xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยว“สุโขทัย”เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร “ดำนา-ปลูกข้าว-ทำสังคโลก” สโลว์ไลฟ์สุดฟินบนถิ่นมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดมหาธาตุ วัดขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุดแห่ง(อดีต)อาณาจักรสุโขทัย ที่วันนี้ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์แห่งมรดกโลก เมืองเก่าสุโขทัย
“เที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร”

เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวของบ้านเราที่มาแรงนับตั้งแต่ปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559

สำหรับจังหวัด“สุโขทัย” ถือเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยววิถีไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่นี่นอกจากจะเคยเป็น(อดีต)ราชธานีแห่งแรกของชาติไทยแล้ว ยังเป็นเมืองแห่งมรดกโลกและเป็นดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
อรุณรุ่งยามเช้าแห่งสุโขทัย ดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำนับจากอดีตถึงปัจจุบัน
นั่นจึงทำให้ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาค ภาคเหนือ และ ททท.สำนักงานสุโขทัย” ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยว-เรียนรู้ สัมผัสวิถีไทยในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยมุ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยว“กลุ่มผู้หญิง” ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพและมาแรงแห่งยุค เกิดเป็นทริป “ผู้หญิงหัวใจสีเขียว ท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ที่ชวนให้ประทับใจไม่รู้ลืม
แปลงเกษตรปลอดสารเคมี พึ่งพาธรรมชาติในโครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย
เกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย

กิจกรรมแรก เราเปิดประเดิมกันด้วยการไปเรียนรู้ในวิถีชาวไร่ชาวนา เก็บผัก ปลูกข้าว ดำนา กันใน “โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย” ภายใน“สนามบินสุโขทัย”(อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย) สนามบินที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสวยงามติดอันดับต้นๆของเมืองไทย
ฝูงเป็ดและห่านออกหากินตามธรรมชาติในโครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย
โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย เป็นการทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว ปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์แบบปลอดสารเคมี ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างในโครงการนี้เกิดจากการพึ่งพาปัจจัยทางธรรมชาติ โดยมีเกษตรกรอินทรีย์ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยยกระดับการทำการเกษตรของไทยให้ก้าวหน้ามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้เปิดให้ผู้สนใจได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆภายในโครงการ

ด้วยความโดดเด่นและผลสำเร็จของโครงการ ทำให้โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย(Tourism Award) หรือ รางวัลกินรี ครั้งที่ 8 ปี 2554 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ดีเด่น และรางวัลกินรี ครั้งที่ 9 ปี 2556 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลชนะเลิศ PATA Gold Award 2012(พ.ศ. 2555) ประเภท Environment – Ecotourism อีกด้วย
นักท่องเที่ยวช่วยกันเก็บพืชผักอาหารปลอดสารมาทำอาหารในโครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย
สำหรับผู้มาร่วมทำกิจกรรมที่นี่ ก่อนอื่นต้องแปลงโฉมเป็นชาวนา(ชั่วคราว) ด้วยการเปลี่ยนมาใส่ชุดม่อฮ่อมเพื่อความสะดวกเหมาะสม จากนั้นเราจึงออกเดินหน้าทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่โครงการจัดไว้ให้(รายละเอียดการทำกิจกรรมในแต่ละทริปอาจจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับฤดูกาล และสภาพดินฟ้าอากาศ)

