xs
xsm
sm
md
lg

บุกบ้าน “พิกเกอร์ เวิร์คส” เมืองหลวงของยีนส์ไทย : ราคาเหยียบหมื่น แต่ขายหมดภายในไม่กี่วิ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขายหมดในเวลาไม่กี่วิ ทั้งที่ราคาแสนแพง
อะไรหรือคือรหัสลับแห่งยีนส์สัญชาติไทยภายใต้แบรนด์ “Piger Works”
สัมผัสเรื่องราวของคนหนุ่มผู้ลุ่มหลงกางเกงยีนส์เป็นชีวิตจิตใจ
พร้อมคลายข้อสงสัยที่ว่าทำไม ต่อให้ราคาแสนแพง
แต่กลับมีผู้คนมากมายยินดียื้อแย่งแข่งซื้อในราคาเหยียบหมื่น!!

จากคำถามในวันแรกเริ่มว่า “เพราะอะไร เราจึงไม่ทำสิ่งที่ดีที่สุด” เสมือนหนึ่งเข็มทิศนำทางสองหนุ่มวิศวกรผู้หลงใหลในบลูยีนส์ก้าวสู่วิถีของผู้ผลิต ก่อเกิดแบรนด์ยีนส์สัญชาติไทยที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเพชรน้ำเอกเม็ดงามแห่งเส้นทางสายนี้ไปแล้วเรียบร้อย ในนาม “พิกเกอร์ เวิร์คส” - Piger Works ที่เหล่าผู้รู้และสิงห์บลูยีนส์ทั้งหลายให้การยอมรับ

...ไม่ใช่มาเล่นๆ และไม่ได้เป็นสิ่งจุติในฉับพลันทันที หากแต่ความสำเร็จนี้ผ่านการสั่งสมบ่มเพาะมาต่อเนื่องยาวนาน ก่อนโรงงานจะสั่งซื้อจักรเครื่องแรก ก่อนด้ายเส้นแรกจะร้อยลงปลายเข็ม หากไม่เข้าใจในจิตวิญญาณแห่งบลูยีนส์ ไหนเลยจะสร้างสิ่งที่คนสั่งซื้อตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวสินค้าได้...

O เพราะรักจะทำสิ่งที่ดีที่สุด...
ปฐมบท Piger works แบรนด์ยีนส์สัญญาติไทย

คงไม่ต่างจากฝัน...ถ้าฝันแล้วไม่ลงมือ มีหรือที่จะได้เป็นเช่นที่ฝัน
เรื่องราวของสองหนุ่มวิศวกร ก็เริ่มต้นมาตามรูปรอบของถ้อยคำนั้น ร้อยด้ายเข้ารูเข็ม เติมเติมความฝันของคนที่หลงรักยีนส์เป็นชีวิตจิตใจ...

“จุดเริ่มต้นที่เกิดแบรนด์ Piger works เกิดจากการพูดคุยกันของคนรักยีนส์สองคน ด้วยความที่เราเป็นผู้ที่ใช้ยีนส์และชื่นชอบยีนส์ด้วยกันทั้งคู่ เราสนิทสนมกันมากกว่าเป็นเพื่อนที่คุยกันเรื่องยีนส์ด้วย เราคุยเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้าบู๊ เครื่องหนัง หรือกระทั่งนาฬิกา และมันก็นำมาสู่การพูดคุยกันในหัวข้อที่ว่าทำไมกางเกงยี่ห้อนั้นเป็นอย่างนี้ ยี่ห้อนี้เป็นอย่างนั้น อยากได้อย่างนี้ บริการอย่างนี้ กางเกงคุณภาพแบบนี้ ชิ้นส่วนอะไหล่เป็นอย่างนี้

“และทำไมเราไม่คิดจะทำสิ่งที่ดีที่สุดขึ้นมาเอง”
“โอ - โอภาสพงษ์ ทองนุช” หนึ่งในผู้ร่วมก่อร่างสร้างยีนส์คุณภาพขึ้นมากับเพื่อนรัก “ชัช - คงชัช วงศ์รักมิตร” เปิดฉากสนทนาด้วยการเอ่ยถึงถ้อยคำซึ่งนำพาประกายไอเดียสร้างสรรค์มาสู่ความรู้สึกนึกคิด และในปี 2010 พวกเขาก็จับมือกันสร้างโรงงานผลิตกางเกงยีนส์มาตรฐานขึ้นมา โดยใช้คำนำหน้าว่า PIGER ซึ่งหลอมรวมจากคำว่า PIG (หมู) ซึ่งเป็นปีเกิดของชัช ผสมกับคำว่า TIGER (เสือ) ซึ่งเป็นปีเกิดของโอ ผสมกันเป็นคำว่า PIGER (พิกเกอร์) อันมีความหมายว่า “เจ้าหมูลายพาดกลอน”

“หลังจากคำพูดที่ว่า ทำไมเราไม่ทำสิ่งที่ดีขึ้นมาเองเลยล่ะ เราก็จึงคิดกันว่ายีนส์ที่จะทำ ต้องเป็นแบบไหนอะไรยังไง และจะทำอย่างไรให้ได้แบรนด์ยีนส์คุณภาพอย่างที่เราต้องการและจินตนาการไว้ อันดับแรกเลย เราก็พยายามหาผู้ที่จะมาผลิตให้เราตามจินตนาการของเราก่อน ใครจะทำให้ได้บ้าง ก็ใช้ระยะเวลาในการหาเป็นเวลากว่าครึ่งปี เราก็ค้นพบว่าไมมีใครตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากได้

“เราก็เลยร่วมกันลงทุนสร้างโรงงานขึ้นมา เริ่มจากการนำจักรเย็บเข้ามา และหาช่าง ในยุคแรก เรายังเย็บกันที่นี่ คือเมื่อตอนเริ่มเปิดแบรนด์ เราเย็บตรงนี้ (ห้องโถงขนาดสี่ห้าวา) ลูกค้ามาก็จะเห็นเราทำงานกันปุ้งปั้งๆ อยู่ตรงนี้ บางทียังทำกางเกงไม่เสร็จ กระดุมยังไม่ได้ติด ลูกค้าเห็น ลูกค้าติดกระดุมเองเลย (หัวเราะ) ในสมัยนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ต่อมา เราอยากทำให้มันเป็นบริษัทมากขึ้น ก็เริ่มขยายไปใช้พื้นที่ด้านหลังอาคาร ก็ค่อยๆ เซตอัพทุกอย่างให้ดีขึ้น ตามการเติบโตของแบรนด์”

