xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 31 ม.ค.-6 ก.พ.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“บิ๊กตู่” ให้ ครม.อ่านร่าง รธน.1 สัปดาห์ ก่อนส่งความเห็น กรธ. ขณะที่ พท.-นปช.ประกาศคว่ำ-เหน็บ ปชป.แทงกั๊ก ด้าน “อภิสิทธิ์” ซัด ไม่ใช่เวลามานั่งทะเลาะ!
 (บนซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (บนขวา) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. (ล่างซ้าย) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป.(ล่างขวา) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้เผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเมื่อวันที่ 29 ม.ค.หลังใช้เวลาในการร่าง 77 วัน โดยมี 270 มาตรา ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.แถลงว่า เป็นร่างที่เน้นให้มีกลไกในการป้องกันการทุจริต ไม่ให้คนทุจริตเข้าสู่อำนาจ ทั้งนี้ กรธ.ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้แม่น้ำ 4 สาย(คสช.-ครม.-สนช.-สปท.) รวมถึงองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา รวมถึงสื่อมวลชน ให้ช่วยดู หากมีข้อเสนอแนะ ให้ส่งกลับ กรธ.เพื่อพิจารณาปรับปรุงได้ภายในวันที่ 15 ก.พ.

ปรากฏว่า ในส่วนของ ครม.ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ได้พิจารณาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญร่างแรก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ ครม.กลับไปอ่านร่างรัฐธรรมนูญ แล้วทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมาให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 10 ก.พ. ซึ่งนายวิษณุ บอกว่า หลังจากได้ความเห็นจาก ครม.แล้ว ตนจะใช้เวลา 3-4 วัน ในการเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ มาช่วยดู เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ อัยการ ฯลฯ ก่อนทำเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้ กรธ. ซึ่งต้องให้นายกฯ ลงนามก่อน นายวิษณุ เผยด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้รัฐธรรมนูญมีหมวดเกี่ยวกับการปฏิรูปหมวดหนึ่งเลย ไม่ควรไปซุกอยู่ตรงไหน โดยให้ กรธ.ช่วยคิดอีกครั้ง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) นั้น ได้ประชุมร่วมกับ กรธ.เมื่อวันที่ 3 ก.พ. เพื่อฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญร่างแรกจาก กรธ. พร้อมเปิดโอกาสให้ สนช.และ สปท.ได้ซักถามข้อสงสัย ทั้งนี้ สปท.ได้นัดประชุมเพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ สปท.ในวันที่ 8-9 ก.พ.นี้ จากนั้นให้คณะกรรมาธิการแต่ละคณะของ สปท.สรุปข้อคิดเห็นเสนอต่อประธาน สปท.ในวันที่ 12 ก.พ. เพื่อส่งความเห็นไปยัง กรธ.ภายในวันที่ 15 ก.พ. ขณะที่ สนช.ได้ประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ.เมื่อวันที่ 5 ก.พ. โดยติดใจเรื่องการเลือก ส.ว.ที่ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากกลุ่มวิชาชีพ 200 คน ซึ่งหวั่นว่าจะเกิดการฮั้ว บล็อกโหวต และซื้อเสียง รวมถึงการเลือกตั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในบัตรใบเดียว ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ในการเลือก ส.ส.ของประชาชน

สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 10 ก.พ.นี้ โดยประเด็นที่จะหารือ ได้แก่ การกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ขัดขวางการทำประชามติ การกำหนดข้อห้ามต่างๆ การกำหนดวันออกเสียงประชามติ หลักเกณฑ์ในการนับคะแนน จะแจกจ่ายรัฐธรรมนูญอย่างไร จะเชิญชวนประชาชนให้มาออกเสียงประชามติอย่างไร รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในการทำประชามติ

ส่วนปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ต่อรัฐธรรมนูญร่างแรกนั้น ปรากฏว่า มีทั้งหนุนและค้าน ทั้งชมและติ เช่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดี 5 ข้อ คือ 1.ตัดสิทธิไม่ให้คนทุจริตคอร์รัปชันและคนทุจริตการเลือกตั้งลงเล่นการเมืองตลอดชีวิต 2.ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หยิบยกกรณีที่น่าสงสัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริต สามารถไต่สวนเองได้ โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้อง 3.เพิ่มหมวดใหม่ให้คนไทยทุกคนมีหน้าที่ไม่สนับสนุนการทุจริต ขณะที่รัฐมีหน้าที่หากลไกป้องกันและขจัดการทุจริตอย่างเข้มงวด 4.ให้อำนาจองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.), ป.ป.ช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติร่วมกันเพื่อทักท้วงรัฐบาล กรณีมีการดำเนินนโยบายก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศอย่างรุนแรง เช่น โครงการรับจำนำข้าว หากรัฐบาลไม่ฟังคำทักท้วง รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนตามรัฐธรรมนูญในอนาคต และ 5. ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัย เพื่อหาข้อยุติในประเด็นที่ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สังคมได้ข้อยุติร่วมกัน ซึ่งนายจุรินทร์ เห็นว่า การให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ดีกว่าการตั้งองค์กรใหม่ อย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) มาเป็นผู้วินิจฉัย

สำหรับท่าทีของพรรคเพื่อไทย(พท.) และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ประกาศชัดเจนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และจะรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ประกาศว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะโหดกว่า ผมขอประกาศว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นเผด็จการ 100 ครั้ง ประชาชนก็คว่ำ 100 ครั้ง ให้รู้กันว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการ วาระสุดท้ายจะเป็นอย่างไร”

ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเหน็บพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ว่าแทงกั๊ก ไม่ยอมบอกว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พร้อมพูดถึงกรณีที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ายังไม่มีแนวคิดจะจับมือพรรคเพื่อไทยคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า พรรคเพื่อไทยก็เห็นตรงกับนายองอาจ จะไม่จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรอยู่แล้ว เพราะจุดยืน ทัศนคติ อุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และว่า พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่อิงแอบเผด็จการ ไม่ต้องใช้ทหารเป็นตัวช่วยพิเศษตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการมองว่าพรรคประชาธิปัตย์แทงกั๊ก ไม่แสดงความเห็นให้ชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องแทงกั๊ก แต่เห็นว่าสังคมต้องทบทวนให้ดีว่าบ้านเมืองอยู่ที่จุดไหน กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญอยู่ในขั้นตอนใด การพยายามบีบให้คนออกมาพูดว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเกิดเผชิญหน้ากัน ตนมองว่าไม่ได้เป็นผลดีต่อประเทศ “ทุกคนควรมาช่วยกันว่าทำอย่างไรให้เราได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับ... ผมว่าหน้าที่ทุกคนไม่ใช่มานั่งทะเลาะกัน แต่หน้าที่ของทุกคนตอนนี้คือ เสนอแนะว่าอะไรที่ดีควรจะคงไว้ อะไรที่ไม่ดีจะแก้ไข ไม่ใช่เรื่องรับหรือไม่รับ เพื่อที่ประเทศจะได้เดินไปข้างหน้า”

2.ปิดฉากคดีโกงเลือกตั้ง ทรท.จ้างพรรคเล็ก ศาลฎีกายืนจำคุกเจ้าหน้าที่ กกต.-แกนนำพรรคเล็ก ส่วน “พล.อ.ธรรมรักษ์” ผู้ว่าจ้าง ลอยนวล เหตุอัยการไม่ฎีกา!

