เรื่อง “ท้าวแสนปม” เป็นเรื่องเก่าที่เล่ากันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทองผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา และตามสไตล์ของเรื่องเก่าระดับนี้จึงเต็มไปด้วยอภินิหารต่างๆนานา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปมนี้เป็นบทละครรำไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๖๘ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาล ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์ในรูปแบบของบทละครดึกดำบรรพ์ออกมาอีกครั้ง และได้แสดงพระราชปรารภเมื่อครั้งทรงพระราชนิพนธ์บทละครรำไว้ว่า
“เรื่องท้าวแสนปมเป็นเรื่อง ๑ ซึ่งผู้ที่ได้อ่านแล้วมักรู้สึกว่าเหลือที่จะเชื่อได้ เพราะเหตุการณ์ที่เป็นไปในเรื่องนั้น เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ อันคนเราในสมัยนี้มักรู้สึกตนว่ามีความรู้มากเกินที่จะเชื่อได้เสียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ใคร่มีใครใฝ่ใจนึกถึงเรื่องท้าวแสนปม พออ่านแล้วก็ลงความเห็นว่าเหลวแล้วก็เลยทิ้ง ไม่พิจารณาต่อไปทีเดียว โดยเห็นว่าเสียเวลาเปล่าในการที่จะใช้ความคิดพิจารณาเรื่องเช่นนี้”
แต่ก็ทรงแสดงพระราชปรารภที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องท้าวแสนปมนี้ขึ้นว่า
“แต่ที่แท้นั้น ถ้าคิดไปสักหน่อยก็จะรู้สึกได้ว่า อันที่จริงควรที่จะอยากรู้ต่อไปอยู่บ้างว่า ท้าวแสนปมนั้นจะมีความจริงอยู่เพียงไร เพราะท้าวแสนปมนี้ไม่ใช่คนอื่นไกลเลย เป็นพระบิดาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนากรุงทวารวดี (คือกรุงศรีอยุธยา) จะว่าไม่เป็นคนสำคัญอย่างไรได้ เว้นเสียแต่ถ้าจะไม่เชื่อว่าสมเด็จพระรามาธิบดีเป็นลูกท้าวแสนปมทีเดียวนั้นแหละจนใจอยู่ แต่ถ้ายังเชื่อว่าสมเด็จพระรามาธิบดีเป็นลูกท้าวแสนปมแล้วก็คงจะต้องอยากรู้อยู่ว่า ท้าวแสนปมนั้นแท้จริงคือใคร และเรื่องราวของท่านผู้นี้จะมีมูลความจริงอยู่มากหรือน้อยเพียงใด”
นอกจากนี้ยังได้ทรงแสดงพระราชดำริในเรื่องตำนานต่างๆไว้ว่า
“ข้าพเจ้าอยู่ในคนจำพวกซึ่งพอใจจะเชื่อเรื่องราวแห่งอัจฉริยบุคคลอันมีปรากฏอยู่ในตำนานต่างๆ โดยมากไม่ใช่ผูกแต่งขึ้นลอยๆเป็นนิยายเล่าเล่น โดยมากย่อมมีความจริงเป็นเค้าอยู่บ้าง เช่นพระร่วงส่วยน้ำกับขอมดำดิน...”
