xs
xsm
sm
md
lg

ปตท. แจงทุกข้อกล่าวหา ยืนยันธุรกิจโปร่งใส ไม่หวั่นการตรวจสอบจากสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บทสัมภาษณ์ดังต่อไปนี้เป็นไปตามข้อตกลงในการไกล่เกลี่ยของศาลอาญากรุงเทพใต้ ระหว่างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ฝ่ายโจทก์ กับบุคคลในเครือ ASTV - ผู้จัดการ ฝ่ายจำเลย โดยที่ไม่ได้มีการสรุปว่าฝ่ายโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายถูกหรือผิดหรือไม่อย่างไร แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายโจทก์ได้ชี้แจงข้อมูลของฝ่ายตนเองในอีกด้านหนึ่งตามบทบาทของสื่อมวลชนเท่านั้น และมิได้มีความหมายว่าฝ่ายจำเลยจะเห็นด้วยตามคำชี้แจงของโจทก์หรือไม่อย่างไร และฝ่ายจำเลยไม่ได้รับผลตอบแทนหรือค่าโฆษณาจากคำสัมภาษณ์นี้ของโจทก์แต่ประการใด(("บทสัมภาษณ์ "ปตท. แจงทุกข้อกล่าวหา ยืนยันธุรกิจโปร่งใส ไม่หวั่นการตรวจสอบจากสังคม" ได้มีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 24ธันวาคม 2558)

ทั้งนี้ เพื่อให้ ปตท. ได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวหาให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ปตท. โดย นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ยังมีการกล่าวอ้างโจมตีว่า ปตท. ส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบและนำสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร

ตอบ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือ ปตท. ได้ส่งคืนท่อก๊าซครบถ้วนแล้วตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด โดยลำดับเหตุการณ์ ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ให้ ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งได้รับโอนมาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยนั้น ในวันที่ 18 ธันวาคม 2550 หรืออีก 4 วันถัดมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งหลักการดังกล่าวมีที่มาจากคำวินิจฉัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยมีทรัพย์สินที่จะต้องโอนคืนกลับไปให้กับกระทรวงการคลัง ดังนี้

1. ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งเกิดจากการที่การปิโตรเลียมฯ ได้ใช้เงินทุนจากรัฐ และใช้อำนาจมหาชนเวนคืนที่ดิน

2. สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนที่การปิโตรเลียมฯ ใช้อำนาจมหาชน (รอนสิทธิ) เหนือที่ดินเอกชนและจ่ายเงินค่าทดแทนโดยอาศัยทรัพย์สินของรัฐ

3. ทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซฯ และอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อฯ ซึ่งการปิโตรเลียมฯ ใช้อำนาจมหาชนเหนือที่ดินเอกชนและจ่ายเงินค่าทดแทนโดยใช้เงินการปิโตรเลียมฯ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงการพลังงานรับไปดำเนินการ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง โดยหากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ก็ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ

หลังจากนั้นต่อมา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 กรมธนารักษ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับการรับโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยมีผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทน ปตท. ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กรมธนารักษ์ก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 ธันวาคม 2551 แจ้งมายัง ปตท. ให้รายงานผลการแบ่งแยกทรัพย์สินต่อศาลฯ

ปตท. จึงได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยได้รายงานความเป็นมาของเรื่องทั้งหมด ตั้งแต่การกำหนดเกณฑ์การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลฯ การรายงานการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ ปตท.ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมจำนวน 9 ครั้ง จนกระทั่งการโอนทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษามีความครบถ้วนสมบูรณ์ และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลฯ จึงได้มีคำสั่งในคำร้องรายงานสรุปดังกล่าวว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯ ไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ปตท. ต้องคืนกระทรวงการคลัง พร้อมกับแนบรายงานการตรวจสอบของ สตง. ประกอบท้ายคำร้องมาด้วย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 นั้น ศาลฯ ได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวในวันเดียวกัน และสั่งว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท.) ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ศาลปกครองยังได้มีคำสั่งในเรื่องนี้อีกหลายคราวยืนยันแล้วว่า ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. มีการระบุว่า ปตท. ยื่นคำร้องรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จต่อศาลปกครอง เพราะไม่ได้นำหนังสือทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ซึ่งระบุว่า ปตท. ยังส่งมอบทรัพย์สินตามคำพิพากษาไม่ครบถ้วน มาเสนอต่อศาลก่อนการยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา

ตอบ ตามข้อเท็จจริงแล้วในช่วงระยะเวลานับตั้งแต่ที่ศาลฯ มีคำพิพากษา จนกระทั่งถึงวันที่ ปตท.ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินต่อศาลฯ ปตท. ไม่เคยได้รับหนังสือทักท้วงจาก สตง. ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2551 ปตท. ได้มีหนังสือถึง สตง. จัดส่งรายละเอียดทรัพย์สินระบบท่อฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 เพื่อประกอบการตรวจสอบและรับรองการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 ปตท. ก็ได้มีหนังสือถึง สตง. จัดส่งสรุปมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษา ประกอบกับ เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 กระทรวงการคลังก็ได้มีหนังสือแจ้ง สตง. ว่าได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ต้องโอนให้กระทรวงการคลังแล้ว พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินจะต้องรายงานศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาหรือไม่

จนกระทั่งวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่ศาลฯ มีคำสั่งในคำร้องในรายงานสรุปการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ไปแล้ว ปตท. ถึงได้รับหนังสือทักท้วง ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 จาก สตง. เพื่อแจ้งผลรายงานการตรวจสอบของ สตง. สรุปว่ามูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลฯ โดยหนังสือฉบับดังกล่าวได้แนบข้อสังเกตประกอบรายงานการตรวจสอบของ สตง. ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ที่อยู่ในระหว่างการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาฯมาด้วย

กล่าวโดย สรุปจะเห็นว่า ในระหว่างการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาซึ่งรวมระยะเวลาที่ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตามคำพิพากษาจำนวน 4 ครั้ง (วันที่ 29 ธันวาคม 2551 เป็นวันสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการดำเนินการตามคำพิพากษา) รวมระยะเวลาการดำเนินการตามคำพิพากษากว่า 1 ปี ปตท. ไม่เคยได้รับรายงานการตรวจสอบของ สตง. ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ตามที่กล่าวอ้าง แต่ได้รับในวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว

ส่วนประเด็นที่กล่าวอ้างว่าเป็นเพราะศาลฯ ไม่ได้รับรายงานการตรวจสอบของ สตง. ศาลฯ จึงมีคำสั่งเช่นนี้ออกมา ขอชี้แจงให้ทราบว่า ศาลฯ ได้รับรายงานการตรวจสอบของ สตง. ในหลายวาระ (ตามหนังสือ สตง.ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551, หนังสือ สตง. ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งทั้ง 2 ฉบับนี้ สตง. ได้จัดส่งไปยังสำนักงานศาลปกครองโดยตรง โดยหนังสือ สตง. ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ได้ระบุความเห็นในตอนท้ายด้วยว่า “....การดำเนินการแบ่งแยกจะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจารณาซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ...” ) ซึ่งต่อมาภายหลังจากที่ได้รับหนังสือ สตง. ทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองได้มีหนังสือแจ้งไปยัง สตง. ว่า “ได้ติดตามผลการดำเนินการตามคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และรายงานให้ศาลทราบ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นอกจากนี้ในคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ยื่นต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ก็ได้แนบหนังสือทักท้วงของ สตง. เข้าไปด้วย ซึ่งระบุว่า มูลค่าของทรัพย์สินท่อส่งก๊าซฯหากต้องแบ่งแยกเพิ่มเติมตามรายงานการตรวจสอบของ สตง. จะมีประมาณ 32,614 ล้านบาท

จึงเห็นได้ว่า ศาลฯ ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรายงานการตรวจสอบของ สตง. แล้ว และยังมีคำสั่งว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หากเป็นไปตามความเห็นตอนท้ายของหนังสือ สตง. ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ให้คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่ยุติ ดังนั้นเมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งในคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สตง. ควรที่จะยุติเรื่องการทักท้วงตามที่ได้ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าว

3. ในมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ระบุให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาหาข้อยุติหากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความ

คำพิพากษา แต่ทำไม ปตท. จึงไม่ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าว แล้วจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด

ตอบ ตามที่ ครม. มีมติให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องนั้น หมายความว่าให้ สตง. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะของผู้ตรวจสอบบัญชี คือ รับรองจำนวนทรัพย์สินและมูลค่าทางบัญชีเท่านั้น มิได้หมายรวมถึงให้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการแบ่งแยกทรัพย์สินด้วย เพราะความถูกต้องครบถ้วนของการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลฯนั้น องค์กรเดียวที่จะชี้ขาดในเรื่องนี้ได้คือศาลฯ อีกทั้ง มติ ครม.ดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้ต้องยื่นรายงานการตรวจสอบของ สตง. ให้ศาลฯ พิจารณาแต่อย่างใด และตามที่ได้ชี้แจงไปแล้วว่าในระหว่างที่ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ปตท. ก็ไม่เคยได้รับหนังสือทักท้วงจาก สตง. มาก่อน จนกระทั่งมาได้รับในวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฯ มีคำสั่งไปแล้ว นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ในงบการเงินของ ปตท. ซึ่ง สตง. เองเป็นผู้สอบบัญชีก็ไม่เคยมีความเห็นหรือตั้งข้อสังเกตว่า ปตท. ยังแบ่งแยกทรัพย์สินไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาแต่อย่างใด

สำหรับการที่ไม่ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาหาข้อยุติหากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาตามที่คณะรัฐมนตรีได้ระบุไว้นั้น เนื่องจากในการระหว่างการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษามิได้มีประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาแต่อย่างใด

4.นอกจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ดังกล่าวแล้ว ได้ปรากฏว่ามีคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีอื่นอีกหรือไม่ที่ยืนยันว่า ปตท. ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว

ตอบ ข้อเท็จจริง คือ ศาลปกครองได้วินิจฉัยและมีคำสั่งถึง 5 ครั้งแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไล่เลียงตามลำดับ ดังนี้

(1) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดในคดีปกครองหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ได้มีคำวินิจฉัยว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า“...พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 (ปตท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...”

(2) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ ปตท. ต้องแบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษา ศาลปกครองก็ได้พิจารณาและมีคำสั่งในคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลพิพากษาให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดี (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีนี้ อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 (ปตท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ยกคำร้อง”

(3) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 หนังสือสำนักงานศาลปกครองที่แจ้งไปยัง สตง. ว่า “ได้ติดตามผลการดำเนินการตามคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และรายงานให้ศาลทราบ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

(4) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวก รวม1, 455 คน ในคดีหมายเลขดำที่ 2675/2555 ที่ยื่นฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐ และ ปตท. คืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามคำพิพากษาไม่ครบและขอให้ศาลตัดสินให้ ปตท. คืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลด้วย โดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า “ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาว่า ปตท. ได้ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว” และ

(5) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 ไม่รับอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ 2675/2555 (คดีตามข้อ 4 ข้างบน) ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งในตอนหนึ่งว่า “...ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาว่าผลการดำเนินการตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550) เป็นไปโดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว...

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งหมด จึงแสดงให้เห็นว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้รับการยืนยันอีกหลายครั้งจากศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว

5.มีการกล่าวอ้างว่าการลงทุนของ ปตท. ในต่างประเทศมีกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้รัฐ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ได้รับความเสียหาย

ตอบ การลงทุนของ ปตท. มีกระบวนการพิจารณากลั่นกรองการลงทุนเพื่อให้เงินลงทุนที่มีจำกัดเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยกระบวนการลงทุนเริ่มจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบการลงทุนวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการต่างๆ ตามสายงาน ซึ่งหากพิจารณาแล้วการลงทุนนั้นมีความเป็นไปได้ ก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารการลงทุนเพื่อกลั่นกรองการลงทุนก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดการ ปตท. และคณะกรรมการ ปตท. เพื่อให้การอนุมัติ ทั้งนี้ เมื่อมีการลงทุนไปแล้ว ปตท. ยังมีขั้นตอนการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ และหน่วยงานตรวจสอบภายในและภายนอกทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ วิธีปฏิบัติงาน มติคณะรัฐมนตรี กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดทรัพย์ และประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ปตท.

