xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวตนสุดยอดคนล่าฝัน เผยกลยุทธ์สร้างกิจการส่วนตัวให้ประสบความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดเคล็ดกลยุทธ์ทำธุรกิจส่วนตัวให้ประสบความสำเร็จ จาก 5 เจ้าของแบรนด์ดังผู้ตั้งต้นสร้างตัวมาแบบคนหน้าใหม่ กระทั่งยืนหยัดได้ในเส้นทางธุรกิจ ใครที่กำลังคิดจะมีกิจการส่วนตัว นี่คือ Case Study กรณีศึกษาที่อาจให้แนวทางบางประการแก่คุณ

ยังคงเป็นเทรนด์ เป็นทางชีวิต ความคิดความฝันสำหรับคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่อยากจะมีกิจการเป็นของตนเอง แต่เส้นทางสายนี้ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง เฉกเช่นพวกเขาเหล่านี้ที่ผ่านวันเวลา ยืนหยัด ต่อสู้ ด้วยมุมมอง ไอเดีย วิธีคิด และการลงมือทำ จนประสบความสำเร็จ ก่อเกิดเป็นแบรนด์ซึ่งได้รับการยอมรับ

ทั้ง “ลูก - ชิ้น - จัง” แฟรนไชส์ชื่อดังที่มีสาขามากกว่า 600 สาขา, “พิกเกอร์เวอร์คส” บลูยีนส์สัญชาติไทยที่ขายหมดตั้งแต่เปิดออเดอร์, ไดม่อน เกรนส์ กราโนล่าเจ้าแรกของเมืองไทย, โคเคน ซูชิ แอนด์ ไดนิ่ง บาร์ ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับการโหวตว่าเป็นร้านซูชิอันดับหนึ่งในกรุงเทพฯ และ “A Plus Wealth Planning Company Limited” บริษัทของคนหนุ่มนักวางแผนทางการเงินซึ่งกำลังโตวันโตคืน

พวกเขาเหล่านี้ สร้างเนื้อสร้างตัวกันมาอย่างไร จากจุดเริ่มต้นและพ้นผ่านวันเวลาและปัญหามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร รายละเอียดเหล่านั้นถูกบอกเล่าไว้แล้วในหนังสือ “ล่าฝัน คนสร้างแบรนด์” อย่างไรก็ตาม นี่คือเรื่องราวบางส่วนที่เราหยิบมาฝากกัน....
(1)
ค้นให้เจอทางที่ใช่
หลักไมล์แรกของความสำเร็จ

“เราทำจากสิ่งที่เราชื่นชอบ เรารักมัน” โอ-โอภาสพงษ์ ทองนุช อดีตวิศวกรหนุ่มที่ผันตัวมาก่อตั้งแบรนด์กางเกงยีนส์คนไทยเพื่อคนไทย “พิกเกอร์ เวอร์คส” (Piger Works) จนประสบความสำเร็จได้รับกระแสนิยมอย่างล้นหลามของนักสวมใส่คลั่งไคล้ยีนส์ทั้งเมืองไทยกระทั่งชาวต่างชาติ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเกิดก่อร่างความสำเร็จทั้งหมดทั้งมวล จากชื่นชอบกลายเป็นหลงรัก และผลักดันให้ผันตัวเป็นพ่อค้าซื้อขายแลกเปลี่ยนกางเกงยีนส์มือสองตั้งแต่สมัยชั้นระดับเทียบเท่ามัธยมปลาย

“เพราะในสมัยนั้น ฐานะทางบ้านก็ปานกลาง พอเราอยากได้กางเกงยีนส์สักตัว ก็ต้องเก็บเงิน และกว่าจะได้กาเกงยีนส์ดีๆ เท่ๆ ก็ราคาแพง ตกตัวหนึ่ง 1,600 บาท ถึง 2,000 บาท ราคามือสองยังขนาดนั้น เราก็เลยคุยกับเพื่อน เปิดร้านเล็กๆ สักร้านหนึ่งดีกว่าในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาเราก็ใส่เอง เพราะมีหลายตัว

“ก็เกิดเป็นเริ่มขาย แต่ก็ขายได้ไม่นาน แต่ที่สำคัญคือติดเป็นความรู้ตั้งแต่ตอนนั้น และพอกาลเวลาผ่านไป ผู้ชายมีของเล่นไม่กี่อย่าง รถ พระเครื่อง นาฬิกา ก็จะเวียนไปเรื่อยๆ แต่ของผมก็คือตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2533 จนปัจจุบัน ยีนส์เป็นสิ่งที่ไม่เคยห่างหายไปเลย”