เรื่องท้าวแสนปมนั้น ปรากฏอยู่ในหนังสือตำนานโยนก กับพงศาวดารสังเขปของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึง พระพรหมมหาราช ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองเชียงแสน ต่อมาถูกมหาราชรามัญ แห่งเมืองสตอง ยกทัพมาตีใน พ.ศ. ๑๗๓๑ จึงเสียเมืองแก่ข้าศึก แตกหนีลงมาทางใต้ พบเมืองร้างที่ชื่อว่าเมืองแปบใกล้เมืองกำแพงเพชร มีชัยภูมิเหมาะจึงสร้างเมืองขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า เมืองไตรตรึงษ์ และครองเมืองนี้มาจนถึงรัชสมัยของท้าวไตรตรึงษ์องค์ที่ ๔ ซึ่งมีพระราชธิดาทรงสิริโสภายิ่งนัก
วันหนึ่งเทวดาก็ดลใจให้พระธิดาอยากเสวยมะเขือ บรรดาพี่เลี้ยงนางกำนัลจึงออกไปหามะเขือมาถวาย แต่มะเขือที่ไหนก็ไม่งามเท่ามะเขือที่สวนของชายทุคตะ หรือชายยากเข็ญคนหนึ่ง ชื่อว่า แสนปม เพราะมีปุ่มปมขึ้นทั้งตัวดูน่าเกลียด และมะเขือต้นใดในสวนนั้นก็ไม่งามเท่าต้นที่อยู่ติดกับกระท่อมของนายคนยาก ทั้งนี้ก็เพราะนายแสนปมปัสสาวะรดเป็นประจำ จึงได้เก็บมะเขือจากต้นที่งามที่สุดนี้ไปถวายพระธิดา
หลังจากพระธิดาเสวยมะเขือจากต้นนั้นไปไม่นาน ก็ทรงครรภ์ และประสูติพระกุมารองค์หนึ่ง ท้าวไตรตรึงษ์โทรมมนัสพระทัยยิ่งนักที่พระราชธิดามีพระราชโอรสโดยไม่ได้อภิเษก ครั้นไต่ถามว่าใครคือบิดาของพระโอรส นางก็บอกไม่ทราบ ท้าวไตรตรึงษ์จึงป่าวประกาศให้ขุนนางข้าราชการและราษฎรทั่วไปที่เป็นชายมาพร้อมหน้ากันในวัง โดยให้ทุกคนมีของกินติดมือมาด้วยทุกคน และทรงอธิษฐานว่า ถ้าใครเป็นบิดาของพระกุมาร ก็ขอให้เทวดาดลใจให้พระกุมารรับของกินจากมือผู้นั้น
นายแสนปมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกต้อนเข้าวังไปด้วย แต่ด้วยความยากแค้นทำให้เขาไม่อาจหาของกินเข้าไปได้ จึงคว้าก้อนข้าวเย็นในหม้อติดมือไป
เมื่อถึงเวลาลงสนามเสี่ยงทาย ผู้คนทั้งหลายต่างก็นำโภชนากระยาหารอย่างดีมาถวาย แต่พระกุมารไม่สนพระทัย จนมาถึงนายแสนปมซึ่งยื่นก้อนข้าวเย็นให้ พระกุมารก็รับมาเสวยทันที
ท้าวไตรตรึงษ์ทั้งโกรธทั้งอายที่เห็นชายผู้มีปุ่มปมทั้งตัวคือพระราชบุตรเขย จึงไล่พระธิดาและพระกุมารให้ออกจากวังไปอยู่กับนายแสนปมที่กระท่อมกลางไร่มะเขือทันที ทั้งพระธิดาและพระกุมารจึงต้องตรากตรำลำบากร่วมชะตากับนายแสนปม ร้อนถึงพระอินทร์ที่ทำเรื่องยุ่งไว้ จึงต้องจำแลงแปลงร่างเป็นวานร นำกลองที่เรียกว่า อินทเภรี ใบหนึ่งมาให้นายแสนปม พร้อมทั้งบอกกติกาการใช้ว่า ถ้าต้องการสิ่งใดก็ให้อธิษฐานแล้วตีกลองนี้ สิ่งที่ปรารถนาก็จะบังเกิดขึ้นทันที โดยให้ตีได้เพียง ๓ ครั้งเท่านั้น ซึ่งนายแสนปมก็ใช้สิทธิตีครบทั้ง ๓ ครั้งทันที
