xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อดูไบและเยอรมนีประมูลไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มได้ราคาต่ำกว่าผลิตจากถ่านหิน / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแหละครับว่า โลกเรานี้เปลี่ยนเร็วมากจริงๆ แม้ตัวผมเองซึ่งได้ติดตามนโยบายพลังงานหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศเยอรมนี ยังได้ตกข่าวนี้เลยครับ โชคดีที่มีเพื่อนคนหนึ่งในเฟซบุ๊กได้โพสต์ขึ้นมา ผมจึงค้นคว้าเพิ่มเติม และขอนำมาเล่าสู่กันฟังพร้อมเอกสารอ้างอิง

ที่ว่าโลกเราเปลี่ยนเร็วมากก็เพราะว่า รัฐบาลประเทศเยอรมนีซึ่งได้สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2543 โดยวิธีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในราคากลางปี 2558 ที่อัตรา 3.40 บาทต่อหน่วย โดยไม่จำกัดจำนวน (ในขณะที่ประเทศไทยเรารับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในราคา 5.66 บาท และจำกัดอยู่กับบางบริษัท ในราคานี้มาตั้งแต่ปี 2557 และไม่ยอมรับซื้อจากหลังคาบ้านของอยู่อาศัย) มาวันนี้ประเทศเยอรมนีได้ปรับมาเป็นการประมูลแล้ว นับถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ได้ประมูลมา 4 ครั้งแล้ว (ดังแผ่นภาพ) 
 

 
ผู้ชนะการประมูลในครั้งที่ 4 ขนาด 128 เมกะวัตต์ ได้เสนอราคาต่ำสุดเฉลี่ยที่ 2.90 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ที่ว่าผมตกข่าวก็ตรงเรื่องการประมูลนี้แหละครับ และเป็นการประมูลครั้งที่ 4 แล้ว ในขณะที่เพื่อนผมได้โพสต์การประมูลครั้งที่ 3

เอกสารที่ผมนำมาอ้างถึงเป็นขององค์กรระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยมีหน่วยงานย่อยที่ชื่อ“องค์การพลังงานสากล (IEA)” ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งเป็นปีที่ราคาน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปกได้ขึ้นราคาไป 3-4 เท่าตัวในเวลาปีเดียว

ไม่เพียงแต่ประเทศเยอรมนีประเทศเดียวที่ใช้วิธีการประมูล แต่มีหลายประเทศครับ เช่น กรีซ อินเดีย อาร์เจนตินา และออสเตรเลีย เป็นต้น ในแผ่นภาพนี้ เมืองดูไบ ก็ใช้วิธีการประมูลขนาด 800 เมกะวัตต์ ผู้ชนะการประมูลเสนอราคา 1.05 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือว่าเป็นราคาต่ำที่สุดในโลก ผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลครั้งนี้เท่ากับ 1.58 บาทต่อหน่วย ซึ่งก็แพ้ไปตามระเบียบ (IEA อ้างข้อมูลจาก PV Magazine 2 พ.ค.2559)

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีเวลาครุ่นคิด ท่านลองเอาใบเสร็จค่าไฟฟ้ามาดูสิครับว่า ท่านได้จ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ในราคาเท่าใด

และเพื่อให้เราได้เห็นแนวโน้มของราคา ผมขอย้อนไปดูราคาผู้ชนะการประมูลของประเทศเยอรมนี 3 ครั้งที่ผ่านมา

การประมูลครั้งที่ 3 เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 ขนาด 200 เมกะวัตต์ ผู้ชนะการประมูลเสนอขายไฟฟ้าราคา 3.03 บาทต่อหน่วย สูงกว่าครั้งที่ 4 ถึง 13 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผู้เข้าประมูล 170 บริษัท สำหรับครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม มีผู้เข้าประมูล 136 ราย ผู้ชนะการประมูลเสนอราคาขายไฟฟ้า 2.98 บาทต่อหน่วย (ต่ำกว่าครั้งที่ 3)

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมราคาในเมืองดูไบ (เมืองใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตะวันออกกลาง) กับราคาในประเทศเยอรมนี จึงได้แตกต่างกันมากนัก คือ เกือบ 3 เท่าตัว คำตอบที่สำคัญก็คือ พลังงานแสงแดดต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตรของสองประเทศต่างกันมาก กล่าวคือในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศเยอรมนีผลิตได้ 850 หน่วยต่อหนึ่งกิโลวัตต์ (ใช้พื้นที่ประมาณ 7 ตารางเมตร) เมืองดูไบ สามารถผลิตได้ถึงประมาณ 2,500 หน่วยโดยใช้พื้นที่เท่ากัน (ดังแผนที่ประกอบ)
 

