xs
xsm
sm
md
lg

“น้าติ่ง พันธมิตร” ยอดนักพากย์สุดติ่งกระดิ่งแมว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ซ่าไม่ซ่า กูก็เยี่ยวเป็นฟองล่ะวะ” หรือ “เด็กแนวนั่งขี้” และอีกหลากหลายวาทะกวนสหบาทาในหนังฮีโร่สุดรั่วเรื่องล่าสุดอย่าง “เด๊ดพูล” ที่จะอยู่ในใจของนักดูหนังไปอีกนาน..เขาคนนี้นี่แหละคือเจ้าของเสียงพากย์กวนประสาทนั้น

“น้าติ่ง พันธมิตร” หรือในชื่อจริง “สุภาพ ไชยวิสุทธิสกุล” คือนักพากย์คิวฮอตที่สุดคนหนึ่งของบ้านเราที่ให้ความสนุกสนานบันเทิงในฐานะ “สะพานภาษา” ทั้งจอแก้วและจอเงิน ทั้งการ์ตูนเด็กดู ไปจนถึงหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูด ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา เขาคือผู้ให้ชีวิตชีวาแก่ตัวละครในโลกภาพยนตร์และการ์ตูน สร้างเนื้อสร้างตัวมาตั้งแต่ยุคหนังสายพากย์สด จรดยุคพากย์เสียงในฟิล์มจนถึงปัจจุบัน กับลีลาน้ำเสียงการพากย์สุดยียวนกวนหัวใจอันเปรียบเสมือนเครื่องหมายการค้าเอกลักษณ์ประจำตัว

จากเด็ก ตจว.ที่ถ่อร่างไปคลุกคลีตีโมงอยู่ในโรงหนังทุกค่ำหลังเลิกเรียน ด้วยรักและหลงใหล เรียนรู้แบบครูพักลักจำ ปล่อยหัวใจให้ถูกครอบงำโดยความรักในการพากย์หนัง ชีวิตคนบางครั้งก็สุดจะอธิบาย แต่ถ้าจะบอกจะพูดอะไรเกี่ยวกับผู้ชายคนนี้ที่ใครต่อใครเรียกขานว่า “น้าติ่ง พันธมิตร” ชีวิตของเขาก็คงเป็นชีวิตหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรจูงใจมากไปกว่าคำว่า “รัก”...

ปฐมบทความเกรียน
จาก “ติ่งหนัง” สู่เส้นทางนักพากย์

“เมื่อก่อน โทรทัศน์ต่างจังหวัดรับไม่ชัด หนังคือมหรสพที่คนดูชอบที่สุด เราก็ชอบดูหนังมาก แล้วบ้านผมที่อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ โรงหนังอยู่หน้าบ้าน ทีนี้ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับเขา ก็วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่อย่างนั้น จริงๆ แล้วอยากไปดูหนังฟรี (หัวเราะ) ไปๆ มาๆ ก็ได้ไปเป็นเด็กฉาย เพราะพอเราเข้าไปบ่อยๆ เรามีความรู้สึกว่านักพากย์ที่พากย์หนังนั้น เขาเท่มาก อะไรกัน คนๆ เดียว สามารถทำให้คนดูทั้งโรงหัวเราะได้ ร้องไห้ได้ ก็เลยมีความฝันตั้งใจอยากจะพากย์หนังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

ตอนนั้น...ตรงกับช่วงปี ราวๆ พ.ศ.2520 ที่ “เด็กชายสุภาพ” อยู่ในวัยแตกเนื้อหนุ่ม หลังจากร่ำเรียนตำรับตำราวิชาสามัญ เมื่อดวงตะวันบ่ายหน้าสู่ขอบฟ้ายามค่ำ แสงสีแห่งโลกภาพยนตร์ จึงเป็นดั่งโลกอีกใบที่ฉายฉานขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้มืดไปจนถึงค่ำคืน...

“กลางวันเราก็ไปเรียนหนังสือตามปกติ กลางคืนก็อยู่ในโรงหนัง นอนในโรงหนัง เมื่อก่อนนั้น นักพากย์หนังเวลาเขาจะไปพากย์ที่ไหน เขาก็หิ้วหนังไปพร้อมๆ กับบทพากย์ด้วย แล้วมันก็จะมีบทพากย์อยู่ 2 เล่ม นักพากย์ก็จะเอาไปใช้เล่มหนึ่ง ส่วนอีกเล่มหนึ่งประมาณว่าสำรอง ก็จะวางอยู่เฉยๆ เราก็หยิบเอาบทพากย์นั้นไปอ่าน ไปนั่งเปิดดูๆ ตามระหว่างที่เขาพากย์ ลองพากย์ตามเขาไปอะไรไป เล่นอยู่หลังฉากของเรา

“บังเอิญสมัยนั้นมันมีเทปคาสเซตต์เริ่มเข้าไปใหม่ๆ ด้วยความที่เรานอนโรงหนัง พอหนังเลิกประมาณเที่ยงคืน เราก็แอบตั้งหนังฉาย ก็ใส่หนังที่จะฉายเสร็จ ตั้งเทปแล้วก็วิ่งงง...ไปพากย์ในห้องพากย์ พากย์อัดใส่เทปคาสเซตต์หนึ่งม้วน ลองทำดู จนจบม้วน พอจบม้วน เราก็กรอเทปมาตั้งฉายใหม่คู่กัน แล้วลงไปนั่งดูในโรง”

“ทำเองดูเองเลย”
นักพากย์รุ่นใหญ่ยืดอกผึ่ง และเล่าต่อด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น แม้ในวันเวลานี้

“นั่งๆ ดู เราก็...เอ๊ะ เราน่าจะทำได้นะ ถึงมันจะตะกุกตะกัก แต่มันก็เหมือนกับนักพากย์ที่เพิ่งสตาร์ท เพิ่งได้พากย์หนังเรื่องใหม่ๆ ซึ่งจะพากย์แบบไม่คล่อง เหมือนเราตอนนั้น คือคิดเองเออเองเลยว่าเราน่าจะทำได้ ก็ทำอยู่อย่างนั้นได้สักปี 2 ปี ก็ค่อยไปสมัครเป็นนักพากย์หนัง

