xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตที่เลือกเอง “คู่รัก ป.โท” สร้างสุขจากอาชีพ ‘ปลูกผักสลัดอินทรีย์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“อภิชาต ศุภจรรยารักษ์” (เน) และ “ศิริพรรณ คำแน่น” (ฝน)
เรียนจบวิศวะ ทำไมเลือกไปปลูกผัก? ทำแล้วจะรอดหรือเปล่า? ปลูกผักอินทรีย์ยากนะจะไหวหรือ? ฯลฯ เหล่านี้เป็นคำถามที่สามีภรรยา อย่าง “อภิชาต ศุภจรรยารักษ์” (เน) และ “ศิริพรรณ คำแน่น” (ฝน) มักได้ยินเสมอๆ จากคนใกล้ชิดที่ทั้งห่วงใย และสงสัยว่า ทำไมทั้งสองที่ต่างจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิศวะ แต่กลับเลือกอาชีพเกษตรกร ปลูกผักสลัดอินทรีย์
แปลงปลูกผัดสลัดอินทรีย์ อยู่ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
อภิชาตเล่าว่า หลังเรียนจบปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในวัย 30 ปีต้นๆ ตัดสินใจจะไม่ทำงานบริษัทใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลอยากจะทำธุรกิจเกษตรของตัวเอง ขณะที่ ฝน อายุ 29 ปี จบ ป.โท สาขาเดียวกัน เริ่มต้นทำงานประจำเป็นวิศวกรอยู่กว่า 2 ปี ก่อนตัดสินใจลาออกมาล่าฝัน ร่วมเป็นเกษตรกรกับสามี

“ผมฝันอยากทำอาชีพอิสระ เป็นนายตัวเอง สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ และด้วยความที่ชอบการทำเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยมองว่าอาชีพการทำเกษตรเหมาะกับตัวเองมากที่สุด เพราะสามารถควบคุมการผลิตเองได้ทั้งระบบ ตั้งแต่วางแผนกระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว การตลาด ซึ่งนอกจากเป็นอาชีพอิสระ มองว่ายังสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย เพราะได้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้ผู้บริโภคด้วย” เนเล่าจุดเริ่มต้นเส้นทางแห่งความฝันให้ฟัง

เมื่อตัดสินใจเลือกแล้วว่าจะเดินบนเส้นทางนี้ ก็เริ่มต้นด้วยการปลูกหญ้า “เนเปียร์” ขายสำหรับผู้เลี้ยงโคนม ควบคู่กับการขายถุงพลาสติกบรรจุหญ้า เพราะพื้นที่อยู่ใกล้กับโครงการพระราชดำริ ขณะเดียวกันก็เลี้ยงไส้เดือนเพื่อขายมูลไส้เดือนเพื่อนำไปทำปุ๋ย

นอกจากนั้น ยังปลูกผักสวนครัวอินทรีย์ ทำผักสลัดแปลงเล็กๆ ไว้กินเอง เหลือก็นำไปขายร้านโชวห่วยหน้าปากซอย กระทั่งวันหนึ่งมีเจ้าของร้านสเต๊กมาซื้อหญ้าที่บ้าน เห็นว่าบ้านเรามีผักสลัด จึงมาขอซื้อเอาไปบริการลูกค้าในร้าน และบอกให้เราปลูก จะรับซื้อราคาเดียวกับห้างสรรพสินค้า เลยเริ่มลงทุนปลูกผักสลัดอินทรีย์อย่างจริงจังบนเนื้อที่กว่า 1 งาน (100 ตารางวา)

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผักสลัดกำลังจะเติบโต ร้านสลัดที่บอกว่าจะรับซื้อก็ไม่สามารถเปิดตัวได้ตามวันเวลาที่กำหนด

“ช่วงนั้นการเงินเริ่มร่อยหรอจากการลงทุนเรื่อยๆ และผลตอบแทนที่ได้ไม่มากพอสำหรับอนาคต สารภาพว่ากลัวไปจะไม่รอด จึงบอกกับฝนว่า ถ้าไม่มั่นใจก็กลับไปทำงานเหมือนเดิม แต่ฝนเองก็ยังไม่ถอดใจ และบอกผมว่า ถ้าถึงจุดหนึ่งที่ไปไม่ไหวจริงๆ ก็จะยอมถอยกลับไปทำงานกินเงินเดือน” เนเล่าช่วงวิกฤตชีวิต

ถึงแม้จะมีคำถาม และคำเตือนผ่านเข้าหูให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง เช่น “อุตส่าห์เรียนจนจบวิศวะ แต่กลับมาปลูกผักจะดีหรือ?” ทว่าคู่รักไม่ยอมท้อ กลับมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็น

