xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-18 มิ.ย.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ดีเอสไอสรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว ฟ้อง "ธัมมชโย" กับพวก ฟอกเงิน-รับของโจร ก่อนบุกค้นวัดธรรมกาย แต่เหลว เหตุศิษยานุศิษย์ขวาง อ้างรอให้บ้านเมืองเป็น ปชต.ก่อน!
(บนซ้าย) ดีเอสไอแถลงร่วมกับฝ่ายธรรมกายยุติการตรวจค้นวัด หลังศิษยานุศิษย์ไม่ยอมให้ผ่าน (บนขวา) ตัวแทนศิษย์ธรรมกายอ่านแถลงการณ์ (ล่าง) ภาพศิษย์ธรรมกายและญาติธรรมนั่งขวางถนนในวัด (ภาพจากสปริงนิวส์)
ความคืบหน้ากรณีพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาล ข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ไม่ยอมเข้ามอบตัว โดยอ้างว่าป่วย แต่ไม่ยอมไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการ 2 ทางควบคู่กัน ทางหนึ่งคือ รวบรวมข้อมูลเพื่อขอหมายค้นจากศาล เพื่อเข้าไปจับกุมพระธัมมชโยที่วัดในเวลาที่เหมาะสม และ 2.ประสานพระผู้ใหญ่ เพื่อให้ช่วยเจรจากับพระธัมมชโย เพื่อนำไปสู่การเข้ามอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหา โดยได้มีการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่างดีเอสไอ-พระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับวัดพระธรรมกาย ไป 2 รอบแล้ว แต่การหารือไม่ได้ข้อยุติ และนัดหารือรอบใหม่ในวันที่ 14 มิ.ย. โดยมีข่าวว่า ประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้คือ ฝ่ายธรรมกายขอกำหนดตัวพนักงานสอบสวนและเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน ซึ่งสุดท้าย ดีเอสไอยืนยันไม่เปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าจะถึงการประชุม 3 ฝ่ายรอบที่สามในวันที่ 14 มิ.ย. ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ทางพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สรุปสำนวนคดีพระธัมมชโยแล้วเสร็จ จึงได้เสนอให้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอให้ลงนามสั่งคดี เมื่อสั่งฟ้องแล้ว จึงส่งสำนวนให้อัยการ โดยสำนวนมีทั้งหมด 13 แฟ้ม หนากว่า 10,000 หน้า สั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 5 ราย ข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ประกอบด้วย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำเลยคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่น ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หลังสารภาพว่ายักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ จริง, น.ส.ศรันยา มานหมัด อดีตเจ้าหน้าที่การเงิน สหกรณ์ฯ คลองจั่น (มอบตัวแล้ว ได้ประกันตัว), นางทองพิณ กันล้อม อดีตรองประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น (มอบตัวแล้ว ได้ประกันตัว), พระธัมมชโย ศาลออกหมายจับหลังไม่ยอมมอบตัว และ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ หลบหนีไปต่างประเทศแล้ว ทั้งนี้ ดีเอสไอทราบแล้วว่า น.ส.ศศิธร หลบหนีไปประเทศใด และได้ประสานประเทศนั้นเพื่อขอให้ส่งตัวให้ไทยแล้ว โดยยังไม่เปิดเผยว่าประเทศใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังพนักงานสอบสวนดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้องและส่งให้อัยการแล้ว และอัยการนัดสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 13 ก.ค. ปรากฏว่า สร้างความไม่พอใจให้พระและศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายเป็นอันมาก โดยกล่าวหาว่าดีเอสไอเร่งรัดสรุปสำนวนคดี ไม่รอที่ประชุม 3 ฝ่ายได้ข้อยุติก่อน อย่างไรก็ตาม ทางดีเอสไอได้บอกก่อนหน้านี้แล้วว่า พนักงานสอบสวนสามารถสรุปสำนวนส่งให้อัยการได้ หากพระธัมมชโยไม่ยอมมอบตัว ซึ่งในทางปฏิบัติ พระธัมมชโยได้ประวิงเวลาการเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตั้งแต่เดือน มี.ค.แล้ว

