xs
xsm
sm
md
lg

กฎกติการักในยุคหัวใจไร้เสรีภาพ...พ่อแม่มิได้เป็นเจ้าของลูก เหมือนโคกระบือช้างม้า...แต่ถ้ามีบรรดาศักดิ์ก็เปนอีกอย่าง!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

จินตหรา สุขพัฒน์  สันติสุข พรหมสิริ ในหนัง “อำแดงเหมือนกับนายริด”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นสมัยที่ประเทศไทยเราเริ่มเปิดประตูไปสู่ความเป็นอารยะด้วยการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา นอกจากจะรับเอาวิทยาการแผนใหม่เข้าพัฒนาประเทศในหลายๆด้านแล้ว ยังทรงปรับปรุงระบบสังคมให้เป็นอารยะขึ้นด้วย โดยเฉพาะสิทธิของสตรีที่ถูกกดขี่เป็นเสมือนทาสในเรือนเบี้ยของผู้ชายมาตลอด แต่ในสังคมที่ยึดถือระบบศักดินาและระบบทาสกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็ยังไม่อาจล้างระบบชนชั้นออกไปได้หมด ดังจะเห็นได้จากการพิจารณาคดีความเรื่องรักๆใคร่ๆที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น แม้จะดูเป็นความคิดใหม่ให้สิทธิสตรี แต่ก็ต้องเป็นคดีที่เกิดขึ้นระหว่างสามัญชนกับสามัญชนด้วยกันเท่านั้น ส่วนขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์ยังได้รับการยกย่องอยู่เหนือราษฎร มีอภิสิทธิ์กว่าคนทั่วไปอยู่ดี

คดีหนึ่งที่ครึกโครมในยุคนั้น แสดงให้เห็นการมีสิทธิสตรีเป็นครั้งแรกๆ ก็คือคดีที่ อำแดงเหมือน เข้าถวายฎีการ้องทุกข์ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะเสด็จออกรับการร้องทุกข์ของราษฎรที่พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีฉลู (พ.ศ.๒๔๐๘) ซึ่งเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว โดย เชิด ทรงศรี ในชื่อ “อำแดงเหมือนกับนายริด” ข้อความในฎีกานั้นมีว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าอำแดงเหมือน เป็นบุตรของนายเกต อำแดงนุ่ม อายุข้าพระพุทธเจ้าได้ ๒๑ ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี มีความทุกข์ร้อนขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายเรื่องราวให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ เดิมข้าพระพุทธเจ้ากับนายริด รักใคร่เป็นชู้กัน บิดามารดาของข้าพระพุทธเจ้าหารู้ไม่ ครั้นอยู่มา ณ เดือน ๔ ปีชวด ฉศก (พ.ศ. ๒๔๐๗) นายภู ให้เถ้าแก่มาขอข้าพระพุทธเจ้าต่อบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ยอมจะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้ารู้ความว่าบิดามารดาจะยกข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม บิดามารดาโกรธ ด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า ครั้น ณ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำปีชวด ฉศก เวลาพลบค่ำ บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภูๆให้ข้าพระพุทธเจ้าเข้าไปในห้องเรือน ข้าพุทธเจ้าไม่ไป ข้าพระพุทธเจ้าก็นั่งอยู่ที่ชานเรือนนายภูจนรุ่งขึ้นเวลาเช้า ชายหญิงชาวบ้านได้รู้เห็นเป็นอันมาก แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้าอีก จะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภูให้จงได้ แล้วบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภูอีกครั้งหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็หาขึ้นไปบนเรือนนายภูไม่ แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า แล้วว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู จะเอาปืนยิงข้าพระพุทธเจ้าให้ตาย ข้าพระพุทธเจ้ากลัวก็หนีไปหานายริดชู้เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้สองสามวัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าสั่งผู้มีชื่อให้บอกนายริด ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ให้ผู้มีชื่อเป็นเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าจึงพาเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปที่บ้านกำนัน ในเวลานั้นนายภูไปคอยที่บ้านกำนัน นายภูจึงอายัดตัวเถ้าแก่ไว้แก่กำนัน ครั้น ณ เดือน ๗ ปีฉลู สัปตศก มีหมายหลวงสยาม
นนทเขตรขยัน ปลัดไปเกาะข้าพระพุทธเจ้ากับนายริดกับบิดามารดานายริดมาที่ศาลากลางเมืองนนทบุรี หลวงปลัดแลกรมการถามข้าพระพุทธเจ้าๆให้การว่าข้าพระพุทธเจ้าหาได้รักใคร่ยอมเป็นภรรยานายภูไม่ พระนนทบุรีและกรมการเปรียบเทียบตัดสินว่า ถ้านายภูสาบานตัวได้ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้ยอมเป็นภรรยานายภูให้นายริดแพ้ความ นายภูไม่ยอมสาบาน แล้วกรมการเปรียบเทียบว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าสาบานตัวได้ว่าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายภูยอมแล้วความแก่กัน นายภูก็หายอมให้ข้าพระพุทธเจ้าสาบานไม่ ครั้นเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก นายภูกลับฟ้องกล่าวโทษนายริดกับบิดามารดานายริด กับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คน มีความแจ้งอยู่ในฟ้องนายภูนั้นแล้ว พระนนทบุรีแลกรมการเกาะได้ตัวนายริดกับบิดามารดานายริดกับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนมาแล้ว บังคับให้นายริคส่งตัวข้าพระพุทธเจ้า นายริด ก็ส่งตัวข้าพระพุทธเจ้าให้ตุลาการ นายริดกับบิดามารดานายริดแลผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คน ก็เป็นคู่สู้ความกับนายภู แต่ตัวข้าพเจ้าได้ให้การไว้ต่อตุลาการเป็นความสัตย์จริงข้าพระพุทธเจ้าหาได้เป็นภรรยานายภูไม่ แจ้งอยู่ในคำให้การนั้นแล้ว นายเปี่ยม พะทำมะรง คุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ที่ตะราง แล้วมารดาข้าพระพุทธเจ้าก็มาว่าขู่เข็ญจะให้ข้าพระพุทธเจ้ายอมเป็นภรรยานายภูให้จงได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม ข้าพระพุทธเจ้าเตือนตุลาการให้ชำระความต่อไปก็ไม่ชำระให้ นายเปี่ยม พะทำมะรงก็คุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ แกล้งใช้การงานต่างๆเหลือทน ได้ความทุกข์ร้อนนัก ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หนีมาทำฎีกาทูลเกล้าฯถวาย พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าสมัครใจเป็นภรรยานายริดชู้เดิมของข้าพุทธเจ้าต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯเป็นที่พึ่ง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ”

