พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ ทรงศึกษาอยู่ในอังกฤษถึง ๙ ปี เริ่มต้นด้วยวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนเฮิสท์ เมื่อจบก็เข้ารับราชการในกรมทหารราบ “เบาเดอรัม” ของอังกฤษ ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมงกุฎราชกุมาร สิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธขึ้นแทน โดยอัญเชิญพระบรมราชโองการไปทำพิธีที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงทรงเข้ารับการศึกษาในวิชารัฐศาสตร์และอักษรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเพิ่มเติมอีก เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับการขึ้นครองราชย์
เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมา ก็ทรงเข้ารับตำแหน่งราชเลขานุการพระราชบิดา บางครั้งก็ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จไปนอกพระนคร ทรงทุ่มเทพระทัยอย่างหนักให้กับงานโดยไม่ข้องแวะสตรีนางใด ทั้งๆที่พระองค์ก็เป็นชายหนุ่มรูปงาม เป็นที่หมายปองของสตรีทั้งไทยและเทศ
ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ได้เล่าถึงรูปลักษณ์ของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธไว้ว่า
“...พระองค์ได้ทรงเสด็จกลับมายังประเทศชาติของพระองค์ในตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร ผู้ทรงลักษณ์ราวพระจันทร์ พระกิริยาอัชฌาสัยนั้นอ่อนหวาน นุ่มนวล เต็มไปด้วยความกรุณา แม้ผู้ไม่ชอบก็ยังกล่าวว่า “เอ เป็นยังไง ชอบกลจริง พอเห็นใกล้ๆแล้วที่แค้นขัดหัทยาก็หายไป...”
ส่วนจมื่นมานิตย์นเรศ ได้นำพระราชดำรัสเล่ามาถ่ายทอดไว้ว่า
“...บางคราวทรงเล่าถึงชีวิตทหารในอังกฤษว่า เมื่อทรงเป็นนายทหารใหม่ๆ เวลามีสวนสนามที่บริเวณไฮด์ปาร์ค ทรงแต่งพระองค์เต็มยศเครื่องสนาม ทรงสายสะพายสีเหลืองสด ทรงเป็นหนุ่มทั้งแท่ง ทรงคุยว่า ผู้หญิงฝรั่งติดกรอ คราวหนึ่งทรงนำทหารราบเบาเดอรัม พอถึงสี่แยกแห่งหนึ่งมีสุภาพสตรีอังกฤษถลันออกมาส่งช่อดอกไม้ให้ แล้วก็จูบพระองค์กลางสนามนั้นเอง พระองค์ทรงอายเกือบแย่ ตั้งแต่นั้นมาต้องทรงรับแขกผู้หญิงอังกฤษมิได้เว้น ต้องประทานเลี้ยงน้ำชาบ้าง ดินเนอร์บ้าง...”
เมื่อขึ้นครองราชย์ในวัย ๓๐ พรรษา บรรดาข้าราชบริพารและปวงชนชาวสยามก็ตั้งตารอคอยที่จะได้ชมบุญคู่ครองของพระมงกุฎเกล้าฯ จนเวลาผ่านไปถึง ๑๐ ปีหลังครองราชย์ เมื่อทรงคำนึงถึงเรื่องรัชทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ รักแรกของ ร .๖ จึงได้ปรากฏ
เนื่องจากทรงศึกษาอยู่ในยุโรปมาเป็นเวลานาน จึงทรงนิยมครอบครัวมีคู่ครองคนเดียวแบบชาวตะวันตก ทรงพระราชนิพนธ์ลงในหนังสือ “ดุสิตสมิธ” ใน คอลัมน์ “โคลนติดล้อ”ไว้ว่า เหตุที่ทำให้ประเทศชาติไม่เจริญรุดหน้าไปได้นั้น มีอยู่สาเหตุหนึ่งมาจากที่ผู้คนในประเทศนิยมมีเมียหลายคน แล้วให้ความอุปการะเลี้ยงดูไม่ทั่วถึง นอกจากจะทรงออกกฎหมายให้ผู้ชายมีคู่ครองได้เพียงคนเดียวแล้ว ยังทรงเริ่มที่ข้าราชบริพารและข้าราชการกองทับบก ให้จดทะเบียนภรรยาให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้ข้าราชการมีภรรยาหลายคน ทั้งพระองค์เองก็ทรงตั้งปณิธานที่จะมีมเหสีเพียงองค์เดียว แตกต่างจากรัชกาลก่อนๆ แต่ทว่าต้องทรงผิดหวังกับความรักครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จนนาทีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ก็ยังทรงผิดหวังในรัชทายาท