ไม่ว่าจะอย่างไร ย้อนกลับไปในวันนั้น คือความมหัศจรรย์ที่แม้กระทั่งเจ้าตัวยังรู้สึกตื่นเต้นระคนดีใจกับยอดสั่งจองตั้งแต่ของยังผลิตไม่เสร็จ

“ล็อตแรกนั้น เราทำออกมา ราคาเปิดตัวตอนนั้น ตัวละ 5,950 บาท ซึ่งกางเกงยีนส์ราคานี้ในตอนนั้นที่ไม่มีใครรู้จัก ถือว่าค่อนข้างสูง เราทำมา 75 ตัว รวมเป็นเงินเกือบๆ 6 แสนบาท รอบแรกเราเปิดตัวไป หมดภายในระยะเวลา 1-3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สำคัญหน้าหนึ่งของเราเลย

“ถามว่าอะไรที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จริงๆ มันเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้บริโภคของเรามาก่อน อย่างที่บอก เราเป็นคนที่เล่นยีนส์อยู่แล้ว และเรายังเป็นเหมือนกูรูในยุคที่บล็อกฮิตๆ ช่วงหลายปีที่แล้ว เราคอยตอบปัญญาเรื่องยีนส์ในเว็บไซต์หลายแห่ง เช่น สยามนาฬิกา เพราะฉะนั้น มันก็เหมือนกับเราเป็นกูรูในวงการ มีตัวตนอยู่ประมาณหนึ่ง พอเราออกมาทำอะไร ลูกค้าก็เกิดความเชื่อมั่น ก็ถือว่าเป็นโชคดี และนี่ก็เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องขอบคุณลูกค้าจริงๆ”

อาจจะเป็นโชคดีอย่างที่กล่าว แต่เบื้องหลังความโชคดี คือความรักและความรู้ที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เราเริ่มเล่นยีนส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ตอนนั้นอายุ 16-17 เรียนอยู่ที่เตรียมวิศวะ พระจอมเกล้าพระนครเหนือ เครื่องแบบตอนนั้นสามารถใส่ยีนส์เรียนได้ เสื้อเชิ้ตสีขาว เราก็ใส่ยีนส์ทุกวัน และด้วยความที่เราเกิดมาในครอบครัวฐานะปานกลาง เราอยากได้ยีนส์สักตัว เราก็เก็บเงินซื้อยีนส์ แต่เราก็คิดว่ามันเปลืองเงิน จึงไปหุ้นกับเพื่อนลองเปิดร้านขายยีนส์ที่สวนจัตุจักร วันเสาร์-อาทิตย์ เป็นยีนส์มือสองจากอเมริกา ทีนี้พอเริ่มขาย เริ่มจับเยอะ เราก็เริ่มเรียนรู้ วันธรรมดาเราไปเรียน เราก็เอาตัวที่ขายมาใส่ด้วยบ้าง ก็ได้เท่อีก แต่ก็ขายอยู่ไม่นาน อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น พอเพื่อนๆ จะซื้อยีนส์สักตัว ก็มักจะลากเราไปด้วย เราก็ได้จับได้ดูสินค้าตลอด มาบุญครองนี่ไปแทบทุกอาทิตย์ ประตูน้ำก็ไป เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ สมัยก่อน สังเกตว่างานที่เกิดจากโรงงานที่เป็นโรงงานยีนส์จริงๆ มันจะมีวัฒนธรรมในการตัดเย็บ ปีนี้เย็บอย่างนี้ ปีนี้มันเริ่มเปลี่ยนจักรอย่างนี้ เริ่มเป็นอย่างนี้ มันมีเรื่องราวของมัน

“แต่ปัจจุบันมันเป็นเรื่องของเสื้อผ้าแฟชั่นที่เน้นเรื่องสื่อโฆษณาแล้ว ฉะนั้น พวกโปรดักต์จะไม่ได้มุ่งเน้นเท่าไหร่ เขาจะจ้างโรงงานการ์เมนต์หรือโรงงานตัดเย็บขนาดใหญ่ที่ตัดเย็บงานจำนวนครั้งละมากๆ ก็หมายความว่า แบรนด์ ก. จ้างโรงงานนี้ผลิต แบรนด์ ข. ก็จ้างโรงงานนี้ผลิต แบรนด์ ค. ก็เหมือนกัน แต่ใส่โลโก้ ใส่สัญลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งการผลิตอย่างนี้ รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เขาไม่สามารถมุ่งเน้นได้

“ทีนี้ ย้อนกลับมาที่เรา พอเราเป็นผู้บริโภค เราอาจจะเลือกเยอะ เราเห็นมาตรฐานระดับโลกเขาเป็นอย่างไร เราอยากทำให้มันดีกว่า ในขณะที่เมืองไทย โดยส่วนใหญ่ยังติดในระบบของการ mass production อยู่ เมืองไทยจะคุยกันที่จำนวน เช่น ตัดเย็บกี่พันตัว ราคาถูกๆ ต่อตัว แต่สิ่งที่เราอยากได้ไม่ใช่สิ่งนี้ เราอยากได้งานระดับฝีมือ ไม่กี่ตัว ด้วยเหตุนี้ เราจึงสร้างโรงงาน ช่างโรงงานของเราก็มาจากช่างที่เย็บในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่วันหนึ่งต้องทำถึง 1,000 ตัว แต่มาที่นี่ ทำวันละแค่ 10 ตัว เพราะฉะนั้น หายไป 10-100 เท่า เพราะเราเน้นคุณภาพตามโจทย์ของเราที่ว่า เราอยากทำสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด”

O ดีเอ็นเอไทย
ไม่แพ้ชาติใดในโลก

“เราอยากได้อะไร เราทำสิ่งนั้น”
คนหนุ่มเจ้าของกิจการซึ่งเพิ่งพ้นผ่านวันวัยเลขสี่มาไม่นาน จับยีนส์ตัวนั้นซึ่งถืออยู่ในมือ พลิกซ้ายพลิกขวา อย่างทะนุถนอม