เริ่มจากนั่งรถอีแต๋นชมพื้นที่โครงการ แล้วไปสนุกกับการเก็บไข่เป็ดในเล้าที่ไข่บางฟองแม่เป็ดเพิ่งไข่ออกมายังอุ่นๆอยู่เลย ก่อนจะไปต่อกันด้วยการเก็บพืชผักต่างๆ เพื่อนำมาทำเป็นอาหารกลางวันและอาหารเย็น ไม่ว่าจะเป็น มะนาว พริก กะเพรา โหระพา คะน้า ผักหวาน หน่อไม้ฝรั่ง และผักสลัดต่างๆ เรียกว่าใครตั้งเป้าว่าอยากกินเมนูอะไร หากเจอวัตถุดิบก็สามารถเก็บมาปรุงกันได้ตามใจชอบ
ทดลอง ดำนา-ปลูกข้าว กิจกรรมไฮไลท์ ในโครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย
ต่อจากนั้นเราไปสัมผัสกับอีกหนึ่งกิจกรรมหลักของโครงการนั่นก็คือการเรียนรู้วิถีข้าวไทย กับการเรียนรู้พันธุ์ข้าวต่างๆที่ปลูกในโครงการ ชมโรงสีข้าว ลองหัดคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ส่วนที่ถือเป็นกิจกรรมไฮไลท์ก็คือ การทดลอง“ดำนา-ปลูกข้าว” ในแปลงเกษตรที่ทางโครงการจัดไว้ให้ ซึ่งเป็นดังห้องเรียนกลางแจ้งที่นอกจากจะได้ออกย่ำโคลนสัมผัสกับวิถีชาวนาแล้ว ที่สำคัญมันยังทำให้รู้ว่า กว่าที่ชาวนาจะผลิตข้าวออกมาให้เรากินกันนั้น มันยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน
ตื่นเต้นเล็กๆไปกับการขี่หลังเจ้าทุย
ขณะที่กิจกรรมน่าสนใจอื่นๆนอกเหนือไปจากนี้ก็มี สานปลาตะเพียน ร้อยมาลัย ทำข้าวต้มมัด และเรียนรู้วิถีควายไทย ที่ทางโครงการได้ไถ่ชีวิตกระบือนำมาเลี้ยงไว้เป็นร้อยๆตัว โดยมี “เจ้าแซม”(ควายเผือก)“เจ้าหนุ่ม” และ“เจ้าถั่ว” เป็นควาย 3 ตัวเอก ให้เราได้ให้อาหารหรือทดลองขึ้นขี่บนหลังควาย นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสาวๆชื่นชอบกันมาก
เรือนกล้วยไม้ สนามบินสุโขทัย แหล่งรวบรวมกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุโขทัย
นอกจากกิจกรรมเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์แล้ว ปัจจุบันสนามบินสุโขทัย ยังมีสิงน่าสนใจให้สัมผัสเที่ยวชมกันอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “เรือนกล้วยไม้” แหล่งรวบรวมกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุโขทัยกับกล้วยไม้สวยๆงามๆหลากสีสันกว่า 100,000 ต้น, “สวนสัตว์” ที่เป็นสวนสัตว์ขนาดย่อม มีสัตว์หลากหลายให้เที่ยวชม โดยเฉพาะสัตว์จากต่างประเทศ อาทิ สิงโต ยีราฟ ม้าลาย อัลปาก้า เต่ายักษ์ จิ้งจอก ฯลฯ “ปราสาทนครวัดจำลอง” ที่เป็นหุ่นจำลองย่อส่วน(โมเดล)ที่ทำได้อย่างเนี้ยบเห็นรายละเอียดชัดเจน
อัลปาก้าก้มกน้าก้มตากินหญ้าอย่างเพลิดเพลิน ในสวนสัตว์ สนามบินสุโขทัย
อีกทั้งยังมี “หลวงพ่อทันใจ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะแบบพม่าที่สร้างเสร็จภายในวันเดียว, “พระเสฏฐสุวรรณศาสดา” พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยอันงดงาม รวมถึง “หลวงพ่อศิลา” และ “ศาลพระพรหม” ให้สักการะบูชา และมีร้านอาหาร“ครัวสุโข” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของความอิ่มอร่อยกับเมนูเพื่อสุขภาพ ปลอดสารเคมี
บ้านท้องนา ที่พักที่จำลองวิถีชีวิตของชาวชนบทสมัยก่อนมาประยุกต์เข้ากับวิถีร่วมสมัยในสนามบินสุโขทัย
สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาร่วมทำกิจกรรมในโครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย ทางโครงการมีกิจกรรมให้เลือกทั้งแบบครึ่งวัน เต็มวัน หรือหากใครอยากสัมผัสชีวิตสโลว์ไลฟ์กันอย่างเต็มที่ภายในสนามบินก็มีที่พัก“บ้านท้องนา” ให้พักค้างกับบรรยากาศที่พักที่จำลองวิถีชีวิตของชาวชนบทสมัยก่อนมาประยุกต์เข้ากับวิถีร่วมสมัย นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพักผ่อนสำหรับผู้ที่มาเยือนจังหวัดสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-นอกกำแพงเมือง

