xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรัฐบาลห่วงใยประชาชน กลัวเฉื่อยชาต่อการสืบพันธุ์ ขู่ผัวตีเมียถึงติดคุก!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

จอมพล ป.และท่านผู้หญิงละเอียด แสดงแบบเองในหนังสือที่แจกคู่สมรส
ในสมัยไทยสร้างชาติ ที่ “ท่านผู้นำ” จอมพล ป.พิบูลสงคราม เร่งจะผลิตจำนวนพลเมืองให้มากขึ้น เพื่อเป็นประเทศใหญ่ที่มีโอกาสจะเป็นประเทศมหาอำนาจได้นั้น นอกจากจะส่งเสริมให้คนหนุ่มคนสาวแต่งงานกันมากขึ้น โดยตั้ง “องค์การส่งเสริมการสมรส” แล้ว ยังเป็นห่วงว่าผัวเมียที่แต่งงานกันแล้วจะครองชีวิตคู่ไม่ยืด เพราะยังขาดความเข้าใจในหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน จึงได้วางหลักเกณฑ์ในหน้าที่ของผัวเมียไว้ โดยเป็นทั้งประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ

ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๘๖ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่า

“ให้ติดต่อ ดร.เดือนให้ช่วยทำคำตักเตือนประชาชนว่า การที่ผัวตีเมียนั้น มีความผิดตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ให้เลขาสภาวัฒนธรรมหารือหาทางให้ ดร.เดือนเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรม และให้ข้าหลวง นายอำเภอ เป็นกรรมการสภาในส่วนภูมิภาค ให้เมียข้าหลวง เมียนายอำเภอ ครูหญิง เป็นกรรมการฝ่ายหญิง จะทำได้เพียงใด ขอทราบในวันอังคารหน้า ๙ มีนาคมนี้”

ในวันที่ ๙ มีนาคม ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า

“ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ฉันพิจารณาทำคำตักเตือนประชาชน เกี่ยวกับเรื่องผัวตีเมียนั้นว่าจะมีความผิดตามกฎหมายประการใดนั้น บัดนี้ฉันได้พิจารณาเสร็จแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้ควรทำเป็นรูปประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีจะเหมาะสมกว่า จึงได้จัดการร่างประกาศขึ้น และเสนอมาพร้อมกับหนังสือนี้ ๒ ฉบับ เพื่อท่านจะได้ดำเนินการพิจารณาต่อไป

หมายเหตุ เรื่องนี้จะทำเป็นรูปประกาศของสภาวัฒนธรรมก็ได้ เพราะความสัมพันธ์ของครอบครัว ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม”

ในร่างนี้ มีลายมือของจอมพล ป.แก้ชื่อเรื่องจาก “การปฏิบัติของสามีต่อภรรยา” เป็น “การปฏิบัติของผัวเมีย” และทุกแห่งที่ใช้คำว่า “สามีภรรยา” ถูกแก้เป็น “ผัวเมีย” ทั้งหมด พร้อมกับมีบันทึกตอนท้ายว่า ให้รีบส่งไปโฆษณาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

รุ่งขึ้นในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๘๖ จึงมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การปฏิบัติของผัวเมีย” ออกมาทางวิทยุของกรมโฆษณาการอย่างรวดเร็วทันอกทันใจ ความว่า

