xs
xsm
sm
md
lg

จากเจ้าแม่เครื่องเพชร สู่ผู้ละกิเลสในโลกฆราวาส “อัจฉราวดี วงศ์สกล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุดยอดชีวิตและมุมมองความคิดของอดีตดีไซเนอร์เครื่องเพชรระดับท็อป ผู้ละวางความมั่งคั่งหรูหรา มุ่งหน้าสู่วิถีแห่งธรรม “อัจฉราวดี วงศ์สกล” เจ้าของวาทะเด็ด “ไม่ใช่ตุ๊กตาลูกเทพ แต่เป็นตุ๊กตาผี”

หากเอ่ยชื่อ “อัจฉราวดี วงศ์สกล” เด็กรุ่นใหม่หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่เส้นทางสายธรรมคงอาจจะไม่คุ้นเท่าไรนัก แต่ถ้าหากเอ่ยถึงชื่อนี้เมื่อราว 20-30 ปีก่อน เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักยอดนักดีไซเนอร์เครื่องเพชรเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย เจ้าของร้าน St.Tropez Diamond ผู้ประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งในผู้หญิงชั้นนำแถวหน้าของสังคม การันตีด้วยรางวัลมากมายนับไม่ถ้วน

ด้วยฝีไม้ลายมือที่สร้างความแปลกใหม่และเปิดโลกของแวดวงเครื่องประดับ ขับเน้นให้ชื่อลือกระฉ่อนบนเส้นทางสายดังกล่าว แต่ทว่าสุดท้าย กลับประกาศอำลาวงการอย่างฉับพลันทันทีเพื่อมุ่งสู่วิถีทางธรรม พร้อมก่อตั้ง “โรงเรียนแห่งชีวิต” สอนธรรมะ ไปเสียอย่างนั้น และนั่นก็ทำให้คนสมัยนั้นหลายคนยังฉงนสงสัยมาตราบเท่าทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่วันก่อน ตอนที่กระแสตุ๊กตาลูกเทพ ปรากฏเป็นข่าวดัง ชื่อของ “อัจฉราวดี วงศ์สกล” ก็ได้รับการมองเห็นอย่างล้นหลามอีกครั้ง ผ่านบทความที่เธอเขียนวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ลูกเทพ และถูกแชร์ไปอย่างกว้างขวาง ด้วยน้ำเสียงชื่นชม

ในวาระนี้ เราจึงเดินทางไปยัง “โรงเรียนแห่งชีวิต” ในซอยสุขุมวิท 67 รับฟังเรื่องราวชีวิต และมุมมองความคิดของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งตัดสินใจก้าวเดินบนเส้นทางธรรม กระทั่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่เคารพกราบไหว้ในฐานะอาจารย์ด้านจิตวิญญาณ...

ปฐมบท “แสงแห่งธรรม” นำชีวิต
จากดีไซเนอร์สู่ฆราวาสผู้ละซึ่งกิเลส

“ก็เป็นคนกรุงเทพฯ เติบโตมาในครอบครัวคนชั้นกลาง คุณพ่อเป็นคหบดี คุณแม่เป็นแม่ค้า อยู่กับคุณแม่ก็มีความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ถึงกับยากจน แต่ก็ไม่มีฐานะอะไร ชีวิตก็เลยอยากจะประสบความสำเร็จ”
อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล กล่าวย้อนอย่างย่นย่อถึงช่วงชีวิตก่อนเดินทางสายธรรมและปวารณาตนเป็นพุทธบริษัทสืบทอดพระศาสนามานานร่วม 7 ปี

“ก็เติบโตมาอย่างนั้น เรียนหนังสือจบก็ทำมาหากินไปตามปกติ แต่บังเอิญเป็นคนที่มีความสามารถโดดเด่นหน่อยในเรื่องการงาน ไปที่ไหนก็จะมีคนซื้อตัวไปร่วมงาน ตอนนั้นก็เลยทำหลายงานกับหลายบริษัทในธุรกิจสื่อสารมวลชน และบังเอิญคนรู้จักเป็นลูกค้าแนะนำธุรกิจเครื่องประดับ ก็เลยได้เข้ามาสู่แวดวงธุรกิจเครื่องประดับเพชร ซึ่งช่วงแรกๆ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ จะเรียกว่าลำบากก็ได้ เพราะเราใหม่ เราเพิ่งเข้าสู่สังคมระดับนั้น วันๆ หนึ่ง กว่าจะได้เงิน 3 พันบาท เราแทบจะกราบเท้าลูกค้า ช่วยซื้อของหน่อยเถอะ”

ชีวิตช่วงนั้น เสมือนดั่งเพชรที่รอการเจียระไน
“คือคล้ายๆ เป็นบททดสอบของเราด้วย เพราะว่าช่วงนั้นมีเพื่อนคนหนึ่งเขารวย เขาก็ชวนเราไปบ่อน แต่ยังไงเราก็ยืนยันว่าเราไม่เข้า เราจะค้าขาย จะได้เงินกี่บาทกี่สตางค์ จะเลือดตาแทบกระเด็นอย่างไร เราก็ไม่ ในขณะที่เพื่อนมีเงินเป็นสิบล้านแล้วเพื่อนก็มานั่งเล่าให้ฟังว่า โหย...วันนี้เข้าบ่อน ฟันมา 3 แสนบาทบ้าง อีกวันก็มาเล่า ฟันมาล้านบาทบ้าง เราก็ใจแป้ว ฟังแล้วก็มีเก็บมาน้อยใจเหมือนคนทั่วไปว่าทำไมเราลำบากจังเลย

“เราก็ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่อย่างนั้น จนประมาณ 3-4 ปี ก็นานสำหรับพอจะทดสอบตัวเอง นั่นแหละก็ได้เห็นสัจธรรม พอเห็นสัจธรรมชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เขาเรียกว่าทางเปิด มีคนมาแนะนำให้ทำธุรกิจจิวเวลรีเล็กๆ น้อยๆ และในที่สุดก็เริ่มมองเห็นว่า วงการเครื่องประดับในสมัยนั้น ไม่มีดีไซน์ที่โดดเด่น ตัวเราเองเป็นคนที่มีความสามารถเชิงศิลป์ เลยดีไซน์เครื่องประดับในแบบที่หรูหราแล้วก็แปลกขึ้นมา มีคนเปิดทางให้เข้าสู่วงสังคมชั้นสูง มันก็เลยกลายเป็นมาแรง”

ขนาดที่เรียกได้ว่า ถ้าเป็นในเรื่องการดีไซน์เครื่องเพชร แฟชั่นโชว์ 20 ปีที่แล้วนั้นต้องร้าน St.Tropez Diamond (แซงต์ โทรแป ไดมอนด์) เท่านั้น เพราะล้วนแต่เป็นงานที่มีความพิเศษ ไม่ธรรมดา...นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Boss of the Year สาขาธุรกิจเครื่องประดับ ปี 2548 ได้รับรางวัลนักธุรกิจยอดเยี่ยม ได้รับเลือกเป็นบุคคลชั้นนำ 1 ใน 500 คน จากนิตยสารไทยแลนด์แท๊ตเลอร์ 5 ปีต่อเนื่อง