หลังได้เปิดประสบการณ์จากการทดลองไปเป็นชาวไร่ชาวนา(ชั่วคราว)กันแล้ว จุดหมายต่อไปของ “ตะลอนเที่ยว” ก็คือการไปย้อนรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ของอาณาจักรสุโขทัยราชธานีแห่งแรกกันที่ “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ซึ่งในปี พ.ศ. 2534 ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็น“มรดกโลก” ร่วมกับ“อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย”(จ.สุโขทัย) และ“อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร”(จ.กำแพงเพชร)
บรรยากาศยามเย็น พระอาทิตย์ตกที่วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือ “เมืองเก่าสุโขทัย” (ต.เมืองเก่า อ.เมือง) มีโบราณสถานทั้งนอกเขตกำแพงเมืองและในเขตกำแพงเมืองรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง โดยจุดสำคัญที่เป็นไฮไลท์ไม่ควรพลาดที่ด้านนอกเขตกำแพงเมืองก็คือ “วัดศรีชุม” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระอจนะ”(อจนะหมายถึงผู้ไม่หวั่นไหว หรือการบูชานับถือ) พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยปางมารวิชัยสูง 15 เมตร กับพุทธลักษณะอันงดงามสมส่วน จัดเป็นหนึ่งในงานพุทธศิลป์ชิ้นเอกและเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยโบราณองค์ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ไหว้พระอจนะ วัดศรีชุม โบราณสถานสำคัญนอกเขตกำแพงเมือง
พระอจนะ ได้ชื่อว่า“พระพุทธรูปพูดได้” เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มาชุมนุมทัพที่วัดศรีชุม พระองค์ทรงวางแผนสร้างกำลังใจให้กับทัพทหารโดยการให้คนปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระเพื่อและพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้เกิดตำนานพระพุทธรูปพูดได้ขึ้นที่วัดแห่งนี้ นับเป็นภูมิปัญญาคนโบราณที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง
พระพุทธสิริมารวิชัย พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสุโขทัย
บริเวณพื้นที่นอกเขตกำแพงเมืองยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญอีกหนึ่งองค์ คือ “พระพุทธสิริมารวิชัย” หรือ “หลวงพ่องาม” หรือ “หลวงพ่อสุโขทัย” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสุโขทัยที่มีความงดงามยิ่ง

พระพุทธสิริมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ใน“หอพระพุทธสิริมารวิชัย” ภายในหอมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ภาพวิถีในอดีตของชาวสุโขทัย ภาพวิถีชีวิตในปัจจุบัน และภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เขียนขึ้นอย่างสวยงามด้วยเทคนิคสมัยใหม่ด้วยการเขียนภาพลงบนผืนผ้าใบ ก่อนนำไปติดบนฝาผนังเพื่อให้ภาพคงทนยืนยาว
หอพระพุทธสิริมารวิชัย ออกแบบโดย “อาวุธ เงินชูกลิ่น” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
ใครที่มากราบองค์พระพุทธสิริมารวิชัยแล้ว ก็ไม่ควรพลาดการชื่นชมความงามของภาพจิตรกรรมฝาผนัง และตัวอาคารหอพระพุทธอันงดงามซึ่งสร้างขึ้นตามแบบงานสถาปัตยกรรมยุคสุโขทัย โดยพลอากาศตรี “อาวุธ เงินชูกลิ่น” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

นอกจากพระอจนะ-วัดศรีชุม และพระพุทธสิริมารวิชัยแล้ว นอกเขตกำแพงเมืองยังมีโบราณสถานเด่นๆที่น่าสนใจให้เที่ยวชมกันอีก อาทิ “วัดพระพายหลวง” (ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับหอพระพุทธสิริมารวิชัย) ที่โดดเด่นไปด้วยปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง 3 องค์ ศิลปะเขมรแบบบายน, “วัดสะพานหิน”ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ด้านบนประดิษฐาน “พระอัฏฐารส” พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยองค์ใหญ่ศิลปะสุโขทัยอันงดงาม
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ในกำแพงเมือง

จากนอกกำแพงเมืองเรามาเที่ยวชมสิ่งที่น่าสนใจในเขตกำแพงเมืองกันบ้าง เริ่มจากการไปสักการะ“พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ที่ลักษณะพระพักตร์และทรวดทรงของพระบรมรูปนั้น ทางกรมศิลป์ได้จินตนาการตามลักษณะของสุภาพชนและเจ้านายสมัยสุโขทัย อีกทั้งลักษณะของพระพักตร์ยังเป็นการจำลองแบบตามพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอีกด้วย
วัดศรีสวาย
หลังไหว้พระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงฯ เอาฤกษ์เอาชัยแล้ว เราไปชมความน่าสนใจของ “วัดศรีสวาย”ที่โดดเด่นไปด้วยพระปรางค์ 3 องค์เรียงกัน ศิลปะแบบลพบุรี บนยอดขององค์ปรางค์มีลวดลายปูนปั้นบางส่วนที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์สวยงาม

