xs
xsm
sm
md
lg

พ่อค้าเปอร์เซียแล่นสำเภาเข้ามาเป็นสมุหนายกไทย ผูกขาดหลายชั่วคน สืบเชื้อสายเป็นราชินีกุล “บุนนาค”!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

หลุมฝังศพเฉกอะหมัด ในสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในราวปี พ.ศ.๒๑๔๓ ได้มีนายวานิชสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ “เฉกอะหมัด” คนน้องชื่อ “มหะหมัดสะอิด” ชาวเมืองกุ่ม ประเทศเปอร์เซีย (ขณะนี้อยู่ในประเทศอิหร่าน) นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อิสนาอะชะรี (คนไทยเรียกกันว่า “แขกเจ้าเซ็น”) ได้แล่นสำเภานำสินค้าเข้ามาขายยังกรุงศรีอยุธยา และซื้อสินค้าไทยบรรทุกสำเภากลับไปขายต่างประเทศ ซึ่งพาณิชกิจนี้ได้สร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้พี่น้องคู่นี้อย่างมหาศาล

สำหรับท่านมหะหมัดสะอิด ผู้น้อง อยู่เมืองไทยได้ไม่นานก็บรรทุกสินค้ากลับไป และไม่ได้กลับเข้ามาอีก ส่วนท่านเฉกอะหมัด ผู้พี่ เกิดพิสมัยเมืองไทย จึงชักชวนบริวารตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และได้แต่งงานกับสาวไทย ชื่อ “เชย” มีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คน คนโตชื่อ “ชื่น” คนที่สองเป็นชายชื่อ “ชม” เสียชีวิตเมื่อวัยหนุ่ม คนที่สามเป็นหญิงชื่อ “ชี”

ครั้นล่วงเข้าแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม การค้าขายทางสำเภาในกรุงศรีอยุธยาซึ่งรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีสำเภาเข้ามาค้าขายมาก การท่าจึงยุ่งเหยิง เจ้าพระยาพระคลังซึ่งว่าการกรมท่า จึงขอให้ท่านเฉกอะหมัดเข้าช่วย ท่านเฉกอะหมัดผ่านการค้ามาหลายประเทศแล้ว จึงเข้าวางระบบการท่าของไทยเสียใหม่ ทั้งปรับปรุงระบบศุลกากรให้รัดกุมยิ่งขึ้น ทำให้มีรายได้เข้าท้องพระคลังเพิ่มขึ้นมาก ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯให้ท่านเฉกอะหมัดเข้ารับราชการ เป็น พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี ตำแหน่งเจ้ากรมท่าขวา พร้อมด้วยตำแหน่งจุฬาราชมนตรีด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งนับว่าท่านเฉกอะหมัดเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีของชาวมุสลิมในประเทศไทย

ต่อมาได้มีเหตุการณ์สำคัญซึ่งเกือบจะพลิกประวัติศาสตร์ไทย เมื่อพ่อค้าชาวญี่ปุ่นจำนวน ๕๐๐ คนที่เข้ามาตั้งร้านค้าในกรุงศรีอยุธยา ได้ชักซามูไรประกาศตัวเป็นนักรบเข้าล้อมวังหลวง จะจับตัวพระเจ้าทรงธรรมหวังยึดอำนาจการปกครอง ฝ่ายไทยไม่ได้คาดคิดจึงถูกเหล่าซามูไรควบคุมไว้ทั้งหมด แต่พระยามหาอำมาตย์ (โอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถกับสาวบางปะอิน) คนเดียวที่ไม่ยอมแพ้ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าขัดขวางได้ จึงไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนรัก คือพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีซึ่งมีบริวารชาวเปอร์เซียอยู่จำนวนไม่น้อย จากนั้นกองกำลังผสมไทยพุทธกับมุสลิมเปอร์เซีย จึงร่วมกันตะลุยญี่ปุ่นจนแตกกระเจิง วิ่งลงสำเภาชักใบหนีออกปากอ่าวไป

ความดีความชอบครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก พระเจ้าทรงธรรมซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงทรงปูนบำเหน็จให้สองขุนศึกอย่างงาม พระยามหาอำมาตย์ได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายใต้ ส่วนพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี ได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ซึ่งในขณะนั้นเมืองไทยใช้ระบบการปกครองแบบมีสมุหนายก ๒ คน แบ่งอาณาเขตดูแลต่างพระเนตรพระกรรณคนละครึ่งประเทศ

เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี อยู่ในตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ จนสิ้นแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมผ่านแผ่นดินยุวกษัตริย์อีก ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช และสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ จนถึงแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งก็คือพระยามหาอำมาตย์ที่เคยตะลุยซามูไรญี่ปุ่นมาด้วยกันนั่นเอง

