xs
xsm
sm
md
lg

รักซ่อนของ ร.๒! “สูๆสีๆอีแม่ทองจัน อีกสองสามวันจะเป็นตัวจิ้งจก”!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้แต่พียงว่า

“เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมศรีสุดารักษ์ เป็นอรรคชายา มีพระโอรส ๓ พระองค์ พระองค์ใหญ่ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่าเจ้าฟ้าราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังเยาว์ รองลงมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์น้อยคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”

แต่ในจดหมายเหตุเก่า “เรื่องขัติยราชบริพัทย์” ซึ่งไม่ทราบว่าผู้ใดแต่งไว้ ได้เล่าเรื่องแรกผูกพันรักใคร่ของทั้งสองพระองค์ไว้ละเอียดพอควร

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเริ่มมีพระทัยปฏิพัทธ์ เจ้าฟ้าบุญรอด ตั้งแต่ดำรงพระยศ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ครั้งเสด็จไปเยี่ยมพระอาการประชวรด้วยพระโรคชราของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าฟ้าบุญรอดเชิญพระอาการออกมาเล่าถวายกรมหลวงเทพหริรักษ์พระเชษฐาองค์ใหญ่ ก็มีพระทัยปฏิพัทธ์รักใคร่แต่นั้นมา หมั่นเสด็จไปฟังพระอาการเกินปกติ เพื่อพระประสงค์จะใคร่ได้ทอดพระเนตรเจ้าฟ้าบุญรอด และประทับอยู่ครั้งละนานๆ แต่ก็ยังต้องนิ่งพระทัยไว้เพราะอยู่ในระยะเศร้าโศก ทั้งยังทรงเกรงกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเชษฐาผู้ปกครองดูแลน้องๆ ด้วย

เมื่อกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทิวงคต เชิญพระศพไปไว้ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เจ้าฟ้าบุญรอดเสด็จไปทำบุญวันใด เจ้าฟ้ากรมกลวงอิศรสุนทรก็เสด็จไปช่วยรับส่งของถวายพระทุกครั้ง และวันใดเมื่อสำเภาหลวงกลับมาจากค้าต่างประเทศ ก็ทรงจัดสิ่งของไปเป็นเครื่องทำบุญบ้าง ส่วนชิ้นสำคัญก็ส่งไปให้เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพและเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี สองพระขนิษฐาภคินี ให้ช่วยเป็น “แม่สื่อ”นำไปถวายให้เจ้าฟ้าบุญรอด ซึ่งพระขนิษฐาทั้งสองพระองค์ก็ทรงยินดีด้วยเห็นคู่ควรกัน ทั้งยังเลียบเคียงดูพระอัธยาศัยทีละน้อย จึงรู้ว่าเจ้าฟ้าบุญรอดก็มีพระทัยผูกพันในพระเชษฐาเช่นกัน

ครั้นถวายพระเพลิงพระศพกรมพระศรีสุดารักษ์แล้ว เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้รับสั่งให้พระขนิษฐาภคินี ชวนเจ้าฟ้าบุญรอดมาเล่นสะบ้า เล่นสะกา หรือไพ่ต่อแต้มที่ตำหนักของพระขนิษฐา โดยพระองค์แอบอยู่ก่อน เมื่อปล่อยให้เล่นกันสักครู่ก็ออกมาสมทบด้วย แรกๆเจ้าฟ้าบุญรอดก็กระดาก เลิกเล่นบ้าง กลับไปตำหนักบ้าง วันต่อๆมาพระขนิษฐาทั้งสองก็ช่วยชักสื่อให้ค่อยสนิทกันจนเล่นด้วยกันได้ หลังจากเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว กรมหลวงอิศรสุนทรจะเสด็จมาพบเจ้าฟ้าบุญรอดที่ตำหนักของพระขนิษฐภคินีซึ่งอยู่ในพระราชฐานชั้นในของวังหลวงเป็นประจำ

แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเรื่องตื่นเต้นขึ้น ขณะที่กรมหลวงอิศรสุนทรกำลังทรงสะกาอยู่กับเจ้าฟ้าบุญรอดนั้น สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ซึ่งทรงสงสัยในพระทัยว่า แต่ก่อนพระโอรสออกจากเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็กลับวังแต่วันๆเป็นประจำ บัดนี้หลายวันมาแล้วเสด็จกลับไปเกือบพลบค่ำทุกวัน จึงเสด็จข้ามมาจากพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรีที่ประทับ มายังตำหนักพระธิดาทั้งสอง พอเสด็จไปถึงหน้าตำหนัก นางข้าหลวงเห็นเข้าก็ตกใจรีบวิ่งไปทูลว่าสมเด็จพระราชินีเสด็จ กรมหลวงเทพยวดีก็รีบออกมารับ ขณะที่กรมหลวงอิศรสุนทรรีบผละจากกระดานสะกาวิ่งเข้าไปในห้องบรรทมของพระขนิษฐา แต่กระนั้นก็ยังไม่พ้นสายพระเนตรสมเด็จพระชนนี จึงตรัสถามกรมหลวงศรีสุนทรเทพว่าใครวิ่งเข้าไปในห้อง กรมหลวงศรีสุนทรเทพก็ทูลว่า คนเข้าไปปัดที่นอน กรมสมเด็จพระอมรินทราฯก็ว่า

“ข้าแลดูเหมือนผู้ชายวิ่งเข้าไป เห็นแต่หลังไวๆ ไม่เห็นหน้า”

สองพระธิดาก็ช่วยกันเถียงว่า

“คุณแม่เอาอะไรมาพูด ผู้ชายพายเรือที่ไหนจะได้เข้ามาอยู่ในที่นี้ คนอยู่เป็นกองสองกอง” แล้วก็แกล้งทำเป็นขัดเคือง

สมเด็จพระอมรินทราฯก็เชื่อพระเนตรว่าคนที่วิ่งเข้าไปนั้นน่าจะเป็นผู้ชาย เพราะไม่ได้ห่มสะไบ และเมื่อเห็นเจ้าฟ้าบุญรอดอยู่ที่นั่นด้วย ก็ทรงคิดว่าคงไม่ใช่ใครอื่น พระโอรสของพระองค์ที่กลับวังค่ำๆผิดปกตินั้นเอง แต่ครั้นจะคาดคั้นจับผิดก็เกรงว่าพระธิดาทั้งสองจะไม่สบายพระทัย เลยรับสั่งให้คลี่คลายบรรยากาศว่า

“ตาข้าจะเห็นไปเอง ขอโทษเถิด”

แล้วก็รับสั่งทักทายเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดว่า ดีแล้วที่พี่น้องรู้จักรักกัน หมั่นไปมาเล่นหัวกัน จากนั้นก็รับสั่งเปรยกับพระธิดาทั้งสองถึงเรื่องที่พระโอรสกลับวังผิดเวลาในระยะนี้ พระธิดาทั้งสองก็ช่วยกันแก้ว่า อาจจะเป็นข่าวทัพศึกต้องประชุมปรึกษาราชการกัน พระมารดาจึงว่า

“แต่ก่อนๆมา การศึกมีมาหลายครั้ง ก็ไม่เห็นอยู่จนพลบค่ำหลายวันเช่นนี้ ข้าเกรงจะไปติดผู้หญิงยิงเรืออยู่ที่ไหนดอกกระมัง”

สมเด็จพระอมรินทราฯประทับอยู่ครู่หนึ่งจึงได้เสด็จกลับ ทำให้ทุกพระองค์ที่ทรงกระวนกระวายอยู่นั้นพากันโล่งพระทัย

สถานที่พบปะสังสรรค์กันนี้ดูจะไม่ปลอดภัยเสียแล้ว พระขนิษฐาทั้งสองพระองค์จึงทรงย้ายไปเป็นตำหนักแดง ที่ประทับของเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด แต่พอไปที่ใหม่ได้สองสามครั้งก็เกิดเรื่องขึ้นอีก

ใกล้กับตำหนักแดง เป็นตำหนักที่ประทับของ เจ้าฟ้าหญิงฉิม ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้รับสถาปนาพระนามอัฐิเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี และเป็นพระพี่นางของเจ้าฟ้าบุญรอดองค์รองจากกรมหลวงเทพหริรักษ์ ตอนนั้นเสียพระจริต แอบทอดพระเนตรเห็นกรมหลวงอิศรสุนทรเข้านั่งชิดเจ้าฟ้าบุญรอด ช่วยกันเดินสะกาเล่นกับกรมหลวงศรีสุนทรเทพ จึงนำมาเล่าให้บรรดาข้าหลวงโดยพระสุรเสียงอันดังว่า

“ท้าวพรหมทัตล่วงลัดตัดแดนมานั่งท้าวแขนทอดสะกาพนัน สูๆ สีๆ อีแม่ทองจันอีกสองสามวันจะเป็นตัวจิ้งจก”

