xs
xsm
sm
md
lg

บาปบริสุทธิ์! ปล่อยสัตว์สะเดาะเคราะห์ ตกนรกไม่รู้ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เต่า นก และปลา" ยังคงถูกใช้เป็นสินค้าเพื่อการทำบุญของคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะ "เต่า" หนึ่งในสัตว์ที่นิยมนำมาปล่อย เพราะเชื่อว่าปล่อยแล้วจะต่ออายุให้ยืนยาว ล่าสุดเกิดภาพสุดสะเทือนใจ เมื่อมีการโพสต์ร่างเน่าไร้วิญญาญของ "เต่าบก" หลายตัวที่ต้องจบชีวิตลงจากความไม่รู้ของคน คิดว่าเป็นเต่าต้องว่ายน้ำเป็น แต่หารู้ไม่ว่าเต่าบกไม่สามารถว่ายน้ำหรือใช้ชีวิตอยู่ในน้ำได้

แม้เรื่องนี้จะเคยถูกนำมาพูดถึงในสังคมไทยหลายๆ ครั้ง แต่ก็กระจายอยู่ในวงแคบ ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงถือโอกาสสร้างความเข้าใจในการทำบุญปล่อยสัตว์ รวมไปถึงเปิดโปงธุรกิจหากินกับความเชื่อของคน ก่อนจะตกเป็นเหยื่อของการทำบุญที่อาจจะได้ "บาป" มากกว่า "บุญ"

ปล่อย "เต่า" ระวังได้บาป


เมื่อพูดถึงสัตว์ยอดนิยมที่คนมักจะปล่อยกัน ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบว่า ปลาไหล มาแรงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ หอยขม นก เต่า และปลาหมอ ซึ่งบางวัดจะมีการปล่อยปลาไหล และเต่าควบคู่กันไป เพราะเชื่อกันว่า ชีวิตจะได้ราบรื่น และมีชีวิตยืนยาว เมื่อถามถึงราคา "เต่า" จะมีราคาสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ เริ่มต้นที่ตัวละ 100 บาท ไปจนถึงตัวละ 300 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นเต่าน้ำจืดที่มีกระดองแข็ง


เมื่อพูดถึง "เต่า" จริงอยู่ที่มันเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่หากถูกปล่อยในที่ที่แออัด หรือน้ำเน่าเสียแถมไม่มีที่ยึดเกาะ เต่าจะตายอย่างทรมาน เพราะอาการเจ็บป่วยที่กระดองเน่าเปื่อย และจมน้ำตาย กลายเป็นสัตว์ที่น่าสงสารที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะ "เต่าบก" ที่จมน้ำตายจากความไม่รู้ของคน




เกี่ยวกับชนิดของเต่า สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยให้ความรู้โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยบอกถึงความแตกต่างระหว่าง "เต่าน้ำ" กับ "เต่าบก" ไว้ดังนี้

"เต่าน้ำ" มีพังผืดเชื่อมระหว่างนิ้วเท้าช่วยให้ว่ายน้ำได้ มีผิวหนังที่เรียบและชุ่มชื้น นอกจากนั้นยังชอบกินสัตว์มากกว่าพืช เช่น ปลาตัวเล็ก หอย เป็นต้น


ส่วน "เต่าบก" ไม่สามารถว่ายน้ำได้เนื่องจากขาของมันไม่มีพังผืดยึดติดกัน เคลื่อนไหวช้า แต่ปีนป่ายเก่งเนื่องจากมีขาที่แข็งแรง ลักษณะเด่นที่สำคัญคือ กระดองโค้งสูงมาก มีหัวที่อ้วนใหญ่ มีเกล็ดชัดเจน ส่วนขาไม่มีพังผืดระหว่างนิ้ว จึงไม่สามารถใช้ว่ายน้ำ แต่จะมีอุ้งเท้าที่มีเล็บแข็งแรงและใหญ่มาก


ดังนั้น การทำบุญปล่อยเต่า ควรตรวจสอบดูให้แน่ชัดว่าเป็นเต่าบกหรือเต่าน้ำ เพราะการทำบุญที่หวังบุญอาจได้บาปกลับไปโดยไม่รู้ตัว