“ในส่วนของการเซอร์วิส เราก็เซอร์วิสตลอดอายุการใช้งานด้วย พิกเกอร์ เวิร์คส เป็นแบรนด์แรกแบรนด์เดียวที่ดูแลตลอดอายุการใช้งานในสมัยนั้น คือลูกค้าซื้อไปแล้ว สามารถตัดขาปรับเปลี่ยนแก้ทรง ซ่อม ปะขาด ปลวกกินก็เปลี่ยนชิ้นใหม่ได้ หรืออย่างช่วงน้ำท่วม กางเกงป้ายหนังเน่า เสียหาย เราเปลี่ยนป้ายหนังให้ เปลี่ยนอะไหล่ที่เสียให้ เราดูแลตลอดอายุการใช้งาน มันเลยกลายเป็นว่าลูกค้าพูดกันติดปากว่า เป็นยีนส์ซ่อมห้าง

“คือแทนที่เขาจะไปซ่อมข้างนอกกับช่างทั่วไปที่คงไม่รู้จักกางเกงยีนส์พิกเกอร์ เวิร์คส ดีเท่ากับเรา เพราะเราเป็นผู้ผลิตเขาขึ้นมา กางเกงทุกตัว เราก็ตัดเย็บในโรงงานเราเอง เราก็เลยทำแนวคิดนี้ รับซ่อมเองดีกว่า ดูแลเองเลย ทำให้เป็นจุดแข็งมากๆ จุดหนึ่งของเรา เราทำให้คนที่ซื้อของเราแล้วเขารู้สึกอุ่นใจที่เขาซื้อ มีปัญหา เราดูแลให้เขา โดยที่เราไม่มีเงื่อนไขมากมาย เราไม่ได้มาขายกางเกงเสร็จแล้วก็จบกันไป เราขายแล้วเรายังผูกพัน กลายเป็นเหมือนอยู่แบบครอบครัว พอเป็นครอบครัว เราก็ต้องทำของดีมีคุณภาพให้ครอบครัวเรา เป็นโจทย์ของเราตั้งแต่ต้น

“เราทำโรงงานของเราเอง ผลิตเอง ขายเอง แปลว่าเราสามารถอัดคุณภาพสูงสุดให้กับลูกค้าได้เลย แต่สมมติถ้าเราไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า รายได้ที่ต้องให้กับทางห้างสรรพสินค้า ก็คือเงินที่เก็บจากลูกค้า นั่นหมายความว่าเขาต้องได้รับของที่แพงขึ้นแบบไม่จำเป็น อย่างน้อย 30-40 เปอร์เซ็นต์ การทำตลาดแบบนี้ ทุกอย่างแบบนี้ มันเป็นตัวเราและมีความสุข เราสต๊อกสินค้าไม่มาก ส่วนใหญ่แค่สำรองขนาดละ 1 ตัว สมมติวันนี้ขายไซส์ 33 ออกจากโรงงาน ก็หมด เหมือนขนมปังออกจากโรงงานทุกวัน มันก็เป็นตัวเรา มีความสุขในความเป็นเรา

“ฉะนั้น สิ่งที่ Piger works ทำ ก็คือเราขายในนี้ที่ร้านเรา และทางเฟซบุ๊ก เราสามารถทำของดีมีคุณภาพอย่างที่เราต้องการได้ พอเราบอกเพื่อนของเรา เพื่อนจองและซื้อแล้วรู้สึกว่าดีจริงๆ สิ่งที่สำคัญที่สุด เขามั่นใจว่าของเราดี เขาก็บอกต่อ แล้วพอเขารู้สึกว่ามันดี เพื่อนเขาก็ไปบอกต่ออีกที มันกลายเป็นเรามีเซลส์อยู่ทั่วประเทศ และกลายเป็นว่าเราค่อนข้างประสบความสำเร็จในการทำการตลาด”

นอกจากวิธีการดูแลหลังการขาย ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์วงการยีนส์บ้านเราที่มีมาอย่างช้านาน เอกลักษณ์ต่างๆ ก็ค่อยถูกพัฒนาและต่อยอดไม่ต่างจากครอบครัวที่สืบเชื้อสกุล รุ่นใหม่ย่อมมีชีวิตที่ดีกว่ารุ่นเก่า เพราะรายละเอียดการใส่ใจให้ชีวิตที่มีโอกาสดีมากกว่า

“งานมันค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป พัฒนาแทบจะทุกวัน เพราะความที่เราเป็นคนขายและเป็นคนออกแบบเองด้วย ผลิตเองด้วย เราพัฒนาได้ทุกๆ วัน สมมติว่าวันนี้มีลูกค้ามาลองใส่ของเรา เขาใส่ไม่ได้ กางเกงขาบานไป ยาวไป เราก็ไปปรับแก้ในแพตเทิร์น เขาลองแล้วชอบ เราก็ค่อยๆ ปรับให้มันเหมาะสมมากขึ้น แตกต่างจากของทั่วไปที่ซื้อสำเร็จรูปไปแล้ว ได้แพตเทิร์นเมืองนอกมา อาจจะไม่ได้พอดีเท่าไหร่ก็ต้องยอม แต่เราอยากทำของดีๆ ให้คนไทยใช้ เราไม่ได้สนใจตลาดเมืองนอกหรือตลาดโลก เราแค่อยากทำในสิ่งที่อยากทำ อยากทำยีนส์ไทยดีๆ ให้คนไทยใส่ มากกว่าทำยีนส์ไทยดีๆ แล้วไปนำเสนอฝรั่งเพียงเพราะเห็นว่าฝรั่งเงินเยอะกว่าเรา พูดจากใจ เราอยากทำยีนส์ดีๆ ให้คนไทยใส่ ฝรั่งจะซื้อก็เรื่องของเขา เราไม่ได้ปิดกั้น เขาซื้อเราขาย แต่เราไม่ได้ทำเพื่อเอาใจเขา เราใส่ใจแค่ทำให้คนไทยใช้ คนไทยยอมรับ

