xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 28 ส.ค.-3 ก.ย.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.โปรดเกล้าฯ ร่างแก้ไข รธน.เพิ่ม สนช.แล้ว ด้าน กรธ.ต้องส่งร่าง รธน.ให้ศาล รธน.ถึง 3 รอบ หลังถูกศาลฯ ตีกลับ เหตุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์!
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)
ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) พิจารณาปรับแก้บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ ซึ่งระบุว่า “ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มองว่า ส.ว.ไม่ได้มีสิทธิแค่โหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น แต่ยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ ด้วย แต่ปรากฏว่า ที่ประชุม กรธ.เคาะแล้วว่า ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอกบัญชีพรรคการเมืองก็ตาม โดย กรธ.จะนัดประชุมเพื่อปรับถ้อยคำให้เหมาะสมอีกครั้ง ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. กรธ.ได้ประชุมเรื่องดังกล่าว หลังประชุม นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.แถลงว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ลงนามเอกสาร 3 ฉบับ ในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงแล้ว ประกอบด้วย 1.มาตรา 272 ของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง โดยเป็นไปตามหลักการที่เคยมีมติการประชุมเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ว่าอำนาจในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นของ ส.ส.เท่านั้น ขณะที่ ส.ว.มีหน้าที่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ 2. แก้ไขคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ และ 3.เอกสารคำชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับคำถามพ่วง พร้อมยืนยันว่า เอกสารทั้ง 3 ชุด จะส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญก่อนปิดเวลาราชการวันเดียวกัน(29 ส.ค.)

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเรียก สนช.ไปชี้แจงเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงประชามติ สนช.ได้เตรียมข้อมูลที่จะชี้แจงไว้แล้ว และว่า จากประสบการณ์ทำงาน เชื่อว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องใด ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายก่อน ทั้ง กรธ.และ สนช.

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจาก กรธ.ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเย็นวันที่ 29 ส.ค. ปรากฏว่า วันต่อมา(30 ส.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ กรธ.มารับหนังสือเอกสารร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคืน เพื่อนำกลับไปปรับปรุงและจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ชี้แจงถึงกรณีที่ กรธ.ขอคืนร่างรัฐธรรมนูญที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า เป็นเรื่องธุรการเท่านั้น เนื่องจากวันที่ 29 ส.ค. กรธ.ส่งร่างรัฐธรรมนูญไป แต่เป็นช่วงเวลาเย็นมากแล้ว จึงทำให้การเซ็นรับรองเอกสารบางอย่างยังไม่ถูกต้อง กรธ.จึงขอร่างรัฐธรรมนูญกลับมาเพื่อเซ็นรับรอง และจะดำเนินการให้ถูกต้องตามระบบราชการ ยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้ขอร่างกลับมาเพื่อแก้เนื้อหาใดๆ และว่า วันที่ 31 ส.ค. กรธ.จะประชุมเพื่อพิจารณาความถูกต้องของร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ก่อนส่งกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ชี้แจงกรณีที่ขอเอกสารคืนจากศาลรัฐธรรมนูญว่า กรธ.หวังดี จึงส่งสำเนาเอกสารไป 20 ชุด แต่พอมีปัญหาเรื่องเอกสาร กรธ.จึงเรียกคืนมา แล้วลงรายชื่อกำกับให้ชัดเจน จากนั้นก็จะส่งเอกสารตัวจริงกลับไปชุดเดียว ส่วนเนื้อหายืนยันว่าไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ และว่า สาเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนึกว่า กรธ.เป็นประชาชนไปฟ้องคดี แต่ไม่ใช่ เพราะ กรธ.ส่งหนังสือราชการตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ แต่เมื่อเกิดปัญหา กรธ.จึงต้องทำให้ชัดเจน

ทั้งนี้ วันที่ 31 ส.ค. เจ้าหน้าที่รัฐสภาได้นำร่างรัฐธรรมนูญจาก กรธ.ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งต่อมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวระบุว่า กรณีที่ กรธ.ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขให้สอดคล้องกับผลประชามติประเด็นคำถามพ่วง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติให้การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 โดยคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องทำเป็นหนังสือ อย่างน้อยต้องมีลายมือชื่อผู้ร้อง หากส่งคำร้องแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบฉันทะมาด้วย เมื่อคำร้องที่เจ้าหน้าที่รัฐสภามายื่นแทนโดยไม่มีใบมอบฉันทะของผู้ร้อง ศาลจึงให้ผู้ร้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนด โดยให้จัดทำใบมอบฉันทะและส่งต่อศาลภายในวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.นี้

