คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.กรธ.เคาะแล้ว ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ เท่านั้นช่วง 5 ปีแรกหลังเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ด้าน คสช.เตรียมตั้ง สนช.เพิ่ม 30 คน!
ความคืบหน้าหลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะปรับแก้บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติอย่างไร กรณีที่คำถามพ่วงระบุให้รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีภายใน 5 ปีแรกหลังเลือกตั้งได้ โดยมีการเชิญตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อชี้แจงถึงเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงดังกล่าว ซึ่งหลังประชุม นายสมชาย แสวงการ ตัวแทนจาก สนช.ยอมรับว่า สนช.มีแนวคิดว่า ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ได้ด้วย ไม่ใช่แค่โหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น โดยขึ้นอยู่กับการตีความ หากตีความแบบกว้าง ส.ว.ก็สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ตั้งแต่เริ่มต้นประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ ครั้งแรก แต่หากตีความแบบแคบ ก็สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้หลังเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 272 หลังรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีของพรรคการเมืองได้ ซึ่ง สนช.รับได้ ไม่ว่าจะตีความแบบกว้างหรือแคบก็ตาม
ปรากฏว่า ได้เกิดกระแสไม่เห็นด้วยจากฝ่ายนักการเมือง โดยเห็นว่าการเสนอชื่อนายกฯ ต้องเป็นสิทธิของ ส.ส.เท่านั้น ไม่ใช่ ส.ว. ขณะที่ กรธ.ได้ประชุมเพื่อกำหนดความชัดเจนเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 24 ส.ค. หลังประชุม นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.แถลงว่า ที่ประชุมยืนยันตามหลักการเดิมตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ให้ ส.ส.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ ได้เท่านั้น เพราะ ส.ส.เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกมา ดังนั้น ส.ส.จึงต้องมีส่วนสำคัญเลือกคนไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ส่วน ส.ว.จะมีหน้าที่ร่วมลงมติเลือกบุคคลเป็นนายกฯ เท่านั้นในระยะเวลา 5 ปี ตามคำถามพ่วง และว่า เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ จะต้องยืนยันรายชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 88 และ 159 ตามหลักการเดิม แต่หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลได้ตามบัญชีของพรรคการเมือง จะเป็นหน้าที่ของ ส.ส.เท่านั้นที่จะปลดล็อกให้เลือกบุคคลนอกบัญชีรายชื่อนายกฯ ตามมาตรา 272 ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 จาก 500 เสียงขึ้นไป เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาให้เรียกประชุมเพื่อหาเสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่องดเว้นการเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีได้ “ยืนยันว่า ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอกบัญชี กรธ.ยืนยันว่า มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล”
นายอุดม กล่าวอีกว่า การนำบุคคลนอกบัญชีมาเป็นนายกฯ นั้น จะทำได้ครั้งเดียวตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้นหากสภาชุดแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ยุบสภา มาตรา 272 วรรคสอง ก็จะไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป และว่า กรธ.จะนัดประชุมเพื่อปรับถ้อยคำให้เหมาะสมอีกครั้ง ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับที่ กรธ.ปรับแก้ ก็จะทำความเห็นเป็นข้อๆ ส่งกลับมายัง กรธ. และ กรธ.จะปรับแก้ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาส่งกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญดูอีกครั้ง
ส่วนความเคลื่อนไหวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 26 ส.ค. เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิก สนช.จาก 220 คน เป็น 250 คน ตามที่ ครม.และ คสช.เสนอ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน ครม. และ คสช.เข้าชี้แจงความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวน สนช.อีก 30 คน
โดย พล.อ.ประวิตรชี้แจงว่า เจตนารมณ์ของ ครม.และ คสช.คือ เพื่อให้การทำงานของ สนช.เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะหลังจากนี้จะมีกฎหมายที่ สนช.ต้องพิจารณาจำนวนมาก ขณะที่นายวิษณุ ชี้แจงว่า จำนวน สนช.ที่มีอยู่ 220 คนในขณะนี้ อาจไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญ เพราะคาดว่าอีก 1 ปี 4 เดือนจะมีกฎหมายหลั่งไหลเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.โดยเป็นกฎหมายตามนโยบาย 100 ฉบับ และกฎหมายที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ต้องพิจารณาประมาณ 80 ฉบับ มีเนื้อหาสาระและวันเวลาที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องใช้บุคลากรมาก
หลังจากที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สนช.แสดงความเห็นครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรับหลักการการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเพิ่มจำนวน สนช.ดัวยคะแนน 186 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาวาระสอง ก่อนที่ประชุม สนช.จะให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 189 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เผยหลัง สนช.เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มจำนวน สนช.30 คนในวาระ 3 แล้วว่า หลังจากนี้จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าภายในเดือน ก.ย. ขั้นตอนทุกอย่างจะเสร็จสิ้น ซึ่ง คสช.จะเป็นผู้แต่งตั้ง สนช.ใหม่ที่เพิ่มขึ้น 30 คน จากนั้นจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป พร้อมเชื่อว่า คสช.จะตั้งบุคคลที่เหมาะสมกับงานด้านนิติบัญญัติ ไม่ใช่เฉพาะนักกฎหมายอย่างเดียว และว่า แม้จะมีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่รับรองว่าคุ้มค่า นอกจากนี้ส่วนตัวเชื่อว่า ว่าที่ สนช.ใหม่ 30 คน คงไม่ได้มาจากสัดส่วนทหารทั้งหมด
2.ศาลฎีกานักการเมืองพิพากษาจำคุก “หมอเลี้ยบ” อดีต รมว.ไอซีที 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อ “ชินคอร์ป” !
