xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 เม.ย.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“บรรหาร ศิลปอาชา” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ด้วยวัย 83 ปี!
นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ล่าง) ภาพสุดท้ายที่นายบรรหารปรากฏตัวให้ชาวสุพรรณบุรีได้เห็น ในพิธีเปิดงานกระบองเพชรดอกไม้แห่งทะเลทราย เมื่อ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา
เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 21 เม.ย. เวลาประมาณ 03.00 น. นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เกิดอาการโรคหอบหืดกำเริบ ซึ่งเป็นโรคประจำตัว และมีอาการภูมิแพ้ร่วมด้วย ญาติจึงได้ให้ยาพ่น แต่อาการไม่ดีขึ้น เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก จึงนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

หลังนายบรรหารเข้ารักษาตัว ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ออกแถลงการณ์ว่า นายบรรหารอยู่ในห้องไอซียู สถานการณ์อยู่ในภาวะวิกฤต ต้องให้ยาหลายตัวเพื่อให้หลอดลมคลายตัว เพื่อที่จะสามารถให้ออกซิเจนเข้าไปได้ และเนื่องจากต้องต้องให้ยาหลายตัว จึงไม่สามารถประเมินได้ว่า รู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัว ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของอาการเป็นระยะๆ

อย่างไรก็ตาม แค่ 2 วันให้หลัง วันที่ 23 เม.ย. เวลา 04.42 น. นายบรรหาร ก็ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ สิริอายุ 83 ปี 8 เดือน ด้านญาติได้เคลื่อนศพไปยังเทพศิรินทราวาส โดยครอบครัวแจ้งกำหนดการพิธีศพว่า เวลา 17.30 น. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และจะมีพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นเวลา 7 วัน ในเวลา 19.00 น.ที่ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาสฯ จากนั้นครอบครัวจะสวดพระอภิธรรมอีก 7 วัน รวม 14 วัน

สำหรับประวัติของนายบรรหาร เดิมมีชื่อว่า นายเต็กเซียง แซ่เบ๊ เกิดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2475 เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี บุตรของนายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊ จบการศึกษาชั้นประถมที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียน เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

จากนั้น หันไปทำงานกับพี่ชาย และก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเอง ภายใต้ชื่อ บริษัท สหศรีชัยก่อสร้าง จำกัด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2496 และก่อตั้งบริษัท บี.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขายเคมีภัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2513 เป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค จนมีฐานะร่ำรวย

นายบรรหาร เข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อปี 2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2516 และเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2518 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี 2519 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง นายบรรหารได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา เคยถูกนายพินิจ จันทรสุรินทร์ ส.ส. ลำปาง และคณะรวม 42 คน ยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และสำเร็จการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยกคำร้อง

เมื่อนายบรรหารเป็นนักการเมืองแล้ว จึงเริ่มเรียนหนังสือต่อจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2529 ศึกษาต่อปริญญาโทจนสำเร็จการศึกษา นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต่อมาในปี 2537 นายบรรหารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2538 พรรคชาติไทยมี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายบรรหาร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 ปี 134 วัน พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง จึงตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2539

ในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคชาติไทยได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อีก ถ้าพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว กระทั่งในช่วงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายทักษิณประกาศยุบสภา พรรคชาติไทยได้ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชนคว่ำบาตรการเลือกตั้ง แต่ในการเลือกตั้งปี 2550 นายบรรหารไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน จัดตั้งรัฐบาล กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์การเลือกตั้ง 5 ปี เนื่องจากพรรคชาติไทยถูกยุบ เพราะกรรมการบริหารพรรคซื้อเสียงเลือกตั้ง จึงได้ตั้งพรรคใหม่ ชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา และร่วมงานกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

นายบรรหาร สมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา (นามสกุลเดิม เลขวัต) มีบุตร-ธิดารวม 3 คนคือ นายวราวุธ ศิลปอาชา หรือ ท็อป อดีต ส.ส. สุพรรณบุรี, น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หรือ หนูนา อดีต ส.ส. สุพรรณบุรี และ น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา หรือ ยุ้ย ประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยครอบครัวศิลปอาชามีทรัพย์สินรวมกันกว่า 3,500 ล้านบาท สะสมที่ดิน 201 แปลง เกือบ 2,000 ไร่ มีบ้าน 3 หลัง ได้แก่ ย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด มูลค่า 50 ล้านบาท, ย่านถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ มูลค่า 20 ล้านบาท และที่ จ.สุพรรณบุรี มูลค่า 3 ล้านบาท

2.ป.ป.ช.จ้องถอนฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯ 7 ตุลาฯ ส่อช่วย “พัชรวาท” พันธมิตรฯ ซัด ขุดศพขึ้นมาฆ่าซ้ำ “วิชา” ยันถอนฟ้องไม่ได้ ปชป.แนะเอาผิด ป.ป.ช.!