รักแรกของ ร.๖ เกิดขึ้นในงานประกวดภาพเขียนซึ่งโปรดให้จัดขึ้นในวังพญาไท ในปี ๒๔๖๓ ในงานนี้มีพระบรมวงศานุวงศ์และหนุ่มสาวในวงสังคมชั้นสูงของบางกอกมาชุมนุมกัน รวมทั้งท่านหญิง ๔ ใบเถา ของตระกูล “วรวรรณ” คือ “เตอะ ตอง แต๋ว ติ๋ว” พระธิดาของพระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่ง “ท่านหญิงตอง” ม.จ. ศรีสอางค์นฤมล และ “ท่านหญิงแต๋ว” ม.จ.บรรเจิดวรรณวรางค์ ได้ส่งภาพเข้าประกวดด้วย
กรมพระนราฯทรงเป็นเจ้านายกลุ่มทันสมัยของยุคนั้น นอกจากจะรับราชการแล้วยังทรงทำธุรกิจส่วนพระองค์อีกหลายอย่าง เช่นทำป่าไม้และบริษัทรถรางที่ตั้งมาแข่งกับบริษัทของฝรั่ง ทรงเป็นผู้คิดแบบละครร้องขึ้นโดยตั้งคณะละครปรีดาลัยซึ่งเป็นคณะละครที่โด่งดังที่สุดยุคนั้น หลายเรื่องที่แสดงก็ดัดแปลงมาจากนิยายต่างประเทศ ส่วนการเลี้ยงดูอบรมพระราชโอรสธิดาก็เป็นแบบสมัยใหม่ ให้ได้รับการศึกษาไม่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเหมือนผู้หญิงไทยโบราณ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ว่า
“...ไม่มีผู้หญิงไทยครอบครัวใดที่จะช่างคุยสนุกสนานเท่ากับองค์หญิงๆตระกูลวรวรรณ เท่าที่ข้าพเจ้าได้เคยพบมา”
ทั้งยังเล่าว่าท่านเป็นผู้ทูลกับ “ทูลหม่อมลุง” ในคืนประกวดภาพนั้นว่า อีกห้องหนึ่งกำลังมีการเล่นไพ่บริดจ์กัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเสด็จไปก็ทรงพบกับ “ท่านหญิงเตอะ” ม.จ. วรรณวิมล หรือที่บางทีก็เรียกกันว่า “ท่านหญิงขาว” ในวัย ๒๗ พรรษา ซึ่งมีคุณสมบัติของท่านหญิงตระกูลวรวรรณตามที่พระองค์จุลฯเล่า ทำให้ “หนุ่มนักเรียนนอก” อย่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสนพระทัยอย่างมาก หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีประกาศทำให้พสกนิกรตื่นเต้นดีใจกันไปทั้งประเทศว่า ทรงหมั้นกับ ม.จ.วรรณวิมล พร้อมกับได้พระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี
หลังจากนั้นก็มีประกาศติดตามออกมาอีกว่า
“...ทรงพระราชปรารภถึงงานที่จะได้ทำราชพิธีราชาภิเษกสมรสในภายหน้า และเวลานี้ให้กระทำพระราชพิธีหมั้นแล้ว เป็นการสมควรที่จะให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์นี้ชั้นหนึ่ง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าวัลลภาเทวี เป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ตั้งแต่นี้สืบไป”
พร้อมทั้งโปรดให้ย้ายที่ประทับจากวังวรวรรณที่แพร่งนรา ถนนตะนาว มาประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงเสด็จไปเสวยเครื่องว่างที่นั่นทุกวัน
ความรักครั้งแรกของ ร. ๖ นี้ดูจะสดชื่นรื่นพระราชหฤทัย นอกจากจะเสด็จไปเสวยเครื่องว่างที่พระตำหนักจิตรลดาทุกวันแล้ว ระหว่างทรงพระอักษรก็โทรศัพท์ถึงกันประจำ และงานใหญ่ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงเสด็จร่วมกับพระวรกัญญาปทาน ก็คืองานทำบุญวันประสูติครบ ๖๐ พรรษา “ท่านอา” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่วังบูรพาภิรมย์ ซึ่งพระองค์จุลฯทรงเล่าว่า
“...ทูลหม่อมลุงทรงทำแบบฝรั่งทุกประการ เช่นเวลาเสด็จขึ้นก็ทรงเอาฉลองพระองค์คลุมๆประทานพระองค์วัลลภาฯ ...”
