โอ๋-ปิยะนุช เจริญสิทธิ์ สาวอักษรจากทับแก้ว เดินทางไปเรียนต่อเศรษฐศาสตร์เพื่อจะมาทำงานเกี่ยวกับกองทุนรวมในบริษัทของเครือกสิกรไทย เป็นคนที่ดูจะไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ซึ่งสาวโอ๋ สงสัยอยู่เสมอว่าทำไมเวลาเพื่อนเก่าเพื่อนแก่นัดเจอกัน คนนัดคุยเรื่องงานจะต้อง “นัดกินข้าว” กันอยู่เสมอ
จนได้ข้อสรุปว่า ในหลายๆ ครั้งคนเราติดต่อสื่อสารกันได้โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง ซึ่งโอ๋ ก็ใช้อาหารเป็นเรื่องราวที่เล่าถึงความเป็นตัวตนที่ Balance การทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้อย่างดีเยี่ยม มีวิธีการเล่าเรื่องที่สนุก และน่าฟังจากครอบครัวใหญ่ แวดล้อมไปด้วยคนทำอาหารทานกันในบ้านเป็นหลัก ดูจะแตกต่างจากครอบครัวของคนกรุงเทพทั่วๆ ไป ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้มีหัวเรือใหญ่ในการทำอาหาร และพาไปชิมร้านอร่อยจาก ธงชัย เจริญสิทธิ์ รุ่นใหญ่ในแวดวงการเงิน ที่เป็นต้นเรื่องของ #ครัวบิดา ที่มีคนอ่านจนติดกันไปทั้งบาง
อาหาร-การกิน
โอ๋ เล่าให้ฟังถึงความผูกพัน และสื่อความรัก ความอบอุ่นของครอบครัวด้วยอาหารการกิน ในระหว่างที่เล่าไปก็หยิบอาหารใส่ปากไปอย่างมีความสุข..ด้วยความที่ตั้งแต่เล็กจนโตถูกแวดล้อมด้วยคนที่ทำอาหาร ทั้งอาหารการกินเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ตอนเด็กๆ จนชั้นประถม จะอยู่ที่บ้านยายซึ่งมีหลายครอบครัวอยู่ด้วยกัน ยายเป็นคนดูแลเรื่องอาหารของคนทั้งบ้าน เวลาปิดเทอม เด็กๆ ก็จะไปช่วยตำน้ำพริก หั่นผัก เพราะสนุก
นอกจากเล่นซ่อนหา ตีแบดกันแล้ว บางทีเวลาผู้ใหญ่ในบ้านเห็นเด็กๆ เอาพวกหม้อข้าวหม้อแกงมาเล่นทำอาหารจากดิน ใบไม้ ดอกไม้ ก็ชวนให้เอาข้าวสารแช่น้ำมาโม่เป็นแป้ง ผสมน้ำกะทิ จุดเตาถ่าน ทำขนมครก “เล่น” กัน หรือบางทีมีงานบุญ ยายลงมือทำขนมไทย ทุกคนก็มา “เล่น” ห่อข้าวต้มมัดกันสนุกสนาน
พอย้ายบ้านออกมา พ่อกับแม่ก็จะเป็นคนทำอาหาร วันธรรมดาเป็นวันของแม่ ส่วนวันหยุดเป็นวันของพ่อ ด้วยความที่ย่าขายขนมไทย พ่อก็จะมีความรู้เรื่องการทำขนมไทยติดตัวมา ในวันหยุดบางวันก็ชวนกันทำครองแครง นวดแป้ง รีดไปกับส้อมให้เป็นลาย คั่วถั่วลิสง กวนน้ำเคลือบทำถั่วกรอบแก้ว ปั้นขนมต้ม ส่วนแม่ก็ซื้อเตาอบมาแล้วก็ทดลองทำขนมฝรั่งกัน ขนมฝรั่งอย่างแรกที่ลองทำแล้วก็กลายเป็นของฮิตประจำบ้านก็คือ แยมโรลที่ต้องม้วนด้วยผ้าเช็ดหน้า
