๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐
ขณะที่ผมยังเป็นนักข่าวมือใหม่ของหนังสือพิมพ์ขายดี “สารเสรี” รายวัน สมัยที่ยังอยู่ริมทางรถไฟถนนเพลินจิต
ในตอนเย็นใกล้ค่ำ เสียงกริ่งโทรศัพท์เครื่องเดียวของกองบรรณาธิการดังขึ้น บก.ทนง ศรัทธาทิพย์ รับสายด้วยตัวเอง หลังจากตอบรับ ครับ...ครับ...อยู่ ๒-๓ คำ ก็วางหูโดยไม่มีอาการตื่นเต้นใดๆ แล้วมองกราดไปทั่วห้องกองบรรณาธิการ ซึ่งก็เป็นเพียงห้องที่ไม่กว้างขวางนัก รถตระเวนข่าวคันเดียวของโรงพิมพ์เพิ่งกลับเข้ามา นักข่าวทุกคนจึงง่วนอยู่กับการก้มหน้าก้มตาเขียนข่าว มีแต่นักข่าวใหม่อย่างผมคนเดียวที่ไม่มีข่าวจะเขียนในวันนั้น
“คุณก็แล้วกัน ออกไปดูหน่อย” บก.ทนงมองมาที่ผม “เขาบอกมาว่ามีปล้นกันที่สี่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์”
ผมรีบคว้ากล้องกระโจนขึ้นรถแลนด์โรเวอร์เก่าๆ ซึ่งเป็นรถตระเวนข่าวออกไปทันที แม้ บก.จะรับแจ้งข่าวอย่างไม่ตื่นเต้น แสดงว่าเป็นข่าวเล็กๆที่ไม่สำคัญ แต่ผมก็ดีใจว่าจะได้รอดพ้นจากการเป็นนักข่าวที่ไม่มีข่าวจะเขียน
คนขับรถพาเข้าทางถนนราชดำเนินใน และก่อนที่จะถึงสี่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์ตัดกับถนนประชาธิปไตย ก็เห็นคนมุงกันอยู่เต็มถนน ผมแหวกฝูงชนเข้าไป เห็นชายคนหนึ่งนอนอยู่กลางถนน มีเลือดไหลนอง และยังไม่มีนักข่าวคนใดไปถึงเลย ผมเลียบเคียงถามตำรวจที่ยืนเฝ้ารอตำรวจใหญ่มาสอบ
“เรื่องอะไรกันครับ?”
ตำรวจเห็นผมถือกล้องก็พอรู้ว่าเป็นนักข่าว จึงเต็มใจจะให้ความกระจ่าง
“ปล้นรถขนเงินธนาคาร คนขับถูกยิงตาย”
“ได้เงินไปไม๊” ผมซัก
“๓ ล้านกว่า” ตำรวจบอก
เงิน ๓ ล้านกว่าใน พ.ศ. นั้นก็พอทำให้เลือดผมฉีดแรงขึ้นทันที แต่เมื่อตำรวจให้ข้อมูลต่อไปว่า
“รถขนเงินของธนาคารเอเชีย กำลังจะเอาไปเข้าแบงก์ชาติ”
ก็เหมือนเลือดผมหยุดฉีดไปชั่วขณะ จะไม่ให้ผมตื่นเต้นได้ยังไง ในเมื่อประธานกรรมการของธนาคารเอเชียขณะนั้นก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ซึ่งคุมกำลังทหารทั้งหมดไว้ในกำมือ เป็นขุนพลค้ำบัลลังก์จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี คู่กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ขุนพลค้ำบัลลังก์จอมพล ป.อีกคน ซึ่งสร้างตำรวจขึ้นมาเป็นกองทัพ ร่ำลือกันว่า ๒ ขุนพล กำลังเล่นกำลังภายในชิงความยิ่งใหญ่กันอยู่
ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ เป็นที่รู้กันว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็คือเจ้าของตัวจริงของ บริษัท ธนะการพิมพ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทรายวัน และสารเสรี ที่ผมสังกัดอยู่นั่นเอง
ด้วยสัญชาติญาณทำให้ผมคิดว่า เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องปล้นธรรมดาแน่ๆ มันน่าจะมีอะไรที่ลึกๆเกินกว่านั้น และแน่นอนมันลึกและใหญ่เกินกว่านักข่าวมือใหม่อย่างผมจะลุยเดี่ยวอยู่คนเดียวได้ ผมไม่สนใจที่จะซักถามและสอบหาเรื่องราวต่อไป แต่ได้รีบแหวกฝูงชนตรงไปปั๊มน้ำมันเชลล์ที่อยู่ใกล้ๆ ขอใช้โทรศัพท์รายงานเข้าไปที่โรงพิมพ์ทันที
หลังจากนั้นไม่นาน นักข่าวมือฉกาจทั้งด้านอาชญากรรมและการเมืองก็รุดมากันเกือบหมดทั้งโรงพิมพ์ แยกกันประกบนายตำรวจสายต่างๆที่ออกติดตามคดีนี้ ซึ่งเหตุการณ์ปล้นในครั้งนั้นลำดับเรื่องราวได้ว่า
รถดอจด์สเตชั่นเวกอน ก.ท.ส.๑๔๐๙ ด้านข้างเป็นลายไม้ ได้ขนเงินสดจำนวน ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท ออกจากธนาคารเอเชียที่สามแยกถนนเจริญกรุง จะนำไปฝากธนาคารชาติที่บางขุนพรหม มี นายมัด บินฮันนิมะ อายุ ๔๐ ปี เป็นคนขับ พร้อมกับพนักงานธนาคาร ๔ คนคุมมา คือ นายชิต หนูอ่อน นายสายหยุด วานิชชานนท์ นายจำรัส แพรคำพันธุ์ และ นายจินดา สิงหะ ซึ่งเป็นหัวหน้า ทั้งยังมี นายบรรจง จันดี พนักงานธนาคารอีกคนขออาศัยรถกลับบ้านด้วย โดยมี ส.ต.ท.แสวง การะเกด ถือปืนคาร์ไบน์เป็นตำรวจคุ้มกัน
