xs
xsm
sm
md
lg

“นางสาวสยาม” เบิกฟ้าสร้างประวัติศาสตร์การบินสยาม บินวิบากไปฮ่องกง!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

“นางสาวสยาม” ทำสาวใหม่ เหินฟ้าได้อีกครั้งเมื่ออายุกว่า ๗๐ ปี
สมัยเมื่อ ๘๐-๙๐ ปีก่อน ไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อ นายเลื่อน พงษ์โสภณ และพากันให้ฉายาบุรุษผู้นี้ว่า “นายเลื่อนกระดูกเหล็ก”

นายเลื่อนเป็นชาวกรุงเทพฯโดยกำเนิด แต่ไปทำงานบริษัทเดินอากาศไทยที่จังหวัดนครราชสีมา เลยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดนั้นหลายสมัย เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ และรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามหลายครั้ง

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ทำให้นายเลื่อนเป็นคนดัง

ความดังของนายเลื่อนเริ่มมาจากการเป็นนักบิดมอเตอร์ไซด์รุ่นบุกเบิกของเมืองไทย และได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันเกือบ ๒๐๐ ใบ เป็นคนไทยคนแรกที่ขี่มอเตอร์ไซด์ไต่ถังได้แบบเดียวกับฝรั่งที่เข้ามาโชว์ เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องเล่นกระเช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถไฟเล็ก และของเล่นในงานออกร้านอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะรถสามล้อที่มาแทนรถลากซึ่งเรียกกันว่า “รถเจ๊ก”จนหมดไปจากถนน และทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งใช้เลี้ยงชีพอยู่จนทุกวันนี้ นี่ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์จากสมองนายเลื่อน อีกทั้งยังเป็นนักบินพลเรือนคนแรกของประเทศไทยที่สร้างประวัติศาสตร์ บินเบิกฟ้าไปถึงฮ่องกงด้วยเครื่องบินส่วนตัวที่มีชื่อว่า “นางสาวสยาม”

นายเลื่อน พงษ์โสภณ เป็นคนเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๔๑ ที่บ้านริมคลองรอบกรุง แถวประตูสามยอด บิดามารดา คือ ขุนเชี่ยวหัสดิน (เถา) กับนางแฉ่ง มีอาชีพค้าขาย มีร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อ “ร้านจำหน่ายของสยาม” และยังเป็นเจ้าของโรงเลื่อยด้วย

นายเลื่อนเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนอรพินท์ใกล้บ้าน แต่เนื่องจากเป็นเด็กดื้อถูกเฆี่ยนตีทุกวัน บิดามารดาจึงนำไปฝากเรียนที่วัดรังษี ซึ่งภายหลังถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหารในขณะนี้

เนื่องจากเป็นลูกเจ้าของโรงเลื่อย ได้เห็นเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็ก ทำให้นายเลื่อนสนใจเรื่องเครื่องยนต์มาก ในสมัยนั้นมอเตอร์ไซด์กำลังเป็นของใหม่ เพิ่งมีกันไม่กี่คัน ในจำนวนนั้นฮาเลย์เดวิดสัน ๓ สูบคันหนึ่งเป็นของนายเลื่อนที่เฝ้าถนอม และเข้าแข่งขันทุกครั้งที่มีการแข่งขัน ซึ่งตอนนั้นใช้สนามหลวงเป็นที่ประลองความเร็ว ผลปรากฏว่านายเลื่อนเข้าที่หนึ่งทุกที เนื่องจากบิดไม่กลัวเจ็บไม่กลัวตาย โดยเฉพาะตอนเข้าโค้งที่คนอื่นต้องเบาเครื่อง นายเลื่อนจะถือโอกาสช่วงนี้บิดแซงเอาชนะได้ในจังหวะนั้น

เมื่อจบการศึกษา บิดามารดาต้องการให้เรียนกฎหมาย แต่ลูกชายจอมดื้อกลับไปสมัครโรงเรียนนายร้อยทหารบก

ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ ไทยได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ และส่งทหารไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร นายเลื่อนใกล้จะจบโรงเรียนนายร้อยอยู่แล้ว แต่กลับลาออกเสียดื้อๆ สมัครเป็นทหารอาสาไปรบที่ยุโรป เข้าอยู่ในหน่วยยานพาหนะ