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร, นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์
ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วที่ได้จากการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ครม.มีมติอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้รับสัมปทานดาวเทียม ต่อมาวันที่ 11 ก.ย. 2534 มีการทำสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โดยนายทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริษัท ปัจจุบันบริษัทเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งตามสัญญาข้อ 4 กำหนดให้บริษัทชินคอร์ปจะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่มาดำเนินการตามสัญญาภายใน 12 เดือน และจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 นอกจากนี้ บริษัทชินคอร์ป และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวต้องรับผิดชอบตามสัญญาต่อกระทรวงในลักษณะร่วมกันและแทนกัน ซึ่งภายหลังมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่คือ บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) แล้วมีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 1 เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เข้ามาร่วมรับผิดตามสัญญา โดยมีนายทักษิณ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทเป็นผู้ลงนามในสัญญา
ต่อมาวันที่ 24 ธ.ค. 2546 บริษัทชิน แซทฯ มีหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีขออนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปฯ ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทชิน แซทฯ ให้เหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยอ้างว่าธุรกิจให้บริการช่องดาวเทียมไอพีสตาร์ต้องใช้เงินทุนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องให้พันธมิตรหรือเจ้าของแหล่งทุนเข้ามามีส่วนในการถือหุ้น โดยนายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ศึกษาวิเคราะห์การขอแก้ไขสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ และนายไกรสร จำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดกระทรวงได้เสนอความเห็นว่า การลดสัดส่วนถือหุ้นดังกล่าว บริษัทชินคอร์ปยังคงรับผิดชอบการทำตามสัญญาได้ต่อไปและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดย นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานนั้น โดยไม่ได้เสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ
ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า ข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของบริษัทชินคอร์ปฯ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจรจาระหว่างบริษัทกับคณะกรรมการพิจารณาสัมปทาน จึงเป็นเรื่องของคุณสมบัติและความสามารถของผู้รับสัมปทานที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา และเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นผู้รับสัมปทาน การแก้ไขสัญญาในเรื่องนี้จึงต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.
การที่ นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 อนุมัติให้แก้ไขสัญญาโดยให้บริษัทชิน แซทฯ ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลสัญชาติไทยจาก 51% เหลือ 40% ทำให้เกิดความเสี่ยงในการครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่จะมีผลต่อกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำเสนอต่อ ครม.ตามขั้นตอน แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ส่งหนังสือหารือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายชัยเกษม นิติศิริ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนอัยการสูงสุด ตอบกลับในครั้งแรก โดยตั้งข้อสังเกตว่าให้นำเรื่องการแก้ไขสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เมื่อเลขาธิการ ครม.ปฏิเสธไม่รับเรื่อง โดยเสนอให้จำเลยที่ 1 ถอนเรื่อง แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือหารือมาทางสำนักงานการอัยการสูงสุดอีกครั้งว่าในฐานะหัวหน้าหน่วยราชการมีอำนาจอนุมัติแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดตอบกลับว่ามีอำนาจ แต่เป็นการตอบกลับโดยไม่ทราบเบื้องหลังว่าจำเลยที่ 1 ปกปิดความจริงที่เลขาธิการ ครม. แจ้งทางโทรศัพท์ปฏิเสธการรับเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นคู่สัญญากับบริษัทเอกชน ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน
อีกทั้งการอนุมัติแก้ไขสัญญาไม่ได้ทำให้ราชการได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับได้รับความเสี่ยง ซึ่งการแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นทำให้บริษัทเอกชนได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เพราะกรณีดังกล่าวก็สืบเนื่องจากข้อเสนอเพิ่มเติมจากบริษัทเอกชน การกระทำนั้นยังเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ป ในฐานะผู้รับสัมปทานโดยตรง ที่จะต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเด็ดขาด ซึ่งการลดสัดส่วนอาจทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีอยู่ 60% รวมตัวกันคัดค้านการดำเนินการใดๆ ของบริษัทได้ แม้จะมีโอกาสน้อยแต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนก็จะไม่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นเลย
ส่วนนายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แผนและนโยบาย ของสำนักอวกาศแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงไอซีทีให้ศึกษาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียก่อน โดยการศึกษาของจำเลยที่ 3 เป็นการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย ไม่ได้วิเคราะห์ตรวจสอบข้อพิรุธ และความจำเป็นที่บริษัทชินคอร์ปฯ ต้องลดสัดส่วนผู้ถือหุ้น รวมทั้งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทพันธมิตรที่บริษัทชินคอร์ปฯ เคยอ้างเรื่องการลงทุน และไม่วิเคราะห์ว่ากระทรวงไอซีทีจะได้รับผลกระทบจากการแก้ไขสัญญาอย่างไร เชื่อว่ามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พันธมิตรหรือผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อมีการเสนอเรื่องไปยังนายไกรสร จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่ลงนามรับทราบ โดยไม่สั่งให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนตามที่ปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งไว้ ทั้งที่จำเลยทั้งสองเคยปฏิบัติหน้าที่ด้านการสื่อสาร กระทรวงคมนาคม และกรมไปรษณีย์โทรเลข ย่อมทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามไม่มีประเด็นใดฟังขึ้น
ศาลจึงเห็นว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยองค์คณะทั้ง 9 คนมีมติเอกฉันท์พิพากษาจำคุก นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนนายไกรสร และนายไชยยันต์ จำเลยที่ 2-3 องค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 2 หมื่นบาท โดยพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจในการอนุมัติแก้ไขสัญญาดังกล่าว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้คนละ 5 ปี
ทั้งนี้ หลังศาลอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว นพ.สุรพงษ์ ขึ้นรถตู้เพื่อไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาของศาล
3.“พล.อ.ประยุทธ์” ใช้อำนาจ ม.44 สั่งพักงาน “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์-นพ.เปรมศักดิ์” แล้ว หลังถูกตรวจสอบทุจริต-ประพฤติมิชอบ!