ขณะที่การหารือ 3 ฝ่ายเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ได้จบลงด้วยการประกาศยุติบทบาท โดยพระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ให้เหตุผลในการยุติบทบาทของคณะเจรจาว่า เนื่องจากดีเอสไอได้ส่งสำนวนให้อัยการแล้ว

ด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะตัวแทนฝ่ายดีเอสไอที่เข้าประชุม กล่าวว่า หลังจากนี้จะดำเนินการตามหมายจับ ซึ่งมี 2 ทาง คือ พระธัมมชโยเข้ามอบตัวเอง ซึ่งต้องประสานไปยังอัยการเพื่อมอบตัวที่ศาลเท่านั้น และการเข้าจับกุมตัวตามหมายจับ ซึ่งจะไม่มีการประกันตัว และว่า ระยะเวลาหมายจับ มีอายุ 15 ปี นับตั้งแต่วันที่นายศุภชัยสั่งจ่ายเช็คให้กับพระธัมมชโย

ทั้งนี้ ดีเอสไอได้ขอศาลออกหมายค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมพระธัมมชโยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ซึ่งศาลอนุมัติหมายค้น โดยดีเอสไอได้ประสานขอกำลังตำรวจในการดูแลความเรียบร้อย ซึ่งได้รับการสนับสนุน 4 กองร้อย หรือประมาณ 600 นาย โดยเข้าตรวจค้นในช่วงเช้าวันที่ 16 มิ.ย. ก่อนเข้าตรวจค้น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้ประชุมร่วมกับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า “เชื่อว่าคงไม่เกิดความวุ่นวาย เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัย หากเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ ผมและ ผบช.ภ.1 จะรับผิดชอบทั้งหมด” พล.ต.อ.ศรีวราห์ เผยด้วยว่า จะใช้แผนกรกฏ 52 ของตำรวจเป็นแผนใหญ่ แผนกบิล 59 เป็นแผนรอง โดยบุคคลที่จะนำหมายค้นเข้าวัดพระธรรมกาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอผู้ขอหมาย ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง รวมกว่า 20 นาย อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยอมรับว่า มีความกังวลในการเข้าตรวจค้น เพราะได้รับรายงานจากตำรวจสันติบาลว่า มีมือที่สามเตรียมสร้างสถานการณ์อยู่ภายในวัด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทางวัดพระธรรมกายได้เตรียมขัดขวางการเข้าตรวจค้นด้วยการนำรถแบคโฮปิดประตูทางเข้าบางจุด ขณะที่ด้านในของประตูต่างๆ มีศิษยานุศิษย์นั่งสวดมนต์ขวางทางเดิน โดยคณะที่เข้าตรวจค้น นำโดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีดีเอสไอ ได้เข้าทางประตู 7 ก่อนจะเจรจากับฝ่ายวัดพระธรรมกาย จนสามารถผ่านประตู 6 ได้ แต่สุดท้ายไม่สามารถผ่านประตู 5 ได้ เนื่องจากศิษยานุศิษย์ไม่ยอมเปิดทาง แม้พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวนการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จะอ้างว่า ทางวัดพร้อมให้ความร่วมมือให้เข้าตรวจค้นได้เต็มที่ แต่ไม่สามารถห้ามศิษยานุศิษย์ได้

ทั้งนี้ ตัวแทนศิษยานุศิษย์ที่นั่งขวางทาง ได้อ่านแถลงการณ์อ้างเหตุที่ไม่ยอมเปิดทางให้ดีเอสไอเข้าตรวจค้นว่า ขณะนี้พระธัมมชโยมีอาการอาพาธรุนแรง และพระธัมมชโยจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต่อเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติและเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น เพราะหากบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ย่อมขาดสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรม และว่า ข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอแจ้งต่อพระธัมมชโย มีอายุความ 15 ปี จึงไม่เป็นการล่าช้าต่อรูปคดีและการดำเนินคดี อีกทั้งอยากให้มีการเร่งรัดการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชโดยเร็ว เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มศิษยานุศิษย์ที่นั่งขวางทางไม่ให้ดีเอสไอเข้าตรวจค้น ต่างใส่หน้ากากอนามัย คาดว่าเพื่อไม่ให้เห็นหน้า เนื่องจากก่อนหน้าการเข้าตรวจค้น ทางดีเอสไอและตำรวจบอกแล้วว่า ผู้ที่ขัดขวางการเข้าตรวจค้น จะมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189

