"สกุลไทย" ชื่อนี้เปรียบเสมือน "เพื่อน" หรือ "ญาติผู้ใหญ่" ของใครหลายคน ไม่แปลกที่ข่าวการปิดตัวของนิตยสาร "สกุลไทยรายสัปดาห์" จะขึ้นเป็นหัวข้อข่าวใหญ่ในสื่อหลายสำนัก และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ผ่านหัวข้อเสวนา "การยุตินิตยสารสกุลไทย กรณีศึกษาการอ่านของสังคมไทย ความเฉยเมยและไม่ประสีประสาของรัฐในการใช้เครื่องมือเอกชนส่งเสริมการอ่าน และคำถามถึงกระทรวงวัฒนธรรม"
ด้วยพลัง "ตัวอักษร" และ "อัตลักษณ์" ที่ "สกุลไทยรายสัปดาห์" มี ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่อยากชวนให้ทุกท่านได้ซึมซับแง่งามของนิตยสารเก่าแก่ระดับตำนานเล่มนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หากได้อ่านแล้วจะรู้ว่าทำไม "สกุลไทย" จึงเป็นนิตยสารที่ครองใจผู้อ่านมานานกว่า 60 ปี รวมไปถึงก้าวต่อไปหลังประกาศตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายสิ้นเดือน ต.ค.นี้...
ย้อนวันวาน "สกุลไทย"
เมื่อย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยนามว่า "สกุลไทย" นับเป็นหนึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ที่ก่อกำเนิดขึ้นจากความต้องการของสังคมและวัฒนธรรมการอ่านที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่ "สกุลไทย" ถือกำเนิดขึ้น สกุลไทยฉบับแรกออกวางตลาดเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือเมื่อ ๕๙ ปีที่แล้ว เป็นหนังสือขนาดแปดหน้ายกใหญ่ ราคา ๓ บาท โดยมีประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์เป็นเจ้าของและผู้จัดการ ลมูล อติพยัคฆ์ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
นายลมูล อติพยัคฆ์ บรรณาธิการบริหารคนแรก (เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2533)
ในขณะนั้นในตลาดหนังสือ มีนิตยสารสำหรับผู้หญิงเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้น และเป็นยุคที่กิจการสิ่งพิมพ์ไทยกำลังเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู สกุลไทยจึงได้เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ของผู้อ่าน โดยมุ่งนำเสนอนิตยสารที่มีนวนิยายเป็นเนื้อหาหลัก และมีสารคดีและคอลัมน์ปกิณกะบันเทิงต่างๆ เป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้สกุลไทยยังได้กำหนดบทบาทของตนเองในฐานะนิตยสารรายสัปดาห์แนวสาระและบันเทิงสำหรับครอบครัว
โปรดอ่านต่อสัปดาห์หน้า
ด้วยความที่ "สกุลไทย" เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ในเนื้อหาของสกุลไทยโดยเฉพาะนวนิยายขนาดยาว ซึ่งลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ จะต้องมีคำลงท้ายในนวนิยายแต่ละบทแต่ละตอนว่า "โปรดอ่านต่อสัปดาห์หน้า" เป็นการบอกกล่าวให้รู้ว่านวนิยายในตอนนี้จบลงแล้ว ขอเชิญผู้อ่านติดตามต่อไปในฉบับหน้า ซึ่งในบางครั้งหลายท่านอาจจะขัดอกขัดใจเมื่อพบต้องพบกับคำนี้ขณะที่กำลังอ่านนิยายอยู่อย่างเพลิดเพลิน
"โปรดอ่านต่อสัปดาห์หน้า" นับเป็นการเชิญชวนผู้อ่านสู่โลกการอ่านและพบกับสกุลไทยทุกสัปดาห์ถ้อยคำนี้ปรากฏอยู่ในสกุลไทยตั้งแต่ฉบับแรก ยาวนานต่อเนื่องมาถึงฉบับปัจจุบัน และกลายเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของนิตยสารเล่มนี้ที่ไม่ซ้ำแบบใครนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
"สกุลไทย" ชื่อนี้มีที่มา
จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา ชื่อ "นิตยสารสกุลไทย" เป็นชื่อนิตยสารที่เคยมีมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ ๖-๗ ต่อมา ลมูล อติพยัคฆ์ บรรณาธิการคนแรกของสกุลไทยได้นำชื่อมาเขียนแบบตัวอักษรว่า "สกุลไทยรายสัปดาห์" เป็นตัวอักษรไทยสีเหลืองบนพื้นดำ และภายหลังจึงได้มีการเพิ่มเติมรูปช้างเอราวัณสามเศียรเข้าไปด้านล่างซ้ายของหัวหนังสือใต้คำว่า "สกุลไทย"
