ในสมัยก่อน ผู้กุมอำนาจทางการเมืองถือกันว่า วิธีจะต่อสู้กับหนังสือพิมพ์ดีที่สุด ก็คือออกหนังสือพิมพ์ขึ้นมาด่าหนังสือพิมพ์ที่ด่าตัวบ้าง ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” ที่โดนหนังสือพิมพ์ตีหนักกว่าใคร จึงให้ทุนออกหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งในชื่อ “๒๕๐๐” เป็นกระบอกเสียง แต่พอคนอ่านรู้ว่าใครเป็นนายทุนเลยขายไม่ออก ถูก นสพ.ด้วยกันรุมสับว่าเป็น “กิโลรายวัน” ไม่มีคนซื้ออ่านต้องขายชั่งเป็นกิโล
หนังสือพิมพ์รายวันที่ออกมาในนโยบายนี้อีกฉบับคือ“อิสระ” และเพื่อไม่ให้เป็น“กิโลรายวัน” “อิสระ” จึงใช้สำนวนดุเด็ดเผ็ดร้อน ขนาดคนอ่านไม่คาดคิดว่าจะมีหนังสือพิมพ์ฉบับใดกล้าเขียนรุนแรงถึงขั้นนี้ จนได้รับฉายาว่า “สิ่งพิมพ์เลว”
นอกจากจะต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด่าหนังสือพิมพ์ที่ต่อต้านอเมริกา หรือที่เรียกกันว่าหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายแล้ว “อิสระ”ยังหาทางสร้างความเด่นดังให้ตัวเองด้วยการดึงเอา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ที่ผู้คนเกรงขามกันทั้งแผ่นดิน มาเหยียบบ่าขึ้นไปหาความดังเพื่อให้พ้นเป็น “กิโลรายวัน”
ตอนนั้น จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจขับไล่จอมพล ป.พิบูลสงคราม และเนรเทศ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ออกไปนอกประเทศแล้ว ให้พลโทถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน เพราะสุขภาพตัวเองอยู่ระหว่างการซ่อมม้าม คงเป็นแต่หัวหน้าคณะปฏิวัติและหัวหน้าพรรคชาติสังคมที่จัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น มีสัญลักษณ์ประจำตัวเป็นรูปหนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน เพราะเกิดปีวอก
“อิสระ” จึงบัญญัติคำสำหรับเรียกจอมพลสฤษดิ์ที่ทำเอาคนอ่านสะดุ้งกันไปทั้งเมืองว่า “ไอ้ลิงม้ามแตก”“ไอ้ลิงบ้ากาม”“ไอ้พวกชาติสังคัง” และการ์ตูนล้อจอมพลสฤษดิ์ทุกรูปใน“อิสระ” จะเป็นรูปลิงมีเดือยที่หัวเข่า
ผู้คนในยามนั้นมีความเก็บกดกันมากเพราะอยู่ใต้ระบอบเผด็จการมานาน เมื่อ “อิสระ” เอาจอมเผด็จการมาย่ำยีเช่นนี้ ส่วนหนึ่งจึงมีความสะใจที่ได้ระบายความเก็บกดลงได้บ้าง แต่ทุกคนก็คิดเหมือนกันว่า ทั้ง นสพ.“อิสระ”และคนทำ คงจะมีชีวิตอยู่ดูโลกได้ไม่ยาวแน่ ฉะนั้น “สิ่งพิมพ์เลว” ฉบับนี้จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถ้าคนอ่านไม่ไปยืนรอที่แผงหรือสั่งจองไว้ก็จะไม่ได้อ่าน คู่ต่อสู้จึงไม่มีใครกล้าเรียก“อิสระ”ว่า“กิโลรายวัน”เหมือน “๒๕๐๐”