และด้วยการแสวงหาโอกาส ทำให้ทั้งคู่พบกับ “สมประสงค์ นาคดี” หัวหน้ากลุ่มชุมชนป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทำเกษตรระบบอินทรีย์เช่นเดียวกัน จึงได้ชวนเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ช่วยกันผลิตพืชผักอินทรีย์ส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง และบริษัทต่างๆ

แต่หลังจากค้าขายกันมาได้ระยะหนึ่งก็ประสบปัญหาเจอกดราคาต่ำอีก ทำให้สมาชิกในกลุ่มหลายคนรู้สึกท้อ บางคนถึงขั้นอยากเลิกทำอาชีพเกษตรกรไปเลย

“อรุษ นวราช” ผู้บริหารสามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการ “สามพรานโมเดล”
กระทั่งทางกลุ่มมีโอกาสได้รู้จัก “อรุษ นวราช” ผู้บริหารสามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการ “สามพรานโมเดล” ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรระบบอินทรีย์ พร้อมแนะนำช่องทางด้านการตลาด และให้ความรู้ ทำให้กลุ่มชุมชนป่าละอูได้เข้ามาเป็นเครือข่ายของโครงการ สามพรานโมเดล มีช่องทางตลาดได้ขายผลผลิตตรงถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งผู้ปลูกสามารถกำหนดราคาขายได้เอง ทุกอย่างเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

เนถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟังหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการสามพรานโมเดลว่า ทำให้เห็นอนาคต เพราะมีช่องทางการตลาด และสามารถกำหนดราคาขายได้เอง อีกทั้งรับซื้อแบบประกันราคาตลอดทั้งปี นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจแปลงทุกเดือน ให้ความรู้เรื่องระบบการผลิตให้สินค้าได้คุณภาพตามมาตรฐาน ขณะเดียวกันยังหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้อีกด้วย

ปัจจุบันบนเนื้อที่จำนวน 1 งานเขียวขจีไปด้วยพืชผักชนิดต่างๆ โดยเฉพาะผักสลัดชนิดต่างๆ ช่องทางตลาด นอกจากส่งเข้าห้องครัวของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ แล้ว ส่วนหนึ่งบรรจุเป็นชุดผักสลัดอินทรีย์ แบรนด์ “เนน่า” นำมาจำหน่ายตลาดสุขใจวันเสาร์-อาทิตย์ และทางโครงการกำลังขยายช่องทางการตลาดสู่ระบบซื้อขายบนสื่อออนไลน์ ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้

ส่วนกำลังการผลิต อยู่ที่ 30-40 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่หลักหมื่นบาท แม้ตัวเลขอาจจะน้อยกว่าถ้าเลือกทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่รายจ่ายก็ไม่มาก ยิ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รับ พวกเขาบอกว่าคุ้มมากที่ตัดสินใจมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะผลิตให้ได้ 100 กก.ต่อสัปดาห์ และในอนาคตตั้งใจไว้ว่าจะเน้นด้านผักสลัดแทนการปลูกผักชนิดอื่น ทั้ง แรดิช หัวไชเท้าฝรั่ง สวิตชาร์ด ซึ่งเป็นพืชที่ดีมีคุณประโยชน์อันดับหนึ่งของโลก

เนบอกว่า การปลูกผักอินทรีย์ไม่ยากอย่างที่คิด แต่ด้วยซื่อสัตย์ อดทน ขยันลงรายละเอียดเกี่ยวกับผักที่เราปลูก คือหัวใจในการปลูกผักอินทรีย์ ต้องให้เวลาในการดูแลใกล้ชิด ทุกวันจะต้องลงแปลง ถอนหญ้า สังเกตแมลง ดูความเป็นไปของผัก ว่าวันนี้เป็นอะไร และจะต้องแก้ไขอย่างไร ที่สำคัญใจต้องเย็นมากๆ เพราะเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ใส่ปุ๋ยวันนี้แล้วพรุ่งนี้เห็นผล อาจต้องใช้เวลานานนับเดือน นับปีด้วยซ้ำไป เพื่อฟื้นสภาพการเป็นอินทรีย์ให้กลับคืนมา

ถ้าในเรื่องรายได้แล้ว หากทั้งสองเลือกทำงานประจำเป็นวิศวกรคงจะได้สูงกว่าในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การมีชีวิตอิสระ ทำในสิ่งที่รัก และพบความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัวท่ามกลางอ้อมกอดธรรมชาติ นี่ก็เป็นผลตอบแทนที่เงินก็คงซื้อไม่ได้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น