เมื่อสงครามสงบ ทางราชการให้ทุนทหารอาสาที่สนใจเรื่องเครื่องยนต์เรียนต่อที่ปารีส นายเลื่อนฉวยโอกาสนี้ทันที และสอบคัดเลือกได้เป็นอันดับหนึ่ง เข้าเรียนวิชาช่างยนต์จนจบหลักสูตร

ต่อมาในปี ๒๔๗๓ นายเลื่อนได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ให้ไปเรียนวิชาการบินที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกาอีกเป็นเวลา ๓ ปี ระหว่างที่เรียนอยู่นี้นายเลื่อนยังไปรับจ้างแสดงการบินผาดโผนจนเป็นที่ชื่นชอบของคนดู ได้รับการว่าจ้างให้ไปแสดงตามรัฐต่างๆอีกหลายรัฐ จนเก็บเงินซื้อเครื่องบินแบบเดียวกับที่ใช้บินแสดงได้ลำหนึ่ง นำกลับมาประเทศไทยด้วย ตั้งชื่อให้ว่า “Miss Siam”

“นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินแบบเทรเวล แอร์ โครงลำตัวทำด้วยเหล็ก ห่อหุ้มด้วยผ้า มีความยาว ๒๔ ฟุต ๗ นิ้ว มีปีก ๒ ชั้น โครงสร้างของปีกภายในเป็นไม้ หุ้มด้วยผ้าแฟบริค ยาว ๓๔ ฟุต ๘ นิ้ว ใบพัดทำด้วยไม้ เครื่องยนต์ Curtis ox-๕ กำลัง ๙๐ แรงม้า ๑,๔๕๐ รอบต่อนาที ความเร็วสูงสุด ๑๑๐ ไมล์//ชม. ความเร็วเดินทาง ๘๕ ไมล์/ชม. มีที่นั่ง ๒ ที่ คือนักบินและผู้โดยสาร

ขณะที่นายเลื่อนกลับมาจากอเมริกา กองทัพไทยมีเครื่องบินใช้แล้ว ตั้งเป็นกรมอากาศยาน สังกัดกองทัพบก โดยสั่งซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศสจำนวน ๘ เครื่อง และส่งทหารไปฝึกบินกับบริษัทผู้จำหน่ายเป็นเวลา ๑ ปี จึงมีนักบินครบจำนวน อีกทั้งนายเลื่อนยังไม่ได้รับความเชื่อถือจากหน่วยราชการ จึงหางานนักบินทำไม่ได้

ด้วยเหตุนี้นายเลื่อนจึงคิดที่จะหาทางโชว์ฝีมือให้ประจักษ์สักครั้ง ยื่นขออนุญาตต่อกระทรวงกลาโหม ขอนำ“นางสาวสยาม” บินเบิกฟ้าไปฮ่องกง และแจ้งไปทางนายพลโทพระยาเทพหัสดิน อดีตแม่ทัพไทยผู้นำทหารอาสาไปรบในยุโรป ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกสมาคมสหายสงคราม ซึ่งนายเลื่อนเป็นสมาชิกอยู่ด้วยผู้หนึ่ง ขอให้สมาคมนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ เพราะได้รับความรู้การบินก็โดยพระมหากรุณาธิคุณเป็นการส่วนพระองค์ พระราชทานทุนให้ไปเล่าเรียนมา

ต่อมาในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ เลขาของสมาคมสหายสงคราม ได้นำหนังสือของเจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ไปส่งให้นายเลื่อนถึงบ้านบางขุนพรหมในหนังสือนั้นมีข้อความว่า

ที่ ๘๙/๑๕๖๙กระทรวงมุรธาธร
กรมราชเลขาธิการ
วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕

เรียน นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายกสมาคมสหายสงคราม

ตามหนังสือที่ ๓๐๖/๑๑ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคมศกนี้ เรื่องนายเลื่อน พงษ์โสภณ จะทำการบินจากสยามไปฮ่องกง เพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างสยามกับต่างประเทศนั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชกระแสโปรดเกล้าฯว่า ความคิดนี้ดีมาก เพราะการบินนี้จะเปนประโยชน์ให้ความรู้แก่บริษัทเดินอากาศ ถ้าได้ผลอย่างไร เช่นการบินไปนั้นได้พบเหตุการณ์อย่างไรบ้างเปนต้น แล้วให้แจ้งแก่กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมทราบด้วยจะดี และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพรแก่นายเลื่อน พงษ์โสภณ ให้ทำการบินสำเร็จโดยเรียบร้อย