หลังจากสังคมจับตาว่า เมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กรณีถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบพบว่าทุจริตโครงการไฟประดับ กทม.มูลค่ากว่า 39 ล้านบาท รวมถึงกรณี นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อําเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่คุกคามและสั่งผู้สื่อข่าวถอดกางเกง หลังจากไม่พอใจที่สื่อมวลชนเสนอภาพข่าว นพ.เปรมศักดิ์ แต่งงานกับนักเรียน ม.5
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เปิดเผยคําสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 โดยระบุว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางรายซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีมีเรื่องเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือมีพฤติกรรมซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ แม้ผลการตรวจสอบหรือการสอบข้อเท็จจริงในขณะนี้ยังไม่อาจสรุปความผิดได้ แต่ถือว่าเป็นเรื่องสําคัญอยู่ในความสนใจของประชาชน และมีการดําเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งหัวหน้า คสช.เคยมีคําสั่งให้ใช้มาตรการชั่วคราวในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจง พิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างโปร่งใส ไม่เป็นที่ครหา และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและประชาชน ตลอดจนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช.จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้
2. ให้นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อําเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในเทศบาลเมืองบ้านไผ่เป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้
3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งดําเนินการตรวจสอบ หรือสอบข้อเท็จจริงบุคคลดังกล่าวอยู่ ยังคงดําเนินการต่อไป ในกรณีพบว่าไม่มีการกระทําความผิดหรือมีการกระทําความผิดหรือมีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้อื่นเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดนั้นด้วย ให้หน่วยงานที่ตรวจสอบ รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือมีคําสั่งเพิ่มเติมต่อไป และว่า การรักษาการแทนผู้ว่าฯ กทม. และนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น และว่า คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 25 ส.ค.2559
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ใข้มาตรา 44 พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ว่า เพราะมีเรื่องทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) จึงต้องทำเหมือนกรณีอื่นๆ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นมาตรฐาน ซึ่งก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนก็ถามว่าทำไมตนไม่ทำคดีนี้ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า การใช้มาตรา 44 พักงาน เพื่อให้บุคคลนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ยังไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นทุจริต หากไม่ได้ทำผิด ก็สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ แต่จะทำหน้าที่ไหน ก็แล้วแต่ความเหมาะสม
4.ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำคุก 2 ปี รอลงอาญา 3 ปี "อมเรศ-วิชรัตน์" อดีตประธาน-เลขาฯ ปรส. ประมูลขายสินทรัพย์หนี้เน่าปี ’41 มิชอบ!
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 83 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) , นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส. , บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด โดยนายชาร์ล เจสัน รูบิน ผู้รับประโยชน์ , บริษัท เลแมน บาเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายชาร์ล เจสัน รูบิน ที่ปรึกษา ปรส. , กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ผู้รับโอนสิทธิจากการประมูลสินทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ผู้จัดตั้งกองทุนรวมโกลบอลไทย ฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2551 ว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.-1 ต.ค. 2541 นายอมเรศ จำเลยที่ 1 ในฐานะประธาน ปรส. มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ ปรส.รวมทั้งกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์เน่า) ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้จัดตั้ง ปรส.ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงิน ฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงิน ส่วนนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดำเนินกิจการของ ปรส.ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่องค์การกำหนด โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2541 คณะกรรมการ ปรส. มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 2 แล้ววันที่ 3 ก.ค.2541 ปรส. และบริษัท เลแมน บราเดอร์ส ฯ จำเลยที่ 3 ได้ออกข้อกำหนดนโยบาย และขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ พร้อมกำหนดวันประมูลในวันที่ 30 ก.ค.2541 และปิดการจำหน่ายในวันที่ 1 ก.ย.2541
แต่ต่อมา ปรส. มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2541 ให้เลื่อนการประมูลจากวันที่ 30 ก.ค. ไปเป็นวันที่ 13 ส.ค. แทน โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2541 ปรส.และบริษัทจำเลยที่ 3 ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการ โดยให้ผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคา โดยให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนผู้ซื้อได้หากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งได้ภายในวันปิดการจำหน่าย แล้วบริษัทจำเลยที่ 3 ยื่นแบบฟอร์มขอเสนอราคาซื้อในนามของตนเอง เข้าประมูลร่วมกับผู้ประมูลรายอื่นอีก 3 ราย โดยเสนอราคาที่ 11,520 ล้านบาทพร้อมวางหลักประกันเป็นเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด ปรส.จึงมีมติให้จำเลยที่ 3 ต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 7 วันนับจากวันที่ 20 ส.ค.2541 และต้องชำระเงินงวดแรก 20% ของราคาเสนอซื้อที่ชนะการประมูลเป็นเงิน 2,304 ล้านบาท แต่เมื่อถึงวันครบกำหนด จำเลยที่ 3 กลับไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายและไม่ชำระเงินงวดแรกแต่อย่างใด