พ่อมักจะทำอาหารไทย แกงกะทิ น้ำพริกกะปิ เป็นอาหารอร่อยประจำบ้าน แล้วพ่อก็ค่อยๆ ขยายความแก่กล้าด้านการทำอาหารไปถึงอาหารจีน อาหารฝรั่งที่ไปกินมาตามร้านแล้วอร่อย ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าของพ่อจะมีวาไรตีไปเรื่อยๆ ตั้งแต่หมู กุ้งเล็ก กุ้งใหญ่ ไปจนเป๋าฮื้อ ที่บ้านมีเตาถ่าน และถังน้ำมันเปล่าที่เจาะตะปูไว้เอาไว้ย่างหมูแดง จริงจังกันขนาดนั้น
ส่วนแม่อยู่แผนกอาหารแปลกๆ ที่พ่อไม่ทำ เวลามีอะไรใหม่ๆ แม่ต้องไปหาวิธีทำมาลองอยู่เสมอ อย่างก๋วยเตี๋ยวหลอดแบบฮ่องกงที่เป็นแป้งนุ่มๆ หุ้มกุ้งเอาไว้ หรือตอนที่อาหารญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น แม่ก็ไปซื้อซอส กับเส้นมาทำยากิโซบะให้กิน ซื้อมะเขือม่วงมาชุบแป้งทอด พอเลิกทำงานประจำ แม่ก็ทำคุกกี้ พายไก่ พายมะพร้าวขาย วันๆ ทำเยอะมาก ขายดีมาก อร่อยมาก พวกเราจะได้กินพายตอนที่มันอร่อยที่สุด คือ ออกมาจากเตาแล้วยังอุ่นๆ อยู่
ลูกสาว 3 คนบ้านนี้ก็เลยเล่นทำอาหารกันมาต่อเนื่อง บางวันขอซื้อไก่ทั้งตัวมาทาเกลือ ทาพริกไทย ทามะนาว เอาเข้าเตาอบ เพราะบ้านของเด็กๆ ในหนังสือที่อ่านเขากินไก่อบกัน
โอ๋ ซึ่งเป็นพี่คนโตจะทำอาหารประจำวันได้ เวลาปิดเทอมที่มหาวิทยาลัย กับโรงเรียนปิดไม่พร้อมกัน แม่ออกไปรับน้องที่โรงเรียน โอ๋จะเตรียมอาหารเย็นไว้ถ้าแม่ไม่มีเวลา แต่ก็เป็นของง่ายๆ หุงข้าว ผัดปลาหมึก ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ที่โด่งดังมากในหมู่พี่น้อง คือ ข้าวผัดน้ำปลา คือ เอาหมูไปรวนกับน้ำมันกับกระเทียมกับน้ำปลา อย่าให้มีสี แล้วก็เอาข้าวลงไปผัด สีมันจะจืดๆ ดูไม่อร่อย แต่เวลากินจะหอมน้ำปลา เคี้ยวกับหมูที่รวนมาเค็มนิดๆ ก็ดีเหมือนกัน
สิ่งที่คิดว่าสำคัญมากในการอยู่ในบ้านที่มีคนทำอาหารคือว่า เราสามารถทำอาหารเองได้โดยไม่ต้องไปซื้อของกินข้างนอกตลอดเวลา ซึ่งถึงจะสะดวก แต่บางทีมันก็มีปัญหาตรงที่อาหารสมัยนี้มีการใส่สารเสริมเยอะมาก หรือบางทีก็มีส่วนผสมที่เราไม่รู้ว่าคืออะไร ในต่างประเทศเริ่มมีการรณรงค์ให้สอนเด็กๆ ทำอาหารเพื่อให้ไม่ต้องกินฟาสต์ฟู้ดอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ตอนไปเรียนต่อที่ต้องอยู่คนเดียวก็ทำกับข้าวเองได้ ยิ่งเวลาเรียนแล้วเครียดยิ่งต้องลุกขึ้นมาทำอาหาร ตีสองตีสามก็แกงเนื้อ ต้มขาหมู ทำก๋วยเตี๋ยวหมูแล้วเอาไปแจกเพื่อน อยากกินอาหารญี่ปุ่นที่เมืองเล็กๆ ไม่มีก็เอาปลาดุกฝรั่งมาคลุกซอสนู่นนี่ใส่น้ำตาลให้หวานนิดหน่อย เอาไปอบ สมมติว่าเป็นปลาไหลย่าง จะทำข้าวผัดก็ต้องทำหมูกระเทียมก่อนแล้วค่อยเอามาหั่นเป็นชิ้นทำข้าวผัดอีกที