และยังคงอยู่ในสายเลือด หลังว่างเว้นจากหน้าที่การงาน “หมูลายพาดกลอน” ตัวนี้จึงไม่ใช่แค่การพักผ่อนขุนไขมันสะสม หากแต่กระโจนเข้าไปศึกษาค้นคว้าพร้อมๆ กับเผยแพร่ความรู้ของกางเกงยีนส์ที่มีเก็บในคลังบนโลกอินเตอร์เน็ต

“ก็ทำงานในสายงานระบบของวิศวะหลังเรียบจบควบคู่ไปกับการทำธุรกิจส่วนตัวนำเข้าสินแร่เหล็ก แล้วทีนี้อยู่มาวันหนึ่งผมฉุกคิดว่าเงินเราก็พอมีในระดับหนึ่งแล้ว จากทำงานทั้งสองอย่าง เวลาก็พอมีแล้วหลังจากออกจากงานประจำมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่ผมขาดไลฟ์สไตล์

“ไลฟ์สไตล์ที่เป็นตัวของตัวผม ผมก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรก็ได้ให้มันมีทั้ง 3 สิ่งเหล่านี้ คือทำงานที่มีทั้งเงิน เวลา แล้วก็ไลฟ์สไตล์ ก็มาปิ๊งที่กางเกงยีนส์”

และสิ่งที่รักและชื่นชอบตลอดมานับกาลเวลาแรมๆ ปี ทำให้ทุ่มเทและอุทิศแรงกายและใจด้วยปณิธาน “อยากทำสิ่งที่ดีที่สุด” ซึ่งนั่นก็ทำให้กลายเป็นแบรนด์ยีนส์ฝีคนไทยได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามของนักสะสมและคลั่งไคล้ยีนส์ชนิดราคาเหยียบหมื่นแต่เปิดพรีออเดอร์เป็นต้องรีบจอง เพราะแม้สายเพียงนาทีเป็นอันหมดสิทธิ์เป็นเจ้าของ

“เราอยากทำสิ่งที่ดีที่สุด เราก็เลยลงทุนสร้างโรงงานผลิตกางเกงยีนส์เลย ซึ่งแม้จะผลิตได้ครั้งละไม่เยอะ แต่คุณภาพรายละเอียดคัพแก้ว อัดเม็ดเต็มทุกรายละเอียดการถักทอ วัสดุที่มีความหมายเป็นมาเป็นไป จนเกิดมีคุณค่าในตัวของตัวเอง”

... เพราะอยู่กับสิ่งที่ชอบ รู้ว่ารักตั้งแต่วันแรก ก็เปลี่ยนมาอยู่ในสิ่งที่รักอย่างมีความสุข ใส่ใจลงไปแล้ววันนี้มันก็สะท้อนออกมาถึงกางเกงยีนส์ทุกฝีเข็มจริงๆ ซึ่งไม่ต่างไปจาก “เชฟคิง” หรือ “เชฟเคน” - รัชพล ธนินโชติกร เจ้าของ โคเคน ซูชิ แอนด์ ไดนิ่ง บาร์ ชื่อดังแห่งย่านสาทร คนล่าฝันสร้างแบรนด์ อีกท่านหนึ่ง ที่เริ่มต้นและลงมือทำอย่างทุ่มเทเต็มที่ในทางที่ใช่ของตัวเองในทางศิลปะ จนประสบความสำเร็จ ได้รับการโหวตให้เป็นร้านอาหารที่อร่อยที่สุดของประเทศไทยจากเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Tripadvisor รวมทั้งถูกรีวิวผ่านเว็บท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนอย่าง Ctrip

“เพราะเรารู้แล้วว่าชีวิตคนเรามันต้องหาที่ยืนในสังคม แต่กว่าจะมาตรงนี้มันต้องมาจากความใส่ใจ ความมุ่งมั่น แล้วมันเป็นอะไรที่มันเป็นจับต้องได้ ชีวิตผมก่อนที่จะประสบความสำเร็จใจตรงนี้ ผมเป็นแมสเซนเจอร์ ขับรถส่งเอกสาร เป็นพ่อครัว เป็นเด็กเสิร์ฟที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะจับพลัดจับผลูไปเป็นพ่อครัวในร้านอาหารญี่ปุ่น เพราะนอกจากปัจจัยเรื่องปากท้องแล้วเล็งว่าสิ่งตรงนั้นมันเป็นศิลปะ เป็นงานที่ไม่ใช่ทุกคนก็ทำได้

“ถ้าเราหยิบจับมันมา มันน่าจะตอบโจทย์อะไรในชีวิตเราได้ ก็เลยพยายามศึกษาหาความรู้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำอาหารญี่ปุ่นที่มีความพิถีพิถันทุกรายละเอียดมาก่อนเลย”

จากเด็กหนุ่มนิเทศฯ มีนิสัยรักความอิสระนอกกรอบ จึงกระโจนลงไปในขอบเขตรูปแบบต้นฉบับเพื่อแสวงหาความรู้ที่แท้จริง เพราะเราจะไม่มีวันแหกกฎได้ถ้าไม่ลองอยู่ในกฎนั้นเสียก่อน