เจ้าพระยามหิธร

เมื่อได้รับหนังสือฉบับนี้ นายเลื่อนดีใจเป็นล้นพ้น ในวันรุ่งขึ้นจึงได้แจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม กระทรวงต่างประเทศขอให้นายเลื่อนกำหนดแผนการบินว่าจะออกเดินทางเมื่อใด ผ่านไปทางไหน จะได้แจ้งให้ทูตสยามที่ประจำอยู่ทราบ และจะออกหนังสือเดินทางให้ นายเลื่อนมีแผนกำหนดอยู่แล้วจึงแจ้งว่าจะออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๗๕ และกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ระยะทางบิน ๑,๔๐๐ ไมล์ มีรายละเอียดคือ

๑. ออกจากสนามบินดอนเมืองวันที่ ๑๙ มิถุนายน แวะนครราชสีมาเป็นแห่งแรก แวะร้อยเอ็ดเป็นแห่งต่อไป และจะไปพักที่นครพนม ๑ คืน

๒. วันที่ ๒๐ มิถุนายน ออกจากนครพนม แวะเมืองวินฮ์ในเวียดนาม และไปพักที่ฮานอย ๒ คืน

๓. วันที่ ๒๒ มิถุนายน ออกจากฮานอย แวะเมืองมองเก ปากหอย และไปพักที่เมืองไทปิงในจีน ๑ คืน

๔. วันที่ ๒๓ มิถุนายน ออกจากเมืองไทปิง ตรงไปพักที่ฮ่องกง ๓ คืน

๕. วันที่ ๒๖ มิถุนายน ออกจากฮ่องกง มาพักที่กวางตุ้งอีก ๓ คืน

๖. วันที่ ๒๙ มิถุนายน ออกจากกวางตุ้ง มาพักที่ไทปิงอีก ๑ คืน

๗. วันที่ ๓๐ มิถุนายน ออกจากไทปิง มาพักที่ฮานอยอีก ๒ คืน

๘. วันที่ ๒ กรกฎาคม ออกจากฮานอย มาพักที่นครพนมอีก ๑ คืน

๙. วันที่ ๓ กรกฎาคม ออกจากนครพนม บินมาถึงดอนเมือง

การเดินทางไปในครั้งนี้ แม้ “นางสาวสยาม” จะมีที่นั่งสำหรับผู้โดยสารอีก ๑ ที่นั่ง แต่ก็ไม่มีใครไปด้วย นายเลื่อนคงเดินทางไปเพียงลำพังคนเดียวโดยไม่มีอาวุธ ไม่มีกล้องถ่ายภาพยนตร์หรือแม้แต่กล้องภาพนิ่ง อันอาจจะใช้เป็นเครื่องมือจารกรรม รวมทั้งสิ่งต้องห้ามในการบินทั้งหลาย ก็จะไม่มีติดไปกับ“นางสาวสยาม” ให้เป็นปัญหา

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ นายเลื่อนได้รับการสนับสนุนจาก สโมสรสามัคคีจีนสยาม ซึ่งเรี่ยไรเงินจากสมาชิกและมิตรสหายของสมาชิกให้ ผู้บริจาคมีตั้งแค่รายละ ๒๐๐ บาท จนถึง ๒ บาท รวมเป็นเงิน ๒,๔๗๐ บาท ซึ่งนับว่าไม่น้อยในสมัยนั้น

หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวการเดินทางของนายเลื่อนครั้งนี้อย่างเกรียวกราว และตั้งฉายาให้เขาว่า “ลินเบิร์กสยาม”ตามชื่อของ ชาร์ล เอ. ลินเบิร์ก วีรบุรุษนักบินอเมริกัน ผู้บินข้ามหาสมุทรแอตแลนติกเป็นคนแรกเมื่อปี ๒๔๗๐