“ตอนไปก็ไม่ได้บอกที่บ้านด้วย เพราะเขาอยากให้เราเรียนหนังสือมากกว่า ที่บ้านก็เลยตามหาตัวกันให้วุ่น ถึงขนาดบนบานศาลกล่าว เพราะนึกว่าเราโดนหลอก โดนลักขโมยตัวไปขาย แต่จริงๆ เรานั่งรถไปเองที่บริษัท 'ธรรมวิทย์' เป็นศูนย์กลางของหนังสายเหนือ (เดินหนังตั้งแต่จังหวัดอยุธยาไปจนถึงจังหวัดเชียงราย) ที่จังหวัดนครสวรรค์ ก็ไปดุ่มๆ ตังค์ก็ไม่ต้อง เมื่อก่อนนี้ขึ้นรถเมล์ พอกระเป๋ามา เราก็โดดลง (หัวเราะ)

“แต่ทีนี้ พอไปถึง ก็ไม่คิดว่าจะไปสมัครพากย์หนังหรอกนะ เพราะคิดว่าเรายังทำไม่ได้ จะไปเป็นเช็คเกอร์ คือเป็นคนหิ้วหนัง เพราะรู้สึกว่าได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วย (หัวเราะ) แต่เขาไม่รับเช็คเกอร์ เขาจะรับนักพากย์ เขาขาดนักพากย์ เขาจึงถามว่าพากย์เป็นไหม ก็เลยตัดสินใจโกหกเขาไป บอกว่าพากย์เป็น”

พากย์เป็นไม่เป็น ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ...

“ครั้งแรกนี่โดนด่ากลับมาเละเลย (หัวเราะ) เพราะแค่เราหิ้วหนังไปวาง เขายังถามเลย ‘ไอ้หนู นักพากย์ล่ะ’ เราก็บอกว่าผมนี่ล่ะครับพากย์ เขาก็อุทานต่อเลยว่า เอาแล้ว มันมาล้างโรงกูอีกแล้ว” (หัวเราะ)

“แล้วก็ล้างจริงๆ เนื่องจากมันเป็นหนังจีนเก่าพอสมควร ความยาวประมาณ 4 ม้วนครึ่งถึง 5 ม้วน และด้วยความที่หนังมันผ่านกระบวนการฉายมาเยอะ หนังมันก็โดด จากบทที่เราเตรียมตัวมาอย่างดี นั่งอ่านตั้งแต่รถออกจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ไปจนถึงอำเภอไพศาลีได้ 7-8 เที่ยว จำได้ขึ้นใจว่าเนื้อหนังมันเป็นอย่างไร แต่พอตกกลางคืน ก่อนหนังจะฉาย วันนั้นมีคนกำลังรอชมประมาณร้อยคนได้ เพราะเก็บค่าดูคนละ 3 บาท ได้ 200 กว่าบาท เราก็ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ตั้งแต่ช่วงเพลงมาร์ชกองทัพบกขึ้นเลย เหงื่อแตกพลั่กๆ ทั้งที่หน้าหนาวแล้ว ก็นั่งอยู่กลางลาน เพราะห้องพากย์ไม่มี เครื่องฉายตั้ง เราก็นั่งพากย์อยู่ข้างเครื่องฉาย คนดูก็อยู่ข้างหน้าเรา เราก็นึกในใจ...เอาแล้วกู...ต้องผจญภัยข้างหน้า แล้วจะรอดไหมเนี่ย

“พอเริ่มฉาย เสียงก็สั่น มันก็มีตัวอย่างมาให้วอร์มก่อน ก็วอร์มเสียงไป ตั้งเสียงได้ทันพอดี หนังเริ่ม ก็พากย์ตรงหมด แต่พอหนังถึงหน้าที่ 6 ของบท หนังมันโดดปุ๊บ บทพากย์มี หนังไม่มี อ้าว...เฮ้ย เอาแล้ว ตายแล้ว หาไม่เจอ ก็อ่านมันฉลุยไปหมด ทีนี้บทจบ หนังยังไม่จบ หนังยังคาอยู่ คนดูก็เอาแล้ว โห่ไล่ แล้วก็ตะโกนขึ้นมา ‘มึงพากย์ไม่ได้ มึงก็เปิดซาวด์สิวะ’ เราก็นั่งสั่น เจ้าของโรงเขาก็เลยให้คนฉาย ตัดจากม้วนที่สองไปใส่ม้วนสุดท้าย ม้วนที่ 5 ตัดจบ”

“แม้ง...หนังก็ดีหรอก พากย์หมาไม่แดก”
“กระทืบนักพากย์ดีกว่าไหม เสียดายตังค์”
“คุณเป็นคนต่างถิ่น เจอคำพูดแบบนี้ทำไง ผมก็เกาะเจ้าของโรงตลอด เขาไปไหน ผมไปด้วย รอดคืนนั้นมา เขาก็จะมีใบแจ้งยอดรายได้แบ่งรายได้ พร้อมกับหมายเหตุมาว่า ทีหลัง อย่าส่งนักพากย์คนนี้มาอีกนะ”

นักพากย์รุ่นใหญ่เผยประสบการณ์ครั้งแรกที่ยังคงอยู่ในความทรงจำไม่มีวันลืมกระทั่งตอนนี้