ทั้งเมื่อเห็นใครเดินผ่านตำหนักก็จะร้องซ้ำซากอยู่เช่นนี้ เจ้าฟ้าบุญรอดมีความสะดุ้งพระทัย เกรงว่าจะเป็นเรื่องเซ็งแซ่ไป จึงขอย้ายกลับไปที่ตำหนักของกรมหลวงศรีสุนทรเทพและกรมหลวงเทพยวดี โดยให้นางข้าหลวงเป็นยามเฝ้าดักต้นทางไว้ แต่พอย้ายกลับมาไม่กี่วันก็ได้เรื่อง

วันหนึ่งสมเด็จพระอมรินทราฯ ทรงระลึกถึงพระธิดาจึงเสด็จมาเยี่ยม นางข้าหลวงเห็นก็รีบเข้าไปทูล เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดรีบวิ่งเข้าไปซ่อนในห้องบรรทม กรมหลวงอิศรสุนทรก็วิ่งตามเข้าไป เมื่อสมเด็จพระอมรินทราฯเสด็จเข้ามาพบพระธิดาอยู่กันเพียงสองพระองค์ ก็ไม่ระแวงพระทัย ประทับอยู่จนเย็นจึงเสด็จกลับ

เมื่อเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์เสด็จไปส่งพระมารดาถึงประตูฉนวนแล้ว กลับไปที่ตำหนักก็เห็นพระเชษฐาทรงสกาอยู่กับเจ้าฟ้าบุญรอด เกรงว่าจะกระดากพระทัยเลยเข้าช่วยเดินสะกากันข้างละพระองค์จนได้เวลาเสด็จกลับ

จากนั้นมาก็ผลัดเปลี่ยนไปเล่นที่ตำหนักโน้นบ้างตำหนักนี้บ้าง จนข่าวทราบไปถึงกรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชาของเข้าฟ้าบุญรอด จึงแสดงอาการมึนตึงกับกรมหลวงอิศรสุนทร เจ้าฟ้าชายเข้าพระทัยว่ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีคงจะล่วงรู้ความลับเข้าแล้วจึงแสดงอาการเช่นนี้ แต่ก็ทรงรู้ว่ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีนั้นมีพระทัยแอบรักใคร่กรมหลวงศรีสุนทรเทพพระขนิษฐาอยู่ จำจะต้องแต่งอุบายล่อให้กรมหลวงพิทักษ์มนตรีอิ่มพระทัย จึงรับสั่งว่า

“บ้านเมืองเราทุกวันนี้ ก็เหมือนเมืองวงศ์อสัญแดหวา ไปภายหน้าจะรุ่งเรืองยิ่งนัก”

กรมหลวงพิทักษ์มนตรีได้ฟังก็เฉลียวพระทัย ใคร่จะได้ฟังความต่อ กรมหลวงอิศรสุนทรจึงว่า

“ใจของพี่ ถ้าพี่น้องได้กันเองเหมือนอย่างเรื่องอิเหนา ไม่ถือต่ำถือสูงว่าลูกผู้พี่ผู้น้อง พี่จะมีความยินดีเป็นที่ยิ่ง สมบัติพัสถานก็จะไม่กระจัดกระจาย...บัดนี้พี่มีกังวล

อยู่เรื่องหนึ่ง ด้วยแม่แจ่มคลั่งเล่นป้านถ้วยชา กวนให้หาร่ำไป พ่อจุ้ยมีป้านถ้วยชายี่ห้อต่างๆจัดเข้าไปให้เขาบ้างเป็นไร เผื่อยี่ห้อจะแปลกกับเขาที่มีอยู่”

กรมหลวงพิทักษ์มนตรีได้ฟังก็แช่มชื่นขึ้นทันที เข้าพระทัยว่าพระเชษฐาเปิดทางให้ได้กับกรมหลวงศรีสุนทรเทพแล้ว อาการมึนตึงก็หายไปจากบัดนั้น กลับสนิทสนมกันดังเดิม และดูจะสนิทกันยิ่งขึ้นอย่างคนรู้พระทัยซึ่งกันและกัน

