xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยเก่งได้อีก!! “ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย” ช่างภาพใต้น้ำชนะเลิศรางวัลระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้วยความที่หลงรักทะเลมาตั้งแต่เด็ก แต่อาจจะมีมุมหักเหให้เกือบไปเป็นนายแพทย์อยู่บ้าง แต่ด้วยความสนใจที่ไม่เปลี่ยน ทำให้ ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ได้ต่อยอดความสนใจของตนเอง ด้วยการทำหน้าที่ช่างภาพใต้น้ำสายเลือดใหม่ จนเริ่มสร้างชื่อในวงการขึ้นมาทีละนิดๆ

ผู้ชนะเลิศรางวัลช่างภาพใต้น้ำระดับโลกจากองค์กร Save Our Seas Foundation ประจำปี 2016 เอาชนะช่างภาพจากทุกมุมโลกด้วยภาพที่เขาถ่ายในระหว่างการทำวิจัยมาเป็นระยะเวลานาน แถมการชนะในครั้งนี้ เขาเองก็ยอมรับด้วยว่าเกินความคาดหมายมาก เพราะเขาเพิ่งเริ่มถ่ายรูปมาได้ไม่ถึง 5 ปีดีด้วยซ้ำ

ในช่วงกลางปีนี้ ศิรชัย กำลังจะเดินทางไปฝึกงานการถ่ายภาพร่วมกับทีมงาน นิตยสาร National Geographic ไกลถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วจะต่อยอดไปถ่ายสารคดีที่ประเทศบาฮามาส ดินแดนที่มีฝูงฉลามที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งถือว่าเป็นน่าจะสร้างประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่และเกียรติประวัติที่สำคัญให้กับศิรชัยได้พอสมควรเลยทีเดียว

• จุดเริ่มแรกของคุณกับทะเล มันเริ่มจากตรงไหน

ตั้งแต่เด็กเลยครับ คุณพ่อคุณแม่ผมชอบดูสารคดี ผมก็นั่งดูด้วย เช่น รายการพวกฉลามผ่านจอ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นสารคดีทางญี่ปุ่น และเขาจะพาผมไปทะเลบ่อยๆ ไปเดินเล่นริมชายหาด ท่องทะเลไปดูว่ามีตัวอะไรในทะเลบ้าง ประกอบกับได้อ่าน National Geographic ด้วยตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าปกแรกเป็นรูปปลาฉลามฟันเลื่อยจากทะเลแทสเมเนีย ปกสวยมาก จนทำให้เราซื้อเก็บมาอ่านตลอด ก็ชอบทะเลมาตลอด แต่ ตอนเด็กก็ไม่ได้เห็นว่ามันจะเป็นอาชีพได้เช่นทุกวันนี้ เพราะชอบวิทย์ก็คงต้องเรียนหมอ คือเริ่มคิดมาตั้งแต่ประถมปลายแล้วว่าต้องเป็นหมอแล้วสินะ

จนถึงช่วงมัธยมต้น ที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร ผมก็พยายามที่จะเข้าเรียนสายวิทย์-คณิต เพื่อที่จะได้เข้าหมอให้ได้ แต่มารู้ความจริงว่า ผมไม่ได้ให้เรียนสายวิทย์-คณิต โดนตัดไปสายศิลป์-คำนวณ แทน ความคิดในตอนนั้นเลยทำให้รู้สึกว่า แล้วจะไปต่อยังไง อีกอย่าง ผมก็มีปัญหาเรื่องเรียนเหมือนกัน แบบอาจารย์พูดอะไรก็ตาม เราจะคิดแบบว่า ...ไม่ใช่ว่ะ คือตอนนั้น ผมโดนอาจารย์ไม่พอใจนะ เช่น เวลาเขาสอนภาษาให้ เราก็แย้งไปว่ามันไม่ถูกหรือเปล่า ผมอาจจะเป็นเด็กที่มารยาทไม่ค่อยดีด้วยมั้ง สมุดพกออกมาแย่มากเลย ทีนี้ผมก็ปรึกษาที่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมได้ไปซัมเมอร์ที่นิวซีแลนด์ ซึ่งฐานะทางบ้านในตอนนั้นยังโอเคอยู่ ก็เลยโดนส่งให้ไปอยู่ที่นั่น ที่บ้านก็เล็งเห็นแล้วว่าจะให้ลองไปมั้ย สุดท้ายก็ได้ไป แล้วก็ถือว่าโชคดีตรงที่ไปถึงปุ๊บได้ข้ามชั้นไปม.5 จากตอนที่ยังไม่จบ ม.3 ดี ซึ่งประหยัดเวลาได้เยอะมาก