“ก็โดนไปเยอะ ช่วงแรกๆ แต่เขาก็ยังส่งเราไปพากย์อยู่ดี เพราะโรงหนังต่างจังหวัดเมื่อก่อน โรงที่ไม่ค่อยได้ตังค์ นักพากย์ประจำเขาจะไม่ค่อยไป เพราะเขาไปแล้วเขารู้ว่าไม่ได้เงินแน่ เขาก็จะโยนให้เราไป เรามือใหม่ เราก็รับหมด ไปได้ฉายบ้างไม่ได้ฉายบ้าง ทีนี้ ด้วยความที่เราไปพากย์จากรูปแบบอย่างนี้ เราก็เลยไปพากย์หนังวันละเรื่องๆ หนังเรื่องใหม่ไม่ซ้ำเดิม มันก็เลยเหมือนเป็นการฝึกไปด้วยในตัว จากเมื่อก่อนที่กลัวๆ ก็ค่อยกลายเป็นไม่กลัว หนังอะไรมาก็พากย์ได้หมด แต่จะดีหรือไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่ง

“พอเริ่มไม่กลัว เราก็ขวนขวาย เพราะไม่มีใครแนะนำ เราต้องวิ่งหาเขาเอง อย่างบทพากย์ นักพากย์ระดับโปร เขาจะมีอักษรย่อ ส. น.ก่อนที่จะมีคำพูดที่นักพากย์เขาติกไว้ เราอยากรู้มันคืออะไรก็ไปถาม ส.หมายถึงเสียง เป็นคำย่อ คือหนังมันจะไม่มีหน้าตัวแสดง มันจะเป็นเสียงมาก่อนแล้วค่อยพากย์ อย่างเมื่อก่อน พากย์หนังยกซาวด์ ก็อย่างสมมุติวางแก้ว พอวางแก้ว เก๊ง! มีคำย่อว่า ส.พอเราพากย์ไป หนังดังเก๊ง เราก็ยกซาวด์ พากย์เลย

“ส่วน น.คือหน้า หมายถึงให้พูดเมื่อเห็นหน้าตัวแสดงอยู่ในจอ...เราก็เริ่มจากการถามมาอย่างนั้น เมื่อก่อนนักพากย์จะกลัวมากกับการสตาร์ทหนังหรือการเริ่มหนังใหม่ แต่เราไปทุกวัน ไปจนพอจะรู้หลักว่าอย่างไรก็พากย์ได้ ก็ตะลุยไปหมดแล้วตั้งแต่อยุธยาจนถึงเชียงราย เส้นทางลำบาก เส้นทางลูกรัง เจอมาหมดแล้ว ไปแบบลำบากลำบนเลย บางวันกินข้าวลิง (กล้วย) ประทังหิวก็มี เราก็ฝ่าฟันมา”

5 ปีผ่านไป ในการเรียนรู้...และพูดได้ว่าประสบความสำเร็จ สามารถลุกยืนในฐานะ “นักพากย์ท้องถิ่น” ได้สมใจ ตามความคิดแรกเริ่ม แต่กระนั้น เมื่อนวัตกรรมภาพยนตร์พัฒนาเพิ่มเติม เสียงพากย์หนังแบบเสียงในฟิล์มเกิดขึ้นมา หนังภูธรจึงเริ่มทยอยลดงานพากย์หนังสาย ด้วยเหตุนั้น ตำแหน่งหน้าที่นักพากย์ประจำโรงจึงเสมือนพื้นที่ท้าทายแห่งใหม่ของผู้ที่มีใจรักการพากย์เสียง

“พอเราโตขึ้น จากจุดที่อยากเป็นนักพากย์เดินสาย เราก็อยากจะขึ้นไปสัมผัสการพากย์ประจำโรง เพราะเมื่อก่อนมันจะมีประจำโรงด้วย เราก็เดินเข้าไปหาเขา เขาก็ลองให้เราพากย์ดู ถ้าใช้ได้เขาก็จะรับ ตอนนั้นก็ได้ขึ้นพากย์ประจำโรงภาพยนตร์ลพบุรี โรงภาพยนตร์แม่สอดรามา โรงภาพยนตร์ตาคลี ฯลฯ ก็อยู่กับการพากย์หนังมาเรื่อยๆ จนกระทั่งการพากย์หนังแบบเสียงในฟิล์มมีเยอะขึ้น เพื่อนก็เลยชวนเข้ามากรุงเทพฯ ก็มาแบบเดิมเลย ดุ่มๆ มา แต่ครั้งนี้ดีหน่อยที่เพื่อนเป็นคนรับงานมาได้ ก็เลยได้มาพากย์วิดีโอที่เป็นม้วน VSH คาสเซตต์ ได้ค่าตัว 200 บาท เป็นวิดีโอเล็กๆ พูดตามตรงก็วิดีโอผี วิดีโอไม่มีลิขสิทธิ์ (หัวเราะ) เป็นแบบหนังชนโรง เราก็ไปพากย์ ได้พากย์ 3-4 เรื่อง

“จากนั้น บังเอิญไปเจอรุ่นพี่ที่รู้จักเขานักพากย์รุ่นที่เคยไปเดินสายแถวจังหวัดนครสวรรค์ แต่ตอนนี้เขามาพากย์อยู่ในโรง นามพากย์ของเขาคือ 'เทพประสิทธิ์' ซึ่งดังมาก มีชื่อเสียงมากของโรงพหลโยธิน โรงวงเวียนใหญ่ เขาก็ชวนถามให้มาลองพากย์ ก็เลยได้ไปเรียนรู้อยู่กับเขา เขาก็ให้ไปอยู่ที่บ้าน ไปพากย์หนังแทนเขาบ้าง ไปช่วยเขา อะไรอย่างนี้ ทำให้ได้รู้จักกับทีมพากย์อินทรี เวลามีงาน เขาขาดคน เขาก็เรียกเราไป ก็จับพลัดจับผลูมาเรื่อย ประมาณช่วงปี 2533 ก็มารับพากย์การ์ตูนให้ช่อง 9 จากเพื่อนแนะนำตำแหน่งว่าง นอกจากนั้นก็ได้รับพากย์ซีรีย์ละครกำลังภายใน หนังใหญ่ ให้ช่อง 3 ด้วย แล้วก็ไปอยู่กับทีมอินทรีและพันธมิตรจนถึงทุกวันนี้”

นอกจากพากย์การ์ตูนให้ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ ปัจจุบันยังให้เสียงบรรยายความสำคัญของธงชาติและเพลงชาติไทย ก่อนเคารพธงชาติ 08.00 และ 18.00 น. อีกด้วย