ครั้งที่ ๑ ขอความหล่อไว้ก่อน ให้ปุ่มปมตามร่างกายหายไปเป็นปลิดทิ้ง เมื่ออธิษฐานและตีอินทเภรี นายแสนปมคนยากผู้อัปลักษณ์ ก็กลับเป็นชายหนุ่มรูปโฉมงดงามเหมาะกับความงามของพระราชธิดา
ครั้งที่ ๒ นายแสนปมอธิษฐานขอเมืองทั้งเมือง ไร่มะเขือก็กลายเป็นเมืองขึ้นมาทันที นายแสนปมให้ชื่อว่า เมืองเทพนคร แล้วขึ้นครองราชย์สมบัติ ณ เมืองนี้ ทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน
ครั้งที่ ๓ จึงขอพระอู่ทองคำ สำหรับเป็นที่บรรทมของพระโอรส
เหตุการณ์นี้ ตำนานบอกว่าเกิดขึ้นใน พ.ศ.๑๘๖๒ และพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนครองราชย์อยู่ ๒๕ ปีจึงทิวงคตเมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๗ พระราชบุตรขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง
สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ ทรงสันนิษฐานว่า ที่เรียกเมืองของท้าวแสนปมว่า เทพนคร นั้น คำว่าเทพนครเป็นคำเรียกเมืองหลวงทั่วไป ไม่ใช่ชื่อของเมือง แต่เมืองนี้น่าจะเป็นนครศิริชัย หรือ ศรีวิชัย ซึ่งก็คือเมืองนครปฐมในปัจจุบันนั่นเอง
ส่วนคำว่า พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน เมืองเชียงแสนนั้นสร้างหลังเมืองศรีวิชัย คนเขียนตำนานเรื่องท้าวแสนปมไม่มีความรู้ในเรื่องเมืองเชียงแสน รู้แต่ว่าเป็นราชธานีโบราณเท่านั้น จึงเอามาต่อเติมชื่อว่าเป็นกษัตริย์เชื้อสายเชียงแสน สันนิษฐานว่า ท้าวแสนปมอาจจะเป็นกษัตริย์นครศิริไชยที่ชื่อ ชินเสน ก็ได้ เมื่อทรงสันนิษฐานเช่นนี้ ในบทละครที่พระองค์ทรงนิพนธ์ ท้าวแสนปมจึงมีนามว่า ชินเสน และในบทละครรำเรื่อง ท้าวแสนปม จึงมีบทกลอนตอนหนึ่งกล่าวว่า
เมื่อนั้น
องค์พระชินเสนผู้รุ่งฟ้า
เป็นโอรสยศยงทรงศักดา
แห่งจอมอาณาศรีวิไชย
ทรงฤทธิ์กำแหงแรงรณ
ประชาชนนิยมหาน้อยไม่
แต่ยุพราชานั้นไซร้
ยังมิได้มีคู่อยู่ครอง
เมื่อพระชินเสนทราบข่าวความงามของพระราชธิดาท้าวไตรตรึงษ์ ใคร่จะได้ชมโฉม จึงได้ทูลลาพระบิดาไปดูตัวเพื่อสู่ขอ พระบิดาบอกว่าเคยส่งทูตไปขอให้แล้ว แต่ท้าวไตรตรึงษ์กลับยะโส บอกว่าถ้าศรีวิไชยยอมเป็นเมืองขึ้นก็จะยกลูกสาวให้ ซึ่งบทพระราชนิพนธ์ตอนนี้กล่าวไว้ว่า
พ่อได้ใช้วังแก้วไปสื่อสาร
เพื่อขอนงคราญมาให้
แต่ท้าวไตรตรึงษ์อึงไป
มิได้รอรั้งฟังคดี
ตอบว่าถ้าแม้พ่อยอม
อ่อนน้อมเป็นข้าบทศรี
จึงจะยอมแผ่ไมตรี
ให้มิ่งมารศรีแก่ลูกยา
สุดที่จะเอาศรีวิไชย
ไปออกเขาได้ดังที่ว่า
พ่อจึงเงือดงดอดมา
มิได้แจ้งกิจจาแก่ลูกรัก
เมื่อพระชินเสนรู้ว่าพระบิดากับท้าวไตรตรึงษ์ผิดใจกันเรื่องนี้ไปแล้ว พอคุมไพร่พลรอนแรมไปถึงเมืองไตรตรึงษ์จึงมิได้เปิดเผยตัว แปลงเป็นยาจกคนเข็ญใจ เอาฝุ่นและเขม่าทาตัวให้เปื้อนเปรอะ เอารงค์แต้มให้ดูเป็นปุ่มเป็นปมทั่วตัว เรียกชื่อตัวเองว่า แสนปม ให้ไพร่พลซุ่มอยู่นอกเมืองแล้วลอบเข้าไปในเมือง