เมื่อรับฎีกานี้แล้ว จึงทรงพระราชหัตถเลขาสลักหลังฎีกาให้สอบสวนเรื่องที่กล่าวมา ถ้าไม่ผิดไปจากความจริงนักก็ให้จมื่นราชามาตย์ กับนายรอดมอญ มหาดเล็ก ขึ้นไปจัดการชำระคดีนี้ ให้หญิงผู้ร้องฎีกาตกเป็นภรรยาชายชู้เดิมตามสมัคร เพราะหญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเศษแล้ว ควรเลือกหาผัวตามชอบใจได้ แต่ให้ชายชู้เดิมเสียเบี้ยละเมิดให้บิดามารดาหญิงชั่งหนึ่ง ใช้ชายผู้ที่ได้หญิงนั้นด้วยบิดามารดายอมยกให้สิบตำลึง รวมเป็นสามสิบตำลึง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ชายชู้เดิมเสียแทนบิดามารดาหญิงแลชายที่ว่าเป็นเจ้าของหญิงนั้นด้วย ให้ความเรื่องนี้เลิกแล้วต่อกันไป

นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานพระราชวินิจฉัยไปด้วยว่า หากจะมีข้อที่จะต้องวินิจฉัยนอกเหนือจากเรื่องที่ได้กล่าวในฎีกานี้แล้ว ให้ยึดหลักว่า

“บิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของบุตรชายหญิง ดังหนึ่งคนเป็นเจ้าของโคกระบือช้างม้า จะตั้งราคาขายตามชอบใจได้หรือ ดังนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัว จนจะขายทาสตามค่าตัวเดิมนั้นได้ เมื่อบิดามารดาจนจะขายบุตรต่อบุตรยอมให้ขายจึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขาย ถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงเท่าไร ก็ขายได้แต่เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไรผิดไปจากนี้อย่าเอา”

