xs
xsm
sm
md
lg

เหตุที่คนไทยมี ๖๕ ล้านในวันนี้ ไม่ใช่เป็นไปอย่างไม่ตั้งใจ แต่เป็น “องค์การส่งเสริมการสมรส”!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

จอมพล ป.และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
ที่ประเทศไทยเรามีพลเมืองกว่า ๖๕ ล้านคนในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องเป็นไปอย่างไม่ได้ตั้งใจ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือความขยันส่วนบุคคล แต่เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ที่มุ่งจะสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น ปลุกใจให้ช่วยกันสร้างไทยเป็นมหาอำนาจ ถึงกับตั้ง “องค์การส่งเสริมการสมรส” ขึ้น

ขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และอยู่ในยุค “ไทยสมัยสร้างชาติ” โดย “ท่านผู้นำ” คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องการจะสร้างให้ไทยเป็นมหาอำนาจ และมีความเห็นว่า ประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจได้นั้น จะต้องมีพลเมือง ๓๐-๔๐ ล้านคนขึ้นไป ไม่ใช่แค่ ๑๘ ล้านอย่างในขณะนั้น จึงต้องเร่งสร้างพลเมืองให้ได้ตามเป้าหมายภายใน ๒๐-๓๐ ปี โดยทำให้มีคนเกิดมากขึ้น และตายน้อยลง

ในปี ๒๔๘๕ นั้น ประมาณว่ามีคนเกิดวันละ ๑,๕๕๒ คน หรือชั่วโมงละ ๖๕ คน หรือราวนาทีละ ๑ คน แต่ตายวันละ ๗๑๙ คน หรือชั่วโมงละ ๓๐ คน ฉะนั้นจึงมีกำไรคนเกิดมากกว่าคนตายชั่วโมงละ ๓๕ คน หรือวันละ ๘๔๐ คน ถ้าคิดเป็นปีก็จะมีพลเมืองเพิ่มขึ้นในปีนั้น ๓๐๓,๖๐๐ คน

ประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้จะเพิ่มในแบบดอกเบี้ยทบต้น คือสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อคิดถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศและพื้นที่ว่างเปล่าที่ยังเหลืออีกมาก ก็น่าที่ประชากรไทยจะทวีจำนวนขึ้นได้มากกว่านี้ และเร็วกว่านี้

การลดอัตราการตายของประชากร โดยช่วยให้พลเมืองมีอายุยืนยาวขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของกรมต่างๆในกระทรวงสาธารณสุข วิธีดำเนินการเรื่องนี้มีหลายทาง เช่น ทำการสุขศึกษาให้ประชาชนปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันตามหลักอนามัย โดยเฉพาะในการกินอยู่หลับนอน ป้องกันโรคติดต่อต่างๆ และโรคที่อาจป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ จัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้ได้สุขลักษณะยิ่งขึ้นทั้งในเมืองและชนบท สร้างแพทย์ที่มีความรู้ให้มากขึ้น จัดตั้งโรงพยาบาลและสุขศาลาให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำการสงเคราะห์มารดาและเด็ก ตลอดจนการอนามัยโรงเรียน
ส่วนการส่งเสริมให้มีคนเกิดมากขึ้น เป็นข้อสำคัญในการเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้นโดยเร็วนั้น แม้จะเป็นหน้าที่และเป็นการปฏิบัติของพลเมืองทั้งหลายอยู่แล้ว แต่ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องส่งเสริมและช่วยขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคให้

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมอบหน้าที่ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง “องค์การส่งเสริมการสมรส” ขึ้นในวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๕ โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน อธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นรองประธาน ประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ เช่น อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรมโฆษณาการ ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนเทศบาลนครกรุงเทพฯ ผู้แทนเทศบาลนครธนบุรี นายกสมาคมสงเคราะห์ผู้มีบุตรมาก และกำหนดให้มีผู้หญิงเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

เรียกว่าเป็นองค์การระดับชาติกันเลย

ในการประชุมครั้งแรกขององค์การในวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๕ มีนายแพทย์พูน ไวทยการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กรมประชาสงเคราะห์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ด้านชีวสงเคราะห์ ได้เสนอความเห็นแนวทางดำเนินการขององค์การ สรุปได้ว่า