อย่างไรก็ดี การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยการทำธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ อาทิ ปัญหาทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจและการแข่งขันทางทางธุรกิจของแต่ละประเทศด้วย

6. มีการกล่าวอ้างว่าคุณไพรินทร์ อดีตซีอีโอ ปตท. โกหกว่า ปตท. มีบริษัทในเกาะเคย์แมน 1 บริษัท แท้จริงพบมีมากกว่า 30 บริษัท

ตอบ คุณไพรินทร์ไม่ได้โกหกเพราะเป็นการพูดโดยนัยยะของกฎหมาย ซึ่งในข้อเท็จจริง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มีบริษัทลูกบนเกาะเคย์แมนเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัท Subic Bay Energy Co.,Ltd. ที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจจัดหา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเช่าคลังน้ำมันในประเทศฟิลิปปินส์ร่วมกับ บริษัท Coastal Aruba Refining Company N.V. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2539 แต่มีบุคคลตีความจากงบการเงินของ “บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย” ณ 31 ธันวาคม 2556 ว่าบริษัทลูกของ ปตท. และ ปตท.สผ. กว่า 30 แห่งที่เปิดบริษัทในเคย์แมนนั้นถือเป็นบริษัทของ ปตท. ด้วย ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไปที่เมื่อพูดถึง ปตท. ก็มักหมายความรวมไปถึงบริษัทในเครือด้วย เพราะหลายแห่งชื่อขึ้นต้นว่า “ปตท. หรือ พีทีที” แต่ในความเป็นจริงแล้วตามกฎหมายถือเป็นคนละบริษัทกัน เพราะ ปตท. ถือหุ้นใน ปตท.สผ.เพียง 65.29% เท่านั้น เรื่องนี้ คนใน ปตท. นักลงทุน และนักเล่นหุ้นที่มีความเข้าใจและแยกแยะได้ระหว่างความเป็นบริษัทแม่กับบริษัทลูกต่างๆ ของ ปตท. ก็เข้าใจตามที่คุณไพรินทร์พูด

7. เหตุใด ปตท. จึงไปตั้งบริษัทในเกาะเคย์แมน ทั้งที่เป็นเกาะที่ได้ชื่อว่าเป็นเกาะฟอกเงิน หลบเลี่ยงภาษี ค้ายาเสพติด และค้าของเถื่อน

ตอบ การจัดตั้งบริษัทบนเกาะเคย์แมนของ ปตท. และ ปตท.สผ. ไม่ใช่มีเจตนาเพื่อเปิดบัญชีลับ ฟอกเงิน หรือหลบเลี่ยงภาษี หรือกระทำการอื่นใดที่เป็นการผิดกฎหมายดังที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยแต่อย่างใด ปตท. และ ปตท.สผ. ล้วนมีการเสียภาษีทั้งในประเทศไทยและประเทศที่มีการลงทุนอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เนื่องจากเคย์แมนมีกฎหมายการจัดตั้งบริษัท การเพิ่มทุน การลดทุน และการปิดบริษัทที่ไม่ยุ่งยาก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ต่ำ จึงมีการไปตั้งบริษัทที่นั่นเพื่อความสะดวก คล่องตัวในการบริหารจัดการการลงทุนและประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการ โดยบางบริษัทก็ติดมาจากการไปซื้อกิจการ บ้างก็เป็นไปตามข้อตกลงกับบริษัทที่ร่วมทุน ทั้งนี้ ในแนวทางปฏิบัติทั่วไปของบริษัทน้ำมันและบริษัทขุดเจาะสำรวจน้ำมันนานาชาติรายใหญ่ทั่วโลกต่างก็มีการเปิดบริษัทที่เกาะเคย์แมนทั้งสิ้น รวมไปถึงธุรกิจชั้นนำอีกหลายแห่งในประเทศไทยก็มีบริษัทย่อยตั้งอยู่ที่เกาะเคย์แมนเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร และนักลงทุนก็ให้ความเชื่อมั่น

8. เหตุใด ปตท. จึงรีบปิดบริษัทที่ตั้งในเกาะเคย์แมน

ตอบ ปตท. ไม่ได้รีบปิดบริษัทที่ตั้งในเกาะเคย์แมนเพื่อปกปิดความผิด หรือหนีข่าวโจมตีแต่อย่างใด แต่ในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ปตท. มีนโยบายปรับโครงสร้างองค์กรต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน สำหรับ บริษัท Subic Bay Energy Co., Ltd. ที่ตั้งบนเกาะเคย์แมนนั้น ปตท. อยู่ระหว่างดำเนินการปิดกิจการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 โดยพิจารณาเห็นว่าเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างการถือหุ้นหลายชั้น รวมทั้งการปิดบริษัทจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ซึ่งคาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2559