“ตามที่รัฐบาลได้ยึดถือความสำคัญและความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวเป็นนโยบาย และได้กระทำทุกๆทางที่จะให้ครอบครัวอันเป็นรากฐานสำคัญของชาติ มีความวัฒนาถาวรมั่นคง อันจะเป็นทางเพิ่มพูนวัฒนธรรม และส่งเสริมความเจริญแก่ประเทศชาติยิ่งๆขึ้นไปนั้น บัดนี้ยังปรากฏว่ามีผัวบางคนถือเหตุแห่งความอ่อนโยนประจำใจของเมีย ประพฤติการทารุณ เช่น การทุบตีด่าว่าเมียของตนต่างๆ เสมือนว่าเมียของตนเป็นทาสผู้บำเรอรับใช้ที่ต่ำศักดิ์ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าละอายไร้ศีลธรรม และเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติของประชาชาติยิ่งนัก ฉะนั้นจึงขอประกาศให้ได้ระลึกไว้ว่า ชายก็ดี หญิงก็ดี มีสิทธิและความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ เมื่อสมรสกันแล้ว ชายหญิงผู้เป็นผัวเมียย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติต่อกันด้วยความอารีและไมตรี ต้องทะนุถนอมความสัมพันธ์แห่งครอบครัวให้มีความผาสุก กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และให้เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไป หน้าที่ของผัวเมียนี้ ประมวญกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้โดยละเอียดแล้ว กฎหมายหาได้ให้อำนาจผัวที่จะทำการทารุณต่อเมียของตนอย่างใดไม่ ผัวไม่มีสิทธิที่จะลงโทษเมียตนด้วยตนเอง จะตั้งศาลเตี้ยชำระเอาเองหาได้ไม่ หรือคิดเห็นไม่ตรงกันและหาทางปรองดองกันด้วยดีไม่ได้ ก็มีอยู่ทางเดียวคือหย่าขาดจากการเป็นผัวเมียต่อกันเสีย การทารุณเช่นทุบตีต่างๆนี้ ไม่ว่าจะกระทำแก่บุคคลใด ย่อมเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมาย ดั่งนี้ถ้าผัวทุบตีเมียของตน ผัวก็เป็นผู้กระทำความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ฐานประทุษร้ายแก่ร่างกาย อาจได้รับโทษจำคุกถึง ๑๐ ปี เช่นตามมาตรา ๒๕๗ เป็นต้น หามีข้อยกเว้นแต่ปราการใดไม่ และศาลก็ได้พิจารณาลงโทษตามควรแก่กรณีไปหลายรายแล้ว ฉะนั้นจึงขอให้ผัวเมียจงปฏิบัติต่อกันด้วยความไมตรีและอารี ในฐานะที่มีสิทธิและความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญเท่าเทียมกัน และจงระวังการกระทำอันไร้ศีลธรรมและเป็นสิ่งที่น่าอดสูเสื่อมทรามนั้นเสียจงสิ้น อย่าได้วิวาททุบตีด่าว่าอันเป็นการกระทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวมัวหมองอีกต่อไปเลย และขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยเอาใจใส่ในการปฏิบัติของผัวเมียตามที่ประกาศนี้ด้วยดียิ่ง หวังว่าจะได้รับการปฏิบัติร่วมมือเป็นการสร้างวัฒนธรรมของชาติให้วัฒนาถาวรต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๘๖
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ข้อความท่อนท้ายตั้งแต่ ...และขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง...เป็นข้อความที่ “ท่านผู้นำ” เติมลงไปเองจนจบ

ต่อมาในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ ได้มีประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติในเรื่อง “วัฒนธรรมของผัวเมีย” ตามออกมาอีกฉบับ ลงนามโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่นกัน แต่ในฐานะ ประธานกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีความยาวถึง ๙ หน้ากระดาษ เกริ่นนำมาตั้งแต่ว่า เป็นกฎธรรมดาของโลก เมื่อมนุษย์เรามีอายุถึงคราวจะสืบพงศ์พันธุ์ให้แก่โลกตามหน้าที่ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์แล้ว ธรรมชาตินั่นเองก็จะกระตุ้นเตือนส่งเสริมให้ทั้งชายและหญิง มีความปรารถนาที่จะมีคู่ครองเป็นผัวเมียกัน เพื่อการสืบพงศ์พันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นเพื่อนร่วมชีวิต ร่วมสุข ร่วมทุกข์ ร่วมกันทำมาหากิน ปกป้องครองกันไปตลอดชีวิต

เมื่อชายหญิงคู่ใดเลือกเป็นคู่ครองฉันท์ผัวเมียกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ต้องพยายามปลูกฝังความรัก ความซื่อสัตย์สุจริต ความเชื่อใจกัน ความเข้าใจกัน การรู้จักเอาใจกัน การรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาต่อกัน การให้อภัยกัน การช่วยเหลือกัน เพื่อความสดใสยืนยาวในการที่จะอยู่ร่วมเป็นคู่ผัวเมียกันไปตลอดชีวิต

คู่ผัวเมียใดปกป้องครองกันด้วยความสดใสราบรื่นตลอดไป ก็นับว่าชีวิตของคู่นั้นสดใสและมีความสุขความเจริญ เมื่อมีบุตร บุตรที่เกิดมาก็เป็นเด็กที่แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่อ่อนแอขี้โรค มีจิตใจดีเฉลียวฉลาด และชาติที่มีพลเมืองเช่นนี้ ก็จะต้องเป็นชาติที่รุ่งเรืองเข้มแข็ง

แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคู่ผัวเมียอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความสุข มีเรื่องวิวาทบาดหมางกันเสมอแล้ว ลูกที่เกิดมาก็ย่อมอ่อนแอ มีจิตใจที่เสื่อมทราม ซึ่งก็จะทำให้ชาติอ่อนแอไปด้วย