(บน) พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. (ล่าง)  จำเลยคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่า ป.ป.ช.ชุดใหม่ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ เป็นประธาน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน มีแนวคิดที่จะถอนฟ้องคดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งคดีดังกล่าว ป.ป.ช.ชุดเดิม ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2558 และมีคำสั่งประทับรับฟ้อง และมีการไต่สวนไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ กระแสข่าวที่ ป.ป.ช.อาจจะถอนฟ้องคดีดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า น่าจะเป็นไปเพื่อช่วยเหลือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนี้

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ยอมรับว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม ป.ป.ช.ได้พิจารณาว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในการถอนฟ้องคดีนี้หรือไม่ เนื่องจากนายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยในคดีนี้ ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. โดยระบุว่า มีพยานหลักฐานใหม่ และขอให้เปรียบเทียบกับกรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ในยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติยกคำร้อง จึงขอให้ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุม 7 ต.ค.51 จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงได้ให้คณะอนุกรรมการกฎหมายประจำสำนักงาน ป.ป.ช.พิจารณาข้อกฎหมายว่า มีอำนาจถอนฟ้องหรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.ไม่ได้ระบุอำนาจไว้โดยตรงว่าถอนฟ้องได้หรือไม่ได้ แต่ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งมาตราดังกล่าวระบุทำนองว่า ตราบใดที่คดียังไม่ตัดสินถึงที่สุด โจทก์สามารถถอนฟ้องคดีได้ แต่จะถอนได้หรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของศาล

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 1 เห็นด้วยกับความเห็นของคณะอนุกรรมการกฎหมายฯ โดย 1 เสียงที่ไม่เห็นด้วย คือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ส่วน ป.ป.ช.อีก 2 คนไม่ได้เข้าร่วมประชุม คือ นายณรงค์ รัฐอมฤต และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง

มีรายงานด้วยว่า หลังเห็นชอบความเห็นของอนุกรรมการฯ แล้ว ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่เคยร่วมดูแลสำนวนคดีดังกล่าว ไปพิจารณาว่า มีเหตุผลและความเหมาะสมอย่างไรในการถอนฟ้องคดีตามที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ด้านเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แล้วมีหนังสือตอบกลับไปยัง พล.ต.อ.วัชรพล ว่า ไม่สมควรถอนฟ้อง เพราะถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อยู่แล้ว อีกทั้ง หาก ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีนี้ อาจเข้าข่ายกระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่และถูกฟ้องร้องเสียเอง

แต่ พล.ต.อ.วัชรพล ได้ทำบันทึกกลับมาให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ใหม่ โดยให้เทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2551 และปี 2553 ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 ไม่มีกฎเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน แตกต่างกับเมื่อปี 2553 ที่มีกฎหมายรองรับทั้งหมด มีการประกาศ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีขั้นตอนการปฏิบัติชัดเจน และสถานการณ์ช่วงนั้นพัฒนามาเรื่อย ๆ จนเกิดเหตุรุนแรง มีทหารเสียชีวิต และมีชายชุดดำที่ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งทั้งสองกรณีไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามดูเหมือน พล.ต.อ.วัชรพล จะไม่ล้มเลิกความคิดถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ง่ายๆ โดยอ้างว่า ผู้ใหญ่หลายท่านพูดว่าตามกฎหมาย ถ้ามีเหตุมีผลก็เสนอขอถอนฟ้องได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ยังยอมรับด้วยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. จำเลยในคดีนี้ เคยเป็นผู้บังคับบัญชาของตน สมัยรับราชการตำรวจ