• พอเริ่มสนใจเรื่องทะเลแล้ว ตอนนั้นเราพอที่จะรู้ปัญหาในเรื่องทะเลไทยมั้ย

ไม่นะครับ ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหา คือในช่วงวัยนั้น ได้เห็นจากภาพที่เราเสพมาแหละ แต่ประเด็นที่มาจากประเทศไทย ผมไม่ได้อ่านได้รู้อะไรขนาดนั้น ผมก็เริ่มดำน้ำที่นิวซีแลนด์ เพราะเงินรายเดือนของผมมันไม่พอใช้ เพราะไปเล่นเกมเซ็นเตอร์หมด ข้าวไม่ค่อยมีกินเท่าไหร่ ไปอยู่บ้านรุ่นพี่ ก็ไปตกปลาริมทะเล จับหอยจับกุ้งกินนี่นั่น ก็เลยเริ่มดำน้ำเป็นเรื่องเป็นราว คือแบบล่าเลย จับเป๋าฮื้อ ไล่ล็อบสเตอร์ ยิงปลา

• 2 ปีที่นิวซีแลนด์ ก็ค่อนข้างเป็นใจให้เรามาก

ผมไปอยู่กับทะเลแล้วข้างหลังเป็นภูเขาเลยนะ ชีวิตนี่คือไทม์เอาท์ดอร์ คนที่นั่นเป็นอย่างงั้นเลย ว่างเมื่อไหร่ก็เดินเล่นในป่าเลย ว่างๆ ผมก็เห็นเด็กมัธยมไปนั่งเล่นริมท่าเรือ ตกปลากัน ผมว่ามันเป็นชีวิตที่ดีและน่าอยู่มาก แต่ว่าค่าครองชีพก็โหดเกิน ซึ่งการไปอยู่ที่นั่นมันให้ 2 อย่างครับ มันทำให้ผมได้เรียนวิทยาศาสตร์ต่อ แล้วเกรดค่อนข้างดี มีความสุขมาก แต่ก็ยังอยากเป็นหมออยู่นะ อย่างที่สองคือมันให้อิสระทางความคิด เรียนง่ายมาก ผมรู้สึกว่าตอนเรียน ม.ปลายที่นั่นมันง่ายมากเหลือเกิน เข้าใจง่าย และให้ทัศนคติพื้นฐานที่ดีมากที่จะเอาไปใช้งานได้

• อยากจะเป็นแพทย์อยู่ดีๆ แล้วจุดเปลี่ยนมันเริ่มต้นตรงไหนถึงได้ไปสายสิ่งแวดล้อม

ตอนที่ผมกลับมาเมืองไทย เข้าเรียนด้านชีวการแพทย์ที่มหิดลอินเตอร์ เพราะยังอยากเป็นหมออยู่ ก็ไปทำกิจกรรมดำน้ำทำชมรมครับ สุดท้ายก็มาคิดว่าทะเลไทยนี่สวยนะ ตอนอยู่นิวซีแลนด์ ทะเลจะขุ่น หนาว และเกือบตายก็เคย เพรามันหนาวมากและน้ำแรงตอนจะจับหอยกิน พอกลับมาไทย เราได้พบว่าทำไมท้องทะเลไทยมันสวยขนาดนี้ สวยมากๆ ประทับใจ จนเราตั้งคำถามให้กับตัวเองว่าการดำน้ำนี่มันสุดยอดเลยนะ ทะเลไทยมันสุดยอดไปเลย มันเหมือนในภาพที่เราเห็นในสารคดีตอนเด็กๆ ก็เริ่มคิดว่าวิทยาศาสตร์ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหมอแล้ว คือถ้าจบวิทยาศาสตร์การแพทย์เสร็จ ก็ต้องไปต่อหมออีก ก็เริ่มคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม ท้องทะเล สัตว์น้ำ โดยเฉพาะฉลามเพราะเป็นตัวที่เท่มาก ผมก็ตัดสินใจว่าทำสิ่งแวดล้อมละกัน เราก็ไปดำน้ำเรื่อยๆ เทอมหนึ่งก็หลายครั้ง เราก็ได้เห็นว่าทะเลเปลี่ยนไป คือจากสัตว์ใหญ่ที่เคยเห็นได้บ่อยๆ มันก็ไม่ค่อยมีเหมือนเดิม ปะการังเริ่มตายลงไป เราเริ่มเห็นว่ามันเปลี่ยนไปเร็วนะ จนเราสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น คือสนใจอยู่แล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงแล้ว เราก็เอาวะ สิ่งแวดล้อมเลย เปลี่ยนแนวเลย หลังจากนั้นก็เรียนสายสิ่งแวดล้อมเลย

