อำนาจบาตรใหญ่มีให้เห็นทุกยุคทุกสมัย ที่เป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ คงหนีไม่พ้น "ซี 7 ขี้ยัวะ" ตบบ้องหูพนง.ตรวจค้นอาวุธสนามบินสุวรรณภูมิ เหตุไม่พอใจที่ถูกตรวจค้น ล่าสุดกับการใช้กรวยฟาดกะโหลก ตบบ้องหู ลงโทษอส.สมุทรสาคร แม้คู่กรณีโต้กลับ บอกแค่สั่งสอนเบาๆ เพราะไม่ยอมทำความเคารพข้าราชการ แต่ก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเกินกว่าเหตุ เข้าข่ายทำร้ายร่างกาย และเหยียดหยามความเป็นมนุษย์
เหตุเกิดเพราะไม่ทำความเคารพ
เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนขณะนี้ เมื่ออาสารักษาดินแดนจังหวัดสมุทรสาคร วัย 35 ปี ขึ้นโรงพักเข้าแจ้งความเอาผิดป้องกันจังหวัดสมุทรสาครวัย 44 ปี ในข้อหาก่อเหตุทำร้ายร่างกายด้วยการใช้กรวยจราจรฟาดอย่างจังไปที่ศีรษะ ก่อนจะใช้มือตบบ้องหูข้างซ้ายจนหมวกในชุดเครื่องแบบหลุดกระเด็นลงกับพื้น เหตุไม่ทำความเคารพข้าราชการที่มาศาลากลาง
นอกจากนั้น ตามรายงานข่าวยังระบุด้วยว่า มีอส.จำนวนหนึ่งที่เดินทางเข้าพบปลัดจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกลงโทษด้วยความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ บางครั้งยังใช้ถ้อยคำรุนแรงด่าทอ ซึ่งปลัดจังหวัดสมุทรสาครรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอผู้ว่าฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ดี หลังจากชาวเน็ตได้ติดตามข่าว และเห็นคลิปจากกล้องวงจรปิดก็มีทั้งฝ่ายที่มองว่า เป็นการทำโทษธรรมดา ไม่ได้รุนแรงอะไร ในขณะที่บางส่วนมองว่าทำเกินกว่าเหตุ
ด้านป้องกันจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ชี้แจงผ่านสื่อว่า ตามระเบียบ และกฎของ อส. เวลามีข้าราชการเดินผ่าน ต้องทำความเคารพ แต่ อส.คนดังกล่าว ฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่ปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง จึงตักเตือน และลงโทษด้วยการยกกรวยยางขึ้นตีที่ศีรษะเบาๆ ก่อนตบบ้องหูในลักษณะการตักเตือน โดยยืนยันว่า ไม่ได้ตบแรง และไม่ได้มุ่งหวังจะทำร้ายร่างกาย หรือมีอคติส่วนตัว นอกจากนั้นยังเปิดเผยอีกว่า อส.คนดังกล่าว ฝ่าฝืนกฎอีกหลายอย่าง และมักจะถูกลงโทษอยู่เสมอ ล่าสุดได้เรียนผู้บังคับบัญชาให้ทราบแล้ว
ร้อนไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครต้องจัดการตามระเบียบของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยมีคำสั่งย้ายคู่กรณีทั้ง 2 คนไปปฏิบัติงานที่อื่นก่อน หลังจากนั้นก็จะมีการตั้งชุดคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งคาดว่าภายใน 15 วันก็จะรับทราบผลการพิจารณา
เขียนถึงกรณีนี้ก็ชวนให้นึกถึงคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเมื่อปี 2555 "ข้าราชการซี 7 ขี้ยัวะ" ตบบ้องหูพนักงานตรวจค้นอาวุธสนามบินสุวรรณภูมิ เหตุไม่พอใจที่ถูกตรวจค้น นับเป็นอีกหนึ่งตัวสะท้อน "การใช้อำนาจบาตรใหญ่" ที่ไม่เคยหายไปไหน รวมไปถึงระบบความยุติธรรมในสังคมไทยที่ยังถูกตั้งคำถามมาตลอด โดยเฉพาะกับคนที่มีเส้นสาย หรือมีเงินมีอำนาจ
อย่างกรณี "ซี 7" ผลสอบก็เป็นไปตามคาด ไม่ได้ทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง เนื่องจากมีอาการทางประสาท และส่งผลให้เจ้าตัวต้องหยุดพักไปรักษาตัวเป็นเวลา 2 เดือนเท่านั้น ทำให้หลายคนสงสัย แท้จริงแล้วการลงโทษทางวินัยของข้าราชการนั้น มีมาตรฐานอย่างไร และถ้าข้าราชการคนนี้ป่วยจริง เหตุใดก่อนหน้านี้จึงยังสามารถมาทำงานได้ปกติเหมือนไม่ได้ป่วย หรือแท้ที่จริงแล้ว อาการป่วยเป็นเพียงข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงโทษทางวินัยหรือไม่
ดูชัดๆ ข้อกฎหมายบทลงโทษ
พูดถึง "อาสารักษาดินแดน" หรือเรียกย่อๆ ว่า "อส." เป็นเจ้าพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วย อส. เรียกว่ากองอาสารักษาดินแดน จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2497 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ แม้จะเป็นลูกน้องของข้าราชการ แต่มิได้หมายความว่าจะถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษ และเหยียดหยามความเป็นมนุษย์อย่างไรก็ได้
หากเปิดดูพระราชบัญญัติวินัยกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2509 ได้ระบุ "การลงทัณฑ์" แก่ผู้กระทำผิดวินัยไว้ในมาตรา 8 โดยมี 3 สถานด้วยกันคือ ภาคทัณฑ์, ทัณฑกรรม และกักบริเวณ
- ภาคทัณฑ์ ใช้สำหรับผู้กระทำผิดวินัย แต่มีเหตุอันควรปรานี โดยแสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏไว้เป็นหนังสือ และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
