ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยถูกคุกคามจากชาติตะวันตกด้วยลัทธิอาณานิคม และยิ่งหนักขึ้นจนแทบจะเอาตัวไม่รอดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำให้คนไทยหวาดระแวงไม่ไว้ใจคนต่างชาติ เลยเกี่ยวพันมาถึงความรักด้วย เกรงจะเป็นภัยต่อความมั่นคงถ้าไปแต่งงานกับ “นางต่างด้าว” พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการซึ่งมีส่วนใกล้ชิดกับความลับของชาติ จึงถูกสั่งห้าม หรือจะต้องพิจารณากันเป็นพิเศษ อีกทั้งการแต่งงานกับคนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก ยังไม่ต้องด้วยประเพณี
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระปรีชากลการ (สำอาง) ไปแต่งงานกับ แฟนนี่ น็อกซ์ ธิดาคนโตของโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำสยาม โดยไม่ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามระเบียบราชการ ขณะเดียวกัน พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ ทรงมีพระประสงค์จะแต่งงานกับ แคโลไลน์ น็อกซ์ ธิดาคนเล็กของกงสุลอังกฤษอีกราย ซึ่งเสนาบดีและสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เห็นชอบ เพื่อจะได้ผูกสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้น เพียงแต่ต้องทำตามระเบียบเท่านั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ไม่ทรงขัด แต่ทรงมีข้อแม้ โดยมีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า
“...ฉันต้องขอเจ้าคุณแลท่านเสนาบดีช่วยตริตรองการซึ่งฉันจะว่าไปข้างล่าง เพื่อจะรักษาอำนาจแลป้องกันอันตรายต่อแผ่นดินในคราวนี้แลการต่อไปภายหน้า ให้ตกลงตลอดไปได้ตามที่ฉันคิดก่อน ฉันจึงยอมรับให้แต่งงานกันได้
ข้อ ๑. เจ้าก็ดีขุนนางก็ดี จะแต่งงานกับคนต่างประเทศ ต้องแจ้งให้ฉันแลท่านเสนาบดีทราบก่อน เมื่อฉันแลเสนาบดีเห็นว่าไม่เป็นการขัดข้องด้วยการแผ่นดิน ยอมให้แต่งงานกันจึงแต่งได้ ถ้าเห็นเป็นการขัดข้องจะห้ามเสียก็ห้ามได้
ข้อ ๒. เจ้าก็ดีขุนนางก็ดี แม้ว่าจะแต่งงานกับคนต่างประเทศแล้ว ได้รับราชการอยู่ตำแหน่งใด ต้องออกจากราชการในตำแหน่งที่ตัวได้ว่า ถ้าเป็นเจ้านาย ยศซึ่งเป็นเจ้าแลผลประโยชน์ส่วนตัวที่เป็นเจ้าของนั้น ยังคงอยู่ แลต้องประพฤติตามประเพณีเจ้านาย คือเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินได้ตามบรรดาศักดิ์ แลต้องผูกพันราชการกะเกณฑ์ตามธรรมเนียมเจ้านาย แลจะไปไหนนอกเขตรกรุงเทพฯ ต้องทูลตามธรรมเนียมเจ้านายทั้งปวงเป็นต้น แต่ผลประโยชน์ซึ่งได้ด้วยรับราชการต้องเป็นขาด ถ้าเป็นขุนนางต้องออกจากยศบรรดาศักดิ์ทีเดียว ผลประโยชน์เป็นขาดหมด
ข้อ ๓. เจ้าแลขุนนางแต่งงานกับคนต่างประเทศแล้ว ต้องคงเป็นสัปเยกส์สยามอยู่ตามเดิม ภรรยาที่แต่งงานด้วย หรือบุตรหญิงชายที่มีด้วยกัน ต้องเป็นสัปเยกส์สยามทั้งสิ้น ถ้ามีความผิดอันใด ต้องคงรับโทษตามกฎหมายอย่างสยามทุกอย่าง
