xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมสูงวัยอย่างมีสุข อิงรหัสลับแบบญี่ปุ่น / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 12 กุมภาพันธ์ 2560

รู้สึกอย่างไรครับที่มีการชี้ชัดว่า ประเทศไทยเราเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2564

นั่นเป็นประมาณการของสภาพัฒน์หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่า ประชากรไทยปัจจุบันมี 65.1 ล้านคน และคนอายุเกิน 60 ปีมีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน หรือ16% แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้า จะเพิ่มสูงเป็น 20% และอีก 10 ปีหรือปี พ.ศ.2574 คนสูงวัยจะเพิ่มเป็น 28% เข้าเกณฑ์ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”

“ระดับสุดยอด” แบบนี้น่าภูมิใจหรือน่าห่วงใยกันครับ??

แต่สภาพเช่นนี้เป็นภาวะของโลกที่เด็กเกิดน้อยแต่คนสูงวัยมีอายุยืนยาวขึ้น และทุกคนเผชิญกับตัวเองและสัมผัสได้กับญาติผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดที่รับรู้ว่า คนอายุ 60 ไม่ใช่คนแก่ หรือ “ไม้ใกล้ฝั่ง” อย่างสมัยก่อน แต่ยังทำงานได้แถมมีความชำนาญจนราชการต้องขยายอายุการเกษียณในหลายวิชาชีพ

ก็ด้วยปัจจัยการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วิทยาการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ได้เอื้ออำนวยให้ผู้คนที่มีอายุหลังเกษียณ 60 ปี ยังอยู่ไปได้อีก20-30 ปี เรียกว่าการมีอายุใกล้หลัก 100 นั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริง

ถ้าถามใจเจ้าตัวและครอบครัวของผู้สูงอายุทั้งหลาย ย่อมอยากเป็นคนอายุยืนที่แข็งแรงและมีชีวิตอย่างมีความสุข มีคุณค่าต่อตัวเองและผู้เกี่ยวข้อง เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม

ดร.วรภัทร โตธนะเกษม จึงได้ประมวลความรู้และประสบการณ์กลายเป็นหนังสือที่ให้ข้อคิดและแนวทางการปรับตัวเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลง โดยตกผลึกเป็นชื่อปกว่า “คิดใหม่ ใกล้เกษียณ : เป็นการเดินทาง มิใช่ปลายทาง” ซึ่งผมขอสกัดเนื้อหาสำคัญมาเป็นประเด็นแบ่งปันสู่คุณผู้อ่านได้สานต่อครับ...

เราลองมาพิจารณาการเดินทางของชีวิต ซึ่งทุกช่วงวัยก็ล้วนต้องขับเคลื่อนตามเหตุปัจจัยสั่งสมเป็นประสบการณ์และบทเรียน ดังที่ท่านองคมนตรีนพ.เกษม วัฒนชัย กล่าวไว้ในคำนิยมว่า ในสมัยอินเดียโบราณ ได้แบ่งชีวิตมนุษย์เป็น 4 ช่วง ได้แก่

1. ช่วงพรหมจรรย์ คือ วัยเด็กและวัยรุ่น

2. ช่วงคฤหัสถ์ คือเป็นผู้ใหญ่ มีคู่ครอง มีอาชีพ มีครอบครัว

3. ช่วงปลีกตัว คือ เกษียณจากงาน ทบทวนประสบการณ์สรุปบทเรียน

4. ช่วงสั่งสอนผู้คน คือ เป็นครูของสังคม ใช้ความรู้และประสบการณ์ ให้ข้อคิด ให้คำแนะนำแก่เด็กและผู้ใหญ่

การมีชีวิตจนถึงช่วงสูงอายุเป็นความหวังและมีความหมาย คือมีคุณค่าแก่สังคมให้สมกับการมีอายุยืนยาว

“ความหมายของชีวิต” (Sense of Purpose) จึงเสมือนน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความหวัง มีความมุ่งมั่น จนสามารถบอกได้ว่า “พรุ่งนี้จะตื่นขึ้นมาเพื่ออะไร” โดยไม่ต้องรอไปถึง “ชาติหน้า”