สุดท้าย เมื่อคณะดีเอสไอเข้าไปยังพื้นที่ชั้นในไม่ได้ จึงต้องยอมยุติการตรวจค้น ก่อนที่ช่วงเย็นวันเดียวกัน จะไปแจ้งความที่ สภ.คลองหลวง ให้เอาผิดผู้ที่ขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า การที่ดีเอสไอไม่สามารถตรวจค้นวัดพระธรรมกายได้ ไม่ถือเป็นความล้มเหลว แต่ถือเป็นความสำเร็จแล้ว เพราะไม่เกิดความรุนแรงใดๆ และว่า หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับกุมพระธัมมชโยต่อไป แต่จะขอหมายค้นจากศาลอีกเมื่อใด ยังบอกไม่ได้

ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.เผยว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) ได้มีการขึ้นแบล็คลิสต์พระธัมมชโย ห้ามเดินทางออกนอกประเทศแล้ว เนื่องจากเป็นผู้ต้องหามีหมายจับของศาล

2.กกต. ส่งคำชี้แจง ม.61 วรรคสอง ให้ศาล รธน.แล้ว ด้าน “เพื่อไทย” เสี่ยงถูกยุบพรรค หลัง 17 แกนนำพร้อมใจโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่าง รธน. !

(บนซ้าย) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. (บนขวา) นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (ล่างซ้าย) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.(ล่างขวา) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญกับการทำประชามติ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีมติเห็นชอบร่างคำชี้แจงที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นตีความมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่าขัดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ ตามที่สำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต.เสนอแล้ว นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเพิ่มเติมด้วยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญต้องการให้ส่งผู้ชี้แจง ที่ประชุมมอบหมายให้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต.เป็นผู้ชี้แจงแทน

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก กกต.เผยว่า คำชี้แจงที่ กกต.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ มี 3 หน้า โดยเนื้อหายืนยันถึงความจำเป็นต้องคงมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติไว้ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการทำประชามติ โดยให้เหตุผลว่า การทำประชามติของต่างประเทศก็มีกฎหมายในลักษณะดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยหรือความรุนแรง ขณะเดียวกันบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้อยู่แล้ว เพียงแต่การแสดงความคิดเห็นก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมตามกฎหมาย เนื้อหาของมาตรา 61 วรรคสอง ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

เป็นที่น่าสังเกตว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้พร้อมใจกันโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.เป็นจำนวนถึง 17 คน เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค โพสต์ข้อความว่า “รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ลดทอนอำนาจประชาชน ขาดหลักประกันสิทธิเสรีภาพเพียงพอ และแก้ไขได้ยากมาก จึงไม่สร้างความเชื่อมั่น ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ผมจึงไม่อาจรับให้เป็นไม้สำคัญสูงสุดของประเทศได้” ขณะที่นายโภคิน พลกุล โพสต์ข้อความว่า “ทั้งที่มาและเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ฉบับประชาชน ผมจึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้” ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โพสต์ข้อความว่า “ภายใต้กติกาแบบนี้ ไม่เห็นอนาคตประเทศไทย รับไม่ได้จริงๆ”

ส่วนแกนนำพรรคเพื่อไทยคนอื่นที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายนพดล ปัทมะ, นายปลอดประสพ สุรัสวดี, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายวัฒนา เมืองสุข, นายวันมูหะมัดนอร์ มาทา, นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นายชวลิต วิชยสุทธิ์, นายสามารถ แก้วมีชัย นายอุดมเดช รัตนเสถียร และนายวีรกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ฯลฯ