การเพิ่มพลเมืองมี ๒ ทางคือ ให้มีคนเข้าเมืองมากๆ กับให้คนเกิดมากตายน้อย และการที่จะให้คนเกิดมาก ก็ต้องทำให้คนแต่งงานกันมากขึ้น

อุปสรรคของการแต่งงานที่สำคัญอันดับแรก คือการเรียกสินสอดทองหมั้น ควรหาทางแนะนำให้เลิกประเพณีนี้เสีย กับค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน ควรจัดรวมเพื่อประหยัด อีกทั้งชายหญิงยังขาดการสมาคมระหว่างเพศ ควรจัดให้หนุ่มสาวพบปะสมาคมกัน ส่วนความสามารถในทางเศรษฐกิจไม่สำคัญนัก ยากจนก็แต่งงานกันได้ ถ้าองค์การเข้าช่วยก็จะมีการแต่งงานกันมากขึ้น และควรจัดให้มีการอพยพไปทำมาหากินต่างจังหวัด ซึ่งต้องการคนช่วยในการทำงาน ก็คงต้องแต่งงานกัน

ส่งเสริมชักชวนให้เห็นประโยชน์ของการแต่งงาน โดยโฆษณาทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ เพลง ละคร และโปสเตอร์ ให้กรมประชาสงเคราะห์และกระทรวงสาธารณสุข แนะนำคนที่มีอายุสมควรแต่งงานให้แต่งงานกัน หาทางช่วยคู่สมรสที่มีบุตร เก็บภาษีคนโสด เป็นต้น

ผู้แทนเทศบาลนครกรุงเทพยังเสนอให้รับคนแต่งงานแล้วเข้าทำงานก่อนคนโสด ให้องค์การช่วยหางานให้คนแต่งงาน และให้เพิ่มเงินเดือนเมื่อมีบุตร

ข้อเสนอต่างๆเหล่านี้นับเป็นการปฏิวัติประเพณีการสมรส เช่น สมรสหมู่คราวเดียวกันหลายคู่ การลดเงินสินสอดทองหมั้น ให้ทุนการสมรส และให้ความสะดวกในการจดทะเบียนการสมรส ซึ่งอาจจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีดังเดิม องค์การจึงรวบรวมเรื่องเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณา หาทางป้องกันตัวเองไว้ก่อน

นายแพทย์พูน ไวทยการ ประธานองค์การส่งเสริมการสมรส ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการสมรสออกเผยแพร่ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อเติบโตขึ้นและมีอายุสมควรแล้ว ก็ต้องช่วยกันสร้างชาติ สร้างครอบครัว โดยการสมรสและมีบุตรหลายคน ทั้งนี้เป็นไปตามสัญชาติญาณและขนบประเพณี ซึ่งจะต้องรักษาไว้ด้วยดีตลอดไป แต่ในคราวสำรวจสำมโนครัวเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ปรากฏว่าในหมู่ชายอายุตั้งแต่ ๑๗ ปีขึ้นไป และหญิงอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป มีคนโสดอยู่ทั่วราชอาณาจักร ๑,๘๙๕,๖๗๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๖ ของคนวัยเดียวกัน สำหรับชาย ปรากฏว่ามีคนโสดร้อยละ ๒๗.๐ และหญิงร้อยละ ๒๐.๔ ของแต่ละเพศ เฉพาะจังหวัดพระนคร ปรากฏว่ามีคนโสด ๑๓๒,๔๗๖ คน คิดเป็นอัตราร้อยละ ๓๐.๘ ของคนในวัยเดียวกัน ชายโสดมีอยู่ถึงร้อยละ ๓๙.๖ และหญิงโสดร้อยละ ๒๐.๑ ของบุคคลแต่ละเพศในวัยที่กล่าวแล้ว จำนวนและอัตราคนโสดที่แสดงไว้นี้ เมื่อดูเผินๆก็รู้สึกว่าจะสูง ทั้งนี้ก็เพราะได้ถือเกณฑ์อายุสำหรับชายตั้งแต่ ๑๗ ปี และหญิงตั้งแต่ ๑๕ ขึ้นไป ซึ่งในระหว่างที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะนี้ ชนส่วนมากยังไม่ทำการสมรสกัน ถึงอย่างไรก็ดี พึงลงความเห็นได้ว่า ในประเทศไทย และโดยเฉพาะในจังหวัดพระนคร มีผู้ที่ยังไม่ได้ทำการสมรสอยู่อีกจำนวนมาก ฉะนั้นทางราชการจึงได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมการสมรส เพื่อช่วยให้ประชาชนทำการสมรสมากขึ้น