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ กองเอกสารหนังสือพิมพ์ของสันติบาล หรือแม้แต่จอมพลสฤษดิ์เอง ก็ไม่กล้าแตะต้อง “อิสระ”แสดงว่า “สิ่งพิมพ์เลว” ฉบับนี้ต้องมีเส้นใหญ่ไม่เบา
แต่แล้วในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ น.ส.พ.“บางกอกเดลิเมล์” ของนายแสง เหตระกูล ซึ่ง “อิสระ”ถือว่าเป็นศัตรูที่สำคัญ ได้ลงข่าวจอมพลสฤษดิ์แฉหลังฉากของ “อิสระ”ว่า มีใครบ้างหนุน และจะจัดการเด็ดขาดต่อไป
ทั้ง “อิสระ”ยังสืบทราบว่า ข่าวนี้มาจากนายแสงและคอลัมนิสต์ของ “บางกอกเดลิเมล์”เข้าพบจอมพลสฤษดิ์ที่บ้านสี่เสา “อิสระ”จึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟที่จอมพลสฤษดิ์พูดเอาใจ“บางกอกเดลิเมล์”คู่อริ ผสมโรงด่า“อิสระ”ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยกัน “อิสระ”จึงกราดเกรี้ยวล้อมกรอบไว้ในหน้า ๑ ฉบับประจำวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ว่า
ฟัง! สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ ฉบับประจำวันที่ ๑๔ ก.ค.ลงข่าวให้สัมภาษณ์ยืนยันของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่า “สิ่งพิมพ์เลว” อันหมายถึงหนังสือพิมพ์ “อิสระ” และหนังสือในเครือเดียวกัน รับทุนมาจากนายเผ่า ศรียานนท์ โดยอวดอ้างว่าได้รู้หลักฐานดี กำลังให้ตำรวจจัดการ
๒-๓ วันมานี้ นายแสง เหตระกูลและนายเฉลิม สวามิวัสดุ์ ได้เข้าพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่บ้านสี่เสา เทเวศม์ ตอนค่ำ วันต่อมาก็ปรากฏสฤษดิ์ ธนะรัชต์กลายเป็นเครื่องมือคอมมิวนิสต์ถึงกับให้สัมภาษณ์ออกมาอย่างพล่อยๆ เราเสียดายและเสียใจที่คนชั้นจอมพลผู้บัญชาการทหารสูงสุดยามสงบ หัวหน้าคณะทหารใหญ่ หัวหน้าพรรคชาติสังคม มีอำนาจนอกกฎหมายเหนือนายกรัฐมนตรีผู้นี้ ได้ทำตนไม่มีความหมายสำหรับประชาชนของเราไปเสียแล้ว
ฟัง! สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะอั๊วกับลื้อก็เป็นคนไทยเหมือนกัน หลักฐานของลื้อแน่ไหม ถ้าแน่ขอให้แสดงหลักฐานโดยเปิดเผยภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังจากหนังสือนี้วางตลาดแล้ว มิฉะนั้นอั๊วจะประณามลื้อว่าเป็นอ้ายหมา ๕๐๐ ชาติ เป็นอ้ายคนทรยศต่อชาติ ลื้อมันพูดซี้ซั้ว เหมือนไม่มีเลือดไทยติดสันดาน แสดงหลักฐานเร็วโว้ย”
ยังไม่ทันถึง ๒๔ ชั่วโมง “อิสระ”ก็เจอคนจริง