ฉะนั้นในเรื่องนี้ ถ้าบิดามารดาของอำแดงเหมือน เอาชื่อของลูกสาวไปขายให้นายภูเท่าไร ก็ให้บิดามารดาใช้เงินเขาเอง อย่าให้ชายชู้เดิมและตัวหญิงต้องใช้ เพราะเห็นชัดว่าตัวหญิงไม่ยอมให้ขาย ทั้งยังทรงพระราชทานหลักเกณฑ์ไปด้วยว่า ถ้าหญิงนั้นหนีบิดามารดาตามชายชู้ไป ถ้าเอาเงินทองสิ่งของของบิดามารดาติดตัวไปด้วย ถ้าบิดามารดาไม่ยอมให้ ก็ต้องรีบตามเอาคืน เว้นแต่แค่เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม แลเงินทองสิ่งของราคาไม่เกินสามตำลึง ให้บิดามารดายกให้หญิงเพื่อเป็นเสบียงเลี้ยงตัว อยู่สักเดือนสองเดือนกว่าจะมีอาชีพเลี้ยงตัวได้ ส่วนที่ฟ้องร้องอายัดตัวเถ้าแก่ผู้สู่ขอนั้นให้เลิกกันไป

ทรงมีประกาศพระราชวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปอีกว่า

“ตามลัทธิผู้ชายในบ้านเมืองทุกวันนี้ พอใจถือว่าหญิงคนใดชายได้พาเข้าไปในที่ลับจับต้องถึงตัวแล้ว ก็พอใจถือตัวว่าเปนเจ้าผัว ความก็ว่าอย่างนั้น ผู้ตัดสินก็ว่าอย่างนั้น แล้วตัดสินให้ผัวเปนเจ้าของ แลให้เมียเปนดังสัตว์เดียรัจฉาน.....”

การตัดสินตามหลักให้ยึดถือตามใจชายหญิงที่รักกันนั้น ทรงเกรงว่าบางคนที่ถูกตัดสินไปแล้วไม่ได้ยึดหลักข้อนี้จะบ่นเอาได้ จึงทรงอธิบายว่า ขอให้สังเกตรายละเอียดของคดีที่ทรงตัดสินไปนั้น ทรงนำบรรดาศักดิ์ชาติตระกูลของหญิงและชายที่เกี่ยวกับที่สูงที่ต่ำมาพิจารณาด้วย อย่างเช่น

ก่อนหน้านี้ นายไทย มหาดเล็ก ซึ่งแต่ก่อนเป็นนายรองชิด บัดนี้เป็นขุนนครเขตรเกษมศรี รองปลัดกรมกองตระเวนข่าว แต่งเถ้าแก่ไปขอ ทรัพย์ บุตรีพระยาเทพอรชุนเป็นภรรยา ได้ปลูกเรือนหออยู่ด้วยกันแล้วพากันเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้พระราชทานเงินตราให้ ต่อมาทรัพย์กับนายรองชิดโกรธขึ้งขุ่นเคืองกัน นายรองชิดกลับไปอยู่บ้านเดิม แต่ก็ยังมาหาสู่เมียห่างๆ เมียจึงมีชู้กับพันสรสิทธ์ปั่น ในกรมพระตำรวจ ขณะที่พระยาเทพอรชุนไม่อยู่บ้านไปราชการที่มณฑลนครศรีธรรมราช นายรองชิดไปหาเมียก็พบพันสรสิทธิ์ปั่นในที่นอนเมีย เถียงไม่ขึ้นในเรื่องชายชู้ นายรองชิดเห็นว่าทรัพย์เคยได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทมาแล้ว จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล มีพระบรมราชโองการสั่งให้ลูกขุนปรับชายชู้ตามศักดินานายรองชิต จากนั้นฝ่ายหญิงก็สมัครใจจะไปอยู่กับชายชู้ ส่วนพันสรสิทธิ์ปั่นก็ยินดีรับ เพราะเสียค่าปรับไปมากแล้ว