ทั้งนี้ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การพร้อมใจกันโพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของแกนนำพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้ตั้งข้อสังเกต 2 ข้อ 1. การเผยแพร่ความเห็นของนักการเมืองเหล่านี้มีลักษณะเป็นการจัดฉาก เพื่อประชาสัมพันธ์เรียกร้องความสนใจ 2.เนื้อหาที่แสดงออกเป็นเรื่องเดิมๆ ไม่มีของใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการติเรือทั้งโกลน เหมารวมว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ดีด้วยความเห็นทางการเมืองส่วนตัว บางความเห็นไม่ได้ติติงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ความเห็นบางคนผิดไปจากข้อเท็จจริง ซึ่ง กรธ.จะหารือเพื่อพิจารณาส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาต่อไป

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทยโพสต์เฟซบุ๊กพร้อมกันว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า การแสดงความคิดเห็นของประชาชน หากดำเนินการโดยสุจริต มีเหตุมีผล ไม่ใช้ถ้อยคำเท็จ ไม่หยาบคาย หรือไม่ปลุกระดม สามารถทำได้ตามปกติ ซึ่งถ้อยคำต่างๆ ที่ปรากฏออกมาพบว่า ยังอยู่ในขอบเขตที่รับได้ แต่ต้องพิสูจน์ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการกระทำโดยตัวบุคคลหรือไม่ หากใช่ ก็ไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าทำกันเป็นขบวนการ โดยพรรคการเมืองหรือพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ดำเนินการภายใต้ผู้บริหารพรรค ไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่จะผิดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งหากผิดจริง มีโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่ กรธ.มองว่า เนื้อหาที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคนโพสต์ มีข้อความที่บิดเบือนเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบได้ หรือจะไปแจ้งความดำเนินคดีเองก็สามารถทำได้

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวถึงกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยพร้อมใจกันโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า พรรคเพื่อไทยมีพฤติกรรมต้องการสร้างความวุ่นวายชัดเจน แม้ในทางกฎหมายจะทำได้ แต่มีเจตนาโน้มน้าว สมคบ ร่วมกันกระทำชัดเจน เหมือนเป็นการชี้นำในนามตัวแทนพรรคการเมือง ต้องการท้าทายอำนาจรัฐ ท้าทาย คสช. ท้าทาย กกต.ว่าต้องการแสดงออกเหมือนชี้นำ จะจับก็ให้มาจับ เพื่อนำประเด็นไปเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนจะเป็นการกระทำเพื่อหวังปลุกม็อบหรือไม่นั้น มองว่าเป็นการส่งสัญญาณให้เครือข่ายของตัวเอง ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จะเปิดหน้าชนในสถานการณ์ใกล้ลงประชามติ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม เช่นเดียวกับเรื่องศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. เพราะไม่ได้ปราบโกงจริงจัง ตั้งมาสร้างความวุ่นวาย กวนบ้านเมือง ตนเห็นด้วยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาพูดว่าจะไม่ให้มีศูนย์นี้เกิดขึ้นเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าถ้าปล่อยไว้ จะเป็นเชื้อร้ายของบ้านเมือง

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.กรณีมีทหารปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ทั้งนี้ นายจตุพร ยืนยันว่า จะเดินหน้าเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในวันที่ 19 มิ.ย.นี้แน่นอน

ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดประชาชนเกี่ยวกับการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดย 76.64% เห็นว่า ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแล รองลงมา 74.45% เห็นว่า อาจขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่น่าจะจัดตั้งได้ ขณะที่ 71.29% เห็นว่า เป็นเกมการเมือง สร้างกระแส ต้องการกดดันรัฐบาล

3.“พล.อ.ประยุทธ์” ใช้อำนาจ ม.44 ให้เด็กเรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่อนุบาล-ม.6 ชี้ แก้ปัญหายากจน-ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ลงนามเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2559 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ระบุว่า ตามที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้รัฐต้องจัดให้บุคคลได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น รัฐบาลที่ผ่านมามีนโยบายจัดการศึกษาดังกล่าวโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 15 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 มกราคม 2552 โดยขออนุมัติตั้งงบประมาณเป็นรายปี และขยายขอบเขตการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละคณะมาเป็นลำดับ