ขณะที่ท่าทีของกลุ่มพันธมิตรฯ ในฐานะผู้ถูกกระทำและผู้สูญเสียจากเหตุการสลายการชุมนุม 7 ต.ค.51 ต่อกรณีที่ ป.ป.ช.ชุดนี้มีแนวคิดจะถอนฟ้องคดีดังกล่าว นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำและโฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า หากรัฐบาล คสช. ซึ่งเป็นความหวังของประชาชน และอ้างตัวเองว่าเป็นรัฐบาลที่มาทำหน้าที่เพื่อการปฏิรูปประเทศปล่อยให้ ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หรือกระบวนการใดก็ตามที่เป็นไปในทำนองเดียวกับการนิรโทษกรรมเพื่อพวกพ้องตัวเอง รัฐบาล คสช. ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่ คสช. เองก็กล่าวหาว่าไม่มีความชอบธรรม เพราะบุคคลที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากการถอนฟ้องคดีนี้ ก็คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวของผู้ที่มีอำนาจในขณะนี้

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องการถอนฟ้องคดีนี้ ไม่ได้อยู่แค่ว่า ป.ป.ช.มีอำนาจถอนหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ามีความชอบธรรมที่จะถอนฟ้องหรือไม่ด้วย และว่า หาก ป.ป.ช. บอกว่าตนเองมีอำนาจถอนฟ้อง คงฟังไม่ขึ้น และอาจถูกมองว่าตีความเข้าข้างตัวเอง และอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่สำคัญ การถอนฟ้องจะยิ่งทำให้คนสงสัยว่า โอกาสที่จำเลยทั้ง 4 คน จะถูกตัดสินลงโทษมีสูงใช่หรือไม่ จึงได้หาเหตุตัดตอนด้วยการถอนฟ้อง ซึ่งจะถือเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม และหลักการถ่วงดุลอย่างรุนแรงครั้งหนึ่ง

นายสุริยะใส ชี้ด้วยว่า หาก ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีนี้จริงๆ จะเท่ากับการขุดศพขึ้นมาฆ่าอีกครั้งหนึ่ง “เรื่องนี้จะเกิดคำถามว่า ทำเพื่อใคร ใครสั่ง ภารกิจนี้เป็นมิชชันที่ใครอยู่เบื้องหลัง ใครบงการมา ถ้า ป.ป.ช. อธิบายไม่ได้ จะเป็นจุดจบของระบบถ่วงดุลการตรวจสอบ เรื่องปราบโกงเลิกพูดกัน ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ถูกตรวจสอบตามกฎหมายอย่างเสมอหน้าเหมือนกับประชาชนทั่วไป เรื่องปราบโกงจะเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ และคิดว่าถึงที่สุดไม่มีใครยอม อาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนถ้าใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องว่ามีอำนาจหรือไม่ แต่เป็นเรื่องความชอบธรรมว่าฟังขึ้นแค่ไหน ถ้ามีการถอนฟ้องจริงๆ จะเท่ากับการขุดศพขึ้นมาฆ่าอีกครั้งหนึ่ง”

ส่วนมุมมองของอดีต ป.ป.ช.ต่อเรื่องนี้ นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า คดีใดที่ ป.ป.ช.ได้ทำการฟ้องร้องต่อศาลและศาลมีคำสั่งรับและดำเนินการพิจารณาไปแล้ว ย่อมไม่สามารถหยิบยกข้ออ้างมาขอถอนฟ้องได้ เพราะแม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จะไม่ได้กำหนดอำนาจดังกล่าวเอาไว้ แต่มาตรา 86 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานั้น ดังนั้น ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุข้อยกเว้นให้สามารถทำได้ จึงต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นายวิชา เผยด้วยว่า เท่าที่อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.มาเป็นเวลา 9 ปี ป.ป.ช.ไม่เคยมีการถอนฟ้องคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจาณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด เท่าที่จำได้ มีเพียงบางคดีเท่านั้นที่หมดอายุความในศาลชั้นต้น แล้ว ป.ป.ช.ไปดำเนินการถอนฟ้องในเวลาต่อมา