จากนั้นกรมหลวงอิศรสุนทรก็มาบอกเล่าให้พระขนิษฐาทรงทราบว่า ขอยืมชื่อไปแต่งอุบายให้กรมหลวงพิทักษ์มนตรีหายขัดเคืองพระทัย หากใครเขาเอาของมาให้ รับไว้ก็แล้วกัน ฉะนั้นเมื่อกรมหลวงพิทักษ์มนตรีส่งสาวใช้นำป้านถ้วยชาทั้งใบชามาให้กรมหลวงศรีสุนทรเทพ กรมหลวงเทพยวดีก็ออกมารับแทน แล้วฝากความกลับไปว่าท่านพระองค์ใหญ่ถวายบังคมขอบพระทัยเป็นที่สุด จากนั้นมาทุกเที่ยวสำเภา กรมหลวงพิทักษ์มนตรีก็ส่งป้านชา “New Arrival” มาถวายเป็นประจำ และเมื่อถึงฤดูผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง มะปราง เงาะ ลางสาด กรมหลวงทั้งสองก็ช่วยกันปอกส่งไปถวายกรม หลวงพิทักษ์มนตรี พร้อมกับเครื่องคาวหวานเป็นการตอบแทน ความสัมพันธ์ของกรมหลวงอิศรสุนทรกับเจ้าฟ้าบุญรอดจึงราบรื่นมาด้วยดี

เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรและเจ้าฟ้าบุญรอดประสูติในปีเดียวกัน คือในพ.ศ. ๒๓๑๐ ที่กรุงศรีอยุธยาแตก เจ้าฟ้าบุญรอดแก่กว่า ๖ เดือน ทั้งยังประสูติจากพระพี่นางของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงมีศักดิ์เป็นพี่ ในเพลงยาวที่เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรนิพนธ์ถึงเจ้าฟ้าบุญรอดก็ทรงใช้คำแทนพระองค์ว่าน้อง ว่าอนุชา และทรงใช้คำแทนเจ้าฟ้าบุญรอดว่าพี่ ว่าเชษฐา หรือพี่นาง เช่น

“อันสตรีคู่เชยเคยเริงรื่น
จะชวนชื่นก็ไม่ชอบฤดีสมาน
เคยกลั้วกลิ่นบุปผาสุมามาลย์
พอกลิ่นทานนาสาก็เสียวใจ
ถวิลถึงพี่นางของน้องรัก
ยิ่งแรงรักแรงร้อนถอนใจใหญ่
ต้องทิ้งกลิ่นประทินหอมออมอาลัย
ดังเนาในกองอัคคีจี้จุดกาย”

เมื่อเจ้าฟ้าบุญรอดทรงครรภ์ได้ ๔ เดือน เห็นว่าจะปกปิดซ่อนเร้นเรื่องนี้ไว้ไม่ได้แล้ว ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็จะทรงพระพิโรธเป็นเรื่องใหญ่แน่ แต่ก็ไม่เห็นใครจะช่วยผ่อนคลายลงได้ นอกจาก “คุณแว่น” เชลยสาวที่ได้มาตอนไปตีกรุงเวียงจันทน์เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเป็นอนุภรรยาที่โปรดปรานมาก ซึ่งธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯให้สมญานามว่า “คุณเสือ”

แม้ “คุณเสือ” ที่ว่าเข้ากราบทูลได้ทุกเรื่อง หาโอกาสเหมาะเข้ากราบทูลเรื่องนี้
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ทรงกริ้ว รับสั่งว่า

“พี่น้องเขายังอยู่เป็นก่ายเป็นกอง เขาไม่รู้ก็จะว่ากูสมรู้ร่วมคิดเป็นใจให้ลูกทำข่มเหงเขา อนึ่งทำดูถูกเทวดารักษารั้ววังไม่มีความเกรงกลัว ถ้าจะรักใคร่กันก็จะบอกล่าวผู้ใหญ่ให้เป็นที่เคารพนบนอบแต่โดยดี นี่ทำบังอาจจะเอาแต่ใจไม่คิดแก่หน้าผู้ใด”

ด้วยทรงเกรงกรมหลวงเทพหริรักษ์จะน้อยพระทัย และเกรงกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขจะติเตียนว่าทำการดูถูกพระราชวัง จึงดำรัสสั่งให้ท้าวนางไปขับไล่เจ้าฟ้าบุญรอดออกจากพระบรมมหาราชวังในคืนนั้นทันที และห้ามเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเข้าเฝ้า

เจ้าฟ้าบุญรอดได้ส่งคนไปแจ้งกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเชษฐาให้ส่งเรือมารับ เมื่อได้ทรงทราบเรื่องกรมหลวงเทพหริรักษ์ก็ขัดเคืองพระทัย แต่จำเป็นต้องอดกลั้นด้วยท่านเป็นผู้ใหญ่ จึงจัดเรือไปรับพระขนิษฐามาในคืนนั้น

