ทำเนียบรัฐบาลไทยเป็นมาอย่างไร.. เกือบเป็นสถานทูตญี่ปุ่นไปแล้ว!!!
ทำเนียบรัฐบาล ถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่โอ่อ่าสง่างามสมกับเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของรัฐบาล และงามสง่าไม่น้อยหน้าทำเนียบรัฐบาลทั้งหลายในโลก แต่เจตนาที่สร้างนั้น ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ราชการ หากแต่เป็นเพียงบ้านที่อยู่อาศัยของขุนนางคนสำคัญในระบอบราชาธิปไตยคนหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลซื้อมาในราคาเพียง ๑ ล้านบาท
เจ้าของบ้านหลังนี้ก็คือ นายพลเอก นายพลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ขุนนางคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เจ้าพระยารามราฆพ ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ตั้งแต่อายุเพียง ๑๓ ปีเท่านั้น ขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ทรงโปรดให้เข้าเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงของรัชกาลที่ ๕ เพื่อศึกษาระเบียบราชการ และทรงใช้สอยอย่างใกล้ชิดตลอดมา
เมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ แล้ว ตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าพระยารามฯ ก็เจริญก้าวหน้าขึ้นรวดเร็วอย่างที่ไม่มีใครเสมอเหมือน ได้เป็นเจ้าพระยาเมื่ออายุเพียง ๓๑ ปี ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าพระยาอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยายาและกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชทานความรักความเมตตาแก่เจ้าพระยารามฯ เสมือนบิดากับบุตร ให้อยู่ใกล้ชิดติดตามเบื้องพระยุคลบาทตลอดเวลา เมื่อเริ่มเข้ารับราชการในวัยเด็ก ก็เข้ารับตำแหน่งสำรองราชการนายเวรขวา มีหน้าที่ดูแลเครื่องเสวย โดยจะต้องเชิญเครื่องเสวยตามเสด็จไปทุกแห่งไม่ว่าจะในราชการหรือเป็นการส่วนพระองค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยตั้งแต่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว เจ้าพระยารามฯ ก็ยังต้องร่วมโต๊ะเสวยอยู่ตลอดรัชกาล
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ เจ้าพระยารามฯ จะต้องนั่งไปในรถพระที่นั่งคู่กับสมุหราชองครักษ์ จนกระทั่งได้เป็นสมุหราชองครักษ์เองแล้ว จึงตามเสด็จไปโดยลำพัง
ในเวลาทรงพระสำราญ ไม่ว่าจะทรงกีฬาหรือการละคร เจ้าพระยารามฯ ก็ต้องร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง เจ้าพระยารามฯ ต้องอยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน จะมีเวลาเป็นส่วนตัวก็เฉพาะเวลาเข้าบรรทม กับทรงพระอักษรเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อเจ้าพระยารามฯสมรสกับท่านผู้หญิงประจวบ ธิดาเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตไม่ต้องร่วมในเวลาทรงกีฬา แต่ยังต้องติดตามเสด็จไปต่างจังหวัดด้วยทุกครั้ง
นอกจากจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มากมายแล้ว เจ้าพระยารามฯ ยังได้รับพระราชทานทรัพย์ให้สร้างบ้าน“นรสิงห์” ขึ้น โดยใช้ช่างชาวอิตาเลียนชุดเดียวกับที่มาสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และสร้างตามแนวพระราชดำริ เป็นศิลปะแบบเวนิเซียนโกธิค แต่การสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้เสด็จสวรรคต นายช่างชาวอิตาเลียนจึงกลับประเทศหมด
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๔ ระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นได้เจรจาขอซื้อหรือเช่าบ้านนรสิงห์เพื่อทำเป็นสถานทูตญี่ปุ่น แต่ก็ไม่เป็นที่ตกลงกัน และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้น เจ้าพระยารามฯ ก็ทำหนังสือถึงนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอขายบ้านนรสิงห์ให้แก่รัฐบาลในราคา ๒ ล้านบาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะและเสียค่าดูแลรักษาสูง แต่กระทรวงคลังปฏิเสธ จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๔ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เห็นสมควรจะซื้อบ้านนรสิงห์ไว้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในที่สุดก็ตกลงกันได้ในราคา ๑ ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังนำเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จ่ายไป แล้วมอบให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล
ขณะนั้นแม้บ้านนรสิงห์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เจ้าพระยารามฯและครอบครัวก็ได้ใช้ส่วนที่แล้วเสร็จเป็นที่อยู่อาศัย และจัดงานใหญ่ๆมาหลายครั้งแล้ว รัฐบาลจึงมอบให้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ซึ่งรับราชการอยู่กรมศิลปากร นำนักเรียนศิลปากรแผนกช่าง มาต่อเติมปรับปรุงจนเสร็จสมบูรณ์
เมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น รัฐบาลชุดแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการของรัฐบาล ต่อมาเมื่อ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๗๖ ได้ย้ายทำเนียบรัฐบาลมาอยู่ที่วังปารุสกวัน ครั้นถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ ได้ย้ายสำนักนายกรัฐมนตรีไปอยู่ที่วังสวนกุหลาบ จนเมื่อปรับปรุงบ้านนรสิงห์เสร็จใน พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงได้ย้ายทำเนียบรัฐบาลมาอยู่ที่บ้านนรสิงห์ เปลี่ยนชื่อเป็น “ทำเนียบสามัคคีชัย” เปลี่ยนชื่อตึกใหญ่ที่สร้างในศิลปะเวนิเซียนโกธิค ซึ่งเดิมชื่อ “ตึกไกรสร” ตามพระนามพระเจ้าบรมวงค์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือ พระองค์เจ้าไกรสร ต้นราชสกุล “พึ่งบุญ” เป็น “ตึกไทยคู่ฟ้า” ส่วนตึกสีแดงด้านหลังที่เคยชื่อ “ตึกพระขรรค์” โดยถือเอานิมิตที่เจ้าพระยารามฯ เคยเป็นมหาดเล็กผู้เชิญพระขรรค์ชัยศรีในพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๖ เป็น “ตึกนารีสโมสร” ให้เป็นสถานที่ประชุมและดำเนินกิจการด้านสตรีของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ต่อมาในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้ตึกนี้บริหารงานสำคัญๆเสมอ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ตึกบริหาร”
นอกจากนี้ยังมี “ตึกสารทูล” “ตึกพึ่งบุญ” และ “ตึกบุญญาศรัย” ที่เจ้าพระยารามฯตั้งไว้ จอมพล ป.ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มตึก ๒๔ มิถุนา” เพื่อระลึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ในสมัยจอมพลถนอมได้สั่งรื้อตึกกลุ่มนี้ลงทั้งหมด สร้างเป็นตึกบัญชาการหลังใหม่
ทำเนียบสามัคคีชัย ใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยซื้อมาในราคา ๑ ล้านบาท แต่ก็ใช้เงินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซื้อ สำนักงานทรัพย์สินฯจึงเป็นเจ้าของทำเนียบรัฐบาล ฉะนั้นในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติการซื้อทำเนียบรัฐบาลจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในราคา ๑๗,๗๘๐,๘๐๒.๓๖ บาท (สิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นแปดร้อยสองบาทสามสิบหกสตางค์) โดยคำนวณจากราคาต้นทุนที่ซื้อมา บวกด้วยราคาซ่อมบำรุง แล้วคูณด้วย ๑๕ จากนั้นลดราคา ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ตามระเบียบของราชการสมัยนั้น และโอนจาก สำนักงานทรัพย์สินมาเป็นของรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๒
ถึงวันนี้ ตึกทำเนียบรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นบ้านที่อยู่ของใคร ก็เป็นศูนย์บัญชาการของรัฐบาลไทยอย่างสมศักดิ์ศรี แต่ถ้าหากให้ญี่ปุ่นซื้อไปทำสถานทูตได้ในปี ๒๔๘๔ รัฐบาลไทยคงจะเหนื่อยไม่น้อยที่จะหาสถานที่ตั้งทำเนียบรัฐบาลให้สง่างามกว่าสถานทูตญี่ปุ่น