“นี่คือสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอเราทั้งหมด และพนักงานเราทุกคนเขาจะค่อยๆ ปรับทัศนคติแล้วเข้าใจ ช่างบางคนเคยเย็บ 1,000 ตัวต่อวัน ได้ค่าแรง 70 สตางค์ต่อหนึ่งตัว วันหนึ่ง 700 บาท เราจ้าง 700 บาทเท่ากันต่อวัน แต่เราบอกว่าทำแค่ 10 ตัว แต่ของานเทพ ทีนี้ พอไม่ได้ถูกบีบด้วยค่าแรง รายละเอียดต่างๆ ก็สามารถเล่นกันได้มากขึ้น เขาเข้าใจแล้วคุยกัน เขารู้สึกว่าเขาอยากมีส่วนร่วม เขามีความภาคภูมิใจในส่วนร่วมกับพิกเกอร์ เวิร์คส จากแรกๆ ที่เราเข้าไปดูแล้วบอกว่าเย็บแบบนี้ได้ไหม หลังๆ มา ช่างเย็บบอกเราก่อนเลยว่าให้เราลองวิธีใหม่ๆ อันนี้จะสวยกว่า มันเป็นอะไรที่ช่วยกันพัฒนาได้ดีมากๆ ก็เกิดจากการที่เราใส่ใจในทุกรายละเอียดการผลิตจริงๆ

“ถามว่าทำไมเราถึงไม่ไปจ้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตให้ได้เยอะๆ แล้วขายไม่แพง เข้าถึงคนเยอะๆ คำตอบก็คือ นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ เราขายยีนส์เพราะมันเป็นความรักและหลงใหลในบลูยีนส์ มันเป็นแพสชั่นของเรา เป็นชีวิตของเรา เรารู้สึกว่าเราอยู่กับมัน เรารักมัน เราทำมันแล้วเราไม่เบื่อ”

บลูยีนส์แห่ง Piger works จึงไม่ใช่เพียงชิ้นผ้าที่นำมาประกอบร่าง
แต่ทุกชิ้นทุกอย่าง มีที่มาที่ไป มีเรื่องมีราวเล่าขานถักทอ

“เอกลักษณ์ส่วนหนึ่งคือการตัดเย็บครับ” โอ พิกเกอร์ เวิร์คส เรียบเรียงเรื่องเล่า

“เทคนิคการตัดเย็บ คือการเย็บแบบลูกโซ่หรือเทคนิคการซ่อนด้าย ตลอดจนวัตถุดิบที่เรานำมาใช้ เราไม่ใช้สิ่งที่สำเร็จรูปมาก่อนแล้ว ตัวอย่างเช่น ป้ายหนัง ปกติเวลาให้โรงงานที่เขารับจ้างผลิตป้ายหนัง เขาก็จะปั๊มมาเสร็จ แต่สิ่งที่เราทำ เรานำเข้าหนังเองจากอเมริกา แล้วเอามาตัดเย็บปักปั๊มตราเองด้วยมือของเรา เป็นซีเรียลนัมเบอร์ของแต่ละตัว ฉะนั้น รายละเอียดปลีกย่อยในเนื้องานเยอะกว่าแน่นอน เราทำอย่างนี้ของเราเอง แม้กระทั่งกระดุมเงิน เป็นเรื่องง่ายมาก หากจะจ้างบริษัททำกระดุมทำ เราแค่ส่งอาร์ตเวิร์ก เราอยากได้อะไรแบบไหน บอกเขา เขาก็ทำตามแบบที่เขาทำอยู่แล้ว

“แต่เราคิดค้นตั้งแต่ว่า เนื้อส่วนผสมของซิลเวอร์ (เงิน) ทำอย่างไรให้มันแข็ง การยึดติดอย่างนี้ทำอย่างไร หน้าตากระดุมเราจึงไม่เหมือนใครเลย ส่วนกระดุมเม็ดเล็ก เราใช้ทองเหลืองแท่งๆ เอามากลึงด้วยเครื่องกลึงทีละเม็ด ทำให้ไม่มีรอยต่อ อาศัยใช้ความรู้ตั้งแต่สมัยเรียน จบมาเราเป็นคนเขียนโปรแกรม ก็เอาความรู้มาใช้ในการทำกระดุม นั่นหมายความว่างานกลึงจากปกติ ขั้นตอนการทำกระดุมต้องใช้การปั๊มด้วยแผ่นโลหะหนา 0.2 มิลลิเมตร ปั๊มออกมาแล้วก็เอามาคร็อปกับถ้วยของมัน ซึ่งตัวถ้วยก็ปั๊มมาอีกที การทำงานอย่างนั้น งานปั๊มจะเร็วมาก วันหนึ่งเป็นหมื่นๆ ชิ้น

“แต่ของเรานี้ กลึงทีละตัว ต่างจากงานปั๊มที่ให้ความนูนได้อย่างเดียว จะไม่มีความลึกเหมือนงานหล่อ ฉะนั้น พวกนี้มันจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ และลักษณะการต่อมันไม่ได้ใช้เครื่องในการกด แต่ต้องใช้มือคน ใช้ค้อนตอก สังเกตได้เลยว่าฮาร์ดแวร์ของพิกเกอร์ เวิร์คส จะไม่เหมือนใครเลยในตลาด แล้วของเราไม่เน้นในเรื่องการทำสี เราเน้นสีที่มาจากตัววัตถุดิบจริงๆ ทองเหลืองก็คือทองเหลืองจริงๆ เงินก็คือเงินจริงๆ ทองแดงเป็นทองแดงจริงๆ

“เรามองยีนส์เป็นงานศิลปะ” คนหนุ่มแห่งพิกเกอร์ เวิร์คส ให้นิยามความหมาย

“เป็นศิลปะบนผืนผ้ายีนส์ และในขณะที่เป็นศิลปะ มันต้องใช้งานได้จริงด้วย แต่ละอย่างมันต้องสวยและแข็งแรง ยกตัวอย่างเช่น ด้ายที่ใช้เย็บ ด้ายทั่วไปจะเป็นด้ายคอตตอน แต่ของเรา ด้วยความที่เราเอาเทคโนโลยีการปั่นเส้นด้ายที่แกนกลางเป็นโพลีเอสเตอร์แล้วพันด้วยคอตตอนมาใช้ เส้นด้ายจึงมีความเหนียวเป็นพิเศษ แต่ถ้าเราใช้โพลีเอสเตอร์ทั้งหมดเลยมันเหนียวก็จริง แต่มองภายนอกไม่สวยงามเพราะมันจะเงา ซึ่งยีนส์มันต้องเป็นคอตตอน มันต้องเก่าไปตามสภาพ สีสันมันต้องซีดจางได้ สิ่งที่เราใช้ก็คืออย่างที่บอก เราจะเห็นว่ากางเกงเก่าๆ ของพิกเกอร์ เวิร์คส มันจะไม่ขาดเลย”