เรื่องนี้ถ้าให้ถือหลักตามสมัครใจของชายหญิงที่รักใคร่กัน ทรัพยก็ต้องไปอยู่กับพันสรสิทธิ์ตามความสมัครใจของคนทั้งสอง...แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ทรัพย์เป็นบุตรขุนนางมีบรรดาศักดิ์ ไม่ใช่หญิงที่บิดามารดาเป็นราษฎรสามัญ จะโปรดให้เป็นไปตามใจของทรัพย์กับชายชู้ไม่ได้ พระยาเทพอรชุนก็ไปราชการไกล จะว่าอย่างไรในเรื่องนี้ก็ยังไม่ทราบ จึงโปรดให้หาตัวนายพิศาล หุ้มแพร ในพระบวรราชวัง และบุตรพระยาเทพอรชุนที่เป็นมหาดเล็กหลายนายมาเฝ้า แล้วมีพระบรมราชโองการดำรัสถามว่า ทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุนนอกใจนายรองชิตผู้ผัว ยอมให้พันสรสิทธ์ทำชู้จนนายรองชิตจับได้ บัดนี้ชายชู้ก็เสียเบี้ยปรับแล้ว ฝ่าย หญิงก็สมัครใจจะไปอยู่กับชายชู้ ญาติพี่น้องจะยอมหรือไม่ บุตรพระยาเทพอรชุนทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ยอม ทั้งคาดว่าพระยาเทพอรชุนก็คงไม่ยอมด้วย จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้นายพิศาลพี่ชายทรัพย์รับตัวน้องสาวไปจำไว้ คอยให้พระยาเทพอรชุนกลับมา สุดแต่บิดาจะเห็นสมควร

ที่เรื่องกลับเป็นตรงกันข้าม ก็เพราะต้องคำนึงถึงบรรดาศักดิ์ของบิดานี่เอง

ต่อมา ณ วันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้มีประกาศว่า

“มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทให้ประกาศให้ทราบทั่วกัน คนมีแผลคันถ้าจะห้ามไม่ให้เกา ยังมีที่ว่าควรจะห้ามอยู่ เพราะว่าเกาเข้าหนังจะถลอกหรือที่คันนั้นจะเป็นเม็ดยอดสำคัญก็ให้โทษมาก ก็ผู้มีบุตรหญิงจะมาขังไว้ไม่ให้มีผัวนั้นจะต้องการอะไร ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์จะกักบุตรหญิงไว้ไม่ให้มีผัวเพราะกลัวจะปนระคนด้วยชาติต่ำช้า เพราะบุตรเกิดมาเขานับถือขึ้นชื่อตามหมู่บิดา ถ้าชายชาติต่ำช้ามาเปนผัวหญิงบุตรผู้ดี มีบุตรเกิดขึ้นก็คงจะต้องรู้ต้องเรียกเปนบุตรไพร่ตามตระกูลบิดา จะเชิดชูตามฝ่ายมารดามิได้ ด้วยเหตุนี้บิดาของหญิงที่มีบรรดาศักดิ์จะขังจะกักบุตรหญิงของตัวไว้ ด้วยกลัวจะปะปนระคนด้วยคนต่ำๆ ก็ควร.....”

ประกาศฉบับนี้ยอมให้พ่อแม่ที่มีบรรดาศักดิ์กักขังลูกสาวไว้ได้ ถ้าหากกลัวว่าจะไปเกลือกกลั้วกับผู้ชายชั้นต่ำ

นอกจากนี้ ในประกาศฉบับนี้ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมาย ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าหญิงชายสมัครรักใคร่กัน ให้นำบรรดาศักดิ์ของพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายมาเปรียบเทียบกัน ถ้าฝ่ายหญิงมีศักดินาสูงตั้งแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป และตระกูลฝ่ายชายไล่ขึ้นไปถึงปู่มีศักดินาสูงเสมอฝ่ายหญิงหรือสูงกว่า ถ้าพ่อแม่ตกลงกันไม่ได้ ก็ให้แล้วแต่ใจหญิงสมัคร แต่ถ้าฝ่ายชายต่ำศักดิ์กว่าฝ่ายหญิง ก็ต้องแล้วแต่การตัดสินใจของบิดาฝ่ายหญิง แม้ลูกสาวเพลี่ยงพล้ำชอกช้ำไปแล้ว บิดาฝ่ายหญิงจะเอาตัวลูกสาวคืนมากักขังไว้เพื่อรักษาตระกูลบรรดาศักดิ์ ก็มีสิทธิ์จะทำได้ หรือจะยกให้ฝ่ายชายไปก็ได้ หรือจะยกต่อให้คนอื่นที่ศักดิ์เสมอกันก็ได้