อายุเหมาะที่สุดสำหรับทำการสมรสนั้น ทั้งทางแพทย์และทางสังคมวิทยา ถือกันว่าชายควรมีอายุตั้งแต่ ๒๐-๓๐ ปี และหญิงตั้งแต่ ๑๘-๒๕ ปี ทั้งนี้เพราะร่างกายของผู้ที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กล่าว อาจยังไม่เจริญเต็มที่ บุตรที่เกิดมาอาจอ่อนแอไปทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งผู้ที่ทำการสมรสกันในวัยรุ่นนี้ ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะทำหน้าที่บิดามารดาที่ดีได้โดยสมบูรณ์ ส่วนหญิงที่ทำการสมรสเมื่ออายุสูงกว่าเกณฑ์ที่กล่าวนั้น ก็อาจประสบอุปสรรคบางประการในการคลอด เนื่องจากอวัยวะบางส่วนแข็งกระด้าง ไม่สามารถขยายตัวออกได้เหมือนสตรีอายุน้อย ทั้งจำนวนบุตรที่จะให้กำเนิดก็ลดน้อยลงตามอายุของสตรีที่สูงขึ้น แต่ไม่ควรเคร่งครัดนัก เพราะผู้ที่อายุค่ำกว่าหรือสูงกว่าเกณฑ์ที่กล่าวเพียงไม่กี่ปี ก็อาจช่วยชาติในการเพิ่มพลเมืองได้ดีเหมือนกัน

เมื่อได้ทำการสมรสหรือมีเรือนแล้ว แต่ละคู่ก็ควรมีลูก ๔ คน เพื่อให้ดำรงชาติแทนตนโสด แทนผู้ที่เป็นหมันหรือมีบุตรคนเดียว แทนผู้มีอายุสั้น ซึ่งตายก่อนจะมีครอบครัว และเพื่อความงอกงามขยายตัวของชาติด้วย ส่วนลัทธิเห็นแก่ตัว โดยมีลูกคนเดียวหรือสองคนนั้น ชาวเราไม่ควรรับพิจารณาและยึดถือ

อนึ่ง ในเรื่องการสมรสและมีลูกนี้ ขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ตามที่ชาติต่างๆเคยประสบมาแล้ว ปรากฏว่าชาวเมืองซึ่งพำนักในท้องถิ่นชุมชน และคนมั่งมีไม่ต้องทำงานตรากตรำ มักให้กำเนิดบุตรในอัตราต่ำกว่าชาวชนบทและคนจนซึ่งทำงานตรากตรำ ฉะนั้นจึงเป็นการสมควรที่ชาวเมืองและผู้ร่ำรวย จะพึงพยายามบำเพ็ญตนเป็นพลเมืองดีในการสร้างชาติ ด้วยเพิ่มพลเมืองยิ่งขึ้นกว่าชนจำพวกอื่น”

