xs
xsm
sm
md
lg

วันประวัติศาสตร์ ๒๘ เมษายน ราชาภิเษกสมรสตามรูปแบบกษัตริย์ประชาธิปไตย!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ในหลวงและสมเด็จพระราชินีในวันอภิเษกสมรส
ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นั้น ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งจากนครโลซานน์ไปนครปารีสของฝรั่งเศสบ่อยครั้ง และโปรดประทับที่สถานทูตไทยประจำกรุงปารีสเช่นเดียวกับนักเรียนไทยคนอื่นๆ

วันหนึ่งในปี ๒๔๘๙ เสด็จไปนครปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ ในการเสด็จฯครั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิตติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสคนใหม่ พร้อมกับครอบครัวเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทำให้ทรงได้พบกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของท่านเอกอัครราชทูตกับหม่อมหลวงบัว กิติยากร ซึ่งเข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก และเนื่องจากทุกครั้งที่เสด็จฯกรุงปารีส จะทรงประทับพักแรม ณ สถานทูตไทย จึงทำให้ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลซึ่งรวมทั้งหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นที่คุ้นเคยเบื้องพระยุคลบาท ประกอบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์รักการดนตรีและมีความสามารถในด้านนี้เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทำให้เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยยิ่งนัก

แต่แล้วในคืนวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ ในระหว่างประทับรักษาพระองค์อยู่ในโรงพยาบาล ทรงมีพระราชดำรัสให้ราชองครักษ์ โทรเลขถึงหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ให้หม่อมหลวงบัวพาธิดาทั้งสองไปเยี่ยมพระอาการ ณ นครโลซานน์ เมื่อหม่อมหลวงบัวพาธิดาทั้งสองไปเฝ้าตามพระราชกระแสรับสั่ง ต่อมาอีก ๒-๓ วัน สมเด็จพระบรมราชชนนีได้โปรดให้หม่อมหลวงบัวไปเฝ้า ณ พระตำหนักวิลลาวัฒนา และตรัสว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ใคร่จะทรงขอไว้ให้ศึกษาในเมืองโลซานน์ เพื่อได้อยู่ใกล้ชิดเรียนรู้อัธยาศัยต่อไป หม่อมหลวงบัวขอกลับไปปรึกษาหม่อมเจ้านักขัตรมงคลก่อน เมื่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลไม่ขัดข้อง จึงทรงมอบหน้าที่ให้ ม.ล.บัวหาสถานที่ศึกษาแห่งใหม่ให้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ในโลซานน์ ม.ล.บัวได้เลือกโรงเรียนประจำชื่อ Pensionnat Riante Rive ริมทะเลสาบเลอมาน ซึ่งสอนกุลสตรีด้วยวิชาพิเศษ ศิลปะ วรรณคดี และประวัติศาสตร์ ทุกวันในเวลาบ่าย ทางโรงเรียนอนุญาต ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากโรงเรียนได้ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงไปรับมาพระราชทานน้ำชาที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา และพาไปส่งเมื่อถึงเวลาสมควร

ในเวลาอีก ๑ ปีต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร ซึ่งย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอนแล้ว และครอบครัว มาเข้าเฝ้าที่โลซานน์ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอ ม.ร.ว.สิริกิติ์ต่อ ม.จ.นักขัตรมงคล ในระหว่างการเจรจาเรื่องการหมั้น ทรงรับสั่งว่า

“ขอให้ทำกันเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น เมื่อคราวฉันเองก็ทำอย่างนี้ จะมีอะไรขัดข้องไหม?”