น้องๆ อีก 2 คนเป็นคนที่มีพรสวรรค์ในการทำอาหารมากกว่า น้องคนรองเคยเป็นวิศวกรอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำงานไปเรียนทำอาหารที่เลอกอร์ดอง เบลอ ( Le Cordon Bleu) ไปด้วย เป็นวิศวกรไปฝึกงานในครัวที่ร้านอาหารไปด้วย จนในที่สุดก็ลาออกมาเปิดร้านอาหารไทย ส่วนน้องคนเล็กหัดด้วยตัวเอง ทำอาหารฝรั่งได้ซับซ้อนมาก ทั้งของคาว ของหวาน ทั้งสวย ทั้งอร่อย ด้วยความที่อยู่กันคนละเมืองทั้ง 3 คน เราเคยเปิดห้องแชตบนอินเทอร์เน็ตแล้วใช้ชื่อว่า In Food We Trust
#ครัวบิดา
ความที่พ่อชอบทำอาหารมาก ยิ่งทำยิ่งสนุกแล้วก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ พ่อก็เริ่มต้องแจกจ่ายอาหารไป โอ๋อยู่ที่ทำงานจะมีข้าวกลางวันมาส่งอยู่บ่อยๆ ไม่ได้สำหรับกินคนเดียวด้วย ส่งมาแต่ละครั้งกินกันได้เป็นวง อาหารที่โด่งดังมากของพ่อ คือ ขนมจีนน้ำยาปู เคยขอให้พ่อทำไปงานเลี้ยง ปรากฏว่าคนติดใจกันทั้งงาน บางวันตื่นเช้ามาจะมีกุ้งยักษ์ทอดเกลือเป็นอาหารเช้า เสาร์อาทิตย์เราจะไปตลาดนู้นตลาดนี้กันเป็นหลัก
ช่วงที่พ่อเกษียณแต่ยังทำงานต่อเนื่องอยู่ พ่อมีเวลามากขึ้น ก็เลยทำอาหารบ่อยขึ้น คนที่ได้กิน และกินแล้วชอบก็เพิ่มขึ้น มักจะมีคำถามว่า “ทำยังไง” “ใส่อะไรบ้าง” “ขอสูตรหน่อย” เพราะก็ทำแบบเดียวกันไม่เห็นออกมาเหมือนกันเลย พ่อมักจะตอบว่ามีอะไรก็ใส่ๆ ลงไป ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งคนที่ทำอาหารมักจะเป็นอย่างนั้น คือ ของที่ปรุงมันคือ ของที่มีอยู่ในครัว ที่แปลกใจมากก็คือ บางครั้งพ่อปรุงรสแบบที่มีอะไรก็ใส่ๆ ลงไปนั่นแหละ พอชิมปุ๊บ ใช้ได้เลย เป๊ะมาก
มีคนบอกว่าให้ทำ cookbook อาหารพ่อสิ ทำแจกๆ กันก็ได้ แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าเป็น cookbook ก็ควรจะมีสูตรที่ค่อนข้างแน่นอน เคยบอกพ่อไว้ว่าจะตวงเครื่องปรุงทั้งหมดชั่งน้ำหนักใส่ถ้วยเอาไว้ พอพ่อทำกับข้าวเสร็จก็เอาที่เหลือมาชั่ง จดไว้ ทำอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะออกมาเป็นสูตร แต่ยังไม่ได้ทำ เพราะพ่อทำหน้าเบื่อๆ ว่ายุ่งกับเขามากเกินไป
จึงมาคิดว่า ความจริงแล้วเวลาคนเขาขอสูตรเขาไม่ได้ต้องการสูตรหรอก แต่สิ่งที่ต้องการรู้ คือ รสอะไรนำ รสอะไรตาม พ่อเป็นคนที่เล่าเรื่องการทำอาหารสนุกมาก แต่ไม่ยอมนั่งลงเขียน พอดีกับที่โอ๋ใช้เฟซบุ๊กในฐานะที่เป็นแมกกาซีนส่วนตัวที่ใส่เรื่องที่ชอบลงไป เรื่องเที่ยว เรื่องศิลปะ เรื่องกิน เรื่องหนังสือ เรื่องการเมือง ก็เลยคิดว่าแทนที่จะเอารูปมาลงแล้วบอกว่ามันคืออะไรเฉยๆ เขียนวิธีทำสั้นๆ เอาไว้ดีกว่า เป็นการเก็บสะสมข้อมูลอาหารที่พ่อทำเอาไว้ด้วย คนที่อยากลองทำจะได้มีไกด์ไลน์ด้วย แล้วก็เป็นการฝึกหัดการเขียนด้วย เวลาพ่อทำกับข้าวเราก็จะไปยืนดู หรือบางทีก็ถามๆ รายละเอียดบ้าง บางอย่างก็นึกจากที่เขาบอกมา พอเขียนไปแล้วบางทีพ่อก็ไปอ่านแล้วก็มาบอกว่าเขียนอะไรผิดบ้าง หรือมีเคล็ดลับอะไรเพิ่มบ้าง