“หลังจากนั้นชีวิตก็ขยับขึ้นมาก กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการเพชร ชีวิตตอนนั้นก็บ้าไปแล้ว บ้าในที่นี้คือมันลำบากมาเต็มที่ พอมันสะสมๆ ประสบความสำเร็จขึ้นมา ก็รู้สึกว่าเริ่มหลงละเลิง ด้วยความสำเร็จที่มันเพิ่มขึ้นมามากมายมหาศาล จากคนที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะได้รู้จัก อย่างเช่น เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ เราก็มีโอกาสได้รู้จักท่าน และท่านก็เป็นผู้ใหญ่ในสังคมชั้นสูง ท่านก็เมตตา นั่งประชุมงานกับท่าน ก็ยังงงกับตัวเองเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะงงด้วย แต่ก็โกยไปด้วยตามสันดานความเป็นมนุษย์ขณะนั้น”

“และนั่นก็ทำให้เราก็ทุกข์ไปด้วย”
อาจารย์อัจฉราวดีกล่าวพลางเว้นวรรค เพราะหลายๆ คนอาจจะสงสัย เนื่องจากทั้งความสำเร็จในเรื่องชื่อเสียงหรือเงินทองนำพาชีวิตมาขนาดนี้ ไฉนถึงได้ “ทุกข์”

“ที่ทุกข์ไปด้วยก็คือ เหมือนกับเราต้องวิ่งคว้าเงาตัวเอง เราต้องพยายามสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างตลอดเวลา มันไม่น่าจะใช่วิถีชีวิต ทำไมมันหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ ทำไมยิ่งมีมันยิ่งทุกข์ แล้วทำไมเรายังมีไม่พอ มันทุกข์ รวยแล้วมันไม่พอ แล้วอีกอย่าง ก็จริงอยู่ที่มีทั้งเงินทอง มีทั้งชื่อเสียง แต่ก็มีชื่อเสียงทั้งบวกและลบ ชื่อเสียงทางบวกคือคนที่ประสบความสำเร็จ ทำอะไรก็นำความแปลกใหม่มาสู่วงการสังคม ทำจิวเวลรี ดูแล้วมีดีไซน์ที่แตกต่าง แต่ชื่อเสียงทางด้านลบก็ประมาณว่าปั่นกิเลสมนุษย์ ทำแฟชั่นโชว์ก็ทำให้คนวุ่นวาย ปั่นจิตใจคน มันเป็นกระแสที่เข้ามา มันเป็นแรงบันดาลใจในทางที่ผิด เป็นแรงบันดาลใจในความลุ่มหลงมัวเมา ในกิน เกียรติ กาม ลาภยศ สรรเสริญ คือโลกธรรม 8

“คือไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำมาหากินทั้งหมดขวางนิพพาน แต่วิถีของเราที่เป็นดีไซเนอร์ ทำจิวเวลรี แล้วปั่นกิเลสคน แฟชั่นโชว์ปั่นกิเลส เหมือนมีคอลเลกชันนี้แล้วนะ เดี๋ยวคุณต้องซื้อมันใหม่ คุณต้องทำตัวให้มันเด่นกว่าคนอื่น คุณต้องมีอันนี้อันนั้น มีแต่ปั่นตัณหา ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ถือว่าเป็นการทำผิดศีล แต่ก็เป็นจุดกำเนิดที่สามารถพัฒนาไปสู่การทำบาปของผู้อื่นได้ หากคนที่เสพสิ่งเหล่านี้นั้นมีตัณหามากเกินควบคุมตัวเอง ยังไม่ได้ผิดศีล แต่เป็นส่วนของกิเลส คือศีล 5 เขาเรียกเป็นกฎที่ทำแล้วบาป แต่อันนี้เป็นกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งถ้าเราหลงแล้วทำให้ติดอยู่ในภูมินี้ เราก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ และมันก็จะสามารถพัฒนาไปสู่การผิดบาป เช่นถ้าเรามีตัณหามาก เราอาจจะไปโกหกว่า ของเรามีคุณภาพสูงเกินจริง ก็เป็นบาป คือมันมีความต่อเนื่องถึงกัน

“ชีวิตก็ปั่นไปเรื่อยๆ ตอนนั้นยังไม่ละอายเลยนะ อะไรก็ได้อยากให้งานมันสำเร็จๆ ก็ขับรถไปขอพรไหว้หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม เพื่อไปขอให้รวยขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่รถเราหรูที่สุด ไปหาท่านแล้วไปเขียนโน้ตขอพรให้ท่านภาวนาให้ หรือถึงขนาดไปปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ยังไปปฏิบัติเพราะโลภ คือกลัวบุญหมด เนื่องจากว่ามีเพื่อนมาทัก บอกว่าเอาแต่ทำมาหากิน เดี๋ยวพอบุญเก่าหมด ชีวิตมันจะตกต่ำ ตอนนั้นชีวิตกำลังสำเร็จ ก็กลัวว่าจะไม่มีบุญหนุนต่อ ก็ไปปฏิบัติ

“อยู่ที่ธรรมสถาน ยังคิดอยู่เลยว่า ออกจะไปทำแฟชั่นโชว์คอลเลกชันไหน”

ทว่าแม้จะไปเพราะกิเลส แต่ระหว่างนั้นเอง ธรรมะก็ค่อยเริ่มแทรกซึมโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
“คงจะมีบุญเดิมอยู่บ้าง คือศรัทธา เพราะก็ได้เห็นวัตรปฏิบัติของท่าน ท่านเป็นพระแท้ อริยะแท้ ไม่เห็นแก่เงินแก่ทอง จิตเราก็เกิดความศรัทธา แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากการเทียวไปเทียวมาหาหลวงพ่อ ก็คือได้หนังสือธรรมะมาอ่าน อ่านไปอ่านมาก็จะมีแต่เรื่องธรรมให้ละชั่วกลัวบาป เรื่องบาปเรื่องกรรม ก็ถือได้ว่าท่านเป็นอาจารย์คนแรก เราก็กลายเป็นว่าจิตเริ่มมีปัญญา ก็ปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการทำงาน ตอนหลังก็พาลูกน้องในบริษัทไปฟังธรรมกับท่าน ท่านก็เมตตามาสอนธรรม”

ถึงตรงนี้ เหมือนชีวิตต่อจากนั้นจะมุ่งตรงยังทางธรรม
แต่กระนั้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถสละ ละ วาง...

“พอไม่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พอออกมาก็เป็นคนเดิม กลับมาเป็นคนที่ฟุ้งซ่านในเรื่องของการงาน คิดแต่จะทำโน่นนี่ หยุดไม่ได้ มันมีแต่ตัณหาที่ทำให้เราผลักตัวเอง ทำแต่งาน หาแต่เงิน หาแต่ความสุข แล้วก็เหนื่อย เหนื่อยเสร็จก็มาบ่นกับตัวเอง หยุดไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าอะไรที่มันผลักดันตัวเอง

“แล้วก็เป็นคนมักโกรธ โกรธแบบหยุดไม่ได้ ขนาดปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ไม่ต่อเนื่องก็ดุลูกน้องแรงมาก ดุเสร็จแล้วก็มาเสียใจ ก็คิดว่าทำไมเราปฏิบัติธรรมแล้ว ทำไมเรายังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ก็มาวิเคราะห์ตัวเอ นั่นเพราะเราปล่อยจิตให้ไม่รู้จักปล่อยวาง ไม่รู้เท่าถึงธรรม แล้วไม่ได้ฝึกต่อ หลังจากนาทีนั้น ก็เลยปฏิบัติต่อเนื่อง”

