เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นระหว่างปี ๒๔๘๒-๒๔๘๘ ไทยเราเป็นประเทศหนึ่งที่ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อังกฤษและอเมริกา เข้าร่วมรบกับฝ่ายอักษะ คือ ญี่ปุ่นและเยอรมัน
เมื่อสงครามสงบ ญี่ปุ่นและเยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต้องสูญเสียและชดใช้ค่าเสียหายในสงครามมากมาย แต่ไทยเรากลับไม่ได้เป็นฝ่ายแพ้ด้วย ทั้งยังสวนสนามฉลองชัยชนะเสียอีก
นี่ก็เป็นผลจากการปฏิบัติงานของขบวนการเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศ ที่เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ขณะที่รัฐบาลที่ปกครองประเทศเข้าร่วมกับญี่ปุ่น
เสรีไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร และสร้างวีรกรรมอะไรไว้...
กลางดึกล่วงเข้าวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพเข้าบุกประเทศไทยทางด้านตะวันออกของกัมพูชา และยกพลขึ้นบกด้านอ่าวไทยที่บางปู สมุทรปราการ อ่างมะนาว ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา จนถึงปัตตานี ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ และพลเรือนในพื้นที่ ได้ต่อสู้ป้องกันประเทศอย่างกล้าหาญ ไม่ได้เกรงกลัวกองทัพลูกพระอาทิตย์ที่ยิ่งใหญ่นั้นเลย สละชีพเพื่อชาติไปหลายร้อยคน
ราว ๗.๐๐ น.ของวันนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ออกคำสั่งไปตามจุดต่างๆให้ยุติการต่อต้านญี่ปุ่น อ้างว่าญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่ายไทยเพื่อไปตีมลายูและพม่าของอังกฤษเท่านั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างฉุกเฉินในเช้าวันนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รมต.คลัง ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า การต่อต้านญี่ปุ่นคงทำไม่ได้เพราะกำลังน้อยกว่ามาก ฉะนั้นต้องควบคุมให้ญี่ปุ่นแค่เดินทัพผ่านเท่านั้น ตามสัญญาที่ญี่ปุ่นยอมเซ็นว่าจะเคารพเอกราช อธิปไตย และกฎหมายของไทยอย่างเคร่งครัด พยายามเกี่ยวพันกับการรบของญี่ปุ่นให้น้อยที่สุด แต่ดร.ปรีดีก็คิดว่าเป็นการยากที่จะให้ญี่ปุ่นยึดถือสัญญาตลอดไป อีกทั้งรัฐมนตรีหลายคนยังมีใจโน้มเอียงไปทางญี่ปุ่นว่าจะเป็นผู้ชนะสงคราม จึงอยากจะให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ชนะด้วย โดยร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่นไปเสียเลย
ฉะนั้นหลังจากเลิกประชุม ครม. ดร.ปรีดีจึงขอให้นายทวี ตะเวทิกุล และนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นัดหมายบุคคลที่ไว้วางใจได้ให้ไปร่วมปรึกษาหารือกันที่บ้านถนนสีลม บุคคลที่มาพบในคืนนั้นก็มี หลวงบุรกรรมโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) นายสงวน ตุลารักษ์ นายกำจัด พลางกูร ดร.วิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล เป็นต้น จากการปรึกษาหารือกันในชะตากรรมของชาติ ทุกคนก็ตกลงใจที่จะพลีชีพต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน จัดตั้ง “องค์กรต่อต้านญี่ปุ่น” ขึ้น โดยให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อแสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วคนไทยไม่ได้เป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตร
ใกล้ ๒๔.๐๐ น.ของคืนนั้น นาวาอากาศเอกหลวงกาจสงคราม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ และเป็นหนึ่งในคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มาพบ ดร.ปรีดีอีกคน ปฏิญาณว่าจะขอปฏิบัติตามคำสั่งของปรีดีในการกู้ชาติด้วย และเสนอความคิดให้ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในพม่า ดร.ปรีดีจึงขอให้หลวงกาจฯเดินทางไปนครสวรรค์ หากำลังทหารยึดชุมทางรถไฟที่ปากน้ำโพไว้ก่อน
