xs
xsm
sm
md
lg

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในสนามแข่งโมนาโคกรังด์ปรีซ์ ไตรรงค์สะบัดพลิ้วในฐานะผู้เข้าเส้นชัยอันดับ ๑ ครองแชมป์ดาราทอง ๓ ปีซ้อน!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ชัยชนะของนักแข่งหน้าใหม่ในสนามแข่งรถยุโรป
เมื่อราว ๘๐ ปีก่อน ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นที่สนามแข่งรถโมนาโคในยุโรป เมื่อหนุ่มน้อยหน้ามลวัยเพียง ๒๑ ปี จากเอเชีย ในนาม B.BIRA ได้หาญกล้านำรถแข่งธรรมดาๆลงแข่งขัน และสามารถเบียดเข้าเส้นชัยได้เป็นอันดับ ๑ แซงรถชั้นดีที่บริษัทรถแข่งทำขึ้นมาแข่งโดยเฉพาะ ทั้งไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค เพราะยังเข้าอันดับ ๑ ต่อมาอีกหลายครั้ง ครองตำแหน่ง “เจ้าดาราทอง” ๓ ปีซ้อน กลายเป็นขวัญใจของผู้ชื่นชอบกีฬานี้ทั่วยุโรป รวมทั้งเป็นขวัญใจคนไทย ทำให้สีฟ้าซึ่งเป็นสีผ้าผูกพระศอที่สะบัดอยู่ในสนามแข่ง เป็นสียอดนิยมของคนไทยไปด้วย เรียกกันว่า “สีพีระ”

B.BIRA หรือ พ.พีระ เป็นพระนามของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงษ์ภาณุเดช โอรสของจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระอนุชาของ ร.๕ ประสูติแต่ หม่อมเล็ก เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๕๗ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แล้วไปศึกษาต่อที่อังกฤษเมื่อเดือนเมษายน ๒๔๗๐ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ โอรสของจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงรับอุปการะเป็นเสมือนพระอนุชา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

พระองค์พีระทรงชอบขับรถยนต์มาตั้งแต่เด็ก และยังชอบการแข่งรถเป็นชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับพระองค์จุล เมื่อมีโอกาสจะต้องชวนกันไปดูการแข่งรถทุกครั้งทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศสไม่เคยพลาด โดยเฉพาะพระองค์พีระทรงใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักแข่งที่มีชื่อเสียงของยุโรป ซึ่งพระองค์จุลก็รู้พระทัยในเรื่องนี้ จึงซื้อรถให้คันหนึ่ง เพื่อให้พระองค์พีระไว้ขับเล่น

ในเดือนมีนาคม ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นต้นฤดูการแข่งรถของ ค.ศ.๑๙๓๔ พระองค์พีระพระชนมายุ ๒๐ พรรษาแล้ว ด้วยความอยากจะเป็นนักแข่งรถเต็มที่ จึงไปสมัครลงแข่งด้วย โดยใช้รถเล็กๆธรรมดาๆที่พระองค์จุลซื้อให้ เป็นรถลงสนามแข่ง พระองค์จุลเห็นว่ามีความมุ่งมั่นก็สนับสนุนให้ลองดู เพื่อจะหาประสบการณ์ และทรงรับเป็นผู้จัดการให้

“B.BIRA” เป็นชื่อใหม่ที่ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน ยิ่งเมื่อรู้ว่าเป็นคนเอเชียด้วยแล้ว ก็ไม่มีใครในสนามให้ความสนใจเลย และเมื่อเห็นรถที่นำมาแข่ง ก็หัวเราะกันเห็นเป็นเรื่องตลก เพราะไม่ใช่รถสำหรับแข่ง กำลังรถเทียบกับรถคู่แข่งซึ่งเป็นรถแข่งโดยเฉพาะไม่ได้เลย

ผลของการแข่งขันครั้งนี้ไม่มีปาฏิหาริย์ เป็นไปตามคาด แต่อันดับที่เข้าเส้นชัยกลับไม่ใช่บ๊วย ทำให้คนดูพากันแปลกใจ เรียกว่าแพ้แต่ชนะใจคนดู รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ของยุโรปหลายฉบับก็เขียนถึงหนุ่มน้อยหน้าใหม่ ที่อาจหาญนำรถที่ไม่ใช่รถแข่งลงมาเบียดกับนักแข่งชั้นนำของยุโรปอย่างไม่เกรงศักดิ์ศรี จนชนะใจคนดู