กรมหลวงอิศรสุนทรได้ตามไปเฝ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ในคืนนั้นเช่นกัน ทูลรับผิดชอบ และวิงวอนขอรับเจ้าฟ้าบุญรอดไปไว้พระราชวังเดิม กรมหลวงเทพหริรักษ์จึงรับสั่งว่า

“พ่อฉิมทำการดังนี้ห้าวหาญนัก เมื่อจะรักใคร่กันข้าก็เป็นผู้ใหญ่อยู่ทั้งคน จะมาปรึกษาหารือว่าจะรักใคร่เลี้ยงดูกันตามประสาฉันญาติ ก็จะได้คิดผ่อนผันไปตามการโดยสมควร หรือจะกราบทูลให้ในหลวงจัดแจงตบแต่งให้เป็นเกียรติยศ ชื่อเสียงก็จะได้ปรากฏไปภายหน้า บัดนี้ทำแต่จุใจตัวไม่ง้องอนใคร ก็จะมาพูดกันทำไมเล่า ระหว่างนี้ในหลวงก็ยังทรงกริ้วกราดมากมายอยู่ ซึ่งข้าจะมอบตัวแม่รอดไปนั้นไม่ได้ ถ้าความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าจะพลอยเสียไปด้วย ดูเป็นเต็มใจเข้าแก่คนผิด น้องของข้าๆ เลี้ยงได้ดอก ไม่ต้องให้คนอื่นเลี้ยง”

กรมหลวงอิศรสุนทรก็ทรงกันแสงทูลสารภาพผิดและวิงวอนจนอ่อนพระทัย กรมหลวงเทพหริรักษ์ก็ไม่ยอม จึงจำพระทัยต้องเสด็จกลับวัง และส่งสาวใช้มาเฝ้าเยี่ยมเจ้าฟ้าบุญรอดอยู่ไม่ขาดวัน

ล่วงมาสามเดือน เห็นว่าพระราชบิดาทรงหายพิโรธแล้ว เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรจึงได้ไปเฝ้ากราบพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้า ขอให้สมเด็จอาช่วยพาเข้าเฝ้ากราบทูลไกล่เกลี่ยขอรับพระราชทานโทษ

กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพากรมหลวงอิศรสุนทรเข้าเฝ้า และทูลชี้แจงว่า

“ลูกกับหลานรักกัน ขุนหลวงกริ้วกราดเอาเป็นมากเป็นมายเห็นเป็นไม่สมควร ถ้าลูกกับทาสรักใคร่กัน ขุนหลวงจะโปรดว่าสมควรกันหรือ ขอรับพระราชทานโทษทั้งสองคนนี้ให้พ้นโทษเสียเถิด”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯรับสั่งว่า

“ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังมีอยู่ เมื่อจะรักใคร่ก็บอกกล่าวกันก่อน ถ้าไม่มีผู้ใดเอาเป็นธุระก็ควรคิดการแต่ลำพังใจตัว นี่เขาไม่คิดนับถือผู้ใหญ่ คิดเอาเองแต่อำเภอน้ำใจไม่คิดกลัวเกรง องอาจดูถูกรั้ววังดังนี้ เจ้าก็ยังเห็นดีอยู่หรือ”

กรมพระราชวังบววรฯ จึงกราบทูลว่า “ซึ่งการไม่ได้บอกกล่าวให้ผู้ใหญ่รู้ก่อนดังนั้นเป็นข้อละเมิดมีความผิด ถึงโดยจะบอกกล่าวผู้ใหญ่หรือกราบทูลขุนหลวง ก็จะต้องเต็มใจเห็นดีด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยอายุเราท่านทั้งหลายนี้จะอยู่ไปได้สักกี่ร้อยปี ภายภาคหน้าจะได้ใครสืบตระกูลต่อไปเล่า”

แล้วก็กราบทูลกลบเกลื่อนวิงวอนอยู่นานจนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เหือดหายพระพิโรธ แต่นั้นมากรมหลวงอิศรสุนทรก็กลับเข้าเฝ้าได้ตามปกติ

เมื่อพระราชบิดาพระราชทานอภัยโทษให้แล้ว กรมหลวงอิศรสุนทรจึงเสด็จมาเข้าเฝ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทูลขอรับเจ้าฟ้าบุญรอดไปอยู่พระราชวังเดิมด้วยทรงครรภ์จวนประสูติแล้ว กรมหลวงเทพหริรักษ์จึงรับสั่งว่า