พูดถึงตรงนี้...เล่าย้อนกลับไปด้วยรอยยิ้มว่า ช่างที่มาเย็บแรกๆ เพราะความไม่คุ้นชินกับความพิเศษของด้าย บางคนเมื่อเย็บเสร็จแล้วก็ใช้ความเคยชิน เอามือดึงหรือปากกัดเส้นด้าย ก็เจ็บกันไประนาว

“เวลา 6 ปี เริ่มพิสูจน์คุณภาพของเราแล้วว่าเป็นอย่างไร ทนกว่ายีนส์ประเทศญี่ปุ่น ทนกว่ายีนส์ประเทศอิตาลี ทนกว่าอเมริกันต้นฉบับ เลยกลายเป็นว่าคนไทยเริ่มเปิดรับมากขึ้น เพราะเรากล้าจะนำเสนอของที่มีคุณภาพสง ลูกค้าพิกเกอร์ เวิร์คส ก็เป็นลูกค้าที่อยู่แล้วแล้วไม่ค่อยหลุดไปไหน พอไม่หลุดไปจากกัน ก็เป็นมิตรภาพ มิตรภาพที่ดีคือการส่งต่อ

“ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการประชุมแทบทุกครั้ง เราจะบอกเลยว่า เรามองว่าการทำของออกมาแล้วขายได้และลูกค้าสามารถขายต่อได้ เราภูมิใจอันหลังมากกว่า ความหมายคือถ้าทำขาย เขาซื้อไป วันหนึ่งเขาเกิดอยากเปลี่ยนรุ่นใหม่ จะขายตัวเก่า ยังไม่มีใครเอาเลย มันกลายเป็นว่าเขาก็ไม่กล้าซื้อใหม่ แต่ถ้าเขาซื้อพิกเกอร์ เวิร์คส อีกสามปีเขาขายมันได้ราคามากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ก็จะเกิดเป็นความภูมิใจในสิ่งที่เขาเก็บ บางคนจึงเก็บสะสมเยอะมาก นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเวลาที่ออกรุ่นไหน มันก็ขายได้หมด เพราะเขาซื้อไปสะสม ซื้อไปใส่ตัวหนึ่ง เก็บตัวหนึ่งก็มี

“เราอยากให้งานเป็นงานที่มีอารมณ์ส่งต่อจากมือช่างที่ตั้งใจทำ ไปสู่มือลูกค้า เราจึงไม่อยากเอาระบบดิจิตอล ระบบสมัยใหม่มาใช้ในงานของเรา เราอยากย้อนไปยุคสมัยก่อนที่เขาเขียนตัวเลขด้วยมือ ปั๊มด้วยมือ รายละเอียดทุกอย่าง อย่างกระเป๋าสตางค์ที่เราทำ ดูเหมือนเรียบง่าย ไม่มีอะไร แต่จริงๆ การทออย่างนี้เขาเรียกว่า “เฮอร์ริงโบน” (Herringbone) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเรียกว่า “ก้างปลา” ลักษณะนี้ถูกใช้ขึ้นในยุคปี 1940 ช่วงสงครามโลก ที่เป็นการทำผ้ากระเป๋าในยุคนั้น เราก็พยายามเอาผ้าแบบนี้มาจากประเทศญี่ปุ่น สั่งทอจากญี่ปุ่น เราสั่งเข้าจากโรงงานทอผ้าที่ญี่ปุ่นที่ดีที่สุด

“หรือสังเกตในเรื่องของการเย็บโพ้งที่แน่นมาก ลายลูกโซ่ที่ไม่ได้เห็นกันมานานแล้วในยีนส์ยุคปัจจุบัน เพราะเราใช้จักรเก่าที่มีคุณสมบัติการเย็บที่พิเศษซึ่งจักรสมัยนี้ทำไม่ได้ จักรพวกนี้มีราคาเทียบเท่ากับทอง หาแทบไม่ได้แล้ว สมัยก่อนซื้อกันที่หลักหมื่น ตอนนี้ต้องมีหกหมื่นเป็นอย่างน้อย บางอันราคาเป็นแสน ถ้าสภาพสวยๆ มีอยู่ช่วงหนึ่ง ญี่ปุ่นกว้านซื้อจนไทยแทบหาไม่ได้อีกแล้ว เพราะญี่ปุ่นเขาเห็นคุณค่าของจักรพวกนี้ แบรนด์ยูเนียน สเปเชียล เป็นแบรนด์อเมริกัน วินเทจ มีคุณสมบัติเย็บอีกแบบหนึ่ง เป็นระบบเมติกล้วนๆ ใช้กลไกในการสร้างเนื้องาน ทุกอย่างต้องเที่ยงตรง เป๊ะมาก นี่คือเสน่ห์ พวกนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ในเนื้องาน

“ทุกอย่างเกิดมาจากการคิดตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยโจทย์ ด้วยมุมมองผ่านตัวเรา สไตล์กางเกงที่ออกมาก็เหมือนกัน คือคำว่า โมเดิร์น วินเทจ คือความวินเทจที่ร่วมสมัย เกิดจากการที่เราเป็นคนชอบใส่ยีนส์แล้วเอากางเกงวินเทจมาใส่ แต่กางเกงวินเทจในสมัยก่อนมันจะตัวใหญ่ๆ โคร่งๆ ใส่แล้วไม่สวย เราก็จะไปแก้ วิธีรื้อแก้ เขาก็จะแก้ที่ขาใน ทีนี้พอแก้ขาใน เวลาประกอบเข้าไปใหม่ ตรงที่แก้ก็จะเป็นด้ายสีใหม่ ก็เลยเป็นไอเดียของเราคือ นอกจากเราใช้ด้ายสีเดียวไปเลยคือสีผ้า เราก็เอาทั้งสองมาผสมกัน ทำทรงรูปแบบร่วมสมัย ในการตัดเย็บต่างๆ เรามีวัฒนธรรมในการตัดเย็บ ลักษณะการเย็บแบบสมัยยุค 50 การเย็บใช้มือเย็บเท่านั้น ใช้คนเย็บเก็บขอบ ซ่อนด้าย มันก็เลยเป็นรูปแบบการตัดเย็บที่วินเทจ