กระทั่งวันที่ 11 ก.ย.2541 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น แจ้งว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใส มีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ โดยบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกับของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ปรส. และจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กลับให้ ปรส.เข้าทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทจำเลยที่ 5 ในวันที่ 1 ต.ค.2541 ทั้งที่จำเลยที่ 5 ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่วมประมูลและไม่ได้รับอนุมัติให้ชนะประมูลทั้งในนามตนเองและผู้อื่น และการกระทำของจำเลยที่ 1-4 กับพวก ยังเป็นการดำเนินการให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร เข้าทำสัญญาซื้อขายเพื่อประโยชน์ทางภาษีอากร ขณะที่จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี โดยเฉพาะจำเลยที่ 1-2 อ้างว่า ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2555 ให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท แต่จำเลยเคยทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประกอบกับเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสอง กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนภายในกำหนด 1 ปี พร้อมทั้งให้ทำกิจกรรมบริการสังคมตามสมควรอีก 24 ชั่วโมง ส่วนบริษัทจำเลยที่ 3-6 ยกฟ้อง ต่อมานายอมเรศ และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2557 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ภายหลังอัยการโจทก์ ยื่นฎีกาเฉพาะในส่วนของนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำที่จำเลยที่ 1-2 รับบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เข้าร่วมประมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แล้วให้บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชนะประมูล ทำให้ ปรส.ได้รับชำระราคาน้อยลงและรัฐบาลไทยเสียหาย เพราะต้องรับผิดชอบในส่วนต่าง อีกทั้งทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ได้เปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่นอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำคุก 2 ปีและปรับ 20,000 บาท โดยรอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ซึ่งแม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีมูลค่าสูง แต่ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษหนักขึ้นได้ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หลังฟังคำพิพากษา นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธาน ปรส.จำเลยที่ 1 กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนทำงานเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีและ ปรส. หลังจากนี้ตนจะกลับไปบอกลูกหลานว่าจะไม่ให้ทำงานเพื่อส่วนรวมอีก หรือถ้าคิดจะทำอะไรให้ส่วนรวมก็ต้องคิดให้ดีๆ และจะต้องทำงานเพื่อตัวเองก่อน เพราะทำให้ส่วนรวมแล้วถูกลงโทษ คิดว่ามันคุ้มหรือไม่
นายอมเรศ กล่าวอีกว่า หากทุกคนเข้าใจการค้า ต้องรู้อยู่แล้ว ซึ่งประเด็นที่บอกว่าตนทำผิด คือไม่ยกเลิกการประมูลหรือปล่อยให้คนไม่มีสิทธิเข้าไปประมูล ตนจึงตั้งคำถามว่า ถ้าคนของ ปรส.ไม่เข้าใจ แล้วจะมีใครที่เข้าใจได้อีก และตอนที่ธนาคารปิดไปแล้ว อยากให้ไปถามว่าธนาคารได้เงินคืนไปเท่าใด
5.ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง “สนธิ” คดีจัดรายการ-เปิดเทปปราศรัยกล่าวหา “ทักษิณ” จาบจ้วงสถาบัน ด้าน “สโรชา” จำคุก 6 เดือน รอลงอาญา 2 ปี!
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ คุปติมนัส โดยนายสรรพวิชช์ คงคาน้อย ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นางสโรชา พรอุดมศักดิ์ อดีตผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
จากกรณีเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550 นางสโรชา จำเลยที่ 2 นำเทปการปราศรัยของนายสนธิ จำเลยที่ 1 ที่บันทึกในประเทศสหรัฐฯ มาออกอากาศในรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และ นสพ.ผู้จัดการรายวันของจำเลยที่ 3 นำข้อความมาตีพิมพ์ ทำนองว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของนายทักษิณ บอกกับนายสนธิ ถึงสาเหตุที่ต้องออกจากรัฐบาล เนื่องจากตลอด 8 ชั่วโมง หลังการยึดอำนาจหรือการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 นายทักษิณ ได้พูดจาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งคดีนี้มีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ยกฟ้อง ขณะที่จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2555 ว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน แนวหน้า ข่าวสด เดอะ เนชั่น ไทยโพสต์ เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จากพฤติการณ์ของโจทก์ มีเหตุเพียงพอที่จะทำให้พสกนิกรชาวไทย ที่มีความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจาบจ้วงสถาบัน ต้องการทำตัวเหนือองคมนตรี ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองด้วย
ด้านศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมจัดรายการกับจำเลยที่ 2 และคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เป็นการปราศรัยที่ประเทศสหรัฐฯ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นในการจัดรายการกับจำเลยที่ 2 ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ แต่การบันทึกเทปดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้อง ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้ไม่รับฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
หลังฟังคำพิพากษาฎีกา นายสนธิให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า ตนไม่ได้สนใจที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าจะมาจากไหน จะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาแล้ว จะต้องทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือกลุ่มทุนใหญ่ครอบงำอยู่เหนืออำนาจทางการเมือง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและถูกเอารัดเอาเปรียบ
1.กรธ.เคาะแล้ว ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ เท่านั้นช่วง 5 ปีแรกหลังเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ด้าน คสช.เตรียมตั้ง สนช.เพิ่ม 30 คน!