“ลูกเมียของพ่อฉิมก็มีอยู่มาก เกรงว่านานไปจะเกิดอริวิวาทกันก็จะต้องร้องไห้ข้ามกลับมาหาพี่ จะได้รับความอัปยศแก่คนทั้งหลาย”

กรมหลวงอิศรสุนทรจึงทูลปฏิญาณว่า จะไม่ให้บุตรและภริยาคนใดเป็นใหญ่กว่าเจ้าฟ้าบุญรอด กรมหลวงเทพหริรักษ์จึงยอมให้รับไปอยู่พระราชวังเดิม

ต่อมาในในเดือนยี่ ปีระกา พ.ศ.๒๓๔๔ เจ้าฟ้าบุญรอดก็ประสูติพระโอรส แต่สิ้นพระชนม์ในวันประสูตินั้น ใน พ.ศ. ๒๓๔๗ จึงประสูติพระโอรสองค์ที่ ๒ ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังจากที่กรมหลวงอิศรสุนทรอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรใน พ.ศ. ๒๓๔๙ แล้ว ใน พ.ศ. ๒๓๕๑ เจ้าฟ้าบุญรอดก็ประสูติพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อกรมหลวงอิศรสุนทรได้ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าบุญรอดขึ้นเป็นพระอัครมเหสี

ต่อมาในราวปี พ.ศ. ๒๓๕๗ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งประสูติจากราชธิดาเจ้านครเวียงจันทน์ขึ้นเป็นพระมเหสีองค์ที่ ๒ ซึ่งทำให้กระทบกระเทือนพระทัยพระอัครมเหสีมากถึงกับเสด็จกลับไปประทับพระราชวังเดิมจนตลอดรัชกาล

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประชวรเสด็จสวรรคต หลังจากรับสั่งให้เจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรสองค์ใหญ่รีบผนวชเพียง ๒ วัน และไม่ทันได้มอบราชสมบัติแก่พระโอรสองค์ใด พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเรียม พระชันษามากกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎถึง ๑๗ พรรษา ทั้งยังทรงว่าราชการต่างพระเตรพระกรรณอยู่ในขณะนั้น ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาเจ้าจอมมารดาเรียมพระราชชนนีขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย เรียกกันว่าพระพันปี หรือพระพันปีหลวง

ส่วนเจ้าฟ้าบุญรอด อัครมเหสีในรัชกาลที่ ๒ นั้น ในรัชกาลที่ ๓ เรียกกันว่าพระพันวษา พระองค์เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๓๗๙ ขณะพระชนมายุได้ ๗๐ พรรษา ไม่ทันได้เห็นพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ขึ้นครองราชย์ดังพระประสงค์

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๔ ใน พ.ศ.๒๓๙๔ ซึ่งเป็นปีแรกที่ขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระเกียรติยศพระบรมอัฐิสมเด็จพระพันวษา พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ที่พระบรมราชชนนี ทั้งยังบวรราชาภิเษก เจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ สมตามพระประสงค์ของพระราชชนนีที่ทรงหวังจะเห็นพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ขึ้นครองราชย์

เป็นที่น่าสังเกตว่า ชีวิตรักคู่ราชบัลลังก์ของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ก็เช่นเดียวกับกรมสมเสด็จพระอมรินทรามาตย์ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังเพียง ๕ ปี ส่วน ๑๐ ปีหลังรัชกาลได้ทรงแยกกลับไปประทับที่พระราชวังเดิมจนสิ้นพระชนม์ชีพ เนื่องด้วยเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี พระนัดดาเจ้านครเวียงจันทน์เป็นเหตุ ส่วนสมเด็จพระอมรินทราฯ แม้จะได้ทรงรับสถาปนาพระยศขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ตำแหน่งพระอัครมเหสี แต่ก็มิได้เคยเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราวังเลย ต่างคนต่างอยู่ ต่างเคารพในฐานะของกันและกัน ทั้งนี้ก็ด้วยสาเหตุมาจาก “คุณเสือ” เชลยสาวจากเวียงจันทน์ ทรงมีสาเหตุน้อยพระทัยมาจาก “เวียงจันทน์” ด้วยกันทั้งสองพระองค์
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
พระตำหนักแดง ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
พระแท่นบรรทมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯในตำหนักแดง
พระบรมรูป ร.๒ ในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น