อีกทั้งยังมีการค้นพบทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูปและศิวลึงค์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัดนี้เคยเป็นเทวสถานของพราหมณ์มาก่อนแล้วจึงแปลงเป็นพุทธสถาน
วัดสระศรี
ส่วนอีกหนึ่งจุดที่เราไปแวะชมก็คือ “วัดสระศรี” ที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำขนาดใหญ่ชื่อ“ตระพังตระกวน” ภายในวัดมีเจดีย์รายขนาดเล็ก และเจดีย์ประธานองค์ใหญ่ทรงลังกาเป็นจุดเด่นสำคัญ ด้านหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปางมารวิชัย จากฝั่งไปบนเกาะมีสะพานเล็กๆสร้างทอดเชื่อมดูมีเสน่ห์สวยงาม

วัดสระศรีได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงาม โดยเฉพาะในมุมมองผ่านสระน้ำสะท้อนเงาองค์เจดีย์ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก
วัดมหาธาตุ
จากนั้นเราไปปิดท้ายล่ำลาเมืองเก่าสุโขทัยกันที่ “วัดมหาธาตุ” ที่เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุดแห่ง(อดีต)อาณาจักรสุโขทัย

วัดมหาธาตุ มีเจดีย์อยู่มากมายรวมแล้วกว่า 200 องค์ โดยมีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรง“ดอกบัวตูม” หรือ“ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” ที่คงความเป็นเอกลักษณ์และความคลาสสิกแห่งงานสถาปัตยกรรมสุโขทัยอย่างเด่นชัด สืบตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

องค์เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุสันนิษฐานว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยชั้นล่างสุดมีพระพุทธสาวกเดินพนมมือประทักษิณ ส่วนบนฐานเดียวกันยังมีปรางค์ 4 องค์ประจำอยู่บริเวณมุมทั้ง 4 ทิศ และบริเวณมุมทั้ง 4 ทิศยังมีเจดีย์ทรงปราสาทแบบศรีวิชัยผสมลังกา 4 องค์
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย
นอกจากนี้ที่วัดมหาธาตุยังมี“เจดีย์ 5 ยอด” เป็นเจดีย์รองประธานของวัด ซึ่งสันนิษฐานว่าภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท และมี“วิหารพระศรีศากยมุนี”หรือ“วิหารหลวง” เป็นอีกหนึ่งจุดเด่น ในวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่มีพระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์อมยิ้ม ดูอิ่มบุญเปี่ยมศรัทธา

ในช่วงยามเย็นวัดมหาธาตุ นับเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกแสนสวยแห่งดินแดนมรดกโลกสุโขทัย ซึ่งแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมาเฝ้ารอถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกที่วัดมหาธาตุกันเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับที่วัดสระศรี
ปั่นจักรยาน เป็นกิจกรรมที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในการเที่ยวชมเมืองเก่าสุโขทัย
สำหรับการท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วันนี้การ“ปั่นจักรยาน”เที่ยวชมเมืองเก่าดูจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเลือกเข้ามาปั่นจักรยาน เที่ยวชมโบราณสถานและสิ่งที่น่าสนใจต่างๆกันแบบสโลว์ไลฟ์ ชิลล์ ชิลล์ ไม่เร่งรีบ ทำให้สามารถซึมซับอรรถรสและความประทับใจกลับไปได้อย่างเต็มเปี่ยม

กะเณชา แกลเลอรี่(สังคโลก)

สุโขทัยนอกจากจะเป็นมรดกโลกแล้ว ยังเป็นเมืองแห่ง “สังคโลก” ที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัยในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20
สังคโลก สุโขทัย ถือเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน(ในภาพคือสังคโลกจาก กะเณชา แกลเลอรี่)
สังคโลกหรือเครื่องสังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งที่ผลิตขึ้นในอาณาจักรสุโขทัย ทั้งที่เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย คำว่า “สังคโลก” สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “สวรรคโลก” ซึ่งเป็นชื่อเรียกดั้งเดิมของแหล่งเตาเผาที่เมืองศรีสัชนาลัย