 
คราวนี้เราลองมาพิจารณากรณีของประเทศไทยกันบ้าง

สมมติว่าต้นทุนในการผลิตต่อโครงการของประเทศไทยกับของเมืองดูไบเท่ากัน (สมมตินะครับสมมติ) โดยการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ก็พบว่า ผู้ชนะการประมูลในเมืองดูไบน่าจะเสนอราคาในประเทศไทยได้ที่ 1.75 บาทต่อหน่วย เนื่องจากพลังแสงแดดในประเทศไทยต่ำกว่าเมืองดูไบค่อนข้างมาก

ผมเชื่อว่าข้อมูลที่ผมได้นำเสนอมานี้คงจะช็อกความรู้สึกของใครหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ถ้ามองกันในแง่ดีๆ ก็เพราะว่าคนเหล่านั้นตามโลกไม่ทันนั่นเอง มัวแต่ยุ่งอยู่กับการบริหารงานเอกสารจนหมดเวลา

อ้อ ผมลืมบอกไปนิดหนึ่งว่า การประมูลของประเทศเยอรมนีที่ผ่านมา ผู้ประมูลได้จะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบภายในปี 2561 ครับ (ถ้าจำไม่ผิด) โดยต้องมีการวางเงินมัดจำเรียบร้อย

ระหว่างที่ผมเขียนบทความนี้ เพื่อนคนเดิมได้ส่งข้อความมาถึงผมเป็นการส่วนตัวว่า “บางบริษัทที่ชนะการประมูลไปแล้วก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ดังนั้น รัฐบาลเยอรมนีจึงต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย” อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมได้ติดตามพบว่า ประเทศเยอรมนีกำลังศึกษาวิธีการ และมาตรการดังกล่าวอยู่ ซึ่งอาจจะอยู่ในขั้นการทดลอง ก็อย่างที่ว่าแหละครับ การประมูลมันเป็นของใหม่ของประเทศเขาเหมือนกัน

ผมเองก็ใช่ว่าจะเชื่ออะไรง่ายๆ แต่ผมมีข้อมูลให้ตรวจสอบได้ทั้งจากเอกสาร และจากการสอบถามจากผู้ที่ได้ติดตั้งแล้ว

ผมลองคิดให้ต่ำๆ หน่อย คือ สมมติว่าติดตั้งในประเทศไทยขนาด 10 กิโลวัตต์ ลงทุนทั้งหมด 6 แสนบาท (ความจริงไม่ควรเกิน 5 แสนบาท) ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 13,500 หน่วย ในช่วงเวลา 20 ปี (แทนที่จะเป็น 15,000 หน่วย และนาน 25 ปีตามที่อ้างกัน) รวมทั้งโครงการสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 270,000 หน่วย ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยตลอดโครงการ 2.22 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

ถ้านำเงินลงทุน 2.22 บาทไปฝากธนาคารด้วยอัตราดอกเบี้ยทบต้น 2.0% ต่อปี เมื่อครบ 20 ปี ก็จะได้เงินรวม 3.30 บาท ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายในปีนี้เสียอีก สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือ การติดโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองให้ผลตอบแทนสูงกว่านำเงินไปฝากธนาคาร หรือเปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคาร

คราวนี้มาดูราคารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กันบ้าง จากข้อมูลล่าสุด ทาง กฟผ.รับซื้อจากเอกชนที่ผลิตจากถ่านหินในราคา 2.69 บาทต่อหน่วย (ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นกว่านี้อีกในอนาคต) และรับซื้อจากโซลาร์ฟาร์ม (แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่) ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย จนถึง 6.85 บาทต่อหน่วย (สำหรับผู้ผลิตจากหลังคา)
 

 
ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 3 โรง ซึ่งจะเข้าสู่ระบบในปี 2562, 2565 และ 2567 รวม 3 พันเมกะวัตต์ ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการที่นำมาอ้าง คือ

(1) ต้นทุนราคาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีราคาถูก แต่ผมมีหลักฐานมาจากทั่วโลกแล้วว่าไม่เป็นความจริงเลย นอกจากนี้ ประเทศไทยเราไม่มีถ่านหิน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