นักข่าวถามว่าถ้าบินสำเร็จแล้วมีแผนจะทำอะไรต่อ นายเลื่อนบอกยังไม่รู้ ตอนนี้ก็ไม่มีเงินจะทำอะไรได้ ตอนที่นำ“นางสาวสยาม” มาจากอเมริกาก็ไม่มีเงินค่าขนส่งและค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่บริษัทขนส่งเขาเชื่อถือจึงจัดส่งลงเรือมาให้ก่อน แล้วจะส่งอินวอยซ์มาเก็บเงินที่แบงก์สยามกัมมาจล ทั้งยังบอกว่าซื้อเครื่องบินมาครั้งนี้มีแต่เสียเงินอย่างเดียว ขณะนั้นก็หมดไป ๔.๐๐๐ บาทแล้ว ยังไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้เลย กลับมาอาจจะมอบให้พิพิธภัณฑ์หรือจะเก็บไว้ที่บ้านบางขุนพรหมยังไม่แน่ แต่คงไม่จอดไว้ที่ดอนเมือง เพราะเสียค่าจอดเดือนละ ๔๐ บาท

ในวันออกเดินทาง มีคนไปส่งนายเลื่อนที่ดอนเมืองเกือบร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกและมิตรสหายของสโมสรสามัคคีจีนสยาม นอกนั้นก็มีพ่อแม่ ลูกเมีย และมิตรสหายของนายเลื่อน แขกสำคัญคือนายพลโทพระยาเทพหัสดิน ซึ่งทั้งหมดเดินทางโดยขบวนรถไฟจากหัวลำโพงออกในเวลา ๗.๑๕ น.

เมื่อไปถึงดอนเมือง เจ้าหน้าที่กรมอากาศยานมาต้อนรับคณะและพาไปที่ “นางสาวสยาม”จอดอยู่ ทหารได้เติมน้ำมันไว้ให้เพียงพอที่จะบินไปถึงจุดเติมต่อไป นายเลื่อนได้ตรวจดูความเรียบร้อยแล้วถ่ายรูปกับผู้มาส่งเป็นที่ระลึก จากนั้นก็พา“นางสาวสยาม” เหินฟ้าไปท่ามกลางเสียงไชโยสนั่น และบินวนโบกมือ ๑ รอบก่อนที่จะลับสายตาไปทางทิศอุดร

ตอนบ่ายวันนั้น ก็มีโทรเลขมาจากนายเลื่อนว่า

“ถึงโคราช ๑๐ นาฬิกา สวัสดิภาพ”

ตอนค่ำโทรเลขฉบับที่ ๒ ก็ตามมาอีก

“ถึงร้อยเอ็ด ๑๗.๔๕ น.ฝนตกน้ำเข้าแม็กนีโตและคาบูเรเตอร์ ต้องลงดิน ๒ ครั้ง บัดนี้ปลอดภัยอยู่ที่ร้อยเอ็ดแล้ว”

วันที่ ๒๐ มิถุนายน มีโทรเลขมาจากนครพนมว่า

“ถึงนครพนมวันนี้เวลา ๑๒.๐๐ น. ตรง สบายดี”

หนังสือพิมพ์ศรีกรุงซึ่งติดตามข่าวนายเลื่อนมาตลอดได้ล้อมกรอบฉบับวันที่ ๒๒ มิถุนายนว่า

หยุดบินเพราะฝน
เลื่อน พงษ์โสภณ
(ลินเบอกสยาม)
กำลังพักอยู่เวลานี้

เมื่อวานนี้เวลา ๑๘ น. เราได้รับโทรเลขจากนายเลื่อนส่งมาจากนครพนมเมื่อวันที่ ๒๑ เดือนนี้ เวลา ๑๓ น. มีความว่า

“ฝน หมอก พายุมาก บินไม่ได้ บินเมื่อไรจะบอก สบายดี”

เลื่อน

แต่ในฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ก็รายงานโทรเลขของนายเลื่อนอีกว่า

“ออกจากนครพนมเมื่อวานนี้ (๒๒ มิถุนายน) เวลาเที่ยง ถึงฮานอยวานนี้เวลา ๑๗ น.”