กำเนิดตัวโจ๊ก “เด็กแนวนั่งขี้”
เรื่องกวนๆ ต้อง “น้าติ่ง” คนนี้เท่านั้น

“พูดจริงๆ ถึงจุดนี้ก็ยังไม่ได้มีความสามารถอะไรมากมายนะ เพราะว่าก็แค่พากย์ให้มันทัน ให้มันตรงกับเนื้อหนัง เราเข้ามาได้เพราะจังหวะ พอคนเก่าออก คนขาด เราเข้าไป ยังไม่ได้มีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จัก”

นักพากย์ชื่อดังเผยช่วงจังหวะชีวิตในระหว่างนั้นที่แม้จะมีผลงานการพากย์ออกสื่อบิ๊กเนมทั้งจอเงินและจอแก้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในตอนนั้น

“ก็ค่อยๆ สร้างตัวมาเรื่อยๆ ไม่ได้โดดข้ามขั้นแบบพากย์ทีสองทีแล้วดังเลย ก็มาตามสเต็ป ลำบากเหมือนเดิม อย่างตอนที่ขยับพากย์การ์ตูนให้ช่อง 9 เราก็พากย์คู่กับน้าต๋อย เซมเบ้ (นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์) คนก็ไม่ค่อยรู้จักเรามากนัก จะมารู้จักก็ช่วงหลังๆ ที่ได้พากย์เรื่อง “ดราก้อนบอล” ในยุคกลาง นั่นก็เหมือนกันช่วงเปลี่ยนผ่าน มีนักพากย์บางคนออก เราก็เลยได้เข้ามา แล้วก็ได้พากย์ ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ และอะไรมาเรื่อย ส่วนช่อง 3 ก็พากย์มาจนถึงเรื่อง “ไซอิ๋ว” ในบทตือโป๊ยก่าย ฉบับที่จางเหว่ยเจี้ยนแสดง

“แต่ส่วนตัวผมก็ไม่ซีเรียสกับเรื่องชื่อเสียงนะ ผมรู้สึกเฉยๆ เพราะอาชีพหลักของผมคือพากย์หนัง ผมก็พากย์ให้ที่ดีสุด ให้โดนด่าน้อยที่สุด ไม่ได้คาดหวังว่าจะดังหรือมีชื่อเสียง เรื่องแหกบท หรือเรื่องทำเสียงเล็กเสียงน้อย เราก็ทำกันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เพราะเราพากย์หนังสายมาก่อน พากย์คนเดียวตั้งแต่พระเอก นางเอก ตัวผู้หญิง ตัวผู้ชาย ยันตัวประกอบ โดยให้เสียงตามตัวแสดง บุคลิก ถ้ามันกวนโอ๊ยหน่อย ผมก็ให้เสียงแหลมไป ถ้ามันนิ่งก็พากย์แบบนนิ่งๆ มุกเราก็ใส่มาตลอด เพียงแต่ว่ายังไม่ค่อยมีใครจะฮา มันเพราะเหตุว่าถ้าเราไม่มีชื่อเสียง ก็ไม่มีใครฮ

“ทีนี้มีคนชอบก็ต้องมีคนเกลียด มีคนชื่นชมแต่คนด่าจะเยอะกว่าคนชอบ คนชอบจะเยอะกว่าคนด่า มันก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมก็มีโดนด่าเหมือนกันว่าพากย์หนังแหกบท พากย์ไม่ให้เกียรติผู้สร้างหรือผู้เขียน เดี๋ยวนี้ก็ยังมีโดนอยู่ แต่เพราะว่าทางเจ้าของหนังเขาซื้อหนังมา บางเจ้าหนังมันโหดเกินไป เขากลัวไม่ผ่านเซ็นเซอร์ เขาก็ให้เราพากย์ให้มันสนุกหน่อย อย่าไปให้มันโหดนัก

“นักพากย์พอพากย์แล้วก็อยากให้คนดูบันเทิง ผมมาคิดดูแล้ว คนมานั่งดูหนัง ก็ต้องมาหาความบันเทิงนะ จะมานั่งดูให้เครียดกันทำไมไม่รู้ ผมคิดของผมอย่างนี้ แต่ก็คงจะมีคนบางกลุ่มที่...โอ๊ย... ดูหนัง ต้องไปดูให้มันเครียด หนังแม่งเครียด กูต้องเครียดตาม เขาก็จะมีกลุ่มของเขากลุ่มหนึ่ง”

ไล่ตั้งแต่ไอ้ตาโตเท่าไข่ห่าน “คริส ทักเกอร์” จากเรื่อง Rush Hour แสดงร่วมกับพระเอกคิวบู๊ชื่อดังแห่งเอเชีย “เฉินหลง” หรือ “รัสเซล โครว์” จากเรื่อง Gladiator “วิน ดีเซล” จาก Fast and furious 1 และ “เหลียงเฉาเหว่ย” จาก สองคนสองคม (Infernal Affairs) เสียงของ "สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล" ก็ยังคงไม่ได้เข้าไปอยู่ในโสตสดับดวงใจคนดู กระทั่งเกิดกระแสเกาหลีฟีเวอร์

“รู้จักในชื่อทีมมากกว่านะ”
นักพากย์รุ่นใหญ่กล่าวถ่อมตน ก่อนจะให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยเนื้อหนังที่เข้ามาดีและประจวบเหมาะกับโอกาสที่ได้รับ ชื่อ "สุภาพ" จึงได้ระเบ็งเซ็งแซ่ สร้างเสียงหัวเราะในทุกครั้งที่ได้ยินยล