ราว ๑๘.๔๕ น.ใกล้จะถึงสี่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์ ซึ่งในสมัยนั้นค่อนข้างเปลี่ยว รถราไม่ค่อยมีวิ่ง ได้มีรถออสตินแวนสีเทาพุ่งเข้าเฉี่ยวชนท้ายด้านขวา เมื่อพนักงานธนาคารหยุดรถลงไปดู พวกโจร ๖ คนที่อัดมาในรถแวนพร้อมด้วยอาวุธครบมือก็เข้าจี้ประกบตัว พร้อมขู่อย่างเฉียบขาดว่า “เอะอะตาย!” ส.ต.ท.แสวงพรวดพราดตามลงมานึกว่ารถชนกันธรรมดา เลยถูกโจรแย่งปืนไปจากมือดื้อๆ นายจำรัสขยับจะหนีเลยถูกยิงที่เข่ากองฟุบ นายมัดคนขับเห็นท่าไม่ดีจะสตาร์ทรถหนี เลยถูกยิงและกระชากตัวลงมาตายคาถนน พวกโจรโดดขึ้นขับรถธนาคารโดยมีรถออสตินแวนตาม หายไปอย่างลอยนวล โดยมีนายบรรจง จันดี พนักงานธนาคารที่ขออาศัยรถมา ติดไปในรถขนเงินด้วย
นายตำรวจใหญ่รีบรุดมายังที่เกิดเหตุ สอบถามคนที่เห็นเหตุการณ์ก็ไม่มีใครจำเลขทะเบียนรถออสตินแวนของคนร้ายได้ รู้แต่ว่าเป็นสีเทา ซึ่งรถรุ่นนี้ก็มีแต่สีเทาวิ่งเกลื่อนเมือง สีอื่นไม่ค่อยมี ส่วนเจ้าพนักงานแบงก์ที่มากับรถขนเงินต่างก็อยู่ในอาการช็อก สอบถามอะไรไม่ค่อยได้เรื่อง โดยเฉพาะนายจินดาหัวหน้าผู้ควบคุม ไปได้ตัวหลบอยู่ในห้องส้วมร้านกาแฟ
ประเด็นแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อสงสัยไปที่พนักงานของธนาคารเอง ทำไมจึงขนเงินกันตอนใกล้ค่ำผิดวิสัย และในรถก็มีเซฟสำหรับใส่เงินอยู่ แต่เงินทั้ง ๓ ล้าน ๕ แสน กลับถูกวางกองอยู่นอกเซฟ
ทางธนาคารอ้างว่าเพิ่งจัดทำงบดุลเสร็จ ได้โทรศัพท์แจ้งแบงก์ชาติให้รออยู่ ปกติก็เคยส่งเงินเข้าแบงก์ชาติแบบนี้ บางทีก็ ๒ เดือนครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลางวัน ซึ่ง นายสัญญา ยมะสมิต กรรมการผู้จัดการได้ยืนยันความบริสุทธิ์ของพนักงานในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องที่ไม่นำเงินใส่ในเซฟของรถ นายจินดาหัวหน้าผู้ควบคุมให้การว่ารีบด่วนและมีเงินมากถึง ๔ ถุงเมล์ เป็นใบละร้อย ๑ ถุง แบงก์ย่อยอีก ๓ ถุง ไม่สามารถใส่ในเซฟได้
หลังจากเกิดเหตุไม่นาน นายบรรจง จันดีที่ติดไปกับรถขนเงิน ก็มาปรากฏตัวที่โรงพักนางเลิ้ง ท้องที่เกิดเหตุ บอกว่าพวกโจรเอารถทั้ง ๒ คันไปจอดทิ้งไว้ที่ริมคลองประปาสามเสน ตำรวจตามไปตรวจหมายเลขเครื่องยนต์ของรถออสตินแวน ก็รู้ว่าเป็นรถ ก.ท.ป. ๓๘๐๑ ของนายมุยหวัง แซ่หลุย เจ้าของอู่รถหน้าอำเภอบางรัก ซึ่งแจ้งหายไปจากหน้าโรงหนังเฉลิมเขตร์ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๑ เดือนมาแล้ว
ในขณะที่ตำรวจกำลังมึนงง จับทิศทางไม่ถูกว่าโจรก๊กไหนที่ลงมือครั้งนี้ และหลบหนีไปทางไหน แสงสว่างก็วาบขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน ทำให้เห็นทางติดตามโจรทันที
ตี ๔ ของคืนนั้นหลังจากเหตุการณ์ปล้นประมาณ ๙ ชั่วโมง ชายอายุประมาณ ๓๐ ปีคนหนึ่งก็เดินโซเซไปที่ป้อมตำรวจหน้าตลาดมหานาค บอกว่ามีข่าวเรื่องโจรปล้น ๓ ล้านจะแจ้ง ตำรวจจึงพาไปพบ พ.ต.ต. บัญชา อุณหนันท์ สารวัตรใหญ่พลับพลาชัยเขต ๒ ชายผู้นั้นซึ่งตำรวจไม่ยอมเปิดเผยชื่อ เล่าว่าเป็นลูกจ้างท้ายเรือแท็กซี่ขนาด ๑๕ แรงม้าสีเขียว จอดอยู่ที่เชิงสะพานพุทธฯ เมื่อตอนประมาณ ๓ ทุ่มได้มีชายคนหนึ่งสักลายมังกรพาดแขนลงจากแท็กซี่มาบอกกับนายท้ายเรือว่า
“ไปจอดที่ท่าเขียวไข่กา บางกระบือ อั๊วจะไปลงเรือที่นั่น”
เมื่อเรือไปถึงท่าเขียวไข่กาประมาณ ๓ ทุ่มครึ่ง ก็มีชาย ๗ คนหิ้วถุงสีน้ำตาลมา ๔ ถุง นอกจากทุกคนจะแบกปืนกลมือ พกปืนสั้นอีกคนละ ๒ กระบอกแล้ว บางคนยังมีระเบิดมือด้วย ถุงที่หิ้วมาก็ดูหนักมาก ชายคนหนึ่งทำหลุดมือตกน้ำ แต่พรรคพวกช่วยกันคว้าขึ้นมาได้ ทุกคนดูสนิทสนมกับนายท้ายเรือมาก่อน เมื่อเรือออกจากท่าแล้ว คนหนึ่งก็ร้องบอกว่า “ชัยนาท” จากนั้น ก็ให้ดับไฟในเรือ และเปิดถุงที่ตกน้ำเอาของข้างในออกมาตากที่พื้นเรือ ปรากฏว่าเป็นธนบัตรมัดๆ
ขณะที่ช่วยกันผึ่งธนบัตรนั้น คนหนึ่งก็หันมาเห็นเขาเข้าจึงร้องบอกว่า
“ไอ้นี่ไม่เกี่ยวนี่หว่า...เอามันงมกุ้งอยู่แถวนี้แหละ”