ท่านเฉกอะหมัดอยู่ในตำแหน่งจนอายุ ๘๗ ปี แก่ชราลงมาก พระเจ้าปราสาททองจะให้พ้นตำแหน่งไปพักผ่อนก็เกรงจะกระเทือนใจ จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาบวรราชนายก ที่ปรึกษาด้านมหาดไทย แล้วเลื่อน พระยาวรเชษฐ์ (ชื่น) บุตรชายคนโตของท่านซึ่งมีอายุเพียง ๓๐ ปี ขึ้นเป็น เจ้าพระยาอภัยราชา สืบตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ แทนบิดา

ท่านเฉกอะหมัดพ้นจากตำแหน่งสมุหนายกได้ราว ๑ ปีก็ป่วยหนัก สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จไปเยี่ยมไข้ ท่านเฉกอะหมัดได้กราบทูลเป็นครั้งสุดท้าย ฝากธิดาที่ชื่อชีไว้ด้วย ซึ่งพระเจ้าปราสาททองก็ทรงรับไว้เป็นพระสนม

เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) ดำรงตำแหน่งสมุหนายกฯถึง ๔๐ ปี จนอสัญกรรมในตำแหน่งเมื่ออายุได้ ๗๐ ปี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากนั้นเจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) บุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา ก็ขึ้นสืบตำแหน่งแทนบิดาอีก เป็นลำดับที่ ๓ และเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) บุตรของเจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) ก็ขึ้นเป็นสมุหนายกฯฝ่ายเหนือเช่นเดียวกันในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ลูกหลานเจ้าพระยาบวรราชนายก “วงค์เฉกอะหมัด” ได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็รุ่งเรืองยิ่งขึ้น นับเนื่องเป็นราชินิกุล คือสกุลฝ่ายพระราชินี โดย นายบุนนาค บุตรของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาเพ็ชรพิชัย (ใจ) ได้สมรสกับ คุณนวล น้องสาวของคุณหญิงนาค ภริยาของท่านเจ้าพระยาจักรี ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑

ตอนกรุงแตกนั้น นายบุนนาคได้เป็น นายฉลองนัยนารถ มหาดเล็กวังหน้าของกรมพระราชวังบวรกรมขุนพรพินิต แต่ตลอดรัชกาลพระเจ้าตากสินนายบุนนาคไม่ได้เข้ารับราชการ นัยว่ามีเรื่องบาดหมางกับเพื่อนรักตั้งแต่ยังเป็น “นายสิน” แต่นายบุนนาคก็ใกล้ชิดเป็นทนายคนสนิทของเจ้าพระยาจักรีตลอดมา ไปสงครามด้วยทุกครั้ง และเข้ารับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เป็น พระยาอุไทยธรรม พระราชทานบ้านให้อยู่ท้ายวัง เลื่อนเป็นพระยายมราช เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ตำแหน่งสมุหกลาโหม จนอสัญกรรมในตำแหน่งนี้เมื่ออายุได้ ๖๘ ปี

ก่อนจะเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๑ นั้น ภรรยาของนายบุนนาคได้เสียชีวิตเพราะถูกโจรปล้นเรือขณะกลับจากไปขุดค้นสมบัติที่ฝังซ่อนไว้ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก คุณหญิงนาค ภรรยาของเจ้าพระยาจักรี เห็นว่านายบุนนาคคนสนิทของเจ้าคุณสามี ควรจะมีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝาอีกที จึง จึงยกคุณนวลน้องสาวให้ และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คุณนวลได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าคุณพระราชพันธ์ มีบุตรกับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ๑๐ คน เป็นราชินีกุล ส่วนบุตรธิดาอีก ๒๒ คนที่เกิดจาก ๗ หม่อม ไม่ถือเป็นราชินีกุล

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เริ่มใช้พระราชบัญญัตินามสกุล เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ได้ขอพระราชทานนามสกุล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามสกุลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) ตามชื่อของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาว่า “บุนนาค” เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งนับได้ว่าเชื้อสายของท่านเฉกอะหมัด ซึ่งเข้ามาเมืองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานนามสกุลอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “บุนนาค”

นอกจากนี้ ยังมีบางสายได้แยกไปใช้นามสกุลต่างๆกันออกไปอีกหลายนามสกุล เช่น อหะหมัดจุฬา, บุรานนท์, จาติกรัตน์, ศุภมิตร, ศรีเพ็ญ, วิชยาภัย บุนนาค, ภาณุวงศ์ ฯลฯ