ซึ่งการให้เกียรติสตรีเช่นนี้ นับเป็นภาพใหม่ของราชสำนักสยาม
ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ศกุนตลา” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ตอนความรักสดชื่นนี้ มีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
“นาฏะกะกลอนนี้ฉันมีจิต
ขออุทิศแด่มิ่งมารศรี
ผู้ยอดเสน่หานารี
วัลลภาเทวีคู่ชีวัน
ขอให้หล่อนรับพลีไมตรีสมาน
เป็นพยานความรักสมัครมั่น
เปรียบเหมือนแหวนแทนรักทุษยันต์
ให้จอมขวัญศกุลตลาไซร้
แต่ผิดกับตัวฉันไม่ลืมหล่อน
จนสาครเหือดแห้งไม่แรงไหล
จนตะวันเดือนดับลับโลกไป
จะรักจอดยอดใจจนวันตายฯ”
แต่หลังจากการหมั้นเพียง ๔ เดือน ขณะที่พสกนิการกำลังรอฟังการกำหนดวันอภิเษกสมรส ก็ต้องตกตลึงไปตามกัน เมื่อทรงประกาศถอนหมั้น และถอดพระยศ พระวรกัญญาปทานของพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี เหลือเพียงพระนาม พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทั้งยังทรงให้ย้ายออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานไปประทับในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งก็เท่ากับจำกัดเขตประทับ ไม่มีโอกาสได้เสด็จเข้าร่วมสังสรรค์สโมสรในงานสังคมอีก
ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศแต่เพียงสั้นๆ ว่า
“มีความเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทรงทราบตระหนักแน่ชัดว่า การจะไม่เป็นโดยเรียบร้อยสมพระราชประสงค์อันดีที่กล่าวมาแล้ว เพราะเหตุที่พระราชอัธยาศัยของพระวรกัญญาปทานมิได้ต้องกัน”
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าไว้ใน “เกิดวังปารุสก์” อีกว่า
“ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายที่ข้าพเจ้าอยู่ในลอนดอน มีข่าวสำคัญจากกรุงเทพฯ มีโทรเลขมายังสถานทูตว่า ทูลหม่อมลุงทรงเลิกหมั้นกับพระองค์วัลลภาฯ เพราะพระนิสัยไม่ตรงกันดี หนังสือพิมพ์อังกฤษได้พากันลงข่าวอย่างค่อนข้างเยาะเย้ย เจ้าคุณบุรีฯรักทูลหม่อมลุงอย่างดูดดื่มกตัญญูที่สุด น่าจะรู้สึกว่าทางฝรั่งได้ตื่นเต้นมามากเมื่อทรงหมั้น เพราะแถลงว่าจะมีพระมเหสีพระองค์เดียว การมีเจ้าจอมจะเป็นอันเลิก จะทำตามเมียคนเดียวอย่างฝรั่ง เมื่อทรงเลิกหมั้นน่ากลัวจะมีเรื่องราวอย่างอื่นต่อไป...”
สาเหตุของการถอนหมั้นครั้งนี้ไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีเรื่องซุบซิบกันถึงการไว้องค์ของพระวรกัญญาปทาน อย่างเช่นคราวเสด็จไปเฝ้าที่พระราชวังพญาไทครั้งหนึ่ง มหาดเล็กที่ได้รับการฝึกหัดให้ใช้ธรรมเนียมฝรั่ง จะเข้าไปรับพระหัตถ์ แต่พระวรกัญญาปทานทรงไม่ยอมให้สัมผัส เมื่อเรื่องไปถึงพระกรรณก็กลายเป็นว่าทรงสบัดพระหัตถ์แสดงอาการดูถูก ซึ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงกริ้วไม่พอพระทัย
ต่อมาทรงพระราชนิพนธ์ลงในหนังสือ “ดุสิตสมิต” มีข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า
“อย่าทะนงอวดองค์ว่างามเลิศ
สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้
อย่างทะนงอวดองค์ว่าวิไล
อันสุรางค์นางในยังมากมี
อย่างทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์
จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรี
นั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที
เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกา
อย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน
อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่า
อย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา
อันชายใดฤาจะกล้ามาง้องอน
พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีก็ทรงนิพนธ์อย่างแข็งกร้าวไว้เช่นเดียวกันว่า
“ทรงภพผู้ปิ่นโปรพฤาสาย
พระองค์เองสิไม่มียางอาย
พูดง่ายย้อนยอกกรอกคำ
มาหลอกลวงชมเล่นเสียเปล่าๆ
ทิ้งให้คอยสร้อยเศร้าทุกเช้าค่ำ
เด็ดดอกไม้มาดมชมจนช้ำ
ไม่ต้องจดต้องจำนำพา
เหมือนผู้ร้ายย่องเบาเข้าลักทรัพย์
กลัวเขาจับวิ่งปร๋อไม่รอหน้า
จงทรงพระเจริญเถิดพระราชา
ข้าขอลาไปแต่บัดนี้
พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ประทับอยู่ในวังหลวงจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯสวรรคต จึงออกมาประทับที่วังกรุณานิวาสน์ ถนนพิชัย จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๙๔ ขณะพระชนมายุได้ ๕๘ ปี
ในวันที่ทรงพบ “ท่านหญิงเตอะ” หม่อมเจ้าวรรณวิมล เป็นครั้งแรกในงานประกวดภาพที่วังพญาไทนั้น พระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงพบพระน้องนางต่างพระมารดาของหม่อมเจ้าหญิงวรวรรณวิมลด้วยอีกองค์หนึ่ง คือ “ท่านหญิงติ๋ว” หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ พระชันษา ๒๑ พรรษา และพร้อมๆกับที่ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าวรรณวิมลขึ้นเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามใหม่ให้หม่อมเจ้าวรรณพิมลเป็น “หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ” ด้วย
หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณนอกจากจะมีคุณสมบัติของ “ท่านหญิงตระกูลวรวรรณ” คือทันสมัย ฉลาด มีไหวพริบ คุยรู้เรื่องอย่างดีกับ “หนุ่มนักเรียนนอก” แล้ว ยังถ่ายทอดความเป็นศิลปินมาจากพระบิดา ในระหว่างที่พระวรกัญญาปทานยังเป็นพระคู่หมั้นอยู่นั้น ท่านหญิงติ๋วก็มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนมพระมหาธีรราชเจ้า และทรงรับบทนางเอกในละครจากบทพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง ทรงพอพระทัยเมื่อได้ทรงประจักษ์ในความสามารถด้านการแสดงอันเป็นศิลปะที่ทรงโปรด และเมื่อความขุ่นเคืองพระทัยในพระอัธยาศัยของพระวรกัญญาปทานเกิดขึ้น ความสนพระทัยในหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งความในพระทัยเรื่องนี้ได้ทรงระบายออกมาในเนื้อเพลงๆหนึ่งไว้ว่า
“ได้พิศโฉมประโลมจิตพิสมัย
ให้มีใจร้อนรักลักษมี
เสียดายเอยมิได้เชยชื่นฤดี
พะเอินมีกรรมขวางต้องห่างกัน”
นอกจากนี้ยังมีพระราชหัตถเลขาถึงท่านหญิงติ๋ว ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๖๓ มีความว่า
ถึงแม่ติ๋ว
พระยาประสิทธิ์เขาว่าเขาจะไปเยี่ยมเธอ ฉันจึงฝากจดหมายนี้มาเพื่อบอกให้ทราบตามความจริงว่า ฉันคิดถึงแม่ติ๋วจริงๆ เพราะภายใน ๓-๔ เดือนที่ล่วงมานี่แล้ว ได้เคยพบปะกันอยู่บ่อยๆ ได้คุยกันเล่นเป็นที่เพลิดเพลินเสมอๆ เมื่อกลับมาไม่ได้พบปะกันก็รู้สึกว่าขาดเพื่อนคุยไป และยังแลไม่เห็นด้วยว่าเมื่อไรจะได้พบกันอีก จึงทำให้รู้สึกเหี่ยวและคิดถึงจริงๆ
ส่วนเรื่องอะไรๆที่ได้มีมาบางเรื่อง ทำให้ฉันกลุ้มใจ แต่จะเล่ามาในจดหมายก็ไม่เหมาะ เพราะฉะนั้นขอให้ถามพระยาประสิทธิ์ดูดีกว่า เขาคงเล่าให้ฟังได้”
แต่หลังจากนั้นอีก ๓ วันก็ทรงได้พบกับหม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ เพราะในพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งทรงฉายคู่ในลักษณะสอดพระกรคล้องกับท่านหญิงติ๋วนั้น ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานว่า
“ให้แม่ติ๋วยอดชีวิตของโต ด้วยความรักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่ได้ชื่นใจมากที่สุดครั้งแรกในชีวิต คือวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓
แต่พี่ผู้คิดถึง
ราม ร.”