- ทัณฑกรรม ใช้สำหรับผู้กระทำผิดวินัย โดยให้ทำงานสุขาภิบาล งานโยธา หรืองานอื่นทำนองเดียวกันเพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว
- กักบริเวณ ใช้สำหรับผู้กระทำผิดวินัย โดยกักตัวไว้ในบริเวณหนึ่งบริเวณใดตามแต่จะกำหนดให้
นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า ห้ามลงทัณฑ์อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้เด็ดขาด และให้ลงทัณฑ์ได้เพียงสถานเดียวเท่านั้น
หากผู้อยู่ในบังคับบัญชาเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจ หรือสั่งลงทัณฑ์ในทางที่ผิด หรือไม่เป็นธรรมหรือผิดกฎหมาย ระเบียบแบบธรรมเนียม หรือวินัยกองอาสารักษาดินแดน หรือเห็นว่าตนเสียประโยชน์หรือสิทธิตามที่ควรได้ "มีสิทธิร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปหนึ่งชั้นได้" แต่ถ้าข้อความที่ร้องทุกข์เป็นความเท็จจะถือว่าผู้ร้องทุกข์กระทำผิดวินัยกองอาสารักษาดินแดน
สำหรับการลงทัณฑ์นั้น ก่อนการลงทัณฑ์ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นอย่างน้อย 3 คนเพื่อทำการสอบสวน ผู้เป็นประธานกรรมการต้องมียศสูงกว่าผู้ถูกสอบสวนและผู้ที่เป็นกรรมการต้องมียศไม่ต่ำกว่าผู้ถูกสอบสวน ส่วนในกรณีที่ผู้กระทำผิดได้กระทำผิดต่อหน้าผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจสั่งลงทัณฑ์หรือได้รับสารภาพต่อผู้บังคับบัญชานั้นให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งลงทัณฑ์สั่งลงทัณฑ์ได้โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน
อย่างไรก็ดี การสั่งลงทัณฑ์ผู้ใดจะต้องพิจารณาให้ได้ความชัดเสียก่อนว่าผู้นั้นได้กระทำผิดจริงแล้วจึงสั่งลงทัณฑ์ตามควรแก่ความผิดนั้น และในคำสั่งลงทัณฑ์ให้แสดงความผิดว่ากระทำผิดวินัยตามมาตราใด และข้อใด ซึ่งการกระทำผิดวินัยมีการระบุไว้ชัดเจน เป็นข้อๆ ดังนี้
1. ดื้อดึง ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่
2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของกองอาสารักษาดินแดน
4. ก่อให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในกองอาสารักษาดินแดน
5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่
6. กล่าวเท็จต่อผู้บังคับบัญชา
7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควรหรือประพฤติไม่สมควร
8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือไม่ลงทัณฑ์ผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
9. เสพสุรายาเมาจนเสียกิริยา หรือเสพยาเสพติดให้โทษ
10. กระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเชิงบังคับผู้บังคับบัญชาเป็นทางทำให้เสียวินัยกองอาสารักษาดินแดน
ส่วนกรณีข่าวที่เกิดขึ้น คงต้องติดตามต่อไปว่า หลังสั่งย้ายคู่กรณีทั้ง 2 คนไปปฏิบัติงานที่อื่น และตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา การพิจารณาจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าภายใน 15 วันคงจะรู้ผล ล่าสุดภรรยาของอส.ที่ถูกกรวยตบถูกผู้ว่าฯ สั่งย้ายด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นคนเอาภาพวงจรปิดไปโดยไม่ได้รับอนุญาต บอกที่ทำไปเพราะช่วยสามี ถูกสั่งย้ายแบบนี้เหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม
รู้จัก "อส." อาสารักษาดินแดน
"อาสารักษาดินแดน" เป็นเจ้าพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีกำลังสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติทั้งยามปกติและยามสงคราม โดยรับสมัครราษฎรที่สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน เรียกว่า สมาชิก อส.
สำหรับแนวคิดการจัดตั้ง มีขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติในยามศึกสงคราม โดยตราพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดนขึ้น กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2497 และถือเอาวันที่ 10 กุมภาพันธ์เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน
ปัจจุบัน สมาชิก อส. กระจายอยู่ทุกจังหวัด อำเภอ และกิ่งอำเภอทั่วประเทศ ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย รวมทั้งช่วยเฝ้าระวังเรื่องยาเสพติดบริเวณชายแดนและพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะรับสมัครจากราษฎรที่อาสาเข้ามา แต่ก็มีการฝึกฝนและอบรมอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับทหาร ตำรวจ รวมถึงมีเครื่องแบบ ชุดฝึก และชั้นยศด้วย
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754