ในเรื่องบรรดาศักดิ์นี้ บางทีก็ยังมีปัญหา ประกาศฉบับนี้จึงกล่าวไว้ว่า

“...อนึ่งผู้มีบรรดาศักดิ์สูงต่ำจะว่าตามบรรดาศักดินาเปนแม่นยำก็ไม่ได้ เพราะผู้มีศักดินาสูงลางจำพวกก็เปนแต่ผู้ดีชั้นเดียว เมื่อมาข้องเกี่ยวกับผู้มีบรรดาศักดิ์สืบตระกูลมาหลายชั่วแผ่นดินก็จะต้องรู้ว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นเดียวเหมือนกับไพร่ แต่การในเรื่องนี้ก็ไม่เปนวิสัยที่ลูกขุนจะตัดสินได้ ต้องเรียนท่านเสนาบดีให้ตัดสินหรือกราบทูลพระกรุณาให้ทรงตัดสิน เพราะในการในทิศในทางที่ไม่เคย...”

แม้จะถือบรรดาศักดิ์ ก็ยังต้องดูเรื่องอาวุโสกันด้วยว่า เพิ่งเป็นผู้ดีหมาดๆหรือเป็นมาหลายแผ่นดินแล้ว ผู้ดีชั้นเดียวก็ยังไม่อาจตีเสมอได้

ในกรณีที่มีการฉุดลักพาหญิงไปในหมู่ราษฎรสามัญที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ ถ้าหญิงสมัครใจที่จะอยู่กับชายต่อไป เรื่องฉุดก็เป็นอันเลิกล้มไป จะเอามาฟ้องร้องกันมิได้ แต่ถ้าหญิงไม่สมัครใจแล้วมาฉุดไป หรือไปชวนชายอื่นมาข่มขืน หรือเอาไปขายเปนหญิงคนชั่วประกาศฉบับนี้กล่าวว่า

“....การเช่นนี้ ถึงผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเปนเจ้าเปนนายทำ ก็มีโทษมีความผิดต่อแผ่นดินกระบิลเมือง ควรต้องลงพระราชอาญาเสมอหรือใกล้กับผู้ร้ายปล้น บรรดาศักดิ์และตระกูลไม่คุ้ม...”

หญิงที่หนีตามผู้ชายโดยสมัครรักใคร่กันโดยบิดามารดาไม่ได้ยกให้ ไม่ได้แต่งโดยมีสินสอดทองหมั้น ถือว่าเป็นหญิงไม่ดี ผู้ชายจะถือว่าหญิงประเภทนี้เป็นเมียไม่ได้ ต่อไปเมื่อหญิงไม่สมัครใจจะอยู่กับชาย กลับมาอยู่กับพ่อแม่หรือญาติพี่น้องก็ดี หรือตามผู้ชายอื่นไปอีกก็ดี ชายที่ว่าเป็นผัวนั้นไม่มีสิทธิ์จะเอาตัวกลับมา หรือฟ้องร้องชายชู้ได้ เพราะ..“มันมาฉันใด ให้มันไปฉันนั้น”

แม้แต่ขณะที่อยู่ด้วยกัน ฝ่ายหญิงเกิดคบชู้ถึงบนเรือน และฝ่ายชายจับได้คาหนังคาเขา ฝ่ายชายก็จะฟ้องร้องชายผู้นั้นฐานเป็นชายชู้ไม่ได้ กฎหมายถือว่าผู้หญิงประเภทนี้ก็ไม่ใช่เมียของตน เพราะผู้ชายไม่ได้จ่ายสินสอด ผู้หญิงสมัครใจมาอยู่ด้วย จึงมีอิสระที่จะสมัครใจทำอะไรก็ได้ คงฟ้องชายชู้ได้ในฐานะเป็นผู้ร้ายขึ้นเรือนเท่านั้น

แต่ถ้าผู้หญิงที่สมัครใจไปอยู่กับผู้ชายดังกล่าว ต่อมาพ่อแม่ของผู้หญิงให้อภัยกลับมาอุปถัมภ์ค้ำชูให้ทุนรอน ให้ข้าทาสเครื่องเรือน หรือเมื่อหญิงนั้นมีลูก พ่อแม่ก็ยอมรับลูกเป็นหลาน ยอมรับผู้ชายนั้นเป็นเขย เรียกใช้สอยเป็นปกติ แม้จะหนีตามกันมา แต่ในวันที่พ่อแม่ให้อภัยและยอมรับผู้ชายเป็นเขย กฎหมายก็จะยอมรับหญิงชายคู่นี้เป็นสามีภรรยากันทันที