ม.จ.นักขัตรมงคลทูลตอบว่า

“ตามแต่จะมีพระราชประสงค์”

จากนั้นในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ จึงได้มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โฮเตลวินเซอร์ในเมืองโลซานน์ อันเป็นที่พักของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัว โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้พระราชทานพระธำมรงค์ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกเคยทรงหมั้นพระองค์เมื่อปี ๒๔๖๒ เป็นแหวนหมั้น และทรงเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระธำมรงค์วงนี้ด้วยพระองค์เองพิธีทรงหมั้นนี้เป็นการภายในอย่างเงียบๆ จึงไม่มีใครล่วงรู้ จนกระทั่งเดือนสิงหาคมต่อ จึงมีข่าวแพร่สะพัดมาถึงเมืองไทยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับธิดาของ ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนแล้ว แม้ยังไม่รู้เป็นธิดาคนไหน แต่ข่าวนี้ก็เหมือนฝนตกลงมาโดยไม่มีเมฆตั้งเค้า นักข่าวต่างวิ่งกันพล่าน และมุ่งไปเฝ้าราชเลขาธิการ แต่ก็ไม่มีคำตอบ เพราะทางสำนักพระราชวังก็ยังไม่ทราบ หนังสือพิมพ์ทั้งหลายจึงไม่กล้าเสนอข่าวนี้

จนกระทั่งราวต้นเดือนกันยายน ผู้สื่อข่าวไทยในอังกฤษรายงานเรื่องนี้มา ความจริงจึงเปิดเผย และเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๕๒ ม.จ.นิกรเทวัญ ราชเลขานุการในพระองค์ ได้แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า

“ได้รับหนังสือจากหลวงประเสริฐไมตรี ราชเลขานุการที่โลซานน์ว่า ในหลวงได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรแล้วอย่างเงียบๆ ณ ที่ประทับโลซานน์ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ศกนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แจ้งมาให้ทราบอย่างเป็นทางการ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้รับทราบ และได้แจ้งให้รัฐบาลทราบแล้ว”

วันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศก็ได้รับรายงานจาก ม.จ.นักขัตรมงคล เอกอัครราชไทยประจำกรุงลอนดอนในเรื่องนี้เช่นกัน

ในวันที่ ๗ กันยายน จอมพล ป.พิบูลสงครามได้แจ้ง “เรื่องพิเศษ”นี้ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบ วันที่ ๘ กันยายน พล.อ.พระประจญปัจจานึก ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมสภารับทราบ ซึ่งที่ประชุมได้ปรบมือแสดงความยินดี

รัฐบาลมีดำริว่าจะจัดงานฉลองให้เอิกเกริกไปทั้งประเทศ เป็นการถวายพระพรและแสดงความยินดี แต่เมื่อได้ทราบพระราชประสงค์ว่าเป็นการกระทำเป็นการภายใน รัฐบาลจึงมิอาจขัดพระราชประสงค์ เพียงแต่โทรเลขถวายพระพรและออกแถลงให้ประชาชนทราบ

ข่าวนี้ไม่เพียงแต่สร้างความปีติยินดีให้คนไทยเท่านั้น เมื่อวิทยุ บี.บี.ซี.ออกข่าวนี้ในวันที่ ๗ กันยายน ก็ทำให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนมีคนเข้าออกกันคับคั่งตลอดวัน เสียงโทรศัพท์ก็ดังไม่ขาดระยะ ล้วนแต่เป็นการแสดงความยินดี

หนังสือพิมพ์อังกฤษพากันเสนอข่าวทรงหมั้นไว้ในหน้าเด่นที่สุด หลายฉบับลงรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ในอิริยาบถต่างๆ บางฉบับก็โทรศัพท์ทางไกลขอสัมภาษณ์ ม.ร.ว.สิริกิติ์ถึงโรงเรียนในเมืองโลซานน์ และเสนอข่าวว่า เธอมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววันละ ๑ ชั่วโมง โดยมีบุคคลอื่นนั่งอยู่ด้วย เนื่องจากโรงเรียนมีข้อบังคับกวดขันมิให้นักเรียนหญิงมีเพื่อนชาย แต่ถวายสิทธิพิเศษแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์ ฉบับวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๙๒ เสนอข่าวว่า

“ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาวัย ๑๗ ของท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ผู้มีรูปโฉมงดงามมีเสน่ห์ มีนัยน์ตาดำเป็นมันขลับ รักกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แห่งประเทศไทย พระชันษา ๒๒ ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้เฝ้าเป็นครั้งแรกเมื่อปีกว่ามานี้ และการหมั้นได้ปกปิดเป็นความลับอยู่ระยะหนึ่ง”

หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ ได้เสนอคำสัมภาษณ์ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากรเกี่ยวกับความรัก ว่า

“ฉันยังเด็กเกินไป และไม่เคยมีความรักมาก่อน ก็ทำให้ฉันตื่นเต้นเหมือนกัน”

และพูดถึงราชาภิเษกสมรสว่า

“เรายังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องนี้ แต่คาดว่าอาจเป็นในราวปีนี้หรือปีหน้า”

และ

“พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสจะทำกันอย่างง่ายๆ เพียงแต่จะจดทะเบียนเท่านั้น ไม่มีพิธีรีตองอะไร แต่อาจจะมีการฉลองกันบ้างในครอบครัว”

ต่อมาเมื่อเสด็จนิวัติพระนครโดยเรือซีแลนเดีย ออกจากเมืองท่าวิลฟรังก์ในฝรั่งเศสในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ มาถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๒๔ มีนาคม ทรงมีพระราชประสงค์กระทำพิธีสำคัญ ๓ พิธีในการเสด็จนิวัติพระนครครั้งนี้ คือ

๑. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระบรมเชษฐาธิราช

๒. พระราชพิธีอภิเษกสมรส

๓. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราช ได้กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๙๓ เป็นเวลา ๕ วัน ในวันที่ ๔ เมษายน ได้มีการบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม

หลังจากนั้นหมายกำหนดการพระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงถูกกำหนดขึ้นในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ ซึ่งได้สร้างความปีติยินดีแก่ประชาชนชาวไทยอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยจะมีมิ่งขวัญประเทศคู่บุญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกองค์หนึ่ง ต่างพากันตกแต่งอาคารบ้านเรือนและตามประทีปโคมไฟอย่างสว่างไสว

ณ บริเวณวังสระปทุม อันเป็นสถานที่กระทำพิธีราชาภิเษกสมรส ตกแต่งด้วยธงมีเครื่องหมายพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และราวกับปาฏิหาริย์ อากาศในช่วงเดือนเมษายนปีนั้นร้อนอบอ้าวกว่าทุกปี แต่ได้เกิดเมฆปกคลุมตั้งแต่เช้า กลายเป็นวันร่มรื่นอย่างมหัศจรรย์ ดินฟ้าอากาศเป็นใจให้ประชาชนจากทิศต่างๆ หลั่งไหลมาออกันอยู่หน้าวังสระปทุมแต่ก่อนเวลา ๘ นาฬิกา หนาแน่นตั้งแต่สะพานหัวช้างจนเกือบถึงที่ว่าการอำเภอปทุมวันตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มารักษาการณ์ พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทยอยเข้าไปไม่ขาดสาย จนถึงเวลาเกือบ ๙ น. รถบรรทุกทหารรักษาการณ์ ๓ คันรถจึงมาตั้งแถวในวังสระปทุม ตลอดรายทางพระราชดำเนิน จากหน้าประตูวังจนถึงหน้าพระตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อันเป็นสถานประกอบพระราชพิธี

เวลาประมาณ ๙.๐๕ น. รถยนต์สีเหลืองตราครุฑ อันเป็นรถที่นั่งของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เจ้าสาว ค่อยๆ แล่นเข้ามาช้าๆ ผ่านประชาชนที่เรียงรายชมบารมีเข้าไปในวัง หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่ในชุดสีขาวงาช้าง ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าที่เพิ่งได้รับพระราชทานเมื่อ ๒ วันก่อน สายสะพายสีชมพู

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสได้เริ่มขึ้นในเวลา ๙.๓๐ น. กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงนำสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทูลเกล้าฯถวายดอกไม้ธูปเทียนเครื่องราชสักการะ จากนั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเจิมพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงเจิมหน้าหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์เช่นเดียวกันกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นอันเสร็จพิธีตามโบราณราชประเพณี

