xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาพิพากษายกฎีกา “สนธิ” ไม่หมิ่น “แม้ว” เปิดเทปคำปราศรัยกล่าวหาจาบจ้วงเบื้องสูงปี 50 คุก 6 เดือน “สโรชา” รอลงอาญา 2 ปี (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ยกฎีกา “สนธิ ลิ้มทองกุล” กรณีรายการยามเฝ้าแผ่นดิน เปิดคำปราศรัยพาดพิง “แม้ว” พูดจาจาบจ้วงเบื้องสูง เนื่องจากปราศรัยก่อนวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง ส่วน “สโรชา พรอุดมศักดิ์” นำเทปคำปราศรัยที่มีเนื้อหาบางส่วนหมิ่นประมาทมาเผยแพร่ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกรอลงอาญาไว้ 2 ปี



วันนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 901 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.3323/2550 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ คุปติมนัส โดยนายสรรพวิชช์ คงคาน้อย ผู้รับมอบอำนาจช่วง เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นางสโรชา พรอุดมศักดิ์ อดีตผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

กรณีเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2550 นางสโรชา จำเลยที่ 2 นำเทปการปราศรัยของนายสนธิ จำเลยที่ 1 ที่บันทึกในประเทศสหรัฐฯ มาออกอากาศในรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และนสพ.ผู้จัดการรายวัน ของจำเลยที่ 3 นำข้อความมาตีพิมพ์ทำนองว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกกับนายสนธิถึงสาเหตุที่ต้องออกจากรัฐบาลเนื่องจากตลอด 8 ชั่วโมงหลังการยึดอำนาจรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณได้พูดจาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง คดีนี้มีมูลเฉพาะ จำเลยที่ 1 และ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ยกฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2555 เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน แนวหน้า ข่าวสด เดอะเนชั่น ไทยโพสต์ เป็นเวลา 7 วัน จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จากพฤติการณ์ของโจทก์มีเหตุเพียงพอที่จะทำให้พสกนิกรชาวไทยที่มีความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจาบจ้วงสถาบัน ต้องการทำตัวเหนือองคมนตรี ข้อความที่จำเลยที่ 1 ที่ปราศรัยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง

ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า ในวันเกิดเหตุ นายสนธิ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมดำเนินรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” กับ น.ส.สโรชา จำเลยที่ 2 ทั้งไม่ได้สมรู้ร่วมคิดหรือรู้เห็นกรณี จำเลยที่ 2 นำวิดีโอเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและโจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องมาออกอากาศในรายการทางสถานีโทรทัศน์แต่อย่างใด แม้หากถ้อยคำของ จำเลยที่ 1 ที่กล่าวไว้จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ก็เป็นเหตุการณ์หรือกากระทำของจำเลยที่ 1 ที่เกิดก่อนวันเกิดเหตุตามฟ้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษในคดีนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ฎีกาของโจทก์ในส่วนของ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 216 วรรค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า น.ส.สโรชา จำเลยที่ 2 ซึ่งนำคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มาเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่

เห็นว่า น.ส.สโรชา จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบปฎิเสธว่า นายสนธิ จำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวคำปราศรัยตามฟ้อง และไม่ได้นำนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ นายพลากร สุวรรณรัฐ ที่มีการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 รับฟังและรับทราบข้อเท็จจริงมาจากบุคคลทั้งสองซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความเป็นพยาน เพื่อพิสูจน์ความจริงว่าโจทก์ได้พูดจาดูหมิ่นหรือมีพฤติการณ์การกระทำที่ผิดประเพณีหรือมิบังควรจริงหรือไม่ ซึ่งจำเลยได้ทราบคำปราศรัยดังกล่าวมาก่อน ย่อมทราบได้ว่า คำปราศรัยของ จำเลยที่ 1 มีใจความบางส่วนหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าโจทก์กล่าววาจา หรือ กระทำการดังคำปราศรัยจริง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือด้วยความเป็นธรรม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ลงคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 3 วัน และให้ยกฎีกาของโจทก์เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 1