จึงเริ่มต้นเดินสู่เส้นทางธรรมโดยมุ่งหวังหลุดพ้น ปราศจากแรงผลักของความโลภเช่นคราวก่อนๆ โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์โกเอนก้า ณ ศูนย์ที่จังหวัดปราจีนบุรี

“เพราะว่าถ้าไปปฏิบัติสายหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ท่านเป็นที่เคารพกราบไหว้เยอะ เราไม่ชอบอยู่กับคนเยอะๆ ก็บังเอิญมีกัลยาณมิตรชักชวนให้รู้จัก เลยได้มาปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์ จิตก็เบิกบาน ได้เห็นธรรม ได้มีความรู้สึกสงบระงับเป็นครั้งแรกในชีวิต ไม่เคยมีความรู้สึกสงบแล้วก็จิตใจปราศจากตัณหา

“ธรรมตอนนั้น จากระดับ ก.ไก่ ข.ไข่ ค่อยเริ่มต้น แล้วก็ปฏิบัติมาเรื่อยๆ ค่อยๆ พบว่าจิตบริสุทธิ์ขึ้น เกิดปัญญาในการพิจารณาสิ่งที่เราทำ ก็เริ่มเปลี่ยน พอเริ่มปฏิบัติธรรมมันก็เปลี่ยน มันไม่ใช่แล้ว สิ่งเหล่านี้มันเป็นภาพลวงตา สังคมตรงนี้มันทำให้เราสร้างความมีตัวตนขึ้นมา แล้วทำให้เราติดกับดัก ติดกับดักของความมี ความเป็น มันหาจุดของความสุขที่แท้จริงไม่ได้ มันมีแต่ความร้อนเร่าตลอดเวลา มีแต่ความดิ้นรนตลอดเวลา

“อยู่มาวันหนึ่ง...ขณะที่จัดงานแฟชั่นโชว์ ยังไม่ทันโชว์คอลเลกชันของตัวเอง มีนักข่าวมาถามว่าเป้าหมายปีหน้าจะเป็นอย่างไร เราก็คิด...ปีหน้ามาแล้ว ปีนี้ยังไม่ได้โชว์เลย เราก็ตายแล้วชีวิตเราจะต้องวิ่งต่อไปอีกไม่จบสิ้นหรือนี่ มันไม่ใช่แล้ว นี่มันไม่ใช่ชีวิตและไม่ใช่หนทางที่เราปรารถนา มันเกิดการตื่นรู้ท่ามกลางงานแฟชั่นโชว์

ทางชีวิตและทางธรรมทั้งสองสายจึงวิ่งมาบรรจบกันอย่างลงตัว และเมื่อตื่นรู้ทางธรรมด้วยความที่จิตถูกพัฒนาก็เฉกเช่นครูบาร์อาจารย์ทั่วไปที่มีความประสงค์อยากให้ผู้อื่นสัมผัสได้ถึงสิ่งเหล่านั้น จึงได้นำประสบการณ์ชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมมาสอนธรรมะให้กับเยาวชนและออกหนังสือธรรมะที่ตรงและเข้าถึงได้ง่ายในระหว่างที่ทำงานควบคู่ไปด้วย

“ที่เริ่มจากเยาวชน เพราะธรรมของเรายังไม่ได้ แล้วเรายังทำธุรกิจขายเพชรปั่นกิเลส จะไปสอนผู้ใหญ่ได้อย่างไร เราเองก็ยังละเลิกไม่ได้เลย และสาเหตุอีกอย่างหนึ่งก็คือเราอยากสอนธรรมะให้เด็กมีจิตสำนึก เด็กคือกลุ่มคนรุ่นต่อไป ถ้าเขารู้ตัวเองก่อน โตขึ้นเขาก็จะสามารถประคับประคองให้ชีวิตไม่ติดกับดัก มีภูมิคุ้มกันทางปัญญา ซึ่งวิธีการสอนตอนนั้น เราไม่ได้สอนให้ท่องจำ แต่สอนให้เขามีสำนึกเข้าไปในใจ ให้รู้จักตัวเอง เริ่มต้นจากบทเรียนชีวิตของตัวเองว่า เขาเคยทำสิ่งใดผิด สิ่งใดดีเอาไว้ และใช้ชีวิตอย่างไร เอาตรงนั้นมาประมวลแล้วทำให้เขาได้ก้าวเดินต่อไป ด้วยหลักของศีลธรรม หลักของความเมตตา เกื้อกูลและเข้าใจผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่เรามองแต่ความต้องการของตัวเอง โดยที่ไม่เคยมองเห็นความรู้สึกของผู้อื่นแล้ว เมื่อนั้นแสดงว่าธรรมของเราอ่อนแอ เพราะฉะนั้น เริ่มต้นจากการรู้จักตัวเองและเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น

“ก็ใช้คำว่าดีไซเนอร์ที่ฟังแล้วโก้หรูเป็นตัวเชื่อม มันทำให้เกิดช่องว่างน้อยล ไม่ใช่เป็นครูสอนธรรมะ ช่วงนั้นก็เขียนหนังสือด้วย คนก็เห็นธรรมที่มันแปลกมันชัด ก็เริ่มสนใจที่จะส่งลูกหลานมาเรียน ก็ใช้พื้นฐานตรงนั้นในการสร้างฐานงานสอนธรรมะอย่างจริงจัง หลังจากนั้นจึงได้ไปปฏิบัติในสายเตโชวิปัสสนา ซึ่งมันเป็นเรื่องของมิติทางจิต เมื่อจิตเรานิ่ง เราก็เกิดสัมผัสกระแสพระศรีรัตนตรัย พ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็เมตตามาสอนให้ปฏิบัติ เปลี่ยนเทคนิควิธีให้จิตมันนิ่งกว่านี้ มีพลังขึ้น เขาเรียกสติปัฏฐาน 4 เกิดพลังในการเพ่งดูจิตเอาชนะกิเลส พอเผาตรงตัว ทีนี้พลังมันก็สูงมาก ก็ทำให้จิตใจคลายความยึดมั่นถือมั่นอย่างรวดเร็ว”

ทำให้จากกำหนดการที่เริ่มวางแผนว่าจะอำลาวงจรชีวิตแบบนี้ใน 7 ปี จึงใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นในการละชีวิตทางโลกโดยสิ้นเชิง

“เพราะว่าธรรมมันมีความก้าวหน้าขึ้น เมื่อปฏิบัติด้วยตัวเองแล้วก็เป็นบ่อเกิดแห่งความดีงามให้กับคนมากขึ้น ก็รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะมาอยู่ตรงนี้ เราจะมาเสียเวลาอยู่บนทางนั้นไม่ได้ ก็โชคดีที่ทางครอบครัวเข้าใจ เราก็ต้องปรึกษาครอบครัว เราให้เกียรติคู่ชีวิต เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่สิ่งที่เขาห่วงอย่างเดียวคือว่าเลิกทำธุรกิจแล้วชีวิตจะหดหู่หรือเปล่า จากคนที่แอกทีฟมาก แล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร จะหดหู่ไหม แล้วทางเดินต่อไปจะเป็นอย่างไร เขาไม่ได้ห่วงเรื่องของชื่อเสียงหน้าตาอะไร เพราะเขาไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ เราก็บอกว่าท้ายที่สุด หนทางมันก็เปิดเอง แล้วก็จริง คือก็เริ่มเปิดทางไปเรื่อยๆ ทุกอย่างที่ทำก็เรืองขึ้นมา ตอนอำลามีแต่คนบอกว่าทำเพื่อสร้างภาพ มันไม่ใช่ มันเป็นภาพจริงๆ ของความดีงามที่เราแบ่งปัน แล้วก็พัฒนามาเมื่อธรรมก้าวหน้าขึ้น ก็มาขยายมาทางสอนวิปัสสนาให้กับผู้ใหญ่”

กำเนิด “โรงเรียนแห่งชีวิต”
เพราะ “การเรียนรู้” ไม่มีที่สิ้นสุด...

