xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัส"นนทบุรีที่แตกต่าง" ล่องเรือ ไหว้พระ ไหว้เจ้า อิ่มบุญสุขใจ เสริมสิริมงคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจดีย์เอียง ไฮไลท์ล่องเรือไหว้พระในทริปนี้
การได้เข้าร่วมกิจกรรมดีๆ เป็นสิ่งที่ฉันชอบอย่างมาก โดยเฉพาะการนั่งล่องเรือไหว้พระ ชมความงดงามของสถาปัตยกรรมและฝีมือช่างศิลป์ที่สะท้อนผ่านวัดแล้ว ยังได้ร่วมทั้งทำบุญทำทาน เกิดความอิ่มเอมใจสบายกายให้ฉันเป็นอย่างมาก ฉันจึงสืบเสาะหาจนไปเจอกิจกรรมดีๆ ที่เทศบาลนครนนทบุรีจัดขึ้น นั่นคือทริป “เสริมมงคลชีวิต ล่องเรือ ไหว้พระ ไหว้เจ้า ปี 2559” โดยชวนผู้สนใจล่องเรือท่องเจ้าพระยาไปท่องเที่ยวทางน้ำในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ไม่ควรพลาด นอกจากจะทำให้ฉันได้รู้จักจังหวัดนนทบุรีมากขึ้นแล้ว ยังถือว่าได้ล่องเรือไหว้พระเสริมคุณงามดีในปีใหม่นี้ด้วย
เรือที่นำพาเที่ยวชมล่องแม่น้ำเจ้าพระยา
ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าประจำจังหวัดนนทบุรี
โดยจุดแรกหลังจากเริ่มลงทะเบียนที่ท่าน้ำนนทบุรี ก็คือ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม"  โดยภายในมีรูปปั้น “เจ้าแม่จุ้ยป่วยเนี้ยว” ที่แปลว่า เจ้าแม่ชายน้ำ ซึ่งเป็นเทพธิดาที่ได้รับความเคารพนับถือจากชาวเรือและชาวประมงเป็นอย่างยิ่ง โดยถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเลที่คอยคุ้มครองผู้เดินทางทางเรือ และที่มาของศาลแห่งนี้นั้นสืบเนื่องมาจากในอดีต เมืองนนทบุรีถือได้ว่าเป็นเมืองท่าและชุมทางค้าขายทางเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งนั่นเอง เจ้าแม่จุ้ยป่วยเนี้ยว มักจะถูกเรียกขานกันชื่อหนึ่งว่า “เจ้าแม่ทับทิม” จากพลอยสีแดงทับทิมอันเป็นเครื่องประดับประจำองค์ที่สวมใส่อยู่เสมอ ต่อมาพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนในจังหวัดนนทบุรีคิดจะสร้างศาลเจ้าประจำจังหวัด เพื่อเป็นที่เคารพบูชาของชาวตลาดนนทบุรีเมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ทับทิมเข้ามาประดิษฐานไว้ในศาล รวมทั้งได้จำลององค์เจ้าพ่อหลักเมืองที่ประดิษฐ์อยู่ที่ศาลเจ้าปากคลองอ้อมเข้าประดิษฐานด้วย โดยเป็นที่ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่เชื่อของผู้ที่ศรัทธาและเข้ามาสักการะอธิษฐานว่า จะสมประสงค์ในเรื่องของการทำมาค้าขายเป็นส่วนมาก
“พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี”
หลังจากสักการะเจ้าแม่ทับทิมแล้ว ฉันก็เดินไปยัง “พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี” เป็นอาคารไม้สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกทาง ศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.2524 ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์และพัฒนาการของเมืองนนทบุรี นับจากอดีตกาลจวบจนถึงปัจจุบัน ทำให้ฉันได้เรียนรู้อีกมุมในจังหวัดนนทบุรีมากขึ้น
วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร วัดเก่าแก่ในจังหวัดนนทบุรี
จากนั้นฉันก็ได้ลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาจนไปถึง "วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร" โดยวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์พระบรมราชินี ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่เรียกว่า วัดเขมา ภายในวัดมีพระมหาเจดีย์ สูง 30 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อเก่าแก่ศิลปะสมัยอยุธยา อัญเชิญมาจากพระราชวังจันทร์เกษม นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักแดง ศาลาจัตุรมุข และพระที่นั่งมูลมณเฑียรรวมทั้งพระอสีติมหาสาวก 80 รูป ซึ่งในประเทศไทยจะมีให้นมัสการเพียงที่วัดสุทัศน์และวัดแห่งนี้เท่านั้น
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร มีศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3
ล่องเรือกันไปเรื่อยๆ ตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึง วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สถาปัตยกรรมเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 โดยไฮไลท์ของวัดนี้คือ "พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา" ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดง ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดแร่ทองแดง ที่อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมาโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานประจำในพระอุโบสถแห่งนี้
พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ล่องเรือกันไปเรื่อยๆ ตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึง "วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร" เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สถาปัตยกรรมเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 โดยไฮไลท์ของวัดนี้คือ "พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา" ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดง ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดแร่ทองแดง ที่อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมาโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานประจำในพระอุโบสถแห่งนี้
วัดท้ายเมือง
จากชมวัดเฉลิมพระเกียรติแล้วไปยังต่อที่ "วัดท้ายเมือง" ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดเก่าแก่คู่จังหวัดนนทบุรี สร้างแต่เมื่อไรยังไม่ปรากฏแน่ชัด ที่มีหลักฐานเหลืออยู่ คือ ศิลาหินอ่อน หน้าพระอุโบสถ ที่ได้จารึกประวัติความเป็นมาว่าเป็นวัดของเจ้าพระยารัตนาธิเบศ (กุน) มหุนายก ในรัชกาลที่ 2 เป็นต้นสกุลรัตนสกุล เป็นผู้สร้างวัดนี้ จึงจัดว่าเป็นวัดเก่าแก่คู่กับชาวตลาดขวัญและเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนนทบุรีวัดหนึ่ง
วัดแคนอก
หอระฆังรูปทรงดอกบัวตูมถวาย
วัดต่อมาคือ "วัดแคนอก" ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนถนนสนามบินน้ำ สร้างเมื่อ พ.ศ.2367 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดแคร่เบ็ญจ้น” เป็นวัดที่ชาวรามัญ อันมีพระยารามัญมุนี เป็นหัวหน้า ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้สร้างขึ้น ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดแค นอกจากนั้นยังเคยเป็นสถานที่ที่ผู้นำคณะราษฏรได้นำคณะมาสักการะพระประธานในอุโบสถและอธิฐานจิตถวายต่อพระพุทธศาสนาก่อนทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อทำการเสร็จแล้วจึงมาสร้างหอระฆังรูปทรงดอกบัวตูมถวาย
พุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์
ศาลเจ้าพ่อเสือ  ภายใน พุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์
จุดต่อไป คือ "พุทธสถานเชิงท่า-หน้าโบสถ์" เป็นศาสนสถานที่เทศบาลนครนนทบุรีร่วมกับกรมศิลปากร ได้พัฒนาจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยรวมวัดหน้าโบสถ์และวัดเชิงท่าซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง เลยเรียกรวมกันว่า พุทธสถานเชิงทา-หน้าโบสถ์ สถานที่สำคัญของวัดซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือ ศาลเจ้าพ่อเสือ บริเวณด้านข้างของวัดหน้าโบสถ์นี้ หลวงพ่อเสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของผู้คนในบริเวณนี้ และเจดีย์วัดเชิงท่า ซึ่งยังคงหลงเหลือสภาพดังปัจจุบันตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2506 อันเป็นผลกระทบจากเวนคืนพื้นที่ดังกล่าว
 วัดฉิมพลีสุทธาวาส
ต่อมาล่องเรือจนมาถึงเกราะเกร็ด เกาะเกร็ดแต่เดิมนั้นก็ไม่ได้เป็นเกาะ เป็นเพียงผืนแผ่นดินธรรมดา แต่เมื่อมีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ “คลองลัดเกร็ด” ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง กัดเซาะตลิ่งและทำให้คลองที่ขุดขึ้นกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมก็มีขนาดเล็กลง เกาะเกร็ดจึงกลายเป็นเกาะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยจุดที่เรือล่องมาจอด นั่นคือ "วัดฉิมพลีสุทธาวาส" เดิมเรียกวัดป่าฝ้าย เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยในตอนแรกมีชื่อว่า วัดป่าฝ้าย หลังจากนั้นมีการสันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงบูรณะ ปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดฉิมพลี” เนื่องจากพระนามเดิมของรัชกาลที่ 2 คือ เจ้าฟ้าชายฉิม และตราพระราชลัญจกรของพระองค์เป็นรูปครุฑ ทั้งนี้ ชื่อเต็มของวัดฉิมพลี คือวัดฉิมพลีสุทธาวาส คำว่า “สุทธาวาส” ที่พ่วงท้ายนั้นคล้ายกับชื่อเดิมของวัดสุทัศน์ คือ “วัดมหาสุทธาวาส” ซึ่งเป็นวัดที่รัชกาลที่ 2 ทรงทำนุบำรุง คนมอญมักจะเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้"
เจดีย์เอียง ที่“วัดปรมัยยิกาวาส”
พระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่เป็นที่สามในอำเภอปากเกร็ด
เมื่อไหว้พระวัดฉิมพลีแล้ว ฉันก็เดินทะลุประมาณ 500 เมตรสองข้างจะเต็มไปด้วยของซื้อของขายทำให้ฉันเพลิดเพลินเป็นอย่างมาก เดินไปไม่นานนักก็จะถึง “วัดปรมัยยิกาวาส” ซึ่งเดิมเรียกกันว่า “วัดปากอ่าว” เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากมีการขุดคลองลัดเกร็ด และได้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ต่อมาชาวมอญที่มาอาศัยอยู่ได้ร่วมใจกันบูรณะวัดร้างนี้ขึ้นมาใหม่ และได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์เสด็จมาทอดพระกฐินในแถบนี้และเห็นว่าวัดนี้ทรุดโทรมมาก เมื่อทรงปฏิสังขรณ์โดยคงรูปแบบมอญไว้แล้วพระองค์จึงพระราชทานชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สนองพระคุณพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งสัญลักษณ์ที่คุ้นตากันดีของเกาะเกร็ดก็คือ “เจดีย์เอียง” หรือ “เจดีย์มุตาว” เป็นเจดีย์สีขาวทรงรามัญ แต่เดิมนั้นเจดีย์ก็ตั้งตรงตามปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตลิ่งเกิดทรุดลง องค์เจดีย์ก็เลยเอนเข้าหาแม่น้ำอย่างที่เราเห็นกัน แต่คนเฒ่าคนแก่ชาวมอญเชื่อกันว่า เหตุที่เจดีย์เอนก็เพราะจระเข้ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำและคอยปกปักรักษาเกาะเกร็ดนั้นขยับตัว ทำให้ตลิ่งทรุดจนเจดีย์เอนลงมา แต่ปัจจุบัน ก็มีการซ่อมแซมและเสริมโครงสร้างขององค์เจดีย์ให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อไม่ให้เจดีย์เอียงทรุดไปมากกว่านี้แล้ว
หลวงพ่อโต หรือ สมเด็จพระพุทธมงคลชัย ที่ “วัดบางจาก”
จากนั้นฉันล่องเรือมายังจุดสุดท้าย ที่ “วัดบางจาก” วัดบางจากถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดนนทบุรี ที่มีผู้คนไปลอดโบสถ์ไหว้เพื่อไหว้สักการะหลวงพ่อหนุนดวง และหลวงพ่อค้ำดวง พระพุทธรูปที่สำคัญคือ หลวงพ่อโต หรือ สมเด็จพระพุทธมงคลชัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) ก่ออิฐถือปูน ขนาดหน้าตักกว้าง 19 เมตร องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย
และนี่ก็เป็นกิจกรรมดีๆ “เสริมมงคลชีวิต ล่องเรือ ไหว้พระ ไหว้เจ้า ปี 2559” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรี นอกจากไหว้พระเสริมมงคลชีวิตแล้ว ก็ควรคิดดี ประพฤติดี ปฏิบัติดีด้วย แล้วชีวิตจะมีแต่เรื่องสิ่งดีๆ เกิดขึ้นแน่นอน
* * * * * * * * * * * * * * * * *
ล่องเรือไหว้พระจะจัดขึ้น 4 วัน คือ วันอาทิตย์ที่ 14, 21, 28 กุมภาพันธ์ และวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2559 โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนและชำระค่าบริการเรือด่วนเจ้าพระยา จำนวน 99 บาทต่อท่าน (เด็กที่มีความสูงไม่เกิน 100 เซนติเมตร ไม่เสียค่าใช้จ่าย) ณ บริเวณริมเขื่อนท่าน้ำนนทบุรี ตั้งแต่เวลา 07.00-09.00 น. ระยะเวลาล่องเรือไหว้พระในแต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง ผู้สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ กองส่งเสริมวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และกีฬา หมายเลขโทรศัพท์ 0 2589 0500 ต่อ 2312 และฝ่ายประชาสัมพันธ์ ต่อ 2103
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น