“ส่วนของโมเดลรูปทรง เราก็นำเสนอให้มันร่วมสมัยมากขึ้น อย่างคำว่า Piger works โลโก้ของเรา หมูกับเสือ ตัว P กับ W ตอนที่ออกแบบ เราอยากสร้างลายกระเป๋าหลังที่มันมีภาษาไทยอยู่ด้วย ก็เลยพยายามคิดลายนี้ออกมาซึ่งก็สามารถมองเป็นภาษาไทยได้ด้วย เราสามารถเห็นว่าตัวย่อ Piger works ในภาษาไทย ก็คือ พ. กับ ว. ซึ่งมันตรงกับตัวย่อของ Piger works คือ P กับ V เราไม่ได้ลืมความเป็นไทย แต่ความเป็นไทยของเราอาจไม่ใช่ลายไทย มันคือความประดิดประดอย มันคือดีเอ็นเอ และคือรากเหง้าของเรา นั่นคือสิ่งที่เราคิด

“ยีนส์เป็นหนึ่งในไม่กี่สินค้าของโลกที่แทบไม่มีใครไม่รู้จัก ทุกคนรู้จักยีนส์หมด และยีนส์เป็นสินค้าที่มีราคาตั้งแต่หลัก 100 บาท 1,000 บาท ไปจนถึง 10,000 บาท แต่อะไรที่ทำให้ราคามันแตกต่าง มันมีเรื่องราวของมันมากมาย ตั้งแต่การเลือกผ้า กรรมวิธีการทำ คอตตอนจากอเมริการัฐนี้ก็ไม่เหมือนรัฐนั้น คอตตอนจากแอฟริกาใต้ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง หรือเรื่องวัสดุกระดุมที่กล่าวไป ขั้นตอนราคากระดุมธรรมดาราคาอยู่ที่ 1 บาทต่อเม็ด แต่ของเรา 550 บาท กระดุมกลึงเม็ดละ 30 มี 4 เม็ด 120 บาท กี่เท่าที่ต่างกัน หรือเรื่องผ้า สียีนส์แท้จริง ยีนส์ดีๆ สังเกตเวลาเอาไปซักน้ำจะออกมาแค่เหลืองๆ เขียวๆ แต่ถ้ายีนส์ที่คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ ซักแล้วสีจะเข้ม เหตุผลมันมีอย่างนี้ แล้วการย้อมสียีนส์เข้มๆ เราต้องย้อมด้วยสีอ่อนๆ และย้อม 12 รอบ วันหนึ่งย้อมได้แค่รอบเดียว กว่าจะได้หนึ่งตัว ค่าต่างๆ ก็เป็นอีกกี่เท่า อันนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยในยีนส์ตัวหนึ่งราคาเป็นพันกับเป็นร้อย

“สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้หลอกลูกค้า เราทำแต่ของดีจริงๆ ทำไมต้องใช้ป้ายหนังจากม้า ม้ากับวัวก็ต่างกัน หนังม้ามีคุณสมบัติที่ความนุ่ม แน่น ทน และใส่แล้วไม่แข็ง ไม่อบ ไม่กรอบแตก หนังม้านำมาจากโรงงานที่ดีที่สุดในอเมริกา ที่เมืองชิคาโก เพราะเป็นโรงงานระดับตำนาน เราเป็นคนเล่น เราทำแบบคนเล่น และเราเลือกของที่ดี พอลูกค้าไปเห็นอย่างนี้ๆ ทีแรกเขาอาจจะไม่รู้ แต่พอรู้เขาก็จะเข้าใจ คือความซื่อสัตย์ในอาชีพ เพราะเรารัก เราอยากได้เพื่อนที่เล่นยีนส์เหมือนกัน เราไม่ได้อยากได้เงินลูกค้าแล้วก็จบ พวกนี้มันละเอียดอ่อน เราสามารถมองมันถูกก็ได้ แพงก็ได้ แต่ถามว่าทำไมรถสปอร์ตยี่ห้อเฟอร์รารีใครๆ เขาก็ว่ามันแพง เราก็เหมือนกัน ทุกอย่างมันมีต้นทุนของมัน

“เราพูดได้เต็มปากว่าของเราคือแบรนด์ที่ทำจากใจที่รักยีนส์จริงๆ เราไม่ได้ทำยีนส์ เพราะเราเห็นคนนี้ทำยีนส์แล้วดี แล้วเราทำให้คล้ายๆ เขา แต่ขายถูกกว่า ไม่ใช่ อันนั้นคือ “วอร์ ไพรซ์” (War Price) คือสงครามด้านราคา มันชัดเจนมาก แต่เราเพียงแค่อยากจะนำเสนอว่าคนไทยถ้าตั้งใจทำอะไร มันไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ ขอแค่ได้รับการยอมรับและเราอย่าดูถูกตัวเอง”

O ไร้ตัวตนเหมือนคนสิ้นเงา...
หรือจะเลือกเป็นเราอย่างภาคภูมิ

“สินค้าหลัก แน่นอนกางเกงยีนส์กับเสื้อแชมเบรย์ ล่าสุด เสื้อแชมเบรย์เราขายหมดภายในไม่เกิน 1 นาที ตกจริงๆ ราวๆ 10 วินาที เกลี้ยง 150 ตัว ตัวละ 2,650 บาท ลูกค้าก็งงว่าทำไมไม่ทัน มันไม่ทันจริงๆ คือเราอยากขาย ไม่ใช่ไม่อยากขาย แต่ด้วยกระบวนการผลิต นโยบายของเรา ไม่ได้อยากส่งนอก มันเป็นเรื่องง่ายมากเลย ถ้าจะทำ และเราก็รับได้เต็มที่ เงินเต็มๆ แต่จิตวิญญาณก็หายไปหมดแล้ว เราอยากทำเอง ด้วยโรงงานของเรา ศักยภาพเราทำได้เท่านี้ ผ้าเราทอได้เท่านี้ การเย็บได้เท่านี้ ก็ทำได้เท่านี้”