“ช่วงนั้น หนังเกาหลีกำลังมาใหม่ๆ แล้วตอนนั้นหนังมันดีๆ ทั้งนั้น ตลก มีมุกใหม่ๆ มา พวกตระกูล “สั่งเจ้าพ่อไปเรียนหนังสือ” จนกระทั่งมันทำให้หนังจีนตายไปเลย บ้านเราซื้อมาแล้วให้พวกเราพากย์ มันก็เลยติดหู มันไม่ใช่ว่าเราจะเก่งกาจมาจากไหนหรอก เหมือนกับว่าเราได้พากย์หนังดีๆ คนอื่นถ้าได้พากย์หนังดี ก็คงมีชื่อเหมือนกัน ฉะนั้นมันอยู่ที่หนังด้วย ที่ชื่อเราบูม มันขึ้นอยู่กับหนังด้วยส่วนหนึ่ง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือความสุขของเราที่ได้เห็นคนดูหัวเราะ เรารู้สึกว่าเราอยากใส่ให้ตรงนี้ คนดูจะได้ขำ อย่างเรื่อง “คนเล็กหมัดเทวดา” ถ้าพูดถึง “เด็กแนว” รู้เลยว่าจะต้องเป็นประโยคเด็กแนวนั่งขี้ ถ้ากล้องแพนๆ ไปเห็นเด็กนั่งย่องๆ อยู่ คนดูก็ขำ

“อันนั้นคือช่วยกันคิดขึ้นแล้วให้อีกคนพากย์ เราจะใส่มุกกันอย่างนี้เหมือนกับว่าเราพูดให้คนดูฟังว่าตรงนี้มันมีอย่างนี้อยู่นะ ซึ่งในหนังมันก็มี เหมือนกับไปบอกให้คนดูรู้ เขาก็รู้สึก หรืออย่างประโยค “ฟิวเจอร์คัทตัดอนาคต” ไปตัดผมทรงทันสมัย ตอนนั้นมันก็ช่วยกันคิดคำออกมาใส่กันไป ซึ่งมันก็ได้ผล ก็เกาะตามเนื้อหนังแล้วก็สถานการณ์ ณ ตอนนั้น เขากำลังฮิตอะไร เราก็ใส่สถานการณ์ปัจจุบันลงไปด้วย ซึ่งเอาไปให้มันคล่องจองกับในหนัง

“แต่เราจะใส่ในจังหวะที่มีโอกาสเราใส่ได้ เราก็ใส่ แต่เราพยายามจะเลี่ยงการยัดเยียดมุก เช่นหนังมันไม่ขำ แต่อยากจะใส่ๆ เหมือนกับยัดเยียด คนดูไม่รับ ก็เหมือนกับที่เขาบอกว่าเป็นมุกแป๊ก แต่คนบางกลุ่มเขาชอบ แต่บางกลุ่มเขาก็ไม่ชอบ มันก็พูดยาก การทำงานให้คนทั้งประเทศดู ทั้งที่จริงๆ เราพากย์ตามสคริปต์หรือบทที่มีให้ ง่ายกว่า สบายกว่าด้วย การพากย์ตลกต้องคิด คือจะมาทำให้คุณขำ ใส่แล้วจะขำไหม มานั่งพากย์กันนั่งซ้อมหนังกัน 4-5 คน แต่ก็อย่างที่บอกไป เพราะนักพากย์ก็อยากให้คนดูมีความสุข และถ้าผู้สร้างต้องการให้ลดทอนความรุนแรง ให้เราเล่นหน่อย เราก็ต้องทำตาม ขืนไม่เล่น เขาก็ไม่จ้างเรา (หัวเราะ)

จากการงาน มันก็บวกรวมจนติดเป็นนิสัย เราชอบพูดเล่นตลอด เวลาผมพูดเล่นกับเพื่อน ผมค่อนข้างกวนๆ ใส่ บางทียังติดไปกวนกับคนอื่นเลย บางทีโดนตำรวจจราจรตรวจ ผมก็ยังกวนใส่เขา เขาก็บอก “เฮ๊ย...คุณกวนผมเหรอ” ผมก็ต้องบอกว่าพูดเล่น คือมันติดไป เราจะพูดเล่น แต่เขาฟังแล้วไปกวนเท้าเขา แต่ก็ยังไม่เคยมีปัญหา พอจะมีปัญหา เราก็ยิ้มใส่เขา (หัวเราะ) ตัวกวนๆ ส่วนใหญ่ก็เลยจะเป็นเรา เสียงแหลมๆ ฟังชวนหมั่นไส้ หลังๆ เราก็เลยต้องอ่านให้เยอะขึ้น สถานการณ์อะไร อย่างถอยรถชน ก็เอาสถานการณ์รอบด้านที่ไม่ใช่ความเดือดร้อน ที่ไม่ใช่ความขายหน้าของเขา ที่มันทำแล้วคนไม่เดือดร้อนเอามาเล่น”





นั่นจึงทำให้เสียงอันเป็นเอกลักษณ์นี้ กลายเป็นเสมือนโลโก้ประจำตัว แทบทุกตัวละครที่หากจะยียวนกวนบาทา เป็นที่ถูกอกถูกใจคนไทยบ้านเราแล้ว ต้องให้เสียงโดยเขาคนนี้เท่านั้น เช่นเดียวกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Deadpool ที่สร้างปรากฏการณ์กระฉ่อนด้านความเกรียน

“ในหนังเรื่องนี้ คำว่า Fuck เขามีประมาณ 150-160 คำ ตัวเอกจะพูดอะไรก็ต้องมีออกมาตลอด Fuck Fuck Fuck ถ้าผมจะพากย์แบบจัดเต็มเลยตามนิสัยตัวแสดง มันต้องใช่คำว่า “มึง” คำว่า “กู” เพราะมันกวนโอ๊ยมาก แต่ทีนี้ ไดเรคเตอร์บอกว่าหนังฮีโร่ส่วนมากจะเป็นเด็กดู ถ้าจัดเต็มไปอย่างนั้น มันก็เกินไป แม้ว่าหนังจะจัดเรทแล้ว แต่มันก็ต้องมีเด็กไปดู เราก็เลยต้องฉีกออกมาอย่างนั้น อย่างที่บอกว่าถ้าหนังรุนแรงเลย ต้องลดทอนความรุนแรงเป็นตลก ฮาๆ ไป