แม้ขณะนั้นจะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ประชาชนพากันตื่นรัฐธรรมนูญ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพากันลงข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นข่าวใหญ่เต็มหน้าหนึ่ง แต่ข่าวการเดินทางของนายเลื่อนก็ไม่ถูกลืม มีอยู่ในหน้าในเป็นระยะ

นายเลื่อนยังคงโทรเลขรายงานมาจากทุกเมืองที่พัก แม้หมายกำหนดการบินจำต้องเปลี่ยนแปลงไปเพราะอุปสรรคจากสภาพดินฟ้าอากาศ แต่เส้นทางบินก็ไม่ได้เปลี่ยน และไปถึงฮ่องกงในวันที่ ๓ กรกฎาคม จากนั้นก็บินกลับมาตามเส้นทางเดิม จนกระทั่งโทรเลขฉบับสุดท้ายของนายเลื่อนมาจากนครพนม รายงานว่ามาถึงเมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น.ของวันที่ ๑๑ กรกาคม

ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม เวลาราว ๑๖ น. ประชาชนในกรุงเทพฯ ต่างก็ออกมาแหงนหน้ามองอย่างตื่นเต้น เมื่อ“นางสาวสยาม”มาบินวนทักษิณาวรรต ๓ รอบบริเวณกลางกรุง ก่อนจะไปลงที่ดอนเมือง

ความสำเร็จของนายเลื่อน ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยฟุ้งกระจายไปในนานาประเทศ แม้จะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ยังไม่มีแม้แต่กองทัพอากาศ แต่ก็มีนักบินพลเรือนอาจหาญบินข้ามน้ำข้ามทะเลข้ามประเทศไปอย่างโดดเดี่ยว และประสบความสำเร็จ ซึ่งในขณะนั้นก็มีนักบินพลเรือนของชาติต่างๆในยุโรปหลายคนที่พยายามสร้างเกียรติประวัติบินข้ามประเทศแบบนี้ บ้างก็บินมาถึงจีน แต่หลายคนก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตกในป่าบ้าง ผจญอุปสรรคกันต่างๆ ซึ่งนายเลื่อนก็พบอุปสรรคมากเช่นกัน เนื่องจาก “นางสาวสยาม”ไม่มีเรดาร์ ไม่มีเครื่องวัดระดับเครื่องบินว่าตะแคงซ้ายตะแคงขวา หรือหัวทิ่มเงยหัว ใช้ความสามารถนักบินอย่างเดียว ตอนออกจากนครพนมไปก็เจอเอาเมฆหมอกหนัก นายเลื่อนฝ่าเมฆไปราว ๒๐ นาทีก็คิดว่าถ้าไปแบบนี้คงชนเขาตายแน่ จึงวนกลับมานอนนครพนม รุ่งขึ้นออกเดินทางใหม่ เปลี่ยนแผนเป็นบินต่ำให้เห็นถนน เพราะเดินทางไปโดยไม่มีแผนที่ทางอากาศ ใช้แต่แผนที่ทางบก ถ้าเจอเมฆหนาทึบก็ต้องวนไปวนมาจนกว่าจะเจอช่องอากาศ ครั้งหนึ่งเจอเอาเทือกเขาสูงขวางหน้า ไม่สามารถบินข้ามได้ ต้องไปตามช่องถนนที่ตัดผ่าน ทำเอาใจระทึกเพราะปีกทั้งสองข้างเฉียดเขาไป พลาดนิดเดียวก็จบ แต่ก็ไปถึงเมืองวินฮ์ในเวียดนามจนได้ และต้องลงจอดเติมน้ำมันเพราะบินวนจนน้ำมันใกล้หมด แต่ก็หาน้ำมันสำหรับเครื่องบินไม่ได้ เลยต้องขอซื้อเบนซินชาวบ้านเติมแก้ขัดไป