แต่ทั้งๆที่ทุกคนหวังความสุขความเจริญในการครองชีวิตผัวเมีย ก็ยังมีการแตกร้าวกันขึ้น อันเป็นเหตุนำความยุ่งยากมาสู่ชีวิต แก่ลูก และวงศาคณาญาติ จนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลก็ไม่น้อย เหตุที่ผัวเมียแตกร้าวกันนี้ เท่าที่ได้ฟังได้เห็น เมื่อได้พิจารณาแล้ว ไม่ใคร่จะพ้นจากเหตุ ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ความเฉื่อยชาต่อการสืบพันธุ์ อันเนื่องด้วยขาดการอบรม หรือมีโรคภัยในทางกายและทางจิตใจ จนไม่สามารถหรือยินดีในการที่จะสืบพันธุ์

ประการที่ ๒ การพยายามจะมีอำนาจเหนือกันและกัน เพราะไม่เข้าใจกัน ไม่ยอมถ่อมตัวถ่อมใจเข้าหากันไม่ยอมให้อภัยกัน หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบกพร่องในหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อกัน

ประการที่ ๓ ความบาดหมางในเรื่องการเงิน เช่นหวังในทรัพย์ของแต่ละฝ่าย หรือเห็นแก่ตัว ไม่ยอมให้ต่างฝ่ายต่างใช้จ่ายตามสมควร หรือไม่ซื่อตรงต่อกันในเรื่องการเงิน จะด้วยประการใดก็ตาม

ประการที่ ๔ ความไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน หรือนอกใจกันโดยคบชู้สู่สาว

หนทางที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากการแตกร้าวกันกลางคันดังกล่าวแล้ว และเพื่อจะให้ชีวิตของการเป็นคู่ครองกันยั่งยืนตลอดไป ถ้าหากคู่ผัวตัวเมียจะตั้งใจแน่วแน่ทั้งสองฝ่ายว่า “เราจะต้องอยู่ครองกันด้วยความผาสุกไปจนกว่าชีวิตของเราทั้งสองจะหาไม่” และพยายามปฏิบัติต่อกันโดยผ่อนสั้นผ่อนยาว พฤติการณ์อันใดจะทำให้เกิดความหมองใจกันขึ้นก็ละเว้นเสีย

การที่ผัวเมียจะอยู่ด้วยกันด้วยความผาสุกเป็นผลเลิศ เป็นรากแก้วรากฐานไปถึงลูกหลานอันเป็นกำลังของชาติไทยในอนาคต สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงได้ออกประกาศเรื่องวัฒนธรรมของผัวเมียไว้ เพื่อเป็นแนวทางให้คู่ผัวเมียที่หวังความสุขความเจริญในชีวิตของตนเอง ของลูกหลาน และผลที่สุดเป็นของชาติ จะได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ คณะกรรมการซึ่งพิจารณาเรื่องวัฒนธรรมผัวเมีย ได้พยายามพิจารณาด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบแล้ว จึ่งได้พิจารณายึดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธจ้าเป็นหลัก แล้วได้พิจารณาจากหลักจิตวิทยาบ้าง และจากความรู้ความชำนาญของผู้มีความยืนยาวในชีวิตผัวเมียบ้าง นำมาประกอบพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น จึงหวังใจว่าแนวทางวัฒนธรรมผัวเมียที่ได้วางไว้นี้ ถ้าหากคู่ผัวเมียใดจะพยายามปฏิบัติตาม ก็จะทำให้ชีวิตคู่ผัวเมียนั้นรุ่งโรจน์แจ่มใสยืนยาว ประสบแต่ความสุขความเจริญทั้งในทางครอบครัวและการงานไม่มีวันถดถอย

แนวทางที่ผัวเมียจะพึงปฏิบัติต่อกันตามหลักของพระพุทธจ้ามีดังนี้
ก. ฝ่ายผัว

๑. ด้วยการยกย่องนับถือว่าเป็นเมีย จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้เกียรติพาไปออกงานสังคมตามโอกาส

๒. ด้วยการไม่ดูหมิ่น ไม่ด่าว่าทุบตี เหยียดหยาม

๓. ด้วยการไม่ประพฤติล่วงใจปรนเปรอหญิงอื่น ต้องถือว่าทรัพย์สินที่ได้มาเป็นของเมียของลูกด้วย นึกถึงชีวิตและอนาคตของลูก

๔. ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ให้ มอบให้ปกครองดูแลสมบัติและกิจการภายในบ้าน