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันเช่นกันว่า ป.ป.ช.ไม่สามารถมีมติขอให้ถอนฟ้องคดีนี้ได้ เพราะไม่มีอำนาจ ตามที่มาตรา 86 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ระบุชัดว่าเป็นอำนาจของศาลเท่านั้นที่จะสั่งถอนฟ้องได้ และว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่จะเอาผิดต่อบุคคลที่ทุจริต คอร์รัปชัน หรือใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ แสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินเป็นเท็จ หรือร่ำรวยผิดปกติและผิดจริยธรรมร้ายแรง ถือเป็นหน้าที่ต้องชี้มูลเพื่อลงโทษบุคคลเหล่านี้ ซึ่งมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.นี้ระบุชัดว่า ในกรณีที่ ป.ป.ช.หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. หากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ห้ามมิให้เข้าพิจารณาในสำนวนคดีนั้นๆ กรณีนี้ถามว่า พล.ต.อ.วัชรพล เคยเป็นโฆษก สตช.ในขณะนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้หรือไม่ และเคยได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้นในบางเรื่องหรือไม่อย่างไรในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 หากมีส่วนเกี่ยวข้องถือว่า พล.ต.อ.วัชรพลไม่สามารถวินิจฉัยคดีนี้ได้ เพราะเข้าข่ายมาตรา 29 และประชาชนที่บาดเจ็บ หรือญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้สามารถรวมตัวฟ้องทางอาญาในฐานะผู้เสียหายได้ต่อ ป.ป.ช.ทั้ง 6 คน ที่มีมติขอให้ถอนฟ้องคดีนี้ ตามความผิดมาตรา 123 (1) และมาตรา 125 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ที่กำหนดโทษของคนในองค์กร ป.ป.ช.ว่า หากทำความผิด จะมีโทษเป็น 2 เท่าของโทษปกติในทุกมาตราหาก ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีนี้จริง

นายชาญชัย ยังฝากถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นพี่ชายของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จำเลยในคดีนี้ด้วยว่า “ขอฝากไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะพี่ใหญ่ว่า ความสุขของตระกูล "วงษ์สุวรรณ" มีมากพอแล้ว นับแต่มีรัฐประหารมา พี่ได้รับความสุขมากพอแล้ว ขอให้บอกกับน้องๆ ผู้ใต้บังคับบัญชาว่าขอให้หยุดการกระทำใดๆ ที่จะให้ความสุขกับตระกูลวงษ์สุวรรณ แต่ขอไปให้ความสุขกับพี่น้องประชาชนได้แล้ว ผมไม่อยากให้พี่ป้อมเสื่อมไปมากกว่านี้ และเพื่อที่จะให้บ้านเมืองเข้าสู่การปฏิรูปในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีต่อจากนี้เสียที เป็นความปรารถนาดีที่ผมมีต่อพี่ป้อมด้วยความจริงใจ”

3.“บิ๊กตู่” ฉุน ซัด “ทักษิณ” อยู่เบื้องหลังกลุ่มป่วนประเทศ ด้าน “ทักษิณ” เย้ย ไม่ต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์ให้ป่วนประเทศ นายกฯ ไทยก็แพ้ภัยตัวเองอยู่แล้ว!

 (ซ้าย) นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี คดีซื้อที่ย่านรัชดาฯ (ขวา) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.
ความเคลื่อนไหวสถานการณ์การเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าปรับทัศนคติ หลังเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเข้าข่ายขัดต่อคำสั่ง คสช.ที่นายวัฒนา เคยถูกเรียกให้เข้ารายงานตัวตั้งแต่ปี 2557 และเคยลงนามรับเงื่อนไขหลังได้รับการปล่อยตัวว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่นายวัฒนากลับเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องทั้งการให้สัมภาษณ์และการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นายวัฒนาจึงถูกเชิญตัวเพื่อปรับทัศนคติไป 3 ครั้งแล้ว แต่เมื่อยังไม่หยุดเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่จึงได้เชิญตัวเพื่อปรับทัศนคติอีกเมื่อวันที่ 14 เม.ย. แต่นายวัฒนาอ้างว่าติดภารกิจ จึงเปลี่ยนเป็น 18 เม.ย.

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่มณฑลทหารบกที่ 11(มทบ.11) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายวัฒนาได้เตรียมการบอก น.ส.วีรดา เมืองสุข ลูกสาวไว้แล้วว่า หากตนไม่ได้รับการปล่อยตัว ให้ลูกสาวไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมประเทศต่างๆ ซึ่งในที่สุด เมื่อนายวัฒนาไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะทหารนำตัวไปพูดคุยทำความเข้าใจที่ค่ายสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9(พล.ร.9) จ.กาญจนบุรี น.ส.วีรดา จึงเดินสายเข้ายื่นหนังสือต่อสหภาพยุโรป(อียู) และสถานทูตสหรัฐฯ ทันที โดยอ้างว่า คสช.ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนายวัฒนา

ขณะที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ก็ได้นำแนวร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกดดันให้ทหารปล่อยตัวนายวัฒนาเช่นกัน เช่น ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องคุมตัวจ่านิวและแกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับไปทำความเข้าใจก่อนปล่อยตัว