(บน) พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและอดีต รมว.กลาโหม (ล่าง) 2 ใน 5 จำเลยในคดีนี้
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย, นายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายชวการ หรือกรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย, นายสุขสันต์ หรือจตุชัย ชัยเทศ อดีตผู้อำนวยการการเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และ 11

โดยโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2553 สรุปว่า ระหว่างวันที่ 2-7 มี.ค. 2549 ต่อเนื่องกัน พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับนายชวการ จำเลยที่ 3 จ้างวานให้นายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต โดยมอบเงินค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้ดำเนินการตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อ ข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยไม่ครบ 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2555 ว่า จำเลยทั้งหมดกระทำผิดจริง โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนเดียวที่มีรหัสผ่านเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรค และได้สารภาพกับเจ้าหน้าที่ กกต.ว่าไปรับเอกสารจากจำเลยที่ 5 และนำแก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยจริง ส่วนจำเลยที่ 3 เคยให้การว่า ได้รับการติดต่อจากนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิท พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 อยากพบ จึงได้เดินทางไปพบทั้งที่พรรคไทยรักไทยและที่กระทรวงกลาโหม และได้รับเงินเพื่อมาแบ่งให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพัฒนาชาติไทย หลายครั้ง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่พรรคฝายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยมีเพียงพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กเท่านั้นที่ส่งผู้สมัคร จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า หากพรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียว โดยเฉพาะใน 14 จังหวัดภาคใต้ พรรคไทยรักไทยย่อมไม่มีโอกาสได้รับเลือกเกิน 20% ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการที่นายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 จัดส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งโดยเน้นจังหวัดภาคใต้ จึงสมประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย ประกอบกับพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบ ก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหรือหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ากระทำผิดจริง ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ,3 ,4 และ 5 คนละ 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต.ให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน พร้อมทั้งให้ริบเงินสดของกลาง 30,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งหมดยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอลงอาญา

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2557 โดยพิพากษาแก้ลดโทษให้จำเลยที่ 2 จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 3-5 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเป็นการกระทำที่ทำลายระบอบประชาธิปไตยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หนักเกินไป จึงเห็นควรแก้โทษเหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

สำหรับ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญานั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า แม้โจทก์จะมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด ที่ได้จากกระทรวงกลาโหม ที่พวกจำเลยเข้าไปยังกระทรวงกลาโหม และออกจากกระทรวงกลาโหม โดยมีซองสีขาวในมือ แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าพวกจำเลยได้เข้าไปพบจำเลยที่ 1 ภายในห้องรับรอง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบซองที่อาจจะมีการบรรจุเงินในซองดังกล่าว ให้กับจำเลย จริงหรือไม่ ขณะที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด มีเพียงคำให้การของจำเลยที่ 3 และ 4 ในชั้นสอบสวนเท่านั้นว่าไปพบจำเลยที่ 1 ซึ่งคำให้การดังกล่าวเสมือนเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง เพราะคดีมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3-5 สนับสนุนจำเลยที่ 2 กระทำผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ พิพากษาแก้ ยกฟ้อง จำเลยที่ 1

ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา และจำคุกจำเลยที่ 3-5 คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนของ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 นั้น คดีสิ้นสุดในชั้นศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากอัยการไม่ยื่นฎีกา

เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคมไม่ทราบมาก่อนว่า อัยการไม่ยื่นฎีกาในส่วนของ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง มาทราบเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งที่ปกติแล้ว หากศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง อัยการต้องยื่นฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาด การกระทำของอัยการคดีนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุใดจึงทำเหมือนช่วยจำเลยไม่ให้ติดคุก ด้วยการตัดตอนคดีในส่วนของ พล.อ.ธรรมรักษ์ ไม่ให้ถึงมือศาลฎีกา

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ความผิดกรณีพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็ก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีมติ 9 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 ให้ยุบพรรคไทยรักไทย-พรรคพัฒนาชาติไทย-พรรคแผ่นดินไทย พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งสามเป็นเวลา 5 ปี

3.ดีเอสไอ อายัดทรัพย์สิน “ศุภชัย” คดีโกงสหกรณ์ฯ คลองจั่นอีกกว่า 500 ล้าน จ่อเชือด “ธัมมชโย-ธรรมกาย” ฐานรับของโจร-ฟอกเงิน กรณีรับเช็คกว่า 2,000 ล้าน!