9. นอกจากเกาะเคย์แมนแล้ว ปตท.ยังไปเปิด 3 บริษัทในไซปรัส เกาะฟอกเงินที่เคยเจอวิกฤติเกือบล้มละลายมาแล้ว และยังมีบริษัทในเกาะอื่นๆอีก เช่น มอริเชียส บาฮามาส และเบอร์มิวด้า ซึ่งล้วนเป็นแหล่งฟอกเงิน จะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร

ตอบ ทั้ง 3 บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส ถือหุ้นโดย ปตท.สผ. 100 % โดยบริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทย่อยของบริษัท Cove Energy และเป็นกลุ่มบริษัทที่ถือสัมปทานในประเทศโมซัมบิกตามโครงสร้างเดิมก่อนที่ ปตท.สผ. จะเข้าไปซื้อหุ้นในปี 2555 ในตลาด Alternative Investment Market (AIM) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์รองของประเทศอังกฤษ (คล้ายกับ MAI ของประเทศไทย) โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ Cove Energy ในขณะนั้นคือนักลงทุนสถาบันทั่วไป ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม หลังการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ปตท. สผ. จึงได้เริ่มทำการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่ม Cove Energy เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับการดำเนินการในประเทศอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ ปตท. สผ. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากเดิม

10. มีการเปิดบริษัทท่อส่งก๊าซในเบอร์มิวดา โดยบริษัทลูกหลาน ที่ ปตท.มีหุ้นอยู่ 25% และยังเปิดบริษัทท่อส่งก๊าซ 2 บริษัทในเคย์แมนที่ถือหุ้น 19.3% และอีกบริษัทถือหุ้น 80% ส่วนบริษัทที่เปิดที่เกาะบาฮามาสเป็นธุรกิจให้เช่าเรือถือหุ้นเพียง 13.1% หุ้นที่เหลือใครเป็นผู้ถือหุ้นบ้าง มีนักการเมือง ข้าราชการ หรือกรรมการ ปตท.ไปถือหุ้นด้วยหรือไม่

ตอบ สำหรับบริษัทในเครือที่จัดตั้งที่เบอร์มิวดา เคย์แมน และบาฮามาสที่กล่าวถึง มีลักษณะเป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจต่อเนื่อง เช่นธุรกิจท่อส่งก๊าซจากประเทศเมียนมา มายังประเทศไทย หรือธุรกิจการให้เช่าเรือกับเก็บน้ำมันในอ่าวไทย โดยผู้ถือหุ้นรายอื่นในบริษัทในเครือเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลกและหน่วยงานรัฐในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มิได้เป็นนักการเมือง ข้าราชการหรือกรรมการ ปตท. อย่างที่มีการตั้งข้อสงสัย รวมทั้ง ปตท. สผ. ไม่มีการเปิดบัญชีธนาคารในไซปรัส บาฮามาส เคย์แมน และเบอร์มิวดา โดยบัญชีธนาคารของบริษัทเหล่านี้ ปตท. สผ. เป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่ง เป็นบัญชีที่เปิดในประเทศไทย และประเทศที่เข้าไปลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเท่านั้น

ทั้งนี้ งบการเงินของบริษัทในเครือทุกบริษัทที่กล่าวถึงข้างต้นได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก สตง. หรือบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส( PwC) เอินส์ท แอนด์ ยัง (EY) และเคพีเอ็มจี (KPMG)

11. เหตุใดหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐเช่น สตง.จึงไม่ตรวจสอบการเปิดบริษัทและบัญชีในหมู่เกาะเคย์แมน และคณะกรรมการ กลต.มีความเห็นอย่างไรบ้างที่บริษัทชั้นดีในตลาดหลักทรัพย์อย่างกลุ่ม ปตท. ไปเปิดบัญชีบนเกาะฟอกเงิน ทั้งๆที่ประชาชนมองว่าขัดหลักธรรมาภิบาลของตลาดหลักทรัพย์ และเป็นเจตนาที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษี

ตอบ ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเปิดบริษัทบนเกาะเคย์แมน มีการเปิดเผยในรายงานประจำปี (แบบ56-1)ที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงและเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด รวมทั้งงบการเงินทั้งหมด ของปตท.ก็ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก สตง. ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีแล้ว ส่วนบริษัทย่อยบางแห่งก็ได้รับการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีระดับสากล จึงเห็นได้ว่าปตท.ไม่ได้มีการปิดบังข้อมูล หรือมีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงภาษี หรือดำเนินการใดใดที่ขัดต่อหลักธรรมภิบาล เพราะ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ปตท. ยังมีนโยบายการบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี Good Corporate Governance ซึ่งได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ได้มีความเห็น หรือข้อท้วงติงจากคณะกรรมการ กลต. เกี่ยวกับการที่กลุ่ม ปตท.ไปตั้งบริษัทที่เกาะเคย์แมน

12. มีการกล่าวอ้างว่า ปตท. ผูกขาด เป็นผู้มีอำนาจกำหนดราคาขายน้ำมันภายในประเทศ และทำให้น้ำมันมีราคาแพง เอาเปรียบผู้บริโภค

ตอบ การกำหนดโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของแต่ละประเทศ แตกต่างกันตามนโยบายของภาครัฐแต่ประเทศ จึงทำให้ราคาขายปลีกของแต่ละประเทศสูงต่ำต่างกันได้มาก อาทิ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ราคาขายปลีกน้ำมันอยู่ในระดับต่ำมายาวนาน เพราะรัฐบาลอุดหนุนราคา ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมันขายปลีกอยู่ในระดับต่ำ เพราะรัฐบาลเรียกเก็บภาษีน้อย จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศมาเลเซีย และประเทศอเมริกา อยู่ในระดับต่ำกว่าราคาขายปลีกของไทยมาก

ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันแต่ละชนิดที่แตกต่างกันมากก็มาจากนโยบายของรัฐบาลเช่นเดียวกัน ที่จริงแล้วราคา ณ โรงกลั่นผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดไม่แตกต่างกันมาก แต่รัฐเก็บภาษีและกองทุนต่างๆ ในอัตราที่แตกต่างกัน ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ราคาขายปลีกน้ำมันบางชนิด เช่นเบนซิน 95 จึงแพงมาก ในขณะที่ราคา LPG ต่ำกว่ามาก เป็นต้น

ปตท. เป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่งในบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่มีอยู่กว่า 40 รายในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจกำหนดราคาน้ำมันแต่อย่างใด การปรับขึ้นลงของราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.รวมถึงผู้บริการทั้งหลายจะเปลี่ยนไปตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นน้ำมันซึ่งอ้างอิงตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ (ไม่ใช่ราคาน้ำมันดิบ) โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะประเมินค่าการตลาดรายวันตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เพื่อใช้ในการติดตามและกำกับดูแลการปรับเปลี่ยนขึ้นลงของราคาขายปลีกของผู้ค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ปตท. จึงไม่สามารถกำหนดราคาตามอำเภอใจได้ตามที่มีผู้กล่าวอ้างให้เสียหายได้

ปตท. ยืนยันไม่ได้เอาเปรียบผู้บริโภคแต่อย่างใด เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปตท. ได้พยายามทำหน้าที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติโดยในช่วงที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับราคาขึ้น ปตท. ได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันช้ากว่าผู้ค้าต่างชาติรายอื่นๆ มาตลอด โดยในปี 2558 (ณ 24 พ.ย. 2558) ปตท. ปรับขึ้นราคาขายปลีกภายหลังผู้ค้ารายอื่น 8 ครั้ง โดยปรับขึ้นทีหลังอยู่ระหว่าง 1-10 วัน รวมจำนวนวันที่ราคา ปตท. ต่ำกว่าทั้งสิ้น 23 วัน คิดเป็นเงินที่ ปตท. รับภาระทั้งสิ้น 162.8 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น ปตท. ยังช่วยช่วยอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี สำหรับกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ให้ยังคงซื้อได้ในราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา คิดเป็นเงินที่ ปตท. รับภาระตลอดปี 2558 กว่า 600 ล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของก๊าซเอ็นจีวีที่ ปตท. ยังคงตรึงราคาขายปลีกเอ็นจีวีอยู่ที่ 13.00 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่สะท้อนต้นทุน โดยนับตั้งแต่ปี 2546 ปตท. มีภาวะขาดทุนสะสมเอ็นจีวีกว่า 110,000 ล้านบาทอีกด้วย