ทั้งนี้ ทหารได้นำตัวนายวัฒนาจากค่ายสุรสีห์ มายัง มทบ.11 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน กรณีฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 39/2557 จากนั้นได้นำตัวไปขอศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.-2 พ.ค. ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังได้ จากนั้นทนายความของนายวัฒนาได้ยื่นเงินสด 80,000 บาทขอประกันตัว โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 80,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามยั่วยุ ชักชวน ปลุกระดมด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้มีการชุมนุมหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาตจากศาล

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวเกี่ยวกับการคุมตัวนายวัฒนา รวมทั้งปฏิกิริยาจากบางประเทศบางองค์กร และการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่กดดันให้ปล่อยตัวนายวัฒนา โดย พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “นักศึกษาเหล่านี้อยู่กับพวกไหน ใครเอารถไปส่ง วอยซ์ทีวีไปส่งหรือเปล่า รถ นปช.ไปหรือเปล่า ใครล่ะ มันยึดโยงกันอย่างไร นี่มันต้องวิเคราะห์แบบนี้” ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการตรวจสอบมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มใดบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างฉุนเฉียวว่า “ใครที่ทำตรงนี้ ใครสนับสนุนกันมา ใครมีการวางแผน หนึ่ง ล็อบบี้ยิสต์ต่างประเทศ ใคร ก็ทักษิณ ผมพูดอย่างนี้ เดี๋ยวก็มาตีผม พรุ่งนี้ก็เละกันอีก...” เมื่อถามว่า หากส่อเค้าวุ่นวาย การทำประชามติต้องยุติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ทำไม่ได้ก็ไม่ทำ มาประท้วงกันทำไม่ได้ แล้วจะดันประชามติได้หรือไม่ เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เลือกได้หรือไม่ เสนอกันไปจนตีกัน จนเลือกตั้งไม่ได้ วันนี้เสนอแล้วถ้ายังตีกันอีก แล้วจะทำอย่างไร ก็กลับที่เดิมทุกอย่าง เหนื่อยเปล่า

ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปีคดีซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ได้ตอบโต้ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ตนเงียบมาตลอด แต่เมื่อถูกพาดพิงอย่างรุนแรง เลยต้องพูดสักครั้ง พร้อมเหน็บว่า รัฐบาลจากการรัฐประหาร ปกครองประเทศมาร่วม 2 ปี ได้ทำประโยชน์อะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้ชาวโลกเห็นบ้าง ภาพลักษณ์ที่เผยแพร่ออกไปมีแต่การใช้อำนาจละเมิดสิทธิประชาชนและกฎหมายสากล แทนที่ผู้นำประเทศของเราจะสนใจคำเตือน กลับมาโทษว่าตนจ้างล็อบบี้ยิสต์ให้แอนตี้ บอยคอตประเทศไทย ตนไม่จำเป็นต้องไปจ้างใครให้เสียเงินเสียทองเพื่อประจานนายกฯ ไทย ให้เสียภาพลักษณ์ประเทศหรอก เพราะประวัติศาสตร์มีให้เห็น ผู้นำเผด็จการฯ ที่ลุแก่อำนาจ ล้วนแล้วแต่แพ้ภัยตัวเองทั้งนั้น

4.“ธัมมชโย” ให้ทนายขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาคดีฟอกเงิน-รับของโจรออกไปอีก 1 เดือน ด้านดีเอสไอไม่อนุญาต ยืนยันกำหนดเดิม 25 เม.ย.นี้!

(ซ้าย) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ (ขวา) พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ความคืบหน้ากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ยักยอกเงินของสหกรณ์กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 8 เม.ย. แต่พระธัมมชโยให้ทนายความขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นเดือน พ.ค. โดยอ้างว่า ต้องเตรียมจัดกิจกรรมในวันเกิดของพระธัมมชโยในวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งดีเอสไออนุญาตให้เลื่อนได้ แต่ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 25 เม.ย.

