่ว่า พอผมอายุ 60 และเดินออกไปจากการทำงานประจำ ผมจะได้ไม่รู้สึกเสียดาย 30 ปีที่ผ่านไป สิ่งที่อยากจะทำ ควรจะทำ ไม่ได้ทำ
ผมบอกตัวเองตั้งแต่เมื่อวันอายุ 30 เพราะฉะนั้น 30-60 ผมเดินมาในกรอบชีวิตของผมที่ผมวางเอาไว้ และผมเข้าใจว่าวันนั้น ผมไม่รู้หรอกว่าผมเตรียมเพื่อเกษียณ แต่ว่าพอผมอายุ 60 เดินออกมาจากบริษัท ทริส เรตติ้ง ผมเดินออกมาด้วยความรู้สึกเหมือนที่ผมบอกตัวเองเมื่ออายุ 30 ล่ะครับ ว่าผมอิ่มเอิบกับชีวิตที่เดินมา 30 ปีในการทำงาน
จะบอกว่าระหว่าง 30-60 ผมไม่เสียดายสิ่งต่างๆ ที่ได้ผ่านไปว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ทำไมไม่ได้ทำ และอาจจะเป็นด้วยเหตุนั้นหรือเปล่า ผมไม่ทราบนะครับ พอผมเดินออกมาแล้วอายุ 61 เป็นต้นไปจนถึง 67 ณ ขณะนี้ ผมยังมีสิ่งต่างๆ ที่ดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตหลากหลาย มีคนมาเชิญให้ไปทำนั่นทำนี่ ความรู้สึกคือเรายังมีคุณประโยชน์ต่อบริษัทอีกหลายบริษัท ต่อสถาบันฝึกอบรมคนอีกหลายสถาบัน มันน่าจะมาจากการที่ผมได้เตรียมไว้ตั้งแต่ผมอายุ 30 เพราะฉะนั้น ผู้อ่านที่อายุ 45 วันนี้ เตรียมเถอะครับ อ่านเล่มนี้ได้ครับ แล้วจะเดินไปในทางที่ถูกต้องครับ
• ในหนังสือเล่มนี้มีอยู่บทหนึ่ง ชื่อว่า “คือสิ่งที่สร้างมาทั้งชีวิต” บทนี้น่าจะเหมาะกับคนหนุ่มคนสาว คนวัยทำงานมากเลยนะครับ
ผมคิดว่าน่าจะใช่นะครับ บทนี้คือบทที่ผมเล่าเมื่อสักครู่นี้ แต่ตอนทำนี่ไม่รู้หรอกนะครับว่าทำไปเพื่อวันที่เกษียณ แล้วจะมีสิ่งเหล่านี้กลับมาตอบแทนชีวิตเรา ไม่มีทางรู้อยู่แล้ว แต่ทำด้วยใจ ทำด้วยความรู้สึกว่าชีวิตต้องมีการวางแผนที่ดี มีกรอบชีวิตที่ดี แล้วเมื่ออยู่ที่ไหน ทำอะไรกับใคร ทำให้สิ่งนั้นดีที่สุด แล้วมันก็มาตอบโจทย์เองนะครับในตอนสุดท้าย
ทุกอย่างเหมือนกับที่ สตีฟ จ็อบส์ เขาบอกว่า แต่ละจุดในชีวิตมันเกิดขึ้นวันนั้น วันนี้ ปีนั้น ปีนี้ พบกับคนนั้นคนนี้ เราไม่รู้หรอกครับว่าพบกันวันนี้แล้วจะมีอะไรตามมาในภายหลังหรือไม่ แต่บางครั้งบางคราวหรือหลายครั้งในชีวิต สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราสัมผัสกับคนนั้นคนนี้ แล้วสิ่งที่เราตอบแทนคนนั้นคนนี้ด้วยวิธีต่างๆ ตอนจบ มันมาเจอกันเองครับ แล้วเราจะรู้ว่า สิ่งที่เราทำวันนั้น มันนำมาสู่จุดหมายที่ดีกว่าในวันนี้ครับ
• โดยภาพรวม เหมือนว่าถ้าได้อ่านแล้วจะรู้สึกว่าเราหนุ่มสาวขึ้นนะครับ เหมือนทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้น
อ่านแล้วจะรู้สึกหนุ่มหรือเปล่าไม่แน่ใจนะครับ แต่จะรู้สึกว่าไม่กลัวความแก่ จะรู้สึกว่าไม่กลัวการเกษียณ ไม่กลัวว่าจะเกิดความเฉา ความเหงา ความว้าเหว่ และไร้คุณค่า เพราะสิ่งที่บอกเล่าในหนังสือเล่มนี้ มีโอกาสและทางเลือกเยอะมาก ที่จะทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึกว่าเราไม่ต้องไปเดินไปสอนหนังสืออย่างอาจารย์วรภัทรก็ได้ อาจารย์ถนัดการสอน ขึ้นเวที อาจารย์ทำเป็นธรรมชาติ เราไม่ใช่แบบนั้นนี่ ก็ไม่ต้องทำอย่างผมหรอกครับ เพราะว่าผมก็ทำแบบท่านไม่ได้เหมือนกัน ท่านก็ถนัดอย่างอื่น เลือกสิ่งที่ท่านถนัด ทำสิ่งที่ท่านมีคุณค่าขยายผลต่อไป แล้วก็จะรู้สึกว่ามีความหลากหลายในชีวิตที่เราทำได้ ไม่ต้องไปเลียนแบบใคร ในเล่มนี้มีตัวอย่างหลากหลายให้เดินตามได้ ก็เลือกสักเรื่องสองเรื่องที่ท่านคิดว่าอันนี้ใช่สำหรับเรา แล้วก็ทำสิ่งนั้น และเมื่อมันบรรลุความสำเร็จนะครับ ท่านจะภูมิใจ...ภูมิใจว่าทำได้ครับ (ยิ้ม)