“ก็มุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ อาหารญี่ปุ่นทำอย่างไรบ้าง เป็นอย่างไรบ้าง พอเรารู้แล้วเราก็หาสไตล์ตัวเอง ซึ่งสไตล์ตรงนี้มันตอบไม่ได้จริงๆ ว่ามันจะเป็นที่หนึ่งหรือมันจะไม่ขึ้นอันดับเลย เราไม่ได้แคร์ตรงนั้น แต่เรารู้ว่าเราเต็มที่หรือยัง เราเต็มที่กับมันแล้ว แล้วเราจะได้หรือไม่ได้อะไร เราไม่รู้หรอก แต่เราคาดหวังว่าเราน่าจะได้ เพราะเรามีทางของตัวเอง อย่างน้อยมันต้องแตกต่างกว่าคนอื่น ทีนี้พอแตกต่างแล้วรามุ่งมั่นใส่ใจมันได้แน่ๆ

“และการที่เราจะแตกต่าง ยกตัวอย่างอาหารญี่ปุ่นฟิวชั่นมีเปิดกันเยอะแยะมากมาย แต่บางร้านใช้คำว่าฟิวชั่นโดยที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร คือเรารู้ว่าควรเอาอะไรมาผสมกับอะไรโดยที่มันกินแล้วรสชาติมันไม่ได้ มันไม่ไปด้วยกัน อย่างที่คนไทยคิดว่าร้านซูชิทุกร้านจะต้องมียำปลาแซลมอน หันแร่ปลาแซลมอนบางๆ แล้วราดซอสน้ำจิ้มซีฟู้ด แต่ลองนึกสภาพปลาไหล มาใส่น้ำเปรี้ยวๆ มันเป็นด้วยกันไม่ได้ไง

“แต่ผมไม่มั่ว แล้วผมก็ใส่ความที่เป็นตัวเรา ความเป็นคนภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรีที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเล สิ่งนี้มันก็ไปบวกกับกฎของเขากับกฎของเรา ต้องรู้กฎที่แท้จริงเขาก่อนถึงแหกกฎเขาได้”

“และที่สำคัญคือการพัฒนาที่ไม่หยุดยั่งของเรา” หนุ่ย - เจตุบัญชา อำรุงจิตชัย เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ “ลูก - ชิ้น - จัง” ที่มีกว่ามากกว่า 600 สาขา กล่าวสมทบถึงเคล็ดลับในการจะก่อร่างสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

“คือคนส่วนใหญ่มักคิดว่าผมทำธุรกิจสานต่อจากครอบครัว ผมมีต้นทุนจากครอบครัว แต่จริงๆ ไม่ใช่ ชีวิตผมมีต้นทุน ไม่ใช่ ผมไม่มีต้นทุน คือครอบครัวผมไม่ได้ทำลูกชิ่น ครอบครัวผมขายของในตลาด ซื้อมาขายไป เป็นแผงๆ ขายของสดโน้นนี้นั้น ฉะนั้นนิยามของผมถ้าจะพูดไปแล้วคือผมเติบโตมาเริ่มจากเด็กเข็นในตลาดที่ใส่รองเท้าเตะ มีผ้ากันเปื้อนอันหนึ่ง เข็นรถสองล้อผ่านน้ำคลำ น้ำขยะดำๆ มีกลิ่นเหม็น ไอ้สิ่งที่ได้จากครอบครัวแน่ๆ เลยที่เป็นต้นทุน คือความรู้เรื่องการขายของ เราเรียนรู้เรื่องการค้าขาย แต่ว่าเราไม่ได้เอาต้นทุนที่เป็นตัวเงินจากที่บ้านมาเลย”

ทั้งจากความไม่เห็นตรงกันในด้านธุรกิจ
และทั้งมุมมองเรื่องไลฟ์สไตล์ชีวิต
“คือว่าหนึ่งเลย ตอนที่เรายังเด็ก คุณไปตลาดสดเพื่อซื้อของโน่นนี่นั่นเวลาจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ว่าสมัยนี้หรือสมัยที่ผมเริ่มโตมานิดหนึ่ง คนเริ่มไม่ค่อยไปตลาดกันแล้ว คนไปซูเปอร์มาเก็ต ไม่ต้องมานั่งตื่นแต่เช้าไปตลาด แถมซูเปอร์มาเก็ตเย็นกว่า สะอาดกว่า แล้วก็มีโปรโมชั่น

“ซึ่งหากเราทำธุรกิจอย่างนี้ต่อไปคงอยู่ได้ไม่นานในความคิดเรา เพราะผมเห็นพัฒนาการคุณพ่อตั้งแต่สมัยมีพนักงาน 6-7 คน คอยช่วยโน้นนี้นั้น แล้วมันน้อยลงๆ จนผมเริ่มใกล้ๆ จะเรียนจบเหลือแค่คนเดียว”