ทำเอาเขากลัวจนตัวสั่น แต่นายท้ายเรือขอไว้ คนกลุ่มนั้นจึงจับเขามัดแล้วยัดไว้ในช่องตรงหัวเรือ เขาต้องขดตัวปวดเมื่อยอยู่เป็นชั่วโมงๆ จนพวกโจรจะหาที่ซ่อนถุงเงินจึงเอาเขาออกมาและยัดถุงเงินเข้าไปแทน โดย ๒ คนจะให้ยิงเขาทิ้งให้หมดเรื่อง นายท้ายเรือก็ขอไว้อีก ทั้งเขาเองก็กราบไหว้ขอชีวิตว่ามีลูกมีเมียต้องเลี้ยงดู และไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งนั้น พวกโจรเลยเปลี่ยนใจส่งเขาขึ้นฝั่งที่ท่าวัดเหนือตัวจังหวัดปทุมธานีเมื่อเวลาประมาณตี ๒ โดยกำชับว่า “ถ้ามึงปากมาก ตาย!” จากนั้นเขาก็เดินเท้าเปล่าไปจนถึงถนน และขออาศัยรถขนสินค้ามาจนถึงตลาดมหานาค
ข่าวนี้ไม่เพียงแต่จะถูกรายงานด่วนไปยัง พล.ต.ต.จำเนียร วาสนะสมสิทธิ์ รอง อตร.ฝ่ายปราบปรามเท่านั้น ยังปลุก พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อตร. ขึ้นมาบัญชาการกลางดึกด้วย
เช้าวันรุ่งขึ้น พ.ต.อ.พันธ์ศักดิ์ วิเศษภักดี รองผู้บังคับการกองปราบ อัศวินคู่ใจของ อตร.เผ่า ก็นำกำลังตำรวจ ๒๐ นายพร้อมอาวุธปืนกลหนักบราวนิ่งแมชชินกัน ระเบิดมือ แก๊สน้ำตา มุ่งไปจังหวัดชัยนาท เพื่อลงเรือเร็วคริสคราฟท์ของกรมตำรวจที่ประจำอยู่เขื่อนชัยนาท ล่องลงมากะสวนกับเรือโจร
อีกสาย พ.ต.ท.อุไร จิตรภักดี พร้อมนายตำรวจอีกหลายนาย นำคอมมานโดกองปราบไปลงเรือคริสท์คราฟท์อีกลำที่ท่าภาษี ราชวงศ์ ตามล่าเรือแท็กซี่สีเขียวของโจรไปตามลำน้ำเจ้าพระยา
ระหว่างนี้ทางกองปราบก็วิทยุติดต่อตำรวจท้องที่ของอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี ตลอดเวลา และคาดว่าประมาณ ๑๔ น.จะต้องปะทะกับโจรแน่ แต่ปรากฏว่าเรือเร็วลำที่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ พอถึงอยุธยาก็เจอระดับน้ำตื้นเขินผ่านไปไม่ได้ ต้องถอยทัพกลับ ส่วนลำที่ล่องลงมาจากชัยนาท ก็ไม่พบเรือแท็กซี่สีเขียวตามคำบอกเล่าเลย
ในวันเดียวกัน ตำรวจสิงห์บุรีก็วิทยุรายงานมาว่า ได้ข่าวโจรไหวตัวรู้แผนของตำรวจ จึงหลบขึ้นฝั่งก่อนถึงตัวจังหวัดสิงห์บุรี และกำลังมุ่งไปอาศัยค่ายอิทธิพลที่ลพบุรี พล.ต.ต.จำเนียรจึงส่ง ร.ต.อ. วุฒิ เวชรัชตพิมล กับ ร.ต.อ.อำพล ปราบสุข อัศวินกองปราบ นำกำลังตำรวจ ๑๖ นายรุดไปสกัดที่ลพบุรี แต่อีกกระแสข่าวก็แจ้งว่า พวกโจรได้แบ่งเงินและแยกย้ายกันหนีก่อนที่จะถึงสิงห์บุรี ทีมตำรวจจึงผิดหวังกลับมาทุกทีม
กลางดึกของคืนวันที่ ๙ นั้น พล.ต.ต.ขุนพิชัยมนตรี ผู้บัญชาการนครบาล พร้อมด้วย พลตำรวจจัตวาทม จิตวิมล ผู้บังคับการนครบาลเหนือได้รุดไปเมืองกาญจน์ ขอกำลังตำรวจท่ามะกาเข้าล้อมบ้านนายอู๋ หรือไมตรี เจริญพาณิชย์ พ่อค้าข้าวของอำเภอท่ามะกา เพราะมีสายรายงานว่าเมื่อวันปล้นเห็นนายอู๋อยู่ในแบงก์เอเชียและซุบซิบอยู่กับพนักงานของธนาคาร นายอู๋เคยพัวพันคดีปล้นเงินสรรพสามิตเมื่อ ๕-๖ ปีก่อน เลยต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้วางแผนปล้นในครั้งนี้ นายอู๋ถูกคุมตัวมากองปราบตอนตี ๕ ยืนยันว่าในวันที่ ๘ ได้ขับรถจิ๊บไปตระเวนซื้อข้าวที่อำเภอพระแท่นตลอดทั้งวัน มีนายพัฒน์ พ่วงศิริ ผู้สมัคร ส.ส.กาญจนบุรี ขออาศัยติดรถไปหาเสียงด้วย และอยู่จนถึง ๒ ทุ่มจึงกลับ เมื่อตำรวจเอาสายที่ว่าเห็นนายอู๋ซุบซิบกับพนักงานธนาคารมาชี้ตัว สายก็ดันไปชี้เอาภารโรงของกองปราบเข้า นายอู๋เลยถูกปล่อยตัวไป แต่สายถูกคุมตัวไว้ในฐานต้องสงสัยว่าเป็นสายโจร มาปล่อยข่าวให้ตำรวจสับสน
ในระยะนั้นมีผู้เห็นเหตุการณ์และรู้เบาะแสส่งข่าวมาให้ตำรวจหลายราย บางรายก็เป็นข่าวจริง บางรายก็เป็นข่าวปล่อย ทำให้ตำรวจต้องวิ่งกันพล่าน บรรดาอัศวินแหวนเพชรและแหวนไม่มีเพชรของ พล.ต.อ.เผ่าพยายามอย่างสุดฝีมือที่จะคลี่คลายคดีนี้ออกมาให้กระจ่าง เพื่อไม่ให้เจ้านายต้องมัวหมองที่ลือกันว่าการปล้นครั้งนี้เป็นการหักเหลี่ยมลูบคมกันในทางการเมือง และอัศวินแต่ละคนก็ล้วนเลี้ยงอันธพาลไว้คนละเป็นโขลงทั้งนั้น