(บน) พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (ล่าง) นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนักการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ), พ.ต.ท.สมบรูณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักการเงิน การธนาคาร ดีเอสไอ ได้ร่วมประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและคณะพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาคำสั่งของนายนภดล บุญศร อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 4 ในคดีพิเศษเกี่ยวกับกรณีทุจริตยักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ การพิจารณาฐานความผิดของกลุ่มผู้รับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ประกอบด้วย กลุ่มวัดพระธรรมกาย, กลุ่มบริษัท เอส ดับบลิวโฮลดิ้ง จำกัด, กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี, กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา, นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ และกลุ่มญาติธรรม

หลังประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง พ.ต.ท.ปกรณ์ แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินคดีฟอกเงินกับนายศุภชัย กับผู้ที่มีชื่อรับเช็คจำนวน 878 ฉบับ โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ดีเอสไอแยกการสอบสวนออกเป็น 7 กลุ่ม ตามความสัมพันธ์ของธุรกรรมการเงิน ประกอบด้วย 1.นิติบุคคลที่มีมูลหนี้ต่อกัน 2.วัดพระธรรมกาย 3.สหกรณ์อื่นๆ 4.ผู้ต้องหาและผู้ที่เข้าข่าย 5.บุคคลธรรมดา 6.นายหน้าค้าที่ดิน และ 7.นิติบุคคลที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน

สำหรับกลุ่มที่จะถูกดำเนินคดีข้อหารับของโจรและฟอกเงินนั้น อยู่ในกลุ่มบุคคลและกลุ่มนิติบุคคลใน 7 กลุ่ม ที่รับเช็คจากสหกรณ์ฯ รวมเป็นเงินราว 7,000-8,000 ล้านบาท และเป็นกลุ่มที่รับเช็คโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มวัดพระธรรมกายและเครือข่ายที่มีการรับบริจาคโดยไม่มีมูลหนี้รวมกว่า 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินบริจาคให้วัดผ่านบัญชีพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย จำนวนประมาณ 800 ล้านบาท และพระรูปอื่นในเครือข่ายวัดพระธรรมกายประมาณ 20 รูป ที่ได้รับเช็คจากนายศุภชัย อีกรวมประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งดีเอสไอจะพิจารณาสอบสวนหาความจริงต่อไป เพื่อดำเนินการตามที่ทางอัยการได้สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม และหากพบว่ามีทรัพย์สินที่ได้จากการยักยอกสหกรณ์หลงเหลืออยู่กับบุคคลใด พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสั่งยึดอายัดทันที

ด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวว่า พนักงานอัยการยังได้ทำหนังสือแจ้งให้ดีเอสไอ ดำเนินการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร, น.ส.ศรันยา มานหมัด, นายลภัส โสมคำ และนายกฤษดา มีบุญมาก ฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง และร่วมกันปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์ และให้สอบสวนเพิ่มเติมกรณีนางทองพิน กันล้อม และบุคคลอื่น ร่วมกันลงลายมือชื่อกับนายศุภชัย เพื่อจ่ายเช็คของสหกรณ์ฯ อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายจิรเดช วรเพียรกุล และนายวัฒชานนท์ นวอิศรารักษ์ ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ ตามที่พนักงานสอบสวนชุดเดิมมีความเห็นไปก่อนหน้านี้ แต่ให้พิจารณาความผิดฐานรับของโจรหรือฟอกเงินแทน

นอกจากนี้ ดีเอสไอยังได้อายัดทรัพย์สินของนายศุภชัย เพิ่มเติมอีก 3 รายการ ประกอบด้วย เงินที่นายศุภชัย โอนให้กับนายสุวิทย์ ฤทธิศร จำนวน 168 ล้านบาท โดยนายสุวิทย์ นำเงินไปซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างรีสอร์ทมูลค่า 20 ล้านบาท, ที่ดิน 1,984 ไร่ ที่ ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มูลค่า 367 ล้านบาท และที่ดินใน จ.มหาสารคาม เนื้อที่ 3 ไร่เศษ มูลค่า 23 ล้านบาท

4.ดีเอสไอ ส่งหนังสือทวงสำนักพุทธฯ ชง มส.ลงมติ “ธัมมชโย” ปาราชิกตามลิขิตพระสังฆราช ขณะที่ “พศ.-มส.” ส่อป้องธัมมชโย!