ปรากฏว่า ในกลุ่มเพื่อนๆ โอ๋ เพื่อนพ่อ และเพื่อนของน้องๆ มีคนติดตาม #ครัวบิดา อยู่บ้าง เวลาที่พ่อไปหาลูกๆ อีก 2 คนที่ต่างประเทศ ครัวบิดาก็จะหายไป บางทีน้องก็อาจจะโพสต์ #ครัวบิดาสัญจร บ้าง แต่น้องๆ ไม่ได้ชอบถ่ายรูปอาหารแบบโอ๋ หายไปนานๆ ก็จะมีแฟนๆ เข้ามาถามถึง บางครั้งแม่ทำอาหารก็เอามาใส่ครัวบิดาเวอร์ชันครัวมารดาบ้างเหมือนกัน
หนัง-หนังสือ-อาหาร
มีความรู้สึกว่าบางครั้งคนเราต้องสื่อสารกันโดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง เวลาคนนัดเจอกัน ถึงต้องนัดไปกินข้าว บางครอบครัวคุยกันรู้เรื่องอยู่เรื่องเดียว คือ เรื่องอาหารการกิน อย่างหนังเรื่อง Eat, Drink, Man, Woman ที่พ่อกับลูกสาวสามคนสื่อสารกันผ่านอาหารที่พ่อทำ หรือหนังอย่าง Babette ’s Feast ที่เล่าเรื่องเชฟผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เคร่งศาสนา เมื่อเธอลงมือทำอาหารเลี้ยงคนทั้งหมด ใบหน้าของคนที่เคยเคร่งขรึม ค่อยๆ ฉายแววสดใสขึ้นมา ฉากการทำอาหาร ภาชนะ การเล่าเรื่องอาหารแต่ละจานเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก
หนังเก่าอย่าง Big Night เล่าเรื่องร้านอาหารอิตาเลียนในสหรัฐอเมริกา คนทำร้าน และคนทำอาหารมีความใฝ่ฝันที่จะให้คนกินได้กินอาหารอิตาเลียนแท้ๆ ในขณะที่คนกินเมื่อได้รับจานอาหารแล้วถามว่า สปาเกตตีทำไมไม่มีมีตบอลล่ะ ริซอตโต้ทะลทำไมไม่เห็นมีกุ้งหอยปูปลาอยู่เลย ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้เริ่มเปลี่ยนวิธีกินอาหารอิตาเลียนของคนอเมริกันเลยทีเดียว
หนังสือบางเล่มก็ให้ความรู้สึกแบบเดียวกัน แม้กระทั่งสี่แผ่นดิน ตอนที่พลอยตามแม่เข้าไปในวังเป็นวันแรก คุณคึกฤทธิ์ ให้ภาพความแตกต่างของโลกภายนอกของพลอยกับชีวิตในวังผ่านถ้วยขนมกินเล่นของคุณสาย ไข่แมงดาที่เชื่อมจนหวานจับเป็นน้ำตาล หรือกุ้งเชื่อมซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้เป็นของคาวสำหรับพลอย แต่ในวังทำเป็นของหวานกินเล่นได้ ช้อยเอาด้วงที่อยู่ในท่อนอ้อยมาเลี้ยง ดูจนกระทั่งเขาเอาด้วงออกมาปล่อยลงในอ่างกะทิให้ด้วงกินกะทิของอิ่มแล้วเอาไปทอดเป็นด้วงกะทิ
