โสเภณี เป็นอาชีพดึกดำบรรพ์ของโลก มีมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้ว สำหรับเมืองไทยเข้าใจว่าทันสมัยกับเขามาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เพราะกฎหมายลักษณะผัวเมียที่ออกสมัยพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยา ก็กล่าวถึงเรื่องหญิงนครโสเภณีแล้ว
ทุกวันนี้หลายประเทศ แม้แต่ประเทศที่เจริญรุ่งเรืองในยุโรป ก็อนุญาตให้มีโสเภณีได้ แต่หลายประเทศก็ถือว่าเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ เป็นสิ่งผิดกฎหมายรวมทั้งประเทศไทยเราด้วย
แต่ไม่ว่าจะมีกฎหมายห้ามหรือไม่ห้าม ทุกประเทศแม้แต่ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็มีโสเภณีกันทั้งนั้น
ส่วนเมืองไทยยุครัตนโกสินทร์ เริ่มมีการจดทะเบียนหญิงนครโสเภณีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะหารายได้เข้ารัฐ ที่เรียกว่า “ภาษีบำรุงถนน” เพื่อนำเงินไปตัดถนนที่เริ่มมีในรัชกาลนี้
สมัยรัชกาลที่ ๕ สยามได้เปิดประตูประเทศรับอารยะธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่ คนหลายชาติหลายภาษาต่างหลั่งไหลเข้ามา โสเภณีต่างชาติเลยเข้ามาด้วยเป็นขบวน ผลก็คือชายไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็น “โรคบุรุษ” หรือ “กามโรค” กันครึ่งค่อนเมือง แม้ยังไม่มีตัวเลขยืนยันในตอนนั้น แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีรายงานของกรมสุขาภิบาลระบุว่า ผู้ชายในพระนครที่ป่วยเป็นกามโรคมีจำนวนถึงร้อยละเจ็ดสิบห้า
ยุคนั้นยารักษาก็ยังไม่ค่อยมี ต้องกินยาไทยต้มกันเป็นหม้อๆ ที่อาการหนักหนาสาหัสก็ถึงขั้น “ออกดอก” ทั้งตัว เป็นตุ่มมีน้ำเหลืองไหลต้องนอนบนใบตอง เป็นที่น่าวิตกว่าชายไทยในเมืองจะสูญพันธุ์เพราะโรคนี้ คณะเสนาบดีจึงได้ตรา “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค” ประกาศใช้ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๑ แต่ก็ให้ใช้เฉพาะกรุงเทพฯเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงประกาศใช้ทุกมณฑลทุกจังหวัดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๕๖
จุดมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้ ก็เพื่อให้หญิงโสเภณีต้องจดทะเบียนเพื่อควบคุมดูแลและตรวจโรคเป็นประจำ กับจดทะเบียนสำนักหญิงนครโสเภณีไว้ด้วย กำหนดให้ดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสำนักไว้หลายข้อ แต่ข้อหนึ่งกำหนดให้ต้องมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเป็นเครื่องหมาย โดยไม่ได้กำหนดว่าเป็นสีอะไร แต่เจ้าพนักงานเอาโคมที่มีกระจกสีเขียวเป็นรูปพัดด้ามจิ้วมาเป็นตัวอย่าง เลยมีผู้ทำออกมาจำหน่ายและใช้สีเหมือนกันหมด จนได้ฉายาว่า “สำนักโคมเขียว”