(บน) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ (ล่าง) พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เผยความคืบหน้ากรณีที่ดีเอสไอส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อให้พิจารณาพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช หลังถือครองที่ดินและทรัพย์สินเข้าข่ายกระทำผิดว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และอยู่ในความรับผิดชอบของมหาเถรสมาคม (มส.) ที่จะต้องวินิจฉัยกรณีดังกล่าวว่าผิดหรือไม่ ซึ่งหากผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องดูกันอีกที โดยหนังสือจากดีเอสไอยังไม่ใช่การชี้มูลความผิด แต่เป็นการแจ้งประสาน พศ. ให้ดำเนินการ และหากไม่ดำเนินการ พศ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

พ.ต.ตวรณัน กล่าวอีกว่า ดีเอสไอส่งหนังสือให้ พศ. ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทาง พศ. ทำหน้าที่เลขานุการของ มส. ไม่มีอำนาจในการไปกำหนดให้พระปาราชิกได้ แต่สามารถเสนอเรื่องเข้าไปยังการประชุมของ มส. เพื่อให้พิจารณาในลำดับต่อไป ส่วนการประชุมของ มส. จะมีมติอย่างไร ตอบไม่ได้ แต่จะต้องมีการแจ้งตอบกลับมายังดีเอสไอ ให้ทราบถึงมติ มส. ว่าออกมาอย่างไร ซึ่งหากมติ มส. ออกมาแล้ว และมีผู้ไม่เห็นด้วย ก็สามารถใช้สิทธิในการฟ้องร้องคดีเองได้ หรือมาร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการเอาผิดกับ มส. ได้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับมติของ มส. พร้อมเสนอให้รื้อกระบวนการพิจารณากันใหม่

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(4 ก.พ.) นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการ พศ. กล่าวถึงหนังสือที่ดีเอสไอส่งให้ พศ.ว่า พศ.ได้ศึกษาในข้อสงสัยตามที่ดีเอสไอระบุในหนังสือเข้าใจแล้วทุกรายละเอียด และ พศ.มีคำตอบสำหรับทุกข้อสงสัยแล้ว ขอหารือกับคณะสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเข้าพบดีเอสไอภายในสัปดาห์หน้า และอาจจะจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ

มีรายงานว่า แหล่งข่าวใกล้ชิด มส.กล่าวว่า คดีของพระธัมมชโยที่เซ็นรับรองที่ดินเป็นชื่อของพระธัมมชโย จนมีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีฐานถือครองที่ดินและทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายนั้น ทาง มส.ตรวจสอบตามกระบวนการคณะสงฆ์และมีมติออกมานานแล้วว่า พระธัมมชโยไม่ผิดถึงขั้นอาบัติปาราชิก ซึ่งขั้นตอนของคณะสงฆ์ได้เสร็จสิ้นกระบวนการไปนานแล้ว และตามหลัก ถ้ามีญาติโยมมาถวายปัจจัย หรือที่ดินให้กับวัด ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาสต้องเป็นผู้เซ็นรับเป็นรูปแรก เพราะเจ้าอาวาสเป็นตัวแทนของวัด ทำการแทนวัดในฐานะนิติบุคคล ในกรณีนี้ พระธัมมชโยดำเนินการในฐานะของเจ้าอาวาส สิ่งใดที่เขาถวายวัด เจ้าอาวาสต้องเป็นผู้รับ หากเจ้าอาวาสไม่เซ็นรับ ถามว่าใครจะเป็นผู้เซ็นรับ

