xs
xsm
sm
md
lg

“ป้าสมศรี-ลุงดำริ” คู่รักจิตอาสา..วันเวลาที่เหลือเพื่อแทนคุณแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชูใจให้เบิกบานในความงามแห่งความคิดและวิถีชีวิตของ คู่รักจิตอาสาป้าสมศรี-ลุงดำริ อายุเจ็ดสิบปลาย แต่ไม่เคยหยุดช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก...

ใครหลายคนที่ผ่านการตรากตรำทำงานมาทั้งชีวิต เมื่อถึงวัยเกษียณ คงอยากพักผ่อนหย่อนใจ ใช้วินาทีที่เหลือเพื่อความสุขของตนเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด เพราะใครต่อใครเมื่อถึงวัยหนึ่ง ก็คู่ควรที่จะได้รับความสุขหลังจากคืนวันดิ้นรนอันยาวนาน

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับสองสามีภรรยาชาวจังหวัดนนทบุรีที่ชื่อว่า “ป้าศรี-สมศรี ถาวรมาศ” อดีตเจ้าหน้าที่พยาบาล และ “ลุงหริ-ดำริ ถาวรมาศ” อดีตนักวิชาการเกษตร ที่ยังคงจูงจับมือกัน ใช้ชีวิตช่วยเหลือสังคมในฐานะจิตอาสา แม้อายุจะล่วงเลยมากว่า 77 ปีแล้วก็ตาม...

เพราะจรรยาบรรณ
และความเป็นมนุษย์

“จุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เรามาทำจิตอาสา หลังจากเกษียณ ก็เพราะว่าอาชีพการงานที่เรารักชอบทำ”
หญิงชราวัย 77 ปี บอกกล่าวเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตนและชายชราผู้เป็นคู่รักคู่ชีวิต บนเส้นทางจิตอาสา

โดยที่ฝ่ายภรรยา "นางสมศรี ถาวรมาศ" หรือที่ใครๆ ต่างเรียกขานว่า "ป้าศรี" ประกอบวิชาชีพพยาบาล คอยดูแลรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนสามี นาย "ดำริ ถาวรมาศ" หรือลุงหริ เป็นนักวิชาการการเกษตร ผู้ลงสำรวจพื้นที่เพาะปลูกพืช เพื่อชาวไร่ชาวนา

“เหตุผลที่ทำให้อยากเป็นพยาบาลเพราะชุดสีขาว (ยิ้ม) พอจบชั้นมัธยมปลาย ม.6 ก็เลยไปทำงานที่โรงพยาบาล ก็รู้สึกว่าภูมิใจและพอใจ เพราะสมัยก่อนทำงานที่โรงพยาบาล รายได้เงินเดือนก็ระดับหนึ่งแล้ว แถมมีห้องพัก มีปิ่นโตให้ทาน 50 บาท ก็ดีแล้ว แต่มีเจ้านายคนหนึ่งท่านเป็นผู้หวังดี ท่านบอกว่าจะคิดแค่นี้ไม่ได้ ต่อไปเราต้องมีครอบครัวที่สมบูรณ์ มีสามี มีลูก ถ้าเราไม่มีความรู้ เราต้องไปขอเงินสามี แล้วจะชอบหรือ อย่างนั้น

“ก็เลยไปสอบเป็นพยาบาล สอบชิงทุน ก็ได้ทุนมาเรียนที่โรงพยาบาลราชวิถี (สมัยนั้นมีชื่อเรียกว่าโรงพยาบาลหญิง) เรียนจบทำงานใช้ทุนที่นั่น จากนั้น บังเอิญลุงดำริ เขาทำงานอยู่กรมเกษตร แต่เราเป็นแฟนกันมาตั้งแต่สมัย ม.3 ก็ติดต่อกันมาเรื่อยๆ แล้วเขาก็เป็นห่วงว่าอยู่คนเดียว จะมีคนมาจีบ (หัวเราะ) เขาก็เลยชวนแต่งงานแล้วก็ย้ายตามกันมา ประมาณปี พ.ศ.2512 ย้ายมาบ้านที่จังหวัดนนทบุรี”