เมื่อ พ.ศ.2557 นิตยสาร Psychological Science ของสมาคมวิทยาศาสตร์ด้านจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา ได้เผยผลสำรวจวิจัยสุขภาพทางกายและใจของคนอเมริกัน 7,000 คน (อายุ 20-75 ปี) โดยมีการสัมภาษณ์ติดตามคนเหล่านี้ต่อเนื่องยาวนานถึง 14 ปี ก่อนสรุปผลออกเผยแพร่

ผลการศึกษาพบว่า คนเหล่านี้มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า “ฉันยังมีความหมาย” “ฉันยังอยากทำงาน” “ฉันมีทิศทางที่แน่นอน” “ฉันอิ่มเอิบใจกับสิ่งที่ได้ทำไป”

ผลลัพธ์ก็คือ คนเหล่านี้มักมีชีวิตยืนยาวกว่าคนที่ไม่มีความรู้สึกมุ่งมั่นเช่นนั้น

ที่ตรงกับคำ 生き甲斐 ในภาษาญี่ปุ่นที่ภาษาฝรั่งเขียนทับศัพท์ว่า IKIGAI (อิ๊กกี้กาย) ซึ่งเมื่อปี 2548 แดน บูตเนอร์ นักเขียนแห่งนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิกได้เดินทางไปสำรวจชุมชนของโลกที่มีคนอายุยืนเกิน 100 ปี ก็ได้พบว่า เมืองโอกินาวา ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นเป็น 1 ในชุมชน 4 แห่ง ที่มีคนอายุยืนยาว มีความสุข เพราะกินอาหารประเภทผักสีเขียวเป็นหลัก

ที่นั่นไม่เคยรู้จักคำว่า เกษียณอายุ และสังคมให้เกียรติผู้สูงอายุมาก นักเขียนท่านนี้สรุปว่า ปัจจัยชาวโอกินาวามีอายุยืนยาว เพราะมี “อี๊กกี้กาย” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “เหตุผลที่ฉันยังมีชีวิตอยู่” (Reason for Being) และนั่นคือ “ชีวิตที่มีความหมาย” ที่ตอบคำถามว่า “พรุ่งนี้จะตื่นขึ้นมาเพื่ออะไร”

ดังเช่นที่คุณยายทวดชาวโอกินาวาคนหนึ่งอายุ 102 ปี ตอบว่า “เพื่อคนคนนี้ไงล่ะ” พร้อมทั้งชี้นิ้วไปที่เจ้าหนูเหลนน้อยอายุ 1 ขวบ ที่ซบอยู่ในอ้อมอกเธอด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

บางคนอาจบอกความหมายของการมีชีวิตแบบกว้าง คือ “เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม” หรือ “เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม” หรือ “เพื่อสร้างเยาวชนให้เติบโตขึ้นเป็นคนเก่งคนดี”

หรือในความหมายแบบแคบ สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตก็คือ “ครอบครัว” หรือ “คนรัก”

ยิ่งกว่านั้น มีผลวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ Tohoku University ศึกษาชาวญี่ปุ่น 43,000 คน ที่เมืองเซนได พบว่า คนมี IKIGAI จะมีสุขภาพและภาวะจิตใจดีกว่ากลุ่มที่ไม่มี (อี๊กกี้กาย) และเมื่อผ่านไป 7 ปี จากการติดตามทุกมิติชีวิต ทั้งการศึกษา พฤติกรรม การกินการดื่ม การออกกำลังกาย พบว่า 95% ของกลุ่มตัวอย่างนี้ยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่กลุ่มที่ “ไม่มี” หลังจากวิจัยผ่านไป 7 ปี อัตราการมีชีวิตอยู่ที่ 83% เท่านั้น
ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
ยืนยันได้ว่า จุดมุ่งหมายการมีชีวิตที่บอกความหมายของชีวิตจึงมีความสำคัญ

คราวนี้ เราลองพิจารณาผลการวิจัยเมื่อปี 2557 ที่ Dr.Ken Dychtwald ผู้บริหารสูงสุดของ Age Wave ร่วมกับ Merill Lynch ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 3,300 คน ซึ่งเป็นคนเกษียณแล้วและใกล้เกษียณว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสุขของคนสูงอายุ ก็พบว่า