สังคโลกสุโขทัยมีลักษณะเด่นเป็นลวดลายเฉพาะตัวแบบสุโขทัยที่สามารถสังเกตได้ไม่ยาก เพราะพบอยู่มากเพียงไม่กี่ลายในจานหรือชาม เช่น รูปปลา กงจักร และดอกไม้ โดยเฉพาะรูปปลานั้นถือว่าเป็นลวดลายเฉพาะของที่นี่แห่งเดียว
งานปั้นพระพิฆเนศปางต่างๆ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ความโดดเด่นแห่ง กะเณชา แกลเลอรี่(สังคโลก)
วันนี้สังคโลกถือเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะมีการผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศแล้ว แหล่งผลิตเครื่องสังคโลกหลายๆแห่งในสุโขทัย ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปท่องเที่ยว-เรียนรู้ ทดลองลงมือทำเครื่องสังคโลก ปั้นดิน ขึ้นรูป เขียนลาย กันด้วยตัวเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
เรียนรู้การทำสังคโลกที่ กะเณชา แกลเลอรี่(สังคโลก)
สำหรับหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว-เรียนรู้ เกี่ยวกับการทำสังคโลกที่น่าสนใจในสุโขทัยก็คือ “กะเณชา แกลเลอรี่(สังคโลก)”(ต.เมืองเก่า อ.เมือง) ที่เป็นแหล่งผลิตงานสังคโลกทั้งในแบบสุโขทัยดั้งเดิม และแบบงานร่วมสมัยดีไซน์ใหม่ๆ มีจุดเด่นอยู่ที่ลายปลาอันหลากหลาย และงานปั้นพระพิฆเนศปางต่างๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตองค์พระพิฆเนศเซรามิกอันโดดเด่นของเมืองไทย โดยงานสังคโลก งานเซรามิกของกะเณชาจะทำเป็นงานศิลปะเป็นงานแฮนด์เมดมีชิ้นเดียวในโลก
ผลงานทุกชิ้นที่สร้างสรรค์จากมือของเราล้วนต่างเป็นงานมาสเตอร์พีชที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก
ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่มาทดลองทำสังคโลกที่กะเณชา จะมีให้เลือกว่าจะ“ปั้น” หรือ “เขียนลาย” ขึ้นอยู่กับว่าใครจะชอบอย่างไหน และไม่ว่าจะเลือกเขียนลายหรือเลือกปั้น งานทุกชิ้นต่างก็เป็นผลงานมาสเตอร์พีชจากฝีมือของเราที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ซึ่งในระหว่างที่ทดลองทำนอกจากจะได้เรียนรู้ในเรื่องของสังคโลกแล้ว ยังเป็นการฝึกสมาธิชั้นดี เพราะใจของเราได้จดจ่อยู่กับสิ่งที่ทำ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

หลังเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมต่างๆ และการสัมผัสกับแหล่งมรดกโลกที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกันอย่างจุใจแล้ว จุดหมายลำดับต่อไป“ตะลอนเที่ยว” เรามุ่งหน้าสู่ อ.ศรีสัชนาลัย เพื่อไปสัมผัสกับรอยอดีตอันยิ่งใหญ่ของแหล่งมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัยกันที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย”(ต.เมืองเก่า อ.ศรีสัชนาลัย)
วัดช้างล้อม หนึ่งในจุดท่องเที่ยวต้องห้ามพลาดแห่งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย หรือ “เมืองโบราณศรีสัชนาลัย” ในอดีตเป็นเมืองที่เกิดขึ้นมาก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะขึ้นครองกรุงสุโขทัย ชื่อว่า“เมืองเชลียง” ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นครองกรุงสุโขทัย สถาปนาราชวงศ์พระร่วง จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ศรีสัชนาลัย” พร้อมกับสร้างเมืองใหม่ขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง

ปัจจุบันพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า“แก่งหลวง” มีโบราณสถานที่ยังคงหลงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันกว่า 200 แห่ง โดยโบราณสถานสำคัญที่สุดในเขตกำแพงเมืองเก่า คือ “วัดช้างล้อม” ซึ่งถือเป็นหนึ่งจุดท่องเที่ยวต้องห้ามพลาดเมื่อมาเยือนเมืองศรีสัชนาลัย
งานปูนปั้นช้างวัดช้างล้อม มีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ ตรงที่ยืนเต็มตัวแยกออกมาจากผนัง
วัดช้างล้อม มีโบราณสถานสำคัญคือเจดีย์ประธานทรงลังกา ที่โดยรอบฐานทั้งสี่มีงานปูนปั้นช้างรวม 39 เชือก งานปูนปั้นช้างที่นี่มีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ ตรงที่ยืนเต็มตัวแยกออกมาจากผนัง โดยเฉพาะช้างที่ยืนประดับตรงมุมเจดีย์นั้น ถือเป็นช้างเชือกพิเศษ เพราะมีขนาดใหญ่และมีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า นับเป็นงานพุทธศิลป์ปูนปั้นช้างที่สวยงามและสุดคลาสสิกมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย

นอกจากวัดช้างล้อมแล้ว ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยยังมีอีก 2 วัดไฮไลท์ไม่ควรพลาดให้เที่ยวชมกัน ได้แก่
วัดเจดีย์ 7 แถว อีกหนึ่งวัดสำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
วัดเจดีย์เจ็ดแถว” ที่อยู่ใกล้ๆกับวัดช้างล้อม ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือเจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม(พุ่มข้าวบิณฑ์) อีกทั้งยังมีเจดีย์รายและอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ กันถึง 33 องค์ ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลังกา พุกาม และศรีวิชัย
ลวดลายปูนปั้นคลาสสิกแห่งวัดนางพญา
วัดนางพญา” มีความโดดเด่นตรงลวดลายปูนปั้นอันงดงามคลาสสิก ทั้งรูปกึ่งวานรกำลังวิ่ง ลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนม ซึ่งเป็นฝีมือชั้นครูอันทรงคุณค่ายิ่ง ลวดลายปูนปั้นดังกล่าวช่างทองสมัยก่อนได้ถูกนำมาเป็นแบบในการถักทอเป็นลายทองโบราณของสุโขทัย สำหรับทำเป็นเครื่องประดับและของตกแต่ง และได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน

บ้านนาต้นจั่น

จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เรียนรู้รากเหง้าความเป็นเป็นไทย ลำดับต่อไปเราไปสัมผัสกับ กิจกรรม ท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิต ชุมชน วัฒนธรรมกันที่ “บ้านนาต้นจั่น” (ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนอันโดดเด่นอันดับต้นๆของเมืองไทย การันตีด้วยรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย(Tourism Award) ประจำปี 2556 ประเภทองค์กร/ชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยม และรับรางวัล PATA GOLD AWARDS 2012 ประเภท Heritage and culture
ปั่นจักรยานสัมผัสวิถีชุมชนที่บ้านนาต้นจั่น
บ้านนาต้นจั่น เป็นชุมชนน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมของธรรมชาติขุนเขา ชาวบ้านนาต้นจั่นดำรงวิถีอย่างเรียบง่าย งดงาม เปี่ยมไปด้วยอัธยาศัยไมตรี โดยมีอาชีพหลักคือทำเกษตรกรรม ป,ข้าว ทำไร่ และทำสวนผลไม้หลากหลาย อาทิ ลำไย ลางสาด ลองกอง เงาะ ทุเรียน เป็นต้น

สำหรับสิ่งน่าสนใจเด่นๆที่ถือเป็นจุดท่องเที่ยวไฮไลท์ของหมู่บ้านแห่งนี้ ได้แก่
ผ้าหมักโคลนที่นำมาตากก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการทำอื่นๆต่อไป
-“ผ้าหมักโคลน” หนึ่งในภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สร้างสรรค์สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยกำเนิดของผ้าหมักโคลนนั้นมาจากความบังเอิญในอดีต เมื่อชาวบ้านทอผ้าไว้สวมใส่ แล้วใส่ไปทำไร่ทำนา จนเสื้อผ้าเลอะเปรอะโคลนอยู่เป็นประจำ แต่มีคนสังเกตว่าเสื้อผ้าที่ใส่ไปทำไร่นาเลอะโคลนนั้นกลับมีเนื้อนิ่ม ใส่สบาย จึงเกิดเป็นภูมิปัญญาการผลิตผ้าหมักโคลนอันโด่งดังของบ้านนาต้นจั่น ที่ขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพและความนุ่มสวมใส่สบาย กลายเป็นที่ต้องการอย่างมากของท้องตลาด
การทำผ้าหมักโคลนที่บ้านนาต้นจั่น
ผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่น ใช้สีจากธรรมชาติมาย้อมผ้า อาทิ มะเกลือ-สีดำ,คราม-สีน้ำเงิน คราม,ไม้ฝาง-สีชมพู,เปลือกไม้ขนุน-สีเหลือง ฯลฯ ซึ่งที่ศูนย์เรียนรู้บ้านนาต้นจั่น จะมีการสาธิตทำผ้าหมักโคลนให้ชม นักท่องเที่ยวคนไหนสนใจ สามารถเลือกซื้อเลือกหาผ้าหมักโคลนจากที่นี่ไปสวมใส่กันได้ ซึ่งก็มีให้เลือกทั้งเสื้อ กระโปรง กางเกง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น กระเป๋า เป็นต้น
ทอผ้า อีกหนึ่งวิถีอันโดดเด่นของบ้านนาต้นจั่น
-“ทอผ้า”เป็นอีกหนึ่งวิถีอันโดดเด่นของบ้านนาต้นจั่น โดยผู้หญิงชาวบ้านยังคงทอผ้าอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านกันอย่างขยันขันแข็ง กับฝีมือการทอผ้าเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกแก้ว เมื่อทอเสร็จแล้วก็จะนำไปหมักโคลนต่อไป
ตุ๊กตาบาร์โหน
-“ตุ๊กตาบาร์โหน” ตุ๊กตาภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของ คุณ“ตาวงษ์ เสาฟั่น” ผู้เฒ่าวัย 88 ปี(เกิด พ.ศ. 2471) ที่ได้คิดค้นทำตุ๊กตาบาร์โหนขึ้น ให้เป็นของเล่นเพื่อบริหารมือ โดยแรกเริ่มเดิมที คุณตาวงษ์ได้ความคิดมาจากการทำของเล่นจากกระดาษ ก่อนจะพัฒนามาเป็นตุ๊กตาบาร์โหนที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านนาต้นจั่น