๕. ด้วยการให้เครื่องแต่งตัวให้สมฐานะ ไม่แต่งอย่างซอมซ่อ

ข. ฝ่ายเมีย

๑. จัดการงานดี เอาใจใส่ดูแลบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน ตลอดจนคนที่อยู่ใต้ปกครอง

๒. สงเคราะห์คนข้างเดียวกับผัวดี พึงเคารพพ่อแม่ญาติมิตรของผัวดุจของตัวเอง ไม่ถือเอาเรื่องไม่เป็นสาระ หรือถ้อยคำกล่าวร้ายของผู้ที่เคารพนับถือของผัวมาเป็นอารมณ์

๓. ไม่ประพฤติล่วงใจ มีความซื่อสัตย์ภักดีต่อผัว พึงระลึกเสมอว่า จะมอบชีวิตและสละความพอใจของตนเพื่อผัว ไม่นอกใจนิยมยินดีในชายอื่น

๔. รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาให้ เป็นผู้มัธยัสถ์ รู้จักใช้จ่ายในทางที่ควร ไม่ตระหนี่ขี้เหนียวหรือฟุ่มเฟือยเกินไป

๕. ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ทั้งไม่เกียจคร้านที่จะหาความรู้ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่นอ่านหนังสือ และไปงานสังคมต่างๆตามโอกาส

นี่ก็เป็นทัศนะต่อวัฒนธรรมระหว่างผัวเมียในสังคมไทยในปี ๒๔๘๗ หรือเมื่อ ๗๒ ปีที่แล้ว

ประกาศของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติฉบับนี้กล่าวว่า ข้อพึงปฏิบัติต่อกันของผัวเมียนี้ เป็นเพียงหลักใหญ่ๆ ส่วนข้อย่อยยังมีอีกมากมาย ความสัมพันธ์ระหว่างผัวเมียเป็นความละเอียดสุขุมอย่างที่สุด และนิสัยคนเราก็ย่อมต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต้องเรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกัน ซึ่งถ้ามีใจรักกันแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปฏิบัติต่อกันเลย ความรักอันมั่นคงต่อกันนั้นจะกระตุ้นเตือนให้แต่ละฝ่ายนึกถึงกันและกันอยู่เสมอ พยายามที่จะทำเพื่อความพอใจของกันและกันตามสัญชาติญาณของมนุษย์

สรุปความว่า การครองชีวิตรักของคู่ผัวเมียให้ราบรื่นและยืนยาวตลอดไปนั้น เป็นสิ่งที่ต้องสร้าง ต้องทะนุบำรุง และต้องรักษา เช่นเดียวกับต้นไม้ เมื่อปลูกแล้วต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ตกแต่ง จึงจะงอกงามจำเริญ ได้ผลดีตามประสงค์ของผู้เป็นเจ้าของ

ข้อสำคัญที่สุด การครองรักของคู่ผัวเมีย จะต้องนึกอยู่เสมอว่า “ผัวเมียเป็นคนคนเดียวกัน มีชีวิตเป็นดวงเดียวกัน” จะสุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน จะร่วมและช่วยกันทุกสิ่งทุกอย่างไป ผัวสำเร็จผลดีในกิจการใดๆ ผัวจะต้องนึกเสมอว่า เมียของตนมีส่วนทำให้เกิดผลดีนั้นด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าผัวผิดหวังไม่ได้รับผลดีในกิจการใดๆ เมียจะต้องนึกเสมอว่า ตนมีส่วนทำให้ผัวเสียผลนั้นด้วย

เมื่อทั้งคู่ต่างปักใจมั่นเช่นนี้แล้ว ความรักก็จะทวีความสดชื่นไม่เสื่อมคลายไปตามระยะเวลา เพราะความเฉลียวฉลาดของคู่ผัวเมีย ซึ่งเข้าใจในการผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกันนั้นเอง

ประกาศมา ณ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ประธานกรรมการสถาวัฒนธรรมแห่งชาติ

ผู้นำสมัยก่อน แม้จะเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ ก็ยังมีจุดมุ่งที่ความเข้มแข็งของชาติ และความผาสุกในชีวิตครอบครัวของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ คนที่อ้าง “ประชาธิปไตย” มาปกครองประเทศ น่าจะมีความรู้สึกอายกันบ้างในเรื่องนี้
คำนำของจอมพล ป.และท่านผู้หญิงในหนังสือ “คู่มือสมรส”
การแต่งกายของหญิงไทยถูกปฏิวัติในยุค จอมพล ป. ภาพนี้เป็นปก “ไทยใหม่วันจันทร์” ปี ๒๔๘๓
ผัวเมียที่แตกกันอาจต้องแยกบ้านแบบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น