ไปเป็นพยาบาลสาธารณสุขที่เทศบาลนครนนทบุรี แต่นั่นเองที่ทำให้พยาบาลสาวในขณะนั้นได้เรียนรู้และทำหน้าที่ที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างเต็มความสามารถ

“พยาบาลสาธารณสุข มีหลายศูนย์ ตรงที่เราทำมีพยาบาลอยู่กันแค่ 2 คน เท่านั้น กับภารโรงอีก 1 คน ไม่มีหมอ ถ้าพยาบาลขาดก็ต้องทำหน้าที่แทน ภารโรงขาดก็ต้องทำหน้าที่แทน คือตั้งแต่ตรวจรักษาคนไข้ สั่งยา เย็บแผล ฉีดยา จัดยา เขียนใบเสร็จเรียบร้อยไปจนยันภารโรง ก็ทำอย่างนั้นเรื่อยมา เพราะว่าอาชีพพยาบาลคืออาชีพที่ต้องช่วยมนุษย์อยู่แล้ว อย่างช่วงหลังๆ แม้ไม่ได้เป็นพยาบาลแล้ว แต่ถ้าใครบ้านใกล้เรือนเคียง ไม่สบาย บาดเจ็บ เย็บแผล ป้าก็ทำให้หมด”

“อาจเพราะด้วยหน้าที่การงานหล่อหลอม”
ลุงดำริกล่าวเสริมถ้อยคำของคู่ชีวิต ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากตน ที่ด้วยความรู้ความสามารถระดับนักวิชาการ ก็ทำให้อดใจไม่ได้ ยามคนใกล้ชิดต้องการความรู้

“ก่อนที่จะเริ่มมาสอนภาษาอังกฤษให้กับศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรี เด็กคนไหนในซอยจะเรียนจะสอบเอ็นทรานซ์ เรารู้จัก ไม่ใช่ลูก ใช่หลาน ก็ไปตามเขาเรียกเขามาเรียน ติวให้เขา ไปเก็งข้อสอบภาษาอังกฤษให้ เพราะกลัวว่าเขาจะสอบไม่ได้ เราพอมีความรู้ เราเคยสอนลูกเราได้จนสอบติดเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบติดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไปเรียกเขามา

“ทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาโท ก็ช่วยเป็นประจำ ช่วยด็อกเตอร์จากต่างประเทศก็เคย คือเราจะแนะว่าควรเขียนอย่างนั้นๆ ให้เขาเขียนมาก่อน แล้วค่อยเติม จนเพื่อนที่เป็นอาจารย์ พอเขารู้สำนวน อ้าว...นี่มาจากเราอีกแล้ว เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน เห็นสำนวนอย่างนี้ “เพื่อนกูช่วยอีกแล้ว” (หัวเราะ) เพราะเราถือเขาเป็นลูกหลานหมดทุกคนในซอย หรือลูกหลานของที่ทำงาน หากรู้ว่าจะสอบหรืออยากเรียนก็มาหา คนที่มาติวส่วนมากก็จะติดกันหมด

“ป้าศรีเขายิ่งกว่า ขนาดหมาแมวในซอย เขาเบิกยาได้ฟรี เขาก็จะฉีดให้ทุกปี คือเราก็ช่วยหมด ก็ทำอยู่อย่างนั้น ช่วงเกษียณใหม่ๆ ก็ไปช่วยทำงานเป็นที่ปรึกษาของบริษัทกอล์ฟ บางกอกกอล์ฟ ที่จังหวัดปทุมธานี ก็ไปช่วยสอนเด็กที่เขาทำงานเป็นโอเปอเรเตอร์ พูดภาษาอังกฤษผิด พูดภาษาอังกฤษไม่ชัด ลุงก็จะเขียนให้เขา Turn left , Turn right”