• ทีนี้ พอเราได้เปลี่ยนสาขามาทางนี้แล้ว ได้ให้อะไรกับคุณเพิ่มเติมบ้าง

อาจารย์ก็ให้เราไปเป็นผู้ช่วย เพราะเราทำกิจกรรมนอกสถานที่บ่อย ผมก็วิ่งตามอาจารย์เข้าป่าไปดูแลนักเรียน หรือบางวิชาที่มีดำน้ำ ผมก็ไปเก็บข้อมูลกับอาจารย์ ตอนเรียนเราสนุก เกรดผมก็ไม่ได้ดีนะ แล้วผมก็จบช้าด้วย เพราะผมทำธีสิส คือไปอยู่เกาะเต่า 1 ปี ไปเก็บข้อมูลและทำงานดำน้ำที่นั่น ตอนนั้นทำเรื่องปะการังครับ ไปเก็บข้อมูลเรื่องความสามารถในการฟื้นฟูปะการังโดยโครงสร้างโลหะที่ใช้ไฟฟ้า คือมันมีอยู่แล้วที่นั่น ซึ่งผมไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติม แล้วบังเอิญที่ปีนั้นปะการังเกิดการฟอกขาวเลยทำให้ตายเกลี้ยง ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศน์ มันเป็นเรื่องจริงและรุนแรง และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แต่เรื่องนี้มันยังไม่เป็นที่แพร่หลาย คือผมสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมข่าวประเภทนี้มันไม่ได้ต่อยอดออกไปเป็นที่พูดคุยกันในสังคม

• แล้วคุณเริ่มสนใจในการถ่ายภาพลักษณะนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ถ้าเริ่มสนใจถ่ายภาพจริงๆ ก็เริ่มจากการถ่ายเพื่อเก็บข้อมูลดูว่าตรงนี้มีอะไรบ้าง ถ่ายเอาสนุกบ้าง คือถ่ายไปเรื่อยๆ ครับ ไม่ได้คิดอะไรมากเลย พอเราถ่ายไปเรื่อยๆ ปรากฏว่ามันสนุก และคิดว่าจะสามารถต่อยอดไปกว่านี้ได้มั้ย เลยมาศึกษาเรื่ององค์ประกอบภาพ องค์ประกอบศิลป์ อย่างบางครั้งที่ไปดำน้ำก็เจอคนที่มาดำน้ำที่เขาถ่ายรูปเป็น เราก็จะถามเขาว่าใช้ยังไงครับ สอนผมได้มั้ย เราก็ได้วิชามาบ้าง และมาประยุกต์ใช้กับตัวเรา ก็ค่อยๆ พัฒนาและถ่ายมาเรื่อยๆ และแข่งประกวดมาเรื่อยๆ ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถือว่าเรียนรู้บนเวทีไปว่าอะไรคือได้และไม่ได้

จนมันมีเวทีที่มีผลกับผมมากคือเวที Thailand Dive Expo ปี 2013 ผมได้เก็บภาพที่หายากมารูปหนึ่งได้ เป็นรูปของการออกไข่ของปะการังครับ แล้วคณะกรรมการรู้ว่ามันเป็นภาพอะไร แล้วรูปในลักษณะนี้มันมีน้อยมาก มีแค่ปีละครั้งสองครั้ง ไม่ใช่ภาพที่หาง่าย รูปนี้ผมเฝ้าอยู่ประมาณอาทิตย์หนึ่งเลย ไปเฝ้าอยู่ในน้ำตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงห้าทุ่มทุกคืน เนื่องจากระบุไม่ได้เหมือนกันว่าออกกี่โมง เราก็ไปนั่งเฝ้าเลย