แค่นี้ก็เป็นความสำเร็จที่พระองค์พีระและพระองค์จุลปลื้มพระทัยเป็นอย่างยิ่ง

ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๗๘ พระองค์พีระมีพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษาบริบูรณ์ พระองค์จุลซื้อรถคันใหม่ซึ่งเป็นรถแข่งให้เป็นของขวัญวันเกิด เป็นรถ อี.อาร์.เอ. ขนาด ๑,๕๐๐ ซีซี เป็นรถแข่งขนาดเบา แต่วิ่งได้ถึง ๑๓๐ ไมล์ต่อชั่วโมง

พระองค์พีระนำรถคันใหม่ลงประเดิมที่สนามเมืองดิเอปป์ ในฝรั่งเศส และเข้าเส้นชัยมาเป็นที่ ๒ ซึ่งก็สร้างความตื่นเต้นและแปลกใจให้คนดู เพราะเป็นนักแข่งหน้าใหม่ที่มาอย่าง “ม้ามืด”

ในปีเดียวกัน พระองค์พีระก็นำรถคันนี้ไปลงสนามแข่งที่กรุงเบอร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ เข้าเป็นที่ ๒ อีก ทำให้วงการแข่งรถของยุโรปเริ่มหันมาสนใจหนุ่มน้อยจากเอเชียผู้นี้

ต้นปี ๒๔๗๙ พระองค์จุลซื้อรถแข่งคันใหม่ยี่ห้อเดียวขนาดเดียวกับคันเก่าให้เป็นคู่กัน ตั้งชื่อว่า “รอมิวลุส” กับ “รีมุส” ซึ่งเป็นชื่อฝาแฝดผู้สร้างกรุงโรม

ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๗๙ พระองค์พีระนำรีมุสลงประเดิมในนัดสำคัญของอังกฤษ ชิงรางวัล “จักรวรรดิบริติช” เมื่อออกสตาร์ทรีมุสนำมาในอันดับต้นๆ แต่มีกรวดจากคันหน้าดีดมาใส่แว่นกันลมแตก เศษแก้วกระเด็นเข้าตา พระองค์พีระประคองรถจอดลงได้อย่างปลอดภัย ถูกนำตัวส่งเข้าโรงพยาบาล

ในวันที่ ๑๑ เมษายนสัปดาห์ต่อมา ขณะที่ตายังไม่หายเป็นปกติ พระองค์พีระก็ตัดสินพระทัยจะลงแข่งขันที่สนามโมนาโค เพราะเป็นการแข่งขันนัดสำคัญของยุโรป รวมสุดยอดนักแข่ง จึงไม่น่าพลาด พระองค์พีระกับพระองค์จุลต้องออกเดินทางไปอย่างกะทันหันเพื่อไปให้ทันวันซ้อม เนื่องจากพระองค์พีระยังไม่รู้จักสนามแห่งนี้เลย แต่บรรดายอดยุทธจักรของยุโรปต่างช่ำชองสนามโมนาโคกันทุกคน
บรรดาบริษัทรถแข่งชั้นนำของยุโรป อย่างมาเซอราตีและอี.อาร์.เอ. ต่างทำรถสำหรับลงแข่งครั้งนี้โดยเฉพาะ และจ้างนักแข่งชั้นนำลงเป็นทีม หวังว่าคันหนึ่งคันใดต้องเข้า แต่พระองค์พีระโดดเดี่ยวมาจากเอเชียเพียงพระองค์เดียวในจำนวนนักแข่ง ๒๒ คนจาก ๘ ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ กรีซ ออสเตรเลีย และไทย

หลังจากซ้อมกัน ๒ วัน ก็เหลือรถที่จะเข้าแข่งวันจริงเพียง ๑๘ คัน และเนื่องจากโมนาโควิธีใช้ปิดเมืองทำเป็นสนามแข่ง ทั้งถนนก็แคบ รถแข่งไม่สามารถเรียงหน้าที่จุดสตาร์ทได้ ต้องใช้วิธีจับสลาก พระองค์พีระจับได้เบอร์เลวสุด ต้องอยู่แถวที่ ๓ หลังคู่แข่ง