ขณะนั้นสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้ามีพระชนมายุสูงถึง ๘๘ ปีแล้ว ทั้งยังทรงประชวร ความทรงจำทรงเหลืออยู่น้อยมาก แม้แต่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ก็ไม่ทรงทราบ แต่ในวันนั้นหลังจากทรงเจิมทั้งสองพระองค์และถวายน้ำพระมหาสังข์แล้ว ก็มีรับสั่งกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์อย่างมหัศจรรย์ว่า

“เอ้า หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เขามางานซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็มๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย”

ต่อจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จลงมายังห้องรับแขกของวังสระปทุมพร้อม ม.ร.ว.สิริกิติ์ เพื่อจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งกำหนดให้คู่สมรสต้องจดทะเบียนตามกฎหมายจึงจะสมบูรณ์

ณ สถานที่ประกอบพระราชพิธีอันมีเกียรติยิ่งนี้ ประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นผู้ใหญ่ลงมาจนถึงขั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ทั้งยังทรงเลือกเชิญเพียงบางองค์มาในพระราชวโรกาสนี้เป็นกรณีพิเศษ ส่วนเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า จะทรงเชิญแต่ญาติสนิทของหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร กับหม่อมเจ้าแห่งราชตระกูล “กิติยากร” และเชื้อสายทาง “สนิทวงศ์” ของฝ่ายมารดาเท่านั้น

พระราชพิธีเริ่มด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรสปกสีเหลืองขอบสีน้ำตาลแก่ ตรงกลางเป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดงดุนนูน ซึ่งผู้ประกอบพระราชพิธีตามกฎหมายนี้ คือนายฟื้น บุญปรัตยุทธ นายอำเภอปทุมวัน เป็นนายทะเบียน และมีพยานอีก ๒ คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ภายหลังทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนแล้ว หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรจึงลงนามเป็นบุคคลที่ ๒ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ลงนามในฐานะบิดามารดา ให้ความยินยอมการสมรสตามกฎหมาย เนื่องจากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ราชสักขีทั้งสองคนลงนาม เป็นอันเสร็จพระราชพิธีตามกฎหมาย

ในสมุดทะเบียนสมรสนี้ เจ้าหน้าที่ได้กรอกรายการด้วยลายมือประณีตงดงาม มีความว่า

ผู้ขอจดทะเบียน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกิดที่วังเมสสะซุเสตถ์ อเมริกา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ อายุ ๒๓ ปี

ม.ร.ว.หญิงสิริกิต กิติยากร เกิดจังหวัดพระนคร วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๗๕ อายุ ๑๘ ปี

ในช่องอาชีพ ทั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี เจ้าหน้าที่ได้ขีดละไว้

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เจ้าหน้าที่ถวายหนังสือสำคัญการจดทะเบียนแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี องค์ละฉบับ

หนังสือฉบับนี้เป็นรูปแบบธรรมดาที่จ่ายให้ผู้มาจดทะเบียนสมรสทั่วไป แต่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษด้วยกระดาษอย่างดี ลวดลายกรอบระบายสีงดงาม ประกอบด้วยภาพสังข์ในพาน มงคลคู่ ดอกรักและดอกบานชื่น

ส่วนสมุดที่จดทะเบียนเก็บรักษาไว้ ณ อำเภอปทุมวัน อันเป็นอำเภอท้องที่จดทะเบียน

เมื่อเสร็จพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสอย่างเรียบง่ายผ่านไปแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ตลอดจนบุคคลที่ได้รับเชิญมาในงาน ได้ทูลเกล้าถวายของขวัญ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานของที่ระลึกเป็นหีบบุหรี่เงินขนาดเล็ก มีพระนามาภิไธยย่อคู่ “ภ.อ.-ส.ก.” ปรากฏอยู่บนของที่ระลึกนั้น

สืบต่อวาระเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้มีสมเด็จพระราชินีองค์ใหม่ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์อ่านประกาศมีความว่า

“มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่ได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถูกต้องตามกฎหมายและราชประเพณีทุกประการแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ในวันเดียวกับที่มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่วังสระปทุมในตอนเช้า ในตอนบ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ได้เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง

ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมวงศานุวงศ์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงรับฉันทานุมัติจากพระบรมวงศานุวงศ์กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล ดังนี้

“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ในศุภวารดิถีมงคลสมัยที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ข้าพระพุทธเจ้าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย ต่างพากันปลาบปลื้มโสมนัสด้วยความจงรักภักดี ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นพลเทพย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ได้ทรงเลือกสรรประสบผู้ที่สมควรแก่การสนองพระยุคลบาทร่วมทุกข์ร่วมสุข แบ่งเบาพระราชภาระในภายภาคหน้า ข้าพระพุทธเจ้าและมวลสมาชิกแห่งพระราชวงศ์จักรี ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายพระพรชัยมงคลต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และสมเด็จพระราชินี ขอให้ทรงพระเจริญด้วยพระชนมายุยั่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญปราศจากสรรพโรคาพาธภัยพิบัติ จงประสบสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสมเด็จพระราชินี เสด็จสถิตเป็นศรีแก่พระราชวงศ์จักรีชั่วกาลนาน”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า

“หม่อมฉันและสมเด็จพระราชินี ขอขอบพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายที่ทรงอำนวยพรในการที่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสในวันนี้ หม่อมฉันรู้สึกซาบซึ้งในความอารีที่ทรงมีแก่หม่อมฉัน ขอพระบรมวงศานุวงศ์จงทรงพระเจริญสวัสดีทุกพระองค์”

ส่วนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย องคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ ฯลฯ พร้อมด้วยทูตานุทูตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อแสดงความชื่นชมยินดีและถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสให้ผู้ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคม ได้ทราบดังนี้

“ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้เชิญท่านทั้งหลายมาประชุมครั้งนี้ เพื่อจะแจ้งให้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้ประกอบการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ธิดาหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ตามกฎหมายและประเพณีแล้วเมื่อเช้าวันนี้ ณ ตำหนักของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสมเด็จพระราชบิดา ตำบลปทุมวัน เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งได้ประทับเป็นประธาน พร้อมด้วยพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการผู้ใหญ่ในสภาทั้งสองและในรัฐบาล กับเจ้าพนักงานทะเบียนท้องถิ่น ดังได้ประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว”

ต่อจากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้รับฉันทานุมัติจากผู้ที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคมนั้น กราบบังคมทูลพระกรุณา แสดงความชื่นชมยินดีและถวายพระพรชัยมงคลดังนี้

“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ในมหามงคลสมัยที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแส พระราชดำรัสในการที่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าในนามข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย และผู้ซึ่งได้มาชุมนุมเฝ้า ณ มหาสมาคมนี้ รู้สึกปลาบปลื้มและชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายพระพรชัยมงคล ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับทั้งสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ จงทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติเป็นมิ่งขวัญแก่ประเทศชาติ และพสกนิกรชาวไทย ขอจงพ้นจากสรรพอุปัทวันตราย มีพระราชประสงค์จำนงหมายในสิ่งใด จงบรรลุผลสำเร็จสมดังคำสัตยาธิษฐานนี้ทุกประการ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

บทนำของหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร”ฉบับวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“พิธีราชาภิเษกสมรสครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีและตามบทบัญญัติของกฎหมาย อันได้แก่การจดทะเบียนสมรส ซึ่งจะต้องมีเจ้าพนักงานอันได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายลงชื่อเป็นพยานในสมุดทะเบียนสมรสนั้นด้วย ข้อนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการเช่นนี้ ย่อมจะเป็นการส่งเสริมคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระประมุขอยู่นั้น ให้แลเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นอีกประการหนึ่ง”
ทะเบียนสมรสของกษัตริย์ประชาธิปไตยเหมือนกับทะเบียนสมรสของประชาชน
ทะเบียนสมรสในหลวงกับสมเด็จพระราชินี
เข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวสาทูลเกล้าฯถวายเครื่องสักการะ
ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส
กำลังโหลดความคิดเห็น