วิบากกรรมหนักอีกครั้งเกิดขึ้นขณะออกจากฮานอยจะไปเกาะไหหลำ เครื่องเกิดเดินไม่สะดวกเพราะหัวเทียนทำท่าว่าจะบอด เครื่องยนต์ของ“นางสาวสยาม”ใช้หัวเทียนอยู่หัวเดียวเท่านั้น ถ้าบอดตอนออกทะเลแล้วคงต้องลอยคอแน่ นายเลื่อนเลยตัดสินใจวนกลับมาลงที่ชายฝั่งของตำบลลองบุน ในเขตมณฑลไหหลำ เจอเอาชายหาดเป็นดินปนทราย เคราะห์ดีที่ใส่ล้อยางหน้ากว้าง ๑๒ นิ้ว ล้อจึงไม่จมลงไปในโคลนซึ่งจะทำให้เครื่องตีลังกา แต่พอเปลี่ยนหัวเทียนเสร็จก็มีทหาร ๖ คนมาจับ พูดกันไม่รู้เรื่อง พอเห็นรอยสักญี่ปุ่นที่แขนก็คิดว่านายเลื่อนเป็นญี่ปุ่น ตอนนั้นจีนกับญี่ปุ่นรบกันอยู่เลยทำท่าจะเชือดคอเอา แต่แล้วก็ลากตัวนายเลื่อนไปที่ทำการซึ่งก็ไม่มีใครพูดรู้เรื่องเหมือนกัน เคราะห์ดีที่นายเลื่อนให้เอากระเป๋าที่ใส่เงินและเอกสารไปด้วย ในกระเป๋ามีหนังสือที่สมาคมเซียงหวยเขียนให้ตอนจะออกจากดอนเมืองเป็นภาษาจีน บอกว่านายเลื่อนเป็นคนไทย จะบินไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับจีน พอทหารค้นกระเป๋าเจอหนังสือนี้ เหตุร้ายเลยกลับเป็นตรงกันข้าม

นายเลื่อนขอกลับไปที่เครื่องบินทันที พอไปถึงก็ตกใจ เห็นคนราว ๓-๔ พันคนมุงกันจนไม่เห็น“นางสาวสยาม” เนื่องจากชาวเกาะใกล้เคียงมาดูกัน เมื่อแหวกคนเข้าไปก็เห็นหลายคนปีนขึ้นไปอยู่บนเครื่องบิน บางคนก็เหยียบขึ้นไปบนปีกล่างที่ทำด้วยผ้าจนหย่อนยาน ไล่ก็ไม่ยอมลง จนคนที่ไปด้วยเจรจาจึงยอม แต่ก็ปรากฏว่าเสื้อผ้าในกระเป๋าถูกรื้อหายเกลี้ยง ที่สำคัญน้ำทะเลกำลังจะขึ้น ล้อเครื่องบินก็จมลงไปในโคลนเข็นไม่ไป นายเลื่อนจึงจ้างคนให้ขุดดินใต้เครื่องแล้วเอาเรือสอดเข้าไป พอน้ำทะเลขึ้นก็ยก “นางสาวสยาม”ลอยขึ้น เข็นเข้ามาไว้บนฝั่งที่สูงกว่า ต้องยอมนอนที่ลองบุน ๑ คืน แต่กลับไม่ได้นอนเลย เพราะคนที่ถูกส่งมานอนเป็นเพื่อนนั้นเล็งที่กระเป๋านายเลื่อนตลอดคืน เพราะเห็นว่ามีเงินอยู่มาก เลยต้องนอนคุมเชิงกันจนถึงเช้าเพราะกลัวถูกเชือดคอ

พอย่ำรุ่งนายเลื่อนรีบไปดู“นางสาวสยาม”ทันที น้ำทะเลท่วมมาถึงลำตัวและแพนหาง เก้าอี้นักบินถูกน้ำท่วมหมด เคราะห์ดีที่ไม่ถึงเครื่อง จึงจ้างคนให้เข็นไปที่ลานกว้าง ตรวจดูความเรียบร้อยทุกอย่างแล้ว เทเบนซินออกครึ่งถังเพราะกลัวจะแบกไม่ขึ้น ไม่ทันได้ล้างเครื่องบิน นายเลื่อนก็เร่ง “นางสาวสยาม”ขึ้นจากลองบุนไปถึงเกาะไหหลำได้ พอออกปากอ่าวกวางตุ้งเจอเรือรบ ๒ ลำ นายเลื่อนบินวนดู มีเสียงปืนยิงขึ้นมา เลยรีบเผ่น

ทุกแห่งที่นายเลื่อนไปแวะได้รับการต้อนรับด้วยดี นสพ.ทุกประเทศต่างลงข่าวการบินเบิกฟ้าของนายเลื่อนกันอย่างเอิกเกริก ตอนไปถึงฮ่องกงนั้นนักข่าวต่างกรูกันเข้ามา แต่กลับถามว่ารู้หรือไม่ตอนนี้เมืองไทยมีปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