งานนี้เรานั่งเฝ้ากับทีมอนุรักษ์ที่เกาะเต่านะ ที่มี Chad Scott เป็นหัวหน้าโครงการ เขาเป็นคนที่ค้นพบเวลาที่ปะการังออกไข่ที่นั่น ไปเฝ้าอยู่นานมาก เพราะว่าเราไม่รู้วันที่ชัดเจน ต้องดูกระแสน้ำและอื่นๆ ด้วย แต่รูปนั้นกรรมการเข้าใจ พอได้รับรางวัลแล้ว เราก็คิดว่าน่าจะไปต่อในทางนี้ได้ แต่ตอนนั้นยังใช้กล้องคอมแพ็คอยู่เลย ประมาณ 2-3 ปี แล้วก็พอมีเงินเก็บจากการทำงานบนเกาะจากการสอนนักเรียนต่างชาติบนเกาะ ก็พอมีรายได้บ้าง ก็รวมเงินมาซื้อกล้องใหญ่จนหมดบัญชีเลยครับ
อีกเวทีที่ผมว่าสำคัญมากคือประกวด 10 ภาพเล่าเรื่องของ National Geographic Thailand ครับ ที่ให้ส่งภาพเชิงสารคดี ตัวผมเองได้เรียนรู้อะไรมากจากเวทีนี้ โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายเพื่อสื่อสารข้อความออกมาให้ถึงคนครับ พูดได้ว่าเวทีนี้เปลี่ยนมุมมองการถ่ายรูปของผมไปเลย เป็นประสบการณ์ล้ำค่ามากครับ


• แล้วไปร่วมแข่งขันกับทาง Save Our Seas Foundation รางวัลที่ได้มาล่าสุดยังไงครับ

ผมเคยส่งไปรอบหนึ่งในปี 2014 ครับแต่ก็ไม่ได้เข้ารอบ ระหว่างนั้นเราก็ฝึกด้วยตัวเองไปในตัว รับงานถ่ายรับจ้างไปด้วย ทำวิจัยปริญญาโท เก็บภาพของตัวเอง และส่งแข่งงานต่างๆไปด้วย ถือว่าเป็นช่วงที่เร่งเก็บงานและประสบการณ์ครับ จนมาปีนี้ 2016 ผมก็มาส่งอีกครั้ง ในงานประกวดมีทั้ง 2 อย่างคือดู portfolio และ photo story ซึ่งเราต้องแยกอย่างละ 10 ภาพ รวม 20 ภาพ ซึ่งก็มานั่งคัดผลงานเราเคยถ่ายมาตั้งแต่ก่อนไปอยู่เกาะเต่าจนถึงปัจจุบันนับเป็นหลักแสนภาพ ซึ่งคัดยากภาพนี่ยากกว่าไปถ่ายภาพอีกนะครับ ก็เลยมานั่งคัดว่าส่งอะไรดีซึ่งอันนี้ยกเครดิตให้ทีมงาน National Geographic Thailand นะ เพราะสอนมุมมองในการวางเรื่องวางภาพให้เล่าประเด็นเชิงสารคดีอะไรได้ชัดเจนครับ

• ทางกรรมการเขาบอกเหตุผลอย่างไรครับว่าทำไมถึงได้รางวัล

เขาบอกว่าภาพผมแปลกครับ เป็นภาพที่เขาไม่เคยคิดว่าจะมีอย่างงั้น เขาคงไม่เคยเห็นตัวพะยูนโดนตัดหัวขาดขนาดนี้ ชิ้นส่วนฉลามที่ถูกเรียงเป็นชิ้นๆ และก็ภาพเรือประมง จริงๆเรือประมงครึ่งบกครึ่งน้ำมีคนถ่ายเคยแล้วครับ แต่ผมก็คิดว่าบังเอิญมากที่ถ่ายออกมาได้แบบนั้น ไม่ได้คิดในหัวเลยนะว่าจะถ่ายยังไงดี เพราะสถานการณ์ตอนนั้นฉุกละหุกมาก แต่พอขึ้นมานั่งคัดรูปดูภาพมันออกมาได้ตามที่เราต้องการเลย ก็คงต้องบอกว่าโชคดีมากครับในเรื่องของจังหวะ เวลาผมออกถ่ายรูปผมมักคิดช็อตเตรียมไปตลอด แต่รูปนั้นไม่ได้คิดเพราะไม่นึกว่ามันจะถ่ายได้จริงๆ ซึ่งถือว่าโชคดีมากครับ