ความคืบหน้าหลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะปรับแก้บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติอย่างไร กรณีที่คำถามพ่วงระบุให้รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีภายใน 5 ปีแรกหลังเลือกตั้งได้ โดยมีการเชิญตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อชี้แจงถึงเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงดังกล่าว ซึ่งหลังประชุม นายสมชาย แสวงการ ตัวแทนจาก สนช.ยอมรับว่า สนช.มีแนวคิดว่า ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ได้ด้วย ไม่ใช่แค่โหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น โดยขึ้นอยู่กับการตีความ หากตีความแบบกว้าง ส.ว.ก็สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ตั้งแต่เริ่มต้นประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ ครั้งแรก แต่หากตีความแบบแคบ ก็สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้หลังเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 272 หลังรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีของพรรคการเมืองได้ ซึ่ง สนช.รับได้ ไม่ว่าจะตีความแบบกว้างหรือแคบก็ตาม
ปรากฏว่า ได้เกิดกระแสไม่เห็นด้วยจากฝ่ายนักการเมือง โดยเห็นว่าการเสนอชื่อนายกฯ ต้องเป็นสิทธิของ ส.ส.เท่านั้น ไม่ใช่ ส.ว. ขณะที่ กรธ.ได้ประชุมเพื่อกำหนดความชัดเจนเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 24 ส.ค. หลังประชุม นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.แถลงว่า ที่ประชุมยืนยันตามหลักการเดิมตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ให้ ส.ส.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ ได้เท่านั้น เพราะ ส.ส.เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกมา ดังนั้น ส.ส.จึงต้องมีส่วนสำคัญเลือกคนไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ส่วน ส.ว.จะมีหน้าที่ร่วมลงมติเลือกบุคคลเป็นนายกฯ เท่านั้นในระยะเวลา 5 ปี ตามคำถามพ่วง และว่า เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ จะต้องยืนยันรายชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 88 และ 159 ตามหลักการเดิม แต่หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลได้ตามบัญชีของพรรคการเมือง จะเป็นหน้าที่ของ ส.ส.เท่านั้นที่จะปลดล็อกให้เลือกบุคคลนอกบัญชีรายชื่อนายกฯ ตามมาตรา 272 ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 จาก 500 เสียงขึ้นไป เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาให้เรียกประชุมเพื่อหาเสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่องดเว้นการเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีได้ “ยืนยันว่า ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอกบัญชี กรธ.ยืนยันว่า มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล”
นายอุดม กล่าวอีกว่า การนำบุคคลนอกบัญชีมาเป็นนายกฯ นั้น จะทำได้ครั้งเดียวตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้นหากสภาชุดแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ยุบสภา มาตรา 272 วรรคสอง ก็จะไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป และว่า กรธ.จะนัดประชุมเพื่อปรับถ้อยคำให้เหมาะสมอีกครั้ง ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับที่ กรธ.ปรับแก้ ก็จะทำความเห็นเป็นข้อๆ ส่งกลับมายัง กรธ. และ กรธ.จะปรับแก้ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาส่งกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญดูอีกครั้ง
ส่วนความเคลื่อนไหวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 26 ส.ค. เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิก สนช.จาก 220 คน เป็น 250 คน ตามที่ ครม.และ คสช.เสนอ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน ครม. และ คสช.เข้าชี้แจงความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวน สนช.อีก 30 คน
โดย พล.อ.ประวิตรชี้แจงว่า เจตนารมณ์ของ ครม.และ คสช.คือ เพื่อให้การทำงานของ สนช.เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะหลังจากนี้จะมีกฎหมายที่ สนช.ต้องพิจารณาจำนวนมาก ขณะที่นายวิษณุ ชี้แจงว่า จำนวน สนช.ที่มีอยู่ 220 คนในขณะนี้ อาจไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญ เพราะคาดว่าอีก 1 ปี 4 เดือนจะมีกฎหมายหลั่งไหลเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.โดยเป็นกฎหมายตามนโยบาย 100 ฉบับ และกฎหมายที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ต้องพิจารณาประมาณ 80 ฉบับ มีเนื้อหาสาระและวันเวลาที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องใช้บุคลากรมาก
หลังจากที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สนช.แสดงความเห็นครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรับหลักการการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเพิ่มจำนวน สนช.ดัวยคะแนน 186 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาวาระสอง ก่อนที่ประชุม สนช.จะให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 189 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เผยหลัง สนช.เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มจำนวน สนช.30 คนในวาระ 3 แล้วว่า หลังจากนี้จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าภายในเดือน ก.ย. ขั้นตอนทุกอย่างจะเสร็จสิ้น ซึ่ง คสช.จะเป็นผู้แต่งตั้ง สนช.ใหม่ที่เพิ่มขึ้น 30 คน จากนั้นจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป พร้อมเชื่อว่า คสช.จะตั้งบุคคลที่เหมาะสมกับงานด้านนิติบัญญัติ ไม่ใช่เฉพาะนักกฎหมายอย่างเดียว และว่า แม้จะมีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่รับรองว่าคุ้มค่า นอกจากนี้ส่วนตัวเชื่อว่า ว่าที่ สนช.ใหม่ 30 คน คงไม่ได้มาจากสัดส่วนทหารทั้งหมด
2.ศาลฎีกานักการเมืองพิพากษาจำคุก “หมอเลี้ยบ” อดีต รมว.ไอซีที 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อ “ชินคอร์ป” !