ทรงพระราชนิพนธ์ตอนนี้ไว้ว่า
เมื่อฝุ่นและเถ้าเขม่าไฟ
ลูบไล้มอมทั่วสรรพางค์
เอารงค์แต้มองค์เป็นปมปุ่ม
ปมชุมทั้งตัวทั่วข้าง
ดูทีกิริยาท่าทาง
เหมือนอย่างยาจกเข็ญใจ
เกศารุงรังดังฤาษี
ภูษาหาที่ดีไม่ได้
มีย่ามตะพายหนึ่งใบ
เพื่อใส่เสบียงพอกิน
แลดูรุงรังไปทั้งตัว
ตั้งแต่หัวถึงตีนหมดสิ้น
ถือไม้เท้าก้าวไปดังใจจินต์
เข้าไปสู่ถิ่นไตรตรึงษ์
พระชินเสนได้เข้าไปอาสารับใช้ผู้เฝ้าสวนหลวงเพื่อหาโอกาสพบพระธิดา ซึ่งทรงพระนามว่า นางอุษา จนสบโอกาสเมื่อนางอุษาเสด็จประพาสสวนหลวง พระชินเสนเห็นเข้าก็ตะลึงในความงาม นำผักที่ปลูกไปถวาย นางอุษาเห็นพระชินเสนปุ่มป่ำไปทั้งตัวก็จริง แต่นางก็ตาแหลมสังเกตดูท่าทีว่าไม่ใช่ยาจกอย่างที่แต่ง ประการแรกคือเขาไม่ได้ไหว้นางอันเป็นกิริยาที่พวกไพร่จะไม่ละเว้นเมื่อได้พบพระราชธิดา อีกประการหนึ่งก็คือเมื่อเธอจ้องมองเขาก็ไม่หลบตา นางจึงสั่งให้นายแสนปมหมั่นเก็บผักมาให้ และนางก็หมั่นลงมารับผักบ่อยๆ นางโปรดมะเขือของเขาเป็นพิเศษ เพราะในมะเขือนั้นมีสาส์นของนายแสนปมสลักมาด้วย
ในสาส์นของนายแสนปมถึงพระราชธิดาตอนหนึ่งมีความว่า
ในลักษณ์นั่นว่านิจจาเอ๋ย
กระไรเลยหัวอกหมกไหม้
อกผ่าวราวสุมรุมไฟ
ทำไฉนจะพ้นไฟราญ
เสียแรงเกิดมาเป็นนักรบ
เผ่าพงศ์ทรงพบมหาศาล
สู้กรากกรำลำบากยากนาน
ยอมเป็นปมเป็นปานเปรอะไป
ได้เห็นแก้วประเสริฐเลิศชม
จะนิยมก้อนกรวดกระไรได้
เคยพบสาวฟ้าสุราลัย
ฤาจะใฝ่ต้องชาวปัถพิน
โอ้แก้วแวววับช่างจับจิต
จะใคร่ปลิดปลดมาดังถวิล
โอ้เอื้อมสุดล้าดังฟ้าดิน
จะได้สมดังจินต์ฉันใด
ส่วนบทพระราชนิพนธ์ตอนที่นางอุษาตอบนายแสนปมนั้น คนรุ่นเก่าๆแม้ไม่เคยอ่านบทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ก็คงเคยได้ยินอย่างขึ้นใจ เพราะเป็นเนื้อร้องของเพลงสุนทราภรณ์ที่ฮิตในสมัยหนึ่ง มีข้อความว่า
ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด
เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
เหตุไฉนย่อท้อรอรา
ฤาจะกล้าแต่เพียงวาที
เห็นแก้วที่แวววับจับจิต
ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้ฤา
มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ
ฤาแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง
คงชวดดวงบุปผชาติสอาดหอม
ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินตอม
จึ่งได้ออมอบกลิ่นสุมาลี
พระชินเสนอยู่เมืองไตรตรึงษ์ไม่นาน ก็ได้ข่าวว่าพระบิดาประชวร จึงต้องรีบกลับเมืองศรีวิไชย ครั้นวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๑๘๕๗ พระราชธิดาอุษาก็ประสูติพระโอรส ท้าวไตรตรึงษ์จึงปรึกษากับพระมหาราชครู ป่าวประกาศว่า ให้บรรดาลูกเจ้าลูกขุนและประชาชนทั่วไปมาพร้อมกันที่หน้าพระลาน โดยให้ถือขนมนมเนยติดมือมาด้วย แล้วตั้งอธิษฐานว่า ถ้าผู้ใดเป็นบิดาของพระกุมาร ก็ขอให้พระกุมารจงรับขนมจากมือผู้นั้น