• ช่างภาพแต่ละคนก็จะมีแนวทางของตัวเอง สำหรับคุณคืออะไรครับ

ต้องดูแต่ละภาพด้วยครับว่าเป็นยังไง เพราะใช้แนวคิดคนละอย่าง ส่วนการทำงานของผม ตัวเนื้องานจริงๆ ไม่ใช่แค่ในน้ำหรือบนบก การสื่อในประเด็นของผมมันเหมือนกับการนำเสนอแบบเชิงข่าว คือการให้เฟรมๆ นั้นมีความหมายมากกว่าภาพภาพเดียว คือให้ภาพนั้นพูดความหมายมากกว่า 1-2 ประโยค ให้คนเข้าใจ มันมีคำพูดอยู่ในภาพมันสื่ออะไรออกมา มันอาจจะไม่ชัดเจนเหมือนกับสะกดให้อ่าน แต่มันเป็นภาษาภาพ

• รางวัลที่ได้รับก็คือการได้ไปฝึกงานที่วอชิงตัน

ผมได้ไปฝึกกับ บ.ก.อาวุโสของเขาในด้านธรรมชาติ ชื่อ Kathy Moran กับอีกคนคือ David Griffin อดีตผู้กำกับภาพของ National Geographic ซึ่งจะได้มือพระกาฬสองคนนี้คอยช่วยดูเรื่ององค์ประกอบต่างๆของชุดภาพให้ครับ เพราะว่าสารคดีเรื่องหนึ่งมันไม่ได้วัดที่ภาพภาพเดียว แต่วัดทั้งเซ็ทเลยว่าจะเรียงยังไง แล้วคนที่สามที่จะช่วยคือ Thomas P. Peschak เป็นช่างภาพใต้น้ำ ผมคิดว่าเขาเป็นช่างภาพรุ่นใหม่ของ National Geographic ที่สุดยอดมาก มีงานออกมาเยอะมาก ออกมาปีหนึ่ง 2-3 เรื่อง แถมภาพของเขาพัฒนาขึ้นเรื่อยๆไปตลอดที่เราได้ติดตามดู
ผมคิดว่าภาพของ National Geographic ทั้งในไทยและต่างประเทศภาพมันมีพัฒนาการไปเรื่อยๆนะครับโดยเฉพาะเรื่อง Concept ในการเล่าเรื่อง เป็นภาษา Visual Language ไม่ใช่แค่ไปถึงแล้วเก็บภาพสวยๆอย่างเดียว มันคล้ายๆ กับการมีวาทศิลป์ในภาพ ซึ่ง Thomas P. Peschak เป็นคนที่เก่งมากในเรื่องนี้ ภาพเขามีพัฒนาวิธีเล่าไปสื่อสารไปเรื่อยๆ ซึ่งการที่เขาจะเป็นคนเทรนด์ผมเป็นเวลา 1 ปี นี่เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าครับ ทุนนี้ผมจะได้ไปวอชิงตันก่อน 4วัน ไปที่สำนักงานของ National Geographic คุยเรื่องคำแนะนำและปรับโครงเรื่อง เสร็จแล้วไปที่ iLCP ซึ่งเป็นสมาคมเล็กๆของนักถ่ายภาพเชิงอนุรักษ์ทั่วโลก  ผมก็จะได้ไปที่นั่นเหมือนกัน เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับช่างภาพอาวุโสคนอื่นๆ พอเสร็จจากตรงนั้น เขาก็ส่งไปประเทศบาฮามาส ไปถ่ายที่นั่นประมาณ 1 เดือน ตอนนี้ก็จัดการเรื่องเดินทาง คาดว่าน่าจะไปในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ครับ ตอนนี้ก็เลยต้องเตรียมตัวคือเขียน proposal เรื่อง นั่งวาด draft เขียน concept ภาพเตรียมไปก่อน ซึ่งผมก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดทุกอย่างครับ
 

• จากที่ได้คลุกคลีกับท้องทะเลไทยมา อยากให้ลองวิเคราะห์หน่อยครับว่ามันไปถึงขั้นไหนแล้ว