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร, นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์
ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วที่ได้จากการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ครม.มีมติอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้รับสัมปทานดาวเทียม ต่อมาวันที่ 11 ก.ย. 2534 มีการทำสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โดยนายทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริษัท ปัจจุบันบริษัทเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งตามสัญญาข้อ 4 กำหนดให้บริษัทชินคอร์ปจะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่มาดำเนินการตามสัญญาภายใน 12 เดือน และจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 นอกจากนี้ บริษัทชินคอร์ป และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวต้องรับผิดชอบตามสัญญาต่อกระทรวงในลักษณะร่วมกันและแทนกัน ซึ่งภายหลังมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่คือ บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) แล้วมีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 1 เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เข้ามาร่วมรับผิดตามสัญญา โดยมีนายทักษิณ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทเป็นผู้ลงนามในสัญญา
ต่อมาวันที่ 24 ธ.ค. 2546 บริษัทชิน แซทฯ มีหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีขออนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปฯ ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทชิน แซทฯ ให้เหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยอ้างว่าธุรกิจให้บริการช่องดาวเทียมไอพีสตาร์ต้องใช้เงินทุนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องให้พันธมิตรหรือเจ้าของแหล่งทุนเข้ามามีส่วนในการถือหุ้น โดยนายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ศึกษาวิเคราะห์การขอแก้ไขสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ และนายไกรสร จำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดกระทรวงได้เสนอความเห็นว่า การลดสัดส่วนถือหุ้นดังกล่าว บริษัทชินคอร์ปยังคงรับผิดชอบการทำตามสัญญาได้ต่อไปและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดย นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานนั้น โดยไม่ได้เสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ
ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า ข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของบริษัทชินคอร์ปฯ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจรจาระหว่างบริษัทกับคณะกรรมการพิจารณาสัมปทาน จึงเป็นเรื่องของคุณสมบัติและความสามารถของผู้รับสัมปทานที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา และเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นผู้รับสัมปทาน การแก้ไขสัญญาในเรื่องนี้จึงต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.
การที่ นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 อนุมัติให้แก้ไขสัญญาโดยให้บริษัทชิน แซทฯ ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลสัญชาติไทยจาก 51% เหลือ 40% ทำให้เกิดความเสี่ยงในการครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่จะมีผลต่อกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำเสนอต่อ ครม.ตามขั้นตอน แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ส่งหนังสือหารือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายชัยเกษม นิติศิริ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนอัยการสูงสุด ตอบกลับในครั้งแรก โดยตั้งข้อสังเกตว่าให้นำเรื่องการแก้ไขสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เมื่อเลขาธิการ ครม.ปฏิเสธไม่รับเรื่อง โดยเสนอให้จำเลยที่ 1 ถอนเรื่อง แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือหารือมาทางสำนักงานการอัยการสูงสุดอีกครั้งว่าในฐานะหัวหน้าหน่วยราชการมีอำนาจอนุมัติแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดตอบกลับว่ามีอำนาจ แต่เป็นการตอบกลับโดยไม่ทราบเบื้องหลังว่าจำเลยที่ 1 ปกปิดความจริงที่เลขาธิการ ครม. แจ้งทางโทรศัพท์ปฏิเสธการรับเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นคู่สัญญากับบริษัทเอกชน ทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน
อีกทั้งการอนุมัติแก้ไขสัญญาไม่ได้ทำให้ราชการได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับได้รับความเสี่ยง ซึ่งการแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นทำให้บริษัทเอกชนได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เพราะกรณีดังกล่าวก็สืบเนื่องจากข้อเสนอเพิ่มเติมจากบริษัทเอกชน การกระทำนั้นยังเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ป ในฐานะผู้รับสัมปทานโดยตรง ที่จะต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเด็ดขาด ซึ่งการลดสัดส่วนอาจทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีอยู่ 60% รวมตัวกันคัดค้านการดำเนินการใดๆ ของบริษัทได้ แม้จะมีโอกาสน้อยแต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนก็จะไม่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นเลย
ส่วนนายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แผนและนโยบาย ของสำนักอวกาศแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงไอซีทีให้ศึกษาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียก่อน โดยการศึกษาของจำเลยที่ 3 เป็นการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย ไม่ได้วิเคราะห์ตรวจสอบข้อพิรุธ และความจำเป็นที่บริษัทชินคอร์ปฯ ต้องลดสัดส่วนผู้ถือหุ้น รวมทั้งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทพันธมิตรที่บริษัทชินคอร์ปฯ เคยอ้างเรื่องการลงทุน และไม่วิเคราะห์ว่ากระทรวงไอซีทีจะได้รับผลกระทบจากการแก้ไขสัญญาอย่างไร เชื่อว่ามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พันธมิตรหรือผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อมีการเสนอเรื่องไปยังนายไกรสร จำเลยที่ 2 ก็เพียงแต่ลงนามรับทราบ โดยไม่สั่งให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนตามที่ปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งไว้ ทั้งที่จำเลยทั้งสองเคยปฏิบัติหน้าที่ด้านการสื่อสาร กระทรวงคมนาคม และกรมไปรษณีย์โทรเลข ย่อมทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามไม่มีประเด็นใดฟังขึ้น
ศาลจึงเห็นว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยองค์คณะทั้ง 9 คนมีมติเอกฉันท์พิพากษาจำคุก นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนนายไกรสร และนายไชยยันต์ จำเลยที่ 2-3 องค์คณะมีมติเสียงข้างมากให้จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 2 หมื่นบาท โดยพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจในการอนุมัติแก้ไขสัญญาดังกล่าว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้คนละ 5 ปี
ทั้งนี้ หลังศาลอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว นพ.สุรพงษ์ ขึ้นรถตู้เพื่อไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาของศาล
3.“พล.อ.ประยุทธ์” ใช้อำนาจ ม.44 สั่งพักงาน “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์-นพ.เปรมศักดิ์” แล้ว หลังถูกตรวจสอบทุจริต-ประพฤติมิชอบ!