“เราสอนลูกเราได้ แล้วเด็กๆ รุ่นนั้นก็รุ่นลูกเรา เราก็รักลูกเรา เราก็ต้องรักคนอื่นด้วย”

ป้าศรีกล่าวสมทบถึงสิ่งที่ทั้งคู่ทำ และเมื่อค่อนครึ่งชีวิตคิดอย่างนั้น ก็จึงทำให้ภายหลังต่อมา พอเกษียณอายุ ทั้งคู่จึงเลือกที่จะทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้คนจนถึงตอนนี้เป็นระยะเวลา 10 ปี

เพราะความดี
เห็นได้ในชาตินี้

• จากวิชาชีพที่ข้องเกี่ยวกับการช่วยเหลือ เดินทางเข้าสู่จิตอาสาได้อย่างไร

ป้าศรี : ตอนแรกเราก็หยุด ไม่ได้ทำต่อ เพราะอายุมากแล้ว เกษียณแล้ว ก็เลยพักใช้ชีวิตของเรา ได้ประมาณ 6 ปี บังเอิญในซอย เขามีจิตอาสาอยู่คนหนึ่งชอบใส่เสื้อสีเขียวเดินทุกวัน ประจวบเหมาะกับพอดีได้ยินเสียงโทรทัศน์เขาประกาศว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ท่านตรัสว่าให้ทุกคนคิดถึงการทดแทนคุณแผ่นดิน ตอนนั้นเราก็คิดขึ้นมาได้ว่า เอ๊ะ...เราเป็นข้าราชการ เรากินเงินเดือนขึ้นขั้นทุกปี เกษียณออกมาแล้วก็ยังได้เงินบำนาญอีก แล้วถึงเวลาข้าราชการบำนาญได้ปรับค่าครองชีพ เขาให้เพิ่ม แล้วเราก็ได้ทุนเรียนอีกด้วยก่อนหน้านี้ เราอายจังเลย ทั้งๆ ที่เรายังมีแรงอยู่ แต่เรากลับอยู่เฉยๆ สบายๆ คนเดียว

ดังนั้น เมื่อท่านตรัสอย่างนี้ ก็เลยให้จิตอาสาที่เราเห็นเดินในซอยบ้าน ไปช่วยสมัครงานจิตอาสาให้หน่อย แต่ไม่ขอสัมผัสคนไข้นะ เพราะว่าอยู่กับคนไข้มานาน แพ้เชื้อโรคไปแล้ว ใครไอจามใส่ก็เป็นไข้หวัดได้ง่าย ตกตอนเย็น เขาก็มาบอก ป้าศรีๆ ได้แล้วนะ ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้านนทบุรี พรุ่งนี้ไปได้เลย เราก็ไปเลยวันรุ่งขึ้น ไปถึงเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนจิตอาสาเสร็จ เขาก็พาไปฝ่ายเวชทะเบียน เป็นห้องที่เก็บเอกสารคนไข้กลับบ้าน

• จากที่เราสัมผัสคนไข้บาดเจ็บล้มตาย มาเป็นส่งเขากลับบ้านแทน

ป้าศรี : ใช่ค่ะ แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่สำคัญ เพราะงานประวัติคนไข้ พอหมอสรุปเสร็จว่าคนนี้เป็นโรคอะไร เจ้าหน้าที่ก็ต้องแยกโรค แยกค่ารักษาแล้วก็ลงคอมพิวเตอร์เก็บไว้ ทีนี้ ถ้าไม่จัดเรียงและตรวจสอบก่อน มันอาจจะหายและคลาดเคลื่อน เขาก็ให้จิตอาสามาช่วยเช็คอีกรอบหนึ่ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดตรงนั้น ก็ต้องเช็คทุกหน้าเลยว่าประวัติต้องมีชื่อคนเดียว ไม่มีชื่อซ้ำ ถ้าชื่อซ้ำต้องแยกออก พอเสร็จแล้วก็เรียงให้เรียบร้อย ทุกเลข ลำดับ