ธงทั้ง ๘ ชาติถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาในสนาม ธงไตรรงค์ได้มีโอกาสสะบัดพลิ้วในสนามโมนาโคเป็นครั้งแรก ที่จุดสตาร์ทมีคนเฝ้ากันแน่นขนัด และตลอดเส้นทางมีคนเบียดเสียดเฝ้าดูกันตลอดเส้นทาง

เมื่อกรรมการปล่อยรถโบกธงชาติของโมนาโคซึ่งเป็นแถบแดงขาวลง รถทั้ง ๑๘ คันที่ติดเครื่องครางกระหึ่มรอก็พุ่งออกจากเส้นสตาร์ท มือระดับพระกาฬต่างบี้กันสุดฤทธิ์เพื่อชิงขึ้นนำ รอมิวลุสสีฟ้าติดกลุ่มมาเรื่อยๆ ผ้าผูกพระศอคนขับสีเดียวกับตัวรถสะบัดพลิ้ว

ขึ้นรอบ ๒ ของการแข่งขัน ๕๐ รอบ รอมิวลุสแซงมาอยู่อันดับ ๘ ซึ่งไม่เลวเลย

รอบที่ ๓ รถในกลุ่มนำหลายคันเลื่อนไถลหมุนกลางถนน ทำให้รถคันที่ตามมาเบรกกันตัวโก่ง พระองค์พีระฉวยโอกาสหลบหลีกกลุ่มรถที่เก้ๆกังๆไป

ขึ้นรอบที่ ๔ รอมมิวลุสไล่อันดับ ๓ มาติดๆ

ในรอบที่ ๓๐ ผู้จัดการของเด็นนี่ นักขับอิตาเลียนคนนำ ก็โบกธงยิกๆให้นักขับของตัวเองเร่งความเร็วขึ้นไปอีก เพราะรอมิวลุสจี้มาติดๆ เด็นนี่เหยียบคันเร่งเต็มเหยียด พอเข้าทางโค้งเลยเซถลา ล้อเบียดฟุตบาทเสียหาย ต้องออกจากการแข่งขันไป

พอขึ้นรอบที่ ๓๓ พระองค์จุลซึ่งทำหน้าที่ผู้จัดการ ก็โบกธงสัญญาณให้พระองค์พีระเบาๆไว้ ไม่ต้องเร่งหนักเพราะนำมาห่าง ประคองตัวให้ครบ ๕๐ รอบก็พอ

เมื่อครบ ๕๐ รอบ ธงตาหมากรุกดำขาวก็โบกลงขณะที่รอมิวลุสเข้าเส้นชัย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของผู้ชมรอบสนาม ทำเวลาได้ ๑ ชั่วโมง ๕๑ นาที ๕๑.๕ วินาที เฉลี่ย ๕๒.๙๙ ไมล์ต่อชั่วโมง โดยรถที่ตามมาในอันดับ ๒ และ ๓ เป็นรถของบริษัท อี.อาร์.เอ.ที่ทำขึ้นเพื่อแข่งขันครั้งนี้โดยเฉพาะ แต่คันที่เข้าอันดับหนึ่งกลับเป็นรถที่ทำขายทั่วไป และขับโดยนักขับมือใหม่ที่ไม่สังกัดใคร

เมื่อจบการแข่งขัน ธงชาติของชาติที่เข้าแข่งขันทั้ง ๘ ก็ถูกชักลง ธงที่ถูกชักขึ้นแทนแต่ผู้เดียว ก็คือธงของชาติผู้ชนะอันดับ ๑ ธงไตรรงค์จึงสะบัดเด่นอยู่เหนือสนามรถแข่งโมนาโค ขณะที่พระองค์พีระก้าวขึ้นรับถ้วยรางวัลจากพระหัตถ์ของเจ้าผู้ครองนครโมนาโค

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค เพราะหลังจากการแข่งขันครั้งนี้แล้ว พระองค์พีระก็เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ ๑ อีกเป็นประจำ ตามสถิติตลอดเวลา ๕ ปีที่ทรงขับรถแข่งในยุโรป ทรงลงสนาม ๖๒ ครั้ง เข้าอันดับหนึ่ง ๒๐ ครั้ง อันดับสอง ๑๔ ครั้ง และอันดับสาม ๕ ครั้ง นับเป็นสถิติที่งดงามมากสำหรับของวงการรถแข่ง และทำให้แฟนรถแข่งในยุโรปรู้จักธงไตรรงค์เป็นอย่างดี ฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีเสียขึ้นใจ และ“ปรินช์พีระ”กลายเป็นขวัญใจของแฟนรถแข่งทั่วยุโรป