ปัญหามันมีหลายด้านครับ หนักเบาต่างกัน เรื่องการบริหารทรัพยากรทางทะเลนี่ผมว่าเป็นอะไรที่ก็น่ากังวล เช่นการท่องเที่ยวฮะ เพราะว่าเรารับนักท่องเที่ยวประเภทไหนเข้ามากัน เงินเข้าถึงคนไทยในพื้นที่หรือเปล่าครับ เข้าผู้ประกอบการหรือเข้ากับใคร เงินที่เก็บค่าอุทยานได้ลงในสิ่งที่สมควรลงเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรบ้านเราหรือเปล่า ผู้ประกอบการได้พานักท่องเที่ยวไปใช้ประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบหรือเปล่า พฤติกรรมที่ไม่ควรทำของนักท่องเที่ยวได้ถูกควบคุมกันบ้างไหม

• แล้วพฤติกรรมนักท่องเที่ยวละครับ

อาจจะไม่รู้เองก็ได้มั้งครับว่าบางอย่างมันไม่ควรทำ ส่วนความมักง่ายก็เป็นอีกเรื่อง คนที่เขาไม่รู้ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ผมว่าเพราะเห็นคนทำมาก่อน ก็เลยคิดว่ามันทำได้ เหมือนแสดงให้เห็นเลย อย่างเรื่องทิ้งขยะ บางคนนี่เห็นก็โยนทิ้งเลย ผมมองว่าที่เขาโยน อาจเป็นเพราะว่ามีขยะอยู่ที่พื้นก่อนแล้วหรือเปล่า คนคงจะคิดอย่างงี้นะ แต่ถ้ามีขยะแล้วได้เห็นคนเก็บขยะไปทิ้งล่ะ คือถ้าไม่ใจร้ายจริงไม่ทำ ผมว่าสิ่งที่ควรคือตัวเราต้องทำตัวอย่างให้เห็นด้วย ด่าอย่างเดียวคงไม่ได้ ใครจะอยากฟังคนมาด่า เลยต้องทำอะไรให้เห็นเป็นตัวอย่างครับ  เหมือนเจตนารมณ์จุดยืนของเราที่จะค้านกับสิ่งพวกนี้ มีขยะกองอยู่ กูเก็บเองก็ได้ เดินเก็บไป ถ้ามีคนเห็น มันน่าจะมีปฎิกิริยาไม่มากก็น้อยอยู่ คือไปด่าด้วยภาษาไทยมันก็เท่านั้น เราทำให้เขาเห็นตรงหน้าเขาจะได้รู้ มีคนช่วยเราเก็บเพิ่มคนสองคนมันก็ดีกว่าทำคนเดียว

• อีกอย่างก็ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในท้องทะเลด้วย

ส่งผลครับ สัตว์ทะเลตายเกลื่อนเลย คือนี่ไม่ใช่ปัญหาของไทยที่เดียวนะ มันเป็นปัญหาของโลกเลย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ผลิตพลาสติกเยอะที่สุดในโลก คือปัญหานี้ผมก็เพิ่งรู้ เพราะเพิ่งเคยอ่าน อ่านเสร็จเจอข้อมูลเลย เพราะมันอยู่ในออนไลน์อยู่แล้ว เราไม่นึกว่าซีเรียสขนาดนี้ บ้านเรามีที่หนักมาก ผมก็รู้ว่ามันหนักมาก แต่ไม่นึกกว่ามันจะเยอะมากขนาดนี้ นี่คือสิ่งที่อันตรายมาก

หรืออย่างเรื่องการประมง เราจับสัตว์แบบกวาดหมดเลย รวมทั้งลูกอ่อน นี่คืออุตสาหกรรม อย่างอุตสาหกรรมปลาป่น แทนที่จะปล่อยให้สัตว์น้ำมันโต ซึ่งมีมูลค่าสูงในอนาคต โดนบดบี้กลายเป็นอาหารไก่ มันสมเหตุสมผลตรงไหนที่เอาโปรตีนราคาแพงไปเลี้ยงสัตว์ที่แทบจะมีกินในทุกครัวเรือน หรือการบริหารการจัดการ ที่ผู้มีอำนาจโยกย้ายนักวิชาการให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างแท้จริงเพื่อประเทศ เรื่องการจัดการของเราก็ยังมีปัญหาครับ คือนักวิชาการเราเก่งนะ ออกมาพูดอะไรเยอะนะ แต่ว่ายังไม่ถึงวงกว้าง ผมว่าสิ่งนี้ที่สังคมน่าจะช่วยได้ ให้เกิดการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ ถ้ามีการพูดคุยถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ผมยังคงอยากเชื่อว่าจะทำให้ธรรมชาติจะอยู่กับเราได้นานขึ้นครับ






เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

กำลังโหลดความคิดเห็น