และโรคอะไรที่ยังไม่ได้เก็บเงิน อย่างเช่น โรคอุบัติเหตุ เราก็เก็บดึงให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งอันนั้นเป็นเงินของโรงพยาบาล ถ้าพลัดหลงหรือหาไม่เจอ สมมุติค่ารักษา 5 พันบาท 5 หมื่นบาท ทางโรงพยาบาลก็จะเสีย ก็ต้องเก็บคัดแยกส่ง พอเราตรวจเช็คคนไข้ว่าไม่มีซ้ำ ไม่มีอะไรหลงเหลือหรือเกินมา ก็เก็บให้เจ้าหน้าที่เขาไป เวลาคนไข้เขาออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว และป่วย ไปรักษาที่อื่นอยากจะขอประวัติเก่า เขาก็เอาหมายเลขคนไข้ภายในที่บันทึกไว้ หยิบให้ไปรักษาได้เลย

• คุณลุงดำริเข้ามาสู่การเป็นจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษได้อย่างไรครับ

ลุงดำริ : คือหลังจากที่ป้าเขาไปทำเป็นจิตอาสา คือมีอยู่วันหนึ่งท่านนายกเทศบาลนครนนทบุรี ให้คนของท่านโทรมาให้ยาไปทานข้าวด้วย ระหว่างทานข้าว ท่านก็บอกว่ารู้ว่าเราไปช่วยงานจิตอาสาที่โรงพยาบาล 2 วัน วันจันทร์กับวันอังคาร ท่านก็อยากให้เรามาช่วยอีก 2 วันที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี ป้าเขาก็เล่าว่าตอนแรกพูดไม่ออก ยิ้มอย่างเดียว เพราะทานข้าวเขาไปแล้วด้วย (หัวเราะ) แล้วท่านปลัดกับทุกคนในนั้นก็บอกว่าท่านนายกฯ อุตสาห์เอ่ยปาก ตอนแรกก็ไม่คิดจะรับ ก็ขอกลับไปคิดก่อน เพราะเราก็ยังมีงานบ้าน มีบ้านที่ต้องดูแล ระหว่างนั้นถ้าคิดได้ ท่านก็ให้ติดต่อไปทางศูนย์ ก็เลยโทรไปสอบถามว่าจะให้ช่วยงานอะไรบ้าง ทางโน้นก็แนะว่ามีประชาสัมพันธ์ ป้าเขาก็ไม่โอเค เพราะต้องติดต่อกับคน งานทะเบียน ก็ติดต่อกับคน

ทีนี้ ป้าเขาก็เลยเสนอบอกว่าสอนภาษาอังกฤษ เอาไหม เขาก็ยังไม่มีโครงการนี้ใน 10 กว่าโครงการที่เขาคิดขึ้นมา เขาก็สนใจ ป้าเขาก็ตบปากรับคำ ไม่ได้บอกลุงด้วย (หัวเราะ) เขาก็พาลุงไปวันนั้น วันเปิดตัวเลยถึงได้รู้ เราก็ดีใจ มันจะได้ช่วยคนอีก กำลังว่างๆ ไม่ได้ทำอะไร

ป้าศรี : เราก็เชื่อว่าเขาสอนได้ ช่วยได้ เพราะเห็นเขาชอบสอน แล้วก็คิดว่าไม่เหนื่อยเกินไป เพราะสอนแค่วันเดียว คือวันศุกร์ 2 ชั่วโมงตอนเช้า สอนเขาก็ไม่ได้สอนแบบเอาตายกันไปข้าง หรือว่าต้องย้ำให้ได้เหมือนติว เอาโจ๊ก เอามุกขำๆ นึกภาษาไทยขำๆ ขึ้นมาแล้วก็มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ บางทีก็เอาเพลงเพราะๆ มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็ร้องเพลงภาษาอังกฤษ ให้เขาร้องแล้วแปลเป็นภาษาไทย ให้เขารู้กิริยา ศัพท์ สำนวน ไม่ใช่เอาตามทฤษฏีการสอนแบบนักเรียน แต่สอนสิ่งที่รู้และที่ผิดบ่อยๆ