เมื่อโอกาสเป็นของผู้ที่เชื่อมั่น การสร้างมันขึ้นมาคือวิธีที่ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ลีรอที่จะขอซื้อสิ้นค้าในร้านของตัวเองด้วยราคาทุนแล้วเดินเข้าหาพ่อค้าแม่ค้าที่ขายลูกชิ้นทอดย่านตลาดในละแวกใกล้เคียง

“ตอนแรกผมบอกคุณพ่อว่าเปลี่ยนไหม ทำแบบอย่างอื่น เราเข้าหาลูกค้า ที่ต้องเปิดตี 1-2 เพื่อร้านรอลูกค้าวิ่งเขามา เพราะร้านอื่นเขาเปิดกันเราก็ต้องเปิด แต่ท่านก็ไม่ได้เชื่อมั่นความคิดเราด้วยความที่ว่าท่านทำอย่างนี้เลี้ยงเรามาจนจบ เราไม่สามารถไปกระทบความคิดที่เขาคิดมาได้ ก็เลยลองทำเองเลยแล้วกันว่าสิ่งที่เราคิดมันถูกหรือเปล่า

“เริ่มจากขอโปรดักส์สินค้าตัวหนึ่งในร้าน ซึ่งที่มาของลูกชิ้นจัง ก็คือลูกชิ้นรักบี้ เพราะว่าตอนเด็ก ผมเคยเห็นลูกค้าซื้อกับคุณพ่อแล้วเอาไปทอดขายและก็รับไปแต่ตัวนี้ตัวเดียวไปทอดขาย มันต้องมีอะไรแน่ๆ ก็เลยเอา บอกว่าสั่งมาเท่าไหร่เผื่อด้วย ต้นทุนเท่ากัน แล้วก็ขอรถกระบะเขาคันหนึ่ง คุณพ่อตื่นตีหนึ่ง ผมดูแล้วว่าตี 1-5 ไม่มีคนตื่นตื่นตี 5 เลย แล้วเอารถมารับของที่ร้าน วิ่งขับไปตามตลาดสดยิ่งเจริญ ตลาดสดนนทบุรี เพื่อที่เอาตัวอย่างแพ็คบรรจุเล็กๆ และนามบัตร ในการสั่งโดยที่ราคาไม่แตกต่าง เพราะไม่ได้บวกกำไรเยอะ แต่เราไปส่งเขาถึงที่”

ราคาต่างกันเพียงหลักหน่วย ส่งผลให้ลูกค้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก จากแพ็ค 10-20 กิโลกรัม ก็ค่อยๆ ทยอยขึ้นจนหลักร้อยกิโลกรัมในระยะเวลาไม่นาน ก่อนที่ภายหลังจะก้าวกระโดดเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเองทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันลูกชิ้นจังมีสาขากว่า 600 สาขา ทั่วประเทศไทย

“คือจุดเริ่มของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจจะใกล้เคียงกันหรือห่างกัน แต่ด้วยแต่ทุกคนมีความพยายามในแนวทางของตัวเองก็จะประสบความสำเร็จได้ มันจะเริ่มต้นจากวิธีคิด” หน่อย - ภิรมย์นาถ สว่างล้ำ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของลูก-ชิ้น-จัง กล่าวเสริม

“ถามว่าคนเราทำหวังเงินไหม มันเลี่ยงไม่ได้ เราขายก็อยากให้ขายหมด แต่มันจะขับเคลื่อนไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีความรักกับมัน เหมือนเราดูหนังเรื่องหนึ่ง ทำไมหนังเรื่องหนึ่งเราถึงดูได้เป็นชั่วโมงๆ ซีรี่ย์เป็นสิบๆ ตอน ไม่หลับไม่นอน แต่บางเรื่อง 10 นาทีเปลี่ยนช่อง เหมือนกัน มันต้องเริ่มจากความรัก ทุกคนเกิดจากความรักหมดเลย คือเราอาจจะไม่ได้รักมันตั้งแต่ตอนแรกหรอก แต่พื้นฐานเราต้องมี มันจะศูนย์ไม่ได้ เราอาจจะรักการค้าขาย อยู่แล้วลึกๆ ที่นี้มันมีความอยากได้เงินผสมเข้ามา เราก็สามารถอยู่กับมันได้ เราสามารถยืนขายของตั้งแต่บ่ายสามโมงยันสี่ทุ่ม ไม่รู้สึกเหนื่อย จนกลับบ้านรู้สึกปวดขา แต่ช่วงเวลานั้นลืมตัวไปเลย คุณตอโจทย์ตัวเองได้อยู่แล้วว่าสิ่งอะไรก็ตามที่ทำ ทุกอย่างต้องเกิดจากความชอบพื้นฐาน เกิดจากความรัก”