หนังสือเล่มที่เล่าเรื่องอาหารได้สนุกมากๆ อีกก็คือ A Year in Provence ที่เล่าเรื่องคนอังกฤษที่ไปใช้ชีวิตในโพรวองซ์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ความชื่นชอบในอาหารของคนฝรั่งเศสกับความชื่นชอบในการกินได้มาพบกัน
การอ่านเรื่องราวชีวิตของเชฟก็เป็นเรื่องสนุก จูเลีย ไชลด์ คุณป้าซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการทำอาหารฝรั่งเศสในสหรัฐอเมริกา เล่าเรื่องการเริ่มเรียนทำอาหารตอนที่ไปอยู่ที่ฝรั่งเศสให้ฟังใน My Life in France หรือแอนโทนี่ บูร์แดง เล่าเรื่องความยากลำบากในการเรียนในโรงเรียนทำอาหาร และการเริ่มเข้าสู่วงการทำอาหารในยุคของเขาผ่านหนังสือ Kitchen Confidential ซึ่งจริงจัง ไม่ได้ดูสวยหรูแต่อ่านแล้วมันมาก
การอ่าน หรือดูหนังเกี่ยวกับอาหารทำให้รู้ว่าอาหารไม่ได้เพียงแต่กินให้อร่อย แต่มันคือเรื่องราวในชีวิตคน เป็นเรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องของสังคม
ร้านอาหาร
คนที่ชอบเรื่องอาหารคงไม่ได้ชอบทำอย่างเดียว น่าจะเป็นพวกที่ชอบตามไปลองกินอาหารที่อื่นๆ ด้วย
ตอนทำงานใหม่ๆ เป็นพวกที่ตระเวนไปตามร้านอาหารต่างๆ อยู่เหมือนกัน เมื่อก่อนยังไม่มีร้านอาหารจำนวนมากมายมหาศาลเหมือนวันนี้ พอมีร้านอะไรใหม่ๆ ก็จะรู้ได้อย่างรวดเร็ว แล้วเพื่อนๆ ที่ทำงานก็จะชวนกันไป
เดี๋ยวนี้มีร้านอาหารจำนวนมาก มากจริงๆ ก็เลยตามกินไม่ไหว และในหลายกรณีมักจะไม่ถูกชะตากับรสชาติอาหารสักเท่าไหร่ ก็เลยมักจะกลับไปกินร้านที่คุ้นเคย ที่ชอบอยู่แล้ว กับร้านที่คนที่เราเชื่อว่ากินรสเดียวกับเราไปมาแล้วบอกว่าควรไปลอง
มีเพื่อนสนิทที่ปฏิเสธการไปร้านอาหารแบบสมัยใหม่ ร้านหรูร้านเก๋นี่ไม่ยอมเข้าเลย ให้เหตุผลว่าได้ทดลองร้านแบบนั้นมามากพอแล้วในช่วงชีวิตหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาไปหาของกินกันก็มักจะเป็นร้านที่อยู่ตามริมทาง ตามตลาด ในชุมชน หรือร้านเก่าแก่ บางวันก็ไปเดินในลิตเติ้ลอินเดียตรงพาหุรัดกัน เจอตลาดต้องแวะเข้าไปดู หรือเดินเข้าไปสำรวจ อย่างร้านทำขนมผิงที่นครปฐม ที่ยังผิงขนมด้วยเตาถ่านแบบดั้งเดิมอยู่ การไปในที่แบบนั้นจะได้คุยกับคนเยอะมาก เรื่องที่เขาคุยก็มักจะสนุกมาก
ในแต่ละปีเราจะนั่งลงคุยกันว่า เอ๊ะ ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อในรายการของเรามีอะไรบ้างนะ ร้านไหนถูกตัดคะแนนจนต้องลบออก ร้านไหนยังเป็นที่หนึ่งในดวงใจอยู่ ตอนนี้ขนมจีนไหหลำเหลืออยู่กี่ร้านนะ ที่ไหนที่เราชอบ ราดหน้าต้องร้านนั้น หรือร้านนี้ บางทีเราก็ทดสอบทฤษฎีที่บอกว่าร้านอาหารตามสั่งส่วนใหญ่แล้วทำอาหารรสชาติอร่อยใช้ได้ เจอร้านอาหารตามสั่งก็จะลองกินดู