• แล้วลูกๆ ว่าอย่างไรบ้างไหมในเรื่องการที่เราออกมาทำจิตอาสาตรงนี้

ป้าศรี : เขาก็ถามเราว่าแม่ทำทำไม ป๊าทำทำไม แม่ก็ตอบว่าที่ป๊าเขาสอนภาษาอังกฤษ สอนหนังสือก็เพื่อจะทำให้ลูกเรียนดี จะทำให้หลานเรียนดี สำหรับแม่ที่เป็นพยาบาลไปช่วยโรงพยาบาล ก็ทำให้สุขภาพของคนในครอบครัวดี ตอบอย่างนี้เขาก็ไม่ว่าอะไร

• เท่าที่ฟัง ในชีวิตส่วนตัว เราก็ได้ทำหน้าที่อย่างลุล่วง ทำไมเราถึงยังต้องช่วยเหลือถึงเพียงนี้อีก

ป้าศรี : ชีวิตเราครบหมดแล้ว คือเที่ยวก็เที่ยวแล้ว เที่ยวจนเบื่อแล้ว คือก่อนที่จะเกษียณ ลุงทำงานต่างจังหวัด ไปทั่วประเทศ บางทีพักร้อนตามเขาไปด้วย แล้วพอเกษียณ เขาเป็นกรรมการเกี่ยวกับการปลูกป่าของคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช เขาก็ไป ป้าก็ตามไปบ้าง ไปทีก็หลายจังหวัด ก็เต็มแล้ว ทำงานแล้ว เที่ยวแล้ว

การที่เราได้ช่วย ยิ่งช่วยแล้วยิ่งสบายใจ อย่างลุงเขาชอบซื้อข้าวหลามข้าวต้มมัด ทั้งๆ ที่ไม่ได้ชอบทานอะไรมากมายเป็นพิเศษ แต่ซื้อเพราะอยากช่วยคนขาย เขาขับมาในซอยแล้วกลัวเขาจะขายไปได้ เขาจะเสียเที่ยว เสียค่าน้ำมันที่เข้ามา แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงครอบครัวและลูก คือพวกนี้รับมาขายเป็นกระบอก ได้เท่าไหร่ แล้วก็หักเปอร์เซ็นต์

ลุงดำริ : มันสุขใจ แล้วก็เพราะเราไม่มีภาระแล้ว ออกมาทำตรงนี้เราก็ได้ทบทวนความสามารถของตัวเอง ช่วยในเรื่องของความจำด้วย และอีกอย่างหนึ่งคือการทำความดี ได้ตอบแทนในชาตินี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า ได้เห็นชาตินี้เลย ตัวอย่างลูกชาย เขาจบจุฬาฯ แล้วเขาก็ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนต่อที่นั้น ทั้งๆ ที่ตอนนั้นภาษาญี่ปุ่นเขาก็พูดไม่ได้ เขาขึ้นรถไฟไปเมืองที่หมาลัยเขาตั้งอยู่ บนรถไฟเขาไปเจอเพื่อนชายคนหนึ่ง เขาก็ถามกันเป็นภาษาอังกฤษกันว่าที่ๆ ลูกชายเขาจะไปเดินทางอย่างไร เขาก็บอกว่าไปตรงนี้ๆ แล้วเขาก็อาสาบอกไปส่ง หลังจากนั้นแล้วยังช่วยหิ้วสัมภาระที่แบกไปจากเมืองไทยไปส่งด้วย