“แต่ถ้าถามว่ามันเพราะเราเหรอที่ทำให้หนังบูม ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ใช่หรอก เพียงแต่ว่าคนดูอาจจะคาดหวังว่าผมพากย์หนังกวนโอ๊ย พากย์ตัวกวนเยอะ อาจจะช่วยให้หนังเรื่องนี้ดีขึ้น แต่คนผิดหวังก็มี เพราะเขาไปมองว่าผมจะต้องใส่คำแรงแน่นอน มันแรงไมได้ อย่างตอนอยู่กับยายป้าตาบอด พระเอกให้ป้าขยับไปหน่อย เราก็พากย์ว่า “ตอนนี้ผมแข็งแรง ผมไม่อยากทำบาป” (หัวเราะ) เราก็ใส่แค่นั้น

“ผมเลยไม่ได้คิดว่าผมยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ไม่ใช่ แต่โอเค ผมทำงานแล้วมีคนได้ยินเสียงผม รู้ว่าเสียงนี้ อันนี้ผมดีใจว่าเสียงเรามีคนฟังมีรู้จัก พอฟังแล้ว โอ๊ย...หัวเราะ ชอบใจ มีความสุข ผมก็รู้สึกปลื้ม ไม่รู้จักชื่อก็ไม่เป็นไร แค่เสียงของผมไปคุ้นเคยกับคุณ ทำให้คุณนึกย้อนถึงรอยยิ้มตอนนั้น เคยหัวเราะเพราะเสียงผม ผมดีใจแล้ว แค่นี้ผมก็ภูมิใจแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าชื่อนาย สุภาพ หรือ ติ่ง คนนี้เป็นนักพากย์ที่โด่งดัง

“ผมรู้สึกเฉยๆ จริงนะ”
นักพากย์รุ่นใหญ่กล่าวด้วยเสียงหล่อเหมือนกับเสียง “เหลียงเฉาเว่ย” ที่เคยพากย์ให้ในเรื่อง “สองคนสองคม” หรือ Infernal Affair

“ส่วนตัวผมรู้สึกว่าถ้าดังแล้วมันกดดัน คือเขาชอบเรา แล้วถ้าเกิดอยากจะมาดูเรา ก็ต้องคาดหวังกับตัวเรา พอเราทำไปไม่สมใจเขา มันเหมือนเราทำให้เขาผิดหวัง ผมจึงไม่ชอบตรงนี้ เพราะการพากย์มันไม่เหมือนกับศิลปินเพลง ซึ่งพอเพลงเขาดัง เขาเป็นตำนานเลย เมื่อไหร่มาฟังก็เพราะ แต่การพากย์หนัง ถ้าคุณไปหยิบงานเก่ามาดู โอเค มันยังสนุกอยู่ แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป พอยุคนี้เราเอาหนังยุคนั้นมาดู คุณอาจจะไม่ขำแล้วก็ได้ ถูกไหม

“ผมเลยคิดว่าคำว่าตำนานในความรู้สึกผม มันจึงสูงเกินไป เลยไมได้คาดหวัง แค่เสียงเราสร้างความสุขในยุคๆ หนึ่ง ช่วงๆ หนึ่ง ให้ใครได้ ตรงนั้นผมรู้สึกปลื้มใจ อย่างน้อย เสียงผมก็ทำให้คนดูหัวเราะได้”

โลกหลากสีที่ซ้อนทับ
ของสุภาพนักพากย์

หลังลัดเลาะชีวิตและเส้นทางการก้าวขึ้นเป็นยอดนักพากย์ให้เสียงอันตราตรึงใจแก่คนดูทั่วไทยกว่าทั้งประเทศจากผลงานชนิดนับชนิดไม่ถ้วน อีกบทบาทหนึ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับชายผู้นี้ คือด้าน "บทบาทแสดง" ที่เราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์อย่างเดียวกับการเป็นนักพากย์

“อาจจะเป็นเพราะผมเป็นนักพากย์ เขามาชวนผมไปเล่น คือเรื่องแรกก็หนังคุณยอร์ช (ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์) เพราะในเนื้อหาของเขา เขาอยากจะได้คนที่ใช้เสียงเป็น ไปอ่านเป็นโฆษกวิทยุ ซึ่งบังเอิญเรื่องนั้นน้าเกรียง (เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง) เขาเล่นด้วย คุณยอร์ชก็เลยบอกวานให้อาเกรียงช่วยหาคนที่ใช้เสียงเก่งๆ ให้ เขาก็มาถามเราว่าสนใจไหม เราว่างพอดีก็เลยไปเล่นรับบทเป็นตัวเองชื่อ “ติ่ง” จากนั้นก็เล่นมาอีก 2-3 เรื่อง “ส.ค.ส.สวีทตี้” รับบทเพื่อนพ่อตั๊ด เรื่อง “วาเลนไทน์ สวีทตี้” รับบทเพื่อนพ่อตั๊ด และเรื่อง “คุณนายโฮ” รับบท ผอ.โรงเรียนโฮตอนโต

“จากนั้นก็ไปเล่นซิทคอมเรื่อง “เณรจ๋า” กับน้าเกรียงและน้าเล็ก (เล็ก ดอกคำใต้) ก็ไปกัน 3 คน แล้วก็มีละครเรื่อง “เงา” รับบทเป็นหมอพี่รับเชิญหื่นๆ หน่อย อยู่ 2 ฉาก”

นักพากย์รุ่นใหญ่เผย ก่อนจะเล่าถึงความรู้สึกที่ได้สัมผัสงานใหม่อีกด้านของชีวิตทั้งชีวิต