ในวันที่ ๑๑ ก.พ.หลังเกิดเหตุเพียง ๓ วัน ก็มีกระแสข่าววงในออกมาว่า ตำรวจมีตาทิพย์รู้ตัวโจรทั้ง ๖ คนหมดแล้ว รู้ตลอดว่าใครเป็นผู้วางแผน มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง บ้านช่องญาติพี่น้องอยู่ที่ไหนกันบ้าง พล.ต.จ.เยื้อน ประภาวัตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ได้รับมอบหมายจาก อตร.ให้เข้ามาเป็นหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจเพื่อพิชิตคดีนี้ และวางแผนออกตามล่าทันที
ในคืนวันที่ ๑๑ ล่วงเข้าวันที่ ๑๒ ในเวลา ๒ น.เศษ พ.ต.ต.สุนนท์ เอกะโลหิต ได้นำกำลังตำรวจเข้าค้นบ้านข้างโรงเรียนสตรีเพชรบุรี ยมราช จับนายชวลิต หรือแดง รายะเลข เป็นรายแรก ผู้ต้องหาปฏิเสธ แต่เมื่อนำตัวมาสอบสวนที่กองปราบก็ถูกต้อนจนรับสารภาพ นำตำรวจกลับไปค้นบ้านพบธนบัตรใบละ ๑๐๐ บาทใส่ถุงพลาสติกบรรจุอยู่ในปี๊บน้ำมันเครื่อง ๒ ใบ เป็นเงิน ๑ แสน ๙ หมื่นบาท และซ่อนไว้บนหิ้งพระอีก ๔ หมื่น
อีกสาย อตร.เผ่าไปเอง นั่งเบนซ์สีดำไปจอดซุ่มอยู่แถววงเวียนใหญ่ ส่งอัศวินนักกล้าม ร.ต.อ.อิทธิพล เครือใยนำกำลังเข้าไปจับได้นายจรูญ หรือแกละ โตชาญชัย คนขับรถเก๋งคอนซูลไปรับกลุ่มโจรจากสถานที่ทิ้งรถริมคลองประปา และอีกสายก็จับนายเฉลิม หรือเปี๊ยก เย็นนิกร มือรองหัวหน้าโจร
ต่อมา พล.ต.จ.เยื้อน ประภาวัตร หัวหน้าหน่วยปราบปราม พร้อมด้วย พ.ต.ต.วิเชียร แสงแก้ว สวญ.นางเลิ้งเจ้าของคดี ไปจับนายสนอง ยืนยง หัวหน้าโจรแก๊งนี้ได้ที่กระท่อมกลางนาของนางทองมาก เจริญสวัสดิ์ คหบดีสาวใหญ่ของอำเภอคลองหลวง รังสิต ได้อย่างละม่อมจนน่าผิดสังเกต
วันที่ ๑๕ ก.พ. พล.ต.จ.เยื้อน กับ พ.ต.อ.จำรัส มังคลารัตน์ รองผู้บังคับการนครบาลเหนือ และ พ.ต.ต.วิเชียร แสงแก้ว ได้ไปค้นบ้านของนางแสง เจริญสวัสดิ์ แม่ของนางทองมาก ที่ริมคลองมหาสวัสดิ์ ศาลายา พบเงินซ่อนอยู่ในกระสอบข้าวสารและในไหกระเทียมรวม ๔๘๒,๕๐๐ บาท ซึ่งนายสนอง ยืนยงเอามาฝาก
“ฉันก็รู้ว่าเป็นเงินร้อน” นางแสงว่า “แต่เขาเอามาฝาก ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไง ต้องรับไว้”
ระหว่างที่กำลังค้นบ้านนางแสงอยู่นั้น ก็มีชาวนา ๒ คนผัวเมียนำเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท มาส่งให้ตำรวจ บอกว่าเป็นเงินที่นายสนองมีน้ำใจมอบไว้ให้ใช้ เมื่อรู้ว่าเป็นเงินร้อนจึงเอามาคืน
อีกสายหนึ่ง ร.ต.อ.วุฒิ เวชรัชตพิมล กับ ร.ต.อ.เสน่ห์ อุทัยเสน นำกำลังไปอำเภอผักไห่ อยุธยา ค้นบ้านนางเปลื่อง เกษมรัตน์ อาของนายประยูร เกษมรัตน์ หนึ่งใน ๖ ของดาวโจร ตำรวจไม่พบตัวนายประยูร แต่เห็นกระบุงข้าวเปลือกวางเรียงรายอยู่บนบ้านจึงเอามือล้วงดู พบธนบัตรใบละร้อยรวม ๒ แสน ๕ หมื่นบาทซ่อนอยู่ในนั้น
ในวันที่ ๑๕ ก.พ. พ.ต.ต.วิเชียร แสงแก้วได้ข่าวว่า ส.ต.สมศักดิ์ หรือตุ้ม เนตรมณี หนึ่งในกลุ่มดาวโจร หลบไปกบดานอยู่ในค่ายทหารลพบุรี จึงนำกำลังขึ้นไป แต่ไปถึงเมื่อเวลา ๒๓.๓๐ น.ไม่สามารถติดต่อขอเข้าค่ายทหารได้ จึงต้องพากันกลับ แต่มาได้ข่าวใหม่ว่าสมศักดิ์หลบอยู่กลางสวนลึก ที่บางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดงนี้เอง จึงขอกำลังจากกองปราบ มี ร.ต.อ.วุฒิ เวชรัชตพิมล นำกำลังไป ๑๕ นาย พร้อมกับขอความร่วมมือไปยัง พ.ต.ต.สุทัศน์ สุขุมวาท หัวหน้าหน่วยสุนัขตำรวจ ร่วมสมทบไปอีก ๕ ตัวมี โลเก้, เซซาร์, อาโก้, แอนนิต้า และนอร์มา บุกไปตามสวน ๓ กม. จึงพบสมศักดิ์นุ่งกางเกงแพรนอนสูบบุหรี่อย่างสบายอารมณ์อยู่ในกระท่อมเคี่ยวน้ำตาล พอเห็นตำรวจก็จวนตัวจึงเผ่นลงคลอง แต่ถูกปืนไม่รู้ว่ากี่ต่อกี่กระบอกจ่อ เลยต้องกลับขึ้นมาให้จับแต่โดยดี ค้นกระท่อมไม่พบเงินแสนตามที่สายบอก สมศักดิ์บอกเงินส่วนใหญ่ตำรวจก็ค้นไปจากบ้านพ่อของเขาหมดแล้ว เหลือติดตัวอยู่ไม่เท่าไหร่ขอเอาไว้สู้คดีเถอะ แต่ไม่มีข่าวว่าตำรวจใจดีหรือไม่ ตร.ยังอุส่าห์ปีนขึ้นไปค้นหาเงินตามยอดมะพร้าว แต่ก็ไม่พบ