ภายหลัง นายสนธิ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประเด็นการทำงานของรัฐบาล ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทหารเขามองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เพราะฉะนั้นแล้วในช่วงเปลี่ยนผ่านเขาก็ต้องมั่นใจว่ากุมอำนาจอยู่ได้ ส่วนคำถามที่ว่านายกฯมาจากไหนนั้นตนไม่ได้สนใจ ว่ามาจากคนนอกหรือมาจากใครก็ตาม สนใจแต่ว่าเข้ามาเป็นนายกฯแล้วเข้าใจปัญหาพื้นฐานหรือเปล่า คนไทยเป็นคนที่หัวอ่อน คนไทยเชื่อผู้นำ ถ้าผู้นำทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อชาติบ้านเมืองใครจะมาเป็นนายกฯก็ไม่สำคัญ แต่ว่าถ้าผู้นำทำงานโดยอยู่ภายใต้ของนายทุน ถ้านายทุนครอบงำผู้นำ ประชาชนก็ลำบาก วันนี้ที่ประชาชนไม่มีจะกิน ไม่มีจะใช้ หรือว่าเป็นหนี้ เป็นสินมากขึ้น เพราะว่านายทุนยิ่งใหญ่เหลือเกิน นายกฯไม่สามารถขจัดการขยายทุนอย่างไม่มีขอบเขต และมีความจริงอยู่อย่าง คือ คนรวยไม่มีวันเห็นใจคนจน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าหากนายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาหรือไม่

นายสนธิ กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นมา ผมไม่เห็นมีสักคน ตอนนี้เป็นการต่อสู้ของพรรคการเมืองไม่ต้องการให้อาชีพของตัวเองหมดไป ซึ่งทางทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็พูดถูกว่า นักการเมืองเข้ามาแล้ว ไม่เห็นจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น แต่คำถามที่ท่านต้องตอบต่อไปว่า ใครก็ตามที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งเขาสามารถเอาส่วนรวมเป็นตัวตั้งได้หรือไม่ เช่น กรณีเรื่องสิ่งแวดล้อม กรณีพลังงาน กรณีเหมืองทอง กรณีคนตัวเล็กทำมาหากิน แล้วโดนนายทุนใหญ่รังแก ซึ่งชาวบ้านจะอยู่กันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นใครเป็นนายกฯไม่สำคัญ นี่คือปัญหาใหญ่มากกว่า ซึ่งนักการเมืองไม่เคยคิดที่จะทำความดีให้กับบ้านเมือง แต่ขณะเดียวกันทหาร เวลาแต่งตั้งใครขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่างๆ แต่งตั้งเพราะเขามีความสามารถหรือนายทุนให้แต่งตั้ง ปัญหาคือนายทุนครอบงำบ้านเรา

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองจะมาจากบุคคลภายนอก หรือ ภายใน คนนอกถ้าทำงานดีก็มาเลย แล้วทำไมประเทศไทยต้องเลือกตั้งเพราะอะไร ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วจะแก้ปัญหาได้หมดเลยเหรอประเทศนี้ ผมเห็น ยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้งก็เห็นทะเลาะเบาะแว้งกันมาตลอด จึงอยากบอกว่าขณะนี้ประเทศตะวันตกเริ่มมีปัญหา เรื่องระบบการเลือกตั้ง แบบวันแมนวันโหวต มันไม่เวิร์กแล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ มีประเด็นว่าจะออกแบบอย่างไร แต่ประเด็นคือ คนออกแบบรัฐธรรมนูญบ้านเราส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์เข้าใจว่าการแก้ปัญหาประเทศชาติคือ การเลือกตั้ง ซึ่งมองปัญหาแบบเดิมๆ ถามว่าถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยแล้วคนส่วนใหญ่เป็นคนชั่ว ประเทศชาติไม่ชิบหายเหรอ เพราะฉะนั้นจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีการสร้างค่านิยม ทัศนคติให้รู้ว่าชาติบ้านเมืองไม่ใช่แค่การโหวตยกมือกัน แล้วใครมีเสียงมากกว่าชนะ แต่ตอนแรกที่ร่างรัฐธรรมนูญเขาไม่ได้คิด ถ้าการร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่มีการต่อยอดอำนาจมาเป็นวาระซ่อนเร้น เชื่อว่า รัฐธรรมนูญจะออกมาในหลายรูปแบบ อย่างข้าราชการเก่าๆ หลายคนมีความรู้ความสามารถทำไมไม่ได้รับการคัดสรรเข้ามา คนก็อาจจะไม่พอใจ รวมทั้งนักการเมือง แต่ถ้าเขาร่างรัฐธรรมนูญให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตก็จะดีกว่า”



















 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น