ในความเชื่อของศาสนาฮินดู ช้างเอราวัณเป็นพาหนะหนึ่งในสามเชือกของพระอินทร์แต่ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีพละกำลังมากที่สุดและเป็นที่โปรดปรานของพระอินทร์มากที่สุด บทบาทและหน้าที่สำคัญของช้างเอราวัณคือนำพระอินทร์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งบนสวรรค์และโลกมนุษย์เพื่อดูแลทุกข์สุขของมนุษย์ ช้างเอราวัณถือเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นสัญลักษณ์สำคัญของอย่างหนึ่งของพระอินทร์ และเป็นสัญลักษณ์ของการกระทำดี ความอุดมสมบูรณ์ ในงานศิลปกรรมต่างๆ จึงนิยมทำรูปช้างเอราวัณควบคู่ไปกับพระอินทร์ หรือทำเป็นรูปช้างสามเศียร
หลังจากการเพิ่มเติมรูปช้างเอราวัณสามเศียรแล้ว หัวหนังสือสกุลไทยก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกเลยจนถึงปัจจุบัน ตัวหนังสือสีเหลืองบนพื้นดำนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่าทุกสัปดาห์ใน ๕๙ ปีที่ผ่านมาบนหน้าแรกของสกุลไทย ให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึง "การมีอยู่" ของสกุลไทยทั้งบนแผงหนังสือ บนโต๊ะหนังสือ ในห้องทำงาน ในบ้านหลังเล็กหลังใหญ่ของผู้อ่านเกือบทุกระดับในเมืองไทยจากวันนั้นจนถึงวันนี้
เบื้องหลัง "ปกสกุลไทย"
ภาพปกภาพแรกของสกุลไทย มีนางแบบคือ คุณบุญปรง ศิริธร ไม่มีแฟชั่นภาพสีในเล่ม เนื่องจากภาพสีมีเพียงหน้าปกหน้าและปกหลังเท่านั้น แต่เป็นภาพแฟชั่นในหน้าขาวดำ ส่วนเนื้อหาที่เหลือเป็นขาวดำทั้งหมด ภาพปกสกุลไทยส่วนใหญ่จะเป็นภาพสุภาพสตรีที่มีบุคลิกหน้าตาดี ต่อมาเป็นดารานักแสดง นางงาม และสุภาพสตรีที่อยู่ตระกูลดี มาแสดงแบบเสื้อผ้า ต่อมาในปี ๒๕๐๒ สกุลไทยได้มีการปรับปรุงหน้าปกและแฟชั่นให้มีสีสันสะดุดตามากขึ้น รวมถึงพิถีพิถันในการเรื่องการเฟ้นหาสุภาพสตรีที่จะมาแสดงแบบบนภาพปกสกุลไทย
ในยุคก่อนนั้นสกุลไทยได้ชื่อว่าเป็นนิตยสารที่ร่วมสมัย แฟชั่นที่นำเสนอสู่ผู้อ่านในบางฉบับก็มีความหวือหวาอยู่บ้างเพื่อให้มีสีสันและเกิดกระแส เช่น นางแบบสวมชุดเกาะอก ใส่ชุดว่ายน้ำถ่ายแบบเป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อสกุลไทยก้าวมาสู่อีกยุคหนึ่งในปัจจุบัน ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นนิตยสารเก่าแก่ และมีกลุ่มผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ทำให้ภาพแฟชั่นที่หวือหวาไม่เป็นที่นิยมมากนัก
ดังนั้น การนำเสนอภาพปกแฟชั่นในปัจจุบันของสกุลไทยจึงพยายามระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำเสนอภาพที่ล่อแหลมหรือยั่วยุทางเพศ ซึ่งบางครั้งบางคราที่มีการนำเสนอภาพนางแบบที่เปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไปก็มักจะได้รับเสียงติติงแต่พองามจากท่านผู้อ่าน ซึ่งคำท้วงติงเหล่านี้เองเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมิตรจิตมิตรใจของผู้อ่านและเสมือนหนึ่งว่ามี "เพื่อนร่วมงาน" ที่หวังดีและจริงใจอย่างที่สุดนั่นเอง
นอกจากภาพปกแฟชั่นแล้ว สกุลไทยยังคงยึดมั่นในการยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นนโยบายที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหนังสือ ด้วยการนำเสนอภาพปกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์
การอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นบนปกสกุลไทยนั้น ต้องมีความระมัดระวังอย่างสูงในการจัดทำ ทั้งในเรื่องการเลือกภาพอย่างพิถีพิถัน การจัดวางตำแหน่งของหัวหนังสือให้มีความเหมาะสมโดยจะวางหัวหนังสือไว้ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ทุกครั้ง ขณะที่โดยปกติหากเป็นภาพปกแฟชั่นจะมีการวางหัวหนังสือไว้ด้านบนซ้ายของปก นอกจากนี้การจัดทำปกพระบรมฉายาลักษณ์ยังมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งที่ต้องระมัดระวัง เช่น การจัดหน้า เนื่องจากปกหลังของสกุลไทยเป็นภาพโฆษณา หากมีโฆษณาสินค้าในภาพปกด้านหลัง ก็จะต้องมีระมัดระวังไม่นำสินค้าที่ไม่เหมาะสมมาวางคู่ในตำแหน่งเดียวกับพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เมื่อได้มีการตรวจพบความผิดพลาดนั้นแม้หลังจากพิมพ์ภาพไปแล้ว ทางสกุลไทยจะสั่งยกเลิกภาพที่พิมพ์ผิดพลาดนั้นไปทั้งหมด เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ และดำเนินแนวทางการยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง
ปัจจุบัน "สกุลไทย" ได้ถวายความจงรักภักดีด้วยการยึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นปกสกุลไทยในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในเทศกาลหรือโอกาสพิเศษ เช่น ในวาระวันขึ้นปีใหม่ วันครบรอบปีของสกุลไทย
เลขไทย คู่ "สกุลไทย"
ถ้าใครเป็นแฟนพันธ์แท้นิตยสารเล่มนี้ คงสังเกตเห็นว่าสกุลไทยเป็นนิตยสารที่ใช้ตัวเลขไทยมาตั้งแต่ฉบับที่ ๑ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการใช้เลขไทยในนิตยสารสกุลไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงเพื่อเป็นการสืบทอดการใช้ตัวเลขไทย แต่ด้วยโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง การใช้เลขไทยในสกุลไทยก็ยังมีการอนุโลมอยู่บ้างในบางกรณี เช่นในกรณีที่ต้องใช้ปะปนกับภาษาอังกฤษ ก็สามารถใช้เลขอารบิกได้ เช่น Terminal 21 หรือถ้าเป็นตัวเลขที่ต้องใช้ตามหลักสากลก็จะใช้เลขอารบิก ฝ่ายที่ควบคุมการใช้เลขไทยอย่างเคร่งครัดในสกุลไทยคือฝ่ายเรียงพิมพ์และพิสูจน์อักษร ฝ่ายเรียงพิมพ์นั้นต้องคอยแก้ตัวเลขที่ผู้เขียนเขียนเป็นเลขอารบิกมาให้เป็นเลขไทย
(เรียบเรียง และหยิบยกบางส่วนบางตอนมาจากเรื่องพิเศษเนื่องในวาระสกุลไทยก้าวสู่ปีที่ ๖๐ ตีพิมพ์ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๕๗ เรื่องโดย พิชามญชุ์)
ก้าวต่อไปของ "สกุลไทย"
สำหรับความคืบหน้าหลังออกแถลงการณ์ยุตินิตยสารสกุลไทย แหล่งข่าวระดับสูงของ "สกุลไทย" ให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าวผู้จัดการ Live ในเบื้องต้นว่า ตอนนี้มีผู้อ่านแสดงความห่วงใยเข้ามาเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บางส่วนให้ความสนใจกับนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๓๒๓๗ โดยจะวางตลาดเป็นฉบับสุดท้ายในวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางสกุลไทยตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด
"ความห่วงใยจากผู้อ่านที่เข้ามา หลายท่านมีข้อเสนอแนะช่วยกันหาวิธีไม่ให้สกุลไทยรายสัปดาห์ต้องปิดตัวลง ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่จริงๆ มันมีปัจจัยอื่นๆ หลายอย่าง ตอนนี้หน้าที่ของเราก็คือทำฉบับสุดท้ายออกมาให้ดีที่สุด ส่วนเฟซบุ๊กเราก็มีการอัปเดตข้อมูลตามปกติ หรือสกุลไทยออนไลน์เองที่เป็นช่องทางให้บริการเรื่องข้อมูล เมื่อก่อนจะทำการอัปโหลดข้อมูลที่เป็นบทความลงไปทั้งหมด แต่ระบบมันพัง ต้องค่อยๆ เริ่มขึ้นมาใหม่ และยังไม่ได้เชื่อมโยงกับเฟซบุ๊ก เพิ่งจะมาจริงจังในช่วงประมาณ 4-5 เดือนที่ผ่านมานี่เอง"
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการ "ฟื้นคืนชีพ" หนังสือสกุลไทยในรูปแบบ "สื่อดิจิตอล" แหล่งข่าวท่านนี้บอกว่า น่าจะพอทำได้
"ถ้ามองในแง่ของฉบับออนไลน์จริงๆ แล้ว โดยศักยภาพของสกุลไทยเอง เราก็น่าจะพอทำได้นะ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่มีคนพูดถึงกันเยอะก็คือ แฟนเก่าที่เหนียวแน่นของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ยังคงติดรูปแบบที่เป็นกระดาษกันอยู่ แม้จะบางส่วนจะไม่มีปัญหาที่จะอ่านในออนไลน์ ซึ่งก็คงต้องดูกันอีกที ปัจจุบันเราก็มีการทดลองด้วยการเอาเรื่องที่ลงในสกุลไทยมาลงให้อ่านฟรีในออนไลน์ เช่น ศิลปวัฒนธรรม คอลัมน์บ้านเก่า เพื่อทดลองดูว่าผู้อ่านจะรับไหม จนถึงตอนนี้ก็ยังจะทำอยู่จนกว่านิตยสารจะปิดตัวลง"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754