หลวงกาจหายไป ๓ วันก็กลับมารายงานว่า ได้ไปนครสวรรค์มา แต่พบว่าทหารญี่ปุ่นยึดทางรถไฟสายเหนือไว้หมดแล้ว
ที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ได้เข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ สอบถามเกี่ยวกับข่าวคราวในประเทศไทย และแจ้งให้ทราบว่า ข้าราชการสถานทูตไทยทั้งหมดได้ตกลงใจที่จะเป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลไทย และจะขอช่วยสหรัฐในการทำสงคราม อีกทั้งยังเสนอให้เงินและทรัพย์สินทั้งหมดของรัฐบาลไทยในอเมริกา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำสงครามด้วย
จากนั้น นักเรียนไทยในสหรัฐราว ๓๐ คนได้มาประชุมร่วมกับข้าราชการสถานทูตที่กรุงวอชิงตัน ที่ประชุมตกลงใช้คำว่า “เสรีไทย” หรือ “Free Thai” ตามข้อเสนอของ นายจก ณ ระนอง นักเรียนไทยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
ส่วนที่อังกฤษ นักเรียนไทยอาทิเช่น นายเสนาะ นิลกำแหง นายเสนาะ ตันบุญยืน นายสว่าง สามโกเศศ ม.ล.จิระยุ นพวงศ์ นายยิ้มยล แต้รุจิ ม.จ.ภีศเดช รัชนี และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรึกษากันว่าควรจะตั้งคณะเสรีไทยขึ้นเช่นเดียวกับในอเมริกา จึงได้ทาบทาม พระมนูเวทย์วิมลนาถ อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ให้เป็นหัวหน้าคณะ แต่พระมนูฯปฏิเสธ ทั้งยังแนะนำให้นักเรียนไทยปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลไทย คือเดินทางกลับประเทศ และเมื่อไปเฝ้าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งประทับอยู่ที่อังกฤษ ก็ได้รับการปฏิเสธอีกราย ว่าไม่มีพระประสงค์จะเกี่ยวกับการเมือง ทรงสมัครเข้าอยู่ในกองรักษาดินแดนของอังกฤษแล้ว สำหรับพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ พระเชษฐา ทรงสนพระทัยที่จะร่วมขบวนการเสรีไทยด้วย แต่ทรงห่วงว่าอาจเป็นปัญหาด้านการเมืองในประเทศไทยได้ ในที่สุดเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชส่ง นายมณี สาณะเสน มาประสานงาน เสรีไทยสายอังกฤษจึงก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงเป็นเสรีไทยฝ่ายพลเรือน และพระเชษฐาเป็นเสรีไทยฝ่ายทหารด้วย
ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคมเป็นต้นมา ดร.ปรีดีได้แสดงความเห็นใน ครม.หลายครั้งที่ไม่เป็นมิตรกับญี่ปุ่น คัดค้านไม่ให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมกิจกรรมใดๆกับญี่ปุ่น นอกจากให้เดินทัพผ่าน และให้ญี่ปุ่นรักษาสัญญาอย่างเคร่งครัด ญี่ปุ่นจึงบีบให้เอา ดร.ปรีดีพ้นจาก ครม. ขณะนั้นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เหลืออยู่ ๒ คน ยังไม่มีการตั้งใครขึ้นแทนเจ้าพระยายมราชซึ่งถึงอนิจกรรม จอมพล ป. จึงถือโอกาสตั้ง ดร.ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนที่ ๓ ให้พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ดร.ปรีดีก็ได้ย้ำกับจอมพล ป. และพล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจว่า แม้จะพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีก็ตาม ตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองยังคงอยู่ ทั้งนี้ดร.ปรีดีต้องการใช้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นศูนย์ของขบวนการเสรีไทย โดยมี ดร.วิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการเสรีไทย
ขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ขยายเครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง สมาชิกที่ห่างตัวออกไปจะรู้แต่เพียงว่า ผู้ที่เป็นหัวหน้าขบวนการนี้ ก็คือผู้ที่ใช้รหัสประจำตัวว่า “รู้ธ” แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร
ผู้รักชาติทุกอาชีพต่างเข้ามาเป็นเสรีไทย ผู้แทนราษฎรหลายจังหวัดก็จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นในจังหวัดของตน อย่างเช่น นายเตียง ศิริขันธ์ จังหวัดสกลนคร นายจำลอง ดาวเรือง มหาสารคาม นายถวิล อุดล ร้อยเอ็ด นายพึ่ง ศรีจันทร์ อุตรดิตถ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อุบลราชธานี เจ้าวงศ์แสน ศิริพันธ์ และนายทอง กันทาธรรม จังหวัดแพร่ นายวุฒิ สุวรรณรักษ์ สุราษฏร์ธานี เป็นต้น
ทางด้านทหาร นายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้ง ๓ เหล่าทัพก็เข้าร่วมปฏิบัติการกับเสรีไทยอย่างลับๆ อาทิเช่น พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติการแทนแม่ทัพใหญ่ พล.ท.สุข ชาตินักรบ เสนาธิการกองทัพบก พล.อ.ท.หลวงเชิดวุฒากาศ เสนาธิการทหารอากาศ น.อ.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บังคับการนาวิกโยธิน น.อ.ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ เป็นต้น
ทางด้านตำรวจ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจและรองนายกรัฐมนตรี ก็รู้เรื่องเสรีไทยมาตลอด แต่ยังลังเลไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาด กระนั้นเมื่อเสรีไทยจากต่างประเทศโดดร่มลงมาและถูก ตร.จับได้ พล.ต.ต.อดุล ก็ให้สันติบาลรับตัวมาควบคุมไว้ไม่ให้ตกไปถึงมือญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ยอมให้เสรีไทยส่งข่าวไปยังหน่วย จนกระทั่งในปี ๒๔๘๗ ปลายสงคราม พล.ต.ต.อดุล จึงได้เข้าร่วมกับเสรีไทยอย่างเต็มตัว เข้ารับตำแหน่งรองหัวหน้าขบวนการ ทำให้งานของเสรีไทยราบรื่นยิ่งขึ้น
ดร.ปรีดีได้ชักชวนให้ พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจอมพล ป. มาร่วมขบวนการเสรีไทยในตำแหน่งสารวัตรใหญ่ทหาร เพื่อคุ้มครองการทำงานของเสรีไทย พล.ร.ต.สังวรณ์ได้จัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตรและโรงเรียนนายสิบสารวัตรขึ้น รับสมัครนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเตรียมอุดม และนักเรียนเตรียมปริญญาธรรมศาสตร์ จำนวน ๗๐๐ คน เข้ารับการฝึกอาวุธที่สัมพันธมิตรแอบส่งมาให้ เพื่อผลิตนายทหารและนายสิบทำหน้าที่บังคับบัญชาพลพรรคเสรีไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายอเมริกันแนะนำไม่ให้เสรีไทยทำการต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยจนกว่าจะถึงเวลาอันควร คอยแต่ขัดขวางญี่ปุ่นไว้เท่านั้น เสรีไทยจึงใช้ยุทธวิธีทำลายการขนส่งยุทธสัมภาระและเสบียงของญี่ปุ่น เช่น “หน่วยแมวน้ำ” ดำน้ำไปเจาะเรือขนส่งของญี่ปุ่นจมไปหลายลำ และปฏิบัติการของเสรีไทยที่โด่งดังมากในยุคนั้นก็คือ “หน่วยไทยถีบ” ที่ลอบขึ้นไปบนขบวนรถไฟขนยุทธสัมภาระของญี่ปุ่น แล้วถีบวัสดุต่างๆลงมาไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม แม้ภายหลังญี่ปุ่นจะจัดกำลังคุ้มกันอย่างแน่นหนายิ่งขึ้น หน่วยไทยถีบก็ยังทำงานได้ผลอยู่ดี สร้างความเสียหายให้แก่กองทัพญี่ปุ่นเป็นอันมาก
ส่วนเสรีไทยในอังกฤษ อเมริกา เมื่อได้รับการฝึกการรบแบบกองโจร การโดดร่ม และการรับส่งวิทยุแล้ว จะมาฝึกเพิ่มเติมที่อินเดียและลังกาอีกก่อนทยอยเดินทางเข้าไทย โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขึ้นที่เมืองจุงกิง ประเทศจีน ซึ่งเป็นกองบัญชาการของจีนคณะชาติ