๑๑ น.วันที่ ๑๗ ก.พ. ตำรวจได้ปิดถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ สถานที่เกิดเหตุอีกครั้ง เพื่อบันทึกเหตุการณ์ปล้นประกอบคำรับสารภาพ มีสมศักดิ์กับเฉลิมเท่านั้นที่มาแสดง เริ่มตั้งแต่ตอนเอารถออสตินแวนชนท้ายรถขนเงิน แล้วนิกร หรือเฮง แซ่เจียวถือปืนกลมือแมตเสนลงไปยืนคุมด้านซ้าย เฉลิม หรือเปี๊ยก เย็นนิกร ถือเอ็มทรียืนขนาบด้านขวา สนอง ยืนยง ถือเอ็มทรียืนคุมประตูรถขนเงินด้านคนขับ สมศักดิ์ หรือตุ้ม เนตรมณี ซึ่งเป็นคนขับรถ กับชวลิต หรือแดง รายะเลข และประยูร เกษมรัตน์ ที่ยังจับไม่ได้อีกคน ลงมายืนคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง
ในการไปแสดงแผนครั้งนี้สมศักดิ์ได้เล่าประวัติของตัวเองให้นักข่าวฟังว่า เคยเป็นพนักงานขับรถของบริษัทน้ำอัดลมแห่งหนึ่ง มีเรื่องขัดใจกับผู้จัดการ เลยขับรถลงแช่ในคลองแล้วลาออก ทั้งยังร้องทุกข์กับนักข่าวด้วยว่าในตอนที่ตำรวจเข้าจับนั้น ได้กระชากสร้อยเงินที่คอซึ่งแขวนพระสมเด็จ พระรอด พระกำแพงเขย่ง พระพิมพ์นางพญา และแหวนลงยันต์อีก ๑ วงไป แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นตำรวจสังกัด ร.ต.อ.วุฒิหรือสังกัด พ.ต.ต.สุทัศน์ สุขุมวาท
นอกจากปฏิบัติการของ ๖ ดาวโจรซึ่งเป็นแก๊งหลังวัดสระเกศที่ลงมือปล้นครั้งนี้ กับมีอีก ๑ คนที่ขับรถคอนซูลไปรับจากที่ทิ้งรถขนเงินแล้ว ตำรวจรู้ว่ายังมีอีก ๒ คนที่มีส่วนสำคัญและได้รับส่วนแบ่งก้อนใหญ่ไปด้วย คือ ส.ต.ต.สำอางค์ หรือราเชนทร์ หุ่นจีน อดีตตำรวจสันติบาลที่ถูกไล่ออกเพราะขนฝิ่นจากเชียงรายไปถูกจับที่ลำปาง และศักดิ์ หรือยกไถ่ แซ่ลี้ อดีตนักมวยค่ายศรแดง ในนาม อามัด ศรแดง ซึ่งเพิ่งลาออกจากพนักงานส่งเงินของธนาคารเกษตรสาขาราชวงศ์ก่อนหน้าปล้นไม่กี่วัน
ส.ต.ต.สำอางค์ประพฤติตัวเป็นดาวสังคมเมื่อออกจากราชการ มีเพื่อนฝูงเป็นตำรวจมาก มีผู้เห็นเขาขี่มอร์เตอร์ไซด์ติดตามรถขนเงินและดูการปล้นอยู่ตลอด หลังจากนั้นยังมาแสดงตัวเป็นนักข่าวเฝ้ากองปราบอยู่ ๒-๓ วัน พอรู้ว่าความแตกจึงเผ่นไปกบดานอยู่ที่นครสวรรค์ พ.ต.ต. เชาวน์ ธนสุกาญจน์ อัศวินเจ้าของฉายา “สิงห์ลำพอง” เอา ฮ.ไปจับสำอางได้พร้อมกับเงินที่สนองฝากไว้ ๓ แสนและพาไปขุดเงินส่วนแบ่งของตัวเองที่ใส่ปี๊บฝังดินไว้หลังบ้านพี่ชายที่พระประแดงอีก ๑ แสนบาท
ส่วนยกไถ่ แซ่ลี้ หรืออามัด ศรแดง ซึ่งนายเด๊ท มิโรซ่า หัวหน้าคณะศรแดงบอกว่าเลิกชกมวยไปแล้ว หลังจากถูกเสมา นภาพลถลุงยับ ปล่อยตัวจนอ้วน ปกติก็เป็นคนเรียบร้อย ไม่เกะกะ มีสัมมาคารวะ แต่คงจะเกิดจากความโลภจึงไปร่วมปล้นกับเขา
อามัดเป็นคนส่งเงินและนับเงินของธนาคารเกษตร จึงรู้การเคลื่อนไหวในการขนย้ายเงินของธนาคารพอสมควร มีพยานยืนยันว่าเห็นอามัดนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ของสำอางค์ในวันเกิดเหตุด้วย
หลังจากได้รับส่วนแบ่งแล้ว อามัดก็พาแฟนสาวชาวเหนือพร้อมด้วยเพื่อนรัก เต๊กสุย แซ่โค้ว ขึ้นไปเที่ยวเชียงราย ตำรวจรู้ข่าวจึงขอความร่วมมือกับกองทัพอากาศ นำเครื่องบินซี ๔๕ พา ร.ต.อ.เสน่ห์ อุทัยเสน กับ ร.ต.ท. วุฒิ ภาคอัต ขึ้นไปจับ แต่เที่ยวบินนี้ก็ทุลักทุเลเต็มทนกว่าจะถึงเชียงราย ตอนแรกบินไปถึงตาคลีเครื่องเกิดขัดข้อง เรืออากาศโทดุสิต ศรทัต นักบินต้องนำเครื่องกลับมาดอนเมือง เปลี่ยนเครื่องใหม่ไปอีก ครั้งนี้บินไปเห็นแม่น้ำโขงก็รู้ว่าหลงทางแล้ว จึงโฉบลงดูป้ายอำเภอที่พบ ปรากฏว่าเป็นอำเภอปง จังหวัดน่าน เลยต้องตั้งทิศกันใหม่ คลำจนไปลงสนามบินเชียงรายได้ถูก แต่พอไปถึงก็ได้ข่าวว่าอามัดและเพื่อนออกจากเชียงรายไปแล้ว เข้าใจว่าจะไปเวียงจันทน์
ต่อมาก็ได้ข่าวว่าอามัดกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถด่วนที่กำลังจะเข้าหัวลำโพง พ.ต.อ.จำรัส มังคลารัตน์ กับ ร.ต.อ. ประกอบ ทุนธุสวัสดิ์ จึงพาคนที่รู้จักตัวอามัดไปดักทั้งด้านซ้ายด้านขวาของชานชลารถด่วน แต่ก็ไม่พบ โชคดียังได้พบคนที่รู้จักอามัดมาในขบวนรถเดียวกัน ยืนยันว่าอามัดลงรถไฟที่สถานีดอนเมือง ส่วนเต๊กสุยกับผู้หญิงเพิ่งออกจากหัวลำโพงไปเมื่อครู่ บอกว่าจะจับแท็กซี่กลับไปบ้านที่หน้าโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน ตำรวจจึงตามไปพบเต็กสุย ค้นตัวได้เงิน ๙,๐๐๐ บาท บอกว่าอามัดให้ไว้ ใช้ไป ๑,๐๐๐ บาทแล้ว