• เรื่องการเกษียณ ดูเป็นประเด็นใหญ่ ตรงนี้อยากให้อาจารย์ช่วยฝากให้กำลังใจคนที่กำลังจะเกษียณ หรือเกษียณไปแล้วหน่อยครับ
ผมมองว่าคนเกษียณไปแล้วในสมัยนี้ ก็ไม่ได้ว่าอยู่ในภาวะที่เหงาว้าเหว่มากมายเหมือนในอดีตนะครับ คนจำนวนไม่น้อยเลยที่มีชีวิตวัยเกษียณที่มีคุณภาพอยู่แล้ว ไปสังสรรค์ ไปเรียนหนังสืออะไรต่างๆ มีคนทำมากขึ้น ซึ่งผมดีใจที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าถ้าจะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดคุณค่าได้ อันดับแรกคืออย่าไปกลัวมัน แล้วตั้งคำถามตั้งแต่วันนี้เลยนะครับว่าเราถนัดอะไร เราชอบอะไร สังคมไหนที่เราสร้างใหม่ได้ อย่าไปหวังกับสิ่งเก่าๆ นะครับ เดินออกมาจากเวทีเก่าแล้ว มันหมดบทบาทไปแล้ว องค์กรที่เราเคยทำงาน อย่าไปอยู่กับโลกใบเก่า โลกใบใหม่ของเราคือเดินไปข้างหน้า
ถามว่าเราจะไปสังคมไหน จะไปสร้างสังคมใหม่ได้ที่ไหน มีเยอะแยะครับ คนที่เราไปรู้จักเพิ่มเติมได้ ขี่จักรยานก็เจอก๊วนจักรยาน ไปออกกำลังกายก็เจอก๊วนออกกำลังกาย ไปเรียนหนังสือ เดี๋ยวก็เจอคนที่รักเรียนหนังสือ เรียนทำขนม เดี๋ยวก็เจอคนเรียนทำขนม ไปหัดวาดรูปก็จะเจอคนรักงานศิลปะ แล้วมันจะเจอคนใหม่ๆ แล้วเราไปช่วยกันทำตามความฝันเหมือนกันให้มันเกิดขึ้น วาดรูปได้รูปแรกมันเป็นความสุขนะครับ ทำอะไรก็ได้ครับ ทำเสร็จแล้วมันจะมีความรู้สึกดีจริงๆ ขอให้เอาสักอย่างสองอย่างก็แล้วกัน แล้วความรู้สึกความสำเร็จมันก็จะเกิดขึ้น เรามีเพื่อนฝูงใหม่ๆ แล้วเราก็ไปทำอย่างอื่นร่วมกับเขา ชีวิตใหม่มีคุณภาพขึ้นเยอะเลยครับ
ส่วนตัวผมก็เคยไปเรียนระนาด ไปเรียนเปียโน ผมไปเรียนเปียโนกับครูเหมือนกัน คุณครูที่สอนผมบอกว่าไม่เคยเห็นคนอายุขนาดนี้ที่มุ่งมั่นตั้งใจเรียนขนาดนี้ ถึงขนาดเป็นแรงบันดาลใจให้ครูของผมไปบอกกับคุณแม่ครู บอกว่ามีลูกศิษย์คนหนึ่งอายุเท่านี้มาเรียนเปียโนแล้วทำได้ แม่เรียนด้วยสิ ประมาณนั้นเลยนะครับ
ตรงนี้ ผมก็คิดว่า ถ้าเรามุ่งมั่นในชีวิต อะไรๆ ก็ทำได้ ไม่ได้แปลว่าต้องทำให้มันดีหรือต้องไปโชว์ใครให้คนเขาทึ่งมากมายว่าทำไมเล่นได้ขนาดนี้ ไม่ใช่นะครับ เราทำเพื่อความสุขของตัวเราเอง เล่นได้สองเพลงสามเพลง แล้วก็มีความสุข เกิดมาเคยฝันว่าจะทำได้ วันนี้เล่นได้แล้ว แค่นี้ก็เป็นความสุขแล้วใช่ไหมครับ ไม่ต้องไปขึ้นเวทีปรากฎให้ใครเขาเห็น ไม่ต้องให้ใครเขาทึ่ง เราทึ่งตัวเองว่าเราทำได้ ก็พอครับ
*** สำหรับผู้สนใจ ต้องการสั่งจอง หรือสั่งซื้อจำนวนมาก ติดต่อได้ที่
1. inbox : FB สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์
2. ID Line : baan_athit
3. ID Line@ : @baan_athit
เรื่อง : ทีมข่าวสัมภาษณ์
ภาพ : สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์