หัวหน้า คสช.พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่เรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของ คสช. และนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล ทั้งยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรมในสังคม แก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จึงสมควรยืนยันแนวทางดังกล่าวและพัฒนาต่อไปด้วยการยกระดับจากการเป็นโครงการตามนโยบายของแต่ละรัฐบาล ให้เป็นหน้าที่ของรัฐและมาตรการตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนมั่นคง และเพื่อให้สามารถจัดงบประมาณสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช.จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

1. ในคำสั่งนี้ “ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา” หมายความว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้แก่ หรือผ่านทางสถานศึกษา หรือผู้จัดการศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี สำหรับ “การศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี” หมายความว่า การศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) (ถ้ามี) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. 3) หรือเทียบเท่า และให้หมายความรวมถึงการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ด้วย ส่วน “การศึกษาพิเศษ” หมายความว่า การจัดการศึกษาให้แก่บุคคลซึ่งมีความผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้เป็นรูปแบบโดยเฉพาะ และอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการสอนตามลักษณะความต้องการและความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขณะที่ “การศึกษาสงเคราะห์” หมายความว่า การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากหรืออยู่ในสถานภาพที่ด้อยกว่าเด็กทั่วไป หรือที่มีลักษณะเป็นการกุศล เพื่อให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีพัฒนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย

2. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เตรียมการเพื่อจัดให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนได้รับการดูแล และพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

3. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ให้มีมาตรฐานและคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี เพื่อเสนอตามกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี

สำหรับค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง ได้แก่ (1) ค่าจัดการเรียนการสอน (2) ค่าหนังสือเรียน (3) ค่าอุปกรณ์การเรียน (4) ค่าเครื่องแบบนักเรียน (5) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (6) ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

4. ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้แทน และขยายผลต่อจากคำสั่งนี้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ

5. ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด

6. ให้อัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีผลใช้อยู่ก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการกำหนดอัตรา ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ให้เป็นไปตามข้อ 3

7. คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

4.ที่ประชุม สนช.ผ่านฉลุยร่างกฎหมายตั้ง “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ใช้ระบบไต่สวนเหมือนศาลฎีกานักการเมือง!


เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญที่นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ ยกฐานะ "แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา" ขึ้นเป็น “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ซึ่งเป็นศาลเฉพาะ จึงเสมือนศาลชำนัญพิเศษ โดยผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษา ให้คัดเลือกจากคนที่เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาในศาลอาญาไม่น้อยกว่า 10 ปี จะได้เป็นหลักประกันว่า มีผู้พิพากษาที่ชำนาญโดยเฉพาะและจะพิจารณาคดีได้รวดเร็วขึ้น โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะเป็นศาลชำนัญพิเศษ ใช้ระบบไต่สวน เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่ใช้ระบบกล่าวหา โดยมี 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดนิยามคำว่า “คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีความหมายครอบคลุมคดี 6 ประเภท คือ 1. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ

2. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

3. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือ ให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น

4. คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

5. คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีและเอกสารดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

และ 6. คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ 160 เสียง เห็นชอบในวาระ 2 และ 3 เพื่อประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายต่อไป

5.“กลุ่มคิง เพาเวอร์” รุกคืบธุรกิจการบิน “เจ้าสัววิชัย” ทุ่มงบเกือบ 8,000 ล้าน ซื้อกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย” !

นายวิชัย ศรีวัฒนประภา หรือนามสกุลเดิม รักศรีอักษร ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ และประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ในอังกฤษ
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายวิชัย ศรีวัฒนประภา หรือนามสกุลเดิม รักศรีอักษร ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ และประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ในอังกฤษ พร้อมด้วยนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ บุตรชายนายวิชัย และนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้แถลงข่าวร่วมกันว่า กลุ่มคิงเพาเวอร์ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด(มหาชน) (ชื่อในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอเอวี) หรือไทยแอร์เอเชีย มูลค่า 7,944 ล้านบาท คิดเป็น 39% ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทจากกลุ่มนายธรรศพลฐ์