หลังจากสังคมจับตาว่า เมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กรณีถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบพบว่าทุจริตโครงการไฟประดับ กทม.มูลค่ากว่า 39 ล้านบาท รวมถึงกรณี นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อําเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่คุกคามและสั่งผู้สื่อข่าวถอดกางเกง หลังจากไม่พอใจที่สื่อมวลชนเสนอภาพข่าว นพ.เปรมศักดิ์ แต่งงานกับนักเรียน ม.5
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เปิดเผยคําสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 โดยระบุว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางรายซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีมีเรื่องเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือมีพฤติกรรมซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ แม้ผลการตรวจสอบหรือการสอบข้อเท็จจริงในขณะนี้ยังไม่อาจสรุปความผิดได้ แต่ถือว่าเป็นเรื่องสําคัญอยู่ในความสนใจของประชาชน และมีการดําเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งหัวหน้า คสช.เคยมีคําสั่งให้ใช้มาตรการชั่วคราวในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจง พิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างโปร่งใส ไม่เป็นที่ครหา และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและประชาชน ตลอดจนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช.จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้
2. ให้นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อําเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในเทศบาลเมืองบ้านไผ่เป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้
3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งดําเนินการตรวจสอบ หรือสอบข้อเท็จจริงบุคคลดังกล่าวอยู่ ยังคงดําเนินการต่อไป ในกรณีพบว่าไม่มีการกระทําความผิดหรือมีการกระทําความผิดหรือมีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้อื่นเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดนั้นด้วย ให้หน่วยงานที่ตรวจสอบ รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือมีคําสั่งเพิ่มเติมต่อไป และว่า การรักษาการแทนผู้ว่าฯ กทม. และนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น และว่า คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 25 ส.ค.2559
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ใข้มาตรา 44 พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ว่า เพราะมีเรื่องทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) จึงต้องทำเหมือนกรณีอื่นๆ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นมาตรฐาน ซึ่งก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนก็ถามว่าทำไมตนไม่ทำคดีนี้ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า การใช้มาตรา 44 พักงาน เพื่อให้บุคคลนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ยังไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นทุจริต หากไม่ได้ทำผิด ก็สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ แต่จะทำหน้าที่ไหน ก็แล้วแต่ความเหมาะสม
4.ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำคุก 2 ปี รอลงอาญา 3 ปี "อมเรศ-วิชรัตน์" อดีตประธาน-เลขาฯ ปรส. ประมูลขายสินทรัพย์หนี้เน่าปี ’41 มิชอบ!
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 83 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) , นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส. , บริษัท เลแมน บาเดอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ จำกัด โดยนายชาร์ล เจสัน รูบิน ผู้รับประโยชน์ , บริษัท เลแมน บาเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายชาร์ล เจสัน รูบิน ที่ปรึกษา ปรส. , กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ ผู้รับโอนสิทธิจากการประมูลสินทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ผู้จัดตั้งกองทุนรวมโกลบอลไทย ฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2551 ว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.-1 ต.ค. 2541 นายอมเรศ จำเลยที่ 1 ในฐานะประธาน ปรส. มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ ปรส.รวมทั้งกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์เน่า) ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้จัดตั้ง ปรส.ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงิน ฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงิน ส่วนนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดำเนินกิจการของ ปรส.ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่องค์การกำหนด โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2541 คณะกรรมการ ปรส. มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย ครั้งที่ 2 แล้ววันที่ 3 ก.ค.2541 ปรส. และบริษัท เลแมน บราเดอร์ส ฯ จำเลยที่ 3 ได้ออกข้อกำหนดนโยบาย และขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ พร้อมกำหนดวันประมูลในวันที่ 30 ก.ค.2541 และปิดการจำหน่ายในวันที่ 1 ก.ย.2541
แต่ต่อมา ปรส. มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2541 ให้เลื่อนการประมูลจากวันที่ 30 ก.ค. ไปเป็นวันที่ 13 ส.ค. แทน โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2541 ปรส.และบริษัทจำเลยที่ 3 ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการ โดยให้ผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคา โดยให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนผู้ซื้อได้หากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งได้ภายในวันปิดการจำหน่าย แล้วบริษัทจำเลยที่ 3 ยื่นแบบฟอร์มขอเสนอราคาซื้อในนามของตนเอง เข้าประมูลร่วมกับผู้ประมูลรายอื่นอีก 3 ราย โดยเสนอราคาที่ 11,520 ล้านบาทพร้อมวางหลักประกันเป็นเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด ปรส.จึงมีมติให้จำเลยที่ 3 ต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 7 วันนับจากวันที่ 20 ส.ค.2541 และต้องชำระเงินงวดแรก 20% ของราคาเสนอซื้อที่ชนะการประมูลเป็นเงิน 2,304 ล้านบาท แต่เมื่อถึงวันครบกำหนด จำเลยที่ 3 กลับไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายและไม่ชำระเงินงวดแรกแต่อย่างใด