“ในชีวิตของคนนั้นมีบททดสอบให้เราได้รู้จักตนเอง ให้เราได้เรียนรู้ มันก็เลยก่อเกิดเป็นโรงเรียนที่เราต้องเรียนกันอยู่ตลอดไม่สิ้นสุด ก็จึงตั้งชื่อนี้ “โรงเรียนแห่งชีวิต” เราเรียนรู้จนกว่าเราจะตาย แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ยังได้สอนบทเรียนสำคัญให้เราว่า ภิกษุทั้งหลายจงใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท พระองค์ทรงสอนเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ชีวิตคือโรงเรียนที่เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอด แล้วก็ผ่านบททดสอบให้ได้ในการใช้ชีวิต

“ชีวิตมันไม่เคยมีจบ
มันจะเรียนจบก็ต่อเมื่อบรรลุอรหันต์เท่านั้นเอง”

อาจารย์อัจฉราวดี บอกถึงที่มาของชื่อโรงเรียนแห่งชีวิตที่ก่อตั้งหลังอำลาชีวิตทางธุรกิจเพื่อสอนธรรมะอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2552

“มาเรียนมือเปล่า ไม่ต้องเอาอะไรมาทั้งสิ้น มาแต่ใจ แล้วก็เรียนฟรี ซึ่งกิจกรรมยกตัวอย่างง่ายๆ เริ่มต้นให้เขาเขียนเรียงความว่าเขาเคยทำอะไรให้คนอื่นเสียใจบ้าง โดยเริ่มต้นจากการเล่าความผิดพลาดในชีวิตของเราก่อน อย่างเช่นเคยขโมยเงินแม่ แล้วมันทำให้เสียใจอย่างไร ในความรู้สึกระหว่างที่กำลังยื่นมือไปเปิดประตูแล้วขโมยเงินออกมา ใจมันเต้นตึกตักๆ มันหวั่นไหว มีความรู้สึกว่าเราต้องฝ่าความมืดมิด จากความดีไปสู่ความมืด เขาเคยมีประสบการณ์อย่างนี้ไหม หรือจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามที่ทำให้เขาย้อนคิดมา บางคนก็เขียนเล่ามาอย่างดี อย่างเด็กคนหนึ่งเขียนมาดีมาก ยังใช้เป็นบทเรียนสอนจนถึงวันนี้ เขาบอกว่าเขาเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล เขาเล่นเก่งมากแล้วเขามีน้องอีกคนหนึ่งอยากเก่งเหมือนเขา น้องคนนั้นก็ขอว่า “พี่ สอนผมหน่อย” เขาก็บอกว่า เดี๋ยวชั่วโมงหน้ามาจะสอนให้ ก็เล่นกันอยู่ได้สัก 15 นาที แล้วเขารำคาญ ด้วยฝีมือน้องที่ยังไม่เก่ง เขาก็เลยขว้างลูกบาสใส่หน้าไป แล้วก็บอกอีกว่า “ฝีมืออย่างมึงเป็นได้แค่ตัวสำรอง” คำนี้คำเดียวมันกระแทกจิตสุดๆ ไม่ทันได้คิด แล้วพอเขาได้มาเรียน เขาไม่ควรพูดอย่างนั้นกับน้อง คำว่าตัวสำรองมันจะติดไปกับจิตน้องจนตาย เขาสำนึกแล้วเขาก็ขอโทษ นี่แหละคือธรรม ทำให้เราได้รู้จักจิตใจและความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ใช่รู้จักแต่ความต้องการของตัวเอง

“นอกจากนั้นก็มีการสอนให้รู้จักได้สำนึกบุญคุณของแผ่นดิน สอนเล่าประวัติศาสตร์เชิงลึกให้เด็กได้รู้ความเป็นมาเป็นไป คุณูปการของชาติ ของข้าวปลาอาหาร ความเสียสละของวีรกษัตริย์ วีรชน ของบรรพบุรุษ ให้สำนึกกตัญญู นี่คือบทเรียนทั่วๆ ไป แล้วก็แตกไปเป็นกิจกรรมที่สอนต่างๆ”

นอกจากโรงเรียนแห่งชีวิต อาจารย์อัจฉราวดียังได้ก่อตั้งองค์กรโนอิ้ง บุดด้า (Knowing Buddha) เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา

“เพราะเมื่อตอนที่ยังใช้ชีวิตเป็นนักธุรกิจอยู่ เราไปต่างประเทศ ไปเจอบุดด้าบาร์ ไปยืนมองด้วยความสลดสังเวช แล้วรู้สึกเศร้าใจยิ่ง ที่เขาเอาพระพุทธรูปที่เรากราบไว้ เคารพนบไหว้ในพระธรรมคำสอน ไปตั้งอยู่กลางบาร์ เราไปยืนตัวสั่น ใจก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ตรงนั้น แล้วก็ร้องขอความช่วยเหลือในจิตว่าอยากให้มีใครสักคนหนึ่งหยุดยั้งการกระทำนั้น ทำไมเราถึงปล่อยให้เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้น ก็ไม่ได้มีใครหยุดเขาได้ เพราะเขาใช้คำว่าพุทธรูปนั้นสร้างบรรยากาศให้เกิดเป็นความรู้สึกดื่มด่ำแบบแปลกๆ ล้ำลึก ก็เลยบาดใจ

“ทีนี้พอเกิดธรรมเข้มแข็งแล้วมีลูกศิษย์ได้จำนวนหนึ่ง เราก็เห็นความเสื่อมในสังคมทางพระพุทธศาสนาที่ว่า คนพุทธ เป็นพุทธแต่ในทะเบียนบ้าน และไม่มีความอาจหาญ ไม่มีความกล้าหาญในการออกมาแก้ไขในสิ่งที่ผิด หนำซ้ำยังใช้คำว่าปล่อยวาง มาใช้กับการปล่อยปละละเลย ซึ่งดูได้ในอินเทอร์เน็ต ลองเสิร์ชคำว่าปล่อยวาง คือไม่เข้าใจว่าพุทธองค์สอนคำว่าปล่อยวาง คือปล่อยวางอัตตา ไม่ใช่การปล่อยปละละเลย เพราะไม่อย่างนั้น พระองค์จะสอนให้เรายึดมั่นในศีลและพระธรรมวินัยไปทำไม เลยก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งการลบหลู่สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา”

เล่าถึงตรงนี้ อาจารย์อัจฉราวดีหยิบเอกสารเป็นภาพการดูหมิ่นพุทธองค์ที่ชาวพุทธเคารพกราบไหว้บูชาอยู่เหนือหัว ทว่า...ต่างชาติกลับดึงลงสู่เบื้องล่าง