เสรีไทยในอังกฤษที่เป็นฝ่ายทหาร ยังได้รับการบรรจุเข้าประจำการในกองทัพอังกฤษด้วย รวมทั้ง พ.ต.ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ และ ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
เสรีไทยจากต่างประเทศที่ทยอยเข้าไทย ได้เข้าร่วมปฏิบัติการกับเสรีไทยในประเทศ ส่งวิทยุติดต่อประสานงานกับกองบัญชาการสัมพันธมิตร และสร้างสนามบินลับขึ้นตามจังหวัดต่างๆ โดยเดินทางเข้ามาทางลาว แต่ส่วนใหญ่จะมาทางเครื่องบิน โดดร่มลงตามจุดต่างๆทั่วทุกภาค บ้างก็มาทางเรือดำน้ำขึ้นฝั่งทางภาคใต้
ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งกำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และใช้ชื่อรหัสว่า “เข้ม” ได้ถูกส่งมาไทยทางเรือดำน้ำจากลังกาในเดือนกันยายน ๒๔๘๖ กำหนดขึ้นบกที่ตะกั่วป่าพร้อมกับเสรีไทยอีก ๒ คนโดยมี ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท เดินทางจากยูนานถือสารจากรัฐบาลอังกฤษมาถึง “รู้ธ” นัดหมายให้คอยรับ “ช้างเผือก” ซึ่งเป็นรหัสของเสรีไทยสายอังกฤษ โดยชุดแรกจะมาพร้อมเครื่องรับ-ส่งวิทยุ
เรือดำน้ำลอยลำห่างฝั่ง ๔-๕ ไมล์ กลางวันต้องจมอยู่ก้นทะเล กลางคืนจึงโผล่ขึ้นมาดูสัญญาณจากฝั่ง แต่คอยอยู่หลายคืนก็ไม่มีสัญญาณ เลยต้องกลับลังกา มารู้ภายหลังว่าสารที่ส่งมาจากยูนานไม่ถึงมือ “รู้ธ”
ดร.ป๋วยได้เล่าไว้ในบทความเรื่อง “ทหารชั่วคราว” ว่า
“การเดินทางด้วยเรือใต้น้ำ มีเวลาตื่นเต้นอยู่บ้างในเมื่อทราบว่า มีเรือใหญ่อยู่เหนือผิวน้ำใกล้เคียงกับที่เราจมอยู่ อาจจะเป็นเรือญี่ปุ่นหรือเรือไทยก็เป็นได้ แล้วเราก็ไม่ทราบแน่ว่าเรือลำนั้นเป็นเรือของเราหรือไม่ แต่เราได้พยายามรักษาความเงียบสงัดไว้เพื่อความปลอดภัย ข้าพเจ้าเองแทบจะไม่กล้าหายใจ เพราะรู้สึกว่าลมหายใจเป็นเสียงดังอย่างไม่น่าเชื่อ”
ดร.ป๋วยและเพื่อนถูกส่งไปฝึกโดดร่มที่อินเดียและกลับมาใหม่พร้อมกับเพื่อนอีก ๒ คน โดดร่มลงในเวลากลางคืน กำหนดจะลงที่ผืนป่าของจังหวัดตากเขตติดต่อกับนครสวรรค์ แต่กลับไปลงที่หมู่บ้านวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ดร.ป๋วยโชคร้ายหน่อยที่ลงมาโดนคันนาทำเอาข้อเท้าแพลง ทั้ง ๓ จึงรีบเก็บร่มและหลบไปซ่อนตัวในป่าให้ลึกที่สุด เพราะรู้ว่าจุดที่ลงนั้นอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน และรัฐบาลได้ประกาศให้ตำรวจ ทหาร ประชาชน สอดส่องคอยดูพวก “แนวที่ ๕” ที่เล็ดลอดเข้ามา
ดร.ป๋วยและเพื่อนพยายามวิทยุติดต่อกองบัญชาการที่อินเดียแต่ก็ไม่ได้ผล ในเช้าของวันที่ ๓ ขณะที่เพื่อนอีก ๒ คนแยกไปส่งวิทยุ ดร.ป๋วยกำลังนั่งดูแผนที่ ก็ถูกชาวบ้านและตำรวจบุกเข้าล้อมจับ ดร.ป๋วยพยายามตะโกนบอกว่า “ยอมแพ้ จับไปเถิด” เพื่อให้เพื่อนอีก ๒ คนได้ยิน จะได้รู้ตัวหนีไป ตำรวจและชาวบ้านคิดว่า ดร.ป๋วยเป็นพวก “แนวที่ ๕” ที่เข้ามาทำจารกรรม จึงรุมซ้อม ชกต่อยเตะอย่างไม่ปราณี ดร.ป๋วยเล่าถึงความรู้สึกในนาทีที่จนมุมไว้ว่า
“ความคิดต่างๆ แล่นพรั่งๆ เข้าสมองข้าพเจ้า ไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนมาหลัง คิดถึงคู่รักที่ลอนดอน คิดถึงเพื่อนร่วมปฏิบัติการที่อังกฤษ อินเดีย ญาติพี่น้องในกรุงเทพฯ คิดถึงสารของกองบัญชาการที่มีไปถึง “รู้ธ” และสุดท้าย คิดถึงยาพิษที่ซุกอยู่ในกระเป๋าตรงหน้าอก”
ไม่เพียงแค่ซ้อม ชาวบ้านยังผลัก ดร.ป๋วยเข้าไปในกอหนาม แล้วตำรวจก็เอาปืนจ่อขึ้นนกเตรียมยิง ทันใดก็มีชายคนหนึ่งชื่อ บุญธรรม อายุ ๒๙ ปี เป็นพลทหารลามาเยี่ยมบ้านโดดเข้าขวางไว้ แล้วบอกว่า