เต่าน้ำจืด

อย่างไรก็ดี นอกจากข้อห้ามในการปล่อย "เต่าบก" ลงน้ำแล้ว สถานที่ในการปล่อย "เต่าน้ำ" ก็สำคัญเช่นกัน โดยทางชมรมรักษ์เต่าได้ให้ความรู้ว่า จะต้องเป็นบริเวณที่มีตลิ่ง เพื่อให้เต่าขึ้นมาพักผึ่งแดดเพื่อพักหายใจ และพักเหนื่อย และน้ำไม่ไหลเชี่ยวจนเกินไป เช่น แม่น้ำขนาดใหญ่ เพราะเต่าจะไม่มีที่ยึดเกาะ อาจจมน้ำตายได้ ทางที่ดี ควรปล่อยในแหล่งน้ำไหลเอื่อย หรือแหล่งน้ำที่มีการไหลเวียนของน้ำ โดยมีบริเวณทางขึ้นลง และอาหารสำหรับเต่า

สำหรับ วิธีการปล่อย ควรปล่อยโดยการวางไว้บริเวณริมน้ำเพื่อให้เต่าได้มีการเตรียมตัวก่อนและเดินลงน้ำเอง ห้ามเขวี้ยงหรือโยนลงแหล่งน้ำโดยตรง ที่สำคัญคือ ไม่ควรจับเต่าหงายท้องเนื่องจากจะทำให้เต่าอึดอัดเพราะปอดของเต่าอยู่บริเวณด้านบนของกระดอง


แม้ว่าบางวัด หรือบางสถานที่จะมีการต่อแพ ให้เต่าขึ้นมาผึ่งแดดได้ แต่ก็ไม่ใช่สถานที่อยู่ตามสภาพธรรมชาติที่แท้จริงของเต่าอยู่ดี เช่นเดียวกับการปล่อยสัตว์อื่นๆ เพื่อหวังให้ไปสู่อิสระภาพ แต่อาจต้องพบจุดจบ เพราะปล่อยไม่ถูกที่ถูกทาง ทั้งสภาพความเป็นอยู่ และศัตรูธรรมชาติ หรือไม่ก็ถูกจับมาเพื่อขายใหม่ และนั่นจึงเป็นคำตอบที่ว่า "ทำไมการปล่อยสัตว์ในยุคนี้ สมัยนี้จึงมีบาปมากกว่าการได้บุญ"




ปัจจุบัน หลายๆ วัดพยายามเตือนประชาชนที่นำเต่ามาปล่อย แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร โดยอ้างว่าถ้าไม่ให้ปล่อยเต่าที่วัดจะให้ไปปล่อยที่ไหน วัดปลอดภัยสำหรับเต่าที่สุดแล้ว และที่สำคัญแหล่งในการซื้อเต่ามาปล่อยก็อยู่ใกล้วัดด้วย

วัด = นรกของสัตว์?


เป็นที่รู้กันดีว่า "เต่า นก และปลา" ยังคงถูกใช้เป็นสินค้าเพื่อการทำบุญของคนจำนวนไม่น้อย โดยกลุ่มผู้ขายสัตว์ที่ยึดเป็นอาชีพนั้น ทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เผยในงานวิจัยหัวข้อ "ปล่อยสัตว์ ทำบุญฤๅสร้างบาป" ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายญาติพี่น้องแนะนำกันมา เพราะสัตว์หลายประเภทต้องซื้อขายในตลาดมืด เช่น นกบางประเภทและเต่าซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535


ส่วนวัดนั้น มี 2 แบบ คือ วัดที่สนับสนุนให้มีผู้มาซื้อขายสัตว์หน้าวัด เพื่อให้นำไปปล่อย ถือเป็นการหารายได้และอำนวยความสะดวก กับวัดที่ต่อต้านไม่ให้มีพ่อค้าแม่ค้ามาใช้วิธีนี้หากินกับผู้มาทำบุญ เพราะไม่ต้องการส่งเสริมให้มีการจับสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติอย่างปกติสุขมากักขัง หน่วงเหนี่ยว และทรมาน




นอกจากนั้น ในงานวิจัยยังระบุว่า สัตว์ที่คนนิยมปล่อยมากที่สุด คือ ปลาไหล เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตลื่นไหล เงินทองไหลมาเทมา ความทุกข์ไหลออกไป แต่การปล่อยปลาไหลบริเวณแม่นํ้าหน้าวัดนั้น อาจไม่ได้ช่วยชีวิตสัตว์หรือได้บุญจริง เนื่องจากธรรมชาติของปลาไหลชอบอยู่บริเวณลำห้วย หนองน้ำ คลอง บึงที่มีดินโคลนดินเลนให้มุด และชอบอยู่ในน้ำนิ่งๆ หากถูกนำไปปล่อยทิ้งลงกลางแม่น้ำ ปลาไหลจะอยู่นิ่ง เพราะทนความแรงของกระแสน้ำไม่ไหว แล้วพยายามว่ายหลบมายังริมตลิ่ง สุดท้ายก็โดนกลุ่มพ่อค้าจับมาขายซ้ำใหม่ได้อย่างง่ายดาย