“เขานำพุทธองค์ไปวาดลายฝาชักโครก ที่โลกเขาทำต่อพระพุทธรูป เอาพระพุทธรูปไปไว้ในฝาชักโครก อย่างถ้าสมมติมีคนถามพระศาสดาของลูกหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ชี้ไปที่ฝาชักโครก โลกขาดจิตสำนึก แล้วจะบอกว่าคุณไม่รู้จักพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ เพราะคุณเรียกท่านว่าบุดด้า คุณก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าคือใคร แต่ทำไมถึงกล้าทำในสิ่งที่ไม่บังควร ก็เพราะว่าเราอ่อนแอ เขามองคนพุทธเป็นคนอ่อนแอ ปล่อยวางอะไรก็ได้ ถ้าเป็นศาสนาอื่น ฆ่ากันตายไปแล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก

“ตอนแรกที่ก่อตั้งทำเรื่องนี้ เราก็โดนต่อว่าเพียบ ต้องเรียกว่าถล่มถึงจะถูก เราโดนถล่มเพราะว่าเราเปิดเฟซบุ๊กชื่อ Do and Don't on Buddha แล้วก็ด้วยความที่ธรรมของคนในวงการพุทธไม่แจ้ง ใช้คำว่าปล่อยวางไปสู่การปล่อยปละละเลย ถล่มแหลกลาญ บอกว่าให้เราปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในวัตถุ ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราก็...ต้องใช้วิธีการสอนแล้วก็ต้องหนักแน่นอย่างมาก โดนถล่มเป็นแสนราย ที่สนับสนุนมีนิดเดียว แต่เราก็ยืนหยัด เราบอกว่าสิ่งที่เราปกป้องไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นสัญลักษณ์ ถ้าสัญลักษณ์ใดทำให้เราน้อมจิตไปที่ใคร เราก็พึงปฏิบัติต่อสัญลักษณ์นั้นด้วยความเคารพ เหมือนกับเราเห็นรูปพ่อแม่ของเรา ถ้ามีใครเอารูปพ่อแม่ของเรามาวางอยู่บนโถส้วม เราจะปล่อยให้คนเหยียบรูปนั้นหรือเราจะเก็บขึ้นมา เขาไม่เข้าใจ นี่คือความเป็นพุทธในทะเบียนบ้าน

“คือคนในสังคมชอบจับคำโค้ดสั้นๆ ของครูบาร์อาจารย์แล้วเอาไปโพสต์ต่อ โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง แล้วก็คิดว่าตัวเองรู้แล้ว แล้วในที่สุดมันก็เกิดการย่ำยีทั่วโลกเช่นนี้”

ท่ามกลางกระแสต้านรุนแรง แต่ด้วยความหนักแน่น ก็ลุล่วงและทำให้คนพุทธตระหนักและร่วมกันบอกกล่าว

“เราก็ทำโบรชัวร์ และติดต่อประสานสถานทูตของประเทศต่างๆ ที่มีการทำลบหลู่ จนกระทั่งเราสามารถที่จะไปเผยแพร่งานนี้ที่พระบรมมหาราชวังให้นักท่องเที่ยวได้หยุดยั้งการลบหลู่พระพุทธเจ้า แล้วอย่างแคมเปญล่าสุด เราก็บอกว่า It's Wrong to use Buddha As Decoration,Tattoo,Merchandise Don' t Buy and Sell Buddha แล้วมีตรงนี้ด้วยนะ ศีล 5 คือเส้นกั้นนรก การโกงภาษีคือการโกงชาติเป็นบาป เลิกเป็นพุทธช่างขอ ตระเวนขอพร หันมารักษาศีล เราต้องการให้คนหันมารักษาศีลให้บริสุทธิ์และมีจิตสำนึกที่ดีงาม นี่คือความเข้มแข็งที่เกิดจากสายธรรมที่เราได้เดินหน้า พยายามแก้ไข และก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำธรรมแท้ให้สังคมได้รู้ และเลิกเป็นพุทธขอพรกันสักที

“คิดว่าคงไม่นาน คนที่มีวาสนาอยู่แล้วเขาก็จะมีจิตสำนึกเร็ว และจะเกิดการแบ่งขั้ว แยกดีกับชั่วออกมาเลย แต่ในที่สุดสิ่งที่เราต้องทำก็คือเราต้องให้คนดีนั้นมาเป็นกำลังให้สังคม ต้องให้พลังความดีอยู่เหนือพลังความชั่ว แล้วก็ให้คนที่ยังลุ่มหลงทำผิดทำบาปอยู่นั้น ให้อยู่จำกัดในวงของเขา เราไม่สามารถที่จะให้เขาหมดไปจากสังคมได้ แต่เราทำให้เขาไม่มีที่ยืนได้ จนกว่าเขาจะมีความสำนึกแล้วก็หันมาแก้ไขตรงนี้ เพราะไม่อย่างนั้นคนดีในสังคมจะอ่อนแอลง ในประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธถึง 99 เปอร์เซ็นต์ของประชากร แต่เราอ่อนแอมาก เราไม่กล้าออกมาประกาศ นี่คือความอ่อนของเรา เราต้องแก้ไขตรงนี้ ตรงที่กล้าออกมายืนหยัดแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้องและสนับสนุนคนดีให้เขามีกำลัง คือทุกคนต้องทำตัวเป็นฮีโร่ ฮีโร่ไม่จำเป็นต้องมีคนเดียว

“แต่เดี๋ยวนี้เหมือนกับว่าใครที่ทำตัวเป็นคนดีก็ถูกบีบบังทาง เส้นทางที่เดินก็แคบ เป็นคนดีทางเดินแคบ แต่เป็นคนเก่งทางเดินกว้างไกล คือสังคมให้ราคาคนเก่งมากเกินไป เราต้องให้ราคาคนเก่งกับคนดี ควบคู่กันไป มันถึงจะเจริญ จะอยู่ได้ แต่คนดีก็ต้องเข้มแข็ง นี่คือสิ่งที่คนดีทั่วไปขาด เพราะคนดีในเมืองไทย ดีเงียบ ดีเรียบร้อย ดีอ่อนแอ แล้วเมื่อเราอ่อนแอเสียแล้ว เราถูกคนไม่ดีตีทีเดียว ล้มเลย

“ต้องช่วยกัน เราต้องหนักแน่น ถ้าเราเริ่มแล้ว แต่โดนคนมองอีกอย่าง ก็ต้องหาคนที่แกร่งกว่า คนที่แกร่งกว่าก็ต้องให้กำลัง ให้การคุ้มกัน กำลังใจ นี่คือเหตุผลที่เราต้องเขียนสอนทางเฟซบุ๊กไว้ให้กำลังใจ อย่างที่บอก ยิ่งถ้าเขาไปในโลกเว็บไซต์ โดนถล่มที จิตตก เข้าใจ คือถ้าเรารู้ว่าเราอ่อนแอแล้ว เราสู้ไม่ไหว หลบก่อน อย่าไปฝืน เมื่อจิตใจเรามีกำลังเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว เราลงไปสู่สนามใหม่ ทุกอย่างมันเป็นบททดสอบ สมมติใดๆ ในโลกนี้มันเป็นเครื่องบททดสอบ มันเป็นสะพานให้เราได้รู้จักจิตตัวเอง ให้เราได้รู้จักปล่อยวาง คำว่าปล่อยวาง ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เราทำอะไรเลย แต่หมายความว่าให้เราทำทุกอย่างให้ดีที่สุดแล้วผลเป็นอย่างไรให้เราวางใจ ให้ละทางใจ นี่คือคำว่าอุเบกขา”