บ่าย ๒ โมงวันนั้น โอลสโมบิลสีดำคันยาวก็จอดลงที่หน้าโรงพิมพ์วิบูลย์กิจของนายสมพร วิบูลย์ ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ซึ่ง นสพ.“อิสระ” และนสพ.“เสรีภาพ” ในเครือเดียวกันมาจ้างพิมพ์ บุรุษในสูทสีเทาซึ่งนั่งอยู่ที่เบาะหลังเปิดกระจกเรียกเด็กในโรงพิมพ์มาสั่งว่า
“ไปบอกไอ้หง่าว่าอั๊วมาตามคำท้าแล้ว ออกมาเร็วๆหน่อยๆ”
คำว่า “อั๊วมาตามคำท้า” ทำให้ช่างเรียงพิมพ์ผู้นั้นสะดุดใจ และเมื่อเพ่งมองดูก็จำได้ว่าผู้พูดเป็นใคร เขาถึงกับสะดุ้งแล้วรีบวิ่งเข้าไปในโรงพิมพ์ ก็พอดีสวนทางกับบุรุษร่างอ้วนพุงพลุ้ย อายุอยู่ในวัย ๔๐ เศษ สวมกางเกงขาสั้น เสื้อยืดสีขาว กำลังตรงไปที่รถ
บุรุษผู้นี้ไม่ใช่ “ไอ้หง่า” ที่ ฯพณฯ ต้องการพบ แต่เป็นนายประยูร ชื่นสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ ซึ่งออกมารับหน้าแทน
ผอ.“อิสระ”เข้าไปยกมือไหว้ประหลกๆ และเจรจากับ ฯพณฯ อยู่พักหนึ่ง ประตูโอลสโมบิลก็ถูกกระชากปิดด้วยความหงุดหงิด แล้วเคลื่อนออกไปอย่างรวดเร็ว
ต่อจากนั้นราว ๑๕ น.เศษ รถจิ๊ปกลาง ๒ คันมีผ้าใบปิดป้ายทะเบียน ก็พุ่งปราดมาจอดหน้าโรงพิมพ์วิบูลย์กิจ ชายฉกรรจ์ราว ๑๕ คนในชุดเสื้อคอกลมเหมือนกันหมดโดดลงจากรถ ส่วนหนึ่งถือปืนกลคุมอยู่หน้าโรงพิมพ์ อีกส่วนตรงเข้าไปข้างใน บ้างก็ขึ้นไปชั้น ๒ ซึ่งเป็นกองบรรณาธิการ ควบคุมทุกคนไม่ให้เคลื่อนไหว หน่วยทุบบางส่วนที่มีค้อนเป็นอาวุธได้ตามขึ้นไป และทุบทุกอย่างในกองบรรณาธิการ เช่น พิมพ์ดีด โทรศัพท์ พัดลม ฯลฯ ยับเยินไม่มีเหลือ
ส่วนหน่วยจู่โจมด้านล่างซึ่งมีค้อนปอนด์และอีเตอร์ ได้ทุบแท่นพิมพ์ที่ตั้งเรียงราย อยู่ ๙ แท่นพังยับ ผู้บุกรุกคนหนึ่งหันไปเห็นถังน้ำมันตั้งอยู่ จึงผลักเทล้มไปที่กองกระดาษแล้วจุดไฟ เคราะห์ดีที่เป็นน้ำมันเครื่องจึงไม่ลุกพรึ่บ หัวหน้าหน่วยจู่โจมหันไปเห็นก็ร้องห้ามแล้วให้ช่วยกันดับ แต่ควันไฟที่ตลบไปทั้งโรงพิมพ์ ทำให้คนที่อยู่ชั้นบนกลัวจะถูกย่างสด จึงรีบเผ่นเอาตัวรอด ฉัตรแก้ว ราชบดินทร์ มือเขียนมหากาฬของ “อิสระ” ซึ่ง “บางกอกเดลิเมล์” ตั้งชื่อให้ว่า “สัตว์แก้ว ลาดปลาตีน” และเป็นบุคคลที่ ฯพณฯ กำลังสืบหาว่าใครเป็นคนเขียน ถูกคุมตัวอยู่ในกองบรรณาธิการแล้ว ได้อาศัยโอกาสนี้ปีนข้ามรั้วสังกะสีด้านหลังโรงพิมพ์เข้าไปในวัดตรีทศเทพ แล้วหายไปจากวงการตั้งแต่วันนั้นจนจอมพลสฤษดิ์ถึงอสัญกรรม
แม้หน่วยจู่โจมจะยึดกล้องถ่ายรูปของกองบรรณาธิการไปหมด ไม่ให้บันทึกเหตุการณ์ได้ แต่หน่วยจู่โจมก็ไม่ทันมองไปบนต้นไม้ข้างโรงพิมพ์ ซึ่งสมบุญ ณ ฤกษ์ บก.“เสรีภาพ” หนังสือพิมพ์อีกฉบับในเครือ“อิสระ” ได้ใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์เล็กสมัครเล่นของเขาบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้ทั้งหมด แต่ก็แค่ถ่ายไว้ดูเองเท่านั้น จะเอาเป็นหลักฐานอะไรได้ ไม่ถูกทุบหัวก็บุญแล้ว