13. มีการกล่าวอ้างว่า การอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของโรงกลั่น เพราะมีการบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเข้าไปในราคาด้วย และในบางช่วงเวลาราคาขายน้ำมันส่งออก ยังมีราคาถูกกว่าที่ขายในประเทศ

ตอบ ราคาสิงคโปร์ เป็นราคาที่สะท้อนถึงการซื้อขายน้ำมันของทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพราะต่างมีสำนักงานตัวแทนของบริษัทน้ำมันรายใหญ่อยู่ในสิงคโปร์อยู่ถึงกว่า 300 บริษัท ที่ทำการตกลงซื้อขายกันในปริมาณมหาศาล ราคาที่กำหนดจึงสะท้อนความสามารถในการจัดหาและความต้องการน้ำมันในภูมิภาคนี้จริงๆ

ราคาน้ำมันที่โรงกลั่นขายนั้นเป็นไปตามอุปทานและอุปสงค์ แต่จะมีราคาเทียบเท่าการนำเข้า (Import Parity) เป็นเพดาน คือราคาสิงคโปร์บวกกับค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายอื่นๆในการนำเข้า และค่าปรับปรุงคุณภาพเนื่องจากมาตรฐานคุณภาพน้ำมันของแต่ละประเทศแตกต่างกันและแตกต่างจากน้ำมันที่ใช้เป็นราคาอ้างอิง โดย น้ำมันที่ใช้ในประเทศไทยคือมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวคือหากโรงกลั่นกำหนดราคา ณ โรงกลั่นสูงกว่าราคาเทียบเท่าการนำเข้า ผู้ค้าน้ำมันก็จะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาขายเนื่องจากการค้าน้ำมันเป็นธุรกิจเสรี ในขณะเดียวกัน การแข่งขันดังกล่าวก็จะทำให้โรงกลั่นในประเทศต้องพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคหรือของโลกอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ราคาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ต่ำกว่าราคาขายปลีกในประเทศ เนื่องจากราคาส่งออกเป็นราคาเฉพาะต้นทุนเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น แต่ราคาขายปลีกในประเทศ นอกจากต้นทุนเนื้อน้ำมันแล้ว ยังต้องบวกค่าภาษีและกองทุนต่างๆตามที่อธิบายแล้ว อีกทั้ง น้ำมันที่ใช้ในประเทศไทย รัฐกำหนดให้ใช้ตามมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าน้ำมันส่งออกที่เป็นส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานยูโร 2 และ 3 เท่านั้น

14. ปตท.ชอบอ้างว่าที่คนไทยต้องใช้น้ำมันในราคาแพง เพราะ ปตท. ต้องขายในราคาตลาดโลก ทั้งๆที่เจ้าพ่อราคาตลาดโลกอย่างอเมริกา ซึ่งสั่งซื้อน้ำมันจากไทยและต้องขนส่งไปยังประเทศของตน แต่ทำไม อเมริกาจึงขายน้ำมันในราคาลิตรละ 30 บาทได้ แต่คนไทยซื้อเกือบลิตรละ 50 บาท

ตอบ ที่บอกว่าประเทศอเมริกาต้องซื้อน้ำมันจากไทย น่าจะเป็นในสมัยก่อน ประมาณก่อนปี 2556 ประเทศไทยโดยบริษัทเชฟรอนซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานแหล่งเบญจมาศเคยส่งออกน้ำมันดิบ ไปยังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท เชฟรอนในรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โดยรวมแล้ว 85% ของน้ำมันดิบที่เราใช้ในโรงกลั่นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ส่วนกรณีที่สงสัยว่าทำไมราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่สหรัฐอเมริกาถูกกว่าประเทศไทย เป็นเพราะโครงสร้างราคาน้ำมันที่แตกต่างกัน โดยสหรัฐฯ ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันดิบในประเทศได้เองจำนวนมาก ทำให้ราคาต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นอยู่ในระดับต่ำกว่าไทยเล็กน้อย แต่ที่สำคัญคือรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการเรียกเก็บภาษีจากราคาขายปลีกน้ำมันน้อยมาก ตรงข้ามกับประเทศไทยที่เก็บค่าภาษีและกองทุนต่างๆ ในราคาขายปลีกเพิ่มเติมอีก 26% ของราคาขายปลีก จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น