เป็นตัวอย่างข้อสอบในหนังสือเตรียมสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ถูกพูดถึง และส่งต่ออย่างแพร่หลายในโลกโซเชียลฯ ขณะนี้ หลังเพจ Wiriyah Eduzones นำมาแชร์บนเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยที่หลายคนตั้งคำถามว่า ยากเกินความเข้าใจสำหรับเด็กอนุบาลหรือไม่ ชวนให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลฯ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก
หนึ่งในนั้นคือ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น หรือหมอมินบานเย็น แห่งเว็บเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ที่แสดงความเห็นไว้อย่างตรงไปตรงมา พร้อมชวนให้ตั้งคำถามถึงระบบการเรียน การสอบในประเทศไทย โดยเฉพาะระดับชั้นอนุบาล ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการศึกษา
"#ข้อสอบยากๆ ใช่ว่าจะพัฒนาคนได้
หมอได้มีโอกาสเห็นเนื้อหาเตรียมสอบเข้าป.1 จากเฟซบุ๊คที่มีคนแชร์กัน อ่านแล้วทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมมีเด็กๆ หลายคนไม่ชอบเรียนหนังสือ ทำไมเด็กมากมายต้องมาหาจิตแพทย์เพราะเครียด ไม่มีความสุข เพราะขนาดข้อสอบเข้ายังยากขนาดนี้ เนื้อหาวิชาหลังเข้าประถมจะยากแค่ไหน
เด็กอนุบาลติวสอบเข้าปอหนึ่ง-'---' ไม่มีเด็กชาติไหนไหนจะสู้เด็กไทยแล้วครับเรื่องท่องเรื่องจำเรานำลำโลกนี่แหละ คุณภาพ...
Posted by Wiriyah Eduzones on Monday, February 8, 2016
เด็กที่ฉลาด หัวไว อาจจะพอเรียนรู้ไปได้ อย่างที่เห็นว่า เด็กจำนวนมากถูกผลักดันให้เรียนเสริมเรียนกวดวิชา เพราะเนื้อหาวิชาการเยอะและยาก แต่ความรู้ท่วมหัวก็อาจจะเอาตัวไม่รอด
การเรียนอนุบาลของประเทศไทยเดี๋ยวนี้ ผลักดันหรืออาจจะเรียกว่ากดดัน พยายามสอนให้เด็กอ่านออก เขียนได้ เรียนเพื่อสอบให้เข้า ป.1 โรงเรียนดีๆ ได้ แต่บางส่วนก็ลืมสอนให้เด็กใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการช่วยตัวเอง การแก้ปัญหา การใช้ชีวิตที่ไม่เบียดเบียนใคร เอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งหมอคิดว่าสำคัญในการใช้ชีวิตมากกว่าวิชาการความรู้
เด็กมีความรู้สูง แต่คิดแก้ปัญหาไม่เป็น เรียนในตำรา แต่แทบไม่เคยเรียนรู้นอกตำรา เด็กบางคนเรียนในโรงเรียนที่ดี สอบได้คะแนนดี เรียนจบปริญญาตรี แต่ไม่มีงานทำ ที่สำคัญด้วยการแข่งขันที่มากขึ้น ทำให้คนเราเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ผลประโยชน์ตัวเองมากขึ้น
สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่มีความรู้ แต่ขาดทักษะชีวิต ไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ เพราะแค่จะรับผิดชอบตัวเองก็ยังไม่รอด ตรงกันข้ามเด็กบางคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา แต่ได้เรียนรู้ชีวิต บางคนเรียนในวัดก็สามารถเอาตัวรอด ทำอะไรดีๆ ให้ตัวเอง และคนอื่นได้
การปฏิรูปการศึกษาของไทย ทำมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ก็ยังย่ำอยู่กับที่ เหมือนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง สะท้อนให้เห็นจากข้อสอบ หรือถ้าลองไปดูตำราเรียนของเด็ก ที่ไม่ได้ดูความเหมาะสมของเนื้อหากับระดับพัฒนาการเด็ก ลืมที่จะมองดูความเป็นจริง สิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติแบบปกติธรรมดา
การปฏิรูปประเทศ ต้องพัฒนาคน จะพัฒนาคน ต้องเริ่มที่เด็ก และการศึกษาถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง อย่าให้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา เดินหน้า ถอยหลัง สุดท้ายก็วนเวียนอยู่ที่เดิมอย่างที่เราเห็นว่าคนบางคนการศึกษาดี มีสติปัญญา แต่ก็ยังคดโกง และทำให้คนอื่นเดือดร้อน เหมือนข่าวเรื่องค้ำประกันทุนการศึกษาที่เป็นข่าวไปเมื่อไม่นานมานี้"
อย่างไรก็ดี ไม่เฉพาะแต่กรณีในข้างต้น ก่อนหน้านี้ประเด็นเรื่องข้อสอบของเด็กไทยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่หลายครั้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายอยากให้กลับมาทบทวน แก้ไข โดยเฉพาะประเด็นความยากของข้อสอบ และความไม่สมเหตุสมผลของคำถาม รวมไปถึงคำตอบที่กำกวมจนกลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเสียดสีในโลกออนไลน์แทบทุกครั้ง ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามถึงคุณภาพข้อสอบว่า มันวัดความสามารถของเด็กได้ตรงประเด็นจริงหรือ
ขอบคุณภาพประกอบจากเพจ Wiriyah Eduzones
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754