วันนี้ด้วยอายุขัยที่มากขึ้น ตาวงษ์จึงส่งต่องานทำตุ๊กตาบาร์โหนให้กับลูกชาย ส่วนคุณตานั้นหากวันไหนสบายดีก็จะมาคอยต้อนรับพูดคุยกับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาชมการทำตุ๊กตาบาร์โหนที่บ้านของคุณตา
ข้าวเปิ๊บ
-“ข้าวเปิ๊บ”-“ก๋วยเตี๋ยวแบ” เป็นเมนูต้องห้ามพลาดของผู้ที่มาเยือนบ้านนาต้นจั่น “ข้าวเปิ๊บ” หรือ“ก๋วยเตี๋ยวพระร่วง” มีกรรมวิธีการทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ แต่ไส้จะใส่วุ้นเส้น ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วงอก(หรือผักอื่นๆ) แล้วนำไปจัดพับ(“เปิ๊บ”เป็นภาษาถิ่นหมายถึงพับ)ใส่ชาม ทับหน้าด้วยไข่นึ่ง(คล้ายไข่ดาว)และหมูแดง มีให้เลือกกินทั้งน้ำและแห้ง

ส่วน“ก๋วยเตี๋ยวแบ”จะมีหน้าตาคล้ายผัดไท โรยหน้าด้วยถั่วบดและเครื่องปรุงต่างๆ มีหมูแดง กากหมู และมะนาว เสิร์ฟมาข้างเคียง นอกจากนี้ก็ยังมี “ข้าวพัน”ของกินเล่นพื้นถิ่นของคนในแถบสุโขทัยและอุตรดิตถ์ มีทั้งข้าวพันน้ำซุป ข้าวพันพริก ข้าวพันไข่ หมี่พัน และข้าวโอบ

โดยร้าน“ข้าวเปิ๊บ-ก๋วยเตี๋ยวแบ” ที่ถือเป็นต้นตำรับนั้นก็คือ “ร้านข้าวเปิ๊บ ยายเครื่อง” แห่งบ้านนาต้นจั่น ที่วันนี้ใน จ.สุโขทัย มีคนนำแบรนด์ป้าเครื่องไปขายข้าวเปิ๊บกันอยู่หลายร้านทีเดียว
ยายเครื่อง คนดังแห่งบ้านนาต้นจั่น
และนั่นก็คือไฮไลท์อันโดดเด่นแห่งบ้านนาต้นจั่น ซึ่งนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนสามารถเลือกเที่ยวได้หลากหลาย ทั้งแบบครึ่งวัน เต็มวัน หรือจะพักค้างนอนโฮมสเตย์ โดยกิจกรรมยอดนิยมของหมู่บ้านแห่งนี้ก็คือ “การปั่นจักรยาน”ท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถปั่นลัดเลาะซอกแซกเข้าไปตามท้องไร่ท้องนาบ้านเรือน เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ วิถีชีวิต วิถีชุมชน พูดคุยกับชาวบ้านได้อย่างเต็มที่ เปี่ยมอรรถรส
ข้าวของทรงคุณค่าจัดแสดงมากมายในสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ
สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ-ไหมเงิน

หลังซึมซับประทับใจกับวิถีชนบทอันทรงคุณค่าที่บ้านนาต้นจั่นแล้ว เรามุ่งหน้าไปชมความงามอันวิจิตรของผ้าทอโบราณกันที่ “สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ”(ต.บ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย)
ลุงสาธร อธิบายเรื่องราวของผืนผ้าให้นักท่องเที่ยวฟัง
สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ ก่อตั้งและดำเนินการโดย “อ.สาธร โสรัจประสพสันติ” หรือ “ลุงสาธร”ชาวบ้านหาดเสี้ยวผู้มีใจรักในงานศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะผ้าทอโบราณ ลุงสาธรจึงได้นำเสนอวิถีแห่งชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวให้คนภายนอกได้รับรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ ซึ่งภายในจัดแสดงผ้าทอลายโบราณ ผ้าเก่าแก่ ผ้าทอชิ้นเยี่ยม และผ้าทอทรงคุณค่าต่างๆเอาไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ ซิ่นตีนจกเก้าลายบ้านหาดเสี้ยว ผ้าซิ่นที่ใช้ในพิธีบวชนาคช้างบ้านหาดเสี้ยว ผ้าทอมือชาวไทยพวน ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม(เชียงใหม่) ลำพูน อุตรดิตถ์