ในขณะนั้นไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมยานยนต์นานาชาติ พระองค์พีระลงแข่งโดยอาศัยใบอนุญาตจากสมาคมราชยานยนต์อังกฤษ จึงถือว่าเป็นนักแข่งรถของอังกฤษด้วย มีสิทธิ์เข้าชิงตำแหน่ง “เจ้าดาราทอง” ซึ่งรวมคะแนนการเข้าเส้นชัยอันดับ ๑-๓ ในรอบปีของนักแข่งอังกฤษ ปรากฏว่าพระองค์พีระได้ครองตำแหน่ง “เจ้าดาราทอง” ถึง ๓ ปีซ้อน สร้างความตื่นตะลึงให้วงการแข่งรถของยุโรป

ในยามนั้น บรรยากาศได้เปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามกับที่ทรงลงสนามแข่งรถเป็นครั้งแรกทุกครั้งของการแข่งขัน ความสนใจของคนจะอยู่ที่รอมิวลุสสีฟ้า เมื่อรอมิวลุสเร่งความเร็วแซงคันอื่นได้เมื่อใด คนดูทั้งอัฒจันทร์จะพากันรุกขึ้นยืนอย่างพร้อมเพรียง และส่งเสียงเชียร์ด้วยความสะใจ แม้บางครั้งจะเกิดอุบัติเหตุต้องออกจากการแข่งขัน เมื่อผ่านมาทางอัฒจันทร์ คนดูก็จะปรบมือให้กำลังใจ ถ้าเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ ๑ ทางสนามก็จะบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีขณะที่ธงไตรรงค์ถูกชักขึ้นยอดเสา คนดูทั้งสนามจะลุกขึ้นยืนถอดหมวกแสดงความเคารพต่อธงชาติไทย ชัยชนะของพระองค์พีระจึงไม่เพียงแต่สร้างชื่อเสียงให้พระองค์เท่านั้น แต่ยังทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยขจรขจายไปทั่วโลก ในฐานะที่เป็นประเทศเจริญก้าวหน้า มีบุคคลที่มีความสามารถในระดับนี้

เมื่อคราวที่พระองค์พีระและพระองค์จุลกลับมาเยือนประเทศไทยในปี ๒๔๘๐ ได้นำรถรอมิวลุสมาขับโชว์ให้คนไทยได้ดูด้วย ประชาชนคนไทยและรัฐบาลไทยได้ให้การต้อนรับอย่างเอิกเกริก ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานยศทางทหารบก เป็น นายร้อยโท

แม้อังกฤษจะให้เกียรติอย่างดี ได้รับรางวัล “ดาราทอง” ถึง ๓ ปีซ้อน แต่พระองค์พีระก็อยากจะลงแข่งในนามของคนไทยให้เต็มภาคภูมิ พระองค์จุลจึงขอให้ราชยานสมาคมแห่งประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมยานยนต์นานาชาติ และได้ขายรอมิวรลุสไป ซื้อ อี.อาร์.เอ.คันใหม่ให้ชื่อว่า “หนุมาน”

ในปี ๒๔๘๒ พระองค์พีระนำ “หนุมาน” ลงแข่งในนามชาติไทย ๗ ครั้ง ได้ที่หนึ่ง ๔ ครั้ง ที่สอง ๑ ครั้ง และที่สาม ๒ ครั้ง ไม่ได้หลุดจากสามอันดับแรกเลย

พระองค์พีระได้รับเชิญไปแข่งรถในประเทศต่างๆทั่วยุโรป ทั้งยังได้รับเชิญไปแข่งที่อเมริกา อาฟริกา และออสเตรเลียด้วย นำธงไทยไปสะบัดพลิ้วในประเทศเหล่านั้นเคียงคู่ประเทศที่เจริญด้วยเทคโนโลยีทางยานยนต์ทั้งหลาย พระองค์จุลต้องการจะให้ไทยเป็นชาติแรกในเอเชียที่จัดแข่งรถในระดับนานาชาติ จึงเสนอเรื่องต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่ง ครม.ก็เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ อนุมัติให้กองสลากจัดเงิน ๑ แสนบาทเป็นค่าใช้จ่าย