“ช้าก่อนครับ...เวลานี้บ้านเมืองเรากำลังคับขัน เราจับข้าศึกได้แล้ว เขาจะเป็นใคร มาจากไหน จะดีจะชั่วอย่างไร ก็ต้องจับตัวไปให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปไต่สวนกันก่อน ท่านจะจัดการเสียเองโดยลำพังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง”
ดร.ป๋วยจึงถูกจับล่ามไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาวหลายวัน มีชาวบ้านมาดูพลร่มที่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็น “กบฏใจอำมหิต” หลังจากนั้นจึงถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ ไปควบคุมไว้ที่สันติบาล
อีก ๒๐ ปีต่อมา ขณะที่เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ป๋วยได้ไปตามหา นายบุญธรรม คนที่ช่วยชีวิตไว้ และได้พบกับ ลุงบุญธรรม ปานแก้ว ชาวนาตำบลวัดสิงห์ ซึ่งเพิ่งรู้ว่าคนที่แกช่วยชีวิตไว้ ก็คือเจ้าของลายเซ็นบนธนบัตรที่ใช้อยู่นั่นเอง
ในครั้งนั้นเมื่อถูกส่งตัวมาที่สันติบาลแล้ว ก็ได้รู้ว่าเพื่อนที่โดดร่มลงมาด้วยกันอีก ๒ คนก็โดนจับเหมือนกัน แต่อีกคนหนึ่งที่โดดลงภาคอีสานถูกทหารญี่ปุ่นยิงตายกลางอากาศ อีก ๒ คนกระโดดลงที่ภาคอีสานก็โดนยิงตาย และด้วยความช่วยเหลือจากตำรวจที่เป็นเสรีไทย ดร.ป๋วยได้ถูกพาไปพบ ดร.วิจิตร ลุลิตานนท์ ที่บ้านบางเขน ที่บ้านหลังนี้ ดร.ป๋วยก็ได้พบกับปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรู้จักกันมาก่อนในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับลูกศิษย์รุ่นแรก สารของลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเตน ผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิคของอังกฤษ จึงถึงมือ “รูธ” และการส่งวิทยุไปถึงกองทัพอังกฤษในอินเดียก็สำเร็จเป็นครั้งแรก ถือเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างเสรีไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรบรรลุผล ทำให้การปฏิบัติงานของเสรีไทยและสัมพันธมิตรสะดวกยิ่งขึ้น
ในการเป็นผู้รับส่งวิทยุนี้ ดร.ป๋วยยังได้รับมอบหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งจาก “รู้ธ” ให้ติดต่อกับกองทัพอากาศอังกฤษ ขออย่าให้ทิ้งระเบิดลงพระบรมมหาราชวังและวังต่างๆของพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งพระราชวังบางปะอิน ซึ่งเป็นที่อพยพหลบภัยของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ พร้อมทั้งแจ้งพิกัดที่ควรหลีกเลี่ยงให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบ ซึ่งเป็นผลให้สถานที่เหล่านี้ปลอดภัยตลอดสงคราม เมื่อสงครามสิ้นสุด สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงทราบ รับสั่งให้ปรีดี พนมยงค์เข้าเฝ้า เพื่อทรงขอบใจการปฏิบัติการของเสรีไทยในเรื่องนี้
เสรีไทยอีกคนหนึ่งที่ได้รับการจารึกชื่อไว้ด้วยความสะเทือนใจ ก็คือ กำจัด พลางกูร บัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด วัย ๒๖ ปี ซึ่งเสียสละเพื่อชาติอย่างกล้าหาญ และจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า
กำจัดจบมาในสาขาวิชาปรัชญารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการได้ไม่นานก็ถูกให้ออก ฐานมีทัศนคติต่อต้านการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ จากนั้นก็ประกอบอาชีพครูอย่างอิสระ
เมื่อญี่ปุ่นบุกไทย กำจัดได้ชวนนายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร ตั้งขบวนการกู้ชาติ นายเตียงจึงพากำจัดไปพบปรีดี พนมยงค์ในคืนวันที่ ๘ ธันวาคมด้วย ปฏิญาณตนว่าขออุทิศแม้ชีวิตและจะอยู่ในวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าปรีดีจะให้ทำงานเพื่อชาติอย่างใด ต่อมาเมื่อดร.ปรีดีต้องการคนที่จะถือสารไปติดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชที่อเมริกา โดยจะต้องเดินทางเข้าจีนเพื่อติดต่อกับจอมพลเจียงไคเช็ค ให้ส่งตัวไปต่อ กำจัดจึงกระตือรือร้นที่จะรับอาสางานนี้