อนึ่งกฎหมายเก่าที่ว่า เมื่อผัวเมียหย่าร้างกัน บุตรชายให้ได้มารดา บุตรหญิงให้ได้แก่บิดา มีพระราชโองการดำรัสว่าให้ใช้ได้เฉพาะบุตรของบิดามารดาที่มีศักดิ์ต่ำเท่านั้น แต่ถ้าบุตรของบิดาที่มีศักดิ์สูง ถือศักดินากว่า ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป ให้ตามใจบิดา ถ้าบิดาไม่รับเลี้ยงขับไล่ไสส่งบุตร บุตรจึงตกเป็นของมารดา แต่ถ้าบิดารักชาติตระกูลยศศักดิ์ ไม่ยอมให้บุตรไปอยู่กับมารดาที่ต่ำศักดิ์ บุตรก็ต้องเป็นของบิดาหมด

ด้วยนัยนี้ ถ้าหญิงสูงศักดิ์ไปได้ผัวไพร่มีบุตรด้วยกัน ถ้าจะแยกทางกันบุตรนั้นก็ต้องเป็นของมารดา หรือของตา หรือญาติข้างมารดาตามบรรดาศักดิ์

ต่อมาในปี ๒๔๑๐ ได้เกิดคดีผัวขายเมียขึ้นอีก โดยอำแดงจั่นได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาว่า นายเอี่ยม ผู้เป็นผัว เอาชื่อไปขายแก่คนอื่นโดยไม่รู้ไม่เห็นด้วย ทรงให้คัดกฎหมายเรื่องนี้มาทูลเกล้าฯ ถวาย กฎหมายเก่านั้นมีว่า

“ถ้าผัวแลพ่อแม่นายเงินเอาชื่อลูกเมียข้าคนลงในกรมธรรม์ขาย ท่านว่าเป็นสิทธิ์ แม้นว่าเจ้าสินบอกก็ดี มิได้บอกก็ดี แต่ตัวเรือนเบี้ยซึ่งมีชื่ออยู่ในกรมธรรม์นั้น ท่านว่าเป็นสิทธิ์ได้โดยกระบิลเมืองท่าน เหตุว่าเจ้าผัวแลพ่อแม่นายเงินนั้นเป็นอิสรภาพ บทหนึ่งว่า เมียก็ดี ลูกก็ดี เอาชื่อพ่อแม่ผัวลงในกรมธรรม์ขาย ท่านว่ามิเป็นสิทธิ์”

คือผัวหรือพ่อแม่ขายเมียขายลูกได้ แต่ผู้หญิงขายพ่อแม่ขายผัวไม่ได้

ทรงพระราชดำริว่า “กฎหมายบทนี้เมื่อพิเคราะห์ดู เหมือนผู้หญิงเปนควาย ผู้ชายเปนคนไป หาเปนยุติธรรมไม่ ให้ยกเสีย”

การพิจารณาตัดสินคดีรักๆ ใคร่ๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี้ จะเห็นว่าแม้พระองค์จะทรงมีพระเมตตาให้สิทธิผู้หญิงที่จะเลือกคู่ตามใจชอบ แต่ก็ยังติดขัดที่ระบบศักดินาแบ่งชนชั้น ซึ่งครอบงำสังคมไทยอย่างเหนียวแน่นในยุคนั้น คนที่มีบรรดาศักดิ์ยังคงได้รับการยกย่องว่ามีเกียรติ มีอภิสิทธิ์ มีความเป็นคนเหนือกว่าราษฎรสามัญทั่วไป แม้ในยุคนี้ก็เถอะ แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริง ทุกคนในสังคมนี้มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันหรือไม่ ก็คงทราบกันดี โดยเฉพาะในเรื่องของความรักและคู่ครองแล้ว ก็คงไม่ต่างกับยุคสมัยเก่าๆนั้นมากนักหรอก เพียงแต่เปลี่ยนมานับถือ “บรรดาศักดิ์ทางเศรษฐกิจ”แทน
ใบปิดหนัง “อำแดงเหมือนกับนายริด” ของ เชิด ทรงศรี
พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ในสมัยรัชกาลที่ ๔
ชีวิตหญิงไทยสมัยรัชกาลที่ ๔
กำลังโหลดความคิดเห็น