สุขภาพแข็งแรง (81%)
ความมั่นคงทางการเงิน (58%)
ความรักจากครอบครัวและเพื่อนฝูง (36%)
การมีเป้าหมายในชีวิต (20%)

จะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า “สุขภาพที่แข็งแรง” มีผลต่อความสุขของคนวัยเกษียณมากกว่า “ความมั่นคงทางการเงิน”

เพราะถึงจะมีความมั่นคงทางการเงิน แต่ถ้าสุขภาพไม่แข็งแรง นิยมสร้างปัจจัยเสี่ยงจากโรคภัย จนถึงขั้นต้อง “นั่งกิน นอนกิน” บนเตียงคนไข้ผ่านสายยางหรือต้องให้คนป้อน ก็หมดโอกาสในการใช้เงินซื้อความสุขได้ แถมบางคนอาจต้องไปใช้เงินในห้องไอซียู

ดังนั้น จึงต้องสร้างวินัยให้ตัวเอง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสั่งสมความแข็งแกร่ง เตรียมเพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพและมีความสุขทั้งกายและใจ

น่าแปลกนะ สังคมยุคเทคโนโลยีข่าวสารได้รับรู้เรื่องการออกกำลังกาย และความฉลาดในการดื่มกินเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี แต่ปัญหาเจ็บป่วย และความอ้วนบั่นทอนสุขภาพก็ยังเพิ่มขึ้น

ขนาดนิตยสารไทม์เคยมีบทความระบุชัดเจนว่า “การออกกำลังกายถือเป็น 'ยา' รักษาโรคเลยทีเดียว”

กล่าวโดยรวมถ้าจะบอกว่า การออกกำลังกายจะได้สุขภาพที่แข็งแรงแน่นอน แถมหุ่นดี ฟิตเป๊ะ และแก่ช้า เป็นของแถมจะเอามั้ย

สรุปแล้ว การสร้างความพร้อมไว้รับมือวัยเกษียณ คือ 1.สุขภาพ 2.ความมั่นคงทางการเงิน 3.ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพื่อนฝูง 4.การมีเป้าหมายและแผนการใช้ชีวิตที่ดี

แต่มีผลสำรวจคนอเมริกันพบกว่า มีคนเพียง 31% เท่านั้นที่เตรียมตัวก่อนถึงวันเกษียณ แสดงว่าอีกเกือบ 70% ปล่อยไปตามยถากรรม

ที่น่าตกใจก็คือ จากการสำรวจของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่า คนไทยมีมากถึง 90% ไม่ได้เตรียมตัวเพื่อการใช้ชีวิตให้สุขกายสบายใจในวัยชรา

ที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าจะเตรียมตัวและตระหนักรู้ตั้งแต่อายุ 30 อย่างดร.วรภัทร หรือคิดได้ 5 ปีก่อนวัยเกษียณตามมาตรฐานสากลก็ตาม การรู้จักเตรียมตัวไปสู่แนวทางใฝ่ดี ก็จะไม่เกิดความรู้สึก “เสียดาย” กับเวลาที่ผ่านไปโดยเผลอทำแบบหลงผิด เพราะถึงอย่างไร ก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ภาพจากเส้นทางการใช้ชีวิตในอดีตที่มีการ “ลากเส้น-ต่อจุด” จนเห็นผลลัพธ์ในอนาคตตามกฎแห่งกรรมอย่างที่สตีฟ จ็อบส์กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

หากบางคนมีโอกาสได้ฟื้นความฝันที่อยากจะทำตั้งแต่วัยเด็ก เช่นคุณยายบาร์บาร่าวัย 89 (ได้ทำอย่างเคยฝันตอนเด็ก) ได้ทำงานออกแบบเครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ดร.วรภัทรได้มีโลกส่วนตัว เป็นนักแต่งเพลงที่เริ่มเรียนรู้เอาเมื่อวัย 50 ต้นๆ ก็ยังไหว นับว่าได้เติมเต็มความหมายของชีวิตที่คุ้มค่าให้หลายคนอยากเป็นบ้าง

กำลังโหลดความคิดเห็น