(2)
ปัญหาและอุปสรรค
คือโอกาสของคุณ
 
“ถ้าถามว่ากว่าจะมาถึงจุดตรงนี้ได้พบเจออุปสรรคมากมาย” หนุ่ย - เจตุบัญชา กล่าวถึงคำถามของการทำธุรกิจที่ล้วนต้องประสบพบเจอ หลังค้นหาเส้นทางหรือพบสิ่งที่ใช่ในการสร้างธุรกิจ

“ปัญหามันเยอะมาก ที่ไม่ค่อยแฮปปี้แล้วมีผลต่อจิตใจ คือเป็นช่วงที่ลูกชินจังประกาศขึ้นราคาสินค้าครั้งแรก เพราะว่าเนื่องจากเปิดมา 8 ปีแล้ว ทุกคนเริ่มทานตั้งแต่ ราคาเบสิคที่ 20 บาท และการจะหยิบเอาสตรีทฟู้ดมาขายแล้วขึ้นราคาเขาเป็นอะไรที่แบบว่าแค่ขึ้นราคา 5 บาทก็แย่แล้ว แต่จังหวะนั้นทุอย่างรอบข้างขึ้นหมด วัตถุดิบในการทำขึ้นหนึ่งบาท มันมีผลต่อคนที่ขายของ 20-30 แต่ว่าเราก็แบกมาตลอด เคยแบกกระทั่งรู้สึกว่าไม่เหลือกำไรเลย ดังนั้นการขึ้นราคาสาขาในตอนนั้นที่มีประมาณ 300-400 สาขา ขึ้นราคาที 300-400 สายโทรศัพท์ก็จะเข้ามาบอกว่าน้ำตาลในการทำน้ำจิ้มก็ขึ้นแล้วจะขึ้นราคาลูกชิ้นอีกเหรอ แต่เราแบกไม่ไหวแล้วเลยจำเป็นต้องขึ้น

“เพราะว่าถ้าเราอยู่ไม่ได้ ผมก็ไม่สามารถอุ้ม 300 สาขาได้ ก็เลยบอกว่าขอขึ้นนิดหนึ่ง ก็มีที่ไม่เข้าใจ แต่เราก็ต้องเปิดใจคุย ลูกค้าที่เข้าใจตั้งแต่แรก เขาจะสัมผัสความเป็นตัวเราได้ว่าเราไม่เคยทำอะไรว่าเงินเป็นปัจจัยหลัก เราจะอยู่เพราะว่าเขาอยู่ได้ ถ้าแขนขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”
นั่นทำให้เกิดซึ่งความเชื่อมั่น ยิ่งเป็นรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ ความเชื่อมั่นในตัวสิ้นค้าและแบรนด์ คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในความคิดของหน่อย - ภิรมย์นาถ

“แน่นอนว่า ทุกคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจแล้วเข้าไปอยู่ในธุรกิจ เราต้องรู้ทุกอย่าง ต้องรู้หมดว่าน้ำแข็งกระสอบหนึ่งกี่ชั่วโงละลาย แก๊ซถังหนึ่งเฉลี่ยต่อลูกชิ้นกี่ถึง ไม้แพ็คหนึ่งเฉลี่ยแล้วใช้เท่าไหร่ เราคลุกคลี่อยู่กับมัน การที่เราจะเริ่มต้นแฟรนไชส์ เอาตัวเราเป็นที่ตั้ง จะมีแฟรนไชส์สักอย่าง คำถามแรกเลยชอบเจ้าของเป็นแบบไหน แบบไหนที่จะโดนใจเรา ฉะนั้นส่วนมากคนที่อยากจะเป็นแฟรนไชส์ เป็นคนที่อยากวางระบบ ฉะนั้นเราต้องเจาะตอบโจทย์ให้ได้ในเรื่องของลูกค้าที่จะเข้ามา แล้วเขาอยากมีรายได้ แต่เราก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันของตัวองได้ เช่น เช้าทำงาน เลิกงาน 5 โมงเย็นไปรับลูกแล้วกลับมาขายของได้ คือเราเอาทุกสิ่งที่เรียนรู้มาเป็นการบอกต่อ เชิญชวน ลองทำแบบนี้ซิ แล้วเรารู้ลึก รู้จริง เขาฟังเขามั่นใจ เขาก็เลือกที่จะลงทุนกับเรา”