หรือขับรถผ่านร้านส้มตำริมทาง เนื้อที่แขวนไว้ดูดีจัง ก็จะลองกิน เพราะฉะนั้นกินข้าวกับเพื่อนคนนี้ต้องกินราดหน้าเฮงเฮง บะหมี่ที่เคยอยู่วงเวียนใหญ่ บะหมี่วงเวียนเล็ก ข้าวขาหมูที่เยาวราช กับที่คลองถม ก๋วยเตี๋ยวเนื้อต้อง ก เต็กเชียง หรือไม่ก็ร้านในตรอกเล็กๆ ในเยาวราช ส้มตำเนื้อย่างต้องที่ศรีย่าน ตอนกลางคืน ขนมจีนไหหลำที่ตลาดศรีย่าน กับสวนสน ข้าวมันไก่ต้องที่ซอยเซนต์หลุยส์ โจ๊กที่หน้าโรงพยาบาลกว๋องสิว ถนนเจริญกรุง ที่คนขายเคยทำอยู่ที่ร้านโจ๊กที่ฮ่องกงหลายปี
ก่อนมาเปิดร้านริมถนนที่เมืองไทย บางครั้งบางร้านเราไปกินแล้ว ไม่ได้อร่อยอะไร แต่สนุกมาก ก็จะอยู่ในลิสต์ที่จะกลับไปกินอีก อย่างผัดไทยที่วัดเลียบ การได้กินผัดไทยไปมองเจดีย์ที่สวยมากไป เป็นเรื่องที่เข้าท่าเป็นอย่างยิ่ง
มีเพื่อนที่เป็นเชฟขนม กับเจ้าของร้านอาหาร เวลาจะเจอกันต้องตกลงกันก่อนว่าจะไปลองร้านไหน จะไปร้านเดิม หรือลองร้านใหม่ กินแล้วก็ต้องมานั่งคุยกันว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร เพื่อความสนุกสนาน ถ้าไปกับเพื่อนกลุ่มนี้ก็จะไม่เกี่ยงว่าร้านถูกร้านแพง เลือกอย่างที่อยากลอง บางวันก็นั่งฟังเขาคุยกันเรื่องการทำอาหารก็ได้ความรู้ไปอีกแบบ กับเพื่อนที่ทำงานก็จะเลือกร้านรอบๆ รัศมีที่ทำงานว่ามีที่ไหนน่าสนใจบ้าง
น้องเขยเป็นคนชอบกินกาแฟมาก เวลามาเมืองไทยก็จะตระเวนไปตามร้านกาแฟ เราก็จะมีหน้าที่หาร้านใหม่ๆ มาให้ลอง ส่วนใหญ่ก็ถามจากคนที่ชอบไปตระเวนร้านกาแฟเหมือนกันว่า ใครมีกาแฟที่โดดเด่นกว่าร้านอื่น
การโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับร้านอาหารนี่ ที่น่าแปลกคือ เวลาไปร้านหรูแล้วเอามาโพสต์ คนจะไม่ค่อยตื่นเต้น ถ้าเป็นอาหารเบสิกจะได้รับการตอบรับดี อาจเป็นเพราะว่าไม่ค่อยมีใครลงรูปผัดกะเพรา ขนมปังสังขยา พอเห็นก็เลยนึกได้ว่า เออ เราก็ชอบกินนี่นะ
ความจริงแล้วอาหารเป็นเรื่องของรสนิยม ใครนิยมรสไหนก็จะว่ารสนั้นอร่อย การมาถกเถียงกันว่าร้านฉันอร่อยกว่า ร้านเธอไม่เห็นได้เรื่องเลยเป็นเรื่องไม่จำเป็น
ทำอาหาร
อย่างที่เล่าว่าที่บ้านมีแต่คนทำอาหาร พอเรียนจบกลับมาอยู่เมืองไทยมีแต่คนทำอาหารอร่อยรอบๆ ตัว ก็เลยเลิกทำอาหารไปโดยปริยาย ถึงขนาดที่ว่าแทบจะทอดไข่เจียวไม่เป็นเอาเลย
วันหนึ่งรู้สึกว่า เอ๊ะ ชักเครียด ก็เลยลุกขึ้นมาเปิดตำราทำขนม เมื่อก่อนมักจะใช้สูตรที่ได้จากอินเทอร์เน็ต คือ เป็นสูตรที่มีคนทดลองทำแล้วว่าดี การทำขนมเป็นสิ่งที่แก้เครียดได้อย่างมาก คิดว่าคงคล้ายกับการทำสมาธิ คิดอยู่เรื่องเดียว คิดถึงเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ตอนทำขนมใหม่ๆ บางวันทำขนม 5 อย่าง