“โอ - โอภาสพงษ์” เผยคำตอบของคำถาม จากกางเกงยีนส์ สู่เสื้อ และต่อด้วยกระเป๋าสตางค์ ในนามแบรนด์ Piger works จึงไม่แปลกที่หลังจากต่อยอดออกมาแล้วจะครองใจกลุ่มลูกค้าอย่างเหนียวแน่น

“เราไม่ได้ทำจำนวนน้อยเพื่อสร้างกระแส เราทำน้อยจากการผลิตที่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ณ วันนี้เราเลิกงาน 4 ทุ่มทุกวันไม่หยุด จาก 8 โมงครึ่ง ฉะนั้นมันเป็นอะไรที่เราทำเต็มที่แล้ว เราไม่อยากเร่งให้ทำเยอะแล้วได้เนื้องานที่คุณภาพลดลง จะเห็นว่างานตัวที่ออกไป ลูกค้าชมเป็นเสียงเดียวกันเลยว่างานตัดเย็บเนี้ยบมาก ทั้งรุ่นที่เป็นรุ่นพิเศษ หมดภายในไม่เกินนาที ไม่มีรุ่นไหนเกินนาที เราจะมีการแจ้งล่วงหน้าแล้วว่าพรุ่งนี้เราจะเปิดจอง 10 โมง ไลน์ก็เด้งเป็น 1,000 กว่าข้อความ ล่าสุดกระเป๋าสตางค์ ใช่วัสดุหนังม้าส่วนสะโพกจากอเมริกา ตัดเย็บที่นี่ ราคา 14,000 บาท ทำมาแค่ 5 ใบ ยังไม่ได้เปิดเผยเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ลูกค้ายังไม่เห็นเลย แต่หมดแล้ว มันกลายเป็นว่า สิ่งที่เราค่อยๆ เย็บมาตั้งหลายเดือน ค่อยๆ ทำมือหมดทุกอย่าง ลูกค้าก็ไว้ใจ แม้เขาไม่เห็น แต่เขาเชื่อมั่น

“เราพยายามจัดทำทุกอย่างในโรงานของเราเอง เพราะว่าพอเราทำเอง เราได้ไอเดียในการพัฒนา ยกตัวอย่างเครื่องหนังเวลาเราทำ เรารู้สึกว่าหนังฟอกฝาดบ้านเราสังเกตง่ายๆ มีกลิ่นฉุน หนังขาวๆ ชมพูๆ ดมปุ๊บฉุกกึ้กเลย เคมีในการใช้ฟอกต่างกัน เราก็ทำแบบประเทศฝรั่งเศสที่เปิดมาแล้วหอม กาวที่ใช้ก็ต้องหอมด้วย ไม่ใช่หนังหอม เจอกาวที่ทามันมีกลิ่นก็จบ ก็เกิดการพัฒนา หรืออย่างด้ายที่เราใช้เย็บ เราใช้ด้ายทั่วไปก็ได้ แต่ในเมื่อเราใช้หนังดีแล้ว ถ้าด้ายไม่ดี นอกจากไม่สวย ยังไม่ทนอีก เราลองดูว่าแบรนด์ไฮเอนด์ระดับโลกเขาใช้อะไรกัน แอร์เมสใช้อะไร ทำไมกระเป๋าใบละเป็นแสน ใช้ด้ายจากโรงงานฝรั่งเศส เราก็ใช้ด้ายฝรั่งเศสโรงงานเกรดเดียวกับที่เขาใช้ มาเย็บเครื่องหนัง ทุกอย่างอยู่บนโจทย์ของเราคือทำอะไรที่มันเจ๋งที่สุด เราไม่ได้ทำอะไรที่ว่าสวยแต่รูป แล้วขายออกมา

“มันไม่ใช่” เจ้าตัวกล่าวยืนยันคงเดิมในรูปแบบการผลิตที่ไม่เปลี่ยนแปลง
“เราสานฝันอะไร เราอยากจะทำอะไรขึ้นมาแล้วเราก็ทำ เราอยู่กับมัน แล้วเราหมกมุ่นกับมัน เราเคยทำธุรกิจส่วนตัว นำเข้าสินแร่เหล็กส่งโรงงาน แต่ตอนมาทำตรงนี้วันแรกๆ นักออกแบบ นั่งเขียน นั่งสเกตช์ยีนส์ นั่งเขียนโลโก้ PW รู้สึกตัวอีกทีก็เช้า ทำให้รู้สึกในวินาทีนั้นเลยว่าเราอยู่กับอะไรได้ถึงเช้าโดยที่เราไม่เหนื่อยกับมัน นั่นคือสิ่งที่เรารักแล้วล่ะ เลยทำให้เราไม่เปลี่ยนแปลงถอยหลัง แต่ทำให้ดีได้อีก ใส่ใจได้อีก ละเอียดลออกับมันได้อีก มันก็เลยเกิดอะไรที่เราพัฒนาถึงวันนี้

“และพอทำได้อีก ดีได้อีก ถ้าถามเรื่องทิศทางการพัฒนาต่อไปในอนาคต ก็อยากจะต่อยอดบางอย่างที่เป็นภูมิปัญญาไทย เราอยากทำที่นี่ให้เป็นเมืองของคนที่ชอบยีนส์ อีกขั้นที่เราคิดไว้ในแผนอยู่แล้วและก็ค่อยๆ ทำอยู่อย่างที่บอกเรามีโรงทอผ้าให้ได้เห็น มีต้นคอตตอนที่เกิดจากการเริ่มเอาเมล็ดพันธุ์มาปลูกให้ลูกค้าได้เห็นว่า คอตตอนเป็นอย่างนี้ เส้นใยเอามาจากตรงไหน เอามาพันเกลียวอย่างไร เพราะบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคอนตอนมันคือดอกของฝ้าย เขาเห็น เขาจะรู้เรื่องราว เวลาเราเล่า เราจะพาเดินชม เย็บอย่างนี้ จักรอย่างนี้เป็นอย่างนี้ ใช้สอยด้ายอย่างนี้ มันมีเรื่องราว