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตีกลับร่างรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากไม่เป็นไปตามระเบียบการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อศาลฯ ระบุมาเช่นนี้ จะหารือกันในที่ประชุม กรธ.วันที่ 1 ก.ย. แล้วทำใบมอบฉันทะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องตามกระบวนการเพื่อส่งเรื่องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 1 ก.ย.ต่อไป ซึ่งในที่สุด นายมีชัยได้ลงนามในหนังสือมอบฉันทะให้ ผบ.กลุ่มงานประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเป็นครั้งที่ 3 เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายมีชัยเผยด้วยว่า กรธ.จะได้ทำคำชี้แจงและแถลงข่าวเรื่องนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า กรธ.บกพร่อง พร้อมยืนยันว่า กรธ.ได้เซ็นเอกสารตามระเบียบราชการทุกประการ และว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ กรธ.ต้องนำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับแก้เรื่องการดำเนินการของศาลต่อไป เพราะขนาดตนซึ่งเป็นนักกฎหมาย ยังถูกมองว่าเข้าใจผิด ดังนั้นประชาชนที่จะไปยื่นเรื่องต่อศาลนั้นก็คงจะลำบาก

ล่าสุด มีรายงานจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ก.ย.คงจะมีการพิจารณาคำร้องของ กรธ.ที่ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงมาให้พิจารณา โดยตุลาการฯ จะมีมติว่าจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา หากรับไว้พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่ถึง 30 วัน

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 26 ส.ค. มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิก สนช.จาก 220 คน เป็น 250 คน ตามที่ ครม.และ คสช.เสนอ เพื่อรองรับการทำงานของ สนช.ที่จะต้องพิจารณากฎหมายจำนวนมาก ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ.2559 ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250 คนแล้ว โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวถึงการแต่งตั้งสมาชิก สนช.ให้ครบ 250 คน โดยแฉว่า มีคนวิ่งเต้นต้องการเป็น สนช.กันเยอะมาก “จะมีการตั้งคณะทำงานและเสนอมา จะให้ผมยุ่งทุกเรื่องเลยหรือ เวลานี้วิ่งเต้นกันเยอะแยะ ผมไม่ให้อยู่แล้ว บอกแล้วไม่ต้องมาขอ และไม่มีใครมาขอกับผม ส่วน สนช.ที่ยังอยู่เดิม ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่า อายุ 60 ปี แล้วต้องลาออก แต่หากท่านใดสุขภาพไม่ไหว คงลาออกเอง ยอมรับว่าหลายท่านทำงานหนัก มีทั้งเสียชีวิต ป่วยไข้ ทุกคนเขาทำงาน อย่าคิดว่าไม่ทำ...” ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. มีสมาชิก สนช.เสียชีวิตลง 1 คน คือ พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ ซึ่งเป็นทั้งสมาชิก สนช.และเป็น กรธ.ด้วย โดยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับอ่อน ในวัย 61 ปี

2.ป.ป.ช.เตรียมลงมติฟัน 4 อดีต ส.ส.เพื่อไทย กรณีสลับร่าง รธน.-เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในสภา!

(บนซ้าย) นายอุดมเดช รัตนเสถียร (บนขวา) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร (ล่างซ้าย) นายคมเดช ไชยศิวามงคล (ล่างขวา) นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่า การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้ จะมีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือ การลงมติกรณีที่มีการกล่าวหาอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 4 คน ได้แก่ นายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์, นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม และนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรีกรณีกระทำความผิดทางอาญาในระหว่างการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงการกระทำผิดทางอาญาของบุคคลทั้งสี่ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว และเตรียมสรุปสำนวนส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ลงมติ

ทั้งนี้ ในส่วนของนายคมเดช นายนริศร และนายยุทธพงศ์ พบว่า มีพฤติการณ์เสียบบัตรและกดคะแนนออกเสียงแทนกัน ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ขณะที่นายอุดมเดช พบว่า มีพฤติการณ์สลับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาไม่ตรงกับฉบับที่มีการเข้าชื่อเสนอขอแก้ไข ไปเปลี่ยนใช้ในวาระรับหลักการ ถือว่าเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหากที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่า มีพยานหลักฐานครบถ้วน ก็สามารถลงมติตัดสินได้ทันที