ท่านเฉกอะหมัดเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีของชาวมุสลิมในประเทศไทย แต่คนในตระกูลบุนนาคและอีกหลายนามสกุลที่แยกตัวไป ล้วนแต่นับถือศาสนาพุทธ จุดเปลี่ยนสายพุทธ-อิสลามนี้เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าบรมโกศ พระราชพงษาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า ณ เดือนแปด แรม ๑๐ ค่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงชวรหนัก ครั้นหายประชวรเมื่อขึ้นเดือนสิบสอง จึงจัดขบวนไปนมัสการพระพุทธบาท การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้มีการเตรียมไปรื่นเริงอย่างเต็มที่ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนล้วนยินดีที่พระเจ้าอยู่หัวทรงหายประชวร ต่างก็อยากตามเสด็จไปด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีชื่อพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) อยู่ในขบวนตามเสด็จด้วย พระยาเพ็ชรพิไชยจึงกราบทูลขอตามเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า พระยาเพ็ชรพิไชยเป็นแขก ไม่ควรไปนมัสการพระพุทธบาท แต่ถ้าทิ้งเพศแขกมาเข้ารีตไทย ก็จะให้ตามเสด็จ พระยาเพ็ชรพิไชยก็กราบทูลว่า เต็มใจที่จะเป็นไทยตามพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุญาตให้ตามเสด็จได้ ครั้นถึงพระพุทธบาท พระยาเพ็ชรพิไชยก็เข้ารับศีลปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนต่อสมเด็จพระสังฆราชหน้าพระที่นั่ง เป็นเหตุให้เชื้อสายเฉกอะหมัดสายหนึ่งละศาสนาเดิมมาถือพุทธตั้งแต่บัดนั้น

เสร็จจากการสมโภชพระพุทธบาทกลับถึงพระนคร พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้โปรดเกล้าฯเลื่อนพระยาเพ็ชรพิไชยเป็น เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย ว่าราชการตำแหน่งสมุหนายกฯ เป็นลำดับที่ ๔ ต่อจากท่านเฉกอะหมัด

ฝ่ายท่านมหะหมัดสะอิด นายวานิชผู้น้องของท่านเฉกอะหมัด ซึ่งเดินทางกลับไปบ้านเกิดและไม่ได้กลับมาอีก มีบุตรคนหนึ่งเป็นชาย ชื่อ “อากามหะหมัด” และเมื่อท่านมหะหมัดสะอิดใกล้ถึงแก่กรรม ได้เล่าให้บุตรชายฟังว่า มีลุงและญาติอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ครั้นบิดาถึงแก่กรรม อากามหะหมัดได้พาข้าทาสบริวารพร้อมมรดกมหาศาลที่ได้รับมาจากบิดา มายังกรุงศรีอยุธยา พึ่งพาบารมีของเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) ลูกของลุง สร้างบ้านเป็นตึกใหญ่หลายหลังมีกำแพงแก้วล้อมที่อยู่ของตน นอกกำแพงก็สร้างเรือนให้บริวารแวดล้อมไว้ทุกด้าน หมู่บ้านนี้อยู่ใกล้วัดอำแม ซึ่งชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกกันว่า “บ้านแจกกะฎีใหญ่”

มีเอกสารยืนยันว่า สมเด็จพระนารายณ์เมื่อทรงพระเยาว์มักจะไปสมาคมกินอยู่กับครอบครัวชาวเปอร์เซีย และทรงนิยมฉลองพระองค์ตามแบบเปอร์เซีย จนพวกฝรั่งเกรงว่าพระองค์จะทรงหันไปนับถือศาสนาอิสลามด้วย และตอนที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงยึดอำนาจจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอานั้น ท่านอากามหะหมัดได้นำกำลังบริวารไปช่วยล้อมวังและยิงปืนใหญ่ถล่มด้วย เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ ท่านอากามหะหมัดจึงมีบทบาทสำคัญทั้งด้านการเมืองและการปกครอง

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นี้ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) ได้กราบทูลขอพระราชทานท่านชี ผู้เป็นน้องสาว ซึ่งเจ้าพระยาบวรราชนายกได้ถวายเป็นพระสนมพระเจ้าปราสาททองและไม่มีพระองค์เจ้า สมเด็จพระนารายณ์ก็พระราชทานให้ เมื่อรับท่านชีมาอยู่บ้านแล้ว เจ้าพระยาอภัยราชาก็ยกท่านชีให้เป็นภรรยาของท่านอากามหะหมัด

เจ้าพระนาอภัยราชายังได้พาท่านอากามหะหมัดถวายตัวเข้ารับราชการกับสมเด็จพระนารายณ์ จนได้รับยศเป็น พระยาศรีนวรัตน์ ว่าราชการตำแหน่งพระคลัง
ท่านชีมีบุตรชายกับพระยาศรีนวรัตน์ ๒ คน คนที่หนึ่งชื่อ ยี คนที่สองชื่อ แก้ว และเมื่อคนโตอายุได้ ๒๒ ปี คนที่สองอายุได้ ๒๐ ปี บิดาได้นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เป็น พระยาอนุรักษ์ราชา กับ หลวงศรียศ ตามลำดับ ทั้งสองเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์อย่างมาก ราษฎรพากันเกรงบารมี เรียกกันว่า “เจ้าคุณใหญ่” และ “เจ้าคุณน้อย” ทั้งๆที่ท่านทั้งสองยังไม่ได้เป็นเจ้าคุณ