“ทางโลก” กับ “ทางธรรม”
สองวิถีที่ “ควบกล้ำ” ได้

• จากที่อาจารย์ทำควบคู่ทั้งสองทางคือทางโลกและทางธรรม คำว่าทางสายกลางมีความหมายอย่างไร

คือการเป็นคนที่ไม่ทำอะไรสุดโต่ง ยกตัวอย่างคำว่าสุดโต่งในทางฆราวาสผู้บรรลุธรรมก่อน ถ้าเราเป็นฆราวาสผู้บรรลุธรรมแล้วเราไปสุดโต่ง เราก็จะทิ้งครอบครัวเลย เราก็จะบอกว่าเราไม่เอาแล้ว ฉันไม่ทำงานแล้ว ฉันจะอยู่บ้านแล้วปฏิบัติธรรมอย่างเดียว นั่นคือเป็นการสุดโต่ง คือการไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง ถ้าคุณเป็นฆราวาส คุณไปออกบิณฑบาตก็ไม่ได้ คุณมีหน้าที่ต้องดูแลตรงนี้ ไม่ให้เป็นภาระกับคนอื่น ฉะนั้นคุณต้องทำงาน คุณมีพ่อแม่ลูก มีสามี มีภรรยา ต้องเลี้ยงดู แต่คุณจะต้องทำด้วยจิตที่ไม่ข้องกับกิเลส ความโลภ โกรธ หลง แล้วก็รู้จักแบ่งเวลามาทำหน้าที่ทางธรรม ชำระจิต บำเพ็ญภาวนา แบ่งหน้าที่ และเมื่อจิตคุณบริสุทธิ์ คุณจะเข้าใจว่าโลกมันไม่ได้บีบให้เราเดินในทางที่แคบ เราต่างหากที่ถูกหลอกให้ไปเดินในทางที่มันหลงทาง

นี่คือทางสายกลางของฆราวาสที่อยากบรรลุธรรม มีศีลมีธรรม ใช้ชีวิตทุกอย่างได้ตามปกติ คุณแต่งหน้าก็ได้ อาจารย์แต่งหน้า ทำไมเรายังแต่งหน้า ไหนบอกภาวนา ทำไมไม่โกนหัวแล้วทำตัวเป็นแม่ชี ก็เราอยากให้คนเห็นเราแล้วรู้สึกสดชื่น คิดดูถ้าสมมติเราปฏิบัติธรรมแล้วไปทำงานในองค์กรใหญ่ๆ เข้ามาแล้วหน้าตาซีดเซียวเป็นศพ คนก็จะเห็นว่าถ้าปฏิบัติธรรมแล้วฉันเป็นอย่างนี้ฉันไม่เอาดีกว่า ขอสวยก่อน เข้าใจไหม นี่คือการที่เขาไม่ได้อยู่ในทางสายกลาง เขาไม่เข้าใจว่าเมื่อเราจะปฏิบัติธรรมในฐานะฆราวาส อะไรที่คุณทำแล้วมันไม่ได้เบียดเบียนแล้วก็ไม่ได้เป็นการลุ่มหลงภาพลักษณ์ของตัวเอง ลุ่มหลงสังขาร ทำได้ ขอให้คุณรักษาศีลให้บริสุทธิ์ นี้คือทางสายกลาง ไม่บีบตนเองให้ลำบาก แต่รู้จักหน้าที่ในการบำเพ็ญภาวนาควบคู่ด้วย

• แต่ถ้าพูดถึงการทำงานบางประเภทก็จะมีที่ข้อจำกัดทางการทำงานต้องมีทำให้ผิดตรงนี้

คือพระพุทธองค์ทรงสอนว่า ถ้าสิ่งใดที่ทำแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็ต้องพยายามหาทางเลิก แต่จริงๆ แล้วในงานพวกนี้ มันไม่ได้จำเป็นที่เราต้องไปพูดเกินจริงเลย เราก็พูดไปบรรยายไปตามสรรพคุณ แล้วก็ให้ลูกค้าเขาพิจารณาเอง อันนั้นเป็นการสร้างกรอบของเราเอง เป็นการปรุงแต่งไปเองว่าเราต้องโม้ เราก็แค่อธิบายแล้วทำหน้าที่ผลิตภัณฑ์นี้มันดีอย่างไรๆ ใช่ไหม แล้วอย่างงานด้านประชาสัมพันธ์ไม่แต่งหน้าตา โกนผมไป แล้วคุณทำตัวเป็นยายชี คุณไม่ใช่แม่ชี คุณก็อย่าทำตัวเป็นแม่ชี คุณก็ทำตัวเป็นคนธรรมดา แต่งตัวไป ศิษย์อาจารย์เป็นแอร์โฮสเตส ต้องแต่งหน้าเต็มที่ เพราะเป็นอาชีพของเขา และที่สำคัญต้องเข็ญเครื่องดื่มซึ่งมันมีแอลกอฮอล์ในนั้น เขาก็มาถามว่าบาปไหม คำตอบคือไม่ เพราะมันคือหน้าที่ เราไม่ได้บอกว่าดื่มเหล้าไหม เราบอกว่าดื่มเครื่องดื่มไหมค่ะ แล้วในรถเข็ญมันก็จะมีเครื่องดื่มหลากหลาย เขาอยากได้อะไร เราก็รินไปตามหน้าที่ ไม่ได้บาป มันคือหน้าที่ นี่คือทางสายกลาง

จิตเรามันปรุงแต่งไปเอง คือโดนกิเลสหลอก กิเลสมันหลอกให้คนคิดว่าฆราวาสหลุดพ้นไม่ได้ คิดว่าฆราวาสถ้าปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในหนทางที่แคบ ไม่ใช่เลย เราปรุงแต่งไปเอง เราถูกกิเลสหลอกไปเอง อยู่บ้าน ถ้าคุณมีลุก คุณยังดูหนังการ์ตูนกับลูกยังได้ เพราะคุณดูหนังเพื่ออะไร ให้เขาเรียนรู้โลก ให้เขารู้จักโลก ดูสารคดีคุณก็ดูได้นะ มันไม่ใช่ “นันทิ” คำว่า “นันทิ” คือการไม่ดูหนังไม่ฟังเพลง ไม่ทำอะไรที่พาให้ตนมัวเมาในกิเลส ความลุ่มหลง

คุณดูข่าวบ้างเพื่อให้รู้ความเป็นไปของโลก ไม่ใช่คุณอยู่ในโลก แต่คุณบอกว่าไม่เอาแล้ว ขอลาขาดจากโลก ก็ไม่ใช่ คุณจะอยู่ในโลกนี้แล้วคุณจะไม่เกื้อกูลโลกเลยก็ไม่ได้ แต่ขอให้เสพแต่เพียงพอดี แล้วอันไหนที่เราช่วยเกื้อกูลได้เราก็ช่วย อันไหนช่วยไม่ได้ อย่างน้อยก็ส่งกระแสจิตแผ่เมตตา มันไม่ได้ทำให้เราหลุดโลกเลย เราขับรถได้ ไปพักผ่อนได้ ขอเพียงเรามีหน้าที่แบ่งจิตมาภาวนา แล้วก็เก็บตัวอยู่ในที่สัปปายะบ้าง แค่นี้เอง