พระองค์จุลได้ทรงเลือกถนนรอบสนามหลวงเป็นสนามแข่ง มีระยะทาง ๒ ไมล์ต่อรอบ จัดแข่งเฉพาะรถเบาไม่เกิน ๑,๕๐๐ ซีซี. เพราะพระองค์พีระขับแต่รถขนาดเบา จึงไม่ต้องการให้คนไทยดูฝรั่งแข่งกันเอง

เงินรางวัลที่ตั้งไว้ถือว่าสูงในขณะนั้นคือ อันดับหนึ่งจะได้ ๑๐,๐๐๐ บาท อันดับสองได้ ๕,๐๐๐ บาท อันดับสามได้ ๒,๐๐๐ บาท อันดับสี่ได้ ๑,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ไกลจากทวีปยุโรปมาก ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ เดือน จึงกำหนดค่าป่วยการสำหรับนักขับรถและช่างเครื่อง รวมทั้งค่าขนส่งรถไปกลับอีกรายละ ๕,๐๐๐ บาท

มีนักแข่งรถของยุโรปตอบรับมาร่วม ๑๑ ราย คือจากฝรั่งเศส ๓ เยอรมัน ๑ อังกฤษ ๓ ฮอลันดา ๑ อิตาลี ๒ และสวิส ๑ รวมกับพระองค์พีระจะมีรถแข่งในสนาม ๑๒ คัน

การแข่งขันกำหนดจะจัดในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นวันฉลองรัฐธรรมนูญงานใหญ่ที่สุดของปี การเตรียมงานทุกอย่างก็ราบรื่นดี โปสเตอร์ของงานได้รับการออกแบบและพิมพ์แจกจ่ายทำประชาสัมพันธ์ไปทั่ว

แต่แล้วในวันที่ ๑ กันยายนนั้นเอง ฮิตเลอร์ก็บุกโปแลนด์ ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมัน อันเป็นการเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ ๒ นักแข่งรถไม่มีใครเดินทางมาได้ ทั้งสนามรถแข่งทั่วยุโรปก็ถูกปิดทั้งหมด “บางกอกกรังด์ปรีช์” ที่จะสร้างประวัติศาสตร์การแข่งขันรถนานาชาติให้เอเชียก็เลยต้องระงับไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การแข่งรถของโลกได้บันทึกไว้ว่า BANGKOK GRAND PRIX เป็น ๑ ในสนามรถแข่งนานาชาติที่ถูกระงับไปเพราะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วย

เมื่อสนามรถแข่งทุกแห่งถูกปิด พระองค์พีระก็ต้องยุติบทบาทการเป็นเจ้าความเร็วในสนามแข่ง หันไปประกอบธุรกิจจนเข้าวัยชรา

ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๘ ขณะเสด็จไปที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน ทรงล้มฟาดลงกับพื้นอย่างแรงถึงแน่นิ่ง ตำรวจที่เห็นเหตุการณ์ได้พาส่งโรงพยาบาล ทรงอยู่ได้ราว ๒๐ นาทีก็สิ้นพระชนม์จากอาการพระหทัยวาย ขณะพระชนมายุ ๗๑ พรรษา โดยที่ไม่มีหลักฐานในพระองค์ว่าเป็นใคร กว่าตำรวจจะนำจดหมายภาษาไทยที่ค้นพบในกระเป๋าไปสอบสวนจนรู้ว่าเป็น B.BIRA ก็ต้องใช้เวลาถึง ๗ วัน ซึ่งการสิ้นพระชนม์ของพระองค์พีระเป็นข่าวใหญ่ในยุโรป

เป็นการจบชีวิตของคนไทยคนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในด้านที่ไม่มีใครคาดคิด เป็นการยืนยันให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถไม่แพ้ใครในโลก ...ถ้ามีความมุ่งมั่นที่จะทำ
B.BIRA
เจ้าหน้าที่ของสนามแข่งเข้าห้อมล้อมแสดงความยินดี
พระองค์พีระและพระองค์จุลได้รับพระราชทานยศทางทหาร
 ป้ายที่เป็นประวัติศาสตร์ของการแข่งรถกรังด์ปรีซ์
 สนามแข่งของ BANGKOK GRAND PRIX
กำลังโหลดความคิดเห็น