ในบทความนี้ยังกล่าวอีกตอนว่า

“ต่อไปนี้จะแสดงถึงประโยชน์ที่ผู้ทำการสมรสแล้วได้รับ ชีวิตสมรสนั้นคือความเป็นไปที่สดชื่น เป็นระเบียบเรียบร้อยและสะดวกสบายด้วยประการทั้งปวง ดังนั้นจึงปรากฏว่าผู้ที่สมรสแล้วมักมีสุขภาพดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนทำการสมรส หลักฐานที่จะยืนยันข้อนี้ได้ก็คือ อัตราการตายของชายที่แต่งงานแล้วมักต่ำกว่าอัตราของชายโสดเป็นอันมาก เช่นในหมวดอายุ ๓๐-๔๐ ปี อัตราของชายที่แต่งงานแล้วตายเพียงครึ่งหนึ่งของชายที่ไม่ได้แต่งงาน แต่ในหมวดผู้สูงอายุขึ้นไป ความแตกต่างของอัตราตายนี้มักลดน้อยลง สำหรับหญิงก็ปรากฏอย่างเดียวกัน อัตราตายของหญิงมีเรือน มักต่ำกว่าหญิงโสด ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่สมรสแล้ว มักดำรงชีวิตอยู่ในความคุ้มครองอันดี และด้วยความยับยั้งชั่งใจยิ่งกว่าคนโสด เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจของผู้สมรสดีกว่า และคงเกี่ยวกับผลดีของความสัมพันธ์ทางเพศด้วยเป็นแน่ ผู้ที่สมรสแล้วจะมีคู่ทุกข์คู่สุขและที่ปรึกษาที่ซื่อสัตย์ มีผู้ดูแลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย มีลูกไว้ชมเชยสืบตระกูลและเป็นผู้อุปการะในวัยชรา เฉพาะชายที่สมรสแล้ว ย่อมได้รับความปลอดภัยจากโรคบางชนิด เช่นกามโรค ทุ่นรายจ่าย ทำงานได้มากขึ้น และเมื่อรับราชการก็ก้าวหน้ากว่าชายโสด สำหรับหญิงนั้น ประโยชน์ที่ได้รับจากการสมรสก็มีอยู่หลายประการ เช่นมีเกียรติ เป็นที่นับถือของสังคมยิ่งขึ้น มีความภูมิใจที่ได้เป็นมารดา และเบาใจที่ไม่เป็นภาระให้บิดามารดาของตนต้องเลี้ยงดูต่อไป

เมื่อเป็นข้อได้เปรียบของการสมรสเช่นนี้แล้ว ก็เป็นการสมควรที่คนโสดทั้งหลาย จะกระตือรือร้นที่จะหาคู่เสียโดยเร็ว”

เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการสมรสสร้างชาติมากขึ้น นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งไปยังกระทรวงทบวงกรมทั้งหลาย ให้วางหลักเกณฑ์พิจารณาเลื่อนอันดับเงินเดือนของข้าราชการไว้ดังนี้ นอกจากคำนึงถึงความชอบในหน้าที่ราชการแล้ว ให้พิจารณาถึงผู้ที่ทำการสมรสและมีบุตรเป็นอันดับที่ ๑ ต่อจากนั้นให้พิจารณาถึงผู้ที่สมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตรเป็นอันดับที่ ๒ แล้วจึงพิจารณาผู้ที่ยังไม่ได้สมรสเป็นอันดับที่ ๓

มีหน่วยราชการบางหน่วยวางระเบียบไว้ว่า ข้าราชการสตรีต้องลาออกเมื่อสมรส กฎข้อนี้ถือว่าขัดต่อการส่งเสริมการสมรสอย่างมาก จึงให้แก้ไขโดยย้ายให้ไปทำงานหน่วยอื่น

เพื่อให้หนุ่มสาวที่ยังหาคู่ไม่ได้ มีโอกาสได้พบปะสมาคมกัน องค์การส่งเสริมการสมรสยังจัดตั้ง “สำนักงานสื่อสมรส” ขึ้นตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าสำนักงาน มีหน้าที่รับแจ้งความจำนงของชาย-หญิงในการเลือกคู่ ผู้แสดงความจำนงต้องแจ้งรูปพรรณ อายุ อาชีพ และความประสงค์ เมื่อพิจารณาว่าคุณสมบัติเหมาะสมกับใครแล้ว ก็ติดต่อจับคู่ให้ แล้วนัดให้ทั้งคู่มาพบกัน พร้อมหาทางนัดผู้ลงทะเบียนทั้งหมดมาพบกัน เช่นจัดงานหรือจัดประชุมมาฟังคำบรรยาย

ก็เท่ากับเป็นสำนักงานจัดหาคู่ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นโต้โผ

สำนักงานยังจัดงานให้หนุ่มสาวมาพบกัน อย่างในกรุงเทพฯได้จัดงานตักบาตรข้าวสารที่วัดสุทัศน์เทพวรารามในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๘๖ มีการแสดงต่างๆ