ความสามข้อนี้ จะต้องตั้งเป็นกฎหมายสำหรับแผ่นดินเหมือนหนึ่งกฎหมายสัญญาปับลิก สัญญาไปรเวท ซึ่งได้ตั้งไว้แล้ว ต้องให้กงสุลต่างประเทศทราบด้วย ฉันเห็นการดังนี้เห็นว่าจะบังคับไปได้ตลอด ด้วยประเพณีบ้านเมืองอื่นๆก็มีอยู่ด้วยกันโดยมาก ขอให้เจ้าคุณแลท่านเสนาบดีตริตรองดูเถิด ควรจะเพิ่มเติมแก้ไขประการใดบ้างก็ตาม ถ้าการนี้พูดไปไม่ตลอด ฉันจะยังยอมไม่ได้”
พระองค์กมลาสเลอสรรค์เลยเปลี่ยนพระทัย เลิกคิดจะเป็นลูกเขยกงสุลอังกฤษ
ต่อมาเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทรงศึกษาวิชาทหารที่ประเทศรัสเซียถึง ๘ ปี ได้ทรงพบรัก นางสาวแคทริน เนสนิตสกี้ ธิดาวัย ๑๘ ปี ของอธิบดีศาลมณฑลลุตช์ และได้ทรงแต่งงานกันอย่างเงียบๆ ไม่กล้าขอพระบรมราชานุญาต เพราะเกรงว่าหากไม่ได้รับพระราชทาน ก็จะไม่มีโอกาสได้แต่งงานกัน เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาต้องพาชายาแหม่มกลับมาด้วย จึงไม่กล้าพาเข้ามาในประเทศ ให้หม่อมแคทรินหลบอยู่ที่สิงคโปร์ก่อนเพื่อดูท่าทีของพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี แต่ความลับก็ซ่อนไว้ไม่อยู่ มีข่าวลือมาถึงกรุงเทพฯว่า มีแหม่มสาวสวยผู้หนึ่งใช้นามว่า “มาดาม เดอ พิษณุโลก” พักอยู่ที่สิงคโปร์
เมื่อเรื่องถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงทรงเรียกพระราชโอรสมาถาม ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ทรงรับสารภาพ ทำให้พระราชบิดาเสียพระราชหฤทัยมาก ส่วนพระราชมารดาถึงกับกริ้ว แต่เมื่อความลับถูกเปิดเผยแล้ว เจ้าฟ้าจักรพงษ์จึงโปรดให้หม่อมแคทรินเดินทางเข้ามาอยู่ด้วยกันที่วังปารุสกวัน และเก็บตัวเงียบไม่ออกสมาคม
ระหว่างเก็บตัวนี้ หม่อมสาวรัสเซียต้องทนกับความว้าเหว่เงียบเหงา เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ต้องเสด็จไปทรงงานที่กระทรวงทุกวัน จึงใช้โอกาสนี้ร่ำเรียนภาษาไทยและธรรมเนียมราชสำนัก จนสามารถพูดภาษาไทยและหมอบคลานไม่เคอะเขิน ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสองค์เดียวของเจ้าฟ้าจักพงษ์ที่ประสูติจากหม่อมคัทริน ได้เล่าไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ตอนหนึ่งว่า
“ย่าได้เสด็จมาเยี่ยมพ่อที่วังปารุสก์บ่อยๆ แต่พ่อก็ได้ให้แม่แอบเสียทุกๆคราว วันหนึ่งเจ้านายผู้หญิงที่ตามเสด็จย่ามาด้วย ได้ทูลออกความเห็นว่าควรให้แม่เข้าเฝ้าได้แล้ว ย่าก็ตกลงทรงเห็นด้วย ตรัสบอกพ่อให้พาแม่เข้ามาเฝ้า มีท่านสุภาพสตรีอาวุโสท่านหนึ่งที่เคยมีตำแหน่งสูงในวัง ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า บรรดาเจ้านายและสตรีชั้นสูงที่ตามเสด็จมา ก็พากันซุบซิบหัวร่อต่อกระซิก คิดว่าแม่จะเข้ามาทำท่าเป็นฝรั่งเก้ๆกังๆไม่ถูกแบบแผนต่างๆ ทั้งนี้เพราะไม่ทราบว่าแม่ได้แอบเรียนการหมอบกราบและคลานมานานแล้ว ฉะนั้นเมื่อพ่อนำแม่เข้ามาในที่เฝ้า แม่ก็คลานและหมอบกราบอย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัยย่าอย่างยิ่ง และย่าได้โปรดลูกสะใภ้ของท่านตั้งแต่บัดนั้นมา...”
แม้จะชนะพระราชหฤทัยสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ แต่พระบรมราชชนกแม้ไม่ทรงรับอย่างเปิดเผย แต่ก็ไม่ทรงปฏิเสธแล้ว ต่อมาหม่อมคัทรินก็ให้กำเนิดโอรสเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ทั้งยังเป็นหลานย่าคนเดียวของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีด้วย ซึ่งทำให้ทรงโปรดปรานอย่างมาก ส่วนพระบรมราชชนกยังคงซ่อนความรักความเอ็นดูไว้ในพระราชหฤทัย และครั้งหนึ่งรับสั่งทูลกระหม่อมจักรพงษ์ว่า โอรสนั้นควรจะมียศอย่างไรดี ซึ่งตามปกติบิดาเป็นเจ้าฟ้า มารดาเป็นสามัญชน พระโอรสควรเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า” แต่ในกรณีนี้พระมารดาเป็นคนต่างชาติ ซึ่งยังไม่เคยมีกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทูลตอบว่า
“ให้มันเป็นมิสเตอร์เฉยๆก็ได้”
ในที่สุดก็ไม่มีการกำหนดฐานันดรพระโอรสจากสะใภ้แหม่มอย่างเป็นทางการ จนตลอดรัชกาล
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดี ได้มีหนังสือเวียนไปถึงสถานทูตไทย ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๗ มีความว่า
“ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯให้มาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรด ที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์ไปแต่งงานกับชนต่างประเทศโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต เพราะเหตุที่พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโดยพระราชทานพระบรมราชูปัตถัมภ์เป็นพิเศษ จึงทรงถือเอาเกียรติยศซึ่งทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งราชสกุลปัตถัมภ์ แสดงพระราชนิยมห้ามไว้ว่า อย่าให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า ลงไปถึงหม่อมเจ้า อันเสด็จประทับอยู่ในเมืองต่างประเทศ ไปแต่งงานกับชนชาวต่างประเทศก่อนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถ้าท่านพระองค์ใดฝ่าฝืนขืนกระทำผิดต่อพระราชนิยมนี้ จะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ มีการขังไว้ที่กรมสนมพลเรือนเป็นอย่างเบา ให้ท่านราชทูตแจ้งกระแสพระราชนิยมนี้ถวายให้ทรงทราบทั่วกัน แล้วให้ท่านราชทูตคอยสอดแนมฟังระแคะระคายดู ถ้าได้เค้าเงื่อนว่าพระองค์ใดมีพระประสงค์จะแต่งงานกับชนชาวต่างประเทศแล้ว ก็ให้เชิญเสด็จมาถวายคำชี้แจง ตักเตือนให้กลับพระทัยเสีย แลถ้าเห็นจะทรงมิเชื่อฟัง ก็ให้ท่านราชทูตมีอำนาจจัดการส่งเสด็จกลับมาเสียก่อน อย่าให้ทันแต่งงานได้ ฤาถ้าทรงรีบแต่งงานเสียแล้ว ก็รีบส่งเสด็จกลับมาทันที แล้วจึงมีรายงานละเอียดมาทูลเกล้าฯถวายภายหลัง”
ถึงแม้ในหนังสือฉบับนี้ไม่ได้ระบุข้าราชการไว้ด้วย แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ข้าราชการอยู่ในกฎกติกานี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว จึงมีข้าราชการที่อยู่ในต่างประเทศ และประสงค์จะแต่งงานกับชาวต่างประเทศ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตหลายราย เช่น