ตำรวจควานหาข่าวอยู่ทั้งคืนจึงรู้ว่าอามัดหลบเข้ามาพักที่โรงแรมฮันนี่ สีลม แต่ได้เช่าแท็กซี่ออกไปตั้งแต่ตอนตี ๓ ให้ไปส่งที่มวกเหล็ก สระบุรี พ.ต.อ.จำรัสไม่ลดละตามไปถึงมวกเหล็กเอารูปอามัดให้พ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นดู ก็มีคนเห็นว่าเช่ารถต่อไปที่แคมป์สร้างทางของยูซ่อม ซึ่งกำลังสร้างถนนมิตรภาพอยู่ที่กลางดง ตำรวจตามไปที่แคมป์กลางดง คนงานบอกว่าเห็นไปพักอยู่ที่ห้องของนายต้อยหลังสุดท้าย ตำรวจย่องไปถึงขณะอามัดเข้าห้องส้วมปลดทุกข์อยู่พอดี แม้ตำรวจจะล้อมส้วมไว้แล้วอามัดก็ยังไม่รู้ตัว จนตำรวจเห็นว่านานเกินไปแล้วจึงตะโกนบอกว่า ถ้าปลดทุกข์เสร็จแล้วออกมาคุยกันหน่อย อามัดคนมีสัมมาคารวะของ “น้าเด๊ท” หัวหน้าค่ายศรแดงจึงเปิดประตูออกมายกมือไหว้ประหลกๆ เหงื่อแตกท่วมตัว ยอมรับสารภาพทุกอย่าง ว่าได้ส่วนแบ่งมา ๑ แสนแต่ใช้หมดแล้ว เมื่อ พ.ต.อ.จำรัสถามว่าใช้อะไรถึงได้หมดเร็วนัก อามัดก็ตอบไม่ได้ ตำรวจเลยยึดสร้อยคอหนัก ๑๐ บาทที่อามัดบอกว่าเพิ่งซื้อมาจากห้างเซ่งเฮงหลี เยาวราชในราคา ๑๐,๐๐๐ บาท
พอมีข่าวอามัดถูกจับ ญาติของอามัดคนหนึ่งก็โทรศัพท์มาบอกตำรวจว่า อามัดเอาเงินมาฝากไว้ ๓๐,๐๐๐ บาท อย่ามาค้นบ้านเขาเลยอายเขา พรุ่งนี้จะเอาเงินไปคืนให้ที่กองปราบ
ก่อนหน้าที่ตำรวจจะตามไปจับอามัดที่เชียงราย ได้ไปค้นบ้านของนางยู้ แซ่ลี้ แม่ของอามัดที่ซอยปลูกจิต บ่อนไก่ ถนนพระราม ๔ ได้เงินมา ๓๑,๐๐๐ บาท นางยู้บอกว่าอามัดเอาเงินมาให้ ๔๐,๐๐๐ บาท แต่เอาไปใช้หนี้เขา ๙,๐๐๐ รับว่าจะหาเงินที่ขาดไปมาคืนให้ครบ ขออย่าได้เอาผิดลูกชายเลย และในบ่ายวันที่ ๒๒ ก.พ.นางยู้ก็ทำตามสัญญา เอาเงินที่ขาดไปคืนให้ พล.ต.จ.เยื้อนจนครบ บอกว่ากู้เขามาเสียดอกร้อยละ ๒๐ เพื่อหวังว่าจะทำให้ลูกชายไม่ต้องติดคุก พอดีกับที่อามัดถูกคุมตัวจากกลางดงมาถึงกองปราบ พอ ๒๓.๐๐ น.ของคืนนั้น อามัด ศรแดงหรือยกไถ่ แซ่ลี้ กับ ส.ต.ต.สำอางค์ หุ่นจีน ก็ได้ประกันตัวไปโดยวางหลักทรัพย์คนละ ๑ แสนบาท หลังจากที่ตำรวจได้กันทั้ง ๒ คนไว้เป็นพยาน
ในบ่ายของวันที่ ๒๒ เช่นกัน พลทหารมล ทองธาร ทหารสารวัตรมณฑลทหารบกที่ ๑ ได้เข้าพบ พ.ต.อ.วิชิต รัตนภาณุ รอง ผบ.กองปราบ เล่าว่าในคืนวันที่ ๘ หลังจากมีการปล้น เขาได้ไปงานขึ้นบ้านใหม่ของนางพุด ที่บุคคโล ได้พบกับนายแกละหรือ จรูญ โตชาญชัย ที่ปากตรอกบ้านงาน นายแกละได้ชวนให้ไปเที่ยวบ้าน และเมื่อเข้าไปก็ได้พบโจร ๓ ล้านทั้งคณะ ซึ่งคุ้นเคยกันมาก่อน ชุมนุมพร้อมหน้ากันอยู่ที่นั่น แก๊งโจรเรียกเขาว่า “พี่มล” นายแกละถามว่า “พี่มล มีเงินใช้ไหม ฉันให้พี่มัดหนึ่ง” ว่าแล้วก็เลิกเสื่อที่นั่ง หยิบเงินส่งมาให้ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยเขาไม่ทราบว่าเป็นเงินอะไร และเอาไปเล่นม้าเสียไป ๖,๐๐๐ บาท เที่ยวผู้หญิงอีก เหลืออยู่เพียง ๓๐๐ บาท จึงเอามาคืน
ในที่สุดผู้ร่วมขบวนการปล้น ๓ ล้าน ๕ แสนก็ถูกรวบตัวได้หมดแก๊ง ได้เงินของกลางคืนมาประมาณ ๒ ล้าน ๗ แสน หายไปประมาณ ๘ แสน ซึ่งเงินจำนวนที่หายไปนี้ พล.ต.จ.เยื้อน ประภาวัตร หัวหน้าศูนย์ปราบปรามได้แถลงกับนักข่าวว่า
“เป็นจำนวนที่ตกอยู่ในมือผู้ที่เราไม่อาจสอบสวนได้”
ข่าวการปล้นรถขนเงินธนาคารที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคเป็นประธานนี้ นับเป็นข่าวครึกโครมเกรียวกราวที่สุดในยุคนั้น แม้ช่วงนั้นการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ใกล้เข้ามา มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อตร.เป็นเลขาธิการพรรค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้าพรรค กับพรรคประชาธิปัตย์โดยนายควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค นายใหญ่ ศวิตชาติ เป็นเลขาธิการพรรค แต่ข่าวปล้นเงิน ๓ ล้าน ๕ ก็ทำให้ข่าวการหาเสียงที่ดุเดือดจืดจางไป มีข่าวลือที่พูดกันหนาหูว่าแก๊งปล้นก๊กนี้มี พ.ต.ต.อัศวินของ พล.ต.อ.เผ่า และร.ต.อ.คู่ใจเป็นผู้วางแผน