“คือจริงๆ มันไม่ใช่ปัญหา หากเราใช้ใจในการทำธุรกิจ” โอภาสพงษ์ กล่าวเสริม
“อย่างของผม เพราะความที่ผมเป็นโรงงานผลิต ออเดอร์ก็อย่างที่ทราบกันอยู่ จะมีล่วงหน้าตลอด อยู่ปีใหม่ปีหนึ่งรับออเดอร์ไว้แล้ว สมมุติจำนวน 100 ตัว เราต้องผลิตและส่งมอบตามกำหนดการ แต่พอถึงเวลาช่วงปีใหม่วันหยุด แล้วก็หัวหน้าช่างลาออกโดยที่ไม่ได้ลาล่วงหน้า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้งานผลิตยังต่อเนื่องไปได้ โชคดีที่ในสมัยนั้นด้วยความที่เรารักและชอบเราจะสนใจเราทำ เวลากลางวันช่างเย็บเราก็จะเดินๆ ผ่านแอบดูว่าเขาเย็บอย่างไร ทำอย่างไร กลางคืนก็จะทดลองเย็บทุกวัน เราก็พอทำได้แล้วก็แนะบอกช่างมือรองคนอื่นแลกเปลี่ยนกัน เราก็ผ่านมันมาได้

“คือปัญหามันเป็นสิ่งที่เราต้องก้าวผ่านมันไปมากกว่า เราไม่เคยมองว่าเป็นปัญหา ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นกับผมเองและพิกเกอร์ เวิร์คส เรามองว่าเป็นบันไดขั้นหนึ่งที่เราต้องผ่านมันไปให้ได้แลทุกครั้งที่เราผ่านมันไปได้มันจะเกิด ผลผลิตหรือความสำเร็จเกิดขึ้นเสมอ เกิดการพัฒนาเกิดความสำเร็จขึ้นเสมอ”

“อย่างร้าน โคเคน ซูชิ แอนด์ ดายนิ่ง บาร์...” เชฟคิงกล่าวเสริมขึ้นมา

“ตอนที่เราเริ่มทำร้านใหม่ๆ เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขายืนได้ ทำร้านเหมือนปลูกต้นไม้ เหมือนเลี้ยงเด็ก ถ้าเราไม่ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ลดน้ำมันทุกวันอย่างไรก็ไม่โตหรอก แต่กว่ามันจะเอาเงินไปซื้อปุ๋ยได้ทุกวันๆ เอาเงินไปเปลี่ยนหน้าดินทุกวันๆ ก็หมดไปเยอะ แต่มันก็ผ่านมาได้อย่างที่บอกคือมั่นต้องมุ่งมั่นเชื่อมั่นว่าเรามีของ เชื่อมั่นในทางที่เราเป็น ปัญหาก็ไม่ใช่ปัญหา อย่างที่ใครๆ มองว่าเป็นปัญหาในกรณีร้านอาหารก็อปเมนูกัน ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา มันห้ามกันไม่ได้ ต่อให้เรา ติดป้ายไว้อย่าก็อปเดี๋ยวโดนฟ้องมันก็ก็อป เพราะยิ่งพนักงานเรา พ่อครัวเรา เราทำเอง ยิ่งไม่กลัวเลย ถึงมีคำว่า รอยัลตี้ ความเฉพาะของเราที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ รสมือ ทุกวงการ ไม่กลัวเลย ปัญหาจริงๆ เป็นเรื่องคนมากกว่า คนเป็นปัจจัยที่คอนโทรลไม่ได้เลย ถ้าเรื่องเงินไม่มีก็หยิบยืมได้ แต่คน ทัศนคติคน การทำงานเป็นทีมเวิร์ค ถ้ามันไม่เป็นทีมมันยาก

“ซึ่งถ้าถามวาจะผ่านได้อย่างไร ก็ให้ใจเขา เขาจะให้ใจเรา เปิดใจคุยกัน ถ้าเขามีปัญหาอะไรก็ให้เขาพูดตรงๆ ตรงๆ กันเลยนะ เราก็ตรงๆ ช่วยได้แค่ไหน ลูกน้องไม่มีเงิน อยากขึ้นเงินเดือน พานไม่ทำงาน ก็คุยกัน ต้องใช้ใจแลกใจ ใช้ใจในการดำเนิน”

ไม่ต่างไปจาก “Diamond Grains” อาหารสุขภาพ ของคู่รักนักธุรกิจวัยเพียง 20 ปีต้นๆ “แพ็ค-วุฒิกานต์ วงศ์ดีประสิทธิ์” และ “อูน-ชนิสรา โททอง” ที่ทุกสิ่งอย่างก่อเกิดจากความรัก ฝ่าฝันด้วยหัวใจ

