MGR Online - ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “สนธิ ลิ้มทองกุล” และ “เอเอสทีวี” ไม่หมิ่น “ทักษิณ” กรณีปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 51 พาดพิงใช้เงินซื้อข้าราชการบางคนและทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ชี้ปราศรัยติชมด้วยความเป็นธรรม
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ ที่ อ.1252/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 โจทก์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โจทก์ร่วมยื่นฟ้องบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด โดยนายพชร สมุทวณิช และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช กรรมการผู้มีอำนาจ, บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กรรมการผู้มีอำนาจ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียงหรือภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีปราศรัยหมิ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2551 เวลากลางคืน นายสนธิ แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยที่ 3 ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ บริเวณทำเนียบรัฐบาล ผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากฟังทำนองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีจาบจ้วงสถาบัน และพยายามซื้อรากหญ้า ยึดตำรวจและเอาเงินไปจ่ายให้ทหารบางคนเพื่อให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ทำลายรากฐานของกษัตริย์ โดยมีจำเลยที่ 1-2 เป็นผู้ถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และเว็บไซต์ผู้จัดการ ซึ่งข้อความที่นายสนธิกล่าวทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง เหตุเกิดที่แขวงและเขตดุสิต กทม.และทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรไทย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
โดยในวันนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และจำเลยทั้งหมดมาศาล พร้อมนายสุวัตร อภัยภักดิ์ และทีมทนายความ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วมีประเด็นวินิจฉัยว่า ข้อความที่นายสนธิจำเลยที่ 3 ปราศรัยมีจำนวนมาก แต่โจทก์และโจทก์ร่วมนำข้อความมาฟ้องดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสามเฉพาะข้อความบางส่วน กรณีจึงเห็นควรพิจารณาเฉพาะถ้อยคำตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำมาฟ้องเท่านั้น โดยประโยคแรกที่ว่า “คิดให้ลึกๆ 2544 จนถึงวันนี้ มันยังไม่หยุดจาบจ้วงทำลายสถาบันกษัตริย์ วันนี้ใช้สมุนที่อยู่สนามหลวง ขึ้นมาด่าสถาบัน...” นั้น เห็นว่าผู้ที่จำเลยที่ 3 กล่าวถึงไม่ใช่โจทก์ร่วม แต่เป็นบุคคลอื่นที่พูดที่สนามหลวงและถูกดำเนินคดีอาญาแล้ว ข้อความดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อความที่จำเลยที่ 3 กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมแต่อย่างใด
แต่ในส่วนของประโยคที่พูดทำนองว่า “วันนี้ผมไม่รู้ว่าสื่อมวลชน นักคอลัมนิสต์ คนที่ทำงานโทรทัศน์จะโง่ หรือว่าแกล้งโง่ที่ยังดูไม่ออกอีกหรือว่ารัฐบาลชุดนี้ ภายใต้บงการของนายทักษิณ ชินวัตร ใช้เงินมาซื้อข้าราชการและประชาชนบางส่วน...” นั้นเป็นประโยคที่ผู้ฟังหรือประชาชนทั่วไปได้ฟังแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมใช้เงินซื้อข้าราชการและประชาชนบางส่วน รวมถึงพลพรรคบริวารซึ่งยืนยันข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับความประพฤติ หน้าที่การงานของโจทก์ร่วม อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม ปัญหามีว่ามีเหตุยกเว้นตามกฎหมายที่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของบุคคลใด ที่ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) จะต้องเป็นคำกล่าวติชม อันเป็นวิสัยที่ประชาชนสามารถทำได้ อันได้แก่กิจการบ้านเมือง กิจการท้องถิ่น กิจการสาธารณะหรือพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เป็นต้น ซึ่งต้องฟังจากการกระทำของโจทก์ร่วมและบริวารแวดล้อมของโจทก์ร่วมด้วยว่ามีพฤติการณ์เช่นว่านี้หรือไม่ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม นำสืบมาปรากฏว่าบุคคลอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวพันร่วมกับโจทก์ร่วมในทางการเมืองในขณะนั้นและตลอดจนบริวารที่โจทก์ร่วมให้การสนับสนุนก็ได้ขึ้นพูดกล่าวปราศรัยในที่และโอกาสต่างๆ ทำนองดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งบุคคลดังกล่าวล้วนแต่เป็นบุคคลที่รับทำงานให้แก่โจทก์ร่วมหรือโจทก์ร่วมให้การสนับสนุนทั้งสิ้น และบริวารหลายคนของโจทก์ร่วมก็ถูกดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จนทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่ามีบุคคลรวมตัวกันเป็นขบวนการล้มล้างสถาบันฯ จำเลยที่ 3 ซึ่งมีแนวความคิดตรงข้ามกับโจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นด้วยความเป็นธรรม ทั้งในฐานะประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งเป็นวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำได้โดยสุจริตใจและเป็นหนทางชี้ช่องให้ประชาชนทั่วไปที่มาฟังการพูด ปราศรัยของจำเลยที่ 3 ได้รับรู้ถึงวิธีดำเนินการของบุคคลที่รวมตัวกันเป็นขบวนการเพื่อล้มล้างสถาบันฯ จนเห็นหนทางในการดูแลปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยแนวทางหนึ่ง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ในส่วนของจำเลยที่ 1 และ 2 นั้นพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมตามที่นำสืบยังไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยดังกล่าวจะต้องร่วมรับผิดชอบกับการปราศรัยของจำเลยที่ 3 ด้วยแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อศาลพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิด จำเลยที่ 1 และ 2 จึงไม่มีความผิดด้วย
ต่อมาอัยการโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่โจทก์ร่วมยื่นขออุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ประเด็นข้อความที่จำเลยที่ 3 กล่าวว่า “วันนี้ผมไม่รู้ว่าสื่อมวลชน นักคอลัมนิสต์ คนที่ทำงานโทรทัศน์จะโง่ หรือว่าแกล้งโง่ที่ยังดูไม่ออกอีกหรือว่ารัฐบาลชุดนี้ ภายใต้บงการของนายทักษิณ ชินวัตร ใช้เงินมาซื้อข้าราชการและประชาชนบางส่วน...” นั้นแม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทที่ให้โจทก์ร่วมเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบนั้นปรากฏว่ามีบุคคลอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวพันร่วมกับโจทก์ร่วมในทางการเมือง บุคคลใกล้ชิดและบริวารโจทก์ร่วม เช่น นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เคยถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาความผิดหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามมาตรา 112 จึงเห็นว่าจำเลยที่ 3 มีความเชื่อหรือสงสัยว่าโจทก์ร่วมอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันเป็นการแสดงความเห็น หรือกล่าวติชม ด้วยความเป็นธรรมในเรื่องบ้านเมืองและกิจการสาธารณะที่บุคคลและประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้
การกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) เมื่อศาลพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิด จำเลยที่ 1 และ 2 จึงไม่มีความผิดด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนให้ยกฟ้อง