กระทรวงธรรมการ โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดี ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๑ ถึงพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ราชเลขาธิการ แจ้งว่า นายเรี่ยม บุตรเลี้ยงพระประดิษฐ์ไพเราะ นักเรียนทุนกระทรวงธรรมการที่ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส เวลานี้อายุ ๒๗ ปีเรียนจบแล้ว อัครราชทูตให้ช่วยงานในสถานทูตชั่วคราว ขอแต่งงานกับหญิงฝรั่งเศสที่อ้างว่ามีความรู้ดี บิดาทำงานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ได้เขียนจดหมายมาถึงบิดาเลี้ยงว่า ถ้าไม่ได้แต่งงานก็จะไม่กลับไทย เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้แสดงความเห็นมาในหนังสือฉบับนี้ด้วยว่า ผู้ชายก็มีอายุเข้าขั้นผู้ใหญ่ พอมีความคิดจะรักษาตัวได้ ถ้าผู้หญิงเป็นคนดีมีความรู้ ก็น่าจะอนุญาตให้แต่งงานกัน ดีกว่าปล่อยให้กระวนกระวานที่ไม่ได้แต่งงาน ซึ่งอาจทำให้เสียคนได้ ทั้งจะได้ผู้หญิงมาเป็นครูในกรุงเทพฯ เป็นประโยชน์แก่ราชการ และเป็นการช่วยแรงกันทั้งสองผัวเมีย
ต่อมาในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ก็ได้รับหนังสือตอบจากสำนักราชเลขาธิการว่า
“...เจ้าคุณเห็นควรอนุญาตได้นั้น ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทราบฝ่าพระบาท โปรดประทานพระอนุญาตแล้ว”
อีกราย นายบุญเหลือ ติรัณ นักเรียนผู้ช่วยทูตกรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ค ได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ขอแต่งงานกับผู้หญิงเยอรมัน
นายบุญเหลือเป็นบุตรของนายเอ็ดมันด์ เตรล กับนางจำปา เกิดที่กุฎีจีน และเป็นหลานปู่ของนาวาเอกเตรล ซึ่งรับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ปู่และบิดาเสียชีวิตแล้ว นามสกุลที่ใช้สมเสด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯก็ทรงตั้งให้
นายบุญเหลือรับราชการครั้งแรก ออกไปเป็นล่ามในพิธีพระศพพระเจ้าจักรพรรดิญี่ปุ่นในปี พ.ศ.๒๔๕๕ และเข้าประจำสถานทูตสยามที่กรุงโตเกียว ในตำแหน่งนักเรียนผู้ช่วยทูตชั้น ๒ เป็นเวลา ๑ ปี ก็ถูกส่งไปเป็นนักเรียนผู้ช่วยทูตชั้น ๑ ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันอีก ๔ ปี สยามก็ประกาศสงครามกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ สถานทูตสยามได้ย้ายไปที่กรุงโคเป็นฮาเกนอีก ๓ ปีขณะอยู่ที่กรุงเบอร์ลินได้คบหากับครอบครัวชาคส์ และรักใคร่กับนางสาวฟริทซี่ ชาคส์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๐ จะขอพระบรมราชานุญาตแต่งงานก็พอดีเกิดสงคราม จึงได้รอมา
นายบุญเหลือ ตืรัณ ได้กราบทูลมาในจดหมายว่า การที่กราบทูลมาในครั้งนี้ ก็โดยมีความประสงค์จะมีครอบครัวเป็นหลักฐาน เพราะเป็นกำพร้าตัวคนเดียว ปราศจากบิดามารดาตั้งแต่ยังเยาว์ อายุ ๒๘ ควรจะมีเหย้าเรือน อีกประการหนึ่ง นางสาวชาคส์อยู่ในครอบครัวที่มีหลักฐานอันจะกิน และมีนิสัยไม่เหมือนคนเยอรมันอื่นๆ ถ้าได้มาอยู่เป็นสามีภรรยากันจะเป็นกำลังแก่ตน แม้จะมีเงินเดือนน้อยก็คงเลี้ยงดูกันได้ไม่เสียเกียรติยศ
“อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกชัดว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้นางสาวชาคส์มาอยู่ด้วยกันกับข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าคงไม่มีความสุขในใจตลอดชีวิต” นายบุญเหลือคร่ำครวญมาในจดหมาย
รายนี้ ราชเลขาธิการตอบมาในวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๓ ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาต
อีกราย นายวงศ์ โชติกเสถียร ผู้ช่วยทูตชั้น ๒ สถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอน บุตรพระสรรพกิจปรีชา บิดาได้พาเข้าถวายตัวตั้งแต่ยังเยาว์และพาไปอยู่ต่างประเทศ ได้กราบบังคมทูลขอแต่งงานกับนางสาวเจน เพจ บุตรนายอีมิล อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแคนเนส อ้างว่า
“...นางสาวผู้นี้ได้สัญญาจะร่วมทางดำเนินแห่งชีวิตกับข้าพระพุทธเจ้าในฐานะภรรยา...”
ราชเลขาธิการตอบมาในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๕ ว่า พระราชทานพระบรมราชานุญาตเช่นกัน
ต่อมาสถานทูตสยามที่กรุงเฮก ประเทศเบลเยี่ยม มีหนังสือลงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๘ กราบบังคมทูลมาว่า นายจอน โชติกเสถียร เลขานุการทูต จะขอแต่งงานกับนางสาวเกอริต บิลเลียต ชาวเบลเยี่ยม เรื่องนี้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาพิจารณา ทรงดำริว่า
“เรื่องที่ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศจะทำการสมรสกับหญิงฝรั่งนี้ ไม่เป็นของที่พึงประสงค์นัก เพราะทั้งฝรั่งและไทยก็ย่อมรู้สึกรังเกียจอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อทำการสมรสกันแล้ว อาจทำให้การเข้าสมาคมกับฝรั่งเป็นการติดขัดบ้างก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมจะเป็นการตัดหนทางที่จะทำราชการในตำแหน่งสูง เช่นราชทูตก็อาจเป็นได้ จึงเห็นควรตักเตือนไปเช่นนี้ แต่ถ้ายังประสงค์จะทำการสมรสให้จงได้ ก็ต้องอนุญาต เพราะไม่มีข้อใดที่จะยกขึ้นขัดขวางได้”
แต่อีกราย เลขานุการชั้น ๓ สถานทูตสยามประจำกรุงปารีส ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่งงานกับสาวฝรั่งเศส อ้างว่า “ได้เกิดเหตุบังเอิญ” ขึ้นเมื่อ ๒-๓ เดือนมานี้ พ่อแม่ผู้หญิงซึ่งมีหน้ามีตาในสังคมกำลังร้อนใจมาก ใคร่จะให้รีบทำการสมรสเสียโดยเร็ว มิฉะนั้นครอบครัวเขาจะได้รับความเสียหายมาก
เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเกิดเหตุจำเป็นขึ้นก็ต้องอนุญาต แต่เห็นว่าควรย้ายข้าราชการผู้นี้ออกจากสถานทูต เพื่อให้รู้สึกว่ามีโทษบ้างไม่มากก็น้อย
จะเห็นได้ว่า พระราชนิยมเมื่อต้นรัชกาลนั้นต่อมาก็มิได้ทรงเข้มงวด และเมื่อตอนที่ขึ้นครองราชย์ ก็ทรงประกาศรับรองการเสกสมรสของพระอนุชากับหม่อมคัทริน ทรงแต่งตั้งให้เป็นสะใภ้หลวงอย่างเป็นทางการ โปรดให้เรียกว่า “หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก” พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ส่วนพระนัดดาก็พระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์” และต่อมาก็เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์” ให้หมดเรื่องที่คั่งค้างมาแต่รัชกาลที่ ๕
ในรัชกาลนี้ ยังมีสะใภ้หลวงเป็นแหม่มอีกราย ก็คือ “หม่อมอลิซาเบธ รังสิต” ชายาในสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระอนุชาอีกองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้นมา เมื่อลัทธิอาณานิคมล่มสลาย ความหวาดระแวงในชาวตะวันตกก็หายไป กำแพงของความรักจึงถูกทลายไปด้วย การมีสะใภ้หลวงเป็นแหม่ม หรือข้าราชการแต่งงานกับแหม่ม จึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่กระนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ส่วนใหญ่ ก็ยังคงยึดถือธรรมเนียมประเพณีเดิม ที่ไม่นิยมแต่งงานกับคนต่างชาติ