ทำบุญทั้งที ต้องคิดให้รอบคอบ


ดังนั้น การทำบุญยุคนี้ต้องคิดให้รอบคอบ ดังที่ สพ.ญ.ดร.อุตรา จามีกร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นการปล่อยสัตว์ออกสู่ธรรมชาติไว้อย่างน่าคิด โดยเธอมองว่า การปล่อยปลา ปล่อยนก ปล่อยเต่า มักจะไม่รอด และมีความเสี่ยงสูงกับการถูกนำมาขายซ้ำใหม่ ซึ่งแทนที่จะได้ทำบุญ แต่กลับได้บาป ซ้ำยังเสียเงินให้กับพ่อค้าแม่ค้าอีกด้วย

"คนเรามักจะปล่อยปลา เพราะเชื่อว่าการปล่อยเป็นการปล่อยทุกข์ปล่อยโศก แต่ไม่ได้นึกว่าปลาที่เราปล่อยมันจะทุกข์หรือสุข เพราะทุกที่มีปลาประจำถิ่น แล้วปลาที่เราปล่อย ส่วนมากก็เป็นปลาตัวเล็ก แน่นอนกลายเป็นอาหารชั้นดีให้ปลาใหญ่ เหมือนปล่อยปลาไปตาย ถ้าจะปล่อยให้หาตัวใหญ่ๆ ที่มันเหมาะกับสภาพแหล่งน้ำที่เราจะไปปล่อย ค้นหาอินเทอร์เน็ตก็ได้ ข้อมูลมีครบ





ส่วนเต่าก็เหมือนกันบางคนไม่รู้ ซื้อเต่าบกไปปล่อยแม่น้ำ ตายแน่นอน เหมือนเอาคนไปล่อยกลางทะเล มันจะว่ายน้ำได้ยังไงในเมื่อตีนมันไม่มีพังผืด จะทำบุญทั้งทีอยากให้รอบคอบ ศึกษาก่อนสักนิด มิฉะนั้นจะได้บาปแทน"
สพ.ญ.ดร.อุตรา ฝากให้คิด


หากพิจารณาในเรื่องของบุญบาปตามหลักพุทธศาสนา พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย เคยบอกว่า การทำบุญปล่อยชีวิตสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ ต้องทำด้วยจิตมุ่งเป็นกุศลจริงๆ แต่ถ้านำสัตว์มาปล่อยแล้วอธิษฐานว่า สาธุ ขอให้การปล่อยนี้ ขอให้อายุยืน ขอให้ถูกหวย ขอให้หายซวย สิ่งนี้ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ เพราะมีเจตนาเคลือบแฝง เป็นการปล่อยเขาเพื่ออยากให้เราดีขึ้น เพื่ออยากให้เราหายทุกข์ หายโศก หายซวย อย่างนี้มันไม่ใช่การทำบุญ แต่เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นการลงทุนทางจิตวิญญาณก็ได้ เพราะเจตนาจริงๆ ไม่ได้ต้องการช่วยเหลือเขา แต่ต้องการช่วยตัวเองต่างหาก โดยยืมชีวิตเขามาเป็นเครื่องมือ


สุดท้ายแล้ว ใครมีความเชื่อว่าการทำทาน สะเดาะเคราะห์ด้วยการปล่อยสัตว์จะช่วยให้หายป่วย เสริมโชคลาภ ต่อชะตาชีวิต สิ่งหนึ่งที่ต้องศึกษาให้ดีก็คือ วิถีชีวิตของสัตว์เหล่านั้น เพื่อจะได้ไม่ไปทำร้าย หรือทำอันตรายให้พวกมันมากกว่าเดิม หรืออีกวิธีที่ใครหลายคนนิยมทำคือ เลือกสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า แล้วนำไปปล่อยให้อยู่รอดตามวิถีชีวิตของมัน เช่น ปลาในตลาดสด หรือสัตว์ที่ไม่ได้ถูกทรมาน





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น