ด้านพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 2 ก.พ. เพื่อขอให้เอาผิด มส. และ พศ. ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและดีเอสไอ ตรวจสอบพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชและมีความเห็นว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก และคืนทรัพย์สินที่ยักยอกไป แต่ มส.และ พศ.กลับไม่ดำเนินการตามพระบัญชา และมีการเสนอให้ขอพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระแก่พระธัมมชโยอีก จึงถือว่า มส.และ พศ.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่มีหน้าที่กำกับดูแลปกครองคณะสงฆ์ จึงขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเอาผิดด้วย

5.ผู้ค้าชาวเขมรตลาดโรงเกลือกว่า 400 คน รุมทำร้าย จนท.ดีเอสไอ เจ็บ 8 ราย หลังไม่พอใจยึดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ด้านศาลสระแก้วสั่งจำคุกแล้ว 2 ราย!

ภาพหลังเกิดเหตุผู้ค้าชาวกัมพูชารุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและทุบทำลายรถของเจ้าหน้าที่เมื่อ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ได้เกิดเหตุชุลมุนขึ้นบริเวณตลาดโรงเกลือ ล็อกซี อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยกลุ่มผู้ค้าชาวกัมพูชากว่า 400 คน ได้ใช้กำลังปิดล้อมและทำร้ายเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ประมาณ 30 นาย นำโดย พ.ต.ท.นิรุต พัฒนรัฐ ส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 3 เนื่องจากไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในร้านค้าต่างๆ ทั้งนี้ ไม่เพียงผู้ค้าชาวกัมพูชาจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ แต่ยังทุบทำลายรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งรถบรรทุก 6 ล้อที่ใช้บรรทุกของกลางสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะเดียวกันผู้ค้าดังกล่าวยังขนข้าวของที่ถูกยึดกลับคืนด้วย

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว และเจ้าหน้าที่ทหาร กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 19 (มทบ.19) อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้รับแจ้ง จึงสนธิกำลังเข้าระงับเหตุ จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลคลองลึกแล้ว เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.คลองลึก เพื่อดำเนินคดีกับผู้ค้าที่รุมทำร้ายเจ้าหน้าที่และทุบทำลายรถ

ด้าน พล.ต.สุริยา ปาวรีย์ ผบ.มทบ.19 ได้เชิญ พ.ต.ท.นิรุต และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เข้าสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ตำรวจ สภ.คลองลึก ได้เข้าสืบสวน เบื้องต้นคาดว่า เหตุเกิดจากผู้ค้าชาวกัมพูชากลัวว่า หากถูกจับกุมดำเนินคดี จะมีโทษปรับถึง 10 ล้านบาท จึงทำให้ผู้ค้ารวมตัวต่อสู้ขัดขวางการจับกุม อีกทั้งเมื่อก่อเหตุแล้ว สามารถหนีกลับประเทศกัมพูชาได้ง่าย

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ค้าชาวกัมพูชาที่ร่วมก่อเหตุได้แล้ว 2 คน คือ นายสมโอน กง อายุ 22 ปี เจ้าของร้านขายที่นอน และนายสัยหา ยิม อายุ 23 ปี เจ้าของร้านขายเครื่องมือรถ ซึ่งมีแผงค้าบริเวณล็อกซี ในตลาดโรงเกลือ โดยทั้งสองให้การรับสารภาพตลอดข้อหา พร้อมอ้างว่า ไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ โดยบอกว่า ที่ผ่านมา มักจะมีกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาในพื้นที่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานขอเก็บเงินโดยไม่มีเหตุผล จนทุกวันนี้ผู้ค้าแทบจะอยู่กันลำบาก ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ขายสินค้ายากอยู่แล้ว

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 ก.พ. พนักงานสอบสวน สภ.คลองลึก ได้คุมตัว 2 ผู้ต้องหาชาวเขมรไปฟ้องต่อศาลแขวงจังหวัดสระแก้ว เพื่อให้ผู้พิพากษาตัดสิน เนื่องจากไม่ต้องฝากขัง เพราะผู้ต้องหารับสารภาพและเจ้าหน้าที่สอบสวนเสร็จแล้ว โดยศาลจังหวัดสระแก้ว พิพากษาจำคุกผู้ต้องหาทั้งสองคนๆ ละ 3 เดือน