ในตอนเย็นวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ กำจัดไปรับประทานอาหารและรับแผนงานจาก “รู้ธ”ที่ทำเนียบท่าช้าง ปรีดีได้มอบธนบัตรจุงกิงให้ ๑๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ พร้อมด้วยทองแท่งติดตัวไป เวลา ๒๑.๓๐ น. กำจัดลากลับ “รู้ธ” ได้เดินมาส่งที่บันไดตึกพร้อมกับบอกว่า
“เพื่อชาติและเพื่อมนุษยชาตินะคุณ ถ้าเคราะห์ดีอีก ๔๕ วันก็คงได้พบกัน ถ้าเคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีก ๒ ปีก็คงพบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็จะได้ชื่อว่าสละชีพเพื่อชาติ”
กำจัดตื้นตันจนน้ำตาซึม
รุ่งเช้ากำจัดออกเดินทางโดยมี ฉลบชลัยย์ ภรรยาที่พบรักกันขณะศึกษาอยู่ที่อังกฤษ พร้อมด้วยนายเตียง ศิริขันธ์ และนางนิวาศน์ ภรรยา ไปส่งถึงริมโขง กำจัดข้ามไปกับ ไพศาล ตระกูลลี้ หนุ่มลูกจีน นักศึกษาจากสิงคโปร์ซึ่งพูดจีนได้หลายภาษาร่วมเดินทางไปเป็นล่าม
ก่อนออกเดินทาง กำจัดได้ไปเฝ้า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอหนังสือแนะนำตัวไปถึง ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดย์ นักโบราณคดีคนสำคัญซึ่งเคยรับราชการอยู่ในกรมศิลปากร และกำลังทำงานอยู่ที่สถาบันตะวันออกของฝรั่งเศสที่ฮานอย ด้วยความช่วยเหลือของศาสตราจารย์เซเดย์ กำจัดก็สามารถเดินทางหลบหลีกทหารและสายลับญี่ปุ่นซึ่งกระจายกันอยู่ทั่วอินโดจีน ฝ่าแดนทุรกันดารไปถึงจีนได้ใน ๓ สัปดาห์
ทันทีที่เข้าเขตแดนจีนก็ถูกประกบตัวโดยทหารก๊กมินตั๋งของจอมพลเจียงไคเช็ค กำจัดขอโทรเลขแจ้งข่าวการมาของเขาไปยัง ม.ร.ว.เสนีย์ ที่วอชิงตัน ถึงจอมพลเจียงไคเช็ค และถึงทูตอังกฤษกับทูตอเมริกาที่จุงกิง อีก ๔ วันต่อมา ทูตอังกฤษได้ตอบกลับมาให้กำจัดไปพบกับกงสุลใหญ่อังกฤษที่เมืองกุยหลิน ซึ่งอยู่ห่างไปเล็กน้อย แม้ทหารจีนจะยอมให้กำจัดไปพบกงสุลอังกฤษได้ แต่ก็ไม่ยอมให้คุยกันตามลำพัง ทำให้กำจัดพูดไม่สะดวก กงสุลอังกฤษแนะนำให้กำจัดติดต่อกับหน่วยทหาร บี.เอ.เอ.จี.ของอังกฤษ แต่ก็ถูกทหารจีนกีดกันอีก
กำจัดได้โทรเลขไปถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชอีกครั้งว่า “ผมกำลังปฏิบัติภารกิจที่สำคัญมากและด่วนมาก ถูกกักตัวอยู่ที่กุยหลินถึง ๑๒ วันแล้ว ขอให้จัดการส่งผมไปจุงกิงทันที เป็นเรื่องลับ”
แต่อย่างไรก็ตาม กำจัดได้หลบไปพักกับ พ.อ.ลินเซด์ ที. ไรต์ ผู้บังคับหน่วย บี.เอ.เอ.จี. ซึ่งเป็นนักเรียนอ๊อกฟอร์ดเช่นเดียวกับเขา พ.อ.ไรต์ซึ่งได้เป็น “เซอร์” เมื่อสงครามสงบ ได้ให้กำจัดเขียนรายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ประวัติของเขา รวมทั้งการเดินทางมาจนถึงเมืองจีน และให้กำจัดส่งข่าวไปถึงกรุงเทพฯ โดยออกอากาศทางวิทยุจุงกิงเป็นโค๊ตไปว่า
“จางและหลีเดินทางมาถึงเมืองจีนแล้ว”
ในวันออกอากาศ เผอิญฉลบชลัยย์กำลังอยู่ที่หัวหินกับท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ภรรยาท่านปรีดี และทั้ง ๒ เปิดฟังอยู่พอดี จึงรู้ว่ากำจัดไปถึงจีนโดยปลอดภัยแล้ว
แม้กำจัดจะเปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดให้ พ.อ.ไรต์ ซึ่งได้ส่งรายงานต่อไปยังหน่วยเหนือ แต่ต่อมา พ.อ.ไรต์ก็ได้รับคำสั่งไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเสรีไทยอีก ขณะเดียวกันทางฝ่ายจีนก็ยังไม่ไว้ใจกำจัดว่าเขาอาจเป็นจารชน ทั้งยังเกิดปีนเกลียวระหว่างจีนกับอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษไม่พอใจที่สหรัฐอเมริกาส่งอาวุธมาให้จีนทำสงคราม และยึดอาวุธเหล่านี้ที่ส่งมาทางอินเดีย ความขัดแย้งภายในของฝ่ายสัมพันธมิตรยิ่งทำให้กำจัดตกที่นั่งลำบาก สุขภาพของเขาก็ทรุดโทรมลงทุกที ถึงถ่ายออกมาเป็นเลือด ต่อมากำจัดถูกส่งไปจุงกิงและถูกพาไปพบจอมพลเจียงไคเช็คในขณะที่เขาป่วยหนัก จอมพลเจียงไคเช็คยืนยันว่าจีนถือว่าสัญญาที่ไทยทำกับญี่ปุ่นนั้นเป็นโมฆะ และจะช่วยให้ไทยได้รับเอกราชอย่างเต็มที่