ในการสืบตำแหน่งจุฬาราชมนตรีนั้น เมื่อท่านเฉกอะหมัดได้รับโปรดเกล้าฯจากพระเจ้าทรงธรรมให้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี พร้อมกับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีนั้น ท่านเฉกอะหมัดได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินตำบลท้ายคู เป็นที่อาศัยของตนและบริวาร เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน จึงได้สร้างกุฎีทอง (กุฎีเจ้าเซ็น) ขึ้นเป็นแห่งแรกในกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับทำป่าช้าฝังศพ (ป่าช้าแขกเจ้าเซ็นบ้านท้ายคู) และสร้างบ้านเรือนให้บริวารอยู่อาศัยในที่ดินนั้นด้วย นับว่าศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อิสนาอะชะรี ได้ฝังรากลงบนแผ่นดินไทยตั้งแต่บัดนั้น

ลูกหลาน “วงค์เฉกอะหมัด” ได้สืบต่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรีมาตลอด แม้เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ได้หันไปนับถือศาสนาพุทธแล้ว แต่พระยาวิชิตณรงค์ (เชน) บุตรของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย ก็ไม่ได้เปลี่ยนศาสนาตามบิดาไปด้วย ยังคงนับถือศาสนาอิสลาม และได้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี ซึ่งนับเป็นจุฬาราชมนตรีอันดับ ๔ ของกรุงศรีอยุธยา ทั้งโปรดเกล้าฯให้ว่าทั้งกรมท่ากลางและกรมอาสาจาม พระราชทานเกียรติยศเสมอเจ้าพระยาพระคลัง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าพระยา
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ได้ขอพระราชทานนามสกุลแยกออกจาก “บุนนาค” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลของพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ว่า “อหะหมัดจุฬา” เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ๒๔๕๖

“อหะหมัดจุฬา” ก็คือลูกหลานในวงศ์เฉกอะหมัด สายอิสลาม ขณะที่ “บุนนาค” เป็นลูกหลานสายพุทธ

พระยาจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา) บุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน อหะหมัดจุฬา) นับเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ ๑๓ คือ ๔ อันดับสมัยกรุงศรีอยุธยา และ ๙ อันดับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่อยู่ในวงศ์เฉกอะหมัดทั้งสิ้น จนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีก็ว่างอยู่ระยะหนึ่ง จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ ทางราชการได้ตั้ง ฮัจยีแช่ม พรหมยงค์ เป็นจุฬาราชมนตรี และหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจึงใช้วิธีเลือกตั้ง

ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ นายสิริ ตั้งตรงจิตร นักโบราณคดีผู้หนึ่ง ได้ค้นพบว่า ใต้แท่นสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูนผุๆ บนเนินภายในบริเวณวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เจ้าประคุณกลางเมือง” นั้น ก็คือหลุมฝังศพท่านเฉกอะหมัด ซึ่งอยู่ในป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคูเดิม จึงได้ติดต่อผู้อำนวยการวิทยาลัยครูและกรมศิลปากรขออนุรักษ์ไว้

ต่อมาในพ.ศ.๒๕๒๑ พี่น้องในวงศ์เฉกอะหมัดทั้งพุทธและอิสลามได้ร่วมกันบูรณะแท่นสี่เหลี่ยมเหนือหลุมฝังศพนั้นเป็นแท่นหินอ่อนสีชมพู ภายใต้โดมทองอันสง่างาม รวมทั้งได้สร้างศาลาอนุสรณ์เจ้าพระยาบวรราชนายก มอบให้ทางวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ไว้ใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา

ส่วนทางมูลนิธิเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ได้จัดให้มีการชุมนุมเยี่ยมหลุมฝังศพและทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่เจ้าพระยาบวรราชนายก เป็นประจำทุกปี ซึ่งผู้มาชุมนุมในแต่ละปีที่มีทั้งชาวพุทธและอิสลามนั้น จะมีนามสกุลหลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วต่างแยกสายไปจากท่านเฉกอะหมัดและผู้ติดตามมาจากเปอร์เซียในสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น
ป้ายบริเวณหลุมฝังศพ
ส่วนหนึ่งของพวงหรีดของสกุลในวงศ์เฉกอะหมัด
ภาพเขียนท่านเฉกอะหมัดจากจินตนาการ
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
กำลังโหลดความคิดเห็น