“ทุกปัญหามีทางออก ตังแต่เริ่มตอนอายุ 19-20 ปี ตอนนั้นกระแสอาหารสุขภาพยังไม่ดีเลย มันไม่ใช่การทำตามกระแสอยู่แล้ว แต่เป็นการทำเพราะว่าเราต้องการสร้างสิ่งที่แปลกใหม่เข้ามาในตลาดแล้วเราก็อยากเป็นผู้นำ และการเป็นผู้นำในตอนนั้น ข้อดีก็คือทำให้เราไม่ต้องไปต่อสู้กับเจ้าใหญ่ๆ ที่เขามีพลังอำนาจเยอะๆ มีเงินมากมายในการลงทุนมาร์เก็ตติ้ง เรามีสินค้าที่ดี และมีช่องทางที่จะเติบโต ก็เลยคิดว่าเรารักการกิน เราชอบมาก วันๆ ไม่ทำอะไรเลย หาแต่ร้านอร่อยๆ ไปทาน แล้วประจวบเหมาะกับการรักษาสุขภาพที่คิดว่ามั.นน่าจะกำลังมา ประกอบกันสองอย่างเลยตัดสินใจทำ

“มันมีความเข้าใจเดียวเลยที่มันเปลี่ยนไป คือเราเลิกเอาสิ่งที่ตัวองอยากเอามาทำงาน เราใช้ลูกค้า ความต้องการของลูกค้า ออกมาเป็นงาน คือเราทำงานเราเลิกคิดว่าเราอยากทำอะไร เราอยากได้แบบไหน รสชาติแบบไหน แต่เปลี่ยนเป็นลูกค้าอยากได้ของแบบไหน อยากได้อะไร สิ่งเราทำแก้ปัญหาอะไรให้ชีวิตลูกค้าได้บ้าง เพาะเราเป็นสินค้าสุขภาพ การขายของสุขภาพมันจะไม่มีประโยชนะไรเลย ถ้าสินค้าเราไม่แก้ปัญหาให้ชีวิตเขาดีขึ้น ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เราไม่ตอบโจทย์อะไร เราไม่ทำ

“เราเลือกทำในสิ่งที่ชอบ และสิ่งที่ชอบก็กลับมาทำให้เรามีกำลังมากขึ้นด้วย ปัญหาแค่ไหนก็แก้ไขได้”

(3)
200 แลก 2 ล้าน
บทส่งท้าย “ล่าฝัน คนสร้างแบรนด์”

“ย้อนลับไปเมื่อตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ อยากบอกว่าหนังสือเต็มบ้านผมเลย เพราะผมรู้สึกว่าชอบคนที่ประสบความสำเร็จ อยากจะรู้วาขาทำอย่างไร ก็นั่งอ่าน เพราะรู้สึกว่าราคาที่แลกมามันแลกแนวทางการดำเนินชีวิตเราได้นิดหนึ่ง มันก็สามารถปั่นจาก 200 เป็น 2 ล้าน

“ฉะนั้นวันที่สำนักพิมพ์ติดต่อมา อยากจะทำหนังสือทั้งๆ ที่เป็นคนไม่ค่อยอออกสื่อ แต่ในทางธุรกิจทั้ง 5 แบรนด์ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ผมเกิดความสนใจ และพอเสร็จออกมาผมก็ยิ่งเชื่อมั่นอีกว่า คนที่หยิบแล้วซื้อ มันได้อะไรจากพวกเราอย่างละนิดหน่อยแล้วอาจจะทำให้คุณเป็นคนต่อไปที่จะมาลงหนังสืออย่างนี้เพื่อที่จะแบ่งปั่นกับคนที่เขาพึ่งจะเริ่ม เด็กที่พึ่งจะขึ้นมา เขามีแนวคิดอย่างไร แล้วฝ่าฟันอย่างไร

“เพราะแต่ผมเชื่อวาทุกคนหลังแหวะแหวะหมด การที่ทุกคนจะขึ้นมา ไม่ใช่ธุรกิจพ่อแม่นะ ธุรกิจที่เราเลือกแล้วจะเดิน ผ่านน้ำตา คนดูถูก ผ่านอะไรมาเยอะ”

หนุ่ย - เจตุบัญชา กล่าวถึงปัจจัยพื้นฐานของการก่อเกิดเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนมั่นคงซึ่งเป็นจุดสูงสุดของการทำธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากเชฟคิงที่มองถึงความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากหลักสูตรที่ตายตัวเพียงสูตรเดียว แต่คือการหลอมรวมประสบการณ์และความรู้จากแหล่งต่างๆ จนเกิดเป็นตัวของเรา

“คือคนที่จะประสบความสำเร็จในแบรนด์ๆ หนึ่ง มันคงไม่มีสูตรตายตัวสูตรเดี่ยวว่า 1+1=2 ซึ่งคุณก็ไม่สามารถจะมานั่งถามคนทุกคนได้ว่าทำอย่างไรถึงซัคเซส ซึ่งในหนังสือ ล่าฝันคนสร้างแบรด์นี้รวมตัวอย่างย่อยๆ ของ 5 แบรนด์ซึ่งไม่เหมือนกันเลยแล้วขึ้นมาถึงคนรู้จักได้ ประสบความสำเร็จได้ ถ้าอ่านจะได้อะไรใน 5 ทางนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่ส่งผลกับคุณในอนาคต”