ฝ่าย “รู้ธ” เมื่อไม่ได้รับข่าวคราวจากกำจัดถึง ๕ เดือน จึงส่งนายสงวน ตุลารักษ์ และนายแดง คุณะดิลก เดินทางมาพบกำจัดที่จุงกิง ส่วน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ส่ง พ.ท. ม.ล.ขาบ กุญชร มาพบกำจัดที่จุงกิงเช่นกัน บอกว่ากำลังหาทางให้เขาเดินทางไปวอชิงตัน แต่กำจัดก็รอให้ถึงวันนั้นไม่ไหว เขาเสียชีวิตที่จุงกิงเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๘๖ ด้วยโรคที่สันนิษฐานกันว่าเป็นมะเร็งในลำไส้ ศพของเขาถูกเผาที่วัดเล็กๆแห่งหนึ่งในจุงกิง สมุดไดอารีของเขาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์เสรีไทย
เมื่อสงครามสงบ กำจัด พลางกูร ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็นพันตรี และอัฐิของเขาได้รับการบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ในวันเดียวกับที่จักรพรรดิฮิโรฮิโตประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ พล.ร.อ.ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเตน ผบ.สูงสุดของพันธมิตรภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้รับคำสั่งจากลอนดอนให้แนะนำเป็นการส่วนตัวต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ให้ออกประกาศโดยด่วนที่สุด ปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษอเมริกา และยกเลิกข้อตกลงกับญี่ปุ่นทั้งหมด นอกจากนี้ยังให้อ้างด้วยว่า ได้แจ้งแก่อังกฤษและอเมริกาแล้วว่า ขบวนการเสรีไทยจะต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย หากแต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ยับยั้งไว้ด้วยเหตุผลทางยุทธการ
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือนและทหารของอังกฤษพูดแสดงความสงสัยกันว่า พลพรรคของเสรีไทยจะมีจำนวนเท่ากับอาวุธที่สัมพันธมิตรส่งมาให้หรือไม่ และอาวุธเหล่านั้นยังเหลืออยู่หรือเปล่า “รู้ธ”จึงเรียกขบวนการเสรีไทยทุกจังหวัดเข้ากรุงเทพฯพร้อมอาวุธ แต่ไม่ต้องนำกระสุนมาด้วย และจัดสวนสนามอย่างผู้ชนะขึ้นที่ถนนราชดำเนินในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ มี พลพรรคเสรีไทย ๘,๐๐๐ คนมาร่วม โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นประธาน จากนั้น “รู้ธ” ก็กล่าวคำปราศรัยแก่ผู้แทนพลพรรคเสรีไทยที่สโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตอนหนึ่งว่า
“…การกระทำทั้งหลาย ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวมาแล้ว และมีเงื่อนไขเวลาสุดสิ้น กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งที่จะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลายก็คือ มิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าถือว่าเป็นผู้ที่รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกะทำของคนไทยทั้งปวง…”
ขบวนการเสรีไทยซึ่งได้เริ่มกำเนิดขึ้นในวันที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ก็ได้สลายไปหมดสิ้นในวันนั้น หลังจากหมดหน้าที่ในการรับใช้ชาติ อาวุธที่นำมาสวนสนามเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่ายังอยู่ครบตามที่ส่งมาให้ ก็ได้มอบให้กรมสรรพาวุธเป็นของทางราชการต่อไป
