xs
xsm
sm
md
lg

“หม้อข้าวหม้อแกงลิง” ขนมไทยภูมิปัญญาพื้นบ้าน หารับประทานได้ยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หม้อข้าวหม้อแกงลิง” เป็นไม้เลื้อย มีระบบรากตื้นและสั้น สามารถสูงได้หลายเมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร หรืออาจหนากว่านั้นในบางชนิด ก้านใบที่มีลักษณะยาว ใช้เป็นมือจับยึดเกี่ยว ก่อนแปรสภาพมาเป็นหม้อ โดยเริ่มแรกจะมีขนาดเล็ก และค่อยๆ โตขึ้นอย่างช้าๆ จนกลายเป็นกับดักทรงกลม หรือกรวย สามารถพบได้ทั่วประเทศ และหนึ่งในแหล่งใหญ่สำหรับการอนุรักษ์พันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงของภาคใต้อยู่ภายในสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เนื่องจากในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งค่าย หมู่ที่ 2, 3 และ 9 ของตำบลทุ่งค่ายมีสภาพเป็นป่าดิบชื้นและป่าพรุ ทำให้หม้อข้าวหม้อแกงลิงขึ้นอยู่กระจายทั่วไปเป็นหย่อมๆ ในเนื้อที่ 2,600 ไร่ จนนับเป็นแหล่งเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของ จ.ตรัง ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ได้ถูกทำลายสูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ จึงมีทั้งนักวิชาการและนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ความสนใจและเดินทางมายังสวนพฤกษศาสตร์ฯ เพื่อศึกษาและชมความงดงามของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

นอกจากชาวตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จะช่วยกันอนุรักษ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง ทั้งภายในสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย และบริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์แล้ว ยังพยายามสืบทอดขนมไทยภูมิปัญญาพื้นบ้านของภาคใต้ อย่างข้าวเหนียวหม้อแกงลิง ซึ่งขณะนี้เริ่มหาซื้อกินตามท้องตลาดได้ยากเพราะมีคนทำน้อย ขณะเดียวกันหม้อข้าวหม้อแกงลิงก็หากได้ยากมากขึ้น เนื่องจากมีจำนวนลดลงมากตามธรรมชาติ จากการที่มีผู้คนลักลอบเข้าไปเก็บต้นเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นไม้ประดับ

วิธีทำข้าวเหนียวหม้อแกงลิงก็ไม่ต่างไปจากการทำข้าวต้มมัด โดยส่วนประกอบเป็นข้าวเหนียวและกะทิเป็นหลัก แรกเริ่มต้องเข้าไปเก็บกรวยของต้น และเลือกอันที่อวบงามน่ากิน ก่อนนำมาตัดแต่งให้ดูสวยงามและล้างให้สะอาด โดยเฉพาะภายในกรวยจะต้องล้างแบบเบาๆ มิเช่นนั้นกรวยอันบอบบางอาจจะปริแตกได้ง่าย จากนั้นจึงนำข้าวเหนียวมาแช่น้ำประมาณ 15 นาที แล้วทิ้งให้หมาด ก่อนจะนำไปกรอกใส่ในหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้ได้ประมาณครึ่งกรวย แล้วหยอดกะทิที่มีส่วนผสมของเกลือป่น และน้ำตาลทราย พอประมาณ

จากนั้นนำกรวยมาเรียงใส่ถาด แล้วนึ่งประมาณ 20 นาที จนสุกดีก็จะได้ข้าวเหนียวหม้อแกงลิง ที่เห็นหัวกะทิมันย่องลอยอยู่ตรงปากหม้อ สามารถกัดกินได้เลย ทั้งส่วนตัวกรวย และข้าวเหนียวภายใน ยกเว้นกรวยที่แก่มากอาจต้องลอกเปลือกออกแล้วกินเฉพาะข้าวเหนียว สำหรับข้าวเหนียว 1 กิโลกรัมจะสามารถทำข้าวเหนียวหม้อแกงลิง ได้ประมาณ 120 ลูก ปัจจุบันยังคงมีขายในตลาดนัดตำบลทุ่งค่าย และตลาดบางแห่งของจังหวัดตรัง ในราคา 7 ลูก 10 บาท ซึ่งถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับขั้นตอนการผลิต

ข้าวเหนียวหม้อแกงลิงจะมีรสชาติคล้ายๆ กับข้าวเหนียวหลาม คือมันๆ หวานๆ แต่ข้าวเหนียวหม้อแกงลิงจะเด่นกว่าตรงที่กัดกินได้หมด ทั้งเนื้อข้าวเหนียว และหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ห่อหุ้ม ทำให้มีรสชาติกรอบๆ เค็มๆ เพิ่มเติมเข้าไป จึงอร่อยแบบพอดีคำ ปัจจุบันมีวางขายเฉพาะในตลาดนัดตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว และตลาดบางแห่งของจังหวัดตรัง เช่น ตลาดสดเทศบาลนครตรัง แต่หากได้มีโอกาสมาลองชิมเมื่อใดถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะหากินได้ค่อนข้างยาก

นางแอด มืดมาก อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 4 บ้านเขาไม้แก้ว ตำบลทุ่งค่าย ผู้ที่ยังคงสืบทอดข้าวเหนียวหม้อแกงลิงเพียงแห่งเดียวของอำเภอย่านตาขาว กล่าวว่า ทำอาชีพนี้มาถึง 15 ปีแล้ว และตั้งใจจะทำต่อไปจนหมดเรี่ยวแรง เพราะเป็นขนมไทยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่หากินได้ยาก และกว่าจะทำออกมาขายได้ต้องใช้ระยะเวลานาน นับตั้งแต่การไปหาหม้อ หรือกรวยในป่า ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกงูกัด แล้วต้องมาทำความสะอาดอย่างพิถีพิถันเพื่อล้างแมลงที่อาจหลงเหลืออยู่ในกรวยออกไปให้หมด จากนั้น ต้องมาเตรียมข้าวเหนียว และกะทิ ซึ่งจะเน้นมะพร้าวที่คั้นแบบสดๆ เพื่อให้รสชาติออกมาหอมหวานมันที่สุด ดีที่การนึ่งเดี๋ยวนี้หันมาใช้หม้อไฟฟ้าทำให้เกิดความสะดวก อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุที่มากขึ้น ตนจึงทำขายได้แค่อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เฉพาะวันพฤหัสบดี ประมาณครั้งละ 7 กิโลกรัม หรือมีรายได้ครั้งละประมาณ 1,200 บาท ยกเว้นในงานศพที่มีการสั่งล่วงหน้า ซึ่งอาจทำได้ถึงครั้งละ 10 กิโลกรัม ล่าสุดกำลังเตรียมไปทำขายงานที่เมืองทองธานี เพื่อเผยแพร่ข้าวเหนียวหม้อแกงลิงสูตรภาคใต้ให้ได้รู้จักมากขึ้น


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น