“ล้มเหลวได้ แต่อย่าล้มเลิก” ธนาทร คล่องการเขียน ที่พลิกชีวิตจากศูนย์จนกลายเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน A Plus Wealth Planning Company Limited จากการฉีดวัคซีนความรู้เสริมความชอบและรักในการทำงานการเงิน

“หนังสือเล่มนี้ทั้งสร้างแรงบันดาลใจและวิธีการ วิธีคิดทั้งหมดจะอยู่ในหนังสือ เล่มนี้ ตั้งแต่มนุษย์เงินเดือน บางทีติดอยู่แค่กับดักคอมฟอร์ทโซนของเขาเท่านั้นเอง อยากทำโน้นนี้ มีใจรักนี้นั้น แต่ไม่กล้าที่จะออกมา ถ้าเกิดว่าอ่านแล้วจะได้มุมมองความคิดเปิดกว้างมากขึ้นมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้เลย

“อย่างตอนที่ผมออกจากงานและการเป็นมนุษย์เงินเดือน 16 ปี วันหนึ่งเราก็ตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าเราอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ สักอย่างหนึ่ง ทีนี้ในช่วงเวลาที่ทำงานผมทำงานในสายงานเศรษฐกิจ เป็นนักข่าว เป็นเหมือนโปรดิวเซอร์ข่าวเศรษฐกิจ เราก็จะพอรู้เรื่องอยู่แล้ว และช่วงเวลานั้นเป้าหมายชีวิต ผมตั้งใจไว้ว่า 40 ปี ผมต้องเป็นเจ้าของธุรกิจกิจการให้ได้

“ผมก็อยากจะแนะนำว่าวันนั้นผมก็นั่งนึกว่าตัวองมีความสามารถอะไร ทักษะอะไรที่เราสามารถทำได้มาก งานผมทำไดสองอย่างในชีวิตนี้ ก็คือผลิตรายการทีวี อย่างที่หนึ่ง อย่างที่สองคือเรื่องของการเงิน เพราะว่าเราก็ผ่านประสบการณ์เรื่องของการเงินเรื่องของอะไรมาหลากหลาย มากมาย ถ้าเราจะมาทำอะไรก็คงต้องทำที่เราถนัดที่สุด และเราต้องมีความลุ่มหลง ในการทำงาน ผมก็รู้สึกชอบงาด้านการเงินเพราะผมสนุกกับมัน เวลาที่ไปให้คำปรึกษาคนในการวางแผนการเงินผมรู้สึกสนุกกับมันทุกวัน

“จากนั้นเราก็ตั้งเป้าหมายว่าเราจะออกจากกงานแล้วมาเริ่มทำแบรนด์ ผมดูทักษะตัวเองว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งที่ผมมองธุรกิจสองอย่างที่เราทำได้ หนึ่งคือรายการโทรทัศน์กับสองเรื่องงานวางแผนการเงิน ซึ่งทีวีตรงนั้นใช้เงินทุนเยอะ แต่การวางแผนเราใช้ความรู้ที่เรามี มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด เราลงทุนพัฒนาความรู้ตัวเอง ฉะนั้นการลงทุนแทบจะศูนย์เลย มีอย่างเดียวคือเราไปเรียนในสิ่งที่จะรู้ นั้นทำให้ตรงนี้พัฒนาความรู้ของเรา ต่อยอดไปเรื่อยๆ ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นอะไรที่เรารักและลงทุนไม่ต้องเยอะในช่วงแรกๆ พอเราประสบความสำเร็จในระยะแรกค่อยลงทุน”

“และที่สำคัญขอให้ทำด้วยความมั่งมั่นตั้งใจ” โอภาสพงษ์ กล่าวย้ำ ก่อนจะทิ้งท้ายเป็นตัวแทน ส่งฝากถึงสิ่งต่างๆ ที่จะได้จากการเรียนรู้ในหนังสือล่าฝันคนสร้างแบรนด์

“คือไม่ว่าวันนี้คุณจะทำอะไรอยู่ก็ตามขอให้ทำด้วยความตั้งใจแล้วก็มุ่งมั่น แล้วที่สำคัญจงเชื่อมั่นในตัวเอง ผมทำได้ พวกเราทำได้ คุณก็ต้องทำได้เหมือนกัน”





ร่วมค้นหาแรงบันดาลใจ พูดคุยแบบตัวต่อตัวกับ 5 เจ้าของแบรนด์ดัง ขอลายเซ็น ถ่ายรูป กระทบเน็ตไอดอล และรับของสมนาคุณในงานเปิดแนะนำหนังสือ "ล่าฝันคนสร้างแบรนด์" วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560 เวลา 15.00-16.00 น. เวทีเอเทรียม งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์



กำลังโหลดความคิดเห็น