ทรงระบายความในพระราชหฤทัยเป็นบทกลอนอันซาบซึ้งถึงท่านหญิงติ๋วไว้ว่า
“นั่งคำนึงถึงน้องผู้ต้องจิต
แม่มิ่งมิตรยอดรักลักษมี
ความรักรุกทุกทิวาและราตรี
บ่ได้มีสร่างรักสักเวลา
ในกลางวันสุริยันแจ่มกระจ่าง
เป็นหน้าน้องฟ่องกลางหว่างเวหา
ยามราตรีพี่พินิจพิศนภา
ก็เห็นหน้าโฉมตรูอยู่แทนจันทร์
ถึงยามนอนพี่นอนถอนใจใหญ่
แว่วเสียงใสแว่วขยับขึ้นรับขวัญ
เห็นรูปนางข้างเตียงเคียงหมอนนั้น
หายโศกศัลย์นอนยิ้มกระหยิ่มใจ
เมื่อลมโชยโรยกลิ่นผกากรอง
มาถูกต้องนาสาพาฝันใฝ่
ถึงยามเมื่อประโลมโฉมอุไร
หอมชื่นใจยอดมิ่งยิ่งมาลี
นึกถึงตาวนิดาเมื่อแลจับ
นึกถึงโอษฐ์ยิ้มรับสำรวลพี่
นึกถึงแก้มนางแฉล้มราวสุรีย์
นึกถึงองค์ราวสำลีที่นิ่มนวล
เมื่อยามกอดยอดชีวิตติดอุรา
ชื่นนาสาสูดดอมกลิ่นหอมหวน
จุมพิตโอษฐ์ราวโภชนาชวน
ให้ลิ้มรสเสน่ห์ยวนเย้ากมล
เมื่อไรจูบลูบประโลมโฉมเฉลา
ก็ยิ่งให้ตระกองน้องอีกหน
ยิ่งเห็นยิ่งงามมากยิ่งอยากยล
ยิ่งได้เชยนฤมลยิ่งอยากเชย
ชมกลางวันมิทันจะสิ้นสรรพ
ตะวันลับล่วงทิวานิจจาเอ๋ย
ชมกลางคืนมิทันชื่นอุราเชย
เวลาเลยล่วงดึกนึกขัดใจ
ถึงวันยาวเท่ากับเดือนจึงเลื่อนลี้
ถึงเดือนยาวเท่ากับปีหนึ่งนี้ได้
ถึงปียาวเท่ากับร้อยฉนำไซร้
ก็ยังไม่นานพอเพื่อกรอรัก
ตลอดชาติมิขอคลาดเสน่ห์น้อง
ขอประคองเคียงคู่ผู้สมศักดิ์
ขอจุมพิตชิดอุรายุพาพักตร์
ขอจูบกอดยอดรักรื่นฤดี
ขอเอนเอียงองค์แอบอยู่แนบข้าง
ขอเชยคางพิศพักตร์ลักษมี
ขอแนบเนื้อนิ่มนวลยอดยวนยี
ขอสดับวาทีที่จับใจ
รักสมรย้อนคะนึงแสนซึ้งจิต
ที่คิดผิดมาแต่ก่อนถอนใจใหญ่
แม้นมิมัวหลงเลยเชยอื่นไป
ก็คงได้ชื่นอุรามานานวัน
ต่อแต่นี้ขออย่ามีจิตสงสัย
ไม่ขอไกลโฉมตรูผู้จอมขวัญ
ขอรักผูกรักสมัครกัน
จนกระทั่งชีวันพี่บรรลัยฯ”
ในเดือนมีนาคมนั้น ก็ทรงประกาศถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ต่อมาในวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ หลังวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายนแล้ว ก็ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ
ทรงให้เหตุผลว่า
“...บัดนี้ทรงพระราชวินิจฉัยแล้ว จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส ณ เบื้องหน้า จึงเป็นการสมควรที่จะยกย่องพระเกียรติยศยิ่งขึ้น...”
จากนั้นต่อมาในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๕ เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณมีพระชนมายุครบ ๒๓ พรรษา ก็ทรงประกาศยกย่องอีกครั้งขึ้นเป็น “พระนางเธอลักษมีลาวัณ”
ความรักครั้งที่ ๒ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เปี่ยมไปด้วยความสดชื่นแสนหวาน ไม่ได้หวานอมขมกลืนอย่างความรักครั้งแรก ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาเป็นบทกวีไปพระราชทานพระนางเธอลักษมีลาวัณเป็นประจำ นอกจากนี้ในพระบรมฉายาลักษณ์หนึ่งที่ได้พระราชทานแก่พระนางอันเป็นที่สุดเสน่หานั้น ได้ทรงจารึกพระราชหัตถเลขาไว้ว่า
“ให้แม่ติ๋วพร้อมด้วยดวงจิต ขอฝากชีวิตและความสุขไว้ด้วย”
พระนางเธอลักษมีลาวัณก็ทรงนิพนธ์กลอนตอบด้วยความหวานซึ้งเช่นกัน แต่ก็เหน็บแนมถึงชะตากรรมของพระพี่นางมาด้วยว่า
“อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้
หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต
อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด
ขอถวายไม่คิดขัดจำนง
อะไรเป็นความสำราญวานรับสั่ง
จะถวายได้ดังพระประสงค์
ขอแต่เพียงทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง
อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย”
ซึ่งพระมหาธีรราชเจ้าก็ทรงตอบเป็นกลอนหวานหยดย้อยว่า
“อันตัวหล่อนกล่าวกลอนฝากชีวาตม์
ฉันรับฝากใจสวาทไว้แม่นมั่น
ขอถนอมดวงจิตสนิทกัน
ด้วยชีวันยอมสละแลกหทัย
ถึงตัวไกลใจอยู่เป็นคู่ชม
ร่วมภิรมย์รักชิดพิสมัย
ถึงร่างกายวายวับดับชีพไป
ขอฝากใจจอดจู่อยู่แทนเอย”
แม้จะทรงเสน่หาพระนางเธอลักษมีลาวัณเพียงใด และไม่เคยได้ทำให้ทรงขุ่นเคืองพระราชหฤทัย แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งกว่าความรัก คือองค์รัชทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ ซึ่งพระนางเธอลักษมีลาวัณมิอาจสนองพระเดชพระคุณในเรื่องนี้ได้ ขณะเดียวกันพระอินทราณี พระสนมเอก ก็ทรงครรภ์ขึ้น พระนางเธอฯจึงทรงแยกพระองค์ออกมาประทับตามลำพัง เพื่อเปิดโอกาสให้พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีมเหสีใหม่ที่สามารถให้รัชทายาทได้ และเป็นไปตามที่ทรงตั้งปณิธานที่จะมีพระมเหสีเพียงองค์เดียว
พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงใช้ชีวิตอย่างสงบ นิพนธ์นวนิยายรวมทั้งแปลนิยายต่างประเทศลงนิตยสารต่างๆ และพิมพ์ออกสู่ตลาดหลายเล่ม กลายเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง นวนิยายที่ได้รับความนิยมสูงได้แก่ ชีวิตหวาม เรือนใจที่ไร้ค่า ยั่วรัก ภัยรักของจันจลา เสื่อมเสียงสาป เป็นต้น พระนางฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๔ ขณะมีพระชนมายุได้ ๖๒ พรรษา โดยถูกคนสวนปลงพระชนม์เพื่อชิงทรัพย์ ณ พระตำหนักลักษมีวิลาศ สี่แยกพญาไท
พระอินทราณี เป็นสามัญชนมีพระนามเดิมว่า นางสาวประไพ สุจริตกุล เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ซึ่งบิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายในเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ขณะที่มีอายุ ๑๙ ปี น.ส.ประไพเป็นผู้ที่มีใจรักทางด้านศิลปินเช่นกัน เมื่อโปรดให้แสดงเป็นนางเอกในละครเรื่อง “เสือเฒ่า” ก็แสดงได้ดีเป็นที่พอพระราชหฤทัย ต่อมาจึงได้รับการสถาปนาเป็น “พระอินทราณี พระสนมเอก” เมื่อทำพิธีอภิเษกสมรสในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๖๔ หลังจากนั้นก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น “พระวรราชชายาเธอ พระนางอินทรศักดิ์ศจี” จนกระทั่งในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๕ ก็ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศว่า
“พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระวรราชชายาเธอ พระนางอินทรศักดิ์ศจี ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาโดยซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า จะทรงสถาปนายกย่องขึ้นให้มีพระอิสริยยศสูงในตำแหน่งพระราชินีก็ควรแล้ว
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศพระวรราชชายาเธอพระนางอินทรศักดิ์ศจี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทศักดิ์ศจี พระบรมราชินี.....”