เมื่อประสบความสำเร็จตามแผนการทุกอย่าง ขากลับตอนจะถึงไทยอยู่แล้ว นายเลื่อนยังเจอวิบากกรรมเฉียดตายอีกครั้ง ตอนนั้นกำลังจะตัดเข้าหาลำน้ำโขงเพื่อเข้าเขตไทย อากาศก็แจ่มใสดี แต่ตอนผ่านเขาแห่งหนึ่งต้องฝ่าเมฆดำก้อนใหญ่ ทำให้เครื่องกระเด็นกระดอนอยู่พักหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่พอผ่านก้อนเมฆมาแล้วเครื่องกลับจิกหัวลง ดึงคันบังคับเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเงย ดำดิ่งลงเรื่อยๆ ทำเอาใจหายคิดว่าตายแน่แล้ว ดีที่บินอยู่สูงในระดับ ๔,๐๐๐ ฟุต พอได้สติก็คิดว่าคงมีอะไรเข้าไปติดเส้นลวดสายคันบังคับ เลยลองกระชากดูอีกทีอย่างสุดแรงเกิด เครื่องก็เงยขึ้นมาได้นิดหนึ่ง ทำให้แน่ใจว่าต้องมีอะไรเข้าไปขัดแน่ จึงปลดเข็มขัดรัดตัวออก ลุกขึ้นยืนชะโงกไปดูข้างหน้า ก็เห็นกระเป๋าหวายที่มัดไว้ตกลงมา เชือกมัดคงขาดตอนเครื่องกระดอนผ่านเมฆดำ ยอดนักบินกระดูกเหล็กจึงเอาผ้าขาวม้าฉีกแบ่งเป็น ๒ ผืน แล้วผูกต่อกัน ชายหนึ่งผูกกับเครื่องบิน อีกชายมัดเอวไว้ ใช้เป็นเซฟตี้กันตกจากเครื่องตอนยืน แล้วเอื้อมมือไปดึงกระเป๋าออก แต่ก็เอื้อมไม่ถึงอยู่ดี เพราะมีกระบังลมกันไว้ เลยเอามีดที่ติดตัวทิ่มแทงจนกระบังลมขาด เอื้อมไปดึงกระเป๋าหวายออกได้ เครื่องก็เงยหัวขึ้นทันที รอดตายได้อีกครั้ง จนมาถึงนครพนม

เมื่อครั้งชาร์ล เอ.ลินเบิร์ก บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสำเร็จ กลับไปอเมริกา คนนิวยอร์กต้อนรับเขาด้วยการขว้างกระดาษยาวลงบนถนนตามธรรมเนียมของชาวนิวยอร์ก มีน้ำหนักถึง ๑,๘๐๐ ตัน แต่นายเลื่อนกลับมาอย่างเงียบๆ ไม่มีการต้อนรับแต่อย่างใด ประกอบกับคนไทยเราไม่ชอบแสดงออก ชื่นชมกันอยู่แต่ในใจ กระนั้นก็ยังมีประชาชนหลายคนที่ชื่นชมความสำเร็จของนายเลื่อน ส่งของขวัญมาแสดงความยินดีโดยมอบผ่านหนังสือพิมพ์ศรีกรุงมาให้

ต่อมานายเลื่อนได้เข้าทำงานกับบริษัทเดินอากาศไทย และประจำอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา จนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของโคราช ๔ สมัย ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมถึง ๖ รัฐบาล และรับพระราชทานยศนาวาอากาศเอก

ในช่วงนั้น “นางสาวสยาม” ถูกเด็ดปีกเก็บเข้าโรงที่บ้านบางขุนพรหม ซึ่งเป็นบริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท.ในปัจจุบัน สมัยนั้นผู้เขียนยังเป็นเด็ก เดินผ่านบ้านนายเลื่อนเป็นประจำ ต้องหยุดยืนดู “นางสาวสยาม” จากริมถนนทุกครั้งที่ผ่าน ชื่นชมในความดังที่มีคนเล่าขานถึงวีรกรรมของนายเลื่อนกับเครื่องบินลำนี้มาตลอด