“ผมว่าลำบากกว่าการพากย์หนังเยอะเลย (หัวเราะ) คือถ้าเสียงผม เรื่องเสียงผมมันผ่านอยู่แล้ว แค่พูดธรรมดาของเรา บอกว่าให้ใส่อารมณ์ เราก็สามารถทำได้ แต่เรื่องแอคติ้ง บางทีไปพะวงมาก ก็เผลอลืมสคริปต์ก็มี คือถ้าเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างเล่นหนังกับพากย์หนัง ผมเลือกพากย์ดีกว่า เพราะพากย์หนังสบายกว่าเยอะ นั่งอยู่ในห้องแอร์ ไม่ต้องไปเก๊กหน้า ไม่ต้องไปท่องบท สคริปต์อยู่ตรงหน้าแล้วนึกอะไรได้ก็ติ๊กไว้ เล่นไปเลย

“แต่ถ้าเป็นการแสดงเราเล่นสดๆ ก็ต้องอยู่ที่คนรับกับเราด้วย เพราะมันไม่ใช่ว่าเราเล่นคนเดียวทั้งหมด ถ้าเกิดว่าโป๊ะแล้วรับได้ก็ดีไป อย่างน้าเกรียงที่เขาทำได้ เขาเล่นเยอะมาก ระดับเข้าชิงตุ๊กตาทองแล้ว แต่เราบางทีอาจจะนึกอะไรออกกลางคัน เขารอฟังคำสุดท้ายเรา แล้วเขาจะได้ต่อเรา ทีนี้เราไม่ลงคำสุดท้ายสักที เขาก็ต่อเราไม่ได้ ต้องเทคใหม่ เสียเวลาเขา แล้วพอหลายๆ เทคเข้า เขาก็จะรู้สึกว่าเล่นกับเราเสียเวลา แต่ถามว่าส่วนตัวอยากเล่นไหม อยากเล่น แต่ก็ต้องดูแรงจูงใจด้วย มันไม่ใช่ว่าอยากเล่นหนังอะไรอย่างนี้ หนังมันไม่ได้ง่าย

“ด้วยความที่เราเป็นคนทำงานแล้วทำจริงจัง เราผ่านการเติบโตมาด้วยตัวเองกว่าจะถึงวันนี้ ชีวิตจริงๆ นิสัยไม่เหมือนกับตัวละครที่พากย์ ชีวิตจริงๆ ผมเครียดนะ เป็นคนค่อนข้างจริงจัง คือถ้างานมันไม่ได้ตามเวลา ผมจะกังวล เพราะไม่อยากให้มีปัญหากับงาน อย่างเด็กๆ ที่ทำงานกับผมก็ค่อนข้างที่จะเกร็ง เนื่องจากว่าพอไม่ได้ตามเป้า ไม่เป็นไปตามเวลา ผมจะหงุดหงิดแล้ว เครียด ก็จะดุให้ตั้งใจกันหน่อย ยกตัวอย่างงานพากย์ บทก่อนจะถึงตัวเอง เราต้องอ่านรอ แล้วเตรียมเดาเลยว่าสถานการณ์ข้างหน้ามันจะคืออะไร บทเขามีให้อ่าน บางคนไม่อ่าน นั่งแชต นั่งเล่นโทรศัพท์ พอถึง รับไม่ได้ส่งไม่ทัน ขอโทษครับ/ค่ะ ก็เทคแล้วถอยย้อนกลับไปและไม่ใช่แค่ประโยคนั้นได้เลย มันมีติดพัน มันก็ต้องไปประโยคอื่น ทีนี้ คนตั้งใจทำงานมันก็เสียความรู้สึก

“แต่เดี๋ยวนี้เราก็เป็นบ้างนะ เผลอไปเล่น ก็เลยไม่กล้าจะว่าเด็กเท่าไหร่”
นักพากย์รุ่นใหญ่กล่าวเล่าอย่างอารมณ์ดี เพราะแม้จะซีเรียสกับการงาน แต่ด้วยประสบการณ์และมองเห็นเด็กๆ เหล่านั้นไม่ต่างอะไรจากตัวเองในอดีตที่เริ่มต้นด้วยใจรัก ก่อนจะปีนป่ายเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาตามไหล่ทางจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

“ด้วยความที่เราเติบโตมา ขวนขวายมาเอง มันก็ซึมซับ เลยดูจริงจัง ไม่ชิลๆ ไม่เหมือน 'คริส ทักเกอร์' (ยิ้ม) ผมจะนิ่งๆ เหมือนวิน ดีเซล มากกว่า แต่ไม่ได้เลียนแบบเขานะ ผมเป็นมาก่อนเขา อย่างอยู่บ้าน ผมก็จะไม่ค่อยพูดอะไร จะนิ่งๆ คนแถวบ้านจะมองว่าผมดุหมด ถ้าถามลูกผม เขาก็จะบอกว่าผมดุมาก ผมจะไม่ค่อยเล่นไม่ค่อยอะไรเลย เพราะเรากลัวว่าถ้าเล่นมากๆ เหมือนกับว่าเขาจะออกนอกลู่นอกทาง เราอยากให้เขามีระเบียบ ให้เขาจริงจัง เพราะเราก็ไม่ได้อยู่กับเขาทั้งชีวิต เกิดไปเล่นกับเขามากๆ เขาเหลาะแหละขึ้นมา ยามไม่มีผม เขาจะทำอะไรไม่เป็น ไอ้เรามันเจ็บมาเยอะไง ต้องไปผจญภัยด้วยตัวเอง เลยจะพูดเล่นบ้าง แต่ไม่บ่อยหรือเฉพาะกับคนที่สนิทๆ กัน

“อีกส่วนหนึ่งก็คือบทเรียนจากหนัง เพราะหนังเอาชีวิตจริงมาทำ เอาจินตนาการมาทำ ซึ่งมันก็ไม่ได้ห่างจากชีวิตจริงเลย มันก็เหมือนกับเป็นการสอนเราไปในตัว อย่างต่างประเทศ ผมไม่ต้องไป ผมรู้จักจากในหนังนี้ทั้งนั้นเลย รู้ว่าอนาคตข้างหน้า การใช้ชีวิต ถ้าเกิดคุณไม่ระมัดระวังชีวิตคุณ บั้นปลายมันจะต้องเป็นอย่างไร คุณไปจริงจังกับชีวิตเกินไป คุณไปตั้งเป้าหมายไว้สูง เมื่อคุณไม่ได้ดังหวัง คุณอาจจะต้องเป็นโน่นเป็นนี่ หนังสอนหมด หนังให้อะไรผมหลายอย่าง ให้ที่อยู่ที่กิน ให้บ้าน ให้วิชาความรู้ผม ผมมีบ้าน ส่งลูกเรียนจบปริญญาโทได้ก็มาจากหนังทั้งนั้น เพราะฉะนั้นหนังให้คุณกับผมมหาศาล