อัตราค่าจดทะเบียนสำหรับหญิงนครโสเภณี ๑๒ บาท มีกำหนด ๓ เดือน ส่วนค่าใบอนุญาตโรงหญิงนครโสเภณี ๓๐ บาท ต่อ ๓ เดือนเช่นกัน ซึ่งตอนนั้นค่าขึ้นห้องของหญิงนครโสเภณีก็แค่ ๒ สลึงถึง ๑ บาทเท่านั้น แต่ถ้า “ของนอก” เป็นญี่ปุ่นหรือฝรั่งก็ต้องถึง ๒ บาท ถ้าเหมาทั้งคืนก็ ๔ บาท ขณะที่ข้าวสารราคาถังละ ๒ สลึงถึง ๑ บาท
พระยาพิเรนทราธิบดีสีหราชงำเมือง ผู้บัญชาการพลตระเวนแขวงพระนคร ได้รายงานต่ออธิบดีกรมพลตระเวน เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๕๘ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องๆเกี่ยวกับหญิงโสเภณี ว่า
“โรงหญิงสัญจรโรคที่รับอนุญาตตั้งโรง บางแห่งเปิดโรงรับผู้มาเที่ยวไปมาอยู่จวนสว่าง แต่โรงหญิงญี่ปุ่น ๒ ยามล่วงแล้วปิด ในพระราชบัญญัติสัญจรโรคไม่ห้ามการเปิดปิด ควรมีกำหนดปิดโรงจะเป็นเวลาใดก็ตามแต่สมควร ทั้งยังมีผู้หลีกเลี่ยงกฎหมายไม่มีใบอนุญาตเวลานี้ออกจะชุกชุม กองตระเวนได้ตรวจจับกุม บางเรื่องมีหลักฐานพอก็ส่งศาลฟ้อง บางเรื่องจะฟ้องไม่ถนัดโดยหลักหลักฐานไม่เพียงพอ จำต้องถอนฟ้อง เรื่องนี้กฎหมายยังไม่มีบังคับสำหรับคนจำพวกนี้ และเป็นพวกที่น่ามีเหตุเกิดขึ้น ครั้งหนึ่งชาวเยอรมันได้ไปเที่ยว มีเหตุกับเจ้าของที่พัก กองตระเวนจับกุม ลงท้ายพลตระเวนกับชาวเยอรมันต้องเปนความกัน หญิงโสเภณีกับหญิงสัญจรโรคที่ไม่มีใบอนุญาต เวลากลางคืนเที่ยวออกชักชวนชายในที่ประชุมชนต่างๆ เที่ยวเกลื่อนกลาดตามถนน แลปะปนกระทำให้หญิงผู้ดีรับความเสื่อมทรามไปด้วย ควรมีบังคับห้ามหญิงโสเภณีที่มีใบอนุญาต ต้องประจำหาผลประโยชน์อยู่ที่พักของเขา จะเที่ยวเตร็ดเตร่ชักชวนชายตามถนนหรือที่ประชุมชนไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยได้รับรายงานร้องขอรวมโรงหญิงโสเภณีอยู่ในหมู่หรือตำบลเดียวกัน เพื่อสดวกสำหรับจัดการรักษา ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ การที่ให้ผู้หญิงแยกย้ายตั้งอยู่ที่ต่างๆเช่นนี้ กองตระเวนไม่พอเพียงจะรักษาให้ทั่วถึง ในหญิงนครโสเภณีกวางตุ้ง เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น สืบสวนไม่ใคร่จะได้ความ โดยปกปิดไม่บอกความจริง ถ้ามีโอกาสควรรวบรวมหญิงโสเภณีกวางตุ้งเสียคราวหนึ่งก่อน ถ้ารวบรวมไม่ได้ จำเปนต้องเพิ่มจำนวนพลตระเวนให้พอเพียงกับการรักษา”
ส่วนร้านจำหน่ายยาฝิ่นและกาแฟ ก็อยู่ในรายงานนี้เหมือนกันว่า
“ร้านจำหน่ายยาฝิ่นกับร้านขายกาแฟ เจ้าของจับหญิงสาวกวางตุ้งล่อ คอยปฏิบัติยั่วยวนผู้ไปมา บางทีชักชวนแลฉุดคร่า กองตะเวนได้จัดการฟ้อง ๑ ฐานทำอนาจาร ๒ ฐานไม่จดทะเบียน นอกจากนี้แล้วไม่มีข้อบังคับจะปราบปราม แต่บางทีหญิงสาวพวกนี้ลอบลักรับจ้างทำชำเราโดยไม่มีใบอนุญาต จะตรวจตราจับกุมฟ้องได้ตาละเรื่องเปนการยาก...”
เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล เห็นว่ากฎหมายป้องกันสัญจรโรคของไทยยังมีช่องโหว่ จึงอยากจะศึกษาจากประเทศที่มีความรู้เรื่องนี้ดี และเห็นว่า ญี่ปุ่นมีประสบการณ์มายาวนาน จึงมีหนังสือไปถึง อัครราชทูตสยามประจำกรุงโตเกียว ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๕๕ ให้ช่วยหาข้อมูลเรื่องนี้ให้ด้วย เดือนต่อมาท่านทูตก็ได้ส่งกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยเรื่องโสเภณีของญี่ปุ่นแปลเป็นภาษาอังกฤษมาเสร็จสรรพ พร้อมด้วยหนังสือเกี่ยวกับโสเภณีอีก ๑ เล่มในชื่อ “The Nightless City”
เราจึงได้ความรู้ในเรื่องจัดระเบียบโสเภณีจากญี่ปุ่นมามาก ต่อมาก็แก้ให้หญิงที่จะมีอาชีพโสเภณี จาก ๑๕ ปีมาเป็น ๑๘ ปีตามอย่างญี่ปุ่น
มีรายงานของ นายพันตำรวจโท พระอนุรักษ์นครินทร์ ผู้กำกับการตำรวจพระนครบาลกองพิเศษ ถึง นายพลตำรวจตรี พระยาอธิกรณ์ประกาศ ผู้บัญชาการตำรวจพระนครบาลกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการจดทะเบียนหญิงนครโสเภณีตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๖๗ มีโรงหญิงนครโสเภณีและหญิงที่ได้รับอนุญาต คือ
เจ้าของโรงจีน ๑๘๙ โรง ตัวหญิงนครโสเภณี ๗๗๒ คน
เจ้าของโรงไทย ๑๒ โรง มีตัวหญิงนครโสเภณี ๗๒ คน
เจ้าของโรงญวน ๗ โรง มีตัวหญิงนครโสเภณี ๘ คน
เจ้าของโรงรัสเซีย ๑ โรง มีหญิงนครโสเภณี ๓ คน
รวมเจ้าของโรง ๒๐๔ โรง มีหญิงนครโสเภณี ๘๕๕ คน
นอกจากนี้ จากการสืบสวนยังได้ความว่า มีโสเภณีที่ไม่ได้จดทะเบียนลักลอบหากินอยู่ คือ
จีน ประมาณ ๒๐๐ คน
ไทย ประมาณ ๑๕๐ คน
ญวน ประมาณ ๑๕ คน
ญี่ปุ่น ประมาณ ๕ คน
รัสเซีย ประมาณ ๑๐
รวม ๓๘๐ คน
ปรากฏว่ามีหญิงจีน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นหญิงกวางตุ้ง เข้ามาเป็นโสเภณีในเมืองไทยมากกว่าหญิงทุกชาติ และมากกว่าหญิงไทยเองด้วย ทางเข้ามาในสมัยนั้นก็มีทางเดียวคือทางเรือ ฉะนั้นเมื่อมีเรือเมล์ลำใดมาจากเมืองจีน เจ้าพนักงานตำรวจกองพิเศษจะไปรอตรวจ ถ้าพบหญิงสาวไม่ได้มากับครอบครัวจะสอบปากคำทุกคน ถ้าหญิงนั้นถูกหลอกลวงมา และสมัครใจจะกลับไปเมืองจีน ก็มอบหญิงนั้นให้อยู่ในความดูแลของนายเรือ และมีหนังสือส่งตัวไปยังตำรวจเมืองฮ่องกงให้จัดการส่งกลับบ้านต่อไป
ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๓ สมัย จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ออก “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๐๓” ถือว่าโสเภณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีความทันยุคทันสมัยห้ามการค้าประเวณีในเพศเดียวกันด้วย โดยกำหนดความหมายของคำว่า “การค้าประเวณี” ไว้ว่า
“การค้าประเวณี หมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ”
แต่กฎหมายที่แค่ “ปราม” ในปี ๒๕๐๓ หรือปรับปรุงมาเป็น “ป้องกันและปราบปราม” ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการค้าประเภทนี้ไว้ได้ กลับกระจายออกไปทั่ว เป็นอบอาบนวด คาเฟ่ บาร์ ไนต์คลับ จนถึงทางโทรศัพท์
กฎหมายที่สามารถทำให้นักเที่ยวประเภทนี้ “สยอง” ได้ ก็คือข้อที่ว่า
“ผู้ใดกระทำชำเราหรือกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่นแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณีโดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท” ซึ่งทำให้ลูกค้า “หัวหด” ไปตามกัน แม้แต่ขอดูบัตรประจำตัวประชาชนแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ ว่าแก้ตัวเลขอายุมาหลอกหรือเปล่า กลัวจะเจอแบบ “ป๋าเหลิม” จะอุดหนุนเด็กๆเสียหน่อย กลับโดนคูณเข้าไปตามครั้งที่อุดหนุน ต้องติดคุกถึง ๓๖ ปี ฆ่าคนตายยังติดน้อยกว่านี้!