หลังจากที่นายเลื่อน พงษ์โสภณ ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๙ ทายาทได้มอบ “นางสาวสยาม” ให้แก่ศูนย์การบินทหารบก จังหวัดลพบุรี นำไปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์ของศูนย์ฯ

ต่อมามูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ได้ขอ“นางสาวสยาม” ไปบูรณะเพื่อให้กลับมาบินได้ใหม่อีกครั้ง ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “โครงการฟื้นฟูเครื่องบินนางสาวสยาม”

ในปี ๒๕๓๙ ทางมูลนิธิได้ส่ง “นางสาวสยาม” ไปอเมริกาพร้อมกับช่างของมูลนิธิ ๒๔ นายไปฝึกงานซ่อมเครื่องบินเก่า เพื่อบูรณะ“นางสาวสยาม” ให้กลับเป็นสาวอีกครั้ง และนำชิ้นส่วนต่างๆ ที่บูรณะแล้วกลับมาเมืองไทยในปี ๒๕๔๑ นำไปประกอบที่โรงงานของมูลนิธิที่กองบิน ๔๑ จังหวัดเชียงใหม่

ตามโครงการนี้ ทางมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานจะนำ “นางสาวสยาม” บินย้อนรอยประวัติศาสตร์ไปตามเส้นทางที่นายเลื่อนกระดูกเหล็กเคยบินมาอีกครั้งในปี ๒๕๔๕ ซึ่งครบ ๗๐ ปีการบินสร้างประวัติศาสตร์ของ“นางสาวสยาม” ทั้งยังเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้แก่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประเทศที่ ๓ ของโลกที่สามารถนำเครื่องบินเก่ากลับมาฟื้นคืนชีวิตบินย้อนรอยได้อีก แต่การขออนุญาตบินในต่างประเทศไม่ได้รับคำตอบ จึงบินแต่เส้นทางในประเทศเท่านั้นในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๖ โดยมี น.อ.วีระยุทธ ดิษยศริน ผู้ช่วยทูตทูตทหารอากาศประจำสหรัฐอเมริกาและประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยาน เป็นนักบิน ไปตามเส้นทางที่นายเลื่อน พงษ์โสภณ เบิกฟ้าไว้ แวะโคราช-ขอนแก่น-นครพนม-อุบลราชธานี บุรีรัมย์ แล้วจึงย้อนกลับมาโคราช กลับถึงกรุงเทพฯอย่างปลอดภัยในวันที่ ๒ ตุลาคม รวมเส้นทางบินพอๆกับที่นายเลื่อนเคยไปถึงฮ่องกง

ในวันที่ไปถึงนครพนม น.อ.วีระยุทธได้นำ“นางสาวสยาม”บินไปวนที่สุดชายแดนริมฝั่งโขง เพื่อแสดงว่า “นางสาวสยาม”พร้อมจะบินตามเส้นทางของนายเลื่อนในต่างประเทศได้ถ้าได้รับอนุญาต

มีคนไทยหลายคนสร้างเกียรติประวัติไว้ให้ชาติ สร้างคุณประโยชน์ให้สังคม “นายเลื่อนกระดูกเหล็ก” หรือ นายเลื่อน พงษ์โสภณ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่จารึกไว้ และไม่ใช่เสร้างประวัติศาสตร์การบินเท่านั้น ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถไฟเล็ก และรถสามล้อ ก็เป็นสิ่งที่นายเลื่อนสร้างไว้ให้แก่สังคมไทย โดยไม่ได้เรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ทางปัญญาแต่อย่างใด
“ศรีกรุง” น.ส.พ.รายวันขายดีในยุคนั้นรายงานข่าวเมื่อนายเลื่อนเริ่มเบิกฟ้า
นายเลื่อนไปถึงนครพนมอย่างปลอดภัยหลังต้องลงดิน ๒ ครั้ง
“ศรีกรุง” ยังรายงานข่าวนายเลื่อนตลอด
รายงานข่าวที่นายเลื่อนสร้างประวัติศาสตร์สำเร็จ
นายเลื่อนและเพื่อนสาวกับ “นางสาวสยาม”ที่อเมริกา
“นางสาวสยาม” ทำสาวใหม่เข้าร่วมงานการบินแห่งชาติเมื่อปี ๒๕ถ๕
กำลังโหลดความคิดเห็น