และผ้า 2 ผืนไฮไลต์คือ“ผ้าซิ่นทองคำ”(ซิ่นไหมคำ) เป็นซิ่นเจ้านายเชียงตุงอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี กับผ้าซิ่นทองคำผืนใหม่ที่ถูกทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีแต่งงานของลูกสาวลุงสาธรอันวิจิตรงดงาม
ศิลปวัตุและข้าวของจัดแสดงมากมายใน สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ
นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังจัดแสดงเครื่องใช้ข้าวของโบราณหายากต่างๆอีกมากมาย ซึ่งที่นี่เปิดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ศึกษาวิถีชาวไทยพวน ที่หากใครติดต่อไปล่วงหน้าก็จะได้ อ.สาธร มาเป็นวิทยากรบรรยายได้อย่างอรรถรส ทั้งสนุก มัน ฮา แต่ก็ได้เนื้อหาสาระกลับไป

ใครที่ไปเที่ยวชมสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำหากเป็นผู้ที่ชื่นชอบในผ้าไทย ก็สามารถเลือกซื้อเลือกหาผ้าไทยผืนงามติดไม้ติดมือกลับไปได้ที่ “ร้านสาธร” ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ ที่นี่เป็นแหล่งจำหน่ายผ้าทอและสินค้าพื้นบ้านอันหลากหลาย โดยเฉพาะผ้าทอหายากที่ใช้เวลาทอนานนับเป็นเดือน อาทิ ผ้าซินเคี๊ยะ ผ้าซิ่นย้อมครั่ง ผ้าซิ่นหมักโคลน และผ้าซิ่นตีนจกเก้าลายอันสวยงาม
เครื่องเงินลวดลายโบราณจากร้านไหมเงิน
ใน อ.ศรีสัชนาลัย ยังมีแหล่งศิลปวัฒนธรรมอันน่าสนใจให้สัมผัสกันปิดท้ายทริป นั่นก็คือ ร้าน“ไหมเงิน”(ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย) ที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิต “เครื่องเงินสุโขทัย” อันโดดเด่นอีกแห่งหนึ่ง

เครื่องเงินสุโขทัย เป็นงานถักทอเงินโบราณที่มีการสืบต่อภูมิปัญญามาช้านานกว่า 700 ปี โดยงานเครื่องเงินที่ร้านไหมเงินแห่งนี้ ลวดลายส่วนหนึ่งจะนำลวดลายปูนปั้นโบราณของวัดนางพญา(อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) มาประยุกต์เป็นลวดลายในเครื่องเงินอันละเอียดอ่อน ประณีต งดงาม สร้อยคอ กับผลิตภัณฑ์เงินหลากหลายรูปแบบ อาทิ กำไล ต่างหู แหวน สร้อย กรอบพระ กระเป๋าเงิน เป็นต้น นอกจากการทำเงินแล้วที่ร้านไหมเงินก็ยังมีการทำทองเป็นอีกหนึ่งงานฝีมือคุณภาพอีกเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินและเครื่องทอง แห่งร้านไหมเงิน
และนั่นก็คือมนต์เสน่ห์แห่งวิถีไทย ผ่านการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีแห่งสุโขทัยหัวใจสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะได้เปิดประสบการณ์แปลกใหม่ ได้เรียนรู้ในวิถีไทยอันทรงคุณค่า และวิถีชนบทที่แตกต่างแล้ว ที่สำคัญคือในกิจกรรมท่องเที่ยวหลายๆจุดของทริปนี้ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาต่อยอดเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆได้เป็นอย่างดี

นับเป็นผลพลอยสำคัญจากการท่องเที่ยวที่หากใครไม่เคยไปสัมผัสย่อมไม่รู้

*****************************************

โครงการเกษตรอินทรีย์สนามบินสุโขทัย โทร. 0-5564-7290
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.0-5569-7527,0-5561-3241
กะเณชา แกลเลอรี่(สังคโลก) โทร.0-5563-3109,089-999-4402,083-872-0175
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทร.0-5567-9211
ศูนย์เรียนรู้บ้านนาต้นจั่น โทร.089-885-1639,085-905-0961,089-642-0150
สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ โทร.0-5567-1143
ร้านไหมเงิน โทร. 081-886-7850
และสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดสุโขทัย เชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในบทความเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย (ดูแลพื้นที่สุโขทัย กำแพงเพชร) โทร.0-5561-6228-9

*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น