รุ่งขึ้น นสพ.ทุกฉบับต่างพาดหัวเรื่องชายฉกรรจ์บุกเข้าทุบแท่นพิมพ์ “อิสระ” กันอย่างเกรียวกราว เว้น นสพ.“สารเสรี” ของจอมพลสฤษดิ์ที่ไม่รู้ไม่เห็นเรื่องนี้
ส่วน“บางกอกเดลิเมล์” คู่อริ ก็ลงข่าวสัมภาษณ์บุคคลรอบด้านจอมพลสฤษดิ์ วินิจฉัยชี้เปรี้ยงลงไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างสถานการณ์ของ
นสพ.“อิสระ”เอง ทั้งยังระบุอีกว่า หลังเหตุการณ์ได้มีเจ้าหน้าที่ของ “สำนักข่าวดอลลาร์” มาเยี่ยมเยียนกันคึกคัก
จอมพลสฤษดิ์ได้ชูหนังสือพิมพ์ “อิสระ” ฉบับที่ด่าตัวให้นักข่าวดู แล้วตอบข้อซักถามว่า
“ผมไปจริง ที่ไปก็เพราะอยากเจอคนจริง หนังสือพิมพ์ที่ผมเห็นว่าเลวที่สุดฉบับนี้ ล้อมกรอบท้าทายว่าถ้าผมไม่ไปชี้แจงจะประณามว่าเป็นอ้ายหมาห้าร้อยชาติ แต่พอไปถามหาคนเขียน ก็มีคนอ้วนๆ ชื่อประยูรนั่นแหละลงมารับผม มากราบแทบเท้าขอโทษ อ้างว่าเป็นทหารกองหนุนปี ๒๔๘๗ ผมก็รู้ว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรที่ไปพบคนอย่างนี้ เหมือนเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ถ้อยคำที่มันด่ามันเลวเหลือเกิน นี่ผมก็บอกอธิบดีตำรวจเขาแล้วว่าผมจะฟ้อง”
สำหรับเรื่องทุบแท่นนั้น จอมพลสฤษดิ์ปฏิเสธว่า
“ถ้าผมทำก็แหลกกว่านี้ เผาโรงพิมพ์ทิ้งเท่านั้น คนมันเหลืออดก็ต้องทำ”
และว่า “ที่ว่าผมไปพังโรงพิมพ์เขา ผมจะไปได้อย่างไร เพราะใครๆ ก็รู้ว่าม้ามผมเหลืออยู่ข้างเดียวแล้ว” ขนาดเหลือม้ามอยู่ข้างเดียวท่านยังบอก “ด่ากันอย่างนี้ พบก็เตะปากกัน”
หลังจากบาดเจ็บสาหัสจากกองทัพอีเตอร์จนต้องหยุดออก ๓ สัปดาห์ ต่อมา “อิสระ” ก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง ครั้งนี้เรียบร้อยขึ้นกว่าเก่ามาก ศัพท์ต่างๆที่เคยใช้อย่าง “ไอ้ลิงบ้ากาม” “ไอ้ลิงม้ามแตก” ก็หายไป มีข่าววงในพูดกันถึงความดีงามของ ฯพณฯ ที่ไม่ชอบเป็นศัตรูกับใคร และชอบใช้วิธีที่ทำให้ศัตรูกลับมาเป็นมิตร จึงปลอบขวัญที่ทำให้ตกอกตกใจแก่ ผอ.ประยูร ชื่นสวัสดิ์ ไปแสนสองหมื่นบาท พร้อมกับแนบโน๊ตสั้นๆไปด้วยว่า
“จงอโหสิกรรมให้แก่กัน และเป็นมิตรกันต่อไป”
ส่วนเหตุการณ์ระทึกขวัญที่เป็นประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือพิมพ์ไทยครั้งนี้ เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่วันเดียวก็เงียบหาย ก็ใครล่ะจะกล้าเหมือน“อิสระ” ที่มีเงินทุนเป็นดอลลาร์