เสร็จแล้วพอเข้าไปในมหาลัยก็กลายเป็นอาจารย์คนนั้นที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คือบังเอิญไปเจออาจารย์ พาไปซื้อเครื่องนอน ไปซื้อทุกอย่าง เครื่องครัว ไปช่วยดูแหล่งแล้วก็พาไปซื้อ ช่วยกันขนมา แบกที่นอนมา อันนี้เขามาเล่า เขาก็บอกว่าเขาทำอย่างกับเป็นคุณพ่ออีกคน แล้วพอตอนอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาอยู่ในห้อง อาจารย์คนนี้ก็เดินเข้ามาในนี้บ่อยครั้ง เพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะพูดกับลูกเราไม่รู้เรื่อง ก็ติดต่อดำเนินการอำนวยความสะดวกให้หมดทุกสิ่งอย่าง จนเจ้าหน้าที่ๆ นั้นบอกว่าอาจารย์คนนี้ปกติแกไม่เคยเข้ามาในห้องนั้นเลย มาเพราะลูกเราคนเดียว

นี่ก็คิดว่าเป็นเพราะความดีที่เราทำ เราก็เป็นห่วงลูกเราไปอยู่ต่างประทศคนเดียวแล้วมีคนมาแทนเรา เอาใจใส่ เป็นห่วงเหมือนเรา นี่ละถึงได้บอกว่าเห็นในชาตินี้

เพราะชีวิตยังไม่สิ้น
บุญคุณแผ่นดินก็เช่นกัน

แม้จะล่วงเลยวันวัยกว่า 77 ปี ย่างเข้าปีที่ 78 แต่ภาพคู่รักจิตอาสา ป้ากับลุง ยังเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับประชาชนคนแถวนั้น อีกทั้งเป็นต้นแบบให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป

“ก็จะทำไปเรื่อยๆ ทำได้แล้วสบายใจ สุขใจด้วย ยังไม่หยุด ถ้ายังแข็งแรงพอที่จะไปได้”
จิตอาสารุ่นป้า เปิดเผยความรู้สึก ซึ่งไม่ต่างไปจากสามีคู่ชีวิตทีขอทำหน้าที่ตรงนี้จนหมดแรงโรยรากันไปข้างหนึ่ง

“อย่างป้าเขาไปที่ทำงานเขาก็สนุกสนานมาก ได้พบวัยรุ่น เล่นโทรศัพท์ ใช้อินเตอร์เน็ตเป็น ก็เพราะไปทำงานจิตอาสา มันทำให้ชีวิตเรามีชีวา เหมือนคำติดปากลุงที่มักจะพูดทุกครั้งว่าสุดรักลงท้ายกับทุกคน เขาหรือใครที่ได้ยินก็เบิกบาน จิตใสเขาก็แจ่มใส เขาก็มุ่งหรือทำในสิ่งที่ดี คิดดี”

แม้ว่าเรื่องราวนี้จะอยู่เบื้องหลังและไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนาม

“ไม่...คือเราก็จะขอทำหน้าที่ตรงนี้ต่อไป เพราะเราพร้อม เราไม่มีภาระ ลูกเต้าเราก็ไม่ต้องห่วงเขาแล้ว เขามีครอบครัวของเขา เราเกษียณอยู่บ้านเฉยๆ สิ้นเดือนเขาก็โอนเงินมาให้ เราก็ต้องตอบแทนคืนคุณแผ่นดิน

“จริงๆ ทุกคนก็มีเยอะที่ช่วยเหลือ ก็อยากให้ใครที่พอมีกำลัง มีความพร้อม คิดถึงการทดแทนคุณแผ่นดิน เราทุกคนก็เหมือนลูกเหมือนหลาน เหมือนญาติพี่น้อง ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ สังคมเราก็จะดีและมีความสุข”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : จิรโชค พันทวี

กำลังโหลดความคิดเห็น