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความพระธัมมชโย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีพระธัมมชโย ถูกดีเอสไอออกหมายเรียก โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่อง ทั้งนี้ นายสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาด้วยว่า วันที่ 22.เม.ย. ตนจะไปคุยกับพระธัมมชโย ว่า จะเอาอย่างไรต่อไป โดยมีแนวโน้มอาจจะขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้ง เพราะว่าท่านมีสิทธิ์เลื่อนนัดได้ 2 ครั้ง และว่า หลังจากดีเอสไอไปสอบปากคำพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกาย เรื่องรับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยไม่มีมูลหนี้ หลวงพ่อก็ได้ยอมรับความจริงแล้วว่าเป็นคนรับเช็คจริง แต่ท่านไม่รู้ว่าเงินที่ได้รับบริจาคเป็นเงินผิดกฎหมาย และนำเงินไปเข้าบัญชีวัดพระธรมกาย และนำเงินทั้งหมดไปก่อสร้างวัดแล้ว จะฟอกเงินได้อย่างไร

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงการออกหมายเรียกพระธัมมชโยมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 25 เม.ย.ว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอที่ดำเนินการสอบสวนคดีดังกล่าว ทราบว่า นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความของพระธัมมชโย ได้ประสานขอเลื่อนนัดการรับทราบข้อกล่าวหาจากเดิมวันที่ 25 เม.ย.นี้ เป็นปลายเดือน พ.ค.โดยให้เหตุผลว่า พระธัมมชโยติดศาสนกิจ จึงไม่สามารถเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าวได้ ซึ่งหลังจากได้รับการประสานขอเลื่อนนัดดังกล่าว ทางคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงได้ประชุมร่วมกับอัยการที่ร่วมกันสอบสวนในคดีดังกล่าวแล้ว และได้ข้อสรุปว่า ไม่ให้พระธัมมชโยเลื่อนนัด โดยให้พระธัมมชโยเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 25 เม.ย.นี้เช่นเดิม เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางพนักงานสอบสวนได้อนุญาติให้เลื่อนนัดแล้ว 1 ครั้ง คือ จากวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันที่ 25 เม.ย.นี้ หากพระธัมมชโยไม่เดินทางมารับข้อกล่าวหาตามที่พนักงานสอบสวนได้นัดหมายไป ก็จะพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

5.ครม.ไฟเขียวปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ฯ เงินเดือนไม่เกิน 2.6 หมื่นไม่ต้องเสียภาษี หักค่าลดหย่อน-ค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น มีผลปี ’60!


เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) หลังประชุม นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2560 เป็นต้นไป

สำหรับโครงสร้างภาษีที่ปรับปรุงใหม่ คือ ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนของผู้มีเงินได้ จาก 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท และปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เปลี่ยนเป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร นอกจากนี้ยังปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายของเงินเดือน จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เปลี่ยนเป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่เท่านั้น ยังปรับปรุงขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปรับเปลี่ยนผู้มีรายได้ปีละ 2,000,001 - 5,000,000 เสียภาษีร้อยละ 30 และรายได้เกิน 5,000,001 ขึ้นไปเสียภาษีร้อยละ 35 โดยให้มีผลในปีภาษี 2560 ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้รัฐเสียรายได้ปีละ 32,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ต่ออายุมาตรการผู้มีเงินได้ ซึ่งบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษามีสิทธิ์นำเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่า ของเงินได้ที่ได้จ่ายไป แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น โดยต่ออายุออกไปอีก 3 ปี จากที่หมดอายุไปแล้วเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการศึกษาไทย

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ว่า ทำให้มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ต่อเดือนตั้งแต่ 2.6 หมื่นบาทเริ่มมีภาระภาษี จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ที่มีเงินได้ตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไปจึงจะมีภาระภาษี โดยโครงสร้างภาษีใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 ยื่นแบบแสดงรายการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2561

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะให้เอกชนร่วมกันสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมบนที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท นำร่อง 6 แปลง โดยแนวทางจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ โครงการเช่าระยะสั้น จะเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ซึ่งจะเป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 2 แปลง โดยจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท สามารถเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 4,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์รุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่อาศัยแทนและไม่ต้องการให้เกิดการเก็งกำไร ซึ่งจะช่วยให้ข้าราชการผู้มีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ส่วนโครงการเช่าระยะยาว 30 ปี ผู้ประกอบการสามารถลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาทิ บ้านแถว บ้านเดี่ยว อาคารชุดพักอาศัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ขณะเดียวกัน ยังมีวงเงินสินเชื่อสำหรับการซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุไม่เกิน 500,000 บาท โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในปีที่ 1 ส่วนปีที่ 2-3 คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 2 ปีที่ 4-6 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ส่วนปีที่ 7-30 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น