(2) เป็นโรงไฟฟ้าหลัก หรือ Base Load ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วันได้ ในเรื่องนี้ ผมเองในฐานะนักคณิตศาสตร์ ไม่มีความรู้ทางวิศวกรรม ผมก็เชื่อตามที่เขาอ้างมาตลอด

มาวันนี้ ผมมีเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก ทั้งการปฏิบัติจริงของบางรัฐในบางประเทศ ทั้งจากการใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ (Computer Simulation) รวมทั้งจากการฟังคำบรรยายผู้เชี่ยวจากประเทศเดนมาร์กเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกันครับ

แนวคิดที่ต้องมี Base Load เป็นกระบวนทรรศน์เก่า ยังเป็นกระบวนทรรศน์ในยุค “เครื่องจักรไอน้ำ” ที่ใช้หลักการของ “ฟิสิกส์แบบดั้งเดิม” เมื่อ 200 ปีก่อนทำให้พลังงานร้อยละ 65% ของพลังงานที่ป้อนเข้าไปกลายเป็นความร้อน ได้ไฟฟ้าเพียง 35% เท่านั้น แม้จะมีการปรับปรุงไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นยุคเก่าเหมือนเดิม

มาวันนี้ เป็นยุค “ธุรกิจไฮเทค (Silicon Valley)” ซึ่งเป็นยุคของ “ฟิสิกส์แบบควอนตัม” ที่อิเล็กตรอนนับล้านๆ ตัวทำงานแทนเกียร์ และลูกสูบได้อย่างรวดเร็วมากๆ ได้พลังงานจากแสงอาทิตย์โดยไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องใช้ไอน้ำ ไม่ปล่อยอากาศเสีย รวมทั้งไม่ปล่อยน้ำเสีย ในขณะที่เกิดการสูญเสียพลังงานประมาณ 9% เท่านั้น

“ฟิสิกส์แบบควอนตัม” นี่แหละครับที่ทำให้เรามีโทรศัพท์มือถือใช้ในราคาถูก และประสิทธิภาพสูงมาก จนแยกไม่ออกว่าเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือกล้องถ่ายรูป ฯลฯ

ในยุคไฮเทคที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนที่เคยถูกละเลย ได้เพิ่มบทบาทมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นจำนวนมาก มากกว่าพลังงานฟอสซิลเสียอีก แนวคิดเรื่อง Base Load จึงเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง ตกยุค แต่วันนี้ผมยังไม่ขอลงในรายละเอียดนะครับ

สรุป

เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ตอนนั้นผมยังทำงานราชการเต็มเวลากินเงินเดือนประชาชน ชาวบ้านคนหนึ่งได้บอกแก่ผมว่า “อาจารย์อย่าเอาแต่นอน ช่วยหาความรู้มาให้พวกฉัน แล้วพวกฉันจะคิดเอง” มาถึงวันนี้ ผมเกษียณราชการแล้ว กินเงินเดือนบำนาญ แม้การเขียนบทความจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่ผมยังรู้สึกเป็นหนี้สังคมไทย ยังจำคำเตือนที่มีค่าของชาวบ้านได้ดี ผมจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ของผมเพื่อค้นหาความรู้มาบอกเล่าให้แก่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน

ถ้าเรื่องที่ผมได้นำเสนอมาแล้วยังยากต่อการทำความเข้าใจ กรุณาเปรียบเทียบกับเรื่องที่ง่ายกว่านี้ คือ ราคาเอทานอล ในขณะที่ราคาในสหรัฐอเมริกา และบราซิลประมาณ 11 ถึง 14 บาทต่อลิตร แต่ราคาที่คนไทยต้องจ่าย (ซึ่งผลิตในประเทศไทย) สูงถึง 23 บาทต่อลิตร (ดูภาพประกอบ) ทำไมมันจึงเป็นเช่นนี้
 

 
ขอท่านผู้อ่านโปรดพิจารณา หรือ “คิดเอง” ว่าปัญหาด้านพลังงานซึ่งมีมูลค่าถึง 18-19% ของจีดีพีประเทศไทยเราเป็นอย่างไร และจะมีทางออกอย่างไร ถ้าเห็นด้วยก็กรุณาช่วยกันเผยแพร่ และกรุณาร่วมกันครุ่นคิดเพื่อหาทางออกให้ลูกหลานครับ 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น