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเกิดเหตุผู้ค้าชาวกัมพูชารุมทำร้ายเจ้าหน้าดีเอสไอและทุบทำลายรถขณะเข้าตรวจยึดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจะเข้าตรวจยึดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ควรจะประสานกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นก่อน ทั้งตำรวจและทหาร เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจากการสอบถามทราบว่า ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไม่ได้ประสานก่อน

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งจากบริษัทคนไทยและต่างประเทศ จึงเข้าไปดำเนินการ ซึ่งสามารถทำได้ตามหลักการ ไม่เข้าใจว่า บริเวณนั้นเป็นพื้นที่เฉพาะหรือ จึงต้องมีการรายงานใคร ยืนยันว่า หากมีสินค้าผิดกฎหมาย ดีเอสไอสามารถเข้าไปได้ทุกที่ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำงาน

ขณะเดียวกัน ดีเอสไอได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเกี่ยวกับการเข้าจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ตลาดโรงเกลือว่า มีผู้ไม่หวังดีเผยแพร่บนเฟซบุ๊กบิดเบือนข้อเท็จจริง กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริต ไม่ประสานหน่วยงานในพื้นที่ก่อน จึงขอชี้แจงว่า ดีเอสไอได้รับการร้องขอจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยตั้งแต่เดือน ก.ย.2558 ให้ปราบปรามจับกุมผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทน้ำหอมจำนวนมากบริเวณตลาดโรงเกลือ หลังสืบสวน พบว่ามีมูลความผิด มีของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมาก ทำเป็นธุรกิจขนาดใหญ่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และน่าจะทำเป็นเครือข่าย อธิบดีดีเอสไอจึงสั่งให้สอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

และว่า ก่อนเกิดเหตุ ดีเอสไอได้ขอหมายค้นต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว ซึ่งศาลอนุมัติ ก่อนเข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 3 ก.พ. เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอประมาณ 50 คน และตัวแทนผู้เสียหาย ได้เข้าตรวจค้น พบของกลางเป็นน้ำหอมยี่ห้อต่างๆ มากกว่า 20,000 ขวด จึงควบคุมผู้ครอบครองไว้เพื่อบันทึกจับกุม ระหว่างนั้น เริ่มมีกลุ่มชาวกัมพูชาเข้ามาล้อม ส่งเสียงข่มขู่ และขว้างปาก้อนหินใส่ เมื่อเจ้าหน้าที่ขนของกลางขึ้นรถ มวลชนซึ่งมีแกนนำก็เข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ จนได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ทางราชการเสียหาย นอกจากนี้ยังได้ชิงตัวผู้ต้องหาและของกลางที่เจ้าหน้าที่ขนขึ้นรถออกมาบางส่วน เมื่อสถานการณ์บานปลาย เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาระงับเหตุ

แถลงการณ์ของดีเอสไอ ระบุด้วยว่า เรื่องนี้หากเป็นกรณีปกติ กำลังเจ้าหน้าที่ 50 นาย สามารถปฏิบัติการได้โดยไม่ต้องแจ้งประสานขอสนธิกำลังกับหน่วยงานใด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีผู้ค้าชาวกัมพูชาที่ตลาดโรงเกลือรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ มีแกนนำและทำเป็นขั้นเป็นตอน จึงอาจมีผู้อยู่เบื้องหลัง อาจเป็นผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากขบวนการค้าสิ่งของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และอาจเป็นความผิดอาญาเรื่องฟอกเงิน ซึ่งดีเอสไอจะสืบสวนขยายผลต่อไป ทั้งนี้ ดีเอสไอได้เตรียมประชุมร่วมกับพาณิชย์จังหวัด ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ในการประชุมสระแก้วโมเดล ที่ จ.สระแก้ว วันที่ 9 ก.พ.นี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ซ้ำรอยที่ผ่านมาอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น