เป็นที่เปิดเผยว่า เหตุที่ทรงสถาปนาพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีขึ้นดำรงตำแหน่งพระบรมราชินีก็ด้วยทรงครรภ์ ซึ่งจะทำให้พระราชโอรสที่ประสูติมามีศักดิ์ศรีคู่ควรแก่ตำแหน่งรัชทายาท
แต่ทว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีฯ ก็มิอาจรักษาพระครรภ์ได้ครบกำหนด ทรงตกเลือดเสียในระยะต้นๆ ความหวังที่จะมีพระราชโอรสสืบราชบัลลังก์จึงดับวูบลง แม้สมเด็จพระนางเจ้าฯจะทรงครรภ์อีกครั้งก็ไม่ครบทศมาสเช่นเคย
ในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๖๘ จึงประกาศเปลี่ยนพระนาม สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา
สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ ขณะพระชนมายุได้ ๗๒ พรรษา
พร้อมๆ กับการถวายตัวของคุณประไพ สุจริตกุล หรือสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ทรงสู่ขอพี่สาวคนโตของคุณประไพ ที่ชื่อ “เปรื่อง สุจริตกุล” จากเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีด้วย และโปรดเกล้าฯ เป็น “พระสุจริตสุดา” ตำแหน่งสนมเอก ทรงประกอบพระราชพิธีสมรสตามแบบตะวันตก โปรดเกล้าฯ ให้พระสุจริตสุดา แต่งชุดเจ้าสาวแบบเสื้อและกระโปรงสีขาวทั้งชุด มีผ้าโปร่งสีขาวคลุมศีรษะประดับดอกส้ม และถือช่อดอกไม้ ในงานนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำของชำร่วยเป็นเหรียญห้อยคอรูปหัวใจ ห่วงที่ห้อยเป็นรูปเพชราวุธ เครื่องหมายประจำพระองค์ ด้านหน้าลงยาสีขาวมีพระบรมนามาภิไธยย่อ “ราม ร.” และ “สุจริตสุดา” ส่วนด้านหลังลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ พระราชทานแก่ผู้มาร่วมพิธี
พระสุจริตสุดามีความสามารถทางด้านการแสดงและดนตรีตามพระราชนิยม ในปลายปี ๒๔๖๔ นั้นทรงจัดแสดงละครพูดสลับรำเรื่อง “วิวาห์พระสมุทร” ที่พระราชวังสนามจันทร์ โปรดเกล้าฯ ให้พระสุจริตสุดารับบทเป็น “แมรี่” พี่เลี้ยงชาวอังกฤษ ร้องเพลงคู่หลายเพลงกับพระองค์ ซึ่งแสดงเป็น “นายนาวาเอกไลออนส์” นายทหารเรืออังกฤษ
พยานหลักฐานอีกอย่างที่แสดงให้เห็นความรักของพระมหาธีรราชเจ้าต่อพระสุจริตสุดา ก็คือลายพระราชหัตถเลขาที่ทรงสลักหลังพระบรมฉายาลักษณ์ พระราชทานไว้ว่า
“ให้เปรื่องเมียรักไว้ดูแทนตัวยามจากกันเป็นครั้งคราว”
กับอีกภาพที่ทรงชุดจอมพลเรือ จารึกไว้ว่า
“ให้เปรื่องเมียชื่นใจ”
แต่อย่างไรก็ตาม พระสุจริตสุดาก็ไม่อาจสนองพระราชประสงค์ในเรื่องรัชทายาทได้อีกเช่นกัน จึงจำต้องถอยห่างออกมาเพื่อเปิดทางให้พระองค์มุ่งมั่นในพระราชกรณีกิจสำคัญนี้ต่อไป
พระสุจริตสุดามีชีวิตยืนยาว จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถในรัชกาลปัจจุบัน พระราชทานที่พักอาศัยและค่าใช้จ่ายต่างๆ จนถึงอนิจกรรมในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๒๕ ขณะมีอายุได้ ๘๖ ปีเศษ
ต่อมาในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรสกับผู้ซึ่งเป็นคู่ครองคนใหม่ คือ เจ้าจอมสุวัทนา
เจ้าจอมสุวัทนามีพระนามเดิมว่า เครือแก้ว อภัยวงศ์ หรือ “คุณติ๋ว” เป็นธิดาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (เลื่อน อภัยวงศ์) กับท่านผู้หญิงเล็ก จากตระกูลบุนนาค ได้รับการอบรมในพระบรมมหาราชวังจากท่านยาย คือ ท้าวศรีสุนทรนาฏ ผู้ดูแลกรมมหรสพฝ่ายใน จึงมีความสามารถในการแสดงละครเป็นอย่างดี และได้มีโอกาสแสดงละครเรื่อง “พระร่วง” ซึ่งจัดขึ้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ชะอำ โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงแสดงเป็น “นายมั่นปืนยาว”
หลังจากการแสดงละครเรื่องนี้แล้ว ในเดือนกันยายน ๒๔๖๗ นั้น นางสาวเครือแก้ว อภัยวงศ์ ก็ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “สุวัทนา” จนกระทั่งในวันที่ ๑๐ สิงหาคมต่อมา เจ้าพระยาธรรมาธิกรบดี เสนาบดีกระทรวงวัง จึงได้อ่านประกาศสถาปนาขึ้นเป็น “เจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก” พร้อมทั้งจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานน้ำสังข์และทรงเจิม พระราชทานสวมพระธำมรงค์ พร้อมเครื่องยศตามจารีตประเพณี จากนั้นก็คล้องพระหัตถ์เจ้าจอมสุวัทนาพระราชดำเนินลอดซุ้มกระบี่ราชองค์รักษ์ พร้อมด้วยเสือป่าหลวงรักษาพระองค์รวม ๘๔ นาย ที่เปล่งเสียงไชโยพร้อมกัน เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธปฏิมา
ในวันครบรอบวันอภิเษกสมรสปีต่อมา ขณะที่เจ้าจอมสุวัทนาทรงครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น “พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี”
ความหวังที่จะได้รัชทายาทใกล้เข้ามาเมื่อพระนางเจ้าสุวัทนาทรงครรภ์ใกล้กำหนดประสูติ และพระมหาธีราชเจ้าก็ทรงพระราชทานพระนามพระกุมารไว้ล่วงหน้า ทั้งพระนามพระราชโอรสพระราชธิดา แต่แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ทรงประชวรหนัก จนในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ คณะแพทย์ได้ประชุมลงความเห็นว่าพระอาการมีแต่ทรุด จำจะต้องผ่าตัดพระอุทรข้างขวา ซึ่งเคยผ่าตัดมาแล้วขณะทรงศึกษาที่อังกฤษ แต่ในกลางดึกคืนนั้นพระอาการปวดก็กำเริบขึ้นอีก นายแพทย์เมนเดลสัน ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันถูกตามตัวมาด่วน และเมื่อเห็นพระอาการเพียบหนักถึงกับหมดสติ ก็ลงความเห็นว่าพระกำลังไม่พอจะทำการวางยาสลบได้แล้ว จะต้องผ่าตัดโดยวิธีให้น้ำเกลือเท่านั้น คณะแพทย์จึงต้องเลือกวิธีนี้
หลังผ่าตัดแล้วพระอาการก็ไม่ดีขึ้น แต่แล้วในคืนวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนขณะที่พระอาการกำลังเพียบหนัก เสียงพิณพาทย์หลวงก็ประโคมขึ้นต้อนรับการประสูติของพระราชธิดา แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปกราบทูลว่าเป็นพระราชธิดา จนเมื่อคณะแพทย์ลงความเห็นว่าพระชนม์ชีพคงจะไม่ยืนยาวเกิน ๒๔ ชั่วโมงแล้ว พระยาอัศวินอำนวยเวทย์ หรือหมออัลฟอง แพทย์หลวงได้เข้าไปกระซิบกราบทูลให้ทรงทราบการประสูติและทูลถามว่า
“Your Majesty, do you want to see your baby?”
“Yes, sure” รับสั่งด้วยเสียงอ่อนพระกำลัง
เมื่อเจ้าพระยารามราฆพอัญเชิญพระราชธิดาเข้าไปยังพระที่ มีพระราชดำรัสถามว่าเป็นชายหรือหญิง เจ้าพระยารามฯกราบบังคมทูลว่าเป็นหญิง ก็ทรงนิ่งอึ้งอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะรับสั่งว่า
“ก็ดีเหมือนกัน มิน่าเล่าถึงไม่ได้ยินเสียงปืน”
ทรงพยายามที่จะยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ไม่มีพระกำลังจะยกได้ เจ้าพระยารามฯจึงยกพระหัตถ์ขึ้นวางบนพระอุระของพระราชธิดาครู่หนึ่งขณะที่น้ำพระเนตรไหลเอ่อล้น จนล่วงเข้าวันใหม่ของคืนวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ในเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ขณะพระชนมพรรษาได้ ๔๖ พรรษา
หลังจากสิ้นรัชกาลแล้ว พระนางเจ้าสุวัทนาฯได้นำพระราชธิดาซึ่งพระราชบิดาพระราชทานพระนามไว้ล่วงหน้าว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี” ออกจากพระบรมมหาราชวังมาประทับที่ตำหนักสวนหงส์ ในพระราชวังดุสิต ก่อนที่จะย้ายไปประทับที่วังสระปทุม และสวนรื่นฤดี จนปี ๒๔๘๐ จึงได้นำพระราชธิดาซึ่งทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์แข็งแรงนัก ไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษยาวนานถึง ๒๒ ปี จึงกลับประเทศไทย
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๘ ขณะพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะปฏิวัติพระราชนิยมอย่างแต่ก่อนในเรื่องมเหสีและพระสนม โดยจะทรงมีคู่ครองเพียงองค์เดียวตามธรรมเนียมตะวันตก แต่พระองค์ก็ทรงเป็นราชันผู้อาภัพในด้านรัชทายาท ทรงพยายามในพระราชกรณียกิจสำคัญและยิ่งใหญ่นี้ก็ไม่เป็นผล แม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพก็ยังทรงต้องผิดหวังกับเรื่องนี้ แต่พระองค์ก็ทรงสร้างพระราชกรณียกิจเป็นมรดกตกทอดให้ชาติไทยไว้มากมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เกิดจากพระปรีชาสามารถของพระองค์โดยแท้