องค์การส่งเสริมการสมรสได้ดำเนินการช่วยเหลือคู่สมรสทั้งก่อนและหลังการสมรส เช่นชักชวนและชักจูงให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าในการสมรสแล้ว ยังช่วยประสานงานในการสู่ขอและขจัดอุปสรรคต่างๆ การตรวจโรคและจัดพิธีสมรส หาทางตัดพิธีที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายให้น้อยลง จากนั้นก็พิจารณาให้มีที่ทำกิน และให้ทุนการศึกษาแก่ลูกคนแรกที่เกิดมาหลังการสมรส ๒๖๐ วันเป็นต้นไป

องค์การยังจัดฉายภาพยนตร์ ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงในวันที่ ๕, ๖, ๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ ที่โรงภาพยนตร์โอเดียนในวันที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔ พฤศจิกายนต่อมา และที่โรงพัฒนากรในวันที่ ๒๗ ตุลาคม เพื่อหาทุนดำเนินการ โดยมีนายจุลินทร์ ล่ำซำ เป็นประธานกรรมการจัดหาทุน

ต่อมานายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้องค์การส่งเสริมการสมรส จัดงานสมรสหมู่ขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศพร้อมกันเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๘๖ สำหรับกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นงานยิ่งใหญ่ระดับชาติ จึงให้จัดที่ทำเนียบสามัคคีชัย ตึกไทยคู่ฟ้า โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคู่สมรสที่เข้าพิธี ๗๓ คู่ ส่วนต่างจังหวัดให้ผู้ราชการจังหวัดเป็นประธาน

สำหรับชุดเจ้าสาวนั้น กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ออกแบบ ให้ใช้เสื้อสีขาวคอตื้น กระโปรงยาวจดพื้น เครื่องประดับเสื้อไม่มีสี เสื้อชั้นในแพรขาว มีผ้าโปร่งเป็นลูกไม้คลุม ถุงเท้าสีเนื้อ รองเท้าส้นสูง สวมถุงมือขาว และถือดอกไม้ผูกริบบิ้นขาว องค์การออกเงินช่วยค่าชุดเจ้าสาวรายละ ๕๐ บาท แต่เสื้อชั้นนอก กระโปรง และถุงเท้า ขอคืนเพื่อใช้รายต่อไป

ส่วนชุดเจ้าบ่าว ใช้ชุดสากลสีขาว กางเกงไม่พับขา เนคไทร์สีดาร์คบลูหรือสีเทา ถ้าเป็นข้าราชการแต่งเครื่องแบบปกติได้ หรือถ้าอยากจะโก้ถึงขั้นใส่ชุดทักซิโด้เชิร์ตอกแข็งก็ได้

ส่วนเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ต้องมี เพราะแต่งหมู่มีเพื่อนมากอยู่แล้ว

การจัดสมรสหมู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตามนโยบายสร้างชาติของ “ท่านผู้นำ” จึงเป็นข่าวใหญ่สนั่นเมือง และยังจัดต่อมาอีกหลายครั้ง ถือเป็นผลงานของรัฐบุรุษ ที่คิดถึงอนาคตของชาติ วางรากฐานสร้างชาติให้มั่นคง แม้จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม

แต่ถ้า “ท่านผู้นำ” ได้รับรู้ถึงความเป็นไปของประเทศชาติในวันนี้ คงจะเสียใจไม่น้อย ที่วางแผนให้มีพลเมืองเกิดขึ้นมากหวังจะให้เกิดมาช่วยกันสร้างชาติเป็นมหาอำนาจ แต่กลับเกิดมาทำลายกันเอง แบ่งฝ่ายคอยขัดขวางไม่ให้ประเทศชาติก้าวหน้าไปสู่ความเข้มแข็งมั่นคงได้ มุ่งที่ผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น

เสียชาติเกิดจริงๆ!
สมรสหมู่ที่ภูเก็ต
สมรสหมู่ที่จังหวัดสุรินทร์
สมรสหมู่ที่จังหวัดลำปาง
สมรสหมู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี
สมรสหมู่ที่จังหวัดพัทลุง
นายเทียบ จันทรพันธุ์ พ่อตานายพายัพ ชินวัตร อดีตเจ้าบ่าวสมรสหมู่ มารำลึกความหลังพร้อมกับลูกสาว เมื่อวัย ๙๒ ในงานที่เทศบาลลำปางจัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒
กำลังโหลดความคิดเห็น