“เราเลยค่อนข้างจริงจัง คือถ้าถามว่าอะไรที่ทำเรายืดหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะหนึ่งใจรัก รักการพากย์หนัง รักหนัง ชอบหนัง ตอนเด็กๆ ชอบดูหนังมาก ไม่ต้องว่าเรื่องอะไร คือถ้าเป็นหนังดูได้หมด ตั้งแต่ของชอว์บาราเดอร์ส เรื่องเดชไอ้ด้วน อะไรพวกนี้ เดวิด เจียง ตี้หลุง ติดงอมแงม ดูทุกวัน ขอให้เป็นหนัง ดูได้หมด ดีไม่ดี สนุกไม่สนุก ใครดูแล้วหลับ ผมหนังดูมันจนจบ ก็ด้วยใจรัก มาด้วยใจรักจริงๆ ถ้าใจไม่รัก ลำบากขนาดนั้น คงไม่ทนมาถึงวันนี้

“สอง ประสบการณ์และความจริงจัง งานทุกอย่าง ถ้าคุณรักมันจริง จริงๆ ผมก็ไม่ได้เก่งกาจมาจากไหน ผมก็มีผิดพลาด มีโดนด่า มีโดนยำมา คนดูจะกระทืบ ยังไม่ลืมจนทุกวันนี้ แต่เรารักมัน คือค่าตัวหลักสิบเกือบร้อยบาทสมัยก่อนตอนข้าวแกงจานละ 5 บาท ยืนพื้นเลยได้ค่าตัว 30-50 บาท ค่าตัวไม่เคยเหลือ ค่าดูหนังเมื่อก่อน 5-10 บาท พรุ่งนี้ยังไม่มีข้าวกิน ผมยอมเอาเงินไปซื้อตั๋วหนัง เพราะใจมันรักมันชอบ ทุกคนไต่เต้ามาหมดเลย แล้วก็ต้องมีความอดทนต้องสูง คือพวกระดับเดียวกับเรา คุณโต๊ะพันธมิตร (ปริภัณฑ์ วัชรานนท์) น้าเกรียง มาแบบพื้นฐานเดียวกันเลย ลำบากเหมือนกันเลย ถ้าไม่ใจรักจริง ไม่มีทางมายืนอยู่ตรงนี้ได้

“เสียงก็ยังไม่จำเป็นเท่าให้คุณมีใจรักก่อน ประสบการณ์จะตกแต่งคุณเองไปในตัว ผมย้อนไปฟังเทปแรกที่อัด บอกตรงๆ เลวร้ายมาก (หัวเราะ) แต่ยิ่งเราทำ เรายิ่งรู้ ความผิดพลาดก็จะแก้ไขได้ เราหายใจไม่ทัน หายใจไม่ถูกจังหวะ ก็ต้องหายใจดักรอก่อน มันจะสอนเราหมด ซึ่งเราก็ต้องสนใจด้วย เราต้องคิดจะพัฒนาด้วย ไม่ใช่บทมาก็อ่านไป อ่านจบก็หมด คุณอย่าหวังเลยว่าคุณจะมาอยู่จนถึงจุดนี้ หรือว่าในทุกอาชีพก็เหมือนกัน ถ้ามีใจรัก เราจะอยากนำเสนองานเหมือนเราพากย์หนัง ผมมีมุก ผมอยากจะนำเสนอ ผมเสนอไปแล้วคุณชอบอย่างนี้ คนเขาก็จะอยากให้เขามาพากย์ๆ อีก เอาคนนี้ๆ แบบนี้ (ทำเสียงเล็กแหลมกวน) คุณถามตัวเองว่าคุณรักที่จะพากย์หนังหรือเปล่า คุณมีความอดทนแค่ไหน ถ้าคุณรักจริง มันจะพาคุณไปเอง ความรักของคุณจะพาคุณไป ถ้าคุณรัก คุณอดทน บวกด้วยมุ่งมั่นกับมัน คุณจะมาถึง มันจะตอบแทนคุณแน่นอน

“ส่วนผมก็จะทำไปเรื่อยๆ ครับ ปีนี้อายุ 55 เริ่มตั้งแต่อายุ 16 ก็เกือบทั้งชีวิต พูดได้เลยว่าทั้งชีวิตผมอยู่กับหนัง ไม่เคยทำอะไรเลย ให้ผมไปทำอะไร ผมก็ทำไม่เป็นแล้ว จริงๆ แล้วชีวิตไม่เคยทำการค้า ไม่เคยลงทุน การลงทุนของผมคือไปแต่ตัวและความตั้งใจ ฉะนั้นก็จะพากย์จนกว่าจะพากย์ไม่ไหวหรือไม่มีใครจ้าง จนว่าเด็กๆ เขาจะนำหน้าเราไปแล้ว

“บางคนบอกว่าพอได้ยินเสียงก็นึกถึงหนังแล้วทำให้นึกถึงจดจำช่วงเวลาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันได้ เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของเขา ผมก็ขอขอบคุณที่เสียงของผมเป็นจุดหนึ่งในชีวิตที่สร้างความทรงจำทั้งเสียงหัวเราะและร้อยยิ้มให้กับเขา”

นักพากย์รุ่นใหญ่กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียง "เวด วิลสัน" ฮีโร่รั่วมหาประลัย Deadpool










เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : วชิร สายจำปา

กำลังโหลดความคิดเห็น