“เมื่อสองปีที่แล้ว เราเคยทำเวิร์กชอป เพาะเมล็ดพันธุ์ต้นคราม แล้วให้ลูกค้ามาร่วมกันปลูก ทุกคนก็ปลูก ปลูกเสร็จเราก็ให้ปั่นด้าย ย้อมสีเองกับมือ คือเราพาเขาเรียนรู้ว่า กว่าจะได้มาเป็นเสื้อตัวหนึ่ง มันยากมาก กว่าจะได้สีเนียนขนาดนี้ มันต้องใช้พลังขนาดไหนในการสร้างมา ถ้าเขาไม่เห็น ก็จะรู้สึกว่าทำไมเสื้อราคา 1,950 แพงจัง แต่พอเห็นจากการลองย้อม ย้อมรอบแรก สีมันแค่ยังซีดๆ จางๆ เราย้อมกี่รอบ 10 รอบ วันหนึ่งย้อมได้แค่รอบเดียว ถ้าจะให้ดีก็ต้องอย่างน้อย 10 วัน แถมพอย้อมเสร็จ สีคราม 1 หม้อ ต้องหมักอีก 15 วัน

“ฉะนั้น เสื้อหนึ่งตัว มันไม่ได้ได้มาง่ายๆ แต่เขาจะเข้าใจไหม ข้อนี้สำคัญ”

นอกจากรักยีนส์เป็นชีวิตจิตใจ พิกเกอร์ เวิร์คส ยังก่อร่างสร้างฝันในการที่จะปั้นแบรนด์ไทยให้ภาคภูมิ ลบคำสบประมาท เพราะจริงๆ แล้ว สินค้าความเป็นไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

“ก็เคยมีคนเข้ามาขอซื้อหุ้นและเอาไปส่งตลาดเมืองนอกเหมือนกัน แต่เราไม่เอา เพราะอย่างที่เรียนว่าเรามีความสุขในงานที่ทำแล้วมันเป็นชีวิตเรา เราทำสิ่งนี้ เรามีความสุข เราเพียงพอกับความสุข วันหนึ่งเราอาจจะแมสกว่านี้ มีเงินมากกว่านี้ แต่ความสุขเราไม่มี เรารู้สึกว่าความสุขมันเพียงพอกับสิ่งที่เราทำทุกวัน แล้วมันทำให้บริษัทเจริญเติบโตไปในสิ่งที่ควรจะเป็นได้ หล่อเลี้ยงเราและลูกน้องเราได้ จากช่างที่อาจจะรายได้น้อยกว่านี้ พอมาอยู่ที่นี่ ทุกคนรายได้สูงหมด ทำงานในห้องแอร์ แต่งตัวมียูนิฟอร์ม เขารู้สึกภูมิใจในความเป็น Piger works เราก็แฮปปี้กับตรงนี้ และพยายามรักษาความดีที่สุดของเราให้ได้

“แต่พรุ่งนี้ดีได้กว่านี้ เราคิดถึงวันพรุ่งนี้ตลอดเวลา เรามีลมหายใจที่เราจะก้าวไป พอถึงวันพรุ่งนี้ก็ขีดลมหายใจพรุ่งนี้ พรุ่งนี้ทำอะไรกันดีวะ พัฒนาอะไรกันดี บริการยังไง ขายยังไง การตัดเย็บอย่างไร พอเราทำอย่างนี้ เราอยู่ได้ ถ้าเกิดตลาดคนไทย ถ้าเกิดมีแบรนด์แข่งกันอย่างนี้ แล้วตลาดยกระดับ พวกเราก็อยู่ได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดมีแบรนด์คู่แข่ง มาทำให้แค่เหมือนๆ แค่เน้นการตลาดแรงๆ เอาดารามาใส่ โฆษณาแรงๆ คุณภาพไม่ต้องคิด แล้วนำเสนอออกไป ขายดี ฝรั่งซื้อไป คนไทยด้วยกันเองซื้อไป มันก็คือว่ายีนส์ไทยแบรนด์ไทยอยู่ได้แค่นี้

“ฉะนั้นการแข่งขันของสินค้าไทย มันควรจะแข่งกันเจ๋ง แบบว่าเจ้านี้ทำของดีๆ ออกมา แล้วเรียนรู้ที่จะบริโภค” หนึ่งในหัวเรือใหญ่แห่งค่ายยีนส์คุณภาพ กล่าวก่อนจะทิ้งท้าย แนะนำการเริ่มต้นค้นหาตัวตนที่ทุกคนภาคภูมิใจในความเป็นตัวเอง

“ถ้าเกิดใครสักคนจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง สิ่งที่สำคัญคือแบรนด์ของตัวเองต้องเป็นสิ่งที่ตัวเองถนัด มีเอกลักษณ์ ไม่ใช่แบรนด์ของตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่คนอื่นถนัด ความหมายคือเขาต้องรู้ก่อนว่าเขาชอบอะไร เก่งอะไร ถนัดอะไร แล้วทำในสิ่งที่เขามีความสามารถออกมา ฉะนั้น ถ้าเขาทำในสิ่งนี้ได้ มันจะออกมาดี ไม่ใช่ว่าพอเห็น...ยกตัวอย่างเราทำ Piger works ประสบความสำเร็จ แต่คุณไม่เคยชอบยีนส์ ไม่มีความรู้เรื่องยีนส์เลย อยากทำแบบนี้ ก็ก๊อบปี้เอามาทำ มันก็ไม่ใช่

“จริงๆ คุณอาจจะมีความสามารถในเรื่องอื่นๆ คุณอาจจะมีความสามารถในเรื่องการทำก๋วยเตี๋ยว เพราะคุณพ่อของคุณเป็นเจ้าของร้านและคุณก็อยู่กับมันมาทั้งชีวิต สูตรลูกชิ้นพ่อเจ๋งมาก แทนที่จะมาอยู่แค่ในร้านเล็กๆ มีการต่อยอด นั่นคือสิ่งที่เป็นตัวเขา อย่าใช้กระแสในการสร้างแบรนด์ ทำตามกระแสเพื่อให้ได้แชร์ส่วนแบ่งตลาด มันไม่ใช่ อันนี้คือหัวใจสำคัญ สร้างแบรนด์ของคุณด้วยตัวของคุณ สติปัญญาของคุณ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด”


ติดต่อ Piger Works 17/4 หมู่ 3 ถ.พิบูลสงคราม บางเขน อ.เมือง นนทบุรี โทร. 089-524-4995

_________________________

เรื่อง : กมลพร วรกุล, รัชพล ธนศุทธิสกุล, อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช

กำลังโหลดความคิดเห็น