ด้านนายอุดมเดชกล่าวว่า ได้ให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช.ไปแล้วทั้งทางเอกสารและด้วยวาจาว่า สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบสภา ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่าตนสลับร่างรัฐธรรมนูญปลอมนั้น ขอชี้แจงว่าไม่ได้สลับร่าง เพราะเมื่อตรวจสอบหลังจากที่ได้ส่งร่างไปแล้ว ก็มีพวกที่ลงชื่อและเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่พูดคุยเอาไว้ ซึ่งเดิมตกลงจะให้ผู้ที่เคยเป็น ส.ว.ลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้ง จากนั้นมีคนไปตรวจสอบพบว่า หากเป็นเช่นนั้นจะลงสมัครเลือกตั้งอีกไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่คุย จึงไปขอปรับปรุงแก้ไข ซึ่งสามารถแก้ไขดำเนินการได้ ก่อนที่ประธานสภาจะมีมติใช้อำนาจบรรจุเรื่องเข้าระเบียบวาระ

3.“อดีตที่ดินพังงา” ถูกจับทุจริตออกโฉนดที่ดิน ผูกคอตายคาห้องขังดีเอสไอ ด้านนิติเวชระบุมีตับแตก ขณะที่ รพ.มงกุฏวัฒนะยัน ปั๊มหัวใจไม่ทำตับแตก!

 (บน) พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ. รพ.มงกุฏวัฒนะ แถลงชี้แจงความพยายามช่วยชีวิตนายธวัชชัย (ล่างซ้าย) ถุงเท้าที่ผู้เสียชีวิตใช้ผูกคอ (ล่างขวา) ดีเอสไอและญาตินำศพนายธวัชชัยจากวัดบางหลวง ไป รพ.ธรรมศาสตร์ฯ
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์ศรีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ และรองโฆษกดีเอสไอ ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า นายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเมือง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พยายามฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอตัวเองขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องควบคุมชั้น 6 อาคารดีเอสไอ เมื่อคืนวันที่ 29 ส.ค.ต่อเนื่องวันที่ 30 ส.ค.

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าวว่า เจ้าพนักงานศูนย์สะกดรอย ดีเอสไอ ได้จับกุมนายธวัชชัยเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวนสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินคดี โดยนำตัวเข้าห้องควบคุมของดีเอสไอ เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัวไปขอศาลอาญาฝากขังในวันที่ 30 ส.ค. และว่า หลังสอบสวนและนำตัวไปควบคุมไว้ นายธวัชชัยมีอาการวิตกกังวล เครียด รับประทานอาหารแค่เล็กน้อย มีการเดินไปมาในห้องควบคุมก่อนล้มตัวลงนอน กระทั่งเวลา 01.00 น. นายธวัชชัยแจ้งเจ้าหน้าที่ขอให้ดับไฟในห้องควบคุม เพราะไฟสว่าง นอนไม่หลับ แต่เจ้าหน้าที่อธิบายว่า ตามระเบียบไม่สามารถปิดไฟในห้องควบคุมได้ นายธวัชชัยจึงใช้ผ้าคลุมหน้าและนอนตะแคง เจ้าหน้าที่จึงเดินตรวจตามปกติ กระทั่งประมาณ 02.00 น. เจ้าหน้าที่กลับมาตรวจที่ห้องควบคุมอีกครั้ง เห็นว่านายธวัชชัยนั่งหันหลังพิงประตู จึงเคาะประตูเรียก แต่ไม่ตอบ จึงรีบเปิดประตูเข้าไป พบว่านายธวัชชัยใช้ถุงเท้าที่ใส่ติดตัวขณะถูกจับกุมผูกคอตนเองกับขอบบานพับประตูห้องควบคุม ซึ่งขณะนั้นนายธวัชชัยยังมีลมหายใจอยู่ เจ้าหน้าที่พยายามปั๊มหัวใจช่วยชีวิต แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ แพทย์ช่วยเหลือถึงเวลา 04.45 น.ก็เสียชีวิต

ด้าน พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า เนื่องจากเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน จะต้องชันสูตรพลิกศพ จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ดำเนินการ โดยจะนำส่งไปชันสูตรพลิกศพที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ และว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว

ขณะที่ พ.ต.ท.ประวุธกล่าวว่า คดีของนายธวัชชัย ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร้องขอให้ดีเอสไอดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนที่บุกรุกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ซึ่งมีที่ดินประมาณ 7 ไร่ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท มีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ซึ่งมีการสอบสวนและออกหมายจับนายธวัชชัย โดยนายธวัชชัยเป็นเจ้าพนักงานที่ลงนามออกโฉนดที่ดิน โดยไม่มีอำนาจในการออกเอกสารสิทธิ พ.ต.ท.ประวุธกล่าวด้วยว่า จากการสอบสวนทราบว่า นายธวัชชัยถูกดำเนินคดีหลายคดี มีทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงเชื่อว่าน่าจะหนีคดีมาตั้งแต่ปี 2546 ในช่วงที่ถูกไล่ออกจากราชการ

ทั้งนี้ ตอนแรกมีข่าวว่า ทางญาตินายธวัชชัยไม่ติดใจการเสียชีวิต แต่ภายหลังเริ่มไม่แน่ใจ โดยนายชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายนายธวัชชัย ผู้เสียชีวิต กล่าวหลังเดินทางเข้ารับศพพี่ชายที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจเมื่อวันที่ 31 ส.ค. พร้อมกล่าวว่า ผลการชันสูตรศพของเจ้าหน้าที่นิติเวชวิทยาระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากมีเลือดออกในช่องท้อง ตับแตก เนื่องจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก และขาดอากาศหายใจจากการผูกคอ นายชัยณรงค์กล่าวด้วยว่า ประเด็นการเสียชีวิต ทางญาติไม่ติดใจเอาความ แต่ข้องใจการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้องคุมขังที่ระบุว่า พี่ชายฉีกชายเสื้อของตัวเองมาผูกกับบานพับประตู ซึ่งขัดแย้งกับนายชยพล หวานชะเอม หัวหน้าผู้ควบขคุมผู้ต้องขังดีเอสไอ ที่บอกว่าผู้ตายใช้ถุงเท้าผูกคอตัวเอง ทั้งนี้ ทางญาติจะยังไม่เผาศพนายธวัชชัย จนกว่าจะทราบผลพิสูจน์ที่แน่ชัด

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ทราบผลชันสูตรจากสถาบันนิติเวชวิทยาที่ระบุว่านายธวัชชัยเสียชีวิตจากเลือดออกในช่องท้องและตับแตกจากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจเพื่อไม่ให้ชีพจรหยุดทำงาน ซึ่งถ้าทำผิดวิธี อาจทำให้เกิดการกระแทกและมีเลือดออกในช่องท้องได้ ดีเอสไออยู่ระหว่างสอบถามไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัด พร้อมทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ซึ่งตามระเบียบจะใช้เวลาตรวจสอบ 15 วัน แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ จึงเร่งรัดให้ตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 7-10 วัน

ด้าน พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ กล่าวว่า สถาบันนิติเวชได้เก็บรายละเอียดเนื้อเยื่อในซอกเล็บ เลือด และอื่นๆ ในร่างกายผู้เสียชีวิต เพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน จะทราบผล หากมีการต่อสู้เกิดขึ้นก่อนจะเสียชีวิต สามารถตรวจพิสูจน์ได้เพราะมีหลักฐาน เช่น เนื้อเยื่อและดีเอ็นเอของบุคคลอื่น หรือหากมีสารพิษในร่างกาย ก็สามารถตรวจพิสูจน์จากเลือดได้ และหากญาติต้องการนำผลชันสูตรไปให้หน่วยงานอื่นพิสูจน์ซ้ำ ก็สามารถทำได้

ขณะที่ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ ได้แถลงชี้แจงว่า ทางโรงพยาบาลได้รับแจ้งจากดีเอสไอว่ามีคนเป็นลมหมดสติเมื่อเวลา 01.10 น.วันที่ 30 ส.ค. จึงจัดชุดแพทย์ฉุกเฉินไปช่วยเหลือด่วน โดยไปถึงดีเอสไอในเวลา 01.15 น. พบนายธวัชชัยอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องทำการช่วยฟื้นคืนชีพ(ซีพีอาร์) หรือปั๊มหัวใจทันที จากนั้นรีบนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะในเวลา 01.33 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถกระตุ้นให้หัวใจกลับฟื้นคืนได้ชั่วคราว แต่ไม่พ้นภาวะวิกฤต กระทั่งวิกฤตลงอย่างต่อเนื่อง และเสียชีวิตในเวลาประมาณ 04.45 น.