กระทั่งวันที่ 11 ก.ย.2541 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น แจ้งว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใส มีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ โดยบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกับของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ปรส. และจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กลับให้ ปรส.เข้าทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทจำเลยที่ 5 ในวันที่ 1 ต.ค.2541 ทั้งที่จำเลยที่ 5 ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่วมประมูลและไม่ได้รับอนุมัติให้ชนะประมูลทั้งในนามตนเองและผู้อื่น และการกระทำของจำเลยที่ 1-4 กับพวก ยังเป็นการดำเนินการให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร เข้าทำสัญญาซื้อขายเพื่อประโยชน์ทางภาษีอากร ขณะที่จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี โดยเฉพาะจำเลยที่ 1-2 อ้างว่า ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2555 ให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท แต่จำเลยเคยทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประกอบกับเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสอง กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนภายในกำหนด 1 ปี พร้อมทั้งให้ทำกิจกรรมบริการสังคมตามสมควรอีก 24 ชั่วโมง ส่วนบริษัทจำเลยที่ 3-6 ยกฟ้อง ต่อมานายอมเรศ และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2557 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ภายหลังอัยการโจทก์ ยื่นฎีกาเฉพาะในส่วนของนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำที่จำเลยที่ 1-2 รับบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เข้าร่วมประมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แล้วให้บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชนะประมูล ทำให้ ปรส.ได้รับชำระราคาน้อยลงและรัฐบาลไทยเสียหาย เพราะต้องรับผิดชอบในส่วนต่าง อีกทั้งทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ได้เปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่นอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำคุก 2 ปีและปรับ 20,000 บาท โดยรอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ซึ่งแม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีมูลค่าสูง แต่ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษหนักขึ้นได้ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หลังฟังคำพิพากษา นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธาน ปรส.จำเลยที่ 1 กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนทำงานเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีและ ปรส. หลังจากนี้ตนจะกลับไปบอกลูกหลานว่าจะไม่ให้ทำงานเพื่อส่วนรวมอีก หรือถ้าคิดจะทำอะไรให้ส่วนรวมก็ต้องคิดให้ดีๆ และจะต้องทำงานเพื่อตัวเองก่อน เพราะทำให้ส่วนรวมแล้วถูกลงโทษ คิดว่ามันคุ้มหรือไม่
นายอมเรศ กล่าวอีกว่า หากทุกคนเข้าใจการค้า ต้องรู้อยู่แล้ว ซึ่งประเด็นที่บอกว่าตนทำผิด คือไม่ยกเลิกการประมูลหรือปล่อยให้คนไม่มีสิทธิเข้าไปประมูล ตนจึงตั้งคำถามว่า ถ้าคนของ ปรส.ไม่เข้าใจ แล้วจะมีใครที่เข้าใจได้อีก และตอนที่ธนาคารปิดไปแล้ว อยากให้ไปถามว่าธนาคารได้เงินคืนไปเท่าใด
5.ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง “สนธิ” คดีจัดรายการ-เปิดเทปปราศรัยกล่าวหา “ทักษิณ” จาบจ้วงสถาบัน ด้าน “สโรชา” จำคุก 6 เดือน รอลงอาญา 2 ปี!
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ คุปติมนัส โดยนายสรรพวิชช์ คงคาน้อย ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นางสโรชา พรอุดมศักดิ์ อดีตผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
จากกรณีเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550 นางสโรชา จำเลยที่ 2 นำเทปการปราศรัยของนายสนธิ จำเลยที่ 1 ที่บันทึกในประเทศสหรัฐฯ มาออกอากาศในรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และ นสพ.ผู้จัดการรายวันของจำเลยที่ 3 นำข้อความมาตีพิมพ์ ทำนองว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของนายทักษิณ บอกกับนายสนธิ ถึงสาเหตุที่ต้องออกจากรัฐบาล เนื่องจากตลอด 8 ชั่วโมง หลังการยึดอำนาจหรือการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 นายทักษิณ ได้พูดจาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งคดีนี้มีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ยกฟ้อง ขณะที่จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2555 ว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน แนวหน้า ข่าวสด เดอะ เนชั่น ไทยโพสต์ เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จากพฤติการณ์ของโจทก์ มีเหตุเพียงพอที่จะทำให้พสกนิกรชาวไทย ที่มีความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจาบจ้วงสถาบัน ต้องการทำตัวเหนือองคมนตรี ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองด้วย
ด้านศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมจัดรายการกับจำเลยที่ 2 และคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เป็นการปราศรัยที่ประเทศสหรัฐฯ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นในการจัดรายการกับจำเลยที่ 2 ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ แต่การบันทึกเทปดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้อง ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้ไม่รับฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
หลังฟังคำพิพากษาฎีกา นายสนธิให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า ตนไม่ได้สนใจที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าจะมาจากไหน จะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาแล้ว จะต้องทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือกลุ่มทุนใหญ่ครอบงำอยู่เหนืออำนาจทางการเมือง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและถูกเอารัดเอาเปรียบ