xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งแรกของกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมีพระทัยดุจได้ลาภอันอุดมกว่าลาภทั้งปวง!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ประติมากรรมธรรมชาติที่โบสถ์ปรกโพธิ์ กลางค่ายบางกุ้ง
สงครามครั้งแรกของกรุงธนบุรี เกิดขึ้นที่ “ค่ายบางกุ้ง” ในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นค่ายเล็กๆ และสงครามครั้งนั้นก็เป็นเพียงสงครามเล็กๆ แต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่งใหญ่

พงศาวดารบันทึกไว้ว่า เมื่อพระเจ้าตากสินทรงทราบข่าวพม่ายกทัพเข้ามาล้อมค่ายบางกุ้งจวนจะแตกอยู่แล้ว “มีพระราชหฤทัยประดุจได้พระลาภอันอุดมกว่าลาภทั้งปวง”

เพราะสงครามครั้งนี้มีความสำคัญต่อการกู้ชาติไทย จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสงครามครั้งแรกนี้

ค่ายบางกุ้งเป็นค่ายเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หลังจากถูกพม่าตีแตกในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ก็ถูกทิ้งเป็นค่ายร้าง จนเมื่อพระเจ้าตากสินสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีใหม่ ได้ส่งบรรดาลูกเรือสำเภาจีนที่สละเรือมาจงรักภักดีไปเฝ้าไว้ ตั้งให้เป็นหน่วยทหาร “ภักดีอาสา” โดยมี “ไต้ก๋งเจียม” ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น “ออกหลวงเสนาสมุทร” เป็นผู้บังคับบัญชา

ออกหลวงเสนาสมุทรได้ปรับปรุงค่ายบางกุ้งขึ้นใหม่ตามตำราพิชัยสงครามฉบับ “ง่อกี้” โดยก่ออิฐเป็นเชิงเทินหอรบไปตามลำน้ำแม่กลอง ล้อมเอาวัดบางกุ้งน้อยซึ่งสร้างขึ้นมาตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้กลางค่าย เพื่อเป็นที่สักการะและขวัญกำลังใจของทหาร ขุดคูป้องกันค่าย ซึ่งปัจจุบันก็คือ “คลองบ้านค่าย” และขุดคลองอีกคลองแยกจากแม่น้ำแม่กลองมาเพื่อใช้น้ำ ปัจจุบันคือ “คลองบางกุ้ง” เรียกค่ายนี้กันว่า “ค่ายจีนบางกุ้ง”

ในปลายปี พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้าอังวะได้รับรายงานจากเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งฝักใฝ่พม่า ว่าพระยาตากได้ตั้งตัวเป็นใหญ่จะฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยาที่พม่าเผาราบไปแล้วขึ้นมาอีก พระเจ้าอังวะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่เชื่อว่าเมืองไทยที่ถูกทำลายจนย่อยยับ ผู้คนก็ถูกกวาดต้อนมาจนเหลือน้อย จะมีใครก่อการใหญ่ได้อีก ประกอบกับกำลังกังวลการทำสงครามกับจีน จึงสั่งให้พระยาทวายยกกองทัพเข้ามาดู ถ้าพบใครกำเริบตั้งตัวเป็นใหญ่ก็ให้ปราบเสีย

เจ้าเมืองทวายยกกำลังพล ๓,๐๐๐ คนเข้ามาทางด่านไทรโยคในฤดูแล้งปลายปี พ.ศ.๒๓๑๐ เห็นว่ากาญจนบุรีและราชบุรียังเป็นเมืองร้าง เรือรบของพม่าที่จอดทิ้งไว้ที่ไทรโยค รวมทั้งค่ายริมฝั่งแม่น้ำที่ราชบุรีก็ยังไม่มีใครทำลาย เดินทัพอย่างสบายจนมาเจอค่ายบางกุ้งจึงล้อมไว้

พงศาวดารกรุงธนบุรีกล่าวว่า

“พระเจ้าตากสินทรงทราบข่าวข้าศึกด้วยความยินดียิ่ง ได้โปรดให้ พระมหามนตรี (บุญมา) จัดกองทัพเรือ ๒๐ ลำ แล้วพระองค์ก็ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณพิชัยนาวา เรือยาว ๑๘ วา ปากเรือกว้าง ๓ ศอกเศษ พลกรรเชียง ๒๘ คน พร้อมด้วยศาสตราวุธมายังค่ายบางกุ้ง โดยลัดเลาะมาทางคลองบางบอน ผ่านคลองสุนัขหอน และมาออกแม่น้ำแม่กลอง พระมหามนตรีคาดการณ์ว่าค่ายบางกุ้งล่อแหลมกำลังจะแตกอยู่แล้วจึงรีบเดินทัพ พอไปถึงก็เข้าโจมตีทัพพม่าที่กำลังล้อมค่ายไทย-จีนที่บางกุ้งโดยฉับพลัน”

ในตอนเรียกประชุมนายทัพนายกองเพื่อปลุกใจก่อนเข้าโจมตีนั้น ทรงเน้นว่า

“ถ้าช้าไปอีกวันเดียวค่ายบางกุ้งจะแตก แล้วขวัญทหารไทยจะไม่มีวันฟื้นคืนดีได้ การรบทุกครั้งการแพ้ชนะอยู่ที่ขวัญกำลังใจ ถ้าไทยแพ้อีกในครั้งนี้ พม่าจะฮึกเหิม พวกไทยจะครั่นคร้ามและกู้ชาติไม่สำเร็จ การรักษาค่ายบางกุ้งไว้ให้ได้ในครั้งนี้ ได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายได้ช่วยขวัญกำลังใจของไทยในการรบครั้งต่อไป”

การรบครั้งนี้ถึงขั้นตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น พระมหามนตรีซึ่งต่อมาก็คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาในรัชกาลที่ ๑ ได้ใช้ดาบสิงห์สุวรรณาวุธ ด้ามและฝักกนกหัวสิงห์ไล่ฆ่าฟันข้าศึก ฝ่ายทหารจีนในค่ายเมื่อทราบว่าพระเจ้าตากสินนำทัพมาช่วยด้วยพระองค์เอง ก็มีกำลังใจ เปิดประตูค่ายจุดประทัดตีม้าฬ่อ ตะลุยออกมา ทำให้พม่าถูกตีขนาบ อีกทั้งเป็นคืนเดือนมืดไม่รู้ว่ากองทัพไทยยกกันมามากแค่ไหน เสียงโห่ร้องอื้ออึงและประทัดม้าฬ่อทำให้ทหารพม่าเสียขวัญ ทหารไทยยิ่งได้ใจไล่ฆ่าฟันทหารพม่าตายเกลื่อน เจ้าเมืองทวายเห็นว่าจะรับไม่ไหวแน่ จึงถอยทัพออกไปทางด่านเจ้าเขว้า ด้านแม่น้ำภาชี เมืองราชบุรี

ส่วนพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ กล่าวว่า

“ลุศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๓๑๑) โปมัง พะม่านายทัพ คุมพลทหารพะม่าทัพบกทัพเรือประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ ยกเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ตีล่วงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งเข้าไว้ใกล้จะเสียอยู่แล้ว ครั้นทรงทราบในทันใดนั้นมีพระราชหฤทัยประดุจได้พระลาภอันอุดมกว่าลาภทั้งปวง จึงให้เตรียมพลโยธาทหารเรือประมาณ ๒๐ ลำเศษ แล้วทรงเรือพระที่นั่งสุวรรณมหาพิชัยนาวา สรรด้วยเครื่องศาสตราวุธ ครั้นได้ศุภมงคลนิทานสกุณฤกษ์ พระทัยพร้อมพหิพยันดรราชฤทธิ์ ก็ยกพลนิกายโดยชลมารคด้วยอาการอันรวดเร็วดุจพระยาชวันราชหงส์อันนำหน้าสุวรรณหงส์ทั้งหลายทั้งปวงไปในราตรีนั้น ฝ่ายทัพเรือพะม่ายกลงมาตรัสเห็นแล้วก็รีบเรือรับ เรือพระที่นั่งกับทั้งเรือทหารทั้งปวงไล่ตะลุมบอน ยิงปืนจ่ารงค์มณฑลนกสับคาบศิลา ถูกพะม่าล้มตายพ่ายขึ้นไปเถิงทัพใหญ่จึงให้ยิงปืนตับใหญ่ พะม่าแตกตื่นล้มตายด้วยฝีมือทหารไทยฟันแทงในน้ำเป็นอันมาก บ้างหนีขึ้นบกเล็ดลอดซ่อนเร้นสะดุ้งใจ ที่หนีไปแว่นแคว้นแดนอังวะได้นั้นน้อยนัก ทหารไทยเก็บได้เครื่องศาสตราวุธเรือรบไล่ครั้งนั้นได้เป็นอันมาก พระเกียรติยศก็ฤาชาปรากฏดุจพระยาไกรสีหราชอันเป็นที่กลัวแห่งหมู่สัตว์จตุบาททั้งปวง”

ชัยชนะที่ค่ายบางกุ้งนี้มีผลอย่างมากต่อขวัญและกำลังใจของกองทัพไทย หากพ่ายแพ้ครั้งนี้การกู้ชาติของพระเจ้าตากสินจะต้องมีปัญหา เพราะขวัญกำลังใจถูกทำลายลงอีก ทั้งเมืองสมุทรสงครามที่อุดมสมบูรณ์และยังไม่เคยถูกพม่ารุกรานเหมือนกรุงศรีอยุธยา ก็คงถูกปล้นสะดมไม่เหลือความมั่งคั่งด้วยศิลปวัฒนธรรมมาถึงทุกวันนี้แน่

ครั้นเผด็จศึกแล้ว พระเจ้าตากสินทรงพาทหารเข้าพักที่ค่ายบางกุ้ง ทรงประชุมเหล่าทหารหาญทั้งไทย-จีนให้มีความสามัคคีปรองดองเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความรักกันฉันญาติมิตร ตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท ตรัสว่า

“เนื้อต่อเนื้อไม่เอื้อเฟื้อเป็นเนื้อกลางป่า เนื้อใช่เนื้อได้เอื้อเฟื้อเป็นเนื้ออาตมา”

มีความหมายว่า คนที่เป็นญาติพี่น้องกัน ถ้ามิได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันก็เหมือนไม่ใช่ญาติ แต่คนที่มิใช่ญาติหากได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันก็เหมือนเป็นญาติสนิท

สงครามที่ค่ายบางกุ้งนี้ นอกจากจะทำให้ขวัญกำลังใจของคนไทยที่สูญสิ้นไปกลับคืนมาแล้ว ยังทำให้ชุมนุมต่างๆที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ยามแผ่นดินว่างกษัตริย์ ได้หันมายอมรับกองกำลังกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน รวมกันกลับมาสู่ความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพไปรบพม่าที่ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี เสด็จไปตามลำน้ำแม่กลอง ครั้นเสด็จผ่านค่ายบางกุ้งได้หยุดทัพพักเสวยพระกระยาหารกลางวันที่วัดกลางค่ายเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ก่อนเสด็จต่อไปราชบุรีเมื่อบ่ายโมงเศษ

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ค่ายบางกุ้งหมดความสำคัญลง ตัวค่ายและโบสถ์วัดบางกุ้งน้อยที่อยู่กลางค่ายถูกทิ้งร้างเกือบ ๒๐๐ ปี ทำให้ธรรมชาติมีเวลาสร้างสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นกับโบสถ์ คือพันธุ์ไม้ ๔ ชนิด มี โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง ได้อาศัยขึ้นบนหลังคา และแผ่รากกระจายไปตามฝาผนังเลื้อยลงถึงดิน ผนังโบสถ์ทั้ง ๔ ด้านจึงมีรากไม้ทั้ง ๔ ชนิดนี้เกาะรัดเหมือนตาข่าย ส่วนกิ่งใบก็ปกคลุมหลังคาจนร่มครึ้ม ตัวหลังคาก็ผุพังไปเหลือแต่โครงไม้บางส่วน

ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ นายอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เลือกค่ายบางกุ้งเป็นที่ตั้งค่ายลูกเสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยตั้งศาลเพื่อเป็นอนุสรณ์ไว้เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๑ ต่อมาค่ายลูกเสือนี้ได้ยุบเลิกไป ทางวัดบางกุ้งใหญ่จึงได้รวมอาณาเขตวัดบางกุ้งน้อยไว้เป็นอารามเดียวกัน และพัฒนาค่ายบางกุ้งให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้น ส่วนโบสถ์กลางค่ายซึ่งได้ชื่อว่า “โบสถ์ปรกโพธิ์” เป็นโบสถ์ก่ออิฐถือปูนกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๓ เมตร มีหน้าต่างด้านข้างด้านละ ๓ บาน มีประตูทางเข้าออกทางด้านหน้าประตูเดียว ส่วนภาพเขียนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาบนฝาผนัง ได้ถูกน้ำฝนที่รั่วเข้ามาจนภาพเลือนหายไปหมด จึงได้เทฝ้าเพดานเป็นคอนกรีตกันฝน เพราะไม่อาจซ่อมหลังคาได้ ต้องปล่อยให้อยู่ในสภาพผุพังเช่นเดิม

ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง ๒ เมตร นามว่า “หลวงพ่อนิลมณี” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อดำ” ประดิษฐานอยู่โดยไม่บุบสลาย

พระอธิการบุญผึ่ง อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ซึ่งเกิดที่บางกุ้ง ได้เล่าไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ ขณะที่ท่านมีอายุ ๘๑ ปีว่า ปู่ย่าตายายเล่ากันมาว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางกุ้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีข้าทาสบริวารมากมาย แต่จนเข้าวัยกลางคนแล้วก็ยังไม่มีบุตรสืบสกุล ฝ่ายภรรยามีจิตศรัทธาในพุทธศาสนา ปรารถนาจะฝากทรัพย์ไว้กับพระศาสนาเพื่อจะได้ติดตัวไปใช้ในชาติหน้า จึงได้สร้างวัดขึ้นที่บางกุ้ง ใกล้บ้านของตน เป็นวัดที่ใหญ่มากในสมัยนั้น

ต่อมาท่านเศรษฐีได้น้องสาวภรรยาเป็นภรรยาอีกคน หวังจะได้บุตรธิดาสืบมรดก แต่อยู่กินกันมาหลายปีก็ไม่มีบุตร ภรรยาคนใหม่ก็หวังจะฝากทรัพย์สมบัติไว้กับพระศาสนาเช่นกัน จึงสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งติดกับวัดบางกุ้งเดิม แต่มีขนาดเล็กกว่า จึงให้ชื่อว่า “วัดบางกุ้งน้อย”

ขณะนี้ค่ายบางกุ้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไม่น้อย โดยเฉพาะโบสถ์ปรกโพธิ์ที่อยู่กลางค่าย เป็นประติมากรรมธรรมชาติที่ไม่มีใครสร้างได้ นอกจากกาลเวลา

สงครามที่ค่ายบางกุ้ง แม้จะเป็นสงครามเล็กๆ ไม่ใหญ่โต แต่ก็มีความสำคัญต่อการกู้อิสรภาพของชาติไทยมาก ก็ด้วยสร้างขวัญกำลังใจในสงครามครั้งแรกนี้
 โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง ขึ้นปรกคุมด้านข้างโบสถ์จนถึงหลังคา
หลวงพ่อนิลมณี ประดิษฐานมาราว ๒๕๐ ปีไม่มีบุบสลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น