พล.ต.นพ.เหรียญทองยังกล่าวถึงภาวะตับแตกด้วยว่า ต้องสอบถามทางสถาบันนิติเวชฯ เพราะผลชันสูตรเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้ว่าอาการตับแตกเกิดขึ้นในแบบใด แต่ทางการแพทย์ อาการตับแตกจะไม่ทำให้เสียชีวิตโดยทันที แต่จะเสียชีวิตเมื่อมีเลือดออกจำนวนมากเป็นเวลานาน แต่ยืนยันว่าในการปั๊มหัวใจไม่ส่งกระทบกับตับแน่นอน โดยหลังจากเสียชีวิต มีบันทึกของแพทย์ระบุเฉพาะพบรอยแดงช้ำเป็นแนวยาวบริเวณคอ ส่วนการบอบช้ำภายใน แพทย์ไม่สามารถระบุได้จนกว่าจะมีการผ่าพิสูจน์ศพ ซึ่งต้องส่งตัวชันสูตรที่นิติเวช

ขณะที่ทีมแพทย์ที่ทำการกู้ชีพนายธวัชชัยระบุว่า หลังได้รับแจ้ง ใช้เวลาเดินทางไปดีเอสไอเพียง 10 นาที เมื่อไปถึงก็พบว่า มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.) ดีเอสไอ กำลังปั๊มหัวใจด้วยการกดที่หน้าที่อกของนายธวัชชัยอยู่ ซึ่งทีมแพทย์ไม่ได้สังเกตร่องรอยตามร่างกายของผู้ป่วย เพราะต้องเร่งประเมินความรู้สึกเพื่อให้การช่วยเหลือโดยเร็ว

ด้าน พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปกติไม่ค่อยพบการเสียชีวิตตับแตกจากการปั๊มหัวใจกู้ชีพ หากพบก็น้อยกว่าร้อยละ 0.1

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. พ.ต.ต.จตุพล บงกชมาศ ผบ.สำนักปฏิบัติการพิเศษ ดีเอสไอ ได้เดินทางมาขอรับศพนายธวัชชัย ที่วัดบางหลวง จ.ปทุมธานี โดยนายชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายนายธวัชชัย อนุญาตให้นำศพพี่ชายไปผ่าชันสูตรอีกครั้ง ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ขณะที่นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้ประสานกับญาตินายธวัชชัย เพื่อนำศพไปเก็บรักษาไว้ที่นิติเวช รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากเกรงว่าศพจะเน่าเปื่อย หากต้องชันสูตรศพอีกครั้ง และว่า กระทรวงฯ จะทำหนังสือเชิญแพทย์จาก รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช และแพทย์ รพ.อื่นๆ ของรัฐ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลางในการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของนายธวัชชัย ถ้าทุกฝ่ายตอบรับ จะเร่งดำเนินการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อให้ประชาชนหายเคลือบแคลงใจ

ล่าสุด(3 ก.ย.) พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่หนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยยืนยันว่า ตนไม่ได้ขัดแย้งกับดีเอสไอตามที่มีข่าว เพียงแต่การแถลงของดีเอสไอทำให้ตนต้องตอบคำถามสื่อประเด็นเรื่องตับแตกที่อาจเกิดจากการปั๊มหัวใจ พล.ต.นพ.เหรียญทอง ยังแสดงความเห็นส่วนตัวในฐานะที่เคยเป็นเสนาธิการฝ่ายยุทธการและการข่าวด้วยว่า การเสียชีวิตของนายธวัชชัย น่าจะเป็นการฆาตกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอรู้เห็นเป็นใจร่วมมือกับมือสังหาร แต่ผู้บริหารดีเอสไอไม่รู้เรื่องด้วย โดยการฆาตกรรมนายธวัชชัยก็เพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือของดีเอสไอและผู้บริหาร จึงอยากให้สังคมอย่าเพิ่งด่วนพิพากษาว่าดีเอสไอเป็นผู้ร้ายทางสังคม เพราะจะมีผู้ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ คือผู้ร้ายในคดีสำคัญยิ่ง สำคัญกว่าคดีออกโฉนดมิชอบของอดีตที่ดินพังงา เป็นคดีที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ และคนร้ายในคดีกำลังตกอยู่ในสภาพใกล้จนมุมแล้วจากการดำเนินคดีของดีเอสไอ จะนำไปขยายผลให้นานาชาติไม่ยอมรับดีเอสไอ เพื่อจะได้ใช้เป็นเหตุผลในการขอลี้ภัย

4.อธิบดีอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้สั่งไม่ฟ้อง “พ.ต.ท.บรรยิน” กับพวก คดีโอนหุ้น “ชูวงษ์” 300 ล้าน รอรองอัยการสูงสุดสั่งคดีอีกครั้งจะสั่งฟ้องหรือไม่!

นางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง และนางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ ภรรยาและพี่สาวของนายชูวงษ์ แซ่ตั๋ง ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด (ล่าง) พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ ผู้ต้องหาคดีโอนหุ้นและฆ่านายชูวงษ์
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายเสกสรร เสนาชู ทนายความของ น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล หรือน้ำตาล อดีตพริตตี้สาว ผู้ต้องหาที่ 2 และ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างชื่อดัง มูลค่า 300 ล้านบาท เดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด เพื่อขอทราบคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ที่รับผิดชอบสำนวนคดีดังกล่าว โดย ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายเสกสรรกล่าวว่า ตนได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่าอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ส.ค. จึงเดินทางไปยื่นคำร้องที่สำนักงานอัยการกรุงเทพใต้เพื่อขอทราบคำสั่ง แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการว่าได้ส่งสำนวนมาที่อัยการสูงสุดตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. ซึ่งที่ผ่านมา อัยการเจ้าของสำนวนยังไม่เคยแจ้งให้ผู้ต้องหาไปรับทราบคำสั่งคดี ดังนั้นจึงขอทราบรายละเอียดคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้อัยการสูงสุดส่งสำนวนคดีไปถึง ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทางครอบครัวของนายชูวงษ์ ผู้เสียหาย ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมทั้งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และอัยการสูงสุด ทั้งนี้ ยืนยันว่าลูกความตนได้รับโอนหุ้นมาโดยสุจริต ไม่มีนิติกรรมอำพราง

ด้าน ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าอัยการสูงสุดได้เรียกสำนวนคดีดังกล่าวมาตรวจสอบ แต่ไม่ทราบว่าสำนวนมาถึงหรือยัง โดยอัยการสูงสุดได้มอบให้รองอัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนของอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ หากพิจารณาแล้วมีความเห็นตามนั้นก็ต้องส่งสำนวนไปให้ ผบ.ตร.พิจารณาทำความเห็นมาตามขั้นตอนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ถ้า ผบ.ตร.เห็นแย้งให้ฟ้องคดี ก็จะต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด หรือถ้ารองอัยการสูงสุดมีความเห็นให้ฟ้องก็จะนำตัวผู้ต้องหายื่นฟ้องศาล คดีนี้จึงยังไม่จบขั้นตอน อยู่ระหว่างการกลั่นกรอง และว่า กระบวนการเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่คิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน

ด้านนายประยุทธ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่รองอธิบดีอัยการมีความเห็นแย้งให้ฟ้อง และเมื่อสำนวนส่งมาถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วก็สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งฝ่ายผู้เสียหายก็ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด จึงต้องรอให้รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวพิจารณาและมีความเห็นก่อน “ยืนยันว่า อัยการมีอิสระในการใช้ดุลพินิจ ซึ่งรองอธิบดี และอธิบดีอัยการฯ ยังมีความเห็นต่างกันอยู่”

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(29 ส.ค.) นางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง และนางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ ภรรยาและพี่สาวของนายชูวงษ์ พร้อมด้วยนายอเนก คำชุ่ม ทนายความ ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเช่นกัน แต่เป็นคดีที่ พ.ต.ท.บรรยิน เป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันฆ่านายชูวงษ์ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาภรรยาและพี่สาวเคยมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมคดีโอนหุ้นแล้ว โดยครั้งนี้มี ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รับหนังสือแทน

ด้านนายอเนก คำชุ่ม ทนายความของครอบครัวชูวงษ์ กล่าวว่า มายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสำนวนคดีการตายของนายชูวงษ์ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคดีปลอมเอกสารการโอนหุ้น ครอบครัวผู้เสียหายเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกัน น่าจะมีการกลั่นกรองที่ดี จึงขอให้อัยการสูงสุดกลั่นกรองสำนวนคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวพันคดีโอนหุ้นด้วย