พระชินเสนได้ทราบข่าวประกาศนี้เช่นกัน จึงรีบยกทัพใหญ่ไปซุ่มอยู่รอบเมืองไตรตรึงษ์ สั่งเสียขุนพลไว้ แล้วก็แปลงกายเป็นนายแสนปมถือก้อนข้าวเย็นไปยังหน้าพระลานในพิธีเสี่ยงทาย พระกุมารไม่ยอมรับขนมนมเนยของใครเลย จนกระทั่งนายแสนปมชูก้อนข้าวเย็นให้ พระกุมารก็รับไปด้วยยินดี
บทพระราชนิพนธ์ได้ทรงบรรยายความคั่งแค้นและอับอายของท้าวไตรตรึงษ์ที่ได้เห็นภาพนี้ไว้ว่า
เมื่อนั้น
ท่านท้าวไตรตรึงษ์มหาศาล
ครั้นเห็นนัดดายอดกุมาร
รับข้าวเย็นปานเนยนม
เสียใจหน้ามืดนัยตามล
มหาดเล็กสองคนต่างนวดห่ม
พอค่อยเหือดหายวายเป็นลม
แลดูแสนปมก็ขัดใจ
ร้องตวาดเรียกราชบุตรี
เฮ้ยอีหญิงกาลีมันอยู่ไหน
มึงนี้อัปรีย์นี่กระไร
ไสหัวออกไปจากเมืองกู
ดูดู๋กูเลี้ยงให้มีศักดิ์
ช่างลอบรักอ้ายขี้ข้าน่าอดสู
อ้ายขี้ปมเหียนรากไม่อยากดู
ยังเล่นชู้กับมันอีจัญไร
คิดๆก็แสนแค้นคั่ง
จะใคร่สั่งผลาญชีพิตักษัย
แต่เป็นเวรเป็นกรรมจะทำใย
ไปเถิดไปกับผัวอีตัวดี
ฝ่ายนายแสนปมได้ยินพ่อตาเกรี้ยวกราดขับไล่ไสส่งนางอันเป็นที่รักเช่นนั้น จึงปลอบนางให้ได้ยินทั่วกันว่า
ถึงแม้พ่อขับไล่ไปจากนี่
พี่จะสร้างธานีใหม่ก็ได้
คนเหล่านี้โง่เง่าไม่เข้าใจ
เพราะเห็นรูปพี่ไซร้ดูเลวทราม
แต่ที่แท้ไม่แพ้แก่ผู้ใด
พี่ไม่เลวกว่าใครในแดนสาม
ฤาใครจะท้าทำสงคราม
พี่ไม่รอให้ถามถึงสามครั้ง
แต่พอพี่ตีอินทเภรี
เหมือนนิมิตโยธีจะพร้อมพรั่ง
ล้วนพวกพลหาญชาญกำลัง
เหมือนดังพระสมุทรนองมา
ท้าวไตรตรึงษ์ได้ยินลูกเขยข่มขู่เช่นนั้นก็โกรธ บังคับให้ตีอินทเภรีตามคำคุย มิฉะนั้นจะฆ่าเสีย นายแสนปมก็รับคำท้าทันที และว่า
เอาเถิดเมื่อตีเภรี
จะได้ยินเสียงโยธีที่ชายป่า
แม้ไม่เชื่อก็จะตีอีกสามรา
โยธาก็จะห้อมเข้าล้อมวัง
ว่าแล้วจึงเรียกเสนี
ผู้ถือเภรีมาตามสั่ง
ตีกลองเปรี้ยงๆ เสียงดัง
พลกำลังโห่ลั่นตามสัญญา
ทรงผูกเรื่องว่าอินทเภรีนั้น ความจริงก็ไม่ใช่กลองของพระอินทร์ที่จะเนรมิตอะไรได้ทุกอย่าง แต่เป็นกลองที่ตีให้สัญญาณในกองทัพ เมื่อนายแสนปมตีอินทเภรี ไพร่พลที่ล้อมเมืองไตรตรึงษ์อยู่แล้วก็โห่ร้องตามที่นัดกันไว้ เรื่องก็เลยเรียบร้อยนายแสนปม พานางอุษาและพระกุมารกลับไปสู่เมืองศรีวิไชย
เรื่องเก่าๆ ดึกดำบรรพ์มักเป็นเช่นนี้ ใส่เวทย์มนต์คาถาเพิ่มอภินิหารให้คนในสมัยนั้นรับรู้เรื่องราวด้วยความนิยมชมชื่น แต่คนรุ่นใหม่ยากที่จะรับได้ พระมหาธีรราชเจ้าทรงนำเรื่องตำนานที่เหลือเชื่อมาทรงวินิจฉัย และใส่เหตุผลความเป็นไปได้ลงไป ตำนานโบราณก็เลยเห็นภาพของความจริงที่น่าจะเกิดขึ้นในแบบนี้