ในวันที่ ๓๐ กันยายน สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศพระราชทานยศทางทหารชั่วคราวให้กับเสรีไทยหลายคน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับทหารสัมพันธมิตรที่จะเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย เช่น ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ เป็น พันโท นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็น พันตรี นอกจากที่มียศในกองทัพอังกฤษเป็นพันตรีเช่นกัน
ส่วนเสรีไทยสายอเมริกา ไม่ได้รับยศทางทหารจากกองทัพอเมริกัน แต่รัฐบาลอเมริกันก็ได้มอบเหรียญ “เมเดิล ออฟ ฟรีดอม” ซึ่งเป็นเหรียญกล้าหาญที่ประธานาธิบดีสร้างขึ้นเพื่อให้คนต่างชาติในฐานะที่ประกอบวีรกรรมในการต่อสู้กับศัตรูของสหรัฐอเมริกาในดินแดนที่ฝ่ายศัตรูยึดครองด้วยความเข้มแข็งอดทน ใช้สติปัญญาและความกล้าหาญอย่างยิ่ง อันมีค่ายิ่งต่อการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาและสัมพันธมิตร
เหรียญกล้าหาญ เมเดิล ออฟ ฟรีดอม ประดับใบปาล์มบรอนซ์ ได้แก่ นาวาอากาศโท ทวี จุลละทรัพย์ พันตรี บุญมาก เทศะบุตร ร้อยเอก วิมล วิริยะวิทย์
เหรียญกล้าหาญ เมเดิล ออฟ ฟรีดอม ประดับใบปาล์มเงิน มอบแก่ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรองหัวหน้าขบวนการเสรีไทย
เหรียญกล้าหาญ เมเดิล ออฟ ฟรีดอม ประดับใบปาล์มทองคำ มอบแก่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เจ้าของรหัส “รู้ธ” หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งรอดพ้นจากคดีอาชญากรสงคราม ได้กลับมาครองอำนาจด้วยการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กลุ่มนักการเมืองที่เคยเป็นเสรีไทยจึงตกเป็นขั้วตรงกันข้าม และการเมืองยุคนั้นก็เป็นยุคทมิฬที่อัศวินครองเมือง เสรีไทยหลายคนจึงถูกกำจัดด้วยวิธีเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ แม้คนที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองยังไม่กล้าเปิดเผยตัว วีรกรรมของเสรีไทยถูกปิดบังและทำท่าว่าจะเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์
แต่สัจธรรมยังอยู่ กว่าครึ่งศตวรรษ วีรกรรมของเสรีไทยจึงได้รับการยอมรับ เมื่อ กทม.สมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล ได้อนุมัติงบประมาณ ๙ ล้านบาทสร้างอนุสรณ์เสรีไทยขึ้นที่สวนสาธารณะบึงกุ่ม ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “สวนเสรีไทย” ทั้งถนนสุขาภิบาล ๒ ซึ่งผ่านหน้าสวนสาธารณะแห่งนี้ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนเสรีไทย” ด้วย โดยอนุสรณ์เสรีไทยสร้างเป็นตึก ๓ ชั้น จำลองแบบมาจาก “ทำเนียบท่าช้าง” เลขที่ ๑ ถนนพระอาทิตย์ บ้านพักของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นกองบัญชาการของเสรีไทย ใช้เป็นที่เก็บรวบรวมจัดแสดงสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับเสรีไทย จึงเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ของเสรีไทย และเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๕๘ ปีแห่งวันสันติภาพไทย
วีรกรรมของเสรีไทยได้สะท้อนให้เห็นวิญญาณแห่งความเป็นไท ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านบางระจันสมัยกรุงแตก หรือคนไทยในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ย่อมสำนึกในหน้าที่ที่จะต้องปกป้องรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ด้วยชีวิต และวีรกรรมเหล่านี้จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ให้เป็นความภูมิใจ เป็นแบบอย่างของคนรุ่นหลัง โดยที่ไม่มีใครจะบังอาจปิดบังบิดเบือนได้