ทั้งนี้ นายวิชัยกล่าวว่า การซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียครั้งนี้ เป็นการลงทุนระยะยาวให้กับตัวเองและครอบครัว ยืนยันว่าจะถือหุ้นในระยะยาวเพื่อเป็นสมบัติให้คนในครอบครัว และว่า หลังจากนี้จะใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเครือข่ายการค้าของกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ มาต่อยอดและส่งเสริมระหว่าง 2 ธุรกิจ นายวิชัยกล่าวอีกว่า หลังเข้าซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียในสัดส่วน 39% ส่วนตัวจะถือหุ้น 14% ที่เหลือแบ่งให้ลูกสาวและลูกชายถือ และเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของประกาศคณะกรรมการตลาดทุน เรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ จะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของกิจการส่วนที่เหลือจากผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ประมาณ 60% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย โดยมีราคาเสนอซื้อที่ 4.20 บาท มูลค่ารวมประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนทางการเงินในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ คาดว่าจะยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มิ.ย.นี้

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า การเข้ามาถือหุ้นไทยแอร์เอเชียครั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายอัยยวัฒน์ นายอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา บุตรชาย และนายสมบัตร เดชาพานิชกุล เข้ามานั่งเป็นกรรมการบริษัทไทยแอร์เอเชีย เพื่อร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ และนโยบายไทยแอร์เอเชียร่วมกับนายธรรศพลฐ์และผู้บริหารชุดเดิม “การเข้าซึ้อหุ้นครั้งนี้ ธุรกิจแอร์ไลน์เป็นธุรกิจที่เสริมตัวดิวตี้ฟรีอยู่แล้ว แอร์ไลน์เป็นตัวนำนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย การที่เรามีธุรกิจการบิน ทำให้ธุรกิจดิวตี้ฟรีโตมากขึ้นด้วย ส่วนจุดคุ้มทุนขึ้นกับการบริหารงาน คาดว่าเงินลงทุนเกือบ 8,000 ล้านบาท จะได้คืนจากการรับปันผลในช่วง 7-8 ปีหลังจากนี้”

ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ได้ตัดสินใจขายหุ้นไทยแอร์เอเชีย ในส่วนของตนเอง และครอบครัว จากเดิมในสัดส่วนร้อยละ 44 ให้แก่ นายวิชัย และครอบครัวศรีวัฒนประภา ในสัดส่วนร้อยละ 39 ในราคา 4.20 บาทต่อหุ้น รวมกว่า 1,892 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,945 ล้านบาท และว่า ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่สะท้อนถึงข้อจำกัดการถือครองหุ้นของสายการบินในประเทศไทย ตามกฎหมายเกี่ยวกับการเดินอากาศที่ได้กำหนดสัดส่วนการถือครองหุ้นว่า ผู้ถือหุ้นต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ซึ่งข้อจำกัดนี้ทำให้ยากที่จะหาผู้ที่มีความประสงค์ และมีกำลังซื้อสูงพอที่จะซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียเป็นจำนวนมากได้ อย่างไรก็ตาม ตนยังคงถือหุ้นอยู่ร้อยละ 5 และมองว่าเป็นโอกาสดีของไทยแอร์เอเชียที่ได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งมากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาช่วยต่อยอดธุรกิจให้เติบโต และมั่นคงขึ้น “ขอให้ความมั่นใจว่า ผม และทีมงานผู้บริหารสายการบินยังคงทำหน้าที่บริหารของไทยแอร์เอเชียต่อไป และยังทุ่มเทในการทำงานเต็มที่เหมือนวันแรกที่เข้ามาบุกเบิกตลาดสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยเมื่อ 13 ปีก่อน และผ่านบทพิสูจน์มากมาย โดยไทยแอร์เอเชียยังยืนยันการลงทุนเพื่อการเติบโตตามแผนปี 2559 นี้ โดยจะรับเครื่องบินจนครบ 51 ลำ คาดการณ์ผู้โดยสารอยู่ที่ 17 ล้านคน พร้อมเจาะตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะได้ความแข็งแกร่งของนายวิชัย และกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เข้ามาช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจให้เติบโตในอัตราเร่งที่อาจจะมากกว่าเดิม”
กำลังโหลดความคิดเห็น