เมื่อถามถึงคดีโอนหุ้นที่เบื้องต้นอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สั่งไม่ฟ้อง นายอเนกกล่าวว่า ทางญาติและครอบครัวเชื่อมั่นสำนวนที่พนักงานสอบสวนทำ แต่ก็ไม่ก้าวล่วงความเห็นของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ครอบครัวยังไม่เห็นคำสั่งทางการจึงยังไม่สบายใจ ขณะที่มูลค่าความสูญเสียมีมากถึง 300 ล้านบาท โดยคดียังมีอีกหลายขั้นตอนซึ่งจะร้องขอความเป็นธรรม ดังนั้นจึงต้องรอดูคำสั่งของอัยการ ถ้าอัยการสั่งฟ้อง ครอบครัวจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม แต่ถ้าสุดท้ายแล้วสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด ทางครอบครัวก็จะใช้สิทธิทางกฎหมายยื่นฟ้องเอง

ด้าน ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย ซึ่งสำนวนคดีฆาตกรรมยังไม่มาถึงอัยการ แต่เมื่อมาถึง ก็จะส่งให้อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ที่จะต้องรับผิดชอบพิจารณาต่อไป

อนึ่ง สำหรับคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นนั้น มีผู้ต้องหา 4 ราย ประกอบด้วย พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ , น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล อดีตพริตตี้, น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล โบรกเกอร์ และ น.ส.ศรีธรา พรหมา มารดาของ น.ส.อุรชา ซึ่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร, ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมการโอนหุ้น

5.อัยการเลื่อนสั่งคดี “ศุภชัย-ธัมมชโย” กับพวกฟอกเงิน-รับของโจร ไปเป็น 6 ต.ค. เหตุสำนวนคดีซับซ้อน-ดีเอสไอยังสอบเพิ่มไม่เสร็จ!

(บน) ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกฯ แถลงเสื่อนสั่งคดีนายศุภชัย-ธัมมชโย กับพวกฟอกเงินและรับของโจร (ล่าง) พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งเป็นกำหนดนัดที่อัยการจะสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานบริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด (มหาชน) และพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กับพวกรวม 5 คนกระทำผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร หลังจากอัยการเคยเลื่อนสั่งคดีมาแล้ว โดยให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สอบเพิ่มในบางประเด็น ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่าอัยการเลื่อนนัดสั่งคดี โดยระบุว่า คดีนี้นายชาติพงษ์ จิรพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานคดีนี้ ได้นัดฟังคำสั่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ สอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น และให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมให้อัยการในวันที่ 11 ส.ค.

แต่เนื่องจากพนักงานอัยการได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจากดีเอสไอไม่ครบถ้วน อีกทั้งเอกสารในสำนวนคดีนี้และเอกสารเพิ่มเติมที่ดีเอสไอส่งให้พนักงานอัยการพิจารณามีจำนวนมาก มีเนื้อหาที่ซับซ้อน ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีผู้เสียหายจำนวนมาก รวมถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนสูง พนักงานอัยการจึงต้องพิจารณาสั่งสำนวนคดีนี้อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงเลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 6 ต.ค.59 เวลา 10.00 น. พร้อมนัดให้ น.ส. ศรัณยา มานหมัด ผู้ต้องหาที่ 3 และนางทองพิน กันล้อม ผู้ต้องหาที่ 4 ซึ่งมอบตัวแล้วและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว มารายงานตัวอีกครั้งในวันนัดสั่งคดีดังกล่าว

เรือโทสมนึกกล่าวด้วยว่า “คดีนี้อัยการสูงสุดได้เร่งรัดและกำชับให้ความสำคัญในระดับต้นๆ ส่วนประเด็นสอบสวนเพิ่มเติมที่ดีเอสไอส่งมาให้อัยการนั้นมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลารวบรวมบางเรื่อง ซึ่งวันที่ 6 ต.ค. ถือเป็นกรอบเวลาที่ดีที่สุด แต่ถ้าในวันดังกล่าวทางคณะทำงานอัยการยังไม่พร้อม เงื่อนเวลาอาจจะเลื่อนไปอีกได้ แต่ไม่มีผลกระทบอะไร เนื่องจากคดีนี้มีอายุความหลายปี”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นที่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมมีอะไรบ้าง นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า เป็นความลับในสำนวน หากเปิดเผยไปจะทำให้เสียรูปคดี และไม่เป็นธรรมกับคู่ความ
กำลังโหลดความคิดเห็น