• ถ้ามีเจตนาที่อยากจะดีขึ้นก็ทำได้

ใช่...พอเจตนาแล้วเราเปิด ก็ต้องเปิดใจด้วย อย่าไปมองภาพว่าการปฏิบัติธรรมจะทำให้เราอยู่ในสังคมโลกไม่ได้ เราอยู่ได้และอยู่อย่างเป็นสุขและอยู่อย่างเป็นประโยชน์ เพราะหลายๆ อย่าง ผู้ที่เป็นบรรพชิต เป็นแม่ชี ทำไม่ได้ เนื่องจากมีกฎข้อบังคับเยอะแยะ แต่ฆราวาส เป็นพุทธบริษัทที่ใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าฆราวาสไม่มีธรรมะซะแล้ว ไม่ขยับตัว ไม่ทำให้พุทธศาสนาเข้มแข็ง แล้วใครจะทำ ฉะนั้น เราต้องเข้มแข็ง เราต้องแบ่งหน้าที่ปฏิบัติบ้าง

• อย่างนี้เราควรจะต้องมองที่จิตอย่างไรถึงจะถูกต้องเพื่อให้หลุดพ้นจากตรงนี้ได้

ต้องให้จิตของเราได้บริสุทธิ์ คำว่าบริสุทธิ์มันก็มีหลายขั้น คือจิตของเราให้ปราศจากความโลภ โกรธหลง ถ้ามันปราศจากไม่ได้เลย เพราะว่ากำลังมันไม่พอ อย่างน้อยก็เริ่มต้นด้วยการที่เราหนักแน่นในศีลก่อน เพราะศีลเป็นเบื้องต้น ถ้าเราใช้ชีวิตแล้วเราบอกว่าศีลรักษาไม่ได้ มันยากเหลือเกิน อะไรๆ ก็จะผิดไปหมด ทำไอ้โน่นก็ผิด ไอ้นี่ก็ผิดไปหมด นั่นแสดงว่าจิตของเราไม่ปกติ ก็คือเป็นคนที่ไม่มีศีลอันปกติ จิตของเราตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสที่ยอมให้ความมืดในจิตนั้นมันครอบงำ ถ้าเห็นว่าสิ่งที่เป็นปกติ สิ่งที่เป็นคุณงามความดี เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าใจไว้ว่าจิตเรามันไม่ปกติแล้ว

แต่คนสมัยนี้คิดว่าตัวเองปกติ แล้วก็ผิดศีล มีชู้ ลักขโมย กินเหล้า ทุกสิ่งทุกอย่างเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ มันปกติจริงสำหรับคนที่ต้องติดอยู่ในโลกโลกียะ แต่มันไม่เป็นปกติสำหรับคนที่เข้าสู่ทางโลกุตตระ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราไปจมอยู่กับห้วงของความทุกข์ ต้องมาเกิดแก่เจ็บตายอยู่เช่นนี้ เพราะฉะนั้น ขอจุดเริ่มต้นก่อน เรามาเริ่มต้นที่ให้จิตเรามีความเข้มแข็งในการรักษาศีล คนที่ปฏิบัติธรรม พอจิตบริสุทธิ์แล้วเขาจะไม่ทำผิดศีลเลย เพราะเขาจะมีความรู้สึกว่าไม่สามารถข้ามเส้นแบ่งความดีงามไปได้ จะไม่บังอาจ ไม่กล้าที่จะทำผิดศีลโดยเจตนาเลย ในความรู้สึก จิตมันจะคอยเตือนตลอดว่าสิ่งนี้ผิด มันไม่ใช่

• อย่างเช่นเหตุผลที่ฆ่าสัตว์บาปพ่อค้าก็บาปกว่าเรา

ใช่ เขาก็บาปแน่นอน แต่การที่เรากินเนื้อสัตว์ ถ้าเรากินโดยเจตนาว่าให้มันเป็นกำลังของเรา เราไม่ได้กินในความลุ่มหลงก็กินได้ กินแล้วก็แผ่เมตตา ขอบคุณที่เขา เนื้อสัตว์ของเขาช่วยเป็นกำลังในการใช้ชีวิตให้กับเรา ก็ทานได้ แต่ไม่ใช่ว่ากินแบบลุ่มหลง คือการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่ได้แปลว่าจะให้เราบรรลุธรรม แต่การไม่กินเนื้อสัตว์ มันทำให้เรามีจิตใจอ่อนโยน มีความเมตตา แต่ถ้าปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันจะรู้เอง มีความเมตตา แล้วมันจะกินด้วยความรู้สึกว่ามันคืออาหาร ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันอร่อย ในความติดใจ ต่างกันตรงความติดใจนี่แหละ อยู่ที่เจตนา อยู่ที่ความติดใจ

• พอเป็นอย่างนี้ก็ยังมีข้อโต้แย้งว่าเพราะสังคมโลกทุกวันนี้ทำให้เป็นไปอย่างนั้น แล้วจะดำเนินชีวิตอย่างไร

ก็ต้องรู้จักคำว่าแบ่งหน้าที่ คนเราไม่ได้เข้าใจว่าเราเกิดมาเพื่อจะมีหน้าที่พาตนให้พ้นไปจากความทุกข์ เมื่อเติบโตขึ้นมา เราก็มองแต่ข้างนอก ไม่ได้มองตัวเอง แล้วเราก็ถูกปั้นให้มีความทะยานอยากอยู่ตลอด โตขึ้นมาเราก็อยากจะเรียนรู้ ทำนั่นทำนี่ เรียนหนังสือก็ต้องอยากเรียนเพื่อที่จะได้สำเร็จ เรียนเพื่อที่จะให้รวย รวยมีฐานะแข่งกับคนอื่น เสร็จแล้วพ่อแม่ก็บังคับให้แต่งงานอีก ไม่มีคู่เป็นเรื่องผิดปกติของสังคม ถูกประณามอีก เมื่อมีคู่แล้วมันมีบ่วง มีบ่วงเสร็จถูกบังคับให้มีลูก ถ้าไม่มีลูกก็ถูกบังคับให้ไปทำกิฟต์ พ่อแม่ก็ต้องดิ้นรนอีก ต้องมีลูกให้ ต้องมีหลานให้ ปรากฏว่าชีวิตทั้งชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยหน้าที่ ผลักดันให้ไปอยู่ในบ่วง ตามวิถีสังคมที่เขายื่นทางให้เราเดิน โดยที่จิตของเราไม่ได้มีอิสระเลย เราถูกบีบให้เดินไปตามทางนั้น โดยที่จิตของเราตอนนี้มีแต่คำว่าติดอยู่ในบ่วง ติดอยู่ในภาระหน้าที่ แล้วท้ายที่สุดเมื่อเราเอาแต่หากิน เลี้ยงดูครองครัวโดยที่ไม่ได้แบ่งหน้าที่ให้จิตมันคลายความเศร้าหมอง ลดตัณหา ลดความทะยานอยากลงบ้าง ที่สุด เราก็จบลงที่ความตาย เราก็เอาอะไรไปไม่ได้ แม้กระทั่งจะบังคับกำมือ มือของเราให้มันกำขึ้นมา ให้กำเอาอะไรไปสักอย่างก็ยังเอาไปไม่ได้ นี่คือรางวัลของเรา รางวัลของการดิ้นรนมาทั้งชีวิต