พอทำแล้วก็รู้เลยว่าเราไม่รู้เทคนิคเลย เราทำตามสูตรอย่างเดียว ไม่รู้เลยว่าอะไรต้องทำอย่างไร ก็เลยเริ่มไปเรียน มีโรงเรียนสอนทำขนมเล็กๆ ที่ดีมาก อยู่ที่สยามสแควร์ ชื่อ Bake it Make it มีครูอยู่ 3-4 คน แต่ละคลาสจะมีคนเรียนไม่เกิน 6 คน ก็ได้ลงมือทำกันจริงๆ
สิ่งที่สำคัญของการไปเรียนทำขนมก็คือว่า ไม่ได้ไปถึงแล้วก็ลงมือทันที แต่เริ่มจากการดูสูตร เล่าให้ฟังถึงส่วนผสมแต่ละตัวว่ามีนิสัยอย่างไร ทำหน้าที่อะไร เมื่อเอาสิ่งนี้ผสมกับสิ่งนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ความล้มเหลวแต่ละครั้งเป็นเพราะอะไร ไปเรียนจนทำมาการองได้นะ สนุกมาก บางทีไปเรียนนี่ไม่อยากได้สูตร หรือไม่ได้อยากทำ แต่อยากจะรู้เรื่องของขนมนั้นๆ สูตรของเขาเป็นสูตรที่อร่อย ใช้ได้ทุกอย่าง
ข้อดีของการไปเรียน คือ เวลาที่เพื่อนคนอื่นๆ ทำขนม บางทีก็มาถามว่า ทำไมทำแล้วเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้ สามารถตอบคำถามที่ไม่ล้ำลึกมากได้ เพราะรู้พื้นฐานของขนมมากขึ้น แต่ไปเรียนมาแล้วไม่ได้มีทักษะที่ดีขึ้นมากนัก เพราะไม่ค่อยได้ฝึกฝน ชอบทำขนมง่ายๆ ประเภทเอาส่วนผสมไปกวนรวมกัน เทใส่พิมพ์ อบ เสียมากกว่า
ที่โรงเรียนนี้สอนทำอาหารด้วย มีครูคนหนึ่งชื่อ พี่ก้อย ซึ่งเคยเปิดร้านอาหารชื่ออันจะกินแถวสีลมก่อนจะย้ายไปอยู่เชียงใหม่ พี่ก้อยสอนทำอาหารฝรั่งที่ดูดี นึกว่ายาก แต่กลายเป็นของง่าย กินอร่อย และเอามาทำได้จริงๆ อย่างพวก ปลาอบ หมูอบ บีฟเวลลิงตัน ตอนหลังเลยเริ่มรู้สึกว่าทำอาหารก็สนุกไม่แพ้การทำขนมเหมือนกัน
พอเริ่มทำขนมกับอาหาร ก็เลยลองส่งบทความที่เกี่ยวกับวิธีการทำขนม หรืออาหารที่ทำเป็นไปที่นิตยสารคอมพาสที่เชียงใหม่ ตอนนี้ก็เลยหันมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับอาหารบ้าง จากที่เดิมเคยเขียนเรื่องการวางแผนทางเงินของผู้หญิงให้แก่นิตยสารฉบับหนึ่งอยู่หลายปี การเขียนเกี่ยวกับอาหารเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะจะต้องเล่าให้คนเห็นภาพ เข้าใจรสชาติที่เราพูดถึง มีคนบอกว่าเวลาเล่าถึงอาหารห้ามเล่าว่าอร่อย รสกลมกล่อม ต้องบอกให้ได้ว่ากำลังหมายความว่าอะไร ก็ต้องหาทางไปเรื่อยๆ ว่าจะบอกยังไงให้คนเข้าใจสิ่งที่เรากำลังเล่าอยู่ ปัญหาเกี่ยวกับการเขียนเรื่องอาหารก็คือ ทำอาหารเป็นอยู่ไม่กี่อย่าง ส่วนร้านอาหารใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยได้ไปแล้ว ก็เลยไม่รู้ว่าจะเขียนไปได้นานแค่ไหน