ในการไปบรรยายเรื่อง “หนังสือพิมพ์ในระบอบประชาธิปไตย” ที่ห้องประชุมของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีเมื่อวันที่ ๑๗ ก.พ.ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ตอบข้อซักถามของนักข่าวหลังการบรรยายว่า
“ตามรายงานของพลตำรวจเอกเผ่า ไม่ปรากฏว่ามีพันตำรวจตรีและร้อยตำรวจเอกร่วมในการปล้น ๓ ล้าน ๕ ด้วย และถ้ามี ผมก็จะจัดการสอบสวนเอง ให้กรมตรวจราชการแผ่นดินเล่นงานให้เต็มที่ และขอปฏิเสธว่าการปล้นครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งพรรคการเมืองของผมก็ไม่ได้เกี่ยวกับการปล้น ถ้าจะมีก็ต้องเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม”
ทำเอาที่ประชุมฮากันครืน
บรรดานักข่าวยังไม่ยอมหยุดความสงสัยในเรื่อง พ.ต.ต. กับ ร.ต.อ.วางแผนปล้น ทั้งเสียงวิจารณ์ในหมู่ประชาชนก็หนาหูขึ้นทุกวัน มีข่าวลือแพร่สะพัดต่างๆนานา เช่น
จอมพลสฤษดิ์ได้เรียก พ.ต.ต.ผู้นี้เข้าไปพบตั้งแต่วันที่ ๙ ก.พ.และบอกเฉียบขาดว่า
“ถ้ามีไอ้พวกปล้น ๓ ล้านอยู่นอกคุก ต้องไม่มีมึงบนแผ่นดินไทย”
นอกจากนี้ยังว่ามีพยานเห็นเหตุการณ์ตอนปล้น และจำสนอง ยืนยงได้ว่าเป็นลูกน้องคนสนิทของ พ.ต.ต.สารวัตรโรงพักสำราญราษฎร์ จึงไปบอกกับ พ.ต.อ.พันธ์ศักดิ์ วิเศษภักดี อตร.เผ่าจึงเรียก พ.ต.ต.ผู้นั้นและร.ต.อ.คู่หูเข้าพบ ตบหน้าเสียหลายทีจนยอมเปิดเผยเรื่องทั้งหมด ทำให้ตำรวจจับดาวปล้นทั้งแก๊งได้อย่างกับตาทิพย์
บ้างก็ว่าโจรแก๊งนี้ซึ่งเป็นลูกน้องของ พ.ต.ต.วางแผนปล้นกันเอง พ.ต.ต.รู้จึงห้ามไว้ แต่ก็ยังไปปล้นกันจนได้ บอกจะขอปล้นเป็นครั้งสุดท้าย
จอมพล ป. เห็นว่าข่าวลือแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและพรรคเสรีมนังคศิลา สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีก ๑ สัปดาห์ จึงได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนเรื่องนี้ในวันที่ ๑๙ ก.พ. โดยมี พล.อ.สวัสดิ์ สวัสดิรณรงค์ อธิบดีกรมตรวจราชการแผ่นดินเป็นประธาน ประกอบด้วย อธิบดีกรมอัยการ เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปกครอง เพื่อคลี่คลายเรื่องนี้ให้กระจ่าง คณะกรรมการได้ประกาศขอความร่วมมือผู้ที่มีหลักฐานหรือพยานบุคคลได้ช่วยให้ข้อมูลกับคณะกรรมการ โดยรับรองว่าจะปิดเรื่องที่ให้ความร่วมมือไว้เป็นความลับ
วันที่ ๒๒ ก.พ. พล.ต.จ.เยื้อน ประภาวัตร หัวหน้าศูนย์ปราบปรามคดีปล้นรถขนเงินแบงก์เอเชีย ได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการ พร้อมทั้งแจ้งผลงานของ พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ และ ร.ต.อ.จำรวย ประจันตเขต สองอัศวิน ว่าได้ช่วยเหลือการติดตามคนร้ายเป็นอย่างดี
ในวันที่ ๒๕ ก.พ. พล.ต.จ.เยื้อนได้อ่านโรเนียวแถลงผลการปราบปรามคดีปล้น ๓ ล้าน ๕ โดยละเอียดต่อหน้านักข่าว นักข่าวข้องใจการปฏิบัติงานของ พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ กับ ร.ต.อ. จำรวย ประจันตเขตในวันที่นายสนอง ยืนยงมอบตัวที่บ้านนางทองมาก เจริญสวัสดิ์ ที่รังสิต ในที่สุด พล.ต.จ.เยื้อนก็ยอมรับว่าไม่ได้เข้าไปพบกับนายสนองด้วยตัวเอง แต่ พ.ต.ต.ประชากับ ร.ต.อ.จำรวยข้ามคลองไปโดยมีนายเฉลิมหรือเปี๊ยก ผู้ต้องหาคนหนึ่งรับอาสาพาไปชี้ที่ซ่อน และเกลี้ยกล่อมนายสนองมามอบให้กับตนซึ่งคอยอยู่ที่ริมถนนพหลโยธิน
นักข่าวซักถึงเรื่องที่มีการย้ายเงิน ๕ แสนบาทออกจากบ้านนางทองมากในตอนนั้นด้วย พล.ต.จ.เยื้อนกล่าวว่า
“อาจเป็นเพราะนายสนองสั่งให้ย้ายหนี หรือว่ามีตำรวจร่วมด้วย ตอนนี้เป็นช่องโหว่อยู่ ผมเสนอให้อธิบดีกรมตรวจราชการแผ่นดินรับไปพิจารณาแล้ว แต่คุณอย่าลืมว่าผมได้เอาเงินจำนวนนี้คืนได้แล้วที่บ้านนางแสงแม่นางทองมาก เป็นเงิน ๔ แสนบาทเศษแล้วนะ”
ระหว่างนี้ตำรวจก็ได้รับรายงานว่าสนอง ยืนยงวางแผนจะหนีออกมาชำระแค้นให้ได้ เพราะถูกหักหลังที่วางแผนให้ปล้นแล้วชี้ให้จับ โดยจะฉวยโอกาสตอนย้ายจากโรงพักพญาไทมาสอบสวนที่กองปราบสามยอด พอผ่านจุดที่มีการหาเสียงเลือกตั้งก็จะกระโดดลงจากรถตำรวจวิ่งเข้าหาฝูงชน แต่ครั้งที่แล้วการเตรียมงานยังไม่พร้อมต้องคอยโอกาสต่อไป ตำรวจจึงต้องคุมเข้มอย่างหนัก
ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ประชาชนทั่วประเทศพากันคัดค้านว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ มีการโกงกันอย่างโจ่งแจ้ง มีการทิ้ง “ไพ่ไฟ” พรรครัฐบาลใช้อันธพาลเข้าข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงกันข้าม เกชา เปลี่ยนวิถี หนุ่มสังคมผู้เป็นนักเลงใหญ่ต้องหาว่าปล้นฟิล์มรถตระเวนข่าว นสพ.ไทรายวันซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของจอมพลสฤษดิ์ เกชาบอกเมื่อตอนมอบตัวสู้คดีว่า “ผมแบมือขอเฉยๆ” นักศึกษาเริ่มก่อหวอดแสดงความไม่พอใจการเลือกตั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลดธงลงครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัยประชาธิปไตย จอมพล ป.เกรงว่าเรื่องจะลุกลามไปอีกจึงประกาศภาวะฉุกเฉินป้องกันนักศึกษาเดินขบวน และตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อย แต่นักศึกษาก็เดินขบวนใหญ่จนได้ ขอให้ประกาศการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จอมพลสฤษดิ์แทนที่จะปราบ กลับถือโอกาสหาเสียงกับนักศึกษาและประชาชน โดยสั่งไม่ให้ทหารทำร้ายประชาชน
ข่าวใหญ่ของประเทศช่วงนี้ทำให้ข่าวคืบหน้าของคดีปล้นเงิน ๓ ล้าน ๕ เงียบสนิท จนในวันที่ ๑๗ มี.ค.แก๊งโจรปล้นเงินก็ตกเป็นข่าวพาดหัวอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นข่าวฮา
กลางดึก ๑.๐๐ น.ของวันที่ ๑๖ มี.ค.ปรากฏมี ๕ สาวแต่งตัวสวยพริ้งใส่น้ำหอมกลิ่นฟุ้ง บุกขึ้นไปที่กองปราบสามยอด ร.ต.อ.เกียรติ ตีระแพทย์ ร้อยเวรถามความประสงค์ เธอทั้ง ๕ ก็บอกว่าเป็นภรรยาของ ๕ ผู้ต้องหา คือสมศักดิ์หรือตุ้ม นิกรหรือเฮง เฉลิมหรือเปี๊ยก ชวลิตหรือแดง จรูญหรือ แกละ จะมาขอนอนกับสามีเป็นครั้งสุดท้าย ผู้ต้องหาพอรู้ว่าเมียมา ก็ตื่นมาเกาะลูกกรงขังฮือฮากันด้วยความดีใจ ร้อยเวรจึงบอกว่านับแต่ตั้งกรมตำรวจมายังไม่เคยมีระเบียบนี้จึงอนุญาตให้ไม่ได้ ๕ สาวก็อ้างว่า พล.ต.จ.เยื้อนได้สัญญาไว้ว่าก่อนจะพาตัวผู้ต้องหาไปส่งศาล จะอนุญาตให้ภรรยาเข้าไปนอนกับสามีได้เป็นครั้งสุดท้าย ร้อยเวรว่าถ้าท่านสัญญาเช่นนั้นจริงก็ไปเอาคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรมาจะอนุญาตให้เข้าไป พวกเธอทั้ง ๕ จึงพากันกรี๊ดด้วยความไม่พอใจ ข้างในห้องก็ตะโกนเอ็ดอึงอย่างผิดหวัง ในที่สุดเมื่อรู้ว่าร้อยเวรไม่ยอมแน่ ก็มีเสียงนิกรหรือเฮงตะโกนออกมาว่า “พรุ่งนี้ไปพบพี่ที่ศาล ต่อไปไปเยี่ยมพี่ที่ลหุ” ทั้ง ๕ นางจึงยอมเยื้องย่างกลับไปอย่างผิดหวัง
ในที่สุดดาวโจรที่ปล้นครั้งนี้ทั้ง ๖ คนก็ถูกศาลพิพากษาจำคุกไปตามความผิดของแต่ละคนซึ่งไม่ต่ำกว่าคนละ ๑๕ ปี สนอง ยืนยงคนเดียวต้องโทษประหารชีวิต แม้เขาจะต่อสู้ถึงศาลฎีกา ศาลสุดท้ายก็ยังคงพิพากษายืนตามศาลต้น แต่ในระหว่างถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนอยู่ในแดนขังที่เข้มงวดที่สุดรอการประหารนั้น สนองก็แสดงอภินิหารสลัดโซ่ตรวน ได้รับชุดผู้คุมพร้อมปืนสั้นขนาด .๓๒ พานักโทษประหารอีก ๔ คนแหกคุกบางขวางหนีรอดออกไปได้ ๓ คน ถูกยิงตายก่อนพ้นประตู ๒ คน และหนึ่งในสองที่ถูกยิงตายนั้นก็คือเขาเอง สนอง ยืนยง
เป็นการปิดฉากชีวิตของขุนโจรหัวหน้าแก๊งปล้นเงิน ๓ ล้าน ๕ ของธนาคารเอเชีย ผู้หาญลูบคมจอมพลสฤษดิ์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค แต่ใครล่ะที่วางแผนแยบยลให้เขาปล้น วางแผนหลอกให้ตำรวจที่ติดตามหัวปั่น และวางแผนให้แหกคุกหนีโทษประหาร ขนาดมีชุดผู้คุมแต่งพร้อมปืน ยังมืดมนมาจนถึงทุกวันนี้