คือชีวิตเราได้ถูกหลอกอย่างอำมหิตมาก เราถูกหลอกตั้งแต่ต้นจนจบ เราถูกหลอกให้ลืมตาขึ้นมา แล้วก็ถูกหลอกให้มีแต่ความทะยานอยาก หลอกให้เดินไปตามทางแห่งความมืด เดินไปเรื่อยๆ ในที่สุด เราก็จมอยู่กับความเปล่าดาย เพียงเพราะไม่สามารถที่จะเอาอะไรไปได้ แต่เราก็ปล่อยให้จิตวิญญาณของเรานั้นมันวนไปตามกรรมวิบากที่เราสะสมปรุงแต่งเอาไว้ แล้วเราก็ลืมหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเราเหมือนกัน นั่นก็คือปล่อยจิตให้เป็นอิสระ

ฆราวาสบรรลุธรรมได้ แต่คุณต้องทำหน้าที่ของคุณ คุณยังใช้ชีวิตอยู่ได้ ฆราวาสไปเป็นผู้ขอไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่ภิกษุ (ภิกขุ ในภาษาบาลีแปลว่า ผู้ขอ) คุณยังต้องทำงาน คุณมีพ่อแม่ มีครอบครัว มีลูกไปแล้ว มีสามีภรรยาไปแล้ว ก็อยู่กับเขา และก็จงดูแลเขา ให้ความรักความอบอุ่น แต่อย่าลืมหน้าที่มาชำระจิตให้บริสุทธิ์ ให้แบ่งหน้าที่ในการมาภาวนาศีล แล้วก็บำเพ็ญจิตบ้าง ไม่ใช่ตลอด ปีหนึ่งสองครั้งก็ยังดี เช้าเย็นเรายังต้องอาบน้ำทุกวัน เพราะกายมันมัวหมอง เพราะวันหนึ่งเราปรุงแต่งตลอด แต่ถ้าหากว่าเราแบ่งเวลาสั่งครึ่งชั่วโมง อย่างน้อยชั่วโมงหนึ่ง มาดูจิต มาชำระจิต เพียรภาวนาสิ่งที่มันเข้ามาทำให้จิตมัวหมองบ้างก็จะดี ปีหนึ่งก็อาจจะออกไปภาวนาเก็บตัวสัก 7-10 วัน แค่นี้ก็สามารถบรรลุทางแห่งธรรมได้

• อย่างที่อาจารย์พิสูจน์ให้เห็นจนถึง ณ ตอนนี้

อาจารย์ยืนหยัดในความเป็นฆราวาสผู้บำเพ็ญตนทางธรรมอย่างยิ่ง ยืนหยัดให้เห็นว่าไม่ได้ทิ้งอะไรเลย เราอยู่กับครอบครัว มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แล้วยังใช้ชีวิตปกติ ไปตลอด ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นละเรื่องการงานที่มันเป็นตันหา เพราะงานเดิมมันเป็นปัญหา ไปปั่นกิเลส ทีนี้ถ้าสังคมเราเข้มแข็งขึ้นมา แล้วก็มีปัญญา ก็ทำให้เราช่วยกันทำให้สังคมแข็งขึ้นมาได้ ฉะนั้นที่สำคัญก็คือว่า อาจารย์ต้องปลุกธรรมแท้ขึ้นมา เพราะพุทธส่วนใหญ่ในขณะนี้มันคือพุทธทะเบียนบ้าน ไม่ได้เดินตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เกิดมาพ่อแม่ก็ใส่ในบัตร ไม่ได้สนใจ แม้กระทั่งเรื่องศีล 5 ก็ไม่ได้สนใจจะรักษา แล้วก็เน้นความเป็นพุทธขอพร ขอกันแต่พร เวลาสังเกตเราไปที่วัด แม้กระทั่งที่วัดเอง ตามป้ายโฆษณายังบอกว่าไปวัดไปขอพร คุณไม่ได้คิดจะสอนให้คนมีศีลมีธรรม หรือไม่ได้สอนให้เขามีความหนักแน่นในศีลธรรมเลย เอาแต่ขอ กลายเป็นพุทธช่างขอ

นอกจากนี้ยังมีพุทธที่มัวแต่เดินหน้าบูชาของขลัง มีอยู่ 2 อย่าง เท่านั้น ไม่มีศรัทธาในการเดินทางสู่อริยมรรค เราจึงใช้ชีวิตเต็มที่ไปเลย โดยที่ไม่สนใจเรื่องศีลธรรม ไม่สนใจเรื่องการฝึกน้อมจิต เพราะว่าเขาไม่เข้าใจว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นที่จิต จิตมันพามาก่อน จิตที่ดีงาม จิตที่เป็นตัวสั่งการให้เราคิด พูด ทำ แต่เรากลับไม่ให้ความสำคัญกับจิต และพอใครพูดถึงเรื่องจิตก็ไปบอกเขาว่างมงาย พอใครจะปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา ก็บอกเขาว่างมงาย แล้วไอ้ที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ อะไรเป็นตัวผลักดันเรา จิตมันผลักดันทั้งสิ้น ทีนี้ถ้าจิตของเราบริสุทธิ์ จิตของเรามีธรรมแล้ว การกระทำของเราก็จะมีการกระทำที่มีคุณค่า อยู่ในศีลในธรรมทั้งสิ้น ฉะนั้นมันต้องเริ่มต้นที่จิต การที่ให้ความสำคัญกับจิตไม่ใช่ความงมงาย นี่คือความเพี้ยนของสังคมบ้านเราที่อาจารย์เจอ แม้แต่ศิษย์หลายคนที่มาปฏิบัติธรรมไม่ได้ เพราะพอพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม พ่อแม่ครอบครัวบอกว่างมงาย นี่เราเอาธรรมของพระพุทธองค์ไปลดราคาเป็นความงมงาย สังคมมันก็เลยวิกลอย่างนี้

ก็อยากให้พัฒนากันมากขึ้น พระพุทธองค์ทรงสอนว่าธรรมะมีหลายระดับ มีตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ระดับกลาง และระดับสูงที่สุด อย่างน้อยที่สุด เอาล่ะ คุณก็ยังไม่ดูดาย คุณก็ยังมีใจให้กับพุทธศาสนา แต่ขอให้อย่าหยุดตัวเองแค่นั้น รู้สึกยินดีที่ตัวเองได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธรรมเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ฆราวาส รู้สึกดีใจที่ตัวเองได้มีโอกาสตรงนี้ แล้วก็ได้เข้ามาสู่ทางอริยมรรคของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มตัว ไม่ใช่เป็นแค่คนที่ท่องอ่านตำราแล้วคิดว่าตัวเองรู้แล้ว ก็คือยินดีกับความสำเร็จของศิษย์แล้วก็มีความรู้สึกว่าเรายังต้องทำงานอีกเยอะมาก เพราะว่าโลกนี้โดยเฉพาะในดินแดนพระพุทธศาสนานี้ เต็มไปด้วยพุทธขอพร เราพยายามรณรงค์ไม่เป็นพุทธขอพร ตรงนี้พยายามจะแก้ไขให้ได้สัมฤทธิผลมากที